ลองนึกถึงฉากในการ์ตูนญี่ปุ่นสักหนึ่งเรื่อง ที่อยู่ดีๆ ก็มีตัวละครผู้หญิงมาเดินผ่านจอ แล้วลมเจ้ากรรมก็พัดกระโปรงเผยให้เห็นพื้นที่ใต้ร่มผ้าให้คนดู หรือในคอนเสิร์ตบอยแบนด์ที่อาจมีบางช่วงบางตอนของคอนเสิร์ตที่สมาชิกวงตัดสินใจปลดเสื้อเปียกเหงื่อออก เผยให้เห็นเรือนอกอันเปล่าเปลือยในการแสดง ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นก็ได้
หรือจะเป็นภาพเหตุการณ์เขม่นกันในสนามวอลเลย์บอลของนักกีฬาญี่ปุ่นสองคน ก่อนที่จะกลายเป็นการจบลงด้วยจุมพิต เรียกเสียงกรี๊ดไปลั่นสนามเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ทั้งหมดที่กล่าวถึงนี่คือ ‘แฟนเซอร์วิส (Fan Service)’ นั่นเอง
แฟนเซอร์วิสคืออะไร?
คำว่า ‘แฟนเซอร์วิส’ นี้ ไม่ได้มีต้นตอมาจากภาษาอังกฤษเสียทีเดียว แต่เป็นแสลงของชาวญี่ปุ่นที่จับเอาศัพท์ภาษาอังกฤษมาสร้างคำใหม่เพื่อกล่าวถึง ‘ฉากเอาใจแฟนคลับ’
พอรู้แบบนี้แล้วก็รู้สึกว่า เรื่องแฟนเซอร์วิสก็ดูจะเป็นอะไรใหม่กิ๊ก เพิ่งมามีกันในยุคหลังๆ ใช่ไหมล่ะ แต่ความจริงแฟนเซอร์วิสกลับมีต้นตอที่ยาวนานกว่านั้นเสียอีก
ถ้าจะมองอีกแง่มุมหนึ่ง แฟนเซอร์วิสก็คือการที่ศิลปะบันเทิงแบบใดแบบหนึ่งพยายามส่งสารมาถึงผู้รับชมโดยตรง
ซึ่งถ้าย้อนว่ามีอะไรที่เคยเล่าเรื่องแบบนี้ไหม ก็ต้องบอกว่าเรื่องแต่งแทบทุกชิ้นมีการ ‘สื่อสารมายังผู้ชม’ เพียงแต่ถ้าเป็นการสื่อสารมาสู่ผู้ชมหรือผู้อ่านโดยตรงนั้นอาจจะเพิ่งมาชัดเจนในช่วงในสมัยกรีก อันเป็นยุคแรกๆ ที่การแสดงละครได้รับความนิยม ตัวอย่างการสื่อสารโดยตรงที่ถูกยกไว้ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ก็คือบทละครของ อริสโตฟานเนส (นักเขียนบทละครสุขนาฏกรรม มีชีวิตอยู่ในยุค 446-386 ปีก่อนคริสตกาล) ที่มีบทละครเรื่อง ‘The Frogs’ ที่มีการเขียนบทให้ตัวละครในเรื่องที่คุยกันเองในเรื่อง จู่ๆ ก็หันหน้ามาสื่อสารกับคนดู ซึ่งการกระทำนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การชักชวนคนดูให้ติดตามเรื่องราวต่อไปเท่านั้น มันยังเป็นการสื่อกับคนดูว่าการแสดงนี้มีความสนใจต่อผู้ชมอยู่ด้วย และนี่ก็ถือเป็น แฟนเซอร์วิส ในยุคแรกๆ นี่เอง
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดร่วมของแฟนเซอร์วิสก็คือมักจะเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นความต้องการทางเพศอยู่เป็นเนืองๆ ซึ่งนั่นก็ไม่แปลกอะไรนักด้วยความที่ว่าเรื่องเพศก็เป็นแรงผลักดันขั้นพื้นฐานของมนุษย์อยู่แล้ว เมื่อมองจากมุมนี้ก็พาลให้รู้สึกว่าแฟนเซอร์วิสในงานศิลป์สมัยก่อนจะเป็นพื้นที่ให้กับผู้ชายเสียมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะไม่มีสิทธิ์ได้รับชมแฟนเซอร์วิสนะ เพียงแต่กว่าที่จะแฟนเซอร์วิสสำหรับผู้หญิงปรากฏชัดเจน ก็ต้องเข้าสู่ยุคที่สังคมเริ่มเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเป็นผู้ผลิตผลงานศิลป์กันบ้างแล้ว
กว่าคำว่าแฟนเซอร์วิสจะเผยโฉม กว่าโลกจะเข้าใจคำว่าแฟนเซอร์วิสตรงกัน
ถึงจะมีตัวตนอยู่มานานนม แต่กว่าคำว่าแฟนเซอร์วิสจะถือกำเนิดขึ้นนั้นก็ราวยุค 1970 แล้ว ว่ากันว่างานที่ทำให้เริ่มมีคนใช้คำนี้ก็คือ มังงะและอนิเมชั่นเรื่อง ‘คิวตี้ ฮันนี่ (Cutie Honey)’ ผลงานของ อาจารย์นากาอิ โก ที่มักจะเขียนการ์ตูนสาวน้อยเปลืองตัวอยู่เป็นนิจ สำหรับเรื่องนี้ตัวละคร คิวตี้ฮันนี่ เป็นทั้งฮีโร่สาวที่ต่อสู้กับศัตรูแบบทีเล่นทีจริงแต่เมื่อพลาดพลั้งขึ้นมาก็จะเกิดเหตุให้เสื้อผ้าของเธอต้องเกิดอาการขาดวิ่นมันทุกครั้งไป ยังไม่นับรวมฉากแปลงร่างที่เธอต้องโชว์เรือนร่างเปลือยเปล่าให้เห็นอีกนะ
ด้วยความที่การ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก จึงส่งผลให้การ์ตูนสไตล์ที่มีตัวละครผู้หญิงแปลงร่างในช่วงหลังจากนี้ จะต้องมีฉาก ‘เหมือนจะโป๊’ (และอาจจะโป๊จนไม่มีการเซ็นเซอร์กันเลยในบางเรื่อง) และคำว่า ‘แฟนเซอร์วิส’ ก็เริ่มมีการใช้กันในกลุ่มคนเล็กๆ ก่อนที่จะใช้งานกันทั่วไปในกลุ่มผู้รับชมอนิเมชั่นในญี่ปุ่นในยุค 1980 ก่อนจะถูกยกมาใช้งานในอินเทอร์เน็ตในช่วงต้นของยุค 1990
ถึงคำว่าแฟนเซอร์วิสจะกำเนิดในญี่ปุ่น ก็ไม่ใช่ว่าอเมริกาจะไม่มีกิจกรรมในลักษณะนั้นแต่อย่างใด อย่างเช่นกลุ่มเชียร์ลีดเดอร์สาวที่จะมีการแสดงกระเซ้าเย้าแหย่หนุ่มนักกีฬาในสนามเพื่อเอาใจทั้งฝั่งนักกีฬาและคนดู หรือเรื่องหนึ่งที่ถูกสื่อฝั่งตะวันตกยกมาบ่อยๆ ว่าเป็นแฟนเซอร์วิส ก็คือ ฉากในภาพยนตร์ ‘Star Wars : Return Of The Jedi’ ที่ออกฉายในปี 1983 ตอนที่เจ้าหญิงเลอาถูกจับตัวเอาไว้เป็นทาส และตัองสวมใส่ชุดบิกินี่สีทอง ที่ทำให้เห็นว่านอกจากเจ้าหญิงคนนี้จะเป็นผู้นำกองกำลังกบฏเข้าต่อสู้กับจักรวรรดิแล้ว เธอก็ยังมีความงามตามวัยของเธอด้วย (เรื่องนี้ตัว แครี่ ฟิชเชอร์ ผู้รับบทเป็นเจ้าหญิงเลอาเคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่นักกับชุด โดยเฉพาะเมื่อตอนที่เธอทราบว่ามีของเล่นเจ้าหญิงเลอาในชุดบิกินี่ออกขายให้เด็กๆ ด้วย)
แฟนเซอร์วิสก็มีวิวัฒนาการ
เมื่อโลกได้เข้าใจคำว่าแฟนเซอร์วิสตรงกันแล้วในยุค 1990 มันก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่ฉากโชว์เรือนร่างของหญิงสาวเท่านั้น อย่างที่เรากล่าวไว้ก่อนหน้าว่า ‘แฟนเซอร์วิสสำหรับผู้หญิง’ ก็มีตัวตนอยู่เช่นกัน แรกเริ่ม แฟนเซอร์วิสสำหรับผู้หญิงก็มาในฐานะตัวละครเอกที่ดูดี ออกมาช่วยนางเอกในเวลาคับขัน ชวนให้หัวใจเต้น (แบบหน้ากากทักซิโดในการ์ตูนเรื่องเซเลอร์มูน) แต่เมื่อมีการผลิตงานเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นตามยุคสมัย ทำให้ฉากเซอร์วิสสำหรับผู้หญิงพัฒนาขึ้น จากเดิมที่เราเคยมีแต่ฉากผู้หญิงโชว์เรือนกายใต้ร่มผ้า ก็เริ่มมีฉากตัวละครชายต้องถอดเสื้อโชว์เนื้อหนังตามมาเช่นกัน
ส่วนการ์ตูนสำหรับผู้ชายก็มีการพัฒนาไปเช่นกัน จริงอยู่ว่าฉากเปลืองตัวของตัวละครหญิงในเรื่องอาจจะยั่วใจให้คนดูเข้ามาสนใจมากขึ้น แต่ก็มีการลดดีกรีของความโป๊ไปบ้างในช่วงยุค 1990 เพื่อให้สไตล์งานยังขายได้ในฐานะการ์ตูนแบบถูกกฎหมาย ในขณะเดียวกันยุคนี้ก็มีการสร้างผลงานการ์ตูนที่แทบจะทิ้งพลอตไปจนหมดสิ้นเพื่อให้ฉากแฟนเซอร์วิสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา อย่างอนิเมชั่นเรื่อง ‘Agent Aika’
อีกส่วนที่ถือว่าเป็นการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าคือแฟนเซอร์วิสในสายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับตัวละคร ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มคนชอบเครื่องจักรก็จะรอติดตามผลงานที่สร้างมาโชว์ความสมจริงของเครื่องกลยานยนต์ในเรื่อง หรือถ้าเป็นคนที่ชอบหนังแอคชั่นก็จะปลื้มปริ่มกับภาพยนตร์ที่สร้างฉากแอคชั่นยาวๆ ที่ทีมงานตั้งใจทำเป็นแฟนเซอร์วิสให้กับผู้ชม หรืออย่าง ‘คู่จิ้น’ ก็พอจะถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของแฟนเซอร์วิสเช่นกัน
นอกจากนี้บางเรื่องที่เคยเป็นการกระทำที่อาจจะไม่ได้ถูกตีความมากในยุคก่อน อย่างความสัมพันธ์แบบ Bromance เจอกัน กอดกัน ถึงเนื้อถึงตัวกัน แต่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ทางใจ ก็กลายเป็นแฟนเซอร์วิสสำหรับคนที่ชื่นชอบตัวละครทั้งสองอยู่แล้ว
ขณะเดียวกันการเปิดกว้างให้กับผู้มีความหลากหลายทางเพศเองก็ทำให้ลักษณะของแฟนเซอร์วิสหลากหลายยิ่งขึ้นไปอีก ผลพวงจากเรื่องนี้ทำให้ตั้งแต่ยุค 2000 เป็นต้นมา แฟนเซอร์วิสสำหรับทุกเพศก็สามารถปรากฎตัวอยู่ในผลงานเรื่องเดียวกันได้โดยไม่ขัดเขิน
แฟนเซอร์วิสในโลกแห่งความจริง
นอกจากจะอยู่ในผลงานศิลปะต่างๆ อย่างมังงะ อนิเมชั่น หรือวิดีโอเกมแล้ว แฟนเซอร์วิส ก็ขยับตัวเข้าสู่โลกแห่งความจริงมากขึ้น อันเป็นผลพวงจากการวิวัฒนาการของแฟนเซอร์วิสที่ไม่ได้หยุดอยู่ที่การโชว์พื้นที่ใต้ร่มผ้า แต่กลายเป็น ‘การเอาใจแฟนคลับ’ ไปแล้ว
จึงไม่แปลกถ้าเราจะเห็นเกมหรือการ์ตูนออกสินค้าให้ตัวละครสองตัวอยู่คู่กันทั้งที่เกมหรือการ์ตูนเหล่านั้นจะยังไม่ออกฉายก็ตาม หรืออย่างดารา ‘คู่จิ้น’ หลายๆ คู่ที่ไปออกงานอีเวนต์งานเดียวกันแล้วจะกอดโชว์ให้คนในงานได้กรี๊ดกร๊าดอย่างตั้งใจ
ซึ่งในหลายๆ ครั้ง ก็กลายเป็นว่าการทำสื่อบันเทิงสมัยนี้ต้องดีไซน์แฟนเซอร์วิสให้แฟนคลับฟินเอาไว้ก่อนที่ตัวผลงานจะออกมาเสียอีก
ถึงแฟนเซอร์วิสจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับแฟนคลับ แต่ในทางกลับกันการจะตีความว่าทุกการกระทำเป็นแฟนเซอร์วิสนั้นก็อาจจะเป็นการจินตนาการที่ไปไกลเกินไปในบางครั้ง หรือผู้สร้างผลงานที่หวังใช้แฟนเซอร์วิสตีตลาดเพียวๆ ก็ออกจะเป็นการปรามาสคนที่ติดตามผลงานมากไปสักหน่อย
ก็เอากันให้พองามให้หัวใจแฟนคลับได้มีลุ้นและให้ผลงานแสดงศักยภาพมุมอื่นกันออกมาบ้างน่าจะดีกว่าแหละ
อ้างอิงข้อมูลจาก
en.wikipedia.org
www.telegraph.co.uk
www.npr.org
anime.mikomi.org
mangabookshelf.com
www.theguardian.com
www.animenewsnetwork.com
www.japanesewithanime.com