ประกาศออกมาแล้วกับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี ค.ศ.2021 ปีนี้ตัวรางวัลมอบให้กับ อับดุลราซาก เกอร์นาห์ (Abdulrazak Gurnah) นักเขียนชาวแทนซาเนียที่เราอาจจะไม่คุ้นเท่าไหร่ หลักๆ งานของเกอร์นาห์จะเชื่อมโยงกับผลกระทบของยุคอาณานิคม พูดถึงชะตากรรมของผู้ลี้ภัย ความแปลกแยกของการเป็นผู้อพยพในดินแดนอื่น
ในการรับรางวัลโนเบล นอกจากเกียรติยศของการเป็นผู้สร้างความรู้และเงินรางวัลแล้ว มีกฏข้อหนึ่งของการรับรางวัล คือ ผู้รับรางวัลจะต้องทำการบรรยายสาธารณะหนึ่งครั้ง โดยการบรรยายนั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับผลงานที่ได้รับรางวัล โดยจะต้องทำการบรรยายก่อนพิธีรับรางวัล หรืออย่างช้าคือภายในหกเดือนหลังจากรับรางวัลไปแล้ว โดยรวมเรียกอย่างลำลองว่า Nobel Lectures in Literature
ดังนั้นเองแปลว่า เราจะได้มีโอกาสฟังถ้อยคำ ความคิดของนักเขียนระดับตำนาน หลายครั้งการบรรยายมีการบันทึกเป็นเสียงการบรรยายสดไว้ อย่างน้อยที่สุดคือการได้ยินเสียงนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่พูดถึงอะไรบางอย่างในโอกาสรับรางวัลระดับโลกก็เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นแล้ว
ถ้าเรามองว่านี่คือการเลกเชอร์ และมองว่ารางวัลโนเบลคือรางวัล ‘ระดับโลก’ อันหมายถึงว่าตัวรางวัลและการบรรยายนั้นคือการเปิดพื้นที่ เปิดเสียงบางอย่างของเหล่านักเขียนสู่โลกใบนี้ การบรรยายในแต่ละครั้งย่อมเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับความคิดของยุคสมัย การใคร่ครวญทบทวนทั้งบทบาทและความสำคัญของถ้อยคำและงานประพันธ์ ไปจนถึงการเมือง ตัวตนและความซับซ้อนของกิจกรรมการเขียนอ่านที่สัมพันธ์กับโลก ผู้คน และกับห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
ที่สำคัญคือการบรรยายของนักเขียนระดับตำนานนั้นย่อมไม่มีวันธรรมดาได้ ลองนึกภาพการได้ฟังเสียงของ โทนี มอร์ริสัน นักเขียนผู้เปล่งเสียงของคนผิวดำในการเขียนประวัติศาสตร์รูปแบบใหม่ผ่านนวนิยายและเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติ สิ่งที่ โทนี มอร์ริสัน ทำคือการเล่านิทานซ้อนเพื่อชี้ให้เห็นความซับซ้อนของเสียงเล่าและการเล่าเรื่อง นึกภาพของ เคนซาบูโร โอเอะ ผู้รับรางวัลในฐานะนักเขียนชาวญี่ปุ่นคนที่สอง แต่งานของเขาอาจจะไม่ได้ยึดโยงกับความเป็นญี่ปุ่นดั้งเดิมอย่างที่เรานึกถึง
ในโอกาสการประกาศรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม The MATTER จึงชวนไปฟังการบรรยายในโอกาสรับรางวัลโนเบลของ 7 นักเขียนระดับตำนาน ชวนไปสำรวจพลังของถ้อยคำ ความซับซ้อนของเรื่องเล่า ภาษาอันเลื่อนไหล การทบทวนอดีตของผู้เขียนไปจนถึงประเด็นร่วมสมัยเช่นการเข้าไม่ถึงทรัพยากรที่ทำให้ใครบางคนอาจไม่ชนะรางวัล
Octavio Paz, In Search of the Present (1990)
