สัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนคงได้ดูรายการ Drag Race Thailand ภายใต้ลิขสิทธิ์ของค่ายกันตนาที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากรายการฝั่งอเมริกา อย่าง RuPaul’s Drag Race ที่มีมายาวนานถึง 9 ซีซั่น รวมทั้ง RuPaul’s Drag Race: All Stars อีก 3 ซีซั่น ย่อมการันตีได้ถึงความดีงามและเป็นที่นิยมในฝั่งคนดูอย่างเหนียวแน่น รายการ RuPaul’s Drag Race นั้นถือได้ว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ของ Drag จากซอกหลืบของ community LGBT ให้โดดเด่นและฉายแสงในสื่อกระแสหลักได้อย่างเฉิดฉาย
เชื่อว่าคงมีอีกหลายคนคงกำลังสงสัยและเกิดคำถามว่า Drag Queen หรือ แดร็กควีน คืออะไร แล้ว RuPaul’s Drag Race เป็นรายการโชว์แต่งหญิงของเหล่าตัวแม่ หรือเป็นรายการเรียลลิตี้ร้องเพลง เต้นระบำ แบบที่เห็นทั่วไปตามหน้าจอทีวีหรือเปล่า อะไรที่ทำให้รายการนี้ประสบความสำเร็จทั้งรางวัลและได้รับความนิยม แล้วจะเป็นยังไงเมื่อเดินเข้าสู่รันเวย์เมืองไทย
Young MATTER ขอต้อนรับคุณเข้าสู่โลกของ แดร็กที่เต็มไปด้วยความสนุก ความเว่อร์วัง และความเป๊ะปัง กับ ‘ปันปัน นาคประเสริฐ’ หรือที่ใครๆ รู้จักเขาในนาม ‘Pangina Heals’ แดร็กควีนตัวท็อปของเมืองไทยและยังเป็น Co-Host ของรายการ Drag Race Thailand เพื่อหาคำตอบและสำรวจโลกของแดร็ก
Young MATTER : แดร็กควีน คืออะไร แดร็ก ทุกคนคือ เกย์ หรือเปล่า?
ปันปัน : มีสองคำที่คนสับสนอยู่ คือคำว่า แดร็ก กับ แดร็กควีน คำว่าแดร็ก มันเป็นศิลปะ ใครๆ ก็ทำได้ เลดี้ กาก้า ก็ทำแดร็กได้ การทำแดร็กคือการแต่งเป็นคาแรคเตอร์ อย่างสมมติวันนี้ปันอยากเเต่งสูท อยากเป็นคนที่ทะมัดทะแมง แข็งแรงกว่าปกติ อันนั้นก็คือแดร็ก มันเป็นการแต่งคาแรคเตอร์ที่ใหญ่กว่าตัวเอง เป็นมากกว่าตัวเอง
ส่วนคำว่า แดร็กควีน เกือบ 90% จะเป็นเกย์ที่แต่งหญิงเพราะ มันมาจากคำว่า Dressed Resembling As a Girl แดร็กควีน ไม่จำเป็นต้องเป็นเกย์ก็ได้ เป็นผู้ชายแท้ก็ได้ ไม่ต้องมีเพศมาเกี่ยว แดร็กควีน คือการแต่งเป็นผู้หญิง ถามว่ากะเทยทำแดร็กได้ไหม ทำได้ แต่เราก็จะไม่เรียกเขาว่า แดร็กควีน เราจะเรียกเขาว่าทำ แดร็กแต่มันไม่เสมอไป มันกว้างกว่านั้นอีก อย่างปันไม่ชอบคนที่เอาคำพวกนี้มาเป็นกรอบ เป็นกล่อง คนเราไม่ได้อยู่ในกรอบหรือกล่อง การทำแบบนี้เหมือนกับเราเอาคนมาใส่กล่องแล้วแบ่งแยกคนใน community เดียวกัน ปันว่าไม่ใช่สิ่งที่ดี
ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าฉันเป็นแดรกควีนได้หรือไม่ เธอเป็นใคร เธอคืออะไร ไม่มีใครบอกได้ นอกจากตัวเธอเองเพราะว่าเธอกำลังมี experience ของเธอเอง ปันไม่มีสิทธิ์ที่จะบอกได้ เธอบอกว่าเธอเป็นวัว ฉันก็ต้องเชื่อว่าเธอเป็นวัว แต่ถ้าเกิดในหลักของคำว่า แดร็กควีน นั่นคือ definition ของมัน
Young MATTER : มีคนแปล Drag Queen เป็นภาษาไทยว่า นางโชว์ เหมือนหรือต่างกันยังไง
ปันปัน : แตกต่างกันนะ แต่นางโชว์สามารถแต่ง แดร็ก ได้ไหม แต่งได้ ปันมีเพื่อนนางโชว์หลายคน ปันนับถือนางโชว์ที่เป็นกะเทยสูงมาก ปันมีเพื่อนกะเทยเยอะ หลายคนที่สอนปันแต่งหน้า พาปันไปอยู่ในโลกนั้น มันเป็นโลกที่สวยงามมากๆ และปันอยู่ใน culture นี้มานาน ไม่อยากให้คนแบ่งแยกว่ามันไม่เหมือนกัน มันอยู่ใต้ร่มเดียวกันเลย ส่วนมากนางโชว์จะเป็นกะเทยอยู่ในอารมณ์ theatre ซึ่งเป็นคนที่กำลังข้ามเพศหรือข้ามเพศไปแล้ว เป็นสาวประเภทสอง หรืออาจมี แดร็กควีน หลงเหลืออยู่ใน theatre
ส่วน แดร็กควีน ก็จะเป็นผู้ชาย เขาใช้ชีวิตเป็นผู้ชาย นางรู้ว่านางเป็นผู้ชาย ถึงเป็นผู้ชายที่ชอบผู้ชาย นางก็ยังเป็นผู้ชายอยู่ แต่นางโชว์จะใช้ชีวิตเป็นผู้หญิงในกลางวัน ข้างในเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้หญิงหรือกะเทย พูดง่ายๆ แดร็กควีน มัน based on การแสดง ส่วน Showgirl คือเขาใช้ชีวิตเป็นผู้หญิง
Young MATTER : อะไรคือหัวใจของการเป็นแดร็กควีน
ปันปัน : คือการรักศิลปะ การรักตัวเอง และรักการแสดง
Young MATTER : การที่คนคนหนึ่งจะเป็นแดร็กควีนได้ต้องมีต้นทุนอะไรบ้าง
ปันปัน : อย่างปันเรียนนิเทศมา fine art เราได้ใช้หมดเลย คนที่จะเป็นแดร็กควีนได้ ปันว่าคุณต้องทำ styling เป็น ต้อง makeup ต้องทำผมเป็น คุณต้อง perform เป็น ใช้ศิลปะวาดรูปสองมิติมาวาดบนหน้า ใช้ประติมากรรมมาทำผม และการแสดงเพื่อ perform เพราะฉะนั้นมันเป็น performance art ที่เราใช้ร่างกายเป็นศิลปะในโลกความเป็นจริงได้
Young MATTER : แบบนี้เราเรียกคนที่เป็นแดร็กว่าศิลปินได้ไหม
ปันปัน : 100% ค่ะ
Young MATTER : ที่บอกว่าการเป็น แดร็กควีน คือการบำบัดตัวเองอย่างหนึ่ง ช่วยขยายความให้ฟังหน่อย
ปันปัน : เวลาแต่งหญิง ปันรู้สึกว่าเราได้หนีปัญหา ได้ใช้เวลาช่วงหนึ่งเยียวยาตัวเอง เหมือนได้เป็น super version เป็น superhero ของตัวเอง
พูดง่ายๆ โมเมนต์นั้นเราก็รู้สึกแข็งแรงขึ้น รู้สึกดีขึ้น ขณะที่เราให้ความสุขคนอื่น เราก็ได้ให้ความสุขตัวเองไปด้วย คนดูอาจเลิกกับแฟน หรือมีปัญหาอะไรมา พอเขามาดูโชว์ เขายิ้มได้ เราพาเขาออกจากโลกเศร้าๆ เข้ามาในโลกแฟนตาซีของเราได้ ชีวิตคนเรามันสั้นมาก ถ้าสามารถทำอะไรอย่างนั้นได้ สำหรับปัน มันเป็น goal ที่ใหญ่มาก
