สุข เศร้า เหงา สนุก เราทุกคนมีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในใจกันทุกวี่ทุกวันแหละ เพียงแต่บางครั้งบางโอกาส เราก็ไม่สามารถแสดงมันออกมาได้ เศร้าก็ต้องบอกว่า “เฮ้ย เราไม่เป็นไร” โกรธก็ต้องเก็บเอาไว้ แล้วค่อยมาหาที่ระบาย
แต่ทีม Freak Lab บอกว่าเราควรจะรู้จัก เข้าใจ และพัฒนาอารมณ์เหล่านั้น โดยเฉพาะคนเมืองที่วันๆ มัวแต่ยุ่งๆ ‘Emoti-Khon’ จึงเป็นดิสเพลย์ที่ออกแบบมาเพื่อตั้งไว้กลางเมือง ใช้เทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า และ AI ที่อ่านอารมณ์คนได้ แปลงให้ออกมาเป็นหน้ากากโขนที่ช่วยเตือนเราว่า ลึกๆ แล้วเรากำลังรู้สึกยังไง (ซึ่งโปรเจ็กต์นี้กำลังจะเดินทางไปจัดแสดงที่เบอร์ลินต้นปีหน้านี้)
The MATTER ชวน ฉั่ว-ศรชัย ฉัตรวิริยะชัย หนึ่งในทีม Freak Lab มาพูดคุยถึงโปรเจ็กต์นี้ ไปจนถึงเรื่องหน้ากาก อารมณ์ สังคม และวัฒนธรรมไทยอย่าง ‘โขน’ ที่พวกเขาเลือกใช้ พร้อมข้อสงสัยที่ว่า ตกลงแล้วการแสดงหรือไม่แสดงอารมณ์ ทำให้อยู่ร่วมกันในสังคมง่ายกว่ากัน
The MATTER : อยากให้เล่าถึงที่มาของ Emoti-Khon ให้ฟังหน่อย
ฉั่ว-ศรชัย : จริงๆ เริ่มจากการเข้าร่วมงานของ Urban Media Art Academy ที่มีธีมว่า ‘Emotional Transitions’ คือเราต้องสร้างงานศิลปะที่ทำให้คนเมืองเห็นอารมณ์ความรู้สึกตัวเอง หรือว่าสามารถเปลี่ยนแปลงความรู้สึกของเขาได้ ทีนี้เราก็รู้สึกว่าชีวิตคนในเมืองมันวุ่นวาย ต้องเดินทางไปมา ไม่มีเวลาที่จะหยุดสำรวจความรู้สึกตัวเอง เราก็เลยคิดว่าจะทำยังไงที่จะให้คนได้หยุดบ้าง ก็เลยออกมาเป็นหน้าจอขนาดใหญ่ ที่วางไว้คือ 3 เมตร มีโปรแกรมตรวจจับใบหน้า แล้วส่งต่อให้ Machine Learning บอกว่าหน้าตาแบบนี้นี้คืออารมณ์อะไร แล้วก็เป็นหน้ากากของอารมณ์นั้นๆ ขึ้นมาใส่หน้าคนนั้นเลย
The MATTER : ทำไมถึงต้องใช้หน้ากากล่ะ หน้ากากไม่ใช่เครื่องบดบังการแสดงออกทางอารมณ์หรอกเหรอ
ฉั่ว-ศรชัย : มันเป็น paradox ไง คือเมื่อเราสวมหน้ากาก เราจะสามารถปลดล็อกอะไรบางอย่างในตัวเราได้ มนุษย์เราจะเป็นนักเซนเซอร์ตัวเอง เวลามีอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เพราะเราเคยเจ็บปวดในอดีตเมื่อเราแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมา เราจึงเก็บมันไว้ในที่ปลอดภัย ความรู้สึกเหล่านั้น พอถูกเก็บเอาไว้นานๆ จะไม่ดี มันจะบิดเบี้ยว แทนที่มันจะถูกพัฒนาไปให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ มันก็ไม่ได้โอกาสนั้น แต่พอเราใส่หน้ากากปุ๊บ มันกลายเป็นว่าไปปลดล็อกตรงนั้น เราไม่ต้องเซนเซอร์ตัวเองแล้วเพราะว่ามีหน้ากากมาช่วยให้รู้สึกปลอดภัยแล้ว ความรู้สึกข้างในก็เลยถ่ายทอดออกมาได้
ในโปรเจ็กต์เรา หน้ากากเหล่านี้มันจะเป็นตัวช่วยแสดงอารมณ์ความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์ ลดทอนความซับซ้อนลงมาให้เป็นหน้ากากอันหนึ่ง ถ้าเป็นลิงก็แสดงถึงความซุกซน ความร่าเริงของคน ยักษ์ก็คือเราโกรธ จริงจัง ส่วนพระก็อารมณ์ดี สงบ จริงๆ หน้ากากมีได้เยอะกว่านี้ เพราะอารมณ์คนเรามันหลากหลายมาก แต่เราจะทำแค่นี้ เราก็พยายามลดทอนและจับคู่กับ 3 หน้ากากนี้