ออคตาวิโอ ปาซ เป็นกวีคนสำคัญในฐานะกวีสมัยใหม่ และเป็นกวีชาวเม็กซิกันที่ได้รับรางวัลโนเบล โดยทั่วไปถ้าเรานึกถึงประเทศกลุ่มลาตินอเมริกา งานวรรณกรรมจะมีกลิ่นอายความขัดแย้งจากการตกอยู่ใต้การล่าอาณานิคม การโต้แย้งกับการล่าอาณานิคมในระดับความคิดโดยใช้วรรณกรรมและถ้อยคำ เช่น การแย้งกับวิธีกับวิธีคิดและการเล่าเรื่องแบบวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงการเขียนประวัติศาสตร์ที่ไม่มีความหลากหลาย ในการบรรยายของปาซนั้นเราก็จะจับประเด็นเรื่องการเป็นกวี—และนักเขียนที่ยืนอยู่ระหว่างภาษาและวัฒนธรรมสองด้าน เช่น การมีรากฐานความคิดและการเขียนในภาษาสเปน
นอกจากนี้ปาซยังสำรวจงานวรรณกรรมและการเขียนจากภูมิภาคต่างๆ การเขียนของคนพลัดถิ่น สิ่งที่ปาซทำค่อนข้างพาเราไปสำรวจความซับซ้อนของสิ่งที่เราเรียกว่า ‘วรรณกรรมโลก’ (world literature) พูดถึงการกระจายตัวและการมองเห็นงานเขียนอื่นๆ จริงๆ การบรรยายนี้ค่อนข้างยากและซับซ้อน นอกจากการสำรวจโลกวรรณกรรมในมิติของความเป็นนานาชาติแล้ว ปาซก็พูดถึงความสำคัญของงานเขียนและการก่อตัวขึ้นของภาษาและการเขียนของตัวเองด้วย
Toni Morrison, Nobel Lecture (1993)
โทนี มอร์ริสัน เป็นหนึ่งในนักเขียนที่ทรงพลัง เธอเหมือนกับแม่มดที่พูดแทนคนผิวดำและพาเราผ่าลึงลงไปยังความรู้สึก สำหรับ โทนี มอร์ริสัน ในการรับรางวัลโนเบล การบรรยายของเธอก็แสนจะไม่ธรรมดา จริงๆ มีวลีก่อนที่โทนี่จะบรรยาย (ไม่มีในเว็ปโนเบลแต่ฟังในยูทูบได้) คือ เธอจะพูดว่า งานเขียน (fiction) สำหรับเธอนั้นไม่ใช่เรื่องที่ ‘บันเทิง’ แต่มันคืองานที่เธอทำในชีวิตของเธอ และเธอเชื่อว่ามันคือหนทางหลักที่เรา—มนุษย์—รับรู้ รักษา และย่อยข้อมูลต่างๆ ผ่าน ‘เรื่องเล่า’ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่คนจะบอกว่างาน Beloved ของเธอคือประวัติศาสตร์ด้านกลับของอเมริกันผิวดำที่ถูกเล่าผ่านเสียงอันแปลกประหลาดและโต้แย้งกับวิธีของคนผิวขาว
หลังจากคำแถลงสั้นๆ เรื่องความสำคัญของบันเทิงคดี โทนี มอร์ริสัน ก็เริ่มการบรรยายของเธอ ด้วยการบอกว่าเธอจะเล่าด้วยวลีที่เราคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเด็ก นั่นคือ ‘กาลครั้งหนึ่ง’ และเธอก็เริ่มการบรรยายด้วยนิทานที่เริ่มเรื่องว่า “กาลครั้งนึ่งนานมาแล้ว มีหญิงชรา ที่ตาบอด ทว่าชาญฉลาด” หรืออาจเป็นชายชรา หรือกูรูก็ไม่แน่นัก แล้วเธอก็เล่าเรื่องของหญิงชราตาบอดที่พบกับผู้มาเยือนและนกตัวหนึ่งในมือ นิทานของมอร์ริสันเป็นนิทานที่ซับซ้อน ทั้งเสียงที่หลากหลาย การตั้งคำถามกับความจริง การรับรู้และอำนาจของเรื่องเล่าและมุมมอง การบรรยายครั้งนี้ถือเป็นที่ฮือฮาที่สุดเพราะมอร์ริสันได้แสดงอำนาจเรื่องเล่า และพลังของภาษาได้อย่างซับซ้อนและหมดจดงดงาม ในการบรรยายมีวลีหนึ่งที่เธอกล่าวซึ่งติดตรึงใจผู้คนคือ “เราต่างตายลง นั่นอาจเป็นความหมายของชีวิต แต่เราสร้างภาษาขึ้น นั่นอาจเป็นเครื่องวัดการใข้ชีวิตของเรา” [We die. That may be the meaning of life. But we do language. That may be the measure of our lives.]
