ตั้งเแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา หนังเรื่อง ‘ฉลาดเกมส์โกง’ ที่เล่าเรื่องการโกงการสอบระดับยิ่งใหญ่อลังการก็ได้เข้าฉายไปแล้ว และกระแสตอบรับจากคนดูก็โอเคเลย
ตอนดูตัวอย่างก็ “เฮ้ย มันจะมีคนโกงขนาดนั้นเลยเหรอ” เลยพยายามนึกถึงอดีต ถามคนรอบตัว และรีเสิร์ช ไปดูกันว่าที่เรารวบรวมมานั้น มีเทคนิคการโกงข้อสอบสเต็ปไหนกันบ้าง
โกงระดับอนุบาล
ยื่นคอไปดูโต๊ะข้างๆ
ก็มันไม่รู้อะ ขอดูดื้อๆ ละกัน จุดเริ่มต้นอาจมาจากความคิดง่ายๆ แค่นี้ แต่นี่ก็ถือว่าเป็นการโกงสอบแล้วนะ
พลิกกลับดูคำตอบที่สมุดเรียน
บางโรงเรียนมีสมุดให้ใช้สำหรับการสอบ บางครั้งบางคราวสมุดพวกนี้ก็จะมีสูตรคณิตศาสตร์ให้อ่าน บางทีในการสอบก็ไม่ได้ห้ามเอาสมุดออกจากห้องเรียน ก็เลยหวานหมูสำหรับบางโรงเรียนอนุบาลไป…แต่ก็สงสัยนะว่าเดี๋ยวนี้เด็กเรียนสูตรคูณตั้งแต่อนุบาลเลยเหรอ
โกงระดับประถม
วนโพยไปค่ะ
ลูกเล่นคลาสสิกวัยประถม จดข้อมูลหรือเฉลยคำตอบลงในกระดาษแล้วแกล้งทำหล่นลงพื้น รอเพื่อนในห้องเก็บไปต่อ เช็กทิศทางลมดีๆ ก่อนโยนกระดาษลงพื้น ไม่งั้นปลิวไปหาคุณครูที่คุมสอบแน่ๆ
ซ่อนโพยในกล่องดินสอ
กล่องดินสอเป็นอีกสิ่งที่แบ่งฐานันดรนักเรียนในช่วงเรียนประถม นอกจากแบ่งแยกชนชั้นได้แล้ว เจ้าสิ่งนี้ยังเป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานในการโกงได้อย่างดียิ่งอีกด้วย คืองี้ ก็กล่องดินสออลังๆ ที่พับทบได้หลายชั้น หลายซ้อน เลยมีเด็กนักเรียนบางคนโกงข้อสอบด้วยการยัดโพยไว้ตามจุดพับทบเหล่านี้ ที่เหลือก็รอจังหวะดีๆ ทำเป็นเปิดหาอุปกรณ์การเขียน แค่นี้ก็เป็นอันเรียบร้อย
โกงระดับมัธยม
รหัสลับบอกโกง
เมื่อการยื่นโพยแบบง่ายๆ เสี่ยงตายต่อการถูกคุณครูจับ เด็กนักเรียนจึงพัฒนามาเป็นการส่งซิกเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้รู้ว่าข้อสอบข้อต่อไปตอบอะไร ข้อนี้ในชีวิตจริงที่เคยผ่านมาอย่างมากก็แค่บอกเป็นภาษากาย อย่างจับศอก ตอบ ก. จับคอ ตอบ ค. แต่ในหนังฉลาดเกมส์โกงพัฒนาไปเป็นการเคาะโน้ตเปียโนเลย
ใช้การป่วยให้เป็นประโยชน์
สเต็ปนี้ต้องพึ่งพาทักษะการเล่นละครชั้นสูง บางกรณีที่เคยเจอก็คือ ใส่มาสก์มาโรงเรียน อ้างว่าป่วยเจ็บขออะไรก็ว่ากันไป แล้วก็ไอค่อกแค่ก ซึ่งจำนวนการไอนั่นล่ะที่ใบ้คำตอบไว้ บางคนใส่เฝือกแข็งดามแขนก็อาศัยการสอดไส้โพยไว้ใต้เฝือก ถือว่าเป็นการพลิกความเจ็บป่วยให้เป็นโอกาสซะเลย
ซุกมือถือไว้ในกระเป๋าเสื้อ
