‘นายมีอะไรในนั้นน่ะ’ (‘What you got in there?’) ชายอเมริกาเชื้อสายแอฟฟริกาเดินเข้าไปหาชายหนุ่มหน้ามนด้วยท่าทีแข็งกร้าว แต่แทนที่ชายหนุ่มจะแสดงท่าทีกริ่งเกรง เขากลับพูดด้วยน้ำเสียงมั่นใจแล้วขยับมือทั้งสอง ลูบไล้ไปยังกล่องเก็บของแล้วกรีดนิ้วไปยังปลายทั้งสองด้านเพื่อเปิดให้ดูของภายในนั้น
“ในนี้น่ะเหรอ? …ดูมไงล่ะ (‘In here? Doom’) พร้อมส่งรอยยิ้มที่แสนเริงร่า
บทสนทนาด้านบนนี้เป็นฉากหนึ่งของภาพยนตร์ ‘The Color Of Money’ ที่เล่าเรื่องสิงห์โต๊ะพูลรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่มาพบกัน แต่กลับกลายเป็นจุดกำเนิดในการตั้งชื่อเเฟรนไชส์เกมที่ส่งอิทธิพลต่อเกมยุคหลังมาถึงปัจจุบัน และเฟรนไชส์ที่ว่านั้นก็คือ ‘Doom’ ที่วางจำหน่ายตัวเกมภาคล่าสุดอย่าง ‘Doom Eternal’ ไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ปีค.ศ. 2020 และตัวเเฟรนไชส์ก็มีอายุอานามเข้าสู่วัย 26 ย่าง 27 แล้ว ณ วันที่เกมภาคล่าสุดวางจำหน่าย
เราจึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเกมดังกล่าว หลังจากแฟรนไชส์นี้ได้เปิดตัวเกมภาคใหม่ อะไรทำให้เกมที่มาจากประโยคในหนังที่ไม่น่าจะเกี่ยวอะไรกันเลย กลายเป็นเกมยิงบุคคลที่หนึ่งที่เป็นการต่อสู้กับปิศาจจากขุมนรกได้
เสร็จสิ้นจากการฝ่าทัพนาซี สู่การหาไอเดียจากสิ่งมีชีวิตต่างดาว
ทีมพัฒนาเกม id Software ได้พัฒนาเกมอย่าง ‘Wolfenstein 3D’ จนได้รับความนิยมอย่างมาก และพวกเขาได้สร้างภาคสองของเกมออกมาแล้วในช่วงปี ค.ศ. 1992 โปรแกรมเมอร์และผู้ร่วมก่อตั้ง id Software อย่าง จอห์น คาร์แม็ค (John Carmack) ก็ได้เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เพื่อจำลองภาพสองมิติให้มีความใกล้เคียง 3 มิติมากขึ้น เพื่อใช้กับเกมต่อไปของพวกเขา ก่อนที่ทีมจะเข้ามาสมทบระดมไอเดีย และพวกเขาก็พบว่า พวกเขาอยากจะเบรกจากการต่อสู้กับทหารนาซีเสียที
ทีมพัฒนาเกมเริ่มได้ไอเดียจากภาพยนตร์ดังๆ ที่ออกฉายในช่วงปลายยุค 1980s อย่าง ‘Evil Dead’ กับ ‘Alien’ มีข้อมูลบางแหล่งระบุว่า ณ จุดหนึ่งพวกเขาเคยพยายามติดต่อทาง id Software เคยเปิดโต๊ะคุยกับ 20th Century Fox ในการใช้สิทธิ์ภาพยนตร์ Alien ด้วย แต่พวกเขาก็ยุติแผนงานดังกล่าว แล้วมาโฟกัสกับสื่อบันเทิงอื่นๆ มากขึ้นอย่าง ‘Dungeon & Dragons’ กับดนตรีแนวร็อคเมทัล (รวมถึงเสียงจากคลินิคทันตแพทย์ที่อยู่ติดกันในอาคาร) เป็นตัวกำหนดบรรยากาศของเกม
นอกจากนั้น ทอม ฮอลล์ (Tom Hall) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง id Software ยังเขียนโครงเรื่องแบบละเอียดๆ เอาไว้ (ซึ่งภายหลังถูกเรียกว่า Doom Bible) แต่สุดท้ายทางทีมก็โละไอเดียนี้ไป ซึ่ง จอห์นให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “เนื้อเรื่องในเกม ก็เหมือนในเนื้อเรื่องในหนังโป๊ มันควรจะมีโครงเรื่องไว้ แต่มันก็ไม่สำคัญขนาดนั้น” (Story in a game is like story in a porn movie. It’s expected to be there, but it’s not that important.) แนวคิดการเดินเรื่องที่ไม่ตรงกันนี้ยังทำให้ ทอมลาออกจาก id Software และเอาคอนเซปท์ที่วางไว้ไปสร้างเกมของตัวเองอย่าง ‘Rise Of Triad’ ในเวลาต่อมา
จากนั้นทีมงาน id Software ก็ได้ใส่ระบบการเล่นเพิ่มเติมเข้าไปอีก ทั้งการเล่นร่วมมือกันผ่านเนื้อเรื่อง กับระบบการเล่นแบบต่อสู้กันเอง รวมถึงแบบพบกันหมด หรือ Death Match ซึ่งได้ไอเดียมาจากเกมแนวต่อสู้อย่าง Street Fighter II ที่กำลังฮิตในช่วงนั้น และเมื่อมีเทคโนโลยีบริการเล่นเกมออนไลน์เข้ามาก็มีการอัพเดทเกมให้เล่นผ่านระบบออนไลน์ได้
สุดท้าย id Software ก็ได้เกมแนวเดินหน้ายิงที่มีสัตว์ประหลาดจากนรกพร้อมให้ยิงถล่มแล้ว แต่พวกเขายังไม่ได้ชื่อของเกมที่โดนใจเสียที พวกเขาก็เริ่มหาชื่อที่ลงตัวให้กับเกมใหม่เกมนี้ ระหว่างนั้นทีมงานได้ยินประโยคเด็ดของ ทอม ครูซ (Tom Cruise) ในภาพยนตร์ The Color Of Money และชื่อของเกมใหม่ก็จึงกลายเป็น Doom นับตั้งแต่บัดนั้น
ได้ฤกษ์ เปิดประตู Doom ถล่มนรก
เนื้อหาของเกม Doom นั้นเป็นการเล่าเรื่องในอนาคตข้างหน้าที่ชาวโลกมีเทคโนโลยีถึงขั้นที่สามารถเดินทางไปก่อตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารได้ บริษัทขนาดใหญ่อย่าง Union Aerospace Corporation ได้ทำการทดลองการเดินทางข้ามมิติบนฐานที่ตั้งอยู่บนดาวอังคาร และบนโฟบอส กับ เดมอส ดาวบริวารของดาวอังคาร ทว่าการทดลองดังกล่าวกลับไปเชื่อมต่อประตูทางเข้าออกกับนรกแทน และมีทหารอวกาศคนหนึ่ง (ถูกเรียกว่า Doom Guy จากแฟนเกมในภายหลังที่รอดตายอยู่ในสถานการณ์นี้ ต้องใช้กำลังและอาวุธทุกอย่างที่เขาหาพบเพื่อสยบปิศาจจากนรกและเอาตัวรอดจากเหตุวุ่นวาย
Doom ใช้เวลาพัฒนาอยู่ราวปีเศษ และทาง id Software ก็วางจำหน่ายเกมดังกล่าวเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 ธันวาคม ปี ค.ศ.1993 ซึ่งพวกเขาวางจำหน่ายเกมด้วยตัวเองในรูปแบบ Shareware หรือซอฟท์แวร์ที่ตั้งใจให้ใช้งานฟีเจอร์ส่วนหนึ่งฟรีๆ และไม่ห้ามถ้าจะนำโปรแกรมไปแจกต่อ แต่จะต้องเสียเงินเพื่อเข้าถึงเวอร์ชั่นเต็ม
แม้ว่าการวางขายเกมนั้นจะนิยมใช้วิธีการขายเกมเต็มแยกเอามากกว่า แต่ด้วยชื่อเสียงของ id Software และข่าวสารที่บอกถึงความล้ำยุคของเกม Doom ในยุคนั้น ผ่านตัวเกมที่รวดเร็วและแสดงความโหดแบบไม่เกรงใจใคร รวมถึงระบบการเล่นหลายคนที่ทำให้ใครๆ ก็อยากจะเข้ามามีส่วนรวม ทำให้ตัวเกมดังกล่าวได้รับความนิยมระดับถล่มถลาย
ถล่มทลายขนาดไหน ก็มีคำอธิบายที่เข้าใจได้ง่ายว่า ยุคนั้น ตัวเกม Doom ถูกติดตั้งเอาไว้บนคอมพิวเตอร์มากกว่าโปรแกรมอย่าง Windows เสียอีก เลยทำให้ในช่วงหนึ่งทาง Microsoft มีความคิดที่จะซื้อ id Software มาอยู่ในร่มเงาของตนเอง ก่อนที่จะปรับแผนเป็นการวางตัวให้ Windows กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้ทำงานและเล่นเกมได้ลื่นไหลแทน
เพราะความสดใหม่ของ Doom จึงมีการวางจำหน่ายเกมดังกล่าวไปลงยังระบบปฏิบัติการหลายต่อหลายแบบ เช่น บน OS/2, Linux, Mac OS รวมถึงเวอร์ชั่น Microsoft Windwos ที่ใช้ชื่อว่า Doom 95 ที่สามารถเชื่อมต่อเพื่อเล่นเกมหลายคนผ่านระบบ Lan หรืออินเตอร์เน็ตได้ง่ายดายขึ้น ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ทำการพอร์ทเวอร์ชั่นนี้ก็คือ เกบ นีเวลล์ (Gabe Newell) ที่กลายเป็นผู้ก่อตั้ง Valve Software ที่สร้างเกม Half-Life ในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีตัว The Ultimate Doom ตัวเกมเวอร์ชั่นแยกขายที่วางจำหน่ายในปี ค.ศ. 1995 พร้อมเพิ่มเติมด่านใหม่เข้ามาอีก
และ Doom ยังวางจำหน่ายบนเครื่องเกมต่างๆ ทั้ง Sega 32X, Super Nintendo/Super Famicom, 3DO, Sega Saturn, PlayStation ยาวไปจนถึงโทรศัพท์สมาร์ตโฟนทั้งแบบ Android และ iOS ยังไม่นับรวมการนำเกม Doom ไปผลิตแบบไม่เป็นทางการ อย่างเช่นการนำ Doom ไปลงบนเครื่องคิดเลข Ti-83 เป็นอาทิ
ดังมาก ก็วุ่นวายมาก
Doom ประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่รายได้, คำวิจารณ์จากนักข่าวสายเกม, