Walk on the harvest, on melancholic love.
ghost world, that tear me apart
หลังจากได้ยินชื่อของ FEVER มาสักพักใหญ่ๆ ในที่สุดเราก็ได้มาอยู่ในวันที่ไอดอลวงนี้ขึ้นเวที และแสดงอย่างเป็นทางการครั้งแรก
เสียงตะโกนชื่อวง FEVER ดังต่อเนื่องนานนับนาที สะท้อนได้ดีถึงกระแสตอบรับที่วงน้องใหม่นี้ได้รับจากแฟนคลับที่เฝ้ารอคอย นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่พบเจอกันได้ง่ายๆ
เพียงแค่การแสดงครั้งแรก FEVER ก็เข้าไปนั่งอยู่ในใจผู้คนทั้งฝั่งแฟนคลับไอดอลเป็นฐานเดิม และคนฟังเพลงนอกกระแส ตามที่วงพยายามตั้งโพสิชั่นให้กับ FEVER ว่าเป็นทั้ง ‘ไอดอล’ และ ‘ศิลปินอินดี้’
ทีมงานเบื้องหลัง FEVER
โปรเจ็กต์ FEVER เป็นไอดอลที่เริ่มขึ้นโดยความตั้งใจของ ปลั๊ก—อธิปติ ไพรหิรัญ ผู้อยู่กับวงการบันเทิงมานาน ในฐานะผู้จัดละคร
“ผมกับน้องคนนึงที่ไอดอลญี่ปุ่นกันอยู่แล้ว เราเห็นวงไอดอลต่างๆ แล้วก็คิดว่าเรามาทำวงไอดอลกันเองดีไหม หลังจากนั้นก็ไปชวนเฉลิม (Gym & Swim) มาทำดนตรีดีไหม เพราะคุยกันว่าถ้าจะทำไอดอลจริงๆ เราก็อยากได้วงที่มีความแตกต่าง ไม่ใช่ทำแล้วก็เหมือนๆ กัน ไม่รู้จะไปยืนตรงไหนในกลุ่มตลาดนี้” อธิปติ อธิบายถึงจุดเริ่มต้นการทำวง
FEVER มีคนสายดนตรีอยู่เบื้องหลัง เช่น เฉลิม แห่งวง Gym & Swim และ ปกป้อง จิตดี จาก Plastic Plastic มาดูเรื่องดนตรีให้เป็นหลัก ส่วนเรื่องการร้องนั้นได้ ออม—สรรัตน์ ลิมปะนพรัตน์ นักร้องนำวง TELEx TELEXs มาช่วยควบคุมการร้องให้กับเหล่าสมาชิก FEVER
จากชื่อและประสบการณ์ของศิลปินที่อยู่เบื้องหลัง น่าจะชี้ให้เราเห็นได้ค่อนข้างชัดว่า ทำไมเพลงและโปรดักชั่นต่างๆ ของ FEVER ถึงได้รับคำชื่นชมค่อนข้างมาก
“เราอยากทำวงไอดอลสักวง เรื่องหนึ่งเลยคือมันต้องขายเพลง และถ้าเกิดเราจะขายเพลง เราก็ต้องตั้งใจทำเพลงให้มันดีที่สุดสิ มันจะเป็นไอดอลได้ยังไง ถ้าเพลงยังไม่ดี อันนี้เลยเป็นจุดที่ว่าเราให้ความสำคัญกับเพลงมากๆ” อธิปติ เล่า
FEVER กับแนวทางศิลปินอินดี้
แม้หลายวงเลือกเปิดตัวด้วยความสดใส และการดึงเอาภาพลักษณ์น่ารักของไอดอลเป็นสิ่งชูโรง หากแต่ FEVER เริ่มต้นด้วยเพลง ‘Start Again’ ที่มาพร้อมกับเพลงแนวซินธ์ป๊อป และภาพหม่นๆ ทำให้ต่างไปค่อนข้างมากจากไอดอลหลายวงที่กำลังมีอยู่ในตลาด
“เราไม่สู้กับใคร” อธิปติ ยืนยัน
“ผมบอกเด็กๆ ตลอดว่าเราไม่สู้กับใคร ไม่สร้างศัตรู จุดขายเราคือเพลง เพราะสุดท้ายแล้วพองานมันออกมา คนก็พูดกันว่าเพลงมันแปลก เอ็มวีมันแปลก เราค่อนข้างคิดเรื่องเพลงกับเอ็มวีเยอะพอสมควร
“FEVER เป็นไอดอลและเป็นศิลปินอินดี้ด้วย เพราะฉะนั้น เราก็จะมีวิธีการทำวงอีกแบบหนึ่ง ด้วยการโฟกัสของวง เราโฟกัสที่เทศกาลดนตรี เพราะเราอยากดนตรีให้ FEVER เข้าไปอยู่ในเทศกาลดนตรีได้ หรือไปเล่นกับวงอื่นแล้วกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียว”
จึงไม่แปลกนักที่เราจะเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายหลักๆ ของ FEVER ในตอนนี้ดูเหมือนจะมีขยายวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช่แค่คนที่ติดตามไอดอลจ๋าๆ เพียวๆ เพียงอย่างเดียว หากยังมีกลุ่มแฟนที่ตามมาจาก Cat Radio ที่นิยมเพลงนอกกระแสด้วยเช่นกัน ซึ่งก็น่าจะเป็นไปตามนั้น เพราะวงเองก็เลือกจะไปโปรโมตเพลงผ่าน Cat Radio เป็นพื้นที่แรกๆ
แต่ถึงอย่างนั้น สิ่งที่น่าติดตามต่อ และเป็นโจทย์ใหญ่ของ FEVER คือ แล้วจะบาลานซ์กลุ่มแฟนคลับของตัวเองอย่างไรต่อ ทางวงจะเน้นน้ำหนักระหว่างแฟนคลับสายไอดอล กับแฟนคลับที่มาจากสายเพลงอินดี้อย่างไร เพราะเราก็ปฏิเสธได้ยากว่า แฟนคลับทั้ง 2 กลุ่มอาจมีมุมมองและความคาดหวัง ตลอดจนระดับการมีส่วนร่วมกับวงที่แตกต่างกันในตอนนี้
ไอดอลทางเลือกในญี่ปุ่น กับกระแสที่กำลังเกิดขึ้นในไทย
แม้อินดี้ไอดอล / ไอดอลทางเลือก / ไอดอลนอกกระแส (ขึ้นอยู่กับคำความนิยมในการเรียก) จะกำลังเริ่มเป็นที่รู้จักในไทย เพราะนอจาก FEVER แล้ว เรายังได้เห็นวงที่มาพร้อมกับอิมเมจดาร์คๆ โหดๆ อย่าง Akira Kuro ด้วย ซึ่งสำหรับญี่ปุ่นที่เป็นต้นทางไอดอลที่ไทยเลือกหยิบมาเป็นส่วนใหญ่นั้น กระแสไอดอลสไตล์นี้ได้เติบโตมาสักพักใหญ่ๆ แล้วเหมือนกัน
ในญี่ปุ่นมีคำที่ใช้เรียกไอดอลสายนี้ว่า ‘จิกะไอดอล’ หรือ ไอดอลใต้ดิน ตัวแบบที่หลายคนมักนึกถึงเป็นวงแรกๆ เช่น BiS (Brand New Idol Society) ที่พยายามลดทอนการขายอิมเมจความน่ารักลงไป แล้วเลือกที่จะนำเสนอความเข้มข้นของดนตรี และตัวตนที่มักถูกมองว่าเป็นหัวขบถของวงการ โดยเฉพาะตั้งคำถามกับภาพลักษณ์ของไอดอลกระแสหลัก
ในไทยเอง แม้ FEVER จะดูเหมือนว่าไม่ได้เลือกเดินด้วยคอนเซ็ปต์ความ ‘เกรี้ยวกราด’ แบบที่ BiS เป็นขนาดนั้น แต่ FEVER เองก็พยายามชวนให้เราตั้งคำถามถึง ‘ความเป็นไอดอล’ ด้วยเหมือนกันในเพลง ‘Ghost World’
ป๊อป—นภัสพร ศรีประภา หนึ่งในสมาชิกของวง เล่าถึงเพลง Ghost World ว่า “ทำไมเราต้องพยายามเป็นอย่างอื่น ที่ไม่ใช่ตัวเราเพื่อถูกยอมรับด้วยล่ะ? ใครเป็นคนกำหนดว่าเราควรเป็นยังไงกัน ความแตกต่างก็ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไปนี่นา คงถึงเวลาที่ความเงียบจะได้ส่งเสียงออกมาบ้าง”
ส่วน ซี—อุรัสยาก์ บุนนาค เขียนไว้ในเฟซบุ๊กว่า “ทั้งปัญหาที่เข้ามารุมเร้าในแต่ละวัน คือสิ่งที่สร้างตัวตนที่บิดเบี้ยวออกมา ทั้งความกดดันจากคนรอบข้าง จนทำให้ต้องปิดหูปิดตาไม่รับความจริง หรือแม้แต่ความโดดเดี่ยวจากกที่ไม่ถูกยอมรับ ต้องคอยมานั่งคิดว่า เป็นแบบไหนถึงจะพอใจกันนะ?”
คำถามที่ถูกตั้งขึ้นจาก Ghost World และตัวตนที่ฉีกออกไปจากกระแสหลักของ FEVER นับตั้งแต่เพลง Start Again จึงชวนให้เราคิดต่อไปได้ว่า สิ่งที่เรียกว่า ‘ไอดอล’ ในบริบทสังคมไทย ควรเป็นแบบไหน และกำลังเดินไปสู่ทางไหนกันนะ?
บางที FEVER อาจจะเป็นได้ทั้งคำตอบและทางเลือกใหม่ๆ ให้กับคำถามนี้