‘ไม้ เมืองเดิม’ คือนักเขียนผู้สร้างสรรค์วรรณกรรมด้วยสำนวนลูกทุ่ง ชื่อเสียงของเขาย่อมมิแคล้วเคียงคู่มากับผลงานชิ้นเอกเยี่ยง แผลเก่า ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่ซ้ำบ่อยในรูปแบบนวนิยายและภาพยนตร์ นามตัวละคร ‘ขวัญ-เรียม’ เคลือบริมฝีปากใครๆเรื่อยมาราวแปดทศวรรษ (ปัจจุบันมิตรสหายหลายท่านของผมทำความรู้จักผ่านชื่อตลาดน้ำย่านรามคำแหง)
บ้างก็เรียกขานว่าเป็น ‘โรมิโอแอนด์จูเลียต’ ของเมืองไทย
ชีวประวัติของ ‘ไม้ เมืองเดิม’ หรือ ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา ยังทำให้ผมอดหวนนึกถึงเรื่องราวความมุมานะจะก้าวสู่วงการนักประพันธ์ของเขาอันแนบแน่นห้วงหทัยมิได้ เพราะกว่านวนิยาย แผลเก่า จะส่งเสริมให้แจ้งเกิดเปรี้ยงปร้างในบรรณพิภพ เขาเคยเผชิญความล้มเหลวจากการเขียนนวนิยายมาหลายเรื่อง
ไม้ เมืองเดิมเป็นบุตรชายที่มีบิดามารดาเป็นหม่อมหลวง เกิดและเติบโตละแวกย่านมหรรณพาราม ร่ำเรียนจาก 3 โรงเรียนวัด ชั้นประถมที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดราชบพิธและโรงเรียนวัดบวรนิเวศ
ก้านเคยรับราชการในกรมบัญชาการกลางมหาดเล็กช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 2460 พอออกจากราชการแล้ว ช่วงทศวรรษ 2470 เขาก็มิได้ทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ทุกๆ วันหมดไปกับการแสวงหาความรู้ อ่านหนังสือ บวชเรียน และมีภรรยา กระทั่ง เหม เวชกร เพื่อนสนิทกันมาแต่ครั้งยังเป็นศิษย์โรงเรียนวัดมหรรณพ์ เคยร่วมอ่านหนังสือและเล่นดนตรีไทยด้วยกันชักชวนให้มาเขียนหนังสือ ตอนนั้น เหมเริ่มเข้าสู่บรรณพิภพด้วยการไปเขียนภาพแทรกลงในหนังสือของนักประพันธ์คนอื่นๆ
ปี พ.ศ.2478 ไม้ เมืองเดิมหรือก้าน เริ่มต้นนำเอาประสบการณ์ชีวิตของตนมาเขียนนวนิยายเรื่อง เรือโยงเหนือ ทว่าไม่มีสำนักพิมพ์ใดจัดพิมพ์ให้สักแห่ง อย่างไม่ย่อท้อ เขาอุตสาหะเขียนเรื่อง ห้องเช่าเบอร์ 13 ขึ้นมาอีก และการถูกปฏิเสธต้นฉบับอีกครั้งคือคำตอบ
เหม เวชกร ซึ่งขณะนั้นวาดภาพประกอบหนังสือให้สำนักพิมพ์เพลินจิตต์ เฝ้าจับตามองอากัปกิริยาของเพื่อนรัก ก้านมีนิสัยขี้น้อยใจเป็นทุนเดิม ครั้นถูกปฏิเสธงาน 2 หนก็เสียอกเสียใจหนักหนา บ่นตัดพ้อว่ามีความรู้ทางหนังสือแต่ใช้การไม่ได้ หมายใจละทิ้งชีวิตเมืองไปสู่ป่าดง แรกๆ เหมทำได้เพียงปลอบประโลมใจ แต่ในที่สุด ยอดจิตรกรทนสงสารเพื่อนไม่ไหว ประกอบกับเริ่มขัดใจนายทุนเดิม จึงตัดสินใจลาออกมาตั้งสำนักพิมพ์เอง ออกหนังสือรายสิบวัน เช่าโรงพิมพ์ของเพื่อน ตั้งชื่อสำนักง่ายๆว่า ‘คณะเหม’
ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา คือนักเขียนประจำ ส่วนเหม เวชกร รั้งตำแหน่งบรรณาธิการ
ชักชวนเพื่อนมาร่วมงานเพิ่มเติม ได้แก่ กิ่งหรือ สุมทุม บุญเกื้อ ทำหน้าที่ตรวจปรู๊ฟ ส่วนโพยม บุณยศาสตร์ เจ้าของนามปากกา ‘พาณี’ มาเป็นคนจัดหน้าจัดรูปเล่ม
อ้อ! สำหรับโพยม นอกจากเป็นนักประพันธ์ เขายังเป็นนักเพาะกายและเขียนหนังสือเรื่องการเพาะกายด้วย
ใต้ชายคาคณะเหม ก้านเขียนนวนิยายอีกเล่มให้ชื่อว่า ชาววัง ‘พาณี’ โปรยถ้อยคำโฆษณาชวนคิดว่า เป็นเรื่องราวของไก่แก่แม่ปลาช่อน และแม่หวานใจกันเอง
ก็แพราะคำว่า “หวานใจกันเอง” นั่นแหละ เสียงด่าถล่มแหลกลาญได้ส่งผ่านจดหมายหลายฉบับมาถึงบรรณาธิการพร้อมถ้อยคำจำพวก “จะริรวมพวกเป็นนักประพันธ์ อย่าริเป็นนักพูดอย่างระยำๆ อย่างนี้ ไม่มีความรู้พอก็พร่ำพูดไปอย่างหมาเห่า พ่อแม่เห็นจะเคยเป็นอย่างนั้นกระมัง อยู่วังแล้วหวานใจกันเอง” ส่วนใหญ่น้ำเสียงนักอ่านผู้หญิง ขณะนักอ่านผู้ชายดูค่อนข้างชอบเหลือเกิน
‘หวานใจกันเอง’ คืออะไร? ทำไมผู้หญิงที่อ่านจึงได้พากันรุมประณาม?
ความหมายโดยนัยยะของถ้อยคำนี้ คือเรื่องทำนองหญิงรักหญิงของพวกแม่สาวชาววัง หรือถ้าจะเรียกในอีกคำที่หลายคนคุ้นเคยคงได้ว่า ‘เล่นเพื่อน’ ถ้าใช้ถ้อยคำแบบสุนทรภู่กล่าวถึงเหล่านางสนมเมืองรมจักรในเรื่อง พระอภัยมณี ก็คือ ‘นักเลงเพื่อน’
อาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าไว้ในหนังสือ โอ้ละหนอน้ำหมึก ตอนหนึ่งว่า ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุคที่มีหนังฝรั่งเข้ามาบ่อยๆ และชื่อเพลงประกอบหนังมีคำว่า “สวีตฮาร์ต” หรือ “หวานใจ” คำนี้จึงถูกนำมาใช้เรียกคนรัก (ใคร่เสริมสักนิดว่า ประมาณปี พ.ศ.2480 ภาพยนตร์มีเสียงพูดเรื่อง เพลงหวานใจ ผลงานกำกับของขุนวิจิตรมาตราออกฉาย)
นวนิยายเรื่อง ชาววัง มักถูกอ้างอิงและเชื่อตามๆกันมาตลอดว่าเป็นงานเขียนที่ไม้ เมืองเดิมใช้นามปากกา ‘กฤษณะ พึ่งบุญ’ ในหนังสือของอาจินต์ ปัญจพรรค์ที่ระบุว่าถอดถ้อยคำมาจากปากเหม เวชกรเลยก็ยังเอ่ยขานนามปากกาข้างต้น
ผมคิดว่าบางทีอาจจะเป็นการจำนามแฝงผิดกระมัง เพราะราวๆ 4-5 ปีก่อน เคยได้เห็นและได้อ่านหนังสือนวนิยายเรื่อง ชาววัง ที่จัดพิมพ์ปี พ.ศ.2478 โดยคณะเหม แม้จะอ่านแบบรีบๆ เผินๆ และอ่านได้นิดเดียวด้วยเวลาจำกัด หากสายตาประจักษ์ชัดเจนว่าบนปกหนังสือลงนามผู้ประพันธ์ว่า ‘กฤษณ์ พึ่งบุญฤทธิ์ ’ ภาพปกเป็นผู้หญิงสมัยใหม่สองคนนั่งๆ นอนๆ บนโซฟา คนหนึ่งแต่งกายแบบผู้ชาย ส่วนอีกคนแต่งกายแบบผู้หญิง ฝีมือการวาดของเหม เวชกร อย่างไรก็ดี ผมยังเคยอ่านพบในหนังสือ อนุสสรน์แด่ ไม้ เมืองเดิม ที่ระบุถึงนามแฝงหนึ่งของผู้วายชนม์ว่า ‘กฤษณา พึ่งบุญฤทธิ์’
