ไม่ว่าเราจะเปิดแบบเรียน เปิดโทรทัศน์ เปิดหนังสือ ภาพ ‘ครอบครัว’ ที่เรามักจะเห็นตามสื่อต่างๆ เหล่านี้ก็มักประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก เป็นภาพของครอบครัวที่หลายคนคุ้นชิน แต่หากเราลองถอยออกมาจากสื่อเหล่านั้น มองสังคมในปัจจุบัน ‘ครอบครัว’ สามารถเป็นไปได้มากกว่านั้น จะเป็นคุณพ่อสองคนที่เลี้ยงลูกของพวกเขา จะเป็นครอบครัวที่มีพ่อสองคน แม่หนึ่งคนที่เลี้ยงลูกของพวกเขา จะเป็นครอบครัวที่พวกเขาไม่ได้อยากระบุว่าใครจะเป็นพ่อ ใครจะเป็นแม่ แต่เขาแค่อยากดูแลลูกเขา หรือจะเป็นครอบครัวที่มีแม่สองคนกับลูก อย่างครอบครัวสีรุ้งของ หงส์–ศิริวรรณ พรอินทร์ ที่เธอมีแม่สองคนอย่าง เจี๊ยบ–มัจฉา พรอินทร์ และ จุ๋ม–วีรวรรณ วรรณะ ที่รับหงส์มาเป็นลูกบุญธรรม
หงส์ บอกกับเราว่าเธอเป็น bisexual และเติบโตมากับครอบครัวที่มีแม่สองคนซึ่งเลี้ยงดูเธอมาแต่เด็ก และการมีครอบครัวที่เป็นแม่สองคน เธอก็ไม่ได้รู้สึกแปลกแยกหรือว่าเป็นเรื่องผิดปกติ เพราะครอบครัวของเธอไม่เคยมีการเลือกปฏิบัติ และรักกันอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยการที่เธอได้เติบโตมาในครอบครัวนี้ เธอก็ได้รับความอบอุ่น ความเข้าใจ ความรัก เหมือนกับครอบครัวอื่นๆ
ในต่างประเทศ เธอเป็นถึงผู้ที่ได้รับรางวัล ‘asian girl award’ ที่ทำงานในฐานะยุวทูตที่คอยสื่อสารเรื่องราว empower เด็กผู้หญิง รวมถึง LGBTQ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในสังคม เธอเป็นเหมือนแรงบันดาลใจ กำลังใจ และพลังที่ส่งให้เยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีกำลังใจว่าพวกเขาไม่ได้โดดเดี่ยว
เราชวนไปรู้จักเธอกับครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องมีแค่ พ่อ แม่ ลูก แต่สามารถเป็น แม่ แม่ ลูก และสิ่งที่เธออยากส่งเสียงเพื่อบอกคนในสังคมให้รับรู้
ความหมายของครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องมีแค่พ่อ-แม่-ลูก
“เรารู้สึกปลอดภัยจริงๆ ที่เราจะเรียกเขาว่าแม่”
หงส์เล่าย้อนให้ฟังถึงวันที่ได้มาอยู่ในอ้อมกอดของแม่ทั้งสองคน เธอเล่าให้ฟังว่าได้เจอกับแม่เจี๊ยบตอนเด็กมากๆ ซึ่งก็เป็นความทรงจำที่เลือนลาง จนกระทั่งอายุ 9 ขวบ ก็ได้เจอแม่เจี๊ยบกับแม่จุ๋มอีกครั้ง เพราะคุณยายของเธอพาไปเจอกับแม่ทั้งสอง โดยยตอนนั้นเธอยังเรียกพวกเขาว่า ‘ป้า’ อยู่
โดยเธอบอกว่าที่แม่ทั้งสองตัดสินใจรับเธอมาเลี้ยงดู เพราะกลัวปัญหาช่องว่างระหว่างวัยของคุณยายกับเธอเอง ซึ่งอาจจะส่งผลต่ออนาคตของเธอ ตั้งแต่วันนั้นเธอจึงได้เริ่มต้นเดินทางชีวิตกับครอบครัวใหม่ที่มีแม่เจี๊ยบและแม่จุ๋ม
เมื่อได้มาอยู่ในครอบครัวนี้ เธอยังไม่ได้มีแค่แม่สองคนเท่านั้น แต่ด้วยการทำงานของแม่ทั้งสองที่ในเวลานั้นเปิดเป็นบ้านพักสำหรับเยาวชนที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง เธอจึงได้รู้จักและเติบโตท่ามกลางคนมากมายที่ทำงานขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลาย
“เราก็อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่มากเลย และแม่เราก็เลี้ยงเราเหมือนลูกคนหนึ่งเหมือนกัน ในตอนนั้นเราก็ยังไม่ได้เรียกแม่ว่าแม่ แล้วพอเริ่มโตมาได้สักแป๊บหนึ่ง ประมาณปี สองปี หนูก็เรียกเขาว่าแม่ ซึ่งตอนนั้นแม่เขาก็ตกใจว่า ฉันเป็นแม่แล้วเหรอ” หงส์เล่าด้วยน้ำเสียงสดใส เมื่อย้อนกลับไปถึงเรื่องราวในช่วงเวลานั้น
“นิยามครอบครัวของหนูก็คือ มันไม่ได้จำกัดแค่ว่าจะต้องมีแต่พ่อ แม่ ลูก อย่างนี้ค่ะ เหมือนในกรอบที่สังคมเขาบอกว่ามันต้องมีเป็นเซ็ตแบบนี้ ถึงจะเรียกว่าครอบครัว ครอบครัวของเรานี่เป็นครอบครัวที่มีแม่สองคนและมีลูกหนึ่งคน ซึ่งเป็นครอบครัวที่อาจดูแปลกในสังคมไทย แต่จริงๆ มันเป็นสิ่งที่ควรเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าในสังคมเราก็มีครอบครัวที่แตกต่างหลากหลาย ที่ไม่ได้เป็นในกรอบที่สังคมเขาวางไว้”
หงส์ได้บอกถึงความรู้สึกของเธอต่อภาพคำว่า ‘ครอบครัว’ ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในกรอบของสังคม เพราะบนโลกนี้ยังมีความหลากหลายอีกมากมาย โดยเธอย้ำกับเราอีกครั้งว่า “ครอบครัวสำหรับหนูต้องเป็นที่ที่ปลอดภัย เราสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง แล้วเราก็โอบอุ้มกันเวลาที่เราเผชิญปัญหาอะไร เราก็จะไม่ทิ้งกันอย่างนี้ค่ะ”
เป็นครอบครัวกัน แต่ก็ยังไม่สามารถดูแลกันได้อย่างเต็มที่ด้วยกฎหมายที่กีดกันความหลากหลาย
“เราเองต้องต่อสู้กับอคติของคนในสังคมว่า ครอบครัวต้องเป็นแบบไหน แล้วต้องเป็นคนแบบไหนถึงจะเรียกว่าดี ซึ่งในความเป็นจริง ถ้าคนยอมรับความแตกต่างหลากหลาย เราก็ไม่จำเป็นจะต้องดีเลิศเกินมนุษย์ แบบที่สังคมเขาบอกว่า เราจะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เราเป็นคนดี ซึ่งจริงๆ เราก็เป็นคนคนหนึ่งที่เป็นคนธรรมดา แต่ว่าเราแค่มีรสนิยมทางเพศที่แตกต่างหลากหลาย และเราต้องการให้คนเข้าใจเรา”
แม้เธอและครอบครัวจะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แต่จากสถานการณ์ปัจจุบันที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังคงเงียบงันและไม่ได้รับการรับรอง ก็ทำให้เธอและครอบครัว รวมถึง LGBTQ คนอื่นๆ ที่อยากแต่งงานกลับถูกกีดกันจากกฎหมายปัจจุบัน และกฎหมายนี่เองที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ยังทำให้สังคมไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ด้วยกรอบของเพศและวัฒนธรรม
หงส์เล่าถึงเรื่องราวในอดีตที่ทำให้เธอมองเห็นปัญหาของการที่ยังไม่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้ฟังว่า
