คาโกะ ชินทาโร่ (Kago Shintaro) คือนักเขียนมังงะแนว Ero Guro Nansensu (หรือเรียกย่อว่า Ero Guro ไม่ก็ Guro) งานของเขานั้นมักจะตีพิมพ์อยู่ในนิตยสารมังงะสำหรับผู้ใหญ่ที่เล่นประเด็นรุนแรงจริงจังซึ่งอาจไม่ค่อยได้เห็นในเมืองไทยมากนัก นอกจากนี้เขาเองก็มักมีโอกาสได้วาดปกให้กับนักร้อง อย่างเช่น ในอัลบั้ม You’re Dead! ของ Flying Lotus
แต่ถึงอย่างนั้นก็เป็นข่าวดีสำหรับแฟนๆ ผลงานของเขาเพราะว่า คาโกะกำลังจะมาจัดนิทรรศการแสดงผลงานของเขาในเมืองไทย ที่จะใช้ชื่องานว่า ‘Strange Collection’ ในช่วงเดือนกันยายน – เดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 2019 นี้
หลายท่านอาจจะเข้าใจแล้วว่าแนว Guro นั้นมักจะเป็นแนวที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับ ศพ หรือ ความตาย แต่เมื่อลองเสพผลงานของคาโกะหรือศิลปินคนอื่นๆ ที่มองว่าตัวเองสร้างสรรค์งานในแนวนี้จะพบว่า พวกเขาไม่ได้อยากจะสร้างงานที่ออกมาให้ดูชวนขนลุกขนพองแต่เท่านั้น แต่มักจะแฝงนัยยะวิพากษ์สังคมเอาไว้ด้วย
ดังนั้นจึงอยากชวนคุยลงไปอีกเล็กน้อยว่า แท้จริงแล้วการตีความของแนว Ero Guro นั้นคืออะไร
ภาพรวมและที่มาของแนวคิด Ero Guro
หากมองภาพรวมแล้ว Ero Guro ก็เหมือนแค่วาดอะไรให้สยดสยอง มีเลือดสาดเยอะๆ หรือถ้ารุนแรงหน่อยต้องมีอวัยวะที่ขาดออกจากกันอย่างถาวรอยู่ในฉาก แต่ถ้ามองลงลึกไปอีกสักนิดแล้ว มันมีอะไรน่าสนใจมากกว่าความไม่สวยงามเหล่านั้น เพราะในงานแนวนี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงความ ไม่เที่ยง หรือ ความพิสดารของสังขารอย่างเป็นปกติแล้ว ก็มักจะมีการวิพากษ์มุมมองของสังคมที่มีต่อเรื่องเพศ หรือบางทีก็ข้ามไปจิกกัดแนวคิดทุนนิยมเสียด้วยซ้ำ แต่ในหลายๆ ครั้ง ศิลปินที่สร้างานแนวนี้ก็มักจะบอกเล่าว่างานของพวกเขาไม่ได้มีควาหมายอะไรเป็นพิเศษ
ซึ่งถ้าแยกย่อยที่มาของชื่องานแนวนี้ ก็จะพบว่ามันสอดคล้องกับสิ่งที่เราบอกกล่าว เพราะตัวคำว่า Ero Guro Nansensu นั้นเป็นการยืมคำภาษาอังกฤษของชาวญี่ปุ่นที่มาจากคำว่า Erotic, Grotesque และ Nonsense นั่นเอง
ส่วนที่มาที่ไปของงานแนว Ero Guro นั้น บ้างก็มองว่าเป็นงานที่เพิ่งสร้างในประเทศญี่ปุ่นช่วงปี ค.ศ. 1920-1930s แต่บางคนก็มองว่า มุมมองความคิดแบบนี้อาจจะแฝงอยู่ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นมานานแล้ว อย่างเช่น ผลงานศิลปะแนวชุนกะ หรือภาพแนวเสพสังวาสของญี่ปุ่นนั้นก็มักจะมีอะไรพิสดารเกินจริง ระดับที่มีความเห็นจากบางคนว่า ภาพ ‘ความฝันของภรรยาชาวประมง (Dream Of The Fisherman’s Wife)’ ของศิลปิน คัตซุชิกะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai) นั้นเป็นจุดเริ่มต้นแนว Ero Guro เสียด้วยซ้ำ
หรือบางคนก็จะมองว่าผลงานของ ซึกิโอกะ โยชิโตชิ (Tsukioka Yoshitoshi) ที่เป็นศิลปินที่สร้างผลงานภาพแกะสลักไม้แนว Muzan-E (無残絵) ที่เล่าเรื่องการฆาตกรรมหรือการทรมาน นั้นเป็นการวางอิฐก้อนแรกให้กับแนว Ero Guro
แต่กว่าที่ศิลปะแนว Ero Guro จะมีตัวตนที่ชัดเจนตามการจดบันทึก ก็เป็นเวลาล่วงเลยเข้าสู่ปลายยุคไทโช และช่วงต้นยุคโชวะ (ประมาณปี ค.ศ. 1912-1936)ได้เกิดเหตุอุกอาจที่ก่อขึ้นโดย อาเบะ ซาดะ (Abe Sada) หญิงสาวผู้เคยเป็นเกอิชา และมีความนิยมในการร่วมเพศพร้อมกับการรัดตรึงร่างกาย (bondage) แต่หญิงสาวท่านนี้ได้ก้าวข้ามเส้นปลอดภัยจนทำการรัดคอคนรักเสียชีวิต ก่อนจะตัดเอาเครื่องเพศของคนรักติดตัวไปด้วย และเมื่อถูกจับกุม เธอก็มักจะมีรอยยิ้มให้เห็นจนกลายเป็นภาพถ่ายที่ชวนฉงนบนหน้าสื่อ ณ ยุคนั้น
คดีนี้ถือว่าเป็นคดีที่สะเทือนขวัญแก่ชนชาวญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นตัวจุดชนวนให้ศิลปะแบบ Ero Guro เบิกบานขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่งานจิตรกรรมอย่างที่คาโกะนำเสนอเท่านั้น แต่ยังมีงานวรรณกรรม อย่างผลงานของ เอโดกาวะ รัมโป (Edogawa Ranpo) หลายเรื่องก็มีบรรยากาศแบบ Ero Guro จนผลงานเหล่านี้ของนักเขียนได้รับการพัฒนาไปสู่การสร้างภาพยนตร์ และดนตรีที่เล่าเรื่องราวในแบบ Ero Guro จริงจังในภายหลัง
มากกว่าการเอาเรื่องสยองมาเล่าซ้ำ เพราะนี่คืองานศิลป์ที่แสดงอารยะขัดขืน
การที่ Ero Guro เบ่งบานขึ้นมาเป็นศิลปะแนวย่อยแนวหนึ่งได้อย่างเต็มที่นั้น ไม่ใช่เพราะคดีฆาตกรรมที่อุกอาจ จนเกิดความประทับใจแก่เหล่าศิลปิน แต่พราะงานแนวนี้เป็นการแสดงออกของศิลปินในยุคนั้นที่ต้องการแสดงอารยะขัดขืดต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดในสังคมญี่ปุ่น ณ ช่วงเวลานั้น ทั้งในเชิงการปกครองที่เริ่มเห็นว่าระบบปิตาธิปไตยนั้นกดดันสังคมมามากเกินไป และคดีที่มีอิสตรีอย่าง อาเบะ ซาดะ เป็นผู้ก่อเหตุก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ผู้ชายที่เป็นใหญ่ก็สิ้นอำนาจได้บนสังเวียนเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน
ประเด็นนี้มากกว่าที่ทำให้เหล่าศิลปินเริ่มจะเล่าเรื่องให้อิสตรีนั้นใช้พลังทางเพศเพื่อกดขี่บุรุษได้ และเริ่มรังสรรค์ผลงานที่สะท้อนภาพลักษณ์นั้นซึ่งจะตรงข้ามกับงานศิลปะของญี่ปุ่นสมัยก่อนที่บุรุษเพศมักจะเป็นใหญ่ กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไปอีกระยะ กระแสของ Ero Guro ก็ลดดีกรีลงไปบ้าง ทำให้งานแนวนี้เริ่มไปแฝงตัวอยู่ในกลุ่มงานศิลป์แนวอื่นมากขึ้น อย่างงานวรรณกรรมก็โดนกลืนไปอยู่เป็นกลุ่มย่อยของวรรณกรรมรหัสคดีอีกทอดหนึ่ง
ส่วนงานจิตรกรรมก็โดนปนเปไปกับงานแนวอื่นๆ ก่อนที่จะกลับมาโดดเด่นแบบชัดเจนอีกครั้ง เมื่อแนวคิด Ero Guro มาปะทะกับงานแนว Tentacle Erotica หรือ บทอัศจรรย์ด้วยหนวดรยางค์ ที่ถือว่าเป็นอารยะขัดขืนของนักเขียนมังงะในช่วงปี ค.ศ. 1980 – 1990 (บางท่านก็เชื่อว่า Tentacle Erotica ต่างหากที่กระจายตัวออกมาจาก Ero Guro) จึงกลายเป็นผลข้างเคียงว่าเรามักจะเห็นผลงานแนว Ero Guro ปรากฏอยู่ในมังงะนับตั้งแต่ยุคนั้น
ส่วนฝั่งภาพยนตร์นั้น หลังจากนำเอางานวรรณกรรมแนว Ero Guro ในช่วงแรกๆ มาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์แล้ว ก็เริ่มมีการเอาคดีของ อาเบะ ซาดะ มาบอกเล่าใหม่ (อย่างภาพยนตร์ ‘In The Realm Of Senses’) หรือกลายเป็นภาพยนตร์ที่เขียนเรื่องราวใหม่อย่าง ‘Shogun’s Joys of Torture’ หรือ ‘Shogun’s Sadism’ และในเวลาต่อมาภาพยนตร์แนว Ero Guro จะไปปนเปกับกลุ่มย่อยแนว Torture Porn อีกทอดหนึ่ง
ความสยองที่เหมือนจะไกลตัว แต่ก็อาจจะใกล้ตัวกว่าที่คิด
จริงอยู่ว่าหลายคนอาจจะไม่ได้นิยมชมชอบภาพที่รุนแรง เลือดที่สาดกระจาย หรือฉากร่วมเพศที่มีการเจ็บตัวแสนพิสดาร แต่ถ้ามองย้อนไป จะเห็นได้ว่าแนวคิดของศิลปะแนว Ero Guro นั้นก็แอบปนเปไปกับศิลปะประเภทต่างๆ อยู่แล้ว แม้ว่าจะมีคนที่ออกปากว่าเป็น ศิลปินแนวดังกล่าวโดยตรงไม่มากนัก แต่ก็มีงานของอีกหลายคนที่มีกลิ่นอายของ Ero Guro ปนอยู่
ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์นากาอิ โกะ (Nagai Go) อาจจะเป็นที่รู้จักในฐานะผู้สร้างหุ่น Mazinger Z แต่ผลงานเด่นอีกชิ้นอย่าง Devil Man ก็มีความ Ero Guro อยู่สูง
หรือจะมองว่าเรื่องแนว Body Horror หรือความสยองที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ เป็นอะไรที่ใกล้เคียงกับงาน Ero Guro ผลงานของ อาจารย์จุนจิ อิโต้ (Junji Ito) เจ้าของผลงานอย่าง ก้นหอยมรณะ, ปลามรณะ, คลังสยอง ฯลฯ ก็เป็นมือโปรในด้านนี้เช่นกัน
และอย่างที่กล่าวไว้ในตอนแรกว่า งาน Ero Guro ยุคหลังยังพาดพิงมาวิจารณ์โลกทุนนิยมที่ทำให้ทุกอย่างเป็นเงินเป็นทองมากขึ้น เลยทำให้งานมังงะ อนิเมะ เพลง หรือ แม้แต่ภาพยนตร์ที่มีกลิ่นอาย Ero Guro มีความลึกมากขึ้น ใกล้ตัวผู้เสพยิ่งขึ้น
หรือถ้าในแง่มุมที่ว่าทำไมอาจารย์คาโกะถึงมาจัดงานแสดงผลงานศิลปะแนวนี้ในประเทศไทย นั่นก็เพราะ ในบ้านเราเคยมีศิลปินร่วมสมัยที่ระบุว่าตนเองเป็นศิลปินแนว Ero Guro มาจัดแสดงแล้วบ้างนั่นเอง เรียกได้ว่าถึงภาพอาจจะชวนเหวอ แต่หลายอย่างก็ชวนให้รู้สึกว่าแนวคิดของ Ero Guro ก็แฝงอยู่ในงานสายแมสบางชิ้นแบบแยบยลไปแล้ว
กระนั้น เราก็อยากให้พึงระลึกว่า งานแนว Ero Guro ยังมีการนำเสนอภาพที่อาจจะรุนแรง ผู้ที่เสพควรจะตั้งสติ เปิดใจ และทำจิตให้สงบก่อนรับชมทุกครั้ง เพราะเราไม่รู้ว่า คราวนี้ศิลปินแต่ละท่านอยากจะนำอวัยวะชิ้นส่วนไหนมาให้เราได้ขบคิดถึงเรื่องราวในสังคมกันบ้าง
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติมจาก
Ero Guro And Macabre Eroticism: Eros, Thanatos and the hybrid body โดย Camille Bertherat