เนื้อหาเรื่อง ชาววัง ตามความทรงจำถ้วนเท่าจะนึกได้ของผม เหมือนว่าเปิดฉากขึ้นราวๆ ปี พ.ศ.2474 ณ สวนสุนันทาลัย บอกเล่าความสัมพันธ์หญิงรักหญิงในรั้ววัง
รายละเอียดอื่นๆ สารภาพว่ารางเลือน ผมเองใคร่จะสบโอกาสได้อ่านนวนิยายนี้ใหม่แบบเต็มๆ เรื่องอีกสักหน
ต่อให้นวนิยาย ชาววัง ของกฤษณ์ พึ่งบุญฤทธิ์ ถูกถล่มว่าเขียนโดยคนที่ไม่มีความรู้ แต่ก็รู้ๆกันทั่วไปว่าสังคมไทยมีพฤติกรรมหญิงรักหญิงเกิดขึ้นจริงๆ จนดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา ในวรรณกรรมร้อยกรองเก่าๆ ดั้งเดิมหลายชิ้นได้พาดพิงถึงไว้ เฉกเช่นเรื่องที่โด่งดังคือ กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ ฝีปากนักกลอนหญิงคนสำคัญช่วงต้นรัตนโกสินทร์เยี่ยงคุณสุวรรณ (มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะแต่งขึ้นราวๆปี พ.ศ.2348-2358) เปิดเผยความสัมพันธ์ ‘เล่นเพื่อน’ ระหว่างหม่อมสุดกับหม่อมขำ นางข้าหลวงในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่3 แต่การที่ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยาหาญกล้าหยิบยกเรื่องจำพวกนี้นำมาเขียนในรูปแบบวรรณกรรมร้อยแก้วที่เรียกว่า ‘นวนิยาย’ หรือ ‘โนเวิ่ล’ (novel) ซึ่งสามารถถ่ายทอดอรรถรสชวนลุ่มหลงยิ่งกว่า จึงกลายเป็นกรณีปัญหาขึ้น
เพียงเล่มแรกในนามของ ‘คณะเหม’ ก็ได้เสียงตอบรับมาอย่างยับเยิน ก้านระทดระท้อ หมดแรงใจจะเขียนงานต่อ เหมผู้ควักกระเป๋าคงเข้าเนื้อเสียเต็มประดา ทว่ายังคงปลอบใจและปลุกใจให้ก้านลุกสู้
ห้วงยามที่กำลังพยายามค้นหาแนวทางการเขียนของตนเองอีกหน ก้านได้พบชายผู้หนึ่งที่ใครๆเรียกขานกันว่า อาจารย์เฮง เป็นนักดนตรีและมีความรู้ทางไสยศาสตร์ เสกตะกรุดทำเครื่องรางของขลังจากงาช้าง อาจารย์เฮงซึ่งน่าจะสนิทกับเหม เวชกรได้บอกเล่าเรื่องโบราณๆ ให้ก้านฟัง พร้อมทั้งวางเค้าโครงเรื่องให้ก้านนำไปเขียนหนังสือชื่อ คนดีศรีอยุธยา จัดพิมพ์โดยคณะเหม และลงนามผู้เขียน ฮ.ไพรยวัล นั่นหมายความว่าในหนังสือเล่มนี้ เนื้อหาเดิมอาจเป็นเสียงเล่าของอาจารย์เฮง หรือ ฮ.ไพรยวัล แต่ฝีมือและสำนวนภาษาการเรียบเรียงเป็นของก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา
แน่นอน ผู้อ่านทั่วไปย่อมเข้าใจว่า คนดีศรีอยุธยา เป็นผลงานของ ฮ.ไพรยวัลเพียงผู้เดียว ในหนังสืองานศพของอาจารย์เฮงก็มีการนำเอางานเขียนนี้มาลงตีพิมพ์ไว้ ฮ.ไพรยวัลยังได้เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ ตำนานการจับช้าง ตีพิมพ์ปี พ.ศ.2480 โดยโรงพิมพ์หว่าเชียง เหม เวชกรวาดภาพประกอบเล่ม
ตามปากคำเหม เวชกร การเรียบเรียง คนดีศรีอยุธยา ทำให้ก้านเริ่มพบแนวทางการเขียนของตนเอง ประกอบกับวันหนึ่ง เหมกับก้านพากันไปเล่นเครื่องสายดนตรีไทยที่วัดมักกะสัน ในตอนเย็นย่ำ ทั้งสองเดินไปยังท้องนาหลังวัด แวะนั่งเล่นบนสะพานรถไฟข้ามคลองแสนแสบ ก้านยังคงฟูมฟายเสียใจต่อเรื่องเกี่ยวแก่งานเขียนอันไม่ประสบความสำเร็จ เหมคอยปลอบโยน และเสนอว่าให้ลองเขียนเรื่องแนวใหม่ เปลี่ยนนามปากกาใหม่ เขียนเรื่องฝากสถานที่จริงดูบ้างสักเรื่อง สีหน้าก้านปรากฏแววสงสัยต่อคำเหม นักวาดภาพประกอบจึงยกตัวอย่างวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ประกอบการอธิบาย
จวนค่ำ สายตาของเหมเหลือบมองไปสะดุดเข้ากับกระต๊อบชายทุ่งหลังเล็กๆเห็นไกลลิบๆ มีแสงตะเกียงริบหรี่ เหมชี้ให้ก้านเพื่อนรักของเขาดูกระต๊อบหลังนั้น เอ่ยถามว่ามันน่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้างในนั้น ก้านเพ่งมองอยู่สักครู่ ฉุกนึกอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ ตบขาตัวเองฉาดๆ แล้วร้องไห้ขึ้นมา เอ่ยกับเหมทั้งน้ำตาว่า “กูไม่ตายแล้วมึงเอ๋ย กูพบทางแล้ว” พร้อมจับแขนเหมเบาๆ “มึงเอ๋ย มึงเป็นเพื่อนแท้ของกู ที่ไม่ทิ้งกู กูได้ทางจะตอบแทนมึงแล้ว กูไม่ต้องเข้าป่า” เหมกอดเพื่อนรักอย่างตื้นตันใจ อดน้ำตานองออกมามิได้
“เพื่อนเอ๋ย ข้าขอเวลาสองวัน จะสร้างเรื่องใหม่ให้เอ็งตรวจ รับรองว่าเอ็งต้องชอบใจ”
เรื่องนั้นที่ก้านกลับไปเขียนมาให้เหมตรวจคือ แผลเก่า ถ่ายทอดผ่านสำนวนภาษาลูกทุ่ง ใช้นามปากกาว่า ‘ไม้ เมืองเดิม’
ก้านคือไม้ เมืองเดิมมาจาก ณ อยุธยา
เมื่อนวนิยาย แผลเก่า ตีพิมพ์ออกเผยแพร่ปี พ.ศ.2479 พลันเสียงตอบรับจากผู้อ่านเกรียวกราว ส่งผลให้งานเขียนและนามนักเขียนครองความอมตะมาตราบปัจจุบัน เรียกได้ว่าพอเอ่ยชื่อตัวละครอ้ายขวัญและอีเรียม คนไทยน้อยรายนักที่ไม่รู้จักคุ้นเคย
ถัดจากแจ้งเกิดเป็นพลุแตกด้วย แผลเก่า ก้านขะมักเขม้นผลิตนวนิยายออกมาจำนวนมากชิ้น ขณะเดียวกันยิ่งเขียนหนังสือเยอะก็ยิ่งเสพสุราเมรัยอย่างหนักหน่วง กระทั่งร่างกายอมโรคร้ายแรง ล้มเจ็บจนเป็นอัมพาตมือไม้สั่น แต่เขามิเคยย่อท้อที่จะสร้างสรรค์ผลงานประพันธ์สู่สายตานักอ่าน เหม เวชกร เพื่อนแท้ผู้คอยร่วมทุกข์ร่วมสุขประจักษ์ชัดสายตาต่อสภาพของมิตรและเบื้องหลังฉากการทำงาน ซึ่ง
“..เจ็บคราวแรกเจ้าตัวพอเขียนเองได้ อาศัยใช้ผ้าพันนิ้วทุกๆ นิ้วกันความเจ็บปวด เขียนเรื่องอย่างอดทน ร่างกายจะอย่างไรก็ตาม กำลังใจยังคงที่ แกร่งกล้าคงเดิม จนมาตอนหลังโรคได้หนักถึงกับผ่ายผอมมีแต่หนังหุ้มกระดูก จะนั่งเขียนเองไม่ไหว จึงมีเพื่อนฝูงบางคนที่รักใคร่มาสมัครเขียนให้ โดยเจ้าตัวเป็นผู้นอนบอกด้วยปาก แต่บางคราวผู้เขียนแทนมาไม่ได้ด้วยติดธุระ ภรรยาเจ้าตัวก็เป็นผู้เขียน..” และ “..ทั้งๆ ที่นอนแบ็บอย่างนั้น เจ้าตัวต้องดื่มสุราเป็นยาหล่อเลี้ยงโรค ด้วยว่าโลหิตในกายจะหยุดสูบฉีดอยู่แล้ว หากใช้สุราพอเป็นกำลังสูบฉีดเลี้ยงประสาท เจ้าตัวจึงสามารถดำเนินงานได้เรื่อยๆ มา…” (เหมเขียนบรรยายถ้อยความนี้เพื่อไว้อาลัยก้านในนิตยสาร ศิลปิน วันที่ 7 กันยายน 2485)
ท้ายที่สุด มัจจุราชพรากลมหายใจ ‘ไม้ เมืองเดิม’ ไปได้สำเร็จในวันพุธที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2485 และมีพิธีฌาปนกิจศพในวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายนปีเดียวกัน ณ เมรุวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เนื่องจากตอนนั้นอยู่ช่วงระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพาและรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศใช้อักขรวิธีไทยแบบใหม่ บนปกหนังสืองานศพของเขาจึงปรากฏว่า อนุสสรน์แด่ ไม้ เมืองเดิม พิมพ์แจกไน การชาปนกิจนายก้าน พึ่งบุญ นะอยุธยา นะเมรุวัดสระเกสราชวรมหาวิหาร วันที่ 21 มิถุนายน พ.ส. 2485
ผลงานประพันธ์เรื่องสุดท้าย ได้แก่ ‘ตะวันตกดิน’ ตีพิมพ์ในหนังสือ ท่องเที่ยว ฉะบับพิเสส ฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน พ.ส. 2485 โดยนำต้นฉบับมาลงพิมพ์ภายหลังเขาอำลาโลกประมาณ 3 เดือนเศษ น่าจะเป็นงานที่โถมเรี่ยวแรงขะมักเขม้นเขียนขึ้นในยามป่วยไข้ แม้จะนอนซมพิษโรคาเบียดเบียน แต่ฝีมือทางด้านวรรณศิลป์อันโลดแล่นในขบวนตัวอักษร ‘ตะวันตกดิน’ หาได้ลดน้อยถอยลงสักนิด สำนวนภาษาแบบลูกทุ่งและการสร้างตัวละครชายไทยใจนักเลงยังคงโดดเด่น (ในเรื่องนี้ ตัวละครเอกชื่อเจ้าเปรย ลูกกำนันบ้านนาเลิ่ง) ดังบทเปิดนวนิยายว่า
“ข้างแรม ๘ ค่ำ เดือน ๕ เมื่อยาม ๓ สงัด เพื่อนบ้านนาเลิ่งต่างหลับไหลอยู่สนิท และจะกลับตลอดไปอีกจนรุ่ง เพราะหน้านาสิ้นไปแล้ว เขาเจ้าก็สิ้นห่วงสิ้นกังวลที่จะต้องรีบตื่นตาแต่ยังเช้ามืดก่อนตรู่
“ประกายพรึกส์ประจำรุ่งยังไม่ตก ยิ่งดึกยิ่งเด่นแสงตลอดดวง แต่ความยั่งยืนของประกายพรึกส์ ก็คงจะมีอายุเพียงยามท้ายไนอีกไม่กี่ชั่วครู่ เพราะเสียงไก่นาตามเล้าและไต้ถุนบ้านมันกระพือปีกขันรับชวนกันปลุกเจ้าของ และเสียงขันของไก่นั้นไม่ชั่วแต่จะเตือนเพลารุ่ง มันซ้ำเตือนเพลาหลังของเจ้าคนที่นอนไม่หลับและลุกขึ้นมานั่งชมแสงดาวอยู่หน้าชานห้างแต่ผู้เดียว”
ชีวิตนักประพันธ์ของก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยาก็เฉกเช่นดาวประกายพฤกษ์ เริ่มตั้งแต่สวมวิญญาณ ‘กฤษณ์ พึ่งบุญฤทธิ์ ’ จวบจนฝ่าฟันอุปสรรคมาโชติช่วงเฉิดฉายในฐานะยอดนักประพันธ์เอกค้างฟ้าบรรณพิภพ หากความยั่งยืนของดาวประกายพฤษ์คงจะมีวันอับแสงเฉาลง กระนั้น ดาวประกายพฤกษ์ย่อมหวนกลับมาโชนแสงเจิดจรัสได้อีกมิใช่หรือ?
ครับ คาดหวังอย่างยิ่งว่าข้อเขียนนี้จะร่วมช่วยบันดาลให้ดวงดารานาม ‘ไม้ เมืองเดิม’ ยังสุกสกาวมิเสื่อมคลาย
เอกสารอ้างอิง
– กฤษณ์ พึ่งบุญฤทธิ์. ชาววัง. พระนคร: คณะเหม, 2478
– คุณสุวรรณ. กลอนเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ และ พระอาการประชวร ของกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ. พระนคร: ศิวพร, 2507
– จอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. ประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ ภาค ๓ ประกาศปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๙๙ ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๐๐ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน โปรดให้พิมพ์เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๖๖. พระนคร: โรงพิมพ์ไท, 2466
– พ. บุณยะศาสตร์. เพาะกายศาสตร์และอายุวัฒนะ. พระนคร: เขษมบรรณกิจ, 2501
– ไม้ เมืองเดิม(ก้าน พึ่งบุญ ณ อยุธยา). แผลเก่า ฉบับแรกเริ่ม พ.ศ. 2479 จากรูปเล่มสำนักพิมพ์คณะเหม. กรุงเทพฯ : ดอกหญ้า 2543, 2544
– ส.พลายน้อย. เล่าเรื่องนักเขียนดังในอดีต ๒. กรุงเทพฯ : ฅอหนังสือ, 2548
– สุนทรภู่. พระอภัยมณี คำกลอนของสุนทรภู่ ฉบับหอสมุดแห่งชาติ. พิมพ์ครั้งที่ 9. พระนคร: ศิลปาบรรณาคาร, 2509
– อนุสรณ์เหม เวชกร วรรณกรรม-ภาพวิจิตร เรื่องราชาธิราชและกากี กับชีวประวัติบางตอนของเหม เวชกร พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเหม เวชกร ณ เมรุสุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 28 กันยายน พุทธศักราช 2512. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช, 2512
– อนุสสรน์แด่ ไม้ เมืองเดิม พิมพ์แจกไนการชาปนกิจนายก้าน พึ่งบุญ นะอยุธยา นะเมรุวัดสระเกสราชวรมหาวิหาร วันที่ 21 มิถุนายน พ.ส. 2485. พระนคร: โรงพิมพ์สิริอักสร, 2485
– อาจินต์ ปัญจพรรค์. แด่ เหม เวชกร. กรุงเทพฯ: โอเลี้ยง 5 แก้ว, 2512
– อาจินต์ ปัญจพรรค์. โอ้ละหนอน้ำหมึก. กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2544.