“ตอนที่หนูจะได้ไปญี่ปุ่น มันเป็นครั้งแรกที่เราจะได้ออกนอกประเทศ แม่ก็พาเราไปทำพาสปอร์ต ซึ่งพอเราไปถึงที่ทำพาสปอร์ต เจ้าหน้าที่เขาก็บอกว่าเราทำไม่ได้ เพราะเราต้องไปพาพ่อกับแม่จริงๆ ที่ให้กำเนิดมาเซ็นเอกสาร ซึ่งพ่อกับแม่เราเขาแยกทางจากกันแล้ว และพ่อกับแม่ที่ให้กำเนิดเราเขาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ทำให้สิทธิของเราอยู่ที่แม่หมดเลย แล้วแม่ก็ไม่ได้ติดต่อหากันเลย ทำให้เราไม่ได้ไปต่างประเทศในครั้งนั้น”
“เราก็เอะใจว่า การที่อยู่ในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำไมไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย แล้วเรื่องการเซ็นเอกสารบางอย่างที่หมายถึงชีวิตเรา ถ้าเราเป็นเด็กในครอบครัวปกติทั่วไป เราก็จะได้เซ็นเอกสารแล้วก็ออกนอกประเทศได้ ไปเที่ยวต่างประเทศได้ ไปเรียนรู้ต่างประเทศได้ หรือเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ก็สามารถได้รับการรักษา หรือการตอบสนองทางกฎหมายในทันที ซึ่งเราไม่มีในจุดนั้น”
“ในฐานะที่หงส์อยู่ในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ในทางกฎหมายเหมือนกับเราไม่ใช่ลูกของเขา ทั้งที่ในความเป็นจริงเราเป็นแม่ลูกกัน รวมไปถึงกฎหมายไม่อนุญาตให้แม่ของเราได้สมรสกัน ซึ่งก็ส่งผลกับเราที่เป็นลูกเหมือนกัน แล้วภาพที่สังคมว่าเราต้องมีชายและหญิง มันส่งผลให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศเอง ไม่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง และอีกอย่างก็คือ กรอบทางเพศและกรอบของวัฒนธรรมมันคอยกีดกันคนที่ไม่ได้อยู่ในกรอบ
“คนที่อยู่ในครอบครัวความหลากหลายทางเพศ
ไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมายเลย”
เธอเล่าออกมาด้วยความผิดหวัง เพราะเธอเองก็ต้องพลาดโอกาสหลายๆ อย่างไป เนื่องจากกฎหมายที่ยังกีดกันคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนอกจากเรื่องการออกนอกประเทศ การเข้ารับการรักษา เธอยังพลาดโอกาสได้การกู้กยศ.ด้วย เนื่องจากแม่ทั้งสองของเธอไม่สามารถเซ็นรับรองให้ได้
“มันมีกรอบวัฒนธรรมที่ไม่ได้สนับสนุนความแตกต่างหลากหลายของคน แล้วหนูก็รู้สึกไม่ได้ปลอดภัยด้วยที่จะใช้ชีวิตในสังคมนี้ เพราะว่าความแตกต่างหลากหลายมันถูกจำกัด”
“เรายังเผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติ เรายังเผชิญกับการถูกทำร้ายร่างกาย เรายังถูกดูหมิ่นเหยียดหยามในรสนิยมทางเพศของเรา เราไม่ได้รับรองทางกฎหมายใดๆ เลย”
การเติบโตท่ามกลางความหลากหลายในสังคมที่ยังไม่ยอมรับ
แม้ว่าเธอคือหนึ่งคนที่เติบโตท่ามกลางครอบครัวที่มีความหลากหลายและโอบล้อมไปด้วยความรักจากคนรอบตัว แต่ด้วยทัศนคติของคนในสังคมที่ยังตั้งคำถามกับเธอ ทำให้หงส์ต้องเผชิญกับเรื่องราวที่กลายเป็นบาดแผลในจิตใจ จากการที่สังคมยังมีความเข้าใจผิดๆ เช่น เพราะครอบครัวเป็น LGBTQ ลูกก็เลยเป็น LGBTQ ด้วยรึเปล่า หรือความเข้าใจว่า LGBTQ เป็นคนไม่ดี ทำให้ลูกของพวกเขาถูกเลือกปฏิบัติไปด้วย ซึ่งแท้จริงแล้วสังคมควรเริ่มทำความเข้าใจและยอมรับความหลากหลาย รวมไปถึงเรียนรู้ว่า LGBTQ ก็เป็นคนเหมือนกัน และพวกเขาควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นๆ