ยุคที่ Nokia 3310 กำลังบูมก็มีการใช้ทริคนี้เหมือนกัน วิธีนี้ต้องนัดแนะกับคนที่เรียนเก่งและทำข้อสอบได้เร็ว พอเดินไปจากห้อง อาจจดว่าตัวเองตอบอะไรไปด้วย จากนั้นก็ส่งข้อความไปหาเพื่อนในห้องเรียนที่เอามือถือซุกไว้ในกระเป๋าเสื้อ จุดอ่อนของวิธีนี้ก็คงไม่พ้นว่า ถ้าเผลอเปิดเสียงมือถือไว้ก็รู้กันทั่วห้อง และมือถือยุคหลังๆ ใหญ่เกินกว่าจะยัดไว้ในกระเป๋าเสื้อแล้ว
โกงระดับอุดมศึกษา
เร้นโพยใต้ร่มผ้า
บ้านเราร้อนตับแล่บแบบนี้ทำให้เครื่องแต่งกายของนักเรียนไทยเป็นแขนสั้นเสียมาก แต่เมื่อเข้าชั้นอุดมศึกษา การแต่งตัวก็ถูกปรับเปลี่ยนไป ซึ่งการโกงแนวนี้ก็อิงจากเสื้อผ้าเหล่านั้นแหละ วิธีการก็ง่ายๆ ซุกโพยไว้บริเวณร่มผ้า อย่างเช่นช่วงแขนก็ใช้เสื้อแขนยาวมาบังโพย แอบหนีบไว้ใต้เอวกระโปรง แล้วยิ่งถ้าเป็นมหาวิทยาลัยบางแห่งที่ไม่ได้มีข้อบังคับด้านการแต่งตัว (คือขอให้เป็นชุดสุภาพ) ก็ใส่เสื้อนอกมาช่วยปกปิดได้อีก ข้อเสียชัดเจนคือโพยอาจจะพ่ายแพ้อากาศร้อนจนละลายเละไปกับเหงื่อของผู้ใส่เสื้อผ้าเสียก่อน
ถอดรหัสล่าคำตอบ
อันนี้เป็นกรณีในการสอบ ‘แล็บกรี๊ง’ ที่นักศึกษาต้องทยอยเดินเข้าไปดูข้อสอบตามจุดก่อนจะเขียนคำตอบลงในกระดาษที่พกไว้ด้วย กรณีนี้ต้องเตี๊ยมกับตัวท็อปของรุ่นก่อนว่า ให้กลุ่มนั้นเข้าสอบกลุ่มแรกๆ แน่นอนว่ากลุ่มนี้มักจะตอบถูกอยู่แล้ว แต่เมื่อเขารู้คำตอบแล้ว เขาก็จะหาทางทำสัญลักษณ์ไว้บนจุดสอบ คืออาจจะเขียนบนโต๊ะบ้าง บนกระดาษโจทย์ที่วางไว้บ้าง เขียนแบบตรงตัวก็ไม่ได้ มันชัดเจนไป ก็เลยต้องเขียนด้วยอักขระเฉพาะทางไปอีก (ได้ยินว่าเคยมีคนเขียนเป็นอักขระรูนไว้ด้วย) หลังจากนั้นคนที่มาสอบทีหลังก็ต้องตามหารหัสเหล่านี้ให้เจอ งานนี้ถ้าไม่ถนัดการหารหัสลับก็ท่องหนังสือแม่นๆ ดีกว่านะ
หรรษากับเครื่องคิดเลขวิทยาศาสตร์
ส่วนนี้สงวนไว้สำหรับนักศึกษาที่เรียนแขนงวิทยาศาสตร์ ที่บางวิชาอนุญาตให้นำเครื่องเลขวิทยาศาสตร์เข้าไปสอบด้วยได้ มีทริคนิดหน่อยสำหรับการใช้เครื่องคิดเลข อย่างแรกคือเมมโมรีฟังก์ชั่นไปให้เต็มที่ เท่าที่เครื่องจะอำนวย อย่างที่สองคือใช้พื้นที่ด้านหลังของเครื่องที่ใช้เขียนต่างกระดานดำทำการทดโพยลงไปในนั้น ก่อนจะเอาปลอกหรือซองครอบเครื่องไว้อีกที ขั้นสุดท้ายดัดแปลงเครื่องคิดเลขให้เปลือกนอกดูไม่แตกต่างจากเครื่องทั่วไป แต่จริงๆ เป็นแค่ปลอกหุ้มมือถือไว้ข้างใน ไว้ Google คำตอบในห้องสอบอีกที ก็ถือว่าจัดเต็มกันไปเลยล่ะ
โกงระดับ…เอ้อ …พยายามไปไหม
พ่อแม่พี่น้องช่วยโกง
