เคยซื้อหนังสือเล่มไหนมาพร้อมความหวัง แต่ทุกอย่างก็พังลงเมื่อพบว่าไม่สนุกเอาเสียเลยบ้างไหม?
เชื่อว่า ถ้าใครชอบอ่านหนังสือ ดูหนัง ดูซีรีส์ ต้องเคยเผชิญกับภาวะ ‘ไม่ตรงปก’ แบบนี้กันมาบ้างแน่ๆ ซึ่งการที่เราต้องเผชิญกับภาวะแบบนี้ก็อาจทำให้ใครหลายคนหงุดหงิดและขุ่นเคืองใจกันไม่ใช่น้อยๆ
แล้วจะทำยังไง ถ้าเจอแบบนี้?
รองขาโต๊ะ คำตอบ และชื่อของเพจเฟซบุ๊กที่เปิดมาด้วยความต้องการจะรีวิวหนังสือที่เหมาะกับการเอาไปรองขาโต๊ะ ซึ่งถูกอกถูกใจใครหลายคน จนตอนนี้ มียอดไลก์เพจ 9,000 กว่าไลก์ (18 มิถุนายน) ทั้งที่เพิ่งเปิดเพจมาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนเท่านั้น
เราขอชวนทุกคน ไปร่วมกันสำรวจไอเดียและเบื้องหลังการทำเพจ รวมถึงแวดวงหนังสือ กับแอดมินเพจ รองขาโต๊ะ ด้วยความหวังว่า บทความนี้จะไม่ถูกเอาไปรองขาโต๊ะนะ
จุดเริ่มต้นของการทำเพจมาจากไหน
จุดเริ่มต้นของการทำเพจนี้ คือ ผมซื้อหนังสือเล่มนึงมา เห็นว่าหน้าปกสวยดี น่าสนใจดี เพราะวางอยู่บนชั้นหนังสือแนะนำใน SE-ED แต่เล่มนี้มันห่อพลาสติกไว้ เลยไม่ได้เปิดอ่าน และเมื่อผมอ่านจบ ผมรู้สึกโมโหมาก เพราะเนื้อหาภายในมันห่วยในความคิดของผม ผมเลยโพสต์สาปส่งหนังสือเล่มนี้ในหน้าวอลล์ของตัวเอง น่าจะเกือบ 10 โพสต์ และมีเพื่อนในเฟซบุ๊กเข้ามาคอมเมนต์ว่า “เอาไปรองขาโต๊ะเถอะ” เลยเกิดไอเดียสร้างเพจรองขาโต๊ะขึ้นมา
เอาจริงๆ ก็คือเปิดมาเพื่อด่าหนังสือเล่มนึงแค่นั้นเลย
แล้วทำไมถึงเลือกที่จะให้คะแนนหนังสือตามความ ‘รองขาโต๊ะ’
ถ้าเป็นไอเดียเรื่องการให้คะแนนแล้ว ผมคิดเล่นๆ ว่าคนชอบให้คะแนนหนังสือตามความชอบของตัวเอง ผมก็เลยกลับกันว่าผมให้คะแนนตามความน่าเอาไปรองขาโต๊ะแทนแล้วกัน ผมว่ามันเป็นไอเดียที่ตลกดี แถมมันยังเป็นภาพแบบพวกเว็บคลิกเบทกลายๆ ด้วย
แต่ถามว่าคะแนนมีผลขนาดไหนสำหรับในเพจ ผมว่าไม่น่าจะมีผลอะไรมาก ผมไม่มีมาตรฐานการให้คะแนน การให้คะแนนแบบนี้มันแค่ดูสนุกดี ผมว่าคนเรายึดติดเรื่องคะแนนมากไป โดยที่ยังไม่ทันได้อ่านก็แชร์ไปก่อนแล้ว
แต่ก็ตั้งใจจะรีวิวหนังสือที่ชอบไปด้วย เพราะอะไร?
เพราะผมอดทนหนังสือห่วยๆ ไม่ได้ตลอดเวลาไงล่ะ (หัวเราะ)
Feedback ที่ตอบรับกลับมาเป็นอย่างไรบ้าง?
ตอนนี้ feedback กลับมาค่อนข้างดี เพจโตไวจนน่ากลัว ผมไม่คิดว่ายอดไลก์จะขึ้นมาแตะ 9,000 ไลก์ได้ใน 2-3 วัน แต่เท่าที่ตามอ่านดู บางคนก็ชอบที่รีวิวหนังสือเหมือนเพื่อนมาเล่าให้ฟัง กล้าพูดในด้านอื่นของหนังสือเล่มนั้นๆ บ้าง บางคนก็ไม่ชอบเพราะมองว่าเป็นการโจมตีหนังสือ และผู้เขียน
แต่ถ้าในคอมเมนต์แต่ละคนก็ดูสนุกสนาน เหมือนเป็นพื้นที่ที่เขากล้าจะได้พูดในสิ่งที่ตัวเองคิด ก็เป็นเรื่องดี ถกเถียงกันไปสนุกสนาน
จากคอมเมนต์ที่บอกว่า เป็นการโจมตีหนังสือและผู้เขียน คิดเห็นยังไงบ้าง?