Young MATTER : ถ้าการเป็น แดร็กควีน คืออีกตัวตนหนึ่งของเรา แล้วมันแตกต่างจากตัวตนทั่วไปยังไง
ปันปัน : แล้วแต่คน บางคนการแต่งหญิงนี่ตรงข้ามกับชีวิตจริงเขาเลย คือชีวิตจริงเขาจะไม่ค่อยคุย อาจจะเงียบๆ แต่พอแต่งหญิงเสร็จปุ๊บ เขาเปลี่ยนจาก introvert เป็น extrovert แต่ปันไม่ใช่อย่างนั้น มันอยู่ตรงกลางๆ มากกว่า
เวลาแต่งหญิงเสียงปันก็จะสูงขึ้น ปันจะ poser ไม่เหมือนกัน มันจะแรดกว่า ปากหมามากกว่า แต่ถามว่าในชีวิตจริงปันมี quality พวกนั้นไหม ก็มีอยู่ สำหรับปันคือมันเหมือนกับสวมหัวโขนมากกว่า ปันไม่ได้ตายตัวว่าจะต้องเป็น Pungina แล้วปันจะต้องเเต่งหญิงทุกครั้ง ปันสนุกกับการเป็นคาแรคเตอร์แต่ละคาแรคเตอร์มากกว่า ถ้ามีคนบอกว่า วันนี้ให้เป็น Mariah ปันก็จะไม่ได้เป็น Pangina ปันก็จะเป็น Pangina as Mariah มากกว่า วันไหนที่ปันจะต้องทำงานกับเด็ก ก็ต้องลดบางอย่างลงมา อย่างคำหยาบก็ต้องเอาออก เราจะ interract กับคนดูยังไง ต้องมีความพอดี ความเจาะจงของคาแรกเตอร์ เพราะมันคือ performance based
มันสอนให้รู้ว่าการแต่งหญิง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ มันลึกซึ้งกว่านั้นมาก มันเป็นศิลปะ เกี่ยวกับความเป็นตัวตนของคนคนนั้น ทำให้คนรู้ว่าการแต่งเเดร็ก มีหลายแบบ เหมือนเพชรที่มีหลายมุม มีตลก มีสวย มีบ้า สุดท้ายแล้วมันสอนให้รู้ว่าความแตกต่างคืออะไร
Young MATTER : คิดว่าเสน่ห์ของรายการ Rupaul’s Drag Race คืออะไร ทำไมถึงฮิตขนาดนั้น
ปันปัน : เสน่ห์ของรายการมันเยอะมาก มันสอนให้รู้ว่าการแต่งหญิง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ มันลึกซึ้งกว่านั้นมาก มันเป็นศิลปะ เกี่ยวกับความเป็นตัวตนของคนคนนั้น ทำให้คนรู้ว่าการแต่งเเดร็ก มีหลายแบบ เหมือนเพชรที่มีหลายมุม มีตลก มีสวย มีบ้า สุดท้ายแล้วมันสอนให้รู้ว่าความแตกต่างคืออะไร
ในรายการ Rupaul มันโชว์ให้ดูว่าคนพวกนี้เขาฉลาด เขาเริ่ด เขาสร้างสรรค์ อีกอย่างที่ชอบคือในช่วงเวลานั้น พวกเขาแก้ปัญหาได้เร็วมาก ได้เห็นความสวยงามของเสื้อผ้า หน้า ผม ที่เขาต้อง create ออกมา และ side human ของเขาด้วย อย่างหลายๆ คน เขาก็จะพูดว่ามีปัญหาอะไรในชีวิตบ้าง บางคนก็อาจจะมีปัญหาเรื่องครอบครัว โดนครอบครัวทิ้ง บางคนมีปัญหา HIV ซึ่งมันลึกกว่าการดูเเดร็ก เพราะเราได้เข้าไปดูถึงปัญหาชีวิต ปัญหาสังคม หรือปัญหาที่เขามี ซึ่งปันว่ามันน่าสนใจ เหมือนเราได้เข้าไปอยู่ในชีวิตเขา
ในโลกนี้มี Rupaul แค่คนเดียว เพราะฉะนั้นเราไม่เรียกรายการนี้ว่า Rupaul’s Drag Race Thailand เราจะเรียกว่า Drag Race Thailand
Young MATTER : อะไรคือความแตกต่างของรายการ Rupaul’s Drag Race กับ Drag Race Thailand
ปันปัน : ในโลกนี้มี Rupaul แค่คนเดียว เพราะฉะนั้นเราไม่เรียกรายการนี้ว่า Rupaul’s Drag Race Thailand เราจะเรียกว่า Drag Race Thailand ของไทยจะมี host 2 คน คือ ปัน และพี่อาร์ต–อารยา อินทรา ซึ่งพี่อาร์ตจะเป็นตัวหลัก ส่วนปันเป็น co-host ดังนั้นจะมีมุมมองสองแบบ ก็ต้องถามพี่อาร์ตว่าเขาหาคนแบบไหน ปันก็จะช่วย support ในสิ่งที่เขาหาอยู่ แต่ปันจะชอบคนที่บ้าเลือด คนที่ใหม่ คนที่สด คนที่เริ่ด
คนไทยจะยึดติดกับคำว่าสวย เพราะฉะนั้นนางโชว์เราก็จะมีสวยมากกว่าตลก เราอยากได้ทุกอย่างที่ครบรส แต่ว่า culture ไทย จะติดคำว่าสวย เพราะฉะนั้นมันก็จะแตกต่างจากแดร็กเมืองนอก ซึ่งเขาจะ create เปิดกว้างมากกว่า ใน culture ของเมืองไทยเราถูกสอนมาว่าให้จำ information เยอะๆ แต่ของเมืองนอกเขาจะ challange ความคิดตลอด ซึ่งเป็นข้อที่แตกต่าง
ส่วนไทยเราจะเก่งเรื่องเทคนิค เรื่อง craft เรื่องความละมุนสูงมาก แต่เรื่องความชาเลนจ์ความคิดอาจไม่เยอะเท่า ส่วนเมืองนอกเรื่องความสร้างสรรรค์จะค่อนข้างเยอะ แต่เรื่อง craft อาจจะไม่ 100% หวังว่าเราจะมาเจอกันตรงกลางระหว่างความคิดกับความปราณีตของการแต่งหญิงและความละมุน
Young MATTER : ในฐานะ Co-Host ของรายการคุณคาดหวังอะไร
ปันปัน : ไม่คาดหวังเลย เราทำในส่วนของเราให้ดีที่สุด ปันว่ามันน่าจะสนุก น่าจะมันส์ ไม่อยากใช้คำว่าคาดหวัง ทุกอาทิตย์ เราจะดึง potential ของเด็กออกมาให้ดีที่สุด เธอคิดว่าเธอทำได้แค่นี้เหรอ เราจะทำให้เขารู้ว่าจริงๆ แล้วเขาทำได้มากกว่านี้นะ ให้เขารู้ว่าตัวเองเก่งกว่าที่คิดด้วยซ้ำ
เรื่องคนด่าไม่ด่านี่แล้วแต่คนดูว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร ปันโอเคกับ feedback หมด เพราะเราอยู่ตรงนี้ อาจไม่เห็นในสิ่งที่คนดูเห็น ถ้าทำบางอย่างออกมาดี บางอย่างออกมาไม่ดี ถ้าได้ feedback มา episode หน้าเราก็อาจแก้นู่น แก้นี่ได้
Young MATTER : โจทย์ที่อยากที่สุดของการทำรายการคืออะไร
ปันปัน : ปันว่าคนจะ compare รายการ เพราะ Rupaul มีคนรักและคนดูเยอะมาก คนดูมาตั้งเก้าซีซั่นแล้ว ฉะนั้นพอมาเมืองไทย ในซีซั่นแรกเราอยากให้คนเปิดใจมากกว่าว่า เฮ้ย! นี่ซีซั่นแรกนะ ก็ลองดูก่อนแล้วกันว่ามันจะออกมาเป็นยังไง มีอะไรที่ผิดถูก คนอาจคาดหวังว่ามันต้องปัง มันต้องเริ่ด เราก็อยากให้เป็นแบบนั้น หวังว่ามันจะออกมาดี
