ช่วงนี้ ‘ดราม่าในครอบครัว’ เรื่องราวว่าด้วยครอบครัวใหญ่และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในสายเลือดกำลังมาแรง
ตามท้องเรื่อง เรื่องเล่าว่าด้วยตระกูลใหญ่ๆ ที่มักจะมีความลึกลับซับซ้อน มีอาการที่ทำลายความเชื่อเรื่อง ‘เลือดข้นกว่าน้ำ’ ก็จะพูดถึงครอบครัวมั่งคั่งร่ำรวย ถ้าเป็นนวนิยายเก่าหน่อยก็พูดถึงเศรษฐีเก่าเจ้าของคฤหาสน์ พอมารุ่นหลังๆ มักเป็นเรื่องของตระกูลธุรกิจมหึมา แกนเรื่องก็เป็นไปได้ทั้งการที่สมาชิกในครอบครัวขัดแย้งกันเองเรื่องผลประโยชน์ ไปจนถึงความแปลกประหลาดของผู้คนในตระกูลใหญ่ๆ ทั้งหลาย
ไอ้เจ้าดราม่าในครอบครัวดูจะเป็นสิ่งที่ไกลตัวผู้อ่านผู้ชมอย่างเรา โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่ที่เราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในครอบครัวใหญ่ ไม่ได้อยู่ในโลกตระกูลที่มั่งคั่ง และคำว่าครอบครัวของเรานั้นให้ความสำคัญกับความอบอุ่นแน่นแฟ้น เรื่องเล่าที่ว่าด้วยชนชั้นสูงจึงเป็นสิ่งที่เราเสพความดราม่าอยู่ไกลๆ และสนุกไปกับความเละเทะทั้งทางศีลธรรม ไปจนถึงภาพของครอบครัวที่เต็มไปด้วยความลับ การฆาตกรรม และการทรยศสายเลือดซึ่งกันและกัน
แต่ถ้าเราตัดเรื่องดราม่าที่แสนจะไกลตัวออกไป ลดจำนวนตัวเลขของมรดกลง สุดท้ายเราเองก็อาจจะพอคุ้นๆ และเข้าใจความรู้สึก ของความขัดแย้งภายในครอบครัวและความเจ็บปวดเมื่อคนในครอบครัวทำร้ายกันเอง
ครอบครัวที่จำเป็น
ประเด็นเรื่องครอบครัว—แนวคิดเรื่องเลือดข้นกว่าน้ำเป็นแนวคิดที่เราพบได้ทั่วไป แน่ล่ะเพราะว่าเราส่งต่อสายเลือด ส่งต่อ DNA และส่งต่อความมั่นคงปลอดภัยให้กับทายาททางสายเลือดเป็นหลัก ครอบครัวเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ชีวิตเราเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาได้
ยิ่งโลกสมัยใหม่เข้ามา แนวคิดเรื่องครอบครัวอบอุ่นเป็นแนวคิดที่ทำให้เรายิ่งให้ความสำคัญกับสมาชิกในครอบครัว—ในนัยของความอบอุ่นห่วงใย และความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่มีต่อกัน—มีข้อเสนอว่าค่านิยมนี้เกิดขึ้นจากครอบครัวเล็กๆ แบบชนชั้นกลางที่บอกว่า นี่ไง ครอบครัวเล็กๆ แบบนี้อบอุ่น พ่อและแม่เลี้ยงดูอบรมลูกน้อยของตัวเอง ไม่เหมือนครอบครัวชนชั้นสูงที่ห่างเหินเพราะมีพี่เลี้ยงเลี้ยงให้
ทุกวันนี้ ประเด็นเรื่องครอบครัวจึงเป็นเรื่องใหญ่ เราถือกันว่าครอบครัวเป็นพื้นที่สำคัญในการผลิตผู้คนที่มีคุณภาพ ครอบครัวและสมาชิกในครอบครัวจึงต่างมีหน้าที่ในการฟูมฟัก ดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างความแข็งแรงต่อไป
ซึ่งครอบครัวก็สำคัญจริงๆ แหละแต่เมื่อเราเติบโตขึ้น อะไรๆ ที่เป็นอุดมคติมักจะไม่ค่อยเป็นจริงเท่าไหร่ ครอบครัวในอุดมคติเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เรามักเจอกับความขัดแย้งกันเองของสมาชิกในครอบครัว จากความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ การสร้างรอยแผลให้กัน ไปจนถึงการตัดญาติขาดมิตร
ทำไมรอยแผลจากคนในครอบครัวจึงเจ็บเป็นพิเศษ
เบื้องต้น คงด้วย ‘ภาพอุดมคติ’ ของครอบครัวที่ทำให้เราเองก็คาดหวังกับ ‘ความเป็นครอบครัวอบอุ่น’
Anita Vangelisti อาจารย์จาก University of Texas at Austin บอกว่า บาดแผลทางอารมณ์ที่สมาชิกในครอบครัวทำไว้ต่อกันเป็นบาดแผลที่เราจะรู้สึกเจ็บเป็นพิเศษ Anita บอกว่าหนึ่งในสาเหตุที่เราปวดใจเป็นพิเศษคือเราต่างเชื่อว่าความรักในครอบครัวเป็นความรักที่ไร้เงื่อนไข(และเป็นสากล) ดังนั้น การที่เราถูกคนที่เราผูกพันทำร้าย เราก็เลยจะยิ่งรู้สึกเจ็บมากกว่าโดนคนอื่นทำร้ายนั่นเอง
เหตุผลอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นคำตอบง่ายๆ คือการที่คนในครอบครัวมักจะมีการใช้เวลาและอดีตร่วมกัน ความใกล้ชิดก็ย่อมส่งผลเหมือนเป็นการลงทุนทางอารมณ์ต่อกัน การที่คนที่เรามีความผูกพันทางความรู้สึกที่เนิ่นนานและลึกซึ้งสุดท้ายกลายเป็นคนที่ทำให้เราเจ็บ แผลมันก็จะลึกหน่อย
จากการศึกษาเรื่องบาดแผลในครอบครัว นักวิจัยพูดถึงบรรยากาศที่ก่อให้เกิดความหมางใจจนอาจนำไปสู่การแยกตัวออกจากครอบครัวได้ เช่น ภาวะคุกคาม การที่ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวตั้งอยู่บนการดูถูก เย้ยหยัน แบ่งพรรคเป็นพวก การขาดการแสดงเยื่อใยต่อกัน การเมินเฉย มึนตึง ไปจนถึงความรุนแรง
จากเงื่อนไขข้างต้น สุดท้ายแล้วดูเหมือนว่า สมาชิกในครอบครัวที่เมื่อแรกเราถูกกำหนดให้ผูกพันโดยสายเลือด ความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นสุดท้ายก็ต้องการการ ‘รักษา’ และทำนุบำรุงความรู้สึกระหว่างกันไว้
เราเองในที่สุดก็พอจะเข้าใจว่าเลือดข้นกว่าน้ำอาจจะอยู่พ้นความคิดที่ว่า เราต่างก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราจะรักและมีความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน มันก็ต้องอาศัยการรดน้ำพรวนดิน ญาติ ก็คือคนๆ หนึ่ง คนที่ต่างก็มีบุคลิก มีตัวตน มีผลประโยชน์และจุดมุ่งหมายเฉพาะที่พ้นไปจากความเข้มข้นของสายเลือด
อ้างอิงข้อมูลจาก