ตามปกติเรามักเห็นพ่อแม่พี่น้องห้ามปรามว่า “อย่าไปโกงใครเขาเลยมันไม่ดี” แต่สำหรับชาวอินเดียในรัฐพิหารนั้นคิดเห็นตรงข้าม เพราะในการสอบเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา มีนักข่าวจำนวนมากถ่ายภาพเหล่าญาติพี่น้องของผู้เข้าสอบในรัฐพิหารกระทำการเสี่ยงตายปีนขึ้นไปยังตึกสอบเพื่อโยนโพยข้อสอบให้ ผลพวงจากการกระทำแบบรวมพลังญาติโยมนี้ทำให้รัฐพิหารต้องมีการร่างกฎหมายใหม่ลงโทษทั้งผู้เช้าสอบที่โกงและผู้ช่วยโกง แต่ที่น่าตกใจที่สุดคือพอมีข่าวนี้ก็มีสำนักข่าวไปสอบถามนักเรียนนักศึกษาของอินเดียที่ดันตอบกลับมาว่า “เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ที่นักศึกษาจะโกงข้อสอบกันได้” …ฟังแล้วสะดุ้งใจเป็นบ้า
ใช้อุปกรณ์ไฮเทค
จากข่าวการโกงที่อินเดียเมื่อกี้ นอกจากการใช้พลังญาติโยมแล้ว อีกอย่างหนึ่งที่ใช้กันก็คือเทคโนโลยีในการโกง อินเดียบอกว่ามีการใช้ปากกาที่สามารถใช้แทนไมค์รับส่งข้อความกับผู้ช่วยนอกห้องสอบได้ อุปกรณ์อีกตัวหนึ่งที่เว็บไซต์สำนักข่าวหลายเจ้าต่างพูดถึงก็คือ Monorean เครื่องรับส่งสัญญานเสียงขนาดพกพาจิ๋ว (จิ๋วมากระดับที่หูฟังต้องโยนให้ติดอยู่ในแก้วหู) จากการรีวิวของผู้ใช้ Youtube ที่ลองใช้หลายคนบอกว่าสามารถรับฟังเสียงได้ดี และไม่จำเป็นต้องหาอะไรมาบังหูเลย (เคยมีมุกตลกฝรั่งที่ให้ใส่ earpod ของ Apple แล้วให้ใส่ฮู้ดหรือหาผ้าคลุมหัวมาบังหูไว้) ถึงจะเป็นเทคนิคที่น่าจะใช้ได้ผลแน่นอนก็อยากให้คิดดีๆ ก่อนจะซื้อ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้ราคาทะลุหลักหลายร้อยดอลลาร์สหรัฐฯ แถมไม่มีอะไรมายืนยันว่าเผลอๆ แล้วคนขายอุปกรณ์อาจเป็นสายของกระทรวงศึกษาธิการของประเทศต่างๆ ก็ได้
ขั้นสุดของการโกง
ไม่เคยมาสอบแถมได้ปริญญา
ข้อนี้เคยเห็นตามข่าวสมัยก่อนที่ผู้มีอำนาจหรือเงินตราลงทะเบียนมหาวิทยาลัย ผ่านไปสองสามปีก็ไปรับปริญญากัน แล้วเรื่องก็แดงขึ้นมา
ที่รวมมาทั้งหมด ไม่ได้บอกให้คุณไปลองโกงที่ไหนหรอกนะ จริงอยู่ว่าถ้าผลคะแนนมันออกมาสวยคนที่เห็นใบคะแนนย่อมต้องคิดว่าคุณเก่งกาจ แต่ถ้าผลงานคุณออกมาไม่สะท้อนตรงกับผลคะแนนนั้นก็ย่อมต้องก่อให้เกิดความสงสัยต่อตัวของคุณแน่ ในแง่กลับกันถ้าคะแนนของคุณในใบเกรดอาจจะไม่ได้งดงามมาก แล้วคุณเกิดทำงานได้ดีกว่าตัวเลขหรือตัวอักษรในกระดาษนั้น มันสะท้อนให้เห็นว่าคุณพยายามพัฒนาตัวเองขึ้นมาอย่างมากเช่นกัน
ทั้งนี้เราขออวยพรให้ทุกท่านที่กำลังจะสอบในเวลาอันใกล้ให้โชคดีมีชัยในการสอบนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก