“ลิตเติลฟุท ลูกรัก ลูกจำทางไปเกรทวัลเลย์ได้ไหมจ้ะ”
“จำได้มั้งฮะ แต่ทำไมผมต้องรู้ด้วยล่ะฮะ แม่ก็อยู่กับผมนี่ฮะ”
“แม่จะอยู่กับลูก ถึงลูกจะไม่เห็นแม่ก็ตาม”
บทสนทนาข้างต้น เป็นการพูดคุยกันของไดโนเสาร์คอยาวสองแม่ลูก ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเรื่องของภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง The Land Before Time ที่ทำให้ผู้ชมภาพยนตร์รู้สึกประทับใจ ไม่ก็ สะเทือนใจ กับฉากที่สร้างอารมณ์ฉากดังกล่าว นอกจากนั้นแล้วภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวยังทำรายได้เปิดตัวแซงเจ้าพ่อภาพยนตร์การ์ตูนอย่างดิสนีย์ที่เปิดฉายในปีเดียวกัน
และชายคนหนึ่งที่เป็นเบื้องหลังสำคัญของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวก็คือ ดอน บลุธ (Don Bluth) ที่ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ รวมถึงการเป็นหัวหอกของ Sullivan Bluth Studios ก่อนที่เขาจะได้ไปคุมบังเหียนของ Fox Animation Studios และกำกับภาพยนตร์อนิเมชั่น Anastasia เป็นการต่อไป
แต่เคยสงสัยกันหรือไม่ครับว่า ชายที่เคยกำกับผลงานอนิเมชั่นที่มีภาพเลื่อนไหลสวยงาม จนทำให้ดิสนีย์ต้องหันมามองได้หลายต่อหลายครั้ง กลับเงียบหายไปอย่างเฉยๆ และเราจึงขออาศัยจังหวะที่หลายๆ ท่านได้รับชม ‘The Land Before Time’ กันมาพูดถึงชายคนนี้กันสักครั้ง
รักแรกฝังใจ มักไม่สมดั่งหวัง
เด็กชาย ดอน บลุธ ลืมตาขึ้นมาดูโลกในวันที่ 13 กันยายน ปี ค.ศ.1937 ทีในช่วงนั้นถือว่าเป็น ยุคทองของอนิเมชั่นฝั่งอเมริกา (Golden age of American animation) ทำให้ในวัยเด็กของเขาถูกสะกดใจด้วยภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ดิสนีย์เป็นผู้สร้าง อย่างเช่น สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด (Snow White and the Seven Dwarfs) จนทำให้เด็กชายตัวน้อยหัดวาดรูปตามการ์ตูนดังอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นความรักฝังใจที่ทำให้เขามุ่งมั่นจะเป็นอนิเมเตอร์ให้กับทาง Disney
และเขาก็สามารถไปถึงฝันนั้นได้ เมื่อดอนเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาก็ลองนำผลงานเขียนของเขาไปยื่นเสนอกับทางดิสนีย์ที่มองเห็นศักยภาพของชายหนุ่มและรับเขาเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมอนิเมเตอร์ ซึ่งดอนก็ได้มีส่วนร่วมกับการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นอย่าง เจ้าหญิงนิทรา (Sleeping Beauty) อีกด้วย
อ้าว ถ้าแบบนั้นก็แปลว่า ดอนสามารถทำความฝันของเขาสำเร็จแล้วงั้นหรือ? คำตอบก็คือ ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะเขาทำงานอยู่ในดิสนีย์ได้เพียงสองปี เขาก็ทำการลาออกจากสถานที่ทำงานในฝัน เพื่อเดินทางตามเส้นทางศาสนาที่ครอบครัวของเขานับถือด้วยการไปทำหน้าที่เป็นมิชชันนารีนอกแดนมาตุภูมิเป็นเวลาราวสองปีครึ่ง
และเมื่อเขาเดินทางกลับมาเข้าเรียนขั้นมหาวิทยาลัยเพื่อหาความรู้ให้กับตัวของเขาเอง ก่อนที่เขาจะวกเวียนกลับมาทำงานในวงการอนิเมชั่นแบบเต็มตัวตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1986 แต่เป็นการทำงานกับอนิเมชั่นสำหรับฉายทางโทรทัศน์เป็นหลัก ซึ่งเขาได้ทำหน้าที่ทั้งการวาดฉากหลัง, ออกแบบงานสร้าง, แต่งเรื่อง, แต่งเพลง จนได้ประสบการณ์ติดตัวมาอีกจำนวนหนึ่ง ก่อนที่เขาจะกลับเข้าไปทำงานกับทางดิสนีย์ในช่วงปี ค.ศ.1971
ด้วยประสบการณ์ชีวิตกับประสบการณ์การทำงานที่เพิ่มพูนขึ้น ทำให้เขาได้มีส่วนในการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นหลายเรื่อง ทั้งภาพยนตร์ขนาดสั้นอย่าง Winnie the Pooh and Tigger Too หรือภาพยนตร์ขนาดยาวอย่าง หนูหริ่งหนูหรั่งผจญเพชรตาปีศาจ (The Rescuers) รวมถึงเป็นผู้รับหน้าที่กำกับงานอนิเมชั่นที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ Pete’s Dragon ฉบับปี ค.ศ.1977
อย่างไรก็ตาม การกลับมาทำงานครั้งที่สองกับทางดิสนีย์ ดอน บลุธ ก็ได้พบว่าคุณภาพงานในช่วงนั้นตกต่ำลงจากสมัยยุคทองอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเพราะไม่ได้มีการทิ้งโนว์ฮาวในการผลิตงานทิ้งไว้แบบชัดเจน อีกส่วนคือ การที่ดิสนีย์ในช่วงนั้นเจตนาลดต้นทุนการผลิตงานอนิเมชั่น ในระดับที่ตัว ดอน เห็นว่าเป็นการตั้งใจลดคุณค่างานศิลป์ ทำให้ตัว ดอน บลุธ ต้องการจะปลุกชีพงานอนิเมชั่นที่ลื่นไหลทั้งภาพ เรื่อง และบทเพลง จนเขาเริ่มรวมตัวกับเพื่อนร่วมงานใกล้ชิด เริ่มพัฒนาผลงานเรื่อง Banjo The Woodpile Cat
ซึ่งการที่เริ่มโปรเจ็กต์ส่วนตัวของดอน บลุธ ทำให้มีดราม่าคุกรุ่นเกิดขึ้นภายในแผนกผลิตงานอนิเมชั่นใน Disney ขึ้น เพราะมีผู้บริหารกลุ่มหนึ่งได้กล่าวกับ ดอน บลุธ ว่าคนอย่างเขาไม่สามารถสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นได้ด้วยตนเองอย่างแน่นอน และความร้าวฉานนั้นก็นำพาไปสู่การที่ ดอน บลุธ กับอนิเมเตอร์อีก 17 คน ทำการลาออกจากดิสนีย์ในวันเกิดของ ดอน บลุธ ในปี ค.ศ.1979
และชายหนุ่มที่เคยฝันจะทำงานในดิสนีย์ก็ออกมาตั้งบริษัทของตัวเองที่ใช้ชื่อว่า Don Bluth Productions และเป้าหมายของเขาก็คือ การสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ทำให้ดิสนีย์ต้องเหลียวกลับมามองในฐานะคู่แข่งคนสำคัญในอนาคต
สร้างชื่อสมอยาก แต่โชคชะตาไม่อำนวย
การออกมาตั้งบริษัทของตัวเองของ ดอน บลุธ ทำให้เขามีโอกาสได้ขยับตัวอย่างที่ใจหวัง หลังจากที่ปล่อยงานอย่าง Banjo The Woodpile Cat ในปี ค.ศ.1979 แล้ว บริษัทแห่งใหม่ก็ขยับไปรับงานเพื่อรวบรวมงบสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่นของตัวเอง และ ดอน บลุธ ก็ได้รับโอกาสให้ทำการดัดแปลงนิยายเรื่อง Mrs. Frisby and the Rats of NIMH ที่ครั้งหนึ่งทางดิสนีย์เคยคิดจะนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ก็ยกเลิกแผนงานดังกล่าวไปเพราะเชื่อว่าเนื้อเรื่องมืดมนเกินไป จนสิทธิ์ของหนังสือเล่มดังกล่าวหลุดไปหาบริษัทอื่นที่มาเสนอโอกาสให้กับ ดอน บลุธ