รวมไปถึงในทางกลับกัน การที่มีคนตั้งคำถามว่าเพราะครอบครัวเป็น LGBTQ ทำให้ลูกกลายเป็น LGBTQ ด้วยนั้น เป็นคำถามที่เราอาจต้องหันกลับมาตั้งข้อสังเกตกันดีๆ ว่าการเป็น LGBTQ นั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และการที่ลูกหรือคนในครอบครัว LGBTQ นั้นสามารถ come out หรือเปิดเผยเพศสภาพของตัวเองออกมาได้ ในทางหนึ่งเป็นเพราะครอบครัว LGBTQ นั้นยอมรับความหลากหลายและเข้าใจความรู้สึกของลูก สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการดูแลเขา และรักเขา รวมไปถึงไม่เกิดการเลือกปฏิบัติในครอบครัว
ซึ่งแม่เจี๊ยบเสริมให้เห็นประเด็นนี้ว่า “พ่อแม่จะเป็นหรือไม่เป็น ลูกจะเป็นหรือไม่เป็น มันไม่ใช่สิ่งที่มันตายตัว สิ่งที่ต่างไปก็คือว่า ในฐานะที่เราเป็น LGBTQ และลูกเป็น LGBTQ ด้วย สิ่งที่เราได้มากกว่าครอบครัวที่ไม่เข้าใจก็คือ ลูกของเราจะไม่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติในครอบครัวเลย ต่อให้ลูกเราเป็นผู้หญิง เขาก็ได้รับความรักเหมือนเดิม แต่เมื่อเขาเป็น LGBTQ เขาก็ได้รับความรักเท่าเดิม ไม่ได้พิเศษขึ้นไปเลย เพราะเรารักเขาโดยไม่มีเงื่อนไข”
ส่วนหงส์เองก็มองว่าแม่ของเธอทั้งสองเป็นคู่ชีวิตกัน เป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อต้องออกไปอยู่ในสังคมอื่นๆ เช่นในโรงเรียน เธอมักจะเจอคำถามที่มองว่าเรื่องครอบครัวของเธอเป็นเรื่องแปลก บางทีก็ต้องเจอกับคำถามว่า แล้วพ่อไปไหน
“มันมีราก คือความชายเป็นใหญ่ หรือวัฒนธรรมทางเพศที่ถูกกีดกัน รวมไปถึงกรอบเพศชายและหญิง ซึ่งคนที่ไม่ได้อยู่ในกรอบทั้งสองเพศนี้มักจะถูกผลักออก และถูกอคติ จากคนในสถาบันต่างๆ เช่น สถาบันครอบครัว โรงเรียน ชุมชน”
“เราต้องแก้ mindset ของเขา ว่า LGBTQ ก็คือความหลากหลายและเราก็ควรที่จะยอมรับเขาในฐานะที่เป็น LGBTQ ไม่ใช่ว่ายอมรับเขาว่าแบบ เธอจะเป็นอะไรก็ได้เรื่องของเธอ แต่ขอให้เป็นคนดี ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเหมือนเป็นคำอคติ คำที่ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเป็นแบบนั้น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงเราไม่ต้องเป็นแบบนั้นก็ได้ เราเป็นเรานี่แหละ”
ต่อมาหงส์ได้ย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวในโรงเรียนที่เธอมักเจอกับคำถามต่างๆ ที่หลายคนไม่ได้เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ ทำให้ไม่เข้าใจเรื่องครอบครัวและตัวตนของเธอ
“จะมีเพื่อนในห้องที่สงสัยว่าทำไมเราถึงอยู่ในครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศ บางทีเราจะมีความรู้สึกอย่างหนึ่งก็คือ บางคำถามถ้าเขาอยากรู้จริงๆ เราก็จะอธิบายให้ฟัง แต่จะมีบางคนที่ไม่ได้อยากรู้ แต่ถามเพื่อให้เรารู้สึกแย่ เราก็จะไม่ตอบคำถาม แต่ก็จะทำให้ดูว่าก็เป็นเรื่องปกตินะที่เรามีครอบครัวที่มีความหลากหลายทางเพศได้”
“เราโชคดีมาก ที่ตั้งแต่เราเด็กๆ จนถึงมัธยมต้น เราเจอครูดีมาก เขาจะเข้าใจว่าเรามีความรู้สึกอย่างไร แล้วเขาก็จะสนับสนุนเรา ไม่ตัดสินเรา ไม่พูดจาดูถูกเหยียดหยามที่เราเป็น LGBTQ หรือการที่เรามีความหลากหลายทางเพศเอง ครูเขาก็จะไม่พูดทำให้เรารู้สึกแย่หรือเสียใจ คอยสนับสนุนเราเวลาเรามีปัญหาอะไร หรือเราต้องการความช่วยเหลือค่ะ”
“แต่พอขึ้นช่วงมัธยมปลาย เราเจอครูที่เขาไม่ได้เข้าใจเรื่องเพศ เรื่องสิทธิ หรือเรื่องความหลากหลายทางเพศเลย เขาก็จะไม่ได้ดูแลเราแบบดูแลเพื่อนๆ ทั่วไป บางทีก็ละเลยเราด้วย”
หงส์ย้อนเล่าเรื่องราวในช่วงมัธยมให้เราฟังด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ “หนูก็รู้สึกแบบว่า ทำไมไม่ปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นนักเรียนคนหนึ่ง”
เมื่อสังคมยังไม่เข้าใจและยอมรับความหลากหลายนั้น ทำให้ในบางครั้งก็เกิดเรื่องราวเช่นเดียวกับหงส์ที่เกิดการเลือกปฏิบัติกับผู้มีความหลากหลายทางเพศในสังคม และนั่นเป็นสิ่งที่คนในสังคมยิ่งต้องเรียกร้องให้มากขึ้น เมื่อ ‘ครู’ และ ‘โรงเรียน’ ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กๆ ที่กำลังเติบโต เพราะพวกเขาต่างมองหาที่พึ่งพิงในวันที่คนอื่นๆ อาจจะยังไม่เข้าใจพวกเขา
“คนที่มีความหลากหลายทางเพศ เขาก็ต้องการความช่วยเหลือจากครูเหมือนกัน เด็กที่เป็น LGBT ก็มีปัญหาไม่ต่างจากเด็กคนอื่น แต่ปัญหาของเขามันพิเศษซับซ้อนกว่า และเราก็ต้องการความเข้าใจจากครู ต้องการแรงสนับสนุนจากครูค่ะ” หงส์ยืนยันกับเราถึงสิ่งที่เธอต้องการ
เสียงของคนรุ่นใหม่ที่อยากบอกผู้ใหญ่ทุกคน
“เวลาที่เสียงอย่างหนู หรือเพื่อนๆ ที่เป็นเยาวชน เขาเปล่งออกไป มักจะถูกสังคมผลักให้ว่าเป็นเรื่องที่เด็กไม่ควรพูด เรารู้สึกว่าเหมือนเราถูกทิ้งอยู่ข้างหลัง”
หงส์ซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ และเป็นหนึ่งในคนที่ส่งเสียงเรื่องความเท่าเทียยมทางเพศผ่านเพจของเธอที่ชื่อ Her story_My Daughter ได้บอกเล่าถึงความรู้สึกที่เสียงของเธอมักดังไม่พอให้ผู้ใหญ่บางคนในสังคมได้ยิน ซึ่งเธอเกิดความรู้สึกมากมายเมื่อเสียงของเธอไม่เคยได้รับการรับฟัง
“ปัญหาคือเด็กไม่เคยได้พูดเลย มีแต่ผู้ใหญ่พูดปัญหาของเด็ก ซึ่งมันไม่ใช่ มันไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่มาพูดว่าเราเผชิญกับอะไร เพราะเขาอาจพูดไม่ครบทุกประเด็นอย่างเราที่เป็นเด็กต้องเผชิญ เด็กแต่ละคนไม่ได้มีแค่ปัญหาเดียว มันมีความซับซ้อนของแต่ละคนลงไปอีกด้วย บางคนเป็นเยาวชนที่เป็น LGBT แล้วก็เป็นชนเผ่าพื้นเมือง เขาก็จะมีปัญหาของเขาลึกลงไปอีก บางคนเป็นคนพิการ เป็นแรงงานข้ามชาติก็จะมีปัญหาเฉพาะของเขาลงไปอีก ซึ่งเราก็อยากให้เด็กเหล่านี้ได้มาพูดปัญหาของตัวเอง และได้รับการรับฟังอย่างไม่ตัดสิน แล้วก็ให้แรงสนับสนุนกับพวกเราในการเคลื่อนไหว เพื่อให้ปัญหาของเราได้ไปสู่นโยบาย”
ในปัจจุบันมีการพูดคุยถึงประเด็นเสียงของคนรุ่นใหม่ที่มักไม่ค่อยได้รับการรับฟัง และมักถูกเมินเฉย ปัญหาที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญคือการพยายามนำเสนอทางออกหรือส่งเสียงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะอนาคตพวกเขาจะต้องยังอยู่ในสังคมนี้ต่อไปและอยากเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น แต่กลายเป็นว่าเสียงของพวกเขากลับถูกลดทอนลงไปเรื่อยๆ
ซึ่งหงส์ก็พูดกับเราด้วยความรู้สึกอัดอั้นในใจว่า
“เป็นความรู้สึกที่ทำไมถึงไม่ฟังเรา ทั้งๆ ที่เราก็เผชิญกับปัญหาและเราต้องการที่จะพูด เพื่อที่จะให้ได้รับการเปลี่ยนแปลงเหมือนกับปัญหาอื่นๆ ความต้องการของหนูก็คือ หนูต้องการให้คนในสังคมฟังพวกเราในฐานะเยาวชน ฟังจริงๆ ไม่ใช่ฟังเพื่อจะปล่อยผ่านไป”
โดยเธอยังบอกต่อไปอีกว่า “จะดีมากถ้าเกิดเยาวชนอย่างพวกเราได้เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ชุมชน นโยบาย เราอยากเข้าไปมีส่วนร่วม”
ถึงอย่างนั้นเธอก็บอกว่าเธอยังมีความหวังอยู่บ้างเพราะการที่คนรุ่นใหม่ออกมาส่งเสียงด้วยกัน เดินไปด้วยกัน ทำให้เธอรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ต่างเป็นเหมือนการส่งกำลังใจให้กันและกัน และทำให้เธอพอจะมีความหวังในการอยู่ในสังคมนี้
“ก็ยังพอเห็นความหวังอยู่ว่า เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะว่าการเคลื่อนไหวของเราเองก็เป็นการเคลื่อนไหวที่เราพาทุกคนไปด้วยกัน และเราเห็นว่าคนในกลุ่มเราเองก็มีความเข้าใจ และเราน่าจะสามารถทำให้คนในสังคมเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้”
“เราก็ได้เห็นว่ามันมีเด็กรุ่นใหม่ที่เขาก็สนใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศเหมือนกัน และเขาก็มีความหลากหลายทางเพศ ก็ทำให้เรารู้สึกว่า เราก็มีกำลังใจที่จะทำงานตรงนี้ต่อ ในฐานะที่เราเป็นเยาวชนที่อยู่ในครอบครัวหลากหลายทางเพศที่ออกมาเปิดตัว”
“แต่ว่าก็อยากให้ประเทศเราเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะว่ามันก็ส่งผลมากๆ ถ้าเราไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้ถ้าสังคมมีความเป็นธรรมทางเพศด้วย ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวของเราขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วขึ้น เราจะมีกฎหมายที่ยอมรับและปกป้องคุ้มครองเราด้วย”
หงส์ทิ้งท้ายกับเราถึงสิ่งที่เธอหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงๆ