“…การใช้จ่ายโดยประหยัดนั้น จะเป็นหลักประกันความสมบูรณ์พูนสุขของผู้ประหยัดเองและครอบครัว ช่วยป้องกันความขาดแคลนในวันข้างหน้า การประหยัดดังกล่าวนี้ จะมีผลดีไม่เฉพาะแก่ผู้ประหยัดเท่านั้น ยังจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติด้วย…” พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดช เมื่อ พ.ศ. 2502
ความพอเพียงเป็นเรื่องที่พวกเราต่างรู้ว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลดุลยเดชนั้นให้ความสำคัญ จะว่าไปก็มีความเกี่ยวข้องกับการประหยัดในเรื่องต่างๆ อย่างแยกกันไม่ออก จากหนังสือ ‘เรียนแบบพ่อ’ โดยธนาคารกรุงไทย ได้หยิบเอาเรื่องราวการใช้ชีวิตอย่างประหยัดและพอเพียงอย่างพระองค์ ให้พวกเราได้เรียนรู้และเลียนแบบ เป็นแรงบันดาลใจสำหรับชีวิตจริง ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการน้อมรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพียงแสดงความคิดเห็นว่า “เมื่อคิดถึงพ่อ…คุณทำอย่างไร?” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการใช้ชีวิตตามรอยพ่อ นำไปสู่ชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืนได้ที่ www.ktbfathersbook.com/teaser
จากแรงบันดาลใจดังกล่าว เราว่าอันที่จริงแล้ว แม้จะเป็นเรื่องความประหยัดที่ก็เชื่อว่าทุกคนรู้กันดีว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ ถึงอย่างนั้นการจะเก็บเงินให้ได้สักอย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้แต่ละเดือนมันก็ยังยากจนแทบรากเลือด จริงๆ แล้วก็สามารถทำให้เป็นเรื่องสนุกได้ อย่างเช่นการลองสร้างชาเลนจ์ให้ตัวเองสนุกๆ เป็นการผลักดันตัวเองในแต่ละวันเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายไปด้วย แถมยังไม่ใช่ความสนุกที่ได้ผลดีกับตัวเองอีกต่างหาก วิน-วินกับตัวเองทั้งสองทาง
เราลองทำตัวอย่างการชาเลนจ์ตัวเองมาให้ดูกันเป็นแนวทางคร่าวๆ สามารถเอาไปปรับใช้ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนได้ มีเยอะเก็บเยอะ มีน้อยก็ค่อยๆ เก็บ เอาแบบที่สบายกับตัวเอง ไม่ต้องกดดันให้มากเกินไปเนอะ
1. หยอดเศษเหรียญที่เหลือในแต่ละวันใส่กระปุก
ข้อนี้ง่ายมาก เพียงแค่กวาดเอาเศษเหรียญทั้งหมดที่ได้มาในแต่ละวันลงกระปุก สมมติว่าได้วันละ 15-20 บาท หนึ่งเดือนก็ได้แล้ว 450-600 บาท เป็นวิธีที่ไม่กดดันมาก แม้แต่เด็กประถมยังทำได้เลย
2. แบ่งส่วนเงินที่จะใช้ในแต่ละเดือนตามสิ่งที่ชอบทำ
บางคนพอเป็นเรื่องที่ชอบก็จะเผลอใช้จ่ายเกินตัวทุกที วิธีแก้ก็ง่ายๆ คือ ลองจำกัดเงินในแต่ละหมวดหมู่ของตัวเอง เช่น จะดูหนังเดือนละไม่เกิน 500 บาท กินไอติมเดือนละไม่เกิน 200 บาท เที่ยวเดือนละ 1,000 บาท รับรองว่าจะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นอีกแยะเลย หรือถ้าดีหน่อย เดือนไหนใช้ไม่หมดก็ทบไว้ใช้เดือนหน้าเป็นรางวัลให้ตัวเองก็ได้เหมือนกันนะ
3. แบ่งเงินเก็บไว้ก่อน แล้วค่อยใช้ วิธีง่ายๆ แต่ได้ผลเสมอ
อีกหนึ่งวิธีที่ทุกคนรู้ แต่ทำไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้นวิธีนี้เลยเหมาะสำหรับคนที่ใจแข็งและมีวินัยพอ ถ้าคนที่เก่งๆ บางคนอาจเก็บได้มากถึง 20-30 % ของรายได้ต่อเดือน หรือถ้ารู้ว่าตัวเองไม่แน่พอแต่อยากเก็บเงินให้ได้ ก็อาจเปิดเป็นบัญชีฝากประจำในอัตราที่ไม่เดือดร้อนกับเงินที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน พอเงินเดือนเข้าปุ๊บก็รีบโอนเข้าไปเก็บในนั้นปั๊บ ที่เหลือก็ค่อยเอามาใช้
4. ไม่ใช้แบงค์ 50/500 บาท
วิธีนี้ง่ายมาก เพราะแบงค์ 50 และ 500 บาทนั้นเป็นแบงค์ที่พวกเรามีโอกาสได้รับน้อยกว่าแบงค์ประเภทอื่นอยู่แล้ว ไหนๆ ก็ไหนๆ ตัดใจเก็บมันเอาไว้ซะเลย หรือถ้าคิดว่า 500 บาทมันเยอะไป ก็อาจจะเก็บเฉพาะแบงค์ที่ใหม่ๆ สวยๆ ก็ได้เหมือนกัน