แต่เมื่อโอกาสมาถึง ดอน บลุธ ก็ยอมเสี่ยง และเขาก็ได้ใช้สิ่งที่เขาชื่นชอบและเรียนรู้มาทั้งชีวิต ทุ่มเทเข้าไปในงานชิ้นนี้ ไม่ว่าจะการนำเอาเทคนิคการวาดอนิเมชั่นที่เลิกใช้งานไปแล้วกลับมา หรือแม้แต่การนำเอาเงินของตัวเองมาลงทุนในการผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ด้วย
สุดท้าย Don Bluth Productions ก็สามารถผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่น The Secret of NIMH และออกฉายในอเมริกาได้ในชวงปี ค.ศ.1982 และทำรายได้ในบ้านเกิดได้ค่อนข้างดี และได้รับคำชมจากผู้ชมและนักวิจารณ์อย่างมากว่าเป็นภาพยนตร์ที่เหมือนฝั่งดิสนีย์เป็นผู้สร้างแต่ความจริงแล้วไม่ใช่ อย่างไรก็ตาม รายได้ของภาพยนตร์ก็ยังไม่กำไรมากที่ควร ส่วนหนึ่งเพราะตัวภาพยนตร์อนิเมชั่นไม่ได้รับการโปรโมตจากผู้จัดจำหน่าย แถมยังข้าฉายชนกับหนังใหญ่มากๆ อย่าง E.T. เมื่อหนังไม่ได้ทำรายได้มากพอ กอปรกับว่าในช่วงปี ค.ศ.1982 มีการประท้วงหยุดงานของเหล่าอนิเมเตอร์ทั่วอเมริกา เลยทำให้ Don Bluth Productions ต้องปิดตัวไป
ถึงอย่างนั้นเอง ดอน บลุธ ก็หาช่องทางให้ตัวเองกลับมาได้อีกครั้ง และเริ่มนำงานสร้างอนิเมชั่นที่เขาถนัดไปสู่ตลาดใหม่อย่าง วิดีโอเกม ที่กำลังเฟื่องฟู และเขาก็สร้างเกมที่ชื่อว่า Dragon’s Lair เกมแนวผจญภัย ในปี ค.ศ.1983 ตัวเกมให้ผู้เล่นต้องกดปุ่มให้ทันก่อนจะเกิดเหตุการณ์ร้ายขึ้น (หรือที่ตอนนี้เรียกกันว่า Quick Time Event) ด้วยความที่ตัวเกมถูกวาดเป็นอนิเมชั่นอลังการงานสร้างสำหรับยุคดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นฉากการผจญภัย หรือแม้แต่ฉากการตายที่ถูกเขียนออกมาอย่างละเอียด เลยทำให้เกมได้รับความนิยมอย่างมาก
ดอน บลุธ ยังพัฒนาเกมชื่อ Space Ace ที่เปิดตัวในปี ค.ศ.1984 กระนั้นตัวเกมไม่ได้รับความนิยมเท่าเกม Dragon’s Lair มากนัก แล้วก็เหมือนเคราะห์ร้ายจะวิ่งเข้ามาหา ดอน บลุธ อีกครั้ง เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ตลาดวิดีโอเกมล่มสลาย (Video game crash of 1983 หรือ Atari Shock) ซึ่งทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับวิดีโอเกมเจ๊งกันเป็นว่าเล่นในช่วงดังกล่าว รวมถึงบริษัทเกมของ ดอน บลุธ ด้วย
กระนั้น ดอน บลุธ กำลังจะได้รับโอกาสอีกครั้งในโลกอนิเมชั่น
กับการได้พบพานกับพ่อมดแห่งฮอลลีวูดคนหนึ่ง
ช่วงเวลาที่สตีเวน สปิลเบิร์ก ร่ายมนต์ติดปีกให้ดอน บลุธ
ถึง ดอน บลุธ จะต้องเสียบริษัทที่เขามีส่วนร่วมไปแล้วถึงสองครั้ง แต่เมื่อทักษะของเขานั้นเป็นของจริง จึงทำให้เขาได้รับโอกาสใหม่อีกครั้งในบริษัท Sullivan Bluth Studios แล้วก็เป็นในช่วงปี ค.ศ.1984 ระหว่างที่ ดอน บลุธ กลับมาทำงานด้านอนิเมชั่นอีกครั้งหนึ่ง และเริ่มมีแผนการสร้างภาพยนตร์ในใจอยู่บ้าง โชคชะตาก็นำพาให้ สตีเวน สปิลเบิร์ก (Steven Spielberg) พ่อมดแห่งฮอลลีวูด ที่ในช่วงเวลาดังกล่าว อยากจะเข้ามาสู่โลกภายพนตร์อนิเมชั่น เข้ามาพบพานกับ ดอน บลุธ