The MATTER : พอเป็นหน้ากาก ทำไมถึงเลือกใช้โขน
ฉั่ว-ศรชัย : เราไม่อยากทำอะไรที่คนดูแล้วเฉยๆ ต้องการให้คนดูแล้วมี reaction แบบ เฮ้ย มึงทำอะไร นี่มันคือวัฒนธรรมไทยนะเว้ย เราต้องการอันนี้นิดนึงด้วย เราต้องการให้เกิดการถกเถียงเหมือนกัน ว่าสิ่งที่เป็นวัตถุทางวัฒนธรรมเนี่ย คุณจะทำยังไง
The MATTER : แต่พอเป็นเรื่องโขน เรื่องของวัฒนธรรมไทย ก็เคยมีกรณีที่ศิลปินหรือคนทำงานสร้างสรรค์เอามาใช้แล้วเกิดดราม่าขึ้น ส่วนตัวคิดยังไงกับเรื่องนี้
ฉั่ว-ศรชัย : ถ้าคุณจะจัดแสดงขอบเขตตามขนบ คุณก็ทำไปตามขนบอันนี้อย่าไปเปลี่ยนมัน ก็เก็บเอาไว้ให้ลูกหลานชื่นชม แต่ทีนี้มันต้องมีพื้นที่ให้เกิดการพัฒนาไปทางอื่นด้วย ต้องไม่เห็นว่ามันฆ่ากันอะ มันไม่ได้ฆ่ากันเลย ยิ่งส่งเสริมเอาไปใช้ยิ่งช่วยให้วัฒนธรรมขับเคลื่อนไป ไม่ใช่เก็บเอาไว้จนเน่าผุพัง ไม่มีประโยชน์อะไร วัฒนธรรมที่มีชีวิตน่าสนใจกว่านะ จะเก็บไว้ทำไม แล้วการที่เราดึงเอาโขนมาใส่หน้าคนธรรมดา ใครๆ ก็ใส่หน้าโขนได้ ไม่ต้องเอาไปบูชา จริงๆ เขาอาจจะเพิ่มพูนความรักของเขาที่มีต่อวัฒนธรรมไทยก็ได้ เพราะเขาไม่ต้องเป็นผู้ดูอย่างเดียว
ต้องมีคนไม่ชอบใจแน่นอน เรื่องปกติ แต่การสร้างการถกเถียงขึ้นในสังคมน่าจะทำให้มีอะไรเคลื่อนไปข้างหน้า แล้วถ้าลองเปลี่ยนบริบทดู จากเมื่อก่อนจะเป็นเรื่องแบบว่าดาราไปใส่ ดาราไม่ดี เป็นคนของประชาชนไม่น่าทำแบบนี้เลย แต่ตอนนี้คือทุกคนทำได้ละ ทุกคนสามารถเซลฟี่ใส่หน้ากากโขนได้ แล้วคราวนี้จะเกิดอะไรขึ้น จะสร้าง norm ใหม่ขึ้นมาได้ไหม ถ้าคนหลายๆ ทำจะเป็นเรื่องปกติไหม เราก็อยากให้งานของเราทำหน้าที่พวกนี้ด้วย
The MATTER : มีแผนจะต่อยอดโปรเจ็กต์นี้ต่อไปในอนาคตยังไง
ฉั่ว-ศรชัย : ก็อาจจะลองให้เปลี่ยนเพศดู เล่นกับความลื่นไหลของเพศสภาพก็ได้ คนจะรู้สึกยังไง ถ้าฉันต้องเป็นเพศอื่นในทางดิจิทัลเล่นกับความเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ของเรานี่แหละ น่าสนใจที่สุดแล้ว เปลี่ยนชนชั้นวรรณะ เปลี่ยนขาวเปลี่ยนดำ น่าจะมีอะไรอีกเยอะมากเลยที่เล่นได้ ทำให้เกิดการ interaction ก็ได้ อย่างโขนนี่ก็อยากทำให้ยิงศรเล่นกันได้ ล่อแก้วขว้างแก้วได้ จะได้เกิด interaction ในชุมชนด้วย อยากให้เกิดเซนส์ของ community ขึ้นได้ยิ่งดี เพราะนอกจากคนเมืองจะไม่มีเวลาหยุดแล้ว ยังไม่มีสถานที่ให้หยุดด้วย บ้านเมืองเราขาดการบริหารจัดการส่วนที่เป็นพื้นที่เมือง สร้างถนน สร้างตึก สร้างเขื่อนเก่งมาก แต่เราสร้างได้แค่สวนสาธารณะที่ง่อยๆ ที่ไม่มีใครไป พื้นที่กลางของสังคมอยู่ตรงไหน เราไปไหนได้นอกจากเดินห้าง เราต้องการพื้นที่เหล่านี้ เจอกันในมิติอื่นบ้างนอกจากในออฟฟิศ เราต้องการพลเมืองที่มีคุณภาพ มีความสุข แต่ทำอะไรให้บ้าง
The MATTER : ต่อไปด้วยเทคโนโลยีต่างๆ อาจจะทำให้ Emoti-Khon ไม่ต้องเป็น Installation แต่คนหยิบมาใส่เดินในชีวิตประจำวันได้เลย ถ้าเป็นแบบนั้น คิดว่ามันจะเป็นงานศิลปะที่ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้มากขึ้นไหม
ฉั่ว-ศรชัย : มันก็น่าสนใจนะ มันก็เป็นเรื่องการเมืองของร่างกายคน จริงๆ ก็เหมือนการทำสีผม เหมือนรอยสักทุกวันนี้อะอะ คุณจะสักให้คนเห็นไหม สักเพื่ออะไร ต้องการจะบอกอะไร ประกาศอะไร หรือสร้างอัตลักษณ์อะไร มันก็อาจจะน่าสนใจในแง่ที่ว่า คนๆ นั้นต้องยินยอมที่จะขยายอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้เด่นชัด ให้คนอื่นเห็น คุณจะทำไหม
The MATTER : ที่บอกว่า ทุกวันนี้หลายๆ คนเก็บอารมณ์เอาไว้ เพราะเขาไปใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการแสดงอารมณ์ของคนแล้วหรือเปล่า เพียงแต่ว่าไม่ได้ออกมาทางสีหน้า
ฉั่ว-ศรชัย : ก็จริงนะ แต่อารมณ์ความรู้สึกในโซเชียล มันถูกแปรเปลี่ยนเป็นคำพูด ถ้าเราไม่พูดถึงวิดีโอหรือภาพถ่าย พอเป็นตัวอักษร มันจะลดทอนมิติไปเยอะมากเลย เพราะความรู้สึกบางทีมันก็เปลี่ยนเป็นคำพูดไม่ได้ การที่มันถูกลดลงมาเหลือแค่ตัวอักษรมันก็น่าเศร้านะ มันไม่มีความรู้สึกอบอุ่นเหมือนเวลามีคนมาแตะที่ไหล่เรา ตอนที่เรารู้สึกว่าแย่แล้วอะ มันแทนไม่ได้ อารมณ์ความรู้สึกของการกอดกันก็แทนกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นโซเชียลมันจะเป็นมิติที่ถ่ายทอดความคิดได้ แต่ไม่ใช่ความรู้สึก
The MATTER : สังคมที่คนแสดงอารมณ์ออกมาตรงๆ หรือสังคมที่คนเก็บกดอารมณ์เอาไว้ คิดว่าสังคมไหนอยู่ง่ายกว่ากัน
ฉั่ว-ศรชัย : ต้องถามก่อนว่า ง่ายอะ ง่ายของใคร ง่ายของคนที่ต้องการที่จะทำให้มนุษย์เป็นทาสแรงงาน ต้องการให้มนุษย์ว่านอนสอนง่ายไหม มึงอยู่กันไปทำกันไปนะ อย่าบ่น อย่าแสดงความรู้สึก ถ้าเราต้องการความง่ายในการบริหารจัดการ มันก็อาจจะดีที่มนุษย์ไม่ต้องมีอารมณ์ความรู้สึกอะไร ทำให้คนที่มีอำนาจได้อยู่ในอำนาจต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้าถามว่ามันง่ายกับคนที่พยายามที่เก็บกดไม่แสดงความรู้สึกไหม อันนี้มันก็ไม่ง่าย เพราะถ้าเราไม่มีอารมณ์ ความรู้สึก เราจะเป็นมนุษย์ไปทำไม
ความเป็นมนุษย์มันก็มีความแย่ๆ อะ โกรธเกลียด อิจฉาริษยา อารมณ์พวกนี้มีในมนุษย์ แต่เราก็มีความรู้สึกอีกด้านที่ซาบซึ้ง ดีงาม รัก อะไรต่างๆ ไง มีร้ายมีดีก็ไม่เห็นเป็นไร มนุษย์เราต้องซื่อสัตย์กับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง มันเกิดขึ้นแล้ว เรารู้สึกแบบนี้ อ๋อ ความเกลียดเป็นแบบนี้นี่เอง ตอนอิจฉาคนอื่นรู้สึกแบบนี้นี่เอง ก็รู้ไว้
มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกหนึ่งของมนุษย์เท่านั้น ไม่ได้อยู่กับมันตลอดไปสักหน่อย การที่เราสงวนสิทธิ์การมีอารมณ์ได้ ไม่ให้ใครมาพรากไปจากเราเนี่ย แม่งเป็นสิ่งที่สุดยอดแล้ว