นี่ก็เข้าปี 2019 แล้ว การเดินทางพักผ่อนต่างประเทศไม่ยากเกินตัวเหมือนเก่าก่อน ขอเพียงมีเงินเก็บหนึ่งก้อนพร้อมจิตใจแน่วแน่ ‘ใครๆ ก็บินได้’ ตามสโลแกนหลักสายการบินชื่อดัง อาจต้องผจญภัยมากนิด ยามรัดเข็มขัดด้วยงบประมาณจำกัด หรือท่องเที่ยวหรูระดับห้าดาว โปรยเงินแก้ทุกปัญหาให้จบสิ้น ตามแต่ละคนสะดวกใจ
นาทีทองด้านการเดินทางเดบิวต์นักท่องเที่ยวออกมาหลากประเภท ทั้งสายชิล นอนฟังเสียงคลื่นกระทบหาดทราย, สายบุกป่าฝ่าดง ตะลุยเก็บครบทุกยอดเขา, สายกิน ชิมแหลกทุกเมนู หรือสายจับจ่าย ฉันมาเพียงชอปปิงให้หนำใจ ฯลฯ
ปาราวตีเองผันตัวสลับสับเปลี่ยนข้ามไปมาระหว่างสายต่างๆ บ่อยครั้ง ถึงจุดหนึ่งกลับรู้สึกว่า นอกเหนือจากทิวทัศน์ตระการตา สถาปัตยกรรมวิจิตร อาหารเลิศรส เราไม่รู้เกี่ยวกับผู้คนเจ้าของประเทศเหล่านั้นเลย ว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร วันว่างรวมตัวกันที่ไหน
ซึ่งคงสนุกกว่านี้ ถ้าได้แฝงตัวแนบเนียนกับคนท้องถิ่นมากขึ้น แม้บางครั้ง รูปลักษณ์ทางชาติพันธุ์ดั้งเดิมอาจไม่อำนวยก็ตาม
ปาราวตีรักอินเดียจับใจ การเดินทางเยี่ยมเยือนล่าสุดสี่เดือนถ้วน หญิงสาวตั้งมั่นดิบดี ภารกิจครั้งนี้ ฉันต้องใกล้ชิดคนอินเดีย แต่จะเดินดุ่มตรงปรี่เคาะประตูบ้านทีละหลัง ก็ดูคุกคามเขาเกินไป
ปาราวตีต้องมีตัวช่วย!
เว็บไซต์ couchsurfing ตอบโจทย์ปาราวตีครบเครื่อง สื่อสังคมนอกกระแสเจ้านี้หยิบยื่นโอกาสให้นักท่องเที่ยวสัมผัสวิถีท้องถิ่นสุดเอ็กซ์คลูซีฟ
couchsurfing (n.) คือคำประสมผลรวมของ couch (n.) แปลว่าโซฟา กับ surfing (n.) แปลว่าการค้นหาทางอินเทอร์เน็ต หมายถึงการค้นหาที่หลับนอน (โซฟา) ออนไลน์
มีจุดเริ่มต้นจากทริปไอซ์แลนด์ปี 1999 ของ Casey Fenton นักธุรกิจชาวอเมริกัน ปัจจุบันอายุ 41 ปี ซึ่งนอกจากตั๋วเครื่องบินไปกลับราคาประหยัดแล้ว เขาไม่จองที่พัก ไม่มีแผนใดอีกเลย ด้วยนึกสนุก เคซีย์เสาะหาอีเมลนักศึกษากว่า 1,500 คนในกรุงเรคยาวิก จากนั้น ส่งอีเมลแนะนำตัวพร้อมขอพักชั่วคราวกับคนแปลกหน้าเหล่านั้น ผลปรากฎว่าคนจำนวนมากตอบรับคำขอ ทั้งที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักกัน
เคซีย์ประทับใจประสบการณ์แนบชิดคนท้องถิ่นครั้งนั้น ห้าปีต่อมา (2004) เขากับเพื่อนจึงก่อตั้ง couchsurfing ขึ้น ในฐานะธุรกิจไม่แสวงหากำไร มุ่งหวังเป็นสื่อกลางระหว่างนักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่น แบ่งสถานะเป็น guest (แขก) และ host (เจ้าบ้าน)
หลักการใช้ง่ายมาก เพียงใส่พิกัดเมืองใฝ่ฝันลงช่องค้นหา รายชื่อโฮสต์จะเด้งขึ้นมาให้เลือกสรรตามวิจารณญาณส่วนตัว ผ่านประวัติและรายละเอียดบ้านคร่าวๆ ถูกชะตาต้องใจกับคนไหน ก็ส่งข้อความแนะนำตัวบวกวันเดือนปีเยี่ยมเยือนได้เลย หากโฮสต์ถูกใจเราเช่นกัน เขาจะตอบตกลง ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวเองก็ประกาศแผนเดินทางลงเว็บไซต์ได้ หากมีโฮสต์สนใจ เขาจะทักทายมา โดยกระบวนการทั้งหมดไม่เสียค่าใช้จ่ายใด
ด้านความปลอดภัย ไว้เนื้อเชื่อใจกันผ่าน reference หรือรีวิวจากนักท่องเที่ยวและโฮสต์อื่นๆ ที่แต่ละคนพานพบมา จำนวนมากเท่าไร ก็น่าเชื่อถือเท่านั้น สำหรับมือใหม่หัดใช้ เว็บไซต์มีระบบยืนยันตัวตนในราคา 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ เสริมสร้างความมั่นใจให้แขกและเจ้าบ้านเชื่อใจกันและกัน
1
ตลอดสี่เดือนที่อินเดีย ปาราวตีเข้าบ้านนี้ออกบ้านโน้นกว่าแปดรัฐ (อินเดียมี 29 รัฐ) เป็นว่าเล่น หนึ่งในโฮสต์คนสนิทของหญิงสาวคือ Ancy An โฮสต์สาวอินเดียจากรัฐเกรละ (Kerala) ทางใต้ ที่ชื่อจริงและนามสกุลไร้เค้าอินเดียแม้แต่น้อย ไม่เหมือนคุณวิชัย (Vijay), สาวิตรี (Savitri) หรืออนุรักษ์ (Anurag) ที่ปาราวตีพานพบก่อนหน้า
จริงๆ ก็ไม่แปลก ภูมิภาคอินเดียชายฝั่งตะวันตกเคยเป็นเมืองท่าหลักยุคล่าอาณานิคม ทั้งโกชิ (Kochi) รัฐเกรละ รวมไปถึงรัฐกัว (Goa) บรรดาประชากรชาวยุโรปหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนมาค้าขาย ฝั่งคณะมิสชันนารีก็ตามติดมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ จนก่อเกิดชุมชนคริสต์ศาสนิกชนกลุ่มย่อยขึ้น
คนอินเดียบางกลุ่มแถบนี้ หลังเปลี่ยนศาสนาสลัดทิ้งชื่อเก่ากลิ่นอายสันสกฤต โบกมือลาชื่อเสียงเรียงนามเดิม ซึ่งมักผูกพ่วงตีตราวรรณะไว้ พากันต้อนรับชื่อใหม่สุดอินเตอร์ผสานความเท่าเทียม ตามอาคันตุกะต่างสัญชาติ
ปาราวตีพักกับโฮสต์สาวในอพาร์ตเมนต์ 1BHK (1 Bedroom, Hall and Kitchen) ใกล้หาดปาโลเล็ม (Palolem Beach) รัฐกัวทางใต้ แน่นอนว่าเจ้าบ้านยึดครองห้องนอนหนึ่งเดียว ส่วนปาราวตีนอนโซฟากลางโถงหลัก
สี่วัน ณ รัฐกัวทางใต้ ฉีกรูปแบบท่องเที่ยวขนบเดิม ปาราวตีใช้เวลาทั้งวันเตร็ดเตร่เรื่อยเปื่อย แอนซี่พาขับสกูตเตอร์ 125 ซีซี รับลมเล่นบ้างหลังสอนนักเรียนเสร็จ จบด้วยสุมหัวระดมคิดเมนูมื้อดึกฟิวชั่นไทย-อินเดียด้วยวัตถุดิบสดจากทะเล ซึ่งต้องรอซื้อหลังตลาดวายตอนสองทุ่ม เพราะแม่ค้าอยากเก็บแผงเต็มทน เทกระจาดให้ลูกค้าเหมาปลาซิวปลาสร้อยกลับบ้านราคา 100 รูปีอินเดีย (50 บาท)
2
สารภาพตามตรง เมื่อใช้จนเข้ามือ ปาราวตีก็เริ่มอ่านประวัติโฮสต์ผิวเผิน แค่มี reference น่าเชื่อใจ หญิงสาวพร้อมเก็บกระเป๋าไปหาทันที
Afroz Shah โฮสต์หนุ่มจากมุมไบเซอร์ไพรส์ปาราวตีด้วยอพาร์ตเมนต์ 1BHK ราคาเกินสิบล้านรูปีฯ ย่านไฮคลาส ริมหาดเวอร์โซวา (Versova Beach) มุมไบเหนือ ซึ่งไม่กี่ชั้นถัดไป คือบ้านนักแสดงบอลลีวูดชื่อดัง Nawazuddin Siddiqui ผู้รับบทนำซีรีส์ Sacred Games (2018) หนึ่งใน Netflix Original ฟากอินเดีย
“พรุ่งนี้มีคนไทยมาถ่ายสารคดีที่บ้านผม ชื่อจูน คุณรู้จักไหม” อาฟรอซถาม ก่อนส่งปาราวตีเข้านอน
ปาราวตีสั่นหัว ไม่เอะใจอะไร จนวันต่อมาพบคุณสุทธิชัย หยุ่น พร้อมทีมสารคดีเกือบสิบคน ถึงรู้แจ้งเห็นจริง ว่า ‘จูน’ ที่อาฟรอซหมายถึง คือ ‘หยุ่น’ เวอร์ชั่นออกเสียงผิดเพี้ยนไป
คุณสุทธิชัยชี้แจงให้ปาราวตีฟังว่า อาฟรอซคือเจ้าของตำแหน่ง Champion of the Earths ปี 2016 รางวัลทรงเกียรติด้านสิ่งแวดล้อม จาก UNEP (United Nations Environment Programme) ทั้งประเทศมีสองคน อีกคนหนึ่งคือ Narendra Modi นายกรัฐมนตรีอินเดียคนล่าสุด ซึ่งได้รับหลังอาฟรอซเมื่อปี 2018
ผลงานอาฟรอซเลื่องลือทั่วอินเดีย ในฐานะแกนนำด้านสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง เขาชักนำผู้คนนับพัน ร่วมแรงร่วมใจกันพลิกฟื้นสภาพหาดเวอร์โซวาใกล้บ้าน จากสภาพจุดพักขยะจนกลายเป็นหาดพักผ่อนได้
ปาราวตีฉีกแผนท่องเที่ยวทิ้ง ตามติดชีวิตอาฟรอซและอาสาสมัครใต้สังกัดเกือบหนึ่งสัปดาห์ รับบทตากล้องสาวจำเป็นเก็บภาพลงพื้นที่ ทั้งการผูกมิตรโรงเรียนทั่วมุมไบ ขอความร่วมมือส่งนักเรียนร่วมทำความสะอาดชายหาดและแม่น้ำรอบเมือง ซึ่งเปลี่ยนพิกัดไปเรื่อยๆ ทุกสุดสัปดาห์ รวมถึงดึงคนท้องที่บริเวณต้นน้ำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ด้วยการสอนแยกขยะและจัดการขยะพลาสติก
…
นอกจากโฮสต์ทั้งสอง ปาราวตีพบเจอผู้คนอีกกว่า 40 คน ได้อยู่ร่วมกับคนพื้นที่จนบางทีส่องกระจกก็เผลอคิดไปเอง ว่าใบหน้าเริ่มกลมกลืนคล้ายคนอินเดียขึ้นทุกที ได้ช่วยโฮสต์สาวรัฐราชสถานปั้นแป้งทำจาปาตี (แป้งย่างแผ่นกลมแบนทานคู่แกง), ได้เรียนรู้วัฒนธรรมชาวซิกข์ผ่านโฮสต์รัฐปัญจาบ (Punjab) ถิ่นฐานหลักซิกข์ศาสนิกชน, ได้เข้าถึงสังคม LGBTQ+ ในประเทศที่เพศทางเลือกยังถูกปิดกั้น กับโฮสต์หนุ่มรองชนะเลิศ Mr. Gay World India ปี 2018 ฯลฯ
เครือข่ายสังคมออนไลน์นำเสนอการท่องเที่ยวมุมใหม่ และเปิดโอกาสให้หญิงสาวแฝงตัวกับคนท้องถิ่นตามเป้าหมายหลักก่อนเดินทางในบรรยากาศเป็นกันเอง เหมือนค้างอ้างแรมกับเพื่อนพ้องที่ไม่รู้จักกันมาก่อน สอดคล้องกับที่ผู้ก่อตั้งนิยามไว้
‘Strangers are friends you haven’t met yet.’ (คนแปลกหน้าคือเพื่อนที่คุณยังไม่เคยเจอ)
อ้างอิงข้อมูลจาก