“ณ ถนนกังสะเดิด ศูนย์รวมอาหารต่างชาติชั้นแนวหน้าของเมืองของแก่น มีร้านข้างทางซอมซ่ออยู่ร้านหนึ่งยืนหยัดยอู่ได้ในถนนสุดไฮโซนี้ ซึ่งร้านนั้นคือร้านขายข้าวจี่ร้อนๆ พร้อมปลาร้าบองรสแซ่บ”
นี่คือเรื่องย่อของ ‘เจ้าหนูข้าวจี่’ มังงะไทยฉบับรวบเล่มที่เพิ่งวางจำหน่ายไปไม่นานก็แสดงความฮ้อนแฮง (ร้อนแรง) ออกมาระดับที่เซเลปในโลกออนไลน์หลายท่านต่างออกมาแสดงความชื่นชอบ
The MATTER จึงถือโอกาสแวะเวียนไปสนทนากับ คุณเกษม อภิชนตระกูล ทีมผู้สร้างการ์ตูนเรื่องนี้ คุณเกษมรับสายเราด้วยน้ำเสียงสดใส ก่อนจะเล่าถึงที่มาที่ไปของการ์ตูนเรื่องนี้ที่เกิดขึ้นมานับสิบปี เมื่อครั้งที่คุณเกษมพูดคุยกับเพื่อน (คุณคุณากร ขุนนราศัย ที่ได้เครดิตเป็น Original Story) ในอินเทอร์เน็ต
“แรงบันดาลใจในการเขียน มาจากการ์ตูนทำอาหารสักสิบปีก่อน ในช่วงนั้นมีพวกจอมโหดกระทะเหล็ก, เจ้าหนูซูชิ และ เจปัง เราคุยกันว่าถ้ามีคนเขียนการ์ตูนไทยเกี่ยวกับอาหารที่มีรีแอคชั่นก็คงเป็นแบบนี้ อย่างมุก ‘เครื่องปรุงมายา’ นี่ผมลุ้นมาตลอดเลยว่าจะไม่มีใครเล่นมุกนี้เลยเหรอวะ คือมันตั้งสิบปีแล้วนะ”
คุณเกษมย้อนความทรงจำที่กลายมาเป็นผลงานให้เราฟัง จากนั้นก็ออกความเห็นว่า แม้การ์ตูนแก๊กของเขายิงมุกดักคนอ่านวัย 25 ปีขึ้นไปเสียเยอะแต่ก็ได้รับความนิยม โดยเฉพาะเรื่อง ‘โซมะ’
“ช่วงที่ผ่านมาหลายปีนี้การ์ตูนทำอาหารมันก็หายไปเยอะนะครับ ถ้าไม่มีเรื่องโซมะ (ยอดนักปรุงโซมะ) การ์ตูนของผมก็คงจะแป้กเหมือนกันครับ ส่วนมุกดักแก่นั่นเด็กยุคใหม่ไม่เก็ตก็ไม่เป็นไรครับ (หัวเราะ)”
‘ยอดนักชิมโซมะ’ และ ‘เจ้าหนูข้าวจี่’ นั้น เคยตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารการ์ตูนซีคิดส์ ภายในเล่มยังมีการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องดังเรื่องอื่นๆ และยังมีกำหนดการลงงานรายปักษ์ด้วย เราเชื่อว่ามันต้องมีอะไรบางอย่างที่ทำให้นักเขียนการ์ตูนไทยจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นแน่ๆ
“อ๋อครับ เปลี่ยนอย่างมาก เพราะผมเป็นกองบรรณาธิการของ Cartoonthai Studio ด้วย ช่วงก่อนหน้านี้ผมก็จะรับงานการ์ตูนที่ไม่ต่อเนื่องมาก อย่างตอนผมเขียนเรื่อง ‘ชมรมวารสารตำนานสถาบัน’ ลงในนิตยสาร Error Hours ประมาณสามเดือนจะออกเล่มนึง ซึ่งผมเขียนแค่ตอนเดียวในเล่มนั้น หรืองานที่เคยต่อเนื่องมากๆ ก็เป็นการ์ตูนหนังของทาง GTH ซึ่งก็ยังไม่ได้ออกรัวขนาดนี้ พอมาเขียนเป็นรายปักษ์สลับกันลงกับเรื่อง EXEcutional (การ์ตูนไทยเรื่องดังอีกเรื่องหนึ่ง) ผมนี่จะตายเอาเลยครับ เพราะเราต้องคิดเรื่องเร็วขึ้น รวมถึงจำนวนหน้าที่ต้องทำออกมามากขึ้นด้วย จนช่วงนึงมือสั่นจนกลัวว่าปลายประสาทจะเป็นอะไรไหมในช่วงที่เขียนต่อเนื่องกันสิบกว่าตอนเนี่ย ไม่เคยรู้สึกมาก่อนเลยว่าเรารีดพลังของเราออกมาเยอะมากๆ แต่พอได้พักหลังช่วงที่ CKids ปิดตัวลงก็อาการดีขึ้นครับ”
“ที่มาเป็นกองบรรณาธิการควบด้วย เพราะคนมันขาดจริงๆ ครับ คนที่มาเป็นกองบรรณาธิการสายนี้แล้ว ก็ควรจะรู้เรื่องการ์ตูนดี รู้เรื่องขั้นตอนการทำงานของสำนักพิมพ์ เข้าใจการปรูฟ ต้องรู้ว่าสามารถเอางานไปขายต่อได้ยังไง มันดีไหม มันทำเป็นหนังสือได้ไหม อะไรทำนองนี้อะครับ”
สำหรับท่านที่ไม่ได้ทำการในวงการมังงะของไทยอาจจะแปลกใจอยู่บ้างว่าทำไมนักเขียนชาวไทยจะต้องควบตำแหน่งกองบรรณาธิการด้วย คุณเกษมอธิบายให้เราฟังง่ายๆ ว่า
“ถ้านักเขียนคนไหนนั่งวาดของเราคนเดียว ถึงจุดหนึ่งมันก็ตันได้ดื้อๆ แล้วถ้าคุยกับคนนอกก็อาจจะไม่ได้คุยระดับเป็นงานเป็นการได้ ซึ่งการที่มาเป็นกองบรรณาธิการก็เพื่อที่เราจะได้ช่วยเหลือนักเขียนคนอื่นๆ ด้วยครับ”
การทำงานในวงการนี้ แต่ละคนคงมีไอดอลเป็นของตัวเองโดยแน่ เราจึงสอบถามว่าคุณเกษมว่านักเขียนไทยที่คุณเกษมเห็นเป็นไอดอลคือใคร “(หัวเราะ) ขอละคนใกล้ตัวไว้ก่อนนะครับ แอบอายกันเอง แต่ที่ยกชื่อนักเขียนที่ชอบงานก็จะเป็น คุณธนัญชัย จินดาทวีรัศมี ที่เคยเขียนงานลงใน CKids สมัยก่อน แต่แกเลิกเขียนไปแล้วนะครับ คุณโกสินทร์ เจียมชูโรจน์ (นักวาดการ์ตูนไทยเรื่อง Holiday Howl ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) คุณณัฐพล อยู่วิทยา หรืออย่างคุณ Midnight (ภานุวัฒน์ วัฒนนุกูล) ที่เขียนเรื่อง EXEcutional และอีกคนที่ขาดไม่ได้ ยังไงก็ต้อง พี่ต่าย ขายหัวเราะ ครับผม”
เราถามคุณเกษมว่า มีอะไรฝากถึงนักเขียนหน้าใหม่ที่อยากจะเข้าวงการบ้าง สิ่งที่เขาตอบทำให้เราต้องตกใจเล็กน้อย “…อือ ตั้งใจเรียน ไปเป็นทนาย ไปเป็นหมอ อาจจะดีกว่าครับ คืออาชีพสายการ์ตูนเนี่ย มันอาจจะยังไม่มั่นคงมากนัก การมีความรักกับงานการ์ตูนจึงสำคัญมาก”
“แล้วความรักเนี่ย เราต้องแยกส่วนชอบเสพชอบดู กับการชอบทำชอบเขียนกันด้วย เพราะที่ผมเคยเจอ มีน้องที่จะเลิกเรียนแต่ไม่มีพื้นฐานการเขียนการ์ตูนเลย แบบนั้นมันก็ไม่ดีนะครับ แต่งานสายนี้เป็นงานฝีมือ ยังไงก็ต้องฝึกตลอดเวลา ถ้าคุณไม่รักมันพอที่จะทำงานอยู่กับมันเกินวันละสิบชั่วโมง ก็อยากจะให้สนใจงานแนวอื่นดีกว่าครับ แต่ถ้าเตรียมจะมาจริงๆ ก็อยากให้เขาเรียนจนจบก่อน ค้นพบตัวเองก่อนแล้วคุณค่อยเข้ามาทำงานในวงการนี้อีกทีครับ”
สุดท้ายกับคำถามสุ่มเสี่ยงที่เป็นดราม่าในโลกออนไลน์พักนี้ว่า ถ้ามีคนจ้างให้ไปเขียนการ์ตูนโป๊ที่เกาหลี มีรายได้ดี คุณเกษมจะตัดสินใจไปทำไหม คำตอบที่ได้คือ
“ไม่เอาอ่ะครับ… คือผมคิดอย่างหนึ่งว่า ‘เราอยากจะให้คนจดจำแบบไหนมากกว่า’ คือไม่ใช่ว่าอันไหนมันดีมันแย่นะครับ แต่พอดีผมเลือกที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ครับ”