Young MATTER : คิดยังไงเรื่อง LGBT ในสังคมไทย
ปันปัน : สังคมไทยเป็นสังคมที่น่ารักมาก คนไทยเป็นชาวพุทธ เพราะฉะนั้นอะไรที่ไม่ได้ผิด ไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ ไม่ได้ทำอะไรมากขนาดนั้น คนไทยรับได้ คนไทยโอเค สังคมไทยถึงได้มีกะเทยที่ open ค่อนข้างมาก แม้ว่ากฎหมายเรื่องการแต่งงานยังไม่ equal ก็จริง แต่อย่างหนึ่งที่ปันไม่โอเคคือ เรื่องชื่อ
ทุกคนควรเลือกได้ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิงในบัตรประชาชน หรือใน passport ปันรู้สึกว่า อ้าว ข้างในเขารู้สึกเขาเป็นอย่างนี้ แล้วเขาก็เปลี่ยนข้างนอกแล้ว ทำไมเขาไม่มีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะเป็นนายหรือเป็นนาง
สังคมไทยเปิดรับมาก แต่แดร็กมันไม่ได้ root มาจากสังคมไทย เพราะฉะนั้นก็ต้องใช้เวลา ถามว่าคนดู Rupaul เยอะไหมในประเทศไทย ปันเชื่อว่ามีมาก แต่อย่างหนึ่งที่คุณต้องรู้ก็คือ ภาษาของเรากับภาษาของเขามันมีบางอย่างที่เวลาแปลอาจไม่ตลกสำหรับเขา เช่น ใน trailer คำว่า เลียดอ ในภาษาไทยมันตลกพอเป็นภาษาอังกฤษมันไม่ตลก ความหมายไม่เหมือนกัน มันมีคำที่มีหลาย meanning พอแยกภาษามาปุ๊บ มัน lost แต่ถ้าถามปันว่าสังคมไทยชอบไหม ชอบแน่นอนเพราะคนดู Rupaul’s Drag Race ก็เยอะมากๆ เขารู้ว่ามันตลก
ใน culture แบบนี้ทำไมคนถึงคิดว่า พวกตุ๊ด พวกแดร็กควีนต้องตลก เพราะว่ามัน digest ง่าย คนเขาจะไม่คิดเรื่องเพศ เขาแค่หัวเราะ โดยไม่ได้มานั่งตั้งถามคำถามแล้ว ปันถึงบอกว่า อยากให้ดูรายการ Drag Race มองแดร็กควีนที่คนไม่ใช่มองที่เพศ
Young MATTER : การที่ LGBT มีภาพจำแบบ Stereo Type เกิดจากสื่อผลิตภาพจำ หรือกลุ่ม LGBT ผลิตภาพจำเหล่านั้นขึ้นมาเอง
ปันปัน : สิ่งที่คนจำได้ว่าเราเป็นอย่างไร มันอาจมีความเป็นจริงอยู่ แต่ในทางกลับกัน ผู้ชายแท้ ผู้หญิงแท้ ต้องเหมือนกันหมดทุกคนไหม มันก็ไม่ใช่ แต่ stereotype ก็ถือว่ามีความเป็นจริงอยู่ระดับหนึ่ง
ลองนึกภาพตุ๊ดใส่เสื้อกล้ามเดินสีลม มันก็เป็น natural costume อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็พูดไม่ได้ว่าไม่จริง แต่พอเป็นสื่อแล้วเนี่ย ถ้าสื่อยังผลิตซ้ำไอเดียเดิมๆ นั้นออกไป stereotype นี้ก็ถูกนำเสนออยู่เรื่อยๆ
ใน culture แบบนี้ทำไมคนถึงคิดว่า พวกตุ๊ด พวกแดร็กควีนต้องตลก เพราะว่ามัน digest ง่าย คนเขาจะไม่คิดเรื่องเพศ เขาแค่หัวเราะ โดยไม่ได้มานั่งตั้งถามคำถามแล้ว ปันถึงบอกว่า อยากให้ดูรายการ Drag Race มองแดร็กควีนที่คนไม่ใช่มองที่เพศ ทุกอาทิตย์เวลาคนมาดูโชว์ปัน จะมีผู้ชายแท้ที่เข้ามากับแฟนผู้หญิง ผู้หญิงจะชอบแดร็กควีนมาก แต่ผู้ชายจะทำหน้าไม่เข้าใจ ปันก็คิดในหัวว่าอีกสองชั่วโมงค่อยคุยกัน หลังจากสองชั่วโมง
99% เขาเดินเข้ามาบอก “ไอไม่เคยดูโชว์อะไรอย่างนี้ ยูตลกมาก ยูทำให้ขำ” แล้วปันล้อทุกคน ไม่ได้ล้อแค่ผู้ชายแท้ ทำให้เขาเอนเตอร์เทนทุกคน ถ้าเราสามารถทำให้เขาเปลี่ยนใจได้ ว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะ เราไม่ได้คุกคามเธอนะ เขาก็จะโอเค
Young MATTER : แล้ว LGBT ที่ไม่อยู่ใน Stereotype ที่ตลก เขาจะทำยังไง
ปันปัน : เกย์มันมีเกย์ทุกแบบ เกย์ที่เหมือนผู้ชายแท้ 100% เลย เขาเเค่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ก็มีหมดทุกอย่างแหละ ที่ไม่เหมือนกับ stereotype เพราะคำว่า stereotype คือความคิดเหมารวมว่าคนกลุ่มหนึ่งเป็นยังไง ทั้งๆ ที่มันอาจไม่ได้เป็นความเป็นจริงทั้งหมด แต่ stereotype นั้นถูกจำไปแล้ว อย่างแดร็กควีนทุกคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องตลกแบบเดียวกับ Sasha Velour ไม่มีคนคิดมาก่อนว่า Sasha จะมีสไตล์แดร็กควีนที่ไม่ใส่วิกด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น Stereotype มีเพื่อ break it อยู่แล้ว
Young MATTER : แล้วรายการจะสามารถทำให้คนเข้าใจความหลากหลายตรงนี้ได้ไหม
ปันปัน : ซีซั่นแรก อยากให้คนเข้าใจคำว่าแดร็กควีนมากกว่า ยังไม่ต้อง break อะไรมาก ซีซั่นต่อๆ ไปค่อย break การจะ break ความคิดอะไรอย่างหนึ่ง ปันว่าเราต้องปู foundation ก่อน ว่าคำนี้มันแปลว่าอะไร มันคืออะไร โลกเป็นยังไง ค่อยทำลายมัน แล้วสร้างขึ้นมาใหม่ถึงจะสนุก อย่าง Rupaul ตอนแรกเขาก็ยังไม่รับสาวประเภทสองหรือคนข้ามเพศ หลังๆ ก็เริ่มรับแล้วอย่าง Peppermint
Young MATTER : Drag จะกลายเป็น culture หลักในไทยได้ไหม
ปันปัน : มันกำลังเกิดขึ้นแล้ว ปันหวังว่ารายการจะดัง ประสบความสำเร็จ และมีคนชอบ ไม่ถือว่าดังดีกว่า ไม่รู้ว่ารายการจะออกมาเป็นอย่างไร แค่ทำในส่วนของปันให้ดีที่สุด
Young MATTER : คาดการณ์ไหมว่ามันอาจจะมีดราม่า
ปันปัน : ชุดของพี่หมูอาซาว่ายังโดนเลย ปันว่าก็ไม่ใช่ปัญหา มีอยู่แล้วแหละดราม่า รายการยังไม่เริ่มเลย ดราม่าเป็นสิ่งที่ดีนะคะ สำหรับโลกของ Reality TV ถ้าไม่มีดราม่าคนไม่ดูค่ะ เป็นเรื่องธรรมดา