ผมคิดว่าหนังสือควรจะถูกวิจารณ์ในแง่ลบได้ เช่นเดียวกันกับเพลงหรือหนัง เพราะสุดท้ายแล้ว วิจารณญาณก็เป็นของผู้เสพผลงาน แต่ถ้าไม่อยากให้ผมด่า ก็อินบ็อกซ์มาได้ จ่ายเงินค่าโฆษณา ผมจะให้คะแนนติดลบให้ เพราะทุกอย่างซื้อได้ด้วยเงิน .. แซวเล่นนะครับ (หัวเราะ)
แสดงว่าส่วนตัวเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว?
ใช่ครับ ซื้อเป็นงานประจำ อ่านเป็นงานอดิเรก
มีหนังสือประเภทไหน หรือแบบไหนที่ชอบเป็นพิเศษไหม?
ถ้าที่ชอบจะเป็นหนังสือพวกปรัชญา การเมือง ความรู้รอบตัว นิยายสยองขวัญ นิยาย Sci-fi และวรรณกรรมคลาสสิก ผมชอบแนวนี้เพราะปรากฎการณ์ทางการเมืองในช่วงม็อบ กปปส. ทำให้เกิดความอยากรู้ เพราะเมื่อก่อนผมไม่สนใจการเมืองเลย ก็เลยตามอ่านหนังสือประเภทนี้มาเรื่อยๆ ผมเลยชอบอ่านหนังสือที่มีการวิพากษ์สังคม
มีเล่มที่อยากห้ามไม่ให้เอาไปรองขาโต๊ะเด็ดขาดเลยไหม?
เล่มที่ห้ามเอาไปรองขาโต๊ะเด็ดขาด คือ Justice: What’s the Right Thing to Do? ของไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) เพราะเป็นหนังสือปรัชญาการเมืองเล่มแรกที่ผมอ่านเลย
แล้วส่วนตัว มองเห็นอะไรจากหนังสือประเภทนี้บ้าง?
ผมขอยกปรัชญาแล้วกัน หนังสือประเภทนี้สอนให้เรารู้จักตั้งคำถาม ท้าทายกับมัน เราจะเห็นได้ว่าใดๆ ในโลกที่เกิดขึ้นล้วนเกิดมาจากคำถามทั้งสิ้น
บางครั้งเราดำเนินชีวิตไปตาม sense ที่เป็น norm ของสังคมโดยปราศจากการตั้งคำถาม บางสิ่งที่เรากระทำไป ตัวเราเองคิดว่าเราทำสิ่งที่ดีอยู่ แต่เราไม่เคยถามว่าความดีคืออะไร
หนังสือแนวนี้มันช่วยการขยับเพดานทางความคิด จาก common sense ที่สังคมกำหนดไว้ ขึ้นไปเป็น good sense ได้ ตัวอย่างเช่น เรื่องบางเรื่องผิดกฎหมาย ถ้าใครฝ่าในกฎนั้น เราก็จะตราหน้าเขาว่าเป็นคนเลวไปเสียหมด นี่คือ common sense แต่หากเราลองตั้งคำถามว่า กฎหมายนั้นมีเจตจำนงค์เพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้คนบางกลุ่มหรือเปล่า หรือมีไว้เพื่อปกป้องสวัสดิภาพของประชาชนกันแน่ เราก็พอที่จะตระหนักได้ว่าคนที่ละเมิดกฎหมายไม่ใช่คนเลวไปเสียหมดหรอก เพียงแต่เขาขัดขืนต่ออำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้นเอง นี่คือ good sense ที่ผมกล่าว
หรือพอตั้งข้อสงสัยเสร็จ คุณก็จะพาตัวเองไปค้นคว้าหาความรู้ด้านนั้นต่อ ปรัชญาเป็นสิ่งที่ทำให้คุณกลายเป็นคนขี้สงสัย และสำหรับผมความขี้สงสัยเป็นสิ่งที่ดี
มีคำพูดที่ว่า เราจะเปลี่ยนไปตามหนังสือที่อ่าน ตอนนี้แอดมินมองตัวเองเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมากน้อยแค่ไหน?
เปลี่ยนไปเยอะมาก เมื่อก่อนผมเป็นเด็กที่เรียนไม่จบ ติดยา รวมกลุ่มกับเพื่อนไปตีคนอื่น ว่างก็ลักเล็กขโมยน้อย เอาของไปขาย แล้วก็เอาเงินไปเสพยา หลังจากเคว้งคว้างอยู่สักพัก ผมก็เริ่มหัดอ่านหนังสือ ซึ่งจริงๆ ตอนเด็ก แม่ก็ชอบซื้อหนังสือให้ผมอ่านอยู่แล้ว เลยมีพื้นฐานการอ่านมาบ้าง
แล้วการอ่านก็เปิดโลกใหม่ให้กับผม จนในที่สุด ผมก็หมกหมุ่นกับการหาข้อมูลทั้งทางการเมือง สังคม อย่างน้อยก็เพื่อจะตอบให้ได้ว่าทำไมสังคมระดับล่าง แบบที่ผมเป็นเมื่อก่อน มันถึงเละเทะได้ขนาดนั้น พอเอาประสบการณ์ตอนนั้น มาเทียบกับองค์ความรู้ที่มีตอนนี้ ก็พอจะตอบได้ว่า ตอนนั้นทุกคนต้องการความสุข ต้องการการยอมรับ พวกเราสร้าง subculture ของตัวเองขึ้นมา เพราะพวกเราอ้างว้าง แต่ก็มีแค่พวกเราเท่านั้นที่ยอมรับกันเองได้
เพราะฉะนั้นตอนนี้ผมจะอินกับเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นพิเศษ ทุกคนในสังคมบอกว่าเกลียดคนเลว แต่น้อยคนที่จะตั้งคำถามว่า “เราจะทำให้คนเลวเหล่านั้นกลับมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในประเทศได้อย่างไร?” เรียกว่าเปลี่ยนจากหลังเท้าเป็นหน้ามือได้เลย แต่ผมก็ไม่คิดว่าหนังสือจะเป็นเครื่องมือเดียวในการเปลี่ยนคนนะ แต่มันกลับใช้ได้สำหรับผม
แอบเห็นมีรีวิวหนังสือ How to อยู่ประมาณนึง คิดยังไงกับหนังสือประเภทนี้บ้าง?
หนังสือ How to บางเล่มที่ซื้อมาอ่าน เพราะอยากรู้ว่าทำไมหนังสือแนว How to แนวพัฒนาตนเอง ถึงขายดิบขายดี แต่พออ่านแล้ว ผมรู้สึกว่าเป็นหนังสือที่ไม่ค่อยให้อะไรกับคนอ่านสักเท่าไร ผมคิดว่าหนังสือแนวนี้กำลังทำให้พวกเราหลงทาง มันเป็นหนังสือที่มุ่งเน้นไปที่เรื่อง ‘ประสบความสำเร็จ’
แต่ความหมายของการประสบความสำเร็จนั้น ถูกผูกขาดจากคนกลุ่มนี้คือ รวย มีหน้ามีตาในสังคม มันสร้างความทะเยอทะยานให้คุณถีบตนเองขึ้นไปอยู่บนยอดชั้นพีระมิด
ขณะเดียวกัน มันก็ทำให้เราหลงลืมไปว่าการประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ได้มีแค่หนทางเดียวแบบที่หนังสือ How to บอก คุณประสบความสำเร็จในชีวิตได้หมดในทุกสายอาชีพ คุณจะเป็นพ่อค้านักขายชั้นยอด คุณจะเป็นเกษตรกรที่สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อพี่น้องชาวเกษตรกรก็ได้ ที่สำคัญคือ หนังสือแนวนี้ไม่เคยบอกคุณว่ามันมีอำนาจรัฐ และกลไกบางอย่างที่ขัดขวางการประสบความสำเร็จในชีวิตคุณอยู่
อำนาจรัฐ กับกลไกที่ว่ามันคืออะไร?
หมายถึงว่า คุณจะประสบความสำเร็จทางธุรกิจได้ด้วยคำแนะนำของหนังสือ How to อย่างประโยคของ โรเบิร์ต คิโยซากิ (Robert Kiyosaki) นักธุรกิจและผู้เขียนเรื่อง พ่อรวยสอนลูก ที่บอกว่า “คนจนมักคิดว่า ‘ฉันทำไม่ได้’ คนรวยมักคิดว่า ‘ฉันต้องทำอย่างไร’”
ประโยคนี้ก็ไม่ได้มองด้วยความเข้าใจคนจน เพราะเงื่อนไขหลายอย่างไม่เอื้ออำนวยให้พวกเขา สมมติผมจนแล้วผมอยากจะทำเบียร์ขาย มันทำได้ไหม? ไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อให้เขาทำเบียร์ แต่คนรวยทำได้? เพราะฉะนั้นบางทีรัฐก็เป็น ‘เงื่อนไข’ สู่การประสบความสำเร็จเหมือนกัน
ใครจะรู้ว่าชาวบ้านอาจจะทำเบียร์อร่อยมากจนโด่งดังไปทั่วโลกก็ได้ แต่พวกเขาไม่มีโอกาสทำสิ่งนั้น เพราะอำนาจรัฐและกลไกบางอย่างในประเทศขัดขวางอยู่ หรือแม้จะแย้งว่า “ก็พวกคุณไม่รู้จักนำไปปรับใช้” ก็ต้องขอเถียงกลับว่า เพราะคุณไม่เข้าใจต้นทุนชีวิตของคนที่ขาดโอกาสเช่นกัน
แล้วอย่างนี้ การที่หนังสือแนวๆ นี้กำลังเป็นที่นิยมอยู่ มันสะท้อนให้เห็นอะไรในสังคมเรา
ส่วนตัวผมคิดว่า ในสังคมไหนที่หนังสือ How to เป็นที่นิยมนั้นหมายถึงสังคมกำลังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ และคนในสังคมอยากจะถีบตัวเองให้ขึ้นไปพ้นชีวิตที่เป็นอยู่ในขณะนี้
ผมเชื่อว่าการอ่านหนังสือ How to ไม่ได้สร้างความสนุกหรือความจรรโลงใจเลย แต่การที่เขาอ่าน เพราะเขาคิดว่าหนังสือแนวนี้เป็นเครื่องมือที่จะทำให้เขาพ้นทุกข์ ณ ปัจจุบันได้ ผมยังคิดเล่นๆ เลยว่า ถ้ามีโอกาสลองไปดูชั้นหนังสือแนะนำในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำ อย่างประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการ เขาจะแนะนำหนังสืออะไรให้อ่านกันนะ
แต่ผมเชื่อว่า ถ้าทุกคนมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียมแล้ว หนังสือแนว How to นั้นจะได้รับความนิยมที่ต่ำลงแน่นอน และอีกอย่างที่ผมคิด คือ สำนักพิมพ์เขารู้ว่าคนไทยกำลังโหยหาอะไร เขาจึงพิมพ์หนังสือแนวนี้ออกมาเกลื่อนตลาดไปหมด
แล้วจากที่มีคนมาคอมเมนต์พูดคุยกันในเพจ มองเห็นอะไรในคอมเมนต์เหล่านั้นบ้าง?
ที่ผมมองเห็นชัดๆ เลยคือ มีคนที่อ่านหนังสือแล้วรู้สึกแย่กับมัน แต่เขาไม่กล้าพูด กลัวที่จะพูด หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเหตุผลให้เขาไม่กล้าแสดงออกมา เมื่อเขามาเจอที่ตรงนี้ มันทำให้เขากล้าที่จะพูดในสิ่งที่ตัวเองคิดมากขึ้น มีการโต้แย้งกันบ้าง แต่ก็ไปในทางที่สร้างสรรค์
แต่ก็ไม่ได้มีแค่การด่า หรือต่อว่าเพียงอย่างเดียว เช่น บางโพสต์ผมบอกให้เขาแนะนำหนังสือหน่อย คนก็เข้ามาแนะนำหนังสือที่ตัวเองชอบกันเต็มไปหมด ถ้าจะให้สรุปสั้นๆ คือ พวกเขากล้าที่จะจริงใจต่อความรู้สึกตัวเองมากขึ้น
มีคำพูดที่บอกว่า ตัวเราในอนาคตจะเป็นไปตามหนังสือที่เราอ่านอยู่ แอดมินคิดว่า ตัวเองในอนาคตจะเปลี่ยนไปยังไงบ้าง?
ไม่เคยคิดเลยว่าจะเป็นยังไง แต่ที่เขียนเป้าหมายเอาไว้ในสมุดบันทึกของตัวเองคือ อยากเป็น ส.ส. ครับ (หัวเราะ)
ขอแอบถามได้ไหมว่า เอาหนังสือไปรองขาโต๊ะจริงๆ ไหม
ไม่เคยครับ และไม่แนะนำด้วย ถ้าไม่ชอบเอาไปขายมาซื้อเล่มใหม่น่าจะดีกว่า หรือเอาไปบริจาคให้คนที่ยังขาดโอกาสก็ยิ่งดีขึ้นไป แม้มันจะให้ประโยชน์กับเราไม่ได้ แต่อาจจะให้กับคนอื่นได้
สมมติว่าถ้าเอาไปรองขาโต๊ะจริงๆ คิดว่าโต๊ะจะสูงขึ้นมาประมาณไหน?
ถ้าของตัวเองก็น่าจะสูงขึ้นไปไม่มาก เพราะโชคดีว่าหนังสือแนวนี้ไม่ค่อยหลุดเข้ามา แต่คำถามก็น่าสนใจ รอบหน้าถ้าเจอหนังสือที่น่าเอาไปรองขาโต๊ะ ผมจะวัดความหนาให้ด้วยว่า หนากี่เซนติเมตร เผื่อใครจะเอาไปรองขาโต๊ะจริงๆ