การพบกันของคนทั้งสองกลายเป็นเรื่องราวที่ดี ทั้งสองคนเริ่มพัฒนาเรื่องราวของหนูจากรัสเซียที่โยกย้ายถิ่นฐานมายังอเมริกา แต่ตัวละครเอกกลับหลงทางจากครอบครัว และกลายเป็นการผจญภัยเพื่อกลับไปหาครอบครัวในดินแดนใหม่ที่เจ้าหนูไม่รู้จัก ที่สุดท้ายได้กลายเป็นโครงเรื่องของ ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง An American Tail ที่ได้ออกฉายในปี ค.ศ.1986
An American Tail มีทั้งความดีงามจากงานอนิเมชั่นที่ได้ ดอน บลุธ เป็นผู้กุมบังเหียน ผสมรวมกับองค์ประกอบอื่นทางด้านงานสร้างภาพยนตร์และการตลาดที่ สตีเฟน สปิลเบิร์ก ช่วยเสริมกำลังให้ อย่างเช่น การแปะชื่อตัวเองไว้ที่หน้าหนัง, การผลักดันให้ Universal Studios ทำการโปรโมตภาพยนตร์แบบจริงจัง, การเชิญนักแต่งเพลงชื่อดังมาร่วมสร้างเพลงประกอบเรื่อง Somewhere Out There ที่กลายเป็นเพลงฮิตบนคลื่นวิทยุ ฯลฯ ทำให้ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ทำรายได้อย่างมหาศาล ทำรายได้แซงหน้าภาพยนตร์ The Great Mouse Detective ที่ฉายในปีเดียวกัน และถือว่าเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ไม่ได้มาจากค่ายดิสนีย์ที่ทำรายได้มากที่สุดในยุคนั้นอีกด้วย
หลังจากความตั้งใจของ ดอน บลุธ ประสบความสำเร็จในภาพยนตร์เรื่องแรกแล้ว ดอน บลุธ กับ สตีเฟน สปิลเบิร์ก ก็กลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง คราวนี้พวกเขาตั้งใจจะเล่าเรื่องสรรพสัตว์ อย่างที่ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Bambi ของทางดิสนีย์เคยทำมา เพิ่มเติมด้วยการย้อนเวลาไปไกลก่อนยุคประวัติศาสตร์ ทั้งยังได้ จอร์จ ลูคัส (George Lucas) เพื่อนของสปิลเบิร์ก มาร่วมกันพัฒนาภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ด้วย และตั้งใจจะให้เป็นภาพยนตร์ไม่มีการพากย์ ก่อนจะปรับเปลี่ยนแผนให้มีตัวละครที่ทำให้คนดูเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
แล้วญาติไดโนเสาร์เจ้าเล่ห์ (The Land Before Time) ก็ถือกำเนิดขึ้น และได้ออกฉายในช่วงปี ค.ศ.1988 กับเรื่องราวของเหล่าลูกไดโนเสาร์หลายสายพันธุ์ รวมตัวกันเพื่ออพยพไปยังพื้นที่อันแสนสงบสุขที่เรียกว่าเกรทวัลเลย์ โดยไม่รู้เลยว่ามีอุปสรรคในการเดินทางและไดโนเสาร์ฟันแหลมคอยขัดขวางทางอยู่
ด้วยโครงเรื่องที่เข้มแข็ง กับไอเดียที่น่าสนใจ ผสมกับองค์ประกอบอื่นๆ ของ ดอน บลุธ กับ สตีเวน สปิลเบิร์ก (รวมถึงเพลง If We Hold On Together ที่ได้ ไดอาน่า รอสส (Diana Ross) เป็นผู้ขับร้อง) ทำให้ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ได้รับการตอบรับที่ดีอีกครั้ง แม้ว่าภาพยนตร์จะเปิดฉายในวันเดียวกันกับภาพยนตร์อนิเมชั่น Oliver & Company ของทางดิสนีย์แต่ญาติไดโนเสาร์ทั้งหลายกวาดรายได้จากผู้ชมทั่วโลกไปอย่างล้มหลาม
และเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่ไม่น้อย ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการจับมือทำงานร่วมกันทำงานเป็นเรื่องสุดท้ายอขง ดอน บลุธ กับ สตีเวน สปิลเบิร์ก โดยทางสปิลเบิร์กนั้นไปก่อตั้ง Amblimation เพื่อรับผิดชอบการผลิตภาพยนตร์ American Tail ภาคต่อๆ ไป ส่วนภาพยนตร์ชุด The Land Before Time นั้นก็ได้ทาง Universal Pictures รับผิดชอบในการผลิตภาคอื่นๆ ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างที่ภาคแรกทำได้
ส่วนเหตุว่าทำไม ดอน บลุธ ถึงแยกทางกับ สตีเวน สปิลเบิร์ก ก็มีการคาดเดาไปว่า เป็นปัญหามาจากการที่สปิลเบิร์กควบคุมงานเข้มไปบ้าง, ดอนอยากจะสร้างอะไรตามใจตัวเองกว่านี้บ้าง, ค่ายหนังยุ่มย่ามเกี่ยวกับกำหนดการสร้างบ้าง แต่ที่ตัว ดอน บลุธ เคยให้สัมภาษณ์ในช่วงหลังของชีวิต เขาก็ยอมรับว่า ในช่วงการทำงานกับ สปิลเบิร์ก พ่อมดแห่งฮอลลลีวูดจะให้ความสนใจกับเนื้อเรื่องให้ออกมาดีมากพอก่อนจะพัฒนาเป็นภาพยนตร์เต็มเรื่อง และเหมือนว่าจะไม่ได้มีการบาดหมางทางใจกันอย่างไร เพียงแค่ต่างฝ่ายต่างแยกทางกันผลิตงานของตัวเองมากกว่า
สู่ห้วงเวลาชวนเหนื่อยใจ
หลังจากยุติการร่วมงานกับ สตีเฟน สปิลเบิร์ก และโยกย้ายฐานการผลิตอนิเมชั่นไปยังประเทศไอร์แลนด์ที่ยุคนั้นให้สิทธิ์กับบริษัทที่มาลงทุนในประเทศเสียเยอะ ดอน บลุธ ก็ยังได้นายทุนใหม่และเริ่มผลิตภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องต่อไปอย่าง สวรรค์ของเจ้าตูบ (All Dogs Go To Heaven) ที่เล่าเรื่องสุนัขนักต้มตุ๋นพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ด ที่ถูกอดีตหุ้นส่วนฆาตกรรมแล้วได้ขึ้นสวรรค์ของน้องหมา แต่เจ้าสุนัขตัวนี้กลับหาทางคืนชีพมาบนโลกก่อนจะร่วมมือกับเพื่อนคู่ใจและเด็กหญิงที่พูดภาษาสัตว์ได้ในการพยายามชิงเอาธุรกิจของเขาคืนมา แต่การพบเจอเด็กหญิงทำให้ตัวเอกของเราอยากจะเป็นหมาที่ดีขึ้นมาบ้าง
ภาพยนตร์ยังคงมีงานภาพที่สวยงาม ตัวเนื้อเรื่องนั้นก็ยังเข้าใจได้โดยง่ายและดึงดูดใจผู้ชมเช่นเดิม และเมื่อ ดอน มีความสำเร็จมาก่อนในภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ทำให้เขามีความมั่นใจในการฉายภาพยนตร์วันเดียวกับผลงานของทางดิสนีย์อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ดอน คงไม่ทราบว่าจะมีคลื่นใต้น้ำมาทำให้ความตั้งใจของเขาต้องสั่นไหว เพราะภาพยนตร์ของ Disney ที่ฉายในปี ค.ศ.1989 คือเรื่อง เงือกน้อยผจญภัย (The Little Mermaid) ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ ดิสนีย์ เรอเนซองส์ (Disney Renaissance) หรือยุคที่ภาพยนตร์อนิเมชั่นของดิสนีย์กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
แม้ว่า All Dogs Go To Heaven จะไม่ประสบความสำเร็จในการฉายในโรงภาพยนตร์อย่างที่ควร แต่ภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องนี้ทำยอดขายในฝั่งวิดีโอเทปได้ดีมากในยุคนั้น ระดับที่ว่าทำยอดขายฝั่งวิดีโอเทปทะลุหลักล้านตลับไปในช่วงเวลาไม่กี่เดือน และกลายเป็นผลงานการ์ตูนอีกเรื่องหนึ่งที่เด็กยุค 90 คุ้นเคย แม้ว่าจะมีหลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นงานของดิสนีย์ก็ตามที
จากนั้นผลงานภาพยนตร์ของ ดอน บลุธ ก็ยังพบปัญหาในทางใดทางหนึ่งอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Rock-a-Doodle ภาพยนตร์คนแสดงผสมอนิเมชั่นที่ออกฉายในปี ค.ศ.1991, Thumbelina ในปี ค.ศ.1994 ซึ่งเป็นที่จดจำของผู้ชมหลายคนแต่ล้มเหลวอย่างมากในเชิงรายได้ , A Troll In Central Park ออกฉายปี ค.ศ.1994, และ The Pebble and the Penguin ที่ออกฉายในปี ค.ศ.1995 ซึ่งเรื่องหลังสุดนั้นถูกทั้งนายทุนและผู้จัดจำหน่ายหนัง รบกวนการผลิตระดับที่ตัว ดอน บลุธ ถึงกับไม่ลงชื่อตัวเองว่าเป็นผู้กำกับในภาพยนตร์ดังกล่าว
หลังจากความล้มเหลวหลายครั้ง ที่มีผลมาจากการกระทำของตัวดอนเองบ้าง หรือผลจากนักลงทุนบ้าง สุดท้าย ดอน บลุธ ก็เดินทางกลับอเมริกา เพื่อรับความท้าทายใหม่อีกครั้ง
คืนวันที่รับหน้าที่เป็นผู้นำทัพของ Fox Animation Studios
ด้วยความที่ภาพยนตร์อนิเมชั่นทำรายได้อย่างมหาศาลต่อเนื่องหลายปี 20th Century Fox ที่เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายภาพยนตร์เจ้าใหญ่อีกเจ้าในฮอลลีวูดต้องการบุคคลที่สามารถสร้างงานด้วยคุณภาพระดับเดียวกัน และทาง Fox ก็ได้ติดต่อ ดอน บลุธ ให้มาร่วมก่อตั้งสตูดิโอแห่งใหม่ชื่อ Fox Animation Studios
ภายใต้เรือธงลำใหม่ ดอนกับทีมงานของสตูดิโอแห่งใหม่ พวกเขาพยายามตามหาเรื่องราวที่น่าสนใจ และพวกเขาไปสะดุดตาสะดุดใจกับเรื่องราวจากทางรัสเซียที่กลายเป็นตำนานที่คนจดจำได้ทั่วโลกอย่างเรื่องราวของ เจ้าหญิงอนาสตาเซีย ที่ ณ เวลานั้น ยังมีความเชื่อว่าเจ้าหญิงสามารถรอดชีวิตไปได้จากการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ (ปัจจุบันมีการพิสูจน์ DNA แล้วว่า เจ้าหญิงอนาสตาเซียเสียชีวิตไปพร้อมกับครอบครัว)
ภาพยนตร์ อนาสตาเซีย (Anastasia) ออกฉายในปี ค.ศ.1997 และได้ดาราดังหลายคนมาให้เสียงพากย์ตัวละครภายในเรื่อง ตัวเนื้อเรื่องมีการปรับเปลี่ยนใส่ความแฟนตาซีให้กับการที่ ‘อนาสตาเซีย’ รอดชีวิตมาได้แต่ความจำเสื่อมและใช้ชื่อ ‘อาเนีย’ มานับแต่บัดนั้น จนกระทั่ง ‘ดิมิทรี’ กับเพื่อนหมายจะพาตัวอาเนีย ไปส่งตัวให้กับดักมาร์แห่งเดนมาร์ก ผู้เป็นย่าของเจ้าหญิงอนาสตาเซีย เพื่อรับเงินรางวัลโดยไม่ทราบว่าเธอนั้นคือเจ้าหญิงตัวจริง และเมื่อรัสปูตินทราบว่าเจ้าหญิงตัวจริงยังรอดอยู่ จึงพยายามส่งสมุนมาสังหาร และอนาสตาเซียกับดิมิทรีจึงต้องผจญภัยเอาตัวรอดไปให้ได้
Anastaisa เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากการฉายทั่วทั้งโลก รวมไปถึงในประเทศรัสเซียที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวในภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งยังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์แม้ว่าจะไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือกลับมา แต่ถ้ามองว่านี่เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของ Fox Animation Studios ก็ถือว่าผลงานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ถึงขั้นสามารถขยายเฟรนไชส์ไปทำเป็นสื่ออื่นๆ ได้แบบเป็นตัวเป็นตน
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาดีๆ ของ ดอน บลุธ กับ Fox Animation Studios ก็อยู่ไม่ได้นานมากนัก โดยเฉพาะเมื่อผลงานภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่องต่อไปของสตูดิโอแห่งนี้คือ ไทตั้น เอ.อี. ศึกกู้จักรวาล (Titan A.E.) ซึ่งเดิมทีเป็นแผนการสร้างภาพยนตร์คนแสดง แต่ติดหล่มในขั้นตอนการพัฒนาภาพยนตร์อยู่นาน จนสุดท้ายตัวบทภาพยนตร์ ตกมาอยู่ในความรับผิดชอบของทาง Fox Animation Studios
นอกจากบทภาพยนตร์ที่น่าจะมีปัญหามาตั้งแต่ก่อนจะมาถึงมือ ดอน บลุธ แถมยังไม่ใช่แนวเรื่องที่ ดอน เคยทำมาก่อน กับคำขอจากทางนายทุนที่ให้ใส่ภาพคอมพิวเตอร์กราฟิกที่กำลังเป็นเทรนด์ร้อนอยู่ ณ ช่วงเวลานั้นลงไปด้วย
ภาพยนตร์ Titan A.E. เล่าเรื่องของโลกในอนาคตที่ทำการติดต่อกับสิ่งมีชีวิตต่างดาวได้แล้ว ก่อนที่มนุษยชาติจะสูญเสียดวงดาวบ้านเกิดไป จากการรุกรานของมนุษย์ต่างดาวที่หมายจะเข้ามาทำลาย ‘ไทตั้น’ และมีเพียง เคล ทัคเกอร์ ลูกชายของผู้สร้างไทตั้นที่มีแผนที่ไปสู่ที่ตั้งของไทตั้นได้ เขาจึงถูกไล่ล่าจากมนุษย์ต่างดาวที่เคยทำลายล้างโลก และต้องต่อสู้เพื่อกอบกู้ชะตากรรมของมนุษยชาติ
Titan A.E. ประสบความล้มเหลวอย่างสมบูรณ์แบบ นักวิจารณ์มึนกับเรื่องราวแม้จะมีภาพที่สวยงาม คนดูการ์ตูนส่วนหนึ่งสงสัยว่าพล๊อตได้แรงบันดาลใจมาจากอนิเมะญี่ปุ่น รายได้ก็ทำได้เพียงราว 1 ใน 3 ของทุนสร้าง และทาง Fox ที่เป็นบริษัทแม่ก็ตัดสินใจปิดตัว Fox Studio Animations หลังจากที่ภาพยนตร์เข้าฉายไปไม่นาน
ความล้มเหลวครั้งนี้ ถ้าจะสรุปรวบยอดด้วยคำเดียวก็คงเป็นคำว่า ‘ซวย’ เพราะตัวงานนั้นไม่ได้อยู่ในระดับที่ไม่เอาอ่าวขนาดนั้น แต่ถ้าหาเหตุผลความล้มเหลว ก็มีสาเหตุหลายอย่างที่พาดเกี่ยวกันอย่าง อย่างการที่การตลาดของภาพยนตร์ก็มีความสับสนว่าจะเป็นงานสำหรับเด็ก หรือสำหรับผู้ใหญ่, ตัวงานมีการปรับแก้ในขั้นตอนการสร้างอยู่เยอะ (จากเดิมที่บทก็มีปัญหาอยู่แล้ว), ภาพรวมอุตสาหกรรมอนิเมชั่นในช่วงที่หนังฉายมีการเปลี่ยนผ่าน งานอนิเมชั่นวาดมือเริ่มได้รับความนิยมน้อยลง แม้แต่งานของดิสนีย์เองก็เริ่มอยู่ในภาวะหืดขึ้นคอ, คู่แข่งในตลาดก็มี Dreamworks Animation เพิ่มเติมขึ้นมาอีกหนึ่งเจ้า เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ดอน บลุธ ก็หายตัวไปจากการสร้างภาพยนตร์อนิเมชั่น รวมไปถึงจากสายตาของใครหลายคน จนคิดว่าเขาอาจจะเลิกทำงานเกี่ยวกับอนิเมชั่นไปแล้ว…
ถอยจากงานสร้าง สู่การเป็นผู้สอน และการส่งผลงานสู่ยุคปัจจุบัน
แม้กาลเวลาอาจจะทำให้ชื่อของ ดอน บลุธ จางหายไป แต่ในความจริงแล้ว ดอนไม่ได้ถอนตัวไปจากวงการโดยถาวรขนาดนั้น แต่เขาขยับไปทำงานด้านการสอนวาดอนิเมชั่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำแผ่นดีวีดี กับหนังสือสอนความรู้ในการวาดภาพ ก่อนจะขยับมาเป็นเว็บไซต์ และเป็นแชนแนลยูทูปในเวลาต่อมา, เป็นวิทยากรตามสถานศึกษาหลายแห่งที่มีงานเกี่ยวข้องกับภาคอนิเมชั่น, แวะเวียนไปทำมิวสิควิดีโอเพลง Mary ให้กับวง Scissor Sisters และนานๆ ครั้งก็ร่วมไปออกแบบงานสร้างอนิเมชั่นขนาดสั้นบ้าง รวมไปถึงว่าได้กลับไปเยือนถิ่นเก่าอย่างดิสนีย์ในฐานะบุคลากรมากประสบการณ์ และในช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายปีนี้ ผลงานหลายเรื่องที่ ดอน บลุธ เคยสร้างไว้ก็ไปตกอยู่ในมือของ 2oth Century Fox / 21st Century Fox ที่ถูกดิสนีย์ทำการซื้อกิจการและครอบครองสินทรัพย์ส่วนหนึ่งไปในช่วงปี ค.ศ.2019 (หรือที่เคยมีแฟนการ์ตูนพูดติดตลกไว้ว่า ตอนนี้ ทั้งเจ้าหญิงทัมเบลิน่า และเจ้าหญิงอนาสตาเซีย ได้กลายเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ไปแล้ว)
อีกงานหนึ่งที่ ดอน บลุธ ได้กลับไปมีส่วนเกี่ยวข้องก็คือการสร้างเกม Dragon’s Lair ภาคใหม่ Dragon’s Lair 3D: Return to the Lair ในช่วงปี ค.ศ.2002 ที่แม้ว่าเกมอาจจะไม่ได้รับความนิยมแบบระเบิดระเบ้ออย่างตัวเกมภาคดั้งเดิม อันเกิดจากการที่เนื้อเรื่องไม่ได้มีอะไรสดใหม่ และตัวการเล่นเกมก็ยังมีความไม่ลื่นไหลเหมือนกับเกมสไตล์ใกล้เคียงกัน จากนั้นก็มีการนำเอาเกม Dragon’s Lair ภาคแรก, Space Ace และ Dragon’s Lair ภาค 2 มาวางจำหน่ายอีกครั้งบทแพลตฟอร์มยุคปัจจุบันและมาพร้อมกับภาพแบบ HD คมชัดยิ่งกว่าเดิม
ก่อนที่เวลาจะล่วงเลยมาถึงปี ค.ศ.2015 ดอน บลุธ กับ แกรี่ โกลด์แมน (Gary Goldman) ที่ถือว่าเป็นคู่หูในการทำงานมาตั้งแต่เก่าก่อนได้กลับมาอีกครั้งบนโลกอินเทอร์เน็ตด้วยการเปิดระดมทุนผ่านเว็บไซต์ Kickstarter ในการสร้างภาพยนตร์ Dragon’s Lair: The Movie แต่การระดมทุนครั้งแรกนั้นได้เงินทุนทำยอดได้ไม่ถึงเป้า
แต่ก็มีการกลับมาเปิดระดมทุนอีกครั้งผ่านเว็บไซต์ Indiegogo ที่คราวนี้การระดมทุนสำเร็จไปด้วยดี และเป้าหมายในครั้งนี้เป็นการระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงเรื่องไปนำเสนอให้ผู้ที่จะสนใจนำไปสร้างภาพยนตร์ และก็มีข่าวดีว่า Netflix กับ ไรอัน เรย์โนลดส์ (Ryan Renolds) ได้ทำการซื้อสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์ ที่ตัวไรอันจะรับบทแสดงนำเป็นตัวเอกของเรื่อง และบริษัทของไรอันจะร่วมดูแลการผลิตภาพยนตร์ ที่เดิมทีเคยมีข่าวว่าจะฉายในช่วงปลายปี ค.ศ.2020 แต่ ณ วันที่เขียนบทความยังไม่มีการอัพเดตข่าวใดๆ ออกมา
แม้ว่า ดอน บลุธ จะล้มลุกคลุกคลานกับในวงการอนิเมชั่นอยู่มาก อาจจะเพราะความไม่ชำนาญในการบริหารการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาคลาสสิคของผู้สร้างงานอนิเมชั่นแทบจะทุกประเทศ ผสมกับจังหวะชีวิตที่มักจะเล่นตลกกับเขาอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า งานหลายชิ้นของเขาได้กลายเป็นตำนานของวงการไปแล้ว และจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนดูรวมถึงคนทำงานต่อไปอีกยาวนาน
อ้างอิงข้อมูลจาก
YouTube: ElectricDragon505 – The History of Don Bluth
YouTube: Saberspark – What RUINED Fox Animation Studios?