คุณเกิดมาในครอบครัวแบบไหน?
เราเองก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าเราเกิดมาในครอบครัวที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ การกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา มีบทสนทนาและความอบอุ่นที่อบอวล แต่เราเองก็เพิ่งมารู้สึกได้ว่าครอบครัวที่สมบูรณ์แบบอย่างในโฆษณานั้นอาจไม่ได้มีอยู่จริง
เพราะทุกความสัมพันธ์มันไม่ได้มีเฉดเดียว
เรามีวันที่ไม่เข้าใจกัน เรามีวันที่ทะเลาะกัน เรามีวันที่อยากถอยห่างออกจากกัน เรามีวันที่อึดอัดและอยากหนีไปให้ไกลแสนไกล แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าครอบครัวนี่แหละที่คือหนึ่งในตัวตนของเรา
เราได้ยินชื่อหนังสือ Family Comes First ด้วยรักและผุพัง ของสำนักพิมพ์แซลมอนส์บุ๊คส์มาสักพัก แต่ก็ยังไม่มีจังหวะให้ได้ยินขึ้นอ่าน จนกระทั่งเริ่มต้นปีใหม่ที่ได้เริ่มต้นกับหนังสือใหม่ เราก็เลยหยิบเล่มนี้มาอ่าน ก่อนเราจะค้นพบว่า มัน – ดี – มาก !
นี่เป็นนักเขียนหน้าใหม่ที่น่าจับตาสำหรับเรา ด้วยท่วงท่าและวิธีการเล่าที่ทำให้เราอย่างตามต่อเสมอ พร้อมกับภาษาที่เรียบง่ายแต่สะท้อนทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้น ต่อให้เราเองจะไม่ได้อยู่ในครอบครัวจีนแท้ และมีแค่เศษเสี้ยวฝั่งแม่ที่เป็นครอบครัวจีนที่ไม่ได้เคร่งอะไรนัก แต่นักเขียนก็ทำให้เราอินได้ง่ายเหลือเกิน
เมื่อครอบครัวไม่ใช่พื้นที่คอมฟอร์ตโซนของทุกคน
Family Comes First ด้วยรักและผุพัง เป็นฝีมืองานเขียนของ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ อย่างที่บอกไปว่าเป็นหนังสือว่าด้วยครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีน โดยเป็นเรื่องสั้น 11 ตอนอ่านง่าย ไม่ได้ต้องพลิกแพลงตลบแตลงในการเข้าใจสัญญะใดๆ เพราะมันคือเรื่องธรรมดาๆ ขอองครอบครัวธรรมดาๆ แต่สิ่งสำคัญออยู่ตรงที่ว่านี่น่าจะเป็นการหยิบเอาความรู้สึกของครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนมาแผ่ขยายให้เราได้เข้าใจกันมากขึ้นผ่านตัวอักษร
ไม่ว่าจะเป็นความรักที่มีต่อลูกชายมากกว่าลูกสาว ความกดดันของสะใภ้ที่ต้องมีลูกชาย เรื่องราวของบรรพรุษและพิธีกรรมที่ต้องเข้าใจ ความรักที่เป็นไปไม่ได้หากครอบครัวไม่ยินยอม สิ่งเหล่านี้คือบทสนทนาที่เกิดขึ้นในเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่อง
และในทุกๆ เรื่อง ต่างเต็มไปด้วยซากปรักหักพังของ ‘ครอบครัว’ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอาผ่อ อาก้ง หรือฝั่งลูกหลาน เราต่างเจ็บปวดในความคาดหวังของกันและกัน
สำหรับเรื่องสั้นที่เราประทับใจที่สุด คือ ‘วันที่ครอบครัวกลับบ้าน’ และ ‘Pieces เศษเสี้ยว บทสนทนา ความทรงจำ’ ว่ากันตามตรงเราเองชอบแทบจะทุกเรื่องๆ เพราะแต่ละเรื่องมีเสน่ห์และเรื่องราวที่เราคาดไม่ถึงมากมาย สร้างความตราตรึงในใจให้เราได้เป็นอย่างดี
แต่ที่เราขอหยิบยกสองเรื่องนี้มา เพราะตำแหน่งที่วางของทั้งสองเรื่องในเล่มนี้ก็ช่างประจวบเหมาะจนเราอดชื่นชมทั้งนักเขียนและกองบรรณาธิการไม่ได้จริงๆ
‘วันที่ครอบครัวกลับบ้าน’ เป็นเรื่องเปิดของหนังสือเล่มนี้ และความรู้สึกหลังอ่านจบคือความเซอร์ไพรส์ จนเรารู้สึกว่า แม่งดีว่ะ และอยากทำความรู้จักเรื่องราวต่อๆ ไปในหนังสือเล่มนี้ เป็น fisrt impression ที่ทำให้เรารู้สึกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ธรรมดาเลย
โดยในเรื่อง ‘วันที่ครอบครัวกลับบ้าน’ พูดถึงชีวิตของหญิงชราคนหนึ่ง ที่เป็น ผ่อผอให้หลานๆ เป็นม้าให้ลูกๆ ซึ่งเธออาศัยอยู่ในบ้านพร้อมกับคนรักที่จากไป มีเพียงความทรงจำและรูปถ่ายอยู่เป็นเพื่อนเคียงข้าง เธออาศัยอยู่คนเดียวในบ้าน และรอคอยคือวันที่ลูกหลานจะแวะเวียนมาหาเธอในช่วงวันเทศกาล
“วันนั้นก็ยังไม่เคยมาถึง พวกเขาคงยุ่ง พวกเขายุ่งเกินไปเสมอ”
ความพิเศษของเรื่องนี้อยู่ที่การเล่าเรื่องที่พาเราไปเห็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบก่อนพลิกกลับให้เป็นอีกด้านอย่างร้ายกาจจนเราเองก็แอบตกใจไม่น้อย และได้แต่หัวเราะขมขื่นเมื่อพบกับตอนจบของเรื่องราวนี้
ตลอดการอ่านเรื่องสั้นทั้ง 11 เรื่องนั้น มันช่วยทำให้เราเห็นว่าครอบครัวไม่ได้สมบูรณ์แบบ หรือเต็มไปด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะตลอดเวลา การเป็นครอบครัวมันไม่ได้มีช่วงเวลาแค่ฉากเดียวอย่างในโฆษณาที่จะได้ใช้ชีวิตที่สุขสม ครอบครัวคือคนหลายคนที่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ครอบครัวคือคนที่ต่างยุคสมัยมาอยู่ร่วมกัน ครอบครัวคือความคาดหวังที่เราต่างมีให้กันและกัน และความผิดหวังที่เกิดขึ้นซ้ำๆ
ไม่ใช่ทุกบ้านที่เป็นคอมฟอร์ตโซนให้กันและกัน
และเราต้องยอมรับความจริงข้อนี้
แม้ว่าเราจะเติบโตมาท่ามกลางซากปรักหักพังของครอบครัว หรือความรู้สึกอึดอัดแต่ฝืนยิ้มรับไปก่อนนั้น แต่สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้เลย คือเศษเสี้ยวของเราต่างมีครอบครัวอยู่ในนั้น และการปฏิเสธจะยิ่งทำให้เราเจ็บปวด การเผชิญหน้ากับความจริงว่าครอบครัวเราเป็นอย่างไร และสิ่งที่ครอบครัวเป็น มันได้ก่อร่างสร้างเรามายังไง เป็นการชวนเรากลับไปหาสาเหตุของปัญหา หรือความรู้สึก ณ ปัจจุบันของเราได้ มันคือการเช็กตัวเอง ยอมรับตัวเอง เข้าใจตัวเอง และโอบกอดทั้งด้านที่น่ารักและไม่น่ารักของตัวเอง
เราในวันนี้ที่โทษตัวเองเก่งๆ มันเป็นเพราะอะไรกันนะ
เราในวันนนี้ที่กดดันตัวเองไม่หยุด มันเป็นเพราะอะไรกันนะ
เราในวันนี้ที่ไม่ร้องไห้ให้ใครเห็น มันเป็นเพราะอะไรกันนะ
การหาต้นตอของความรู้สึกไม่ใช่การหาตัวคนผิด แต่คือการยอมรับเศษเสี้ยวนั้นว่ามีอยู่ และเราจะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร จะยังเก็บรักษาด้านนี้ของเราไว้ หรืออยากแก้ไขเพราะเราไม่อยากรู้สึกอีกแล้ว เป็นทางเลือกที่จะเกิดขึ้นเมื่อเราได้รู้จักตัวเอง
Family Comes First ด้วยรักและผุพัง จึงเป็นอีกเล่มที่แนะนำ เพื่อชวนเราย้อนกลับไปตามหาบางส่วนของงชีวิตเรา และยอมรับว่าครอบครัวแต่ละครอบครัวมีสิ่งที่ส่งต่อมาให้รุ่นสู่รุ่น อาจเป็นวิธีคิด นิสัย การแก้ปัญหา ความทรงจำ หรือเรื่องราวที่ยากจะลืม
และ Family Comes First ด้วยรักและผุพัง ยังช่วยโอบกอดเราว่า ไม่เป็นไรนะ เราเข้าใจเธอ และเราต่างอยู่กับครอบครัวที่เต็มไปด้วยความผุพังทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราขออโอบกอดเธอไว้นะ 🙂