ไก่ถือว่าเป็นเนื้อสัตว์ยอดนิยมของโลก ซึ่งมีสถิติกล่าวว่ามีไก่ราว 52 ล้านตัวถูกจับมาทำเป็นอาหารให้มนุษย์ทั่วโลกได้รับประทานกัน ส่วนหนึ่งก็เพราะไก่เป็นสัตว์ที่สามารถเพาะเลี้ยงได้ทั่วโลก แถมด้วยเทคโนโลยีของสมัยนี้ทำให้ไก่เติบโตเต็มที่พร้อมเปลี่ยนเป็นอาหารได้ในชั่วเวลาเดือนนิดๆ และที่สำคัญ เนื้อไก่สามารถพลิกแพลงในการทำอาหารได้หลากหลายแบบ ซึ่งวิธีปรุงเนื้่อไก่แบบหนึ่งก็คือ ‘ไก่ทอด’ นั่นเอง
จุดเริ่มต้นของการนำไก่เอาไปทอดอาจจะยาวนานพอๆ กับการที่มนุษย์รู้จักการทำอาหาร พอจะมีบันทึกจดเอาไว้บ้างก็ในฝั่งของ จีน สกอตแลนด์ และชาติในแอฟริกันบางชาติ กระนั้นภาพลักษณ์ของไก่ทอดในตอนนั้นอาจจะไม่ใช่ภาพที่เราคุ้นตาในวันนี้
ถึงอย่างนั้น ไก่ทอด (fried chicken) ตามนิยามของสมัยนี้ก็คงไม่พ้น ไก่ที่ชุบแป้งแล้วนำไปทอดจนเกิดความกรุบกรอบภายนอกชวนน้ำลายสอ ก็มีอายุอานามอยู่ไม่น้อยอยู่ เพราะมีการบันทึกทำไก่ทอดในลักษณะนี้อยู่ในหนังสือ The Art of Cookery Made Plain and Easy ที่ตีพิมพ์มาตั้งแต่ปี 1747 ทั้งยังมีความเชื่อว่าวิธีการทำไก่ทอดแบบนี้ก็ได้มาจากชาวแอฟริกันที่ถูกนำมาเป็นทาสแรงงานเมื่อช่วงเวลาก่อนหน้านั่นเอง
ความป๊อปของไก่ทอดนี้ทำให้ The MATTER อยากสำรวจว่า ไก่ทอดแฟรนไชส์แบรนด์เด่นๆ ในตลาดบ้านเรามีไฮไลต์อะไรบ้าง ซึ่งจุดนี้เราได้ไปขอความเห็นจากผู้นิยมกินไก่ทอด ‘ทีมงาน The MATTER’ เพื่อช่วยตัดสินผลในครั้งนี้้ และเราก็ได้ไก่ทอดมา 5 แบรนด์ ให้เหล่าคณะกรรมการมาออกความเห็นอย่างออกรสออกชาติจนกลายเป็นผลสรุปดังนี้
Kentucky Fried Chicken (KFC)
พูดถึงไก่ทอดในยุคสมัยนี้ ไก่ของผู้พันแซนเดอร์สย่อมเป็นภาพแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในหัวของหลายคนแน่ๆ ไหนจะสาขาที่มีเยอะ ไหนจะโฆษณาที่เห็นกันบ่อยๆ การไม่นำเอาไก่ทอดแบรนด์นี้มาเข้าทดสอบย่อมเป็นเรื่องที่ผิดพลาดแน่นอน
– ความสะดวกในการหาซื้อ : สะดวกมาก ด้วยจำนวนสาขา 586 สาขา แถมยังมีหลายร้านที่บริการ 24 ชั่วโมง
– ราคาไก่ต่อชิ้น : 37 บาทต่อหนึ่งชิ้น
– แพ็คเกจ : ค่อนข้างธรรมดา
– หน้าตาของไก่ : ดูเหลืองอร่ามชัดเจนจากการคลุกแป้งทอด
– ความหนาของแป้ง : หนามากพอจนเห็นชั้นแป้งแบ่งกับหนังไก่ได้ชัด
– ความกรอบของหนัง : กรุบกรอบมากและมีรสชาติความมันของหนังไก่ครบถ้วน
– รสชาติของเนื้อ : รสชาติของการหมักเนื้อชัดเจนเหมือนเปลือกนอก
– ความชุ่มฉ่ำของเนื้อ : จัดหนักมากๆ
– ความเป็นไก่ : เกือบสุดแต่โดยความหนาของแป้งกลบความเป็นไก่ไปนิดหน่อย
McDonald’s
แบรนด์ที่ถือว่าเป็นคู่แข่งโดยตรงของผู้พัน แม้ว่าไก่ทอดจะไม่ใช่อาวุธหลัก แต่ก็เป็นของที่ถูกหยิบยกมาเป็นดาวเด่นทางโฆษณาบ่อยครั้ง เราจึงจับไก่ทอดของเจ้านี้มาร่วมสังเวียนในครั้งนี้ด้วย
– ความสะดวกในการหาซื้อ : สะดวกอยู่ ด้วยสาขากว่า 242 แห่ง
– ราคาไก่ต่อชิ้น : 37 บาทต่อหนึ่งชิ้น
– แพ็คเกจ : ค่อนข้างธรรมดาสามัญ
– หน้าตาของไก่ : ดูเหลืองอร่ามไม่น้อยกว่า KFC
– ความหนาของแป้ง : มาก
– ความกรอบของหนัง : กรอบมากแต่ดูเป็นสัดส่วนของแป้งเยอะกว่า
– รสชาติของเนื้อ : ค่อนข้างจืด อาจเพราะโดนรสแป้งโดยรอบกลบ หรือตั้งใจให้กินกับซอสมากกว่า
– ความชุ่มฉ่ำของเนื้อ : กลางๆ
– ความเป็นไก่ : น้อย
Texas Chicken
แบรนด์ไก่ทอดเจ้าใหม่ในบ้านเรา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นเจ้าเดียวกันกับ Church’s Chicken ในฝั่งอเมริกาที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1952 ประเด็นเด่นที่ทางร้านพยายามชูประเด็น ‘ไก่กรอบชิ้นใหญ่’ และได้เครื่องดื่มรีฟีลในแทบจะทุกชุดการสั่ง ผู้เชี่ยวชาญของเราจะเห็นอย่างไรกับไก่เจ้าใหม่ในตลาดบ้านเราเจ้านี้!?
– ความสะดวกในการหาซื้อ : น้อยมาก เพิ่งมีสาขาแค่ 11 สาขา
– ราคาไก่ต่อชิ้น : 37 บาทต่อหนึ่งชิ้น
– แพ็คเกจ : ค่อนข้างธรรมดาสามัญ
– หน้าตาของไก่ : ดูธรรมดา ไม่จัดจ้านมากแต่ก็เห็นได้ว่ามีการหมักมา
– ความหนาของแป้ง : กลางๆ ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
– ความกรอบของหนัง : กรอบกลางๆ แต่ได้รสชาติของหนังเต็มที่
– รสชาติของเนื้อ : ไม่เข้มข้นมาก
– ความชุ่มฉ่ำของเนื้อ : จัดหนัก
– ความเป็นไก่ : มาเต็มในทุกๆ การกัด
Chester’s
หรือ เชสเตอร์สกริลล์ ที่คนไทยคุ้นเคย เดิมที ณ ตอนที่เปิดตัวในปี 1988 จะเน้นไปที่ไก่ย่าง แต่ในปัจจุบันได้ปรับตัวขายอาหารหลากหลาย ซึ่งรวมไปถึงไก่ทอดที่หลายคนที่ได้ลองแล้วก็แอบติดใจกันอยู่ไม่เบา
– ความสะดวกในการหาซื้อ : พอประมาณด้วยสาขาที่มีอยู่ 200 สาขา
– ราคาไก่ต่อชิ้น : 37 บาทต่อหนึ่งชิ้น
– แพ็คเกจ : ค่อนข้างธรรมดาสามัญ
– หน้าตาของไก่ : ดูสีสันไม่ค่อยหน้ากินแต่เห็นเครื่องเทศติดอยู่บนตัวไก่
– ความหนาของแป้ง : น้อยมาก เน้นทอดจนหนังกรอบ
– ความกรอบของหนัง : กรอบน้อย ใกล้เคียงไก่ย่าง
– รสชาติของเนื้อ : หอมเด่นด้วยกลิ่นเครื่องเทศที่หมักมา
– ความชุ่มฉ่ำของเนื้อ : ค่อนข้างน้อย
– ความเป็นไก่ : กำลังดีไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
Bonchon Chicken
แฟรนไชส์ไก่ทอดจากเกาหลีใต้ที่ได้รับความนิยมไกลถึงอเมริกา ก่อนจะมาเปิดตัวในบ้านเราเมื่อปี 2010 ด้วยสไตล์ทอดไก่เคลือบซอสที่ต่างจากแบรนด์อื่นๆ ชัด ผสมกับการทำตลาดให้ป๊อปในโลกโซเชียล ทำให้ไก่ทอดเจ้านี้เด่นแรงเกินกว่าไก่จากเกาหลีแบรนด์อื่นๆ
– ความสะดวกในการหาซื้อ : ถือว่าลำบากอยู่เล็กน้อย เพราะมีสาขาแค่ 27 สาขาแถมยังกระจุกในกรุงเทพถึง 26 สาขา และยังต้องพึ่งพาระบบสั่งซื้อของคนอื่นแบบ Food Panda หรือ Line Man
– ราคาไก่ต่อชิ้น : ราว 25 บาทต่อหนึ่งชิ้น
– แพ็คเกจ : สำหรับกล่องในการพากลับบ้าน Bonchon ทำออกมาดูดีมีสไตล์ที่สุด ดูหิ้วง่าย แถมคนอื่นมาเห็นก็รู้สึกว่าชิกๆ (ที่อาจจะมาจาก chicken) อีกต่างหาก
– หน้าตาของไก่ : ดูมันวาวและน่ากินด้วยซอสที่ชุบทอด
– ความหนาของแป้ง : ไม่มาก เน้นการทอดซอสมากกว่า
– ความกรอบของหนัง : กรอบตึงด้วยการทอดกรอบเคลือบซอส
– รสชาติของเนื้อ : ไม่เด่นมาก แต่ถือว่าลงตัวกับซอสที่เคลือบอยู่
– ความชุ่มฉ่ำของเนื้อ : น้อย แค่พอมีบ้างให้ตัดรสกับซอสภายนอก
– ความเป็นไก่ : กำลังดีไม่มากไม่น้อยจนเกินไป
สรุป
ความสะดวกในการหาซื้อ
KFC เป็นเจ้าที่ชนะขาดด้วยสาขาและบริการจัดส่งที่ค่อนข้างดี ส่วน Texas นั้นรั้งท้ายด้วยจำนวนสาขาที่น้อยทั้งยังไม่มีบริการสั่งซื้อใดๆ ให้ใช้งาน ณ เวลานี้
ราคาไก่
ถ้าเทียบกันแบบชิ้นต่อชิ้น ราคาไก่เจ้าที่ถูกที่สุดกลับเป็น Bonchon (ราว 25 บาทต่อหนึ่งชิ้น) แต่การสั่งจริงไม่สามารถทำได้เนื่องจาก Bonchon บังคับสั่งเป็นชุด กลับเป็นราคาแพงที่สุดในการสั่งซื้อแทน
แพ็คเกจ
ส่วนใหญ่จะคิดแพ็คเกจมาทิศทางเดียวกัน คือเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อให้สินค้าไม่โขลกเขลกกระโดกกระเดกเวลาขนของ กระนั้นแพ็คเกจของ Bonchon ในแบบเอากลับบ้านก็ดูดีแซงหน้าแบรนด์อื่นอย่างชัดเจน ส่วนอีกสี่แบรนด์นั้นถือว่าอยู่ในระดับน่าจดจำแต่ไม่เด่นมากนักเฉยๆ เท่านั้น
หน้าตาของไก่
Chester’s หน้าตาดีน้อยที่สุด ด้วยสีสันที่หนักไปทางน้ำตาลตามเครื่องเทศนั่นเอง ส่วนไก่ทอดที่ดูดีที่สุดก็ต้องยกให้กับ KFC ไป
ความหนาของแป้ง
แบรนด์ที่มีแป้งหนาที่สุด ก็คือ McDonald’s หนาจนบางท่านเห็นว่าทำให้รสชาติของแป้งทอดกลบรสไก่ไป ส่วน Bonchon กับ Chester’s มีความหนาน้อยที่สุดเพราะเน้นการทอดซอสกับเครื่องเทศนั่นเอง
ความกรอบของหนัง
ถ้าในฐานะหนังไก่ที่อร่อยและกรอบจะตกเป็นของ KFC ส่วนที่กรอบน้อยที่สุดก็คือฝั่งของ Chester’s ที่เน้นทอดหนังมากกว่าการใช้แป้งทอดคลุกไก่
รสชาติของเนื้อ
หลังจากชิมส่วนอื่นมานาน ก็ได้เวลากัดลิ้มชิมไก่ รสชาติที่ออกมาจากทางเนื้อนั้น KFC, BonChon, Texas และ Chester’s มีความเข้มข้นเฉพาะทางของตัวเองไปคนละด้าน มีทาง McDonald’s ที่รสชาติจืดกว่าอย่างชัดเจน ทั้งนี้ก็มีความเห็นว่าอาจจะเพราะทางแมคฯ ตั้งใจทำให้จิ้มกินกับซอสรสอื่นด้วยมากกว่า
ความชุ่มฉ่ำของเนื้อ
ในส่วนนี้ความชุ่มฉ่ำที่น้อยที่สุดตกเป็นของ Bonchon ส่วนแชมป์ตกเป็นของ KFC ที่เก็บความฉ่ำรวมถึงความมันเอาไว้ใต้แป้งทอดได้อย่างเต็มอิ่ม
ความเป็นไก่
ในส่วนนี้ McDonald’s ได้ตำแหน่งรั้งท้าย ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากความรู้สึกที่แป้งหนาและความเข้มข้นในเนื้อที่น้อย ส่วน Texas นั้นแม้ว่าจะมีด้อยตรงรสชาติแป้งจะดูน้อยไปนิด แต่กลับมีความเป็นเนื้อไก่ตลอดการกินมากที่สุด
การทดสอบรสชาติเท่าที่ เวลา งบประมาณ และความสามารถในการหิ้วกล่องไก่ทอดจำนวนมากในครั้งนี้จบลงเพียงเท่านี้ ถ้ามีโอกาสเราจะลองไปตระเวนชิมของกินประเภทอื่นอีก แล้วผู้อ่านทุกท่านชอบกินไก่ทอดแบบไหนก็บอกเล่าให้เราฟังกันได้นะ
อ้างอิงข้อมูลจาก