Kenzaburo Oe, Japan, The Ambiguous, and Myself (1994)
เค็นซาบูโร โอเอะ เป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นคนที่สองที่ได้รับรางวัลโนเบลต่อจาก ยาซูนาริ คาวาบาตะ (1968) ความน่าสนใจของงานของโอเอะที่แตกต่างจากคาวาบาตะ คือ จากงานเขียนที่เน้นความเป็นญี่ปุ่นและสำนวนที่ละมุนละไมในการถ่ายทอดความเป็นญี่ปุ่นดั้งเดิมนั้น สามสิบปีผ่านไป งานเขียนของญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่าเป็นยุคญี่ปุ่นสมัยใหม่—ในยุคหลังสงครามนั้น โอเอะไม่ได้มีความโดดเด่นด้านการเสนอความเป็นญี่ปุ่น แต่สิ่งที่โอเอะกำลังเล่าถึงความวิกฤติอัตลักษณ์ คือ ภาพของญี่ปุ่นสมัยใหม่ที่มีความ ‘คลุมเครือ’ และผสมผสาน กระทั่งขัดแย้งกับตะวันตกและความเป็นตะวันตก อดีตศัตรูผู้กลายเป็นมิตรและกลายเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมที่ทั้งรักทั้งชัง
ความขัดแย้งและความเปลี่ยนแปลงในอัตลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่นร่วมสมัยนี้เป็นสิ่งที่โอเอะพูดถึงในการบรรยายในโอกาสรับรางวัลโนเบล หัวข้อการบรรยายก็ชัดเจนว่า พูดถึง ‘ญี่ปุ่น’ ความคลุมเครือ และตัวตนของเขาเอง ความน่าสนใจของการบรรยายนี้คือการที่โอเอะอ้างถึงคาวาบาตะและค่อยๆ เผยให้เห็นปัญหาของอัตลักษณ์หรือตัวตนใหม่ของญี่ปุ่น คือ ความคลุมเครือซับซ้อนของตัวตนดั้งเดิม และการรับความเป็นสมัยใหม่แบบสุดขั้วเข้ามาในยุคหลังแพ้สงคราม
Gao Xingjian, The Case for Literature (2000)
เกา ซิงเจี้ยน นับเป็นนักเขียนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลจากนวนิยายและบทละครที่เขียนเป็นภาษาจีน งานของ เกา ซิงเจี้ยน มีสองกลุ่มหลักๆ คือ บทละครสมัยใหม่ที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในประเทศจีนเองและนวนิยายที่ได้รับการยอมรับจากประเทศตะวันตก นวนิยายของเขาเน้นไปที่การให้เสียงของคนเล็กๆ ภายใต้ประวัติศาสตร์และเรื่องราวอันยิ่งใหญ่ของจีน นอกจากนี้ เกา ซิงเจี้ยน ยังทำงานด้านการแปล ในคำประกาศเกียรติคุณคณะกรรมการระบุว่า งานของ เกา ซิงเจี้ยน กำลังปูทางวงวรรณกรรมและการละครของจีนเข้าสู่เส้นทางใหม่ๆ
ในการบรรยายของ เกา ซิงเจี้ยน ในชื่อการบรรยายที่ตรงไปตรงมาว่า The Case for Literature เกา ซิงเจี้ยน พยายามอภิปรายความซับซ้อนและความสำคัญของงานวรรณคดีและกิจกรรมการเขียนอ่านในแทบทุกมิติ ทุกแขนงวิชา หนึ่งในประเด็นสำคัญของการบรรยาย คือ การทั้งโยงงานวรรณกรรมเข้ากับปัจเจกบุคคล และโยงไปสู่การทลายเส้นแบ่งของงานวรรณกรรมที่ไม่ถูกจำกัดโดยพรมแดนของชาติหรือของกาลเวลา
J. M. Coetzee, He and His Man (2003)
เจ. เอ็ม. คุตซี เป็นนักเขียนผิวขาว แต่ทว่าไปเกิดและใช้ชีวิตอยู่ในแอฟริกา ตัวตนและวรรณกรรมของคุตซีจึงเต็มไปด้วยความซับซ้อนและเล่นล้อกับภาวะอาณานิคม เรื่องเล่าและภาษารวมถึงประวัติศาสตร์ความรุนแรงและความเจ็บปวดที่มีประเด็นเรื่องสีผิวและชาติพันธุ์เป็นแกนกลาง งานของคุตซีขึ้นชื่อเรื่องอ่านยาก และตัวเขาเองก็ใช้การเขียนและวิถีของเรื่องเล่าในการถอดรื้อภาวะอาณานิคม เล่นล้อกับความจริง
การบรรยายของคุตซี่จึงสมฐานกับตัวงานที่ขึ้นชื่อเรื่องความซับซ้อน คุตซี่เลือกการเลกเชอร์ด้วยการเล่าเรื่องต่อของ โรบินสัน ครูโซ หลังกลับจากการเดินทางและแก่ตัวลงโดยอ้างอิงโยงเข้ากับชีวิตของ แดเนียล เดโฟ จากบันทึกบันทึกชื่อ A Journal of the Plague Year และ Tour through the Whole Island of Great Britain จากชีวิตการเดินทางของ โรบินสัน ครูโซ เชื่อมโยงเข้ากับบันทึกส่วนตัวของผู้เขียนวรรณกรรมชิ้นนั้นขึ้นเอง สรุปว่าซับซ้อนมากและก็ให้ภาพความสัมพันธ์อันยอกย้อนของตัวบท ผู้เขียน การอ่าน ตัวตนที่กระจัดกระจาย ขนบการเขียน การบรรยายนี้สุดท้ายมีงานศึกษาในเวลาต่อมาว่า ความเปรียบนั้นแสดงประเด็นความซับซ้อนของผู้แต่งกับวรรณกรรม รวมถึงสัมพันธ์กับตัวคุตซี่ที่เคยเขียนถึงจากชีวิตเดโฟและได้อิทธิพลจาก โรบินสัน ครูโซ ในฐานะไอคอนทางวรรณกรรมด้วย
Orhan Pamuk, Babamın bavulu (My Father’s Suitcase) (2006)
ออร์ฮาน ปามุก เป็นนักเขียนตุรกีที่มีผลงานสำคัญๆ งานของปามุกค่อนข้างมีสีสัน จับเรื่องราวและชีวิตได้อย่างเป็นเอกลักษณ์ สำหรับปามุกตัวการบรรยายค่อนข้างเรียบง่าย และคล้ายกับการบรรยายของนักเขียนหลายคน คือ การทบทวนเรื่องราวความสัมพันธ์ต่อโลกใบนี้โดยมีการเขียน งานเขียน รวมถึงการอ่านเป็นศูนย์กลาง
การบรรยายของปามุกทบทวนความสัมพันธ์ของชีวิตและงานเขียนด้วยการเล่าถึง ‘กระเป๋าเอกสารของพ่อ’ เป็นการทบทวนและเปิดอัตชีวิตประวัติของตัวเองโดยมีการตายของพ่อ โดยที่พ่อของเขาได้ทิ้งกระเป๋าไว้ใบหนึ่ง ระบุว่าในนั้นมีสิ่งที่อาจจะดีต่อความฝันในการเขียนงานของลูกชาย การบรรยายนี้ค่อนข้างเรียบง่าย คือ ตรงไปตรงมา สวยงาม และถือเป็นบททบทวนที่ยึดโยงอดีต ตัวตนและภูมิหลัง รวมถึงการผลักดันและรักษาความปรารถนาในการทำงานเขียนที่สวยงามกินใจชิ้นหนึ่ง
Doris Lessing, On Not Winning the Nobel Prize (2007)
มาถึงยุคที่งานเขียนและนักเขียนค่อนข้างยืนหยัดและพูดประเด็นทางสังคมอย่างจริงจัง ดอริส เลสซิง เป็นนักเขียนที่ค่อนข้างนิยามได้ว่าเป็นคนพลัดถิ่น เธอเป็นลูกครึ่งซิมบับเว-อังกฤษ เติบโตอย่างยากลำบากในซิมบับเว เธอเข้าโรงเรียนไม่นานก็ออกมาเรียนด้วยตัวเอง เลี้ยงชีพด้วยการเป็นพี่เลี้ยงให้กับครอบครัวร่ำรวยและเริ่มอ่านงานต่างๆ จากการอ่านให้นายจ้างฟัง จึงไม่แปลกที่ดอริสจะทั้งมองเห็นความคับข้อง ความยากลำบาก ความไม่เสมอภาคโดยเฉพาะในระนาบของความเป็นตะวันตกและตะวันออก ในพื้นที่ของการล่าอาณานิคม งานบรรยายในการรับรางวัลของเธอจึงพูดถึง ‘คนที่ไม่ได้ชนะรางวัลโนเบล’ พูดถึงการเมืองทางวัฒนธรรม การเข้าไม่ถึงทรัพยากรเช่นการศึกษาและการอ่านเขียน
ความพิเศษของการบรรยายของดอริส คือ ความเป็นการเมือง ในการบรรยายทั้งหมดดอริสกำลังพูดต่อหน้าโลกใบนี้ถึงปัญหาเรื่องแอฟริกาอย่างตรงไปตรงมา เธอเล่าประสบการณ์การเข้าไปทำงานเป็นครูในซิมบับเว เธอเล่าถึงความยากลำบาก ความว่างเปล่าของชั้นหนังสือ ของห้องเรียนที่ไม่มีแม้แผนที่หรืออะไรบนกระดาน เหล่าเด็กๆ ที่อยากจะอ่านออกเขียนได้ ของเหล่าคนที่ ‘ไม่ได้ชนะ และอาจจะเป็นคนที่ชนะรางวัลโนเบลก็ได้’ สิ่งที่น่าสนใจ คือ การที่ดอร์ริสอ้างถึงการบรรยายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นปามุกที่พ่อของเขามีห้องสมุดและหนังสือกว่า 500 เล่ม, คุตซี่ที่เป็นครูสอนวรรณกรรมในเคปทาวน์, วี. เอส. ไนพอล ที่โตขึ้นมากับคัมภีร์โบราณของพ่อและมีโอกาสไปยังลอนดอนและใช้งานห้องสมุดอันยิ่งใหญ่ ในขณะที่ผู้คนในซิมบับเวยังหิวหาการศึกษาและเรียนอ่านเขียนจากฉลากของขวดแยม
อ้างอิงข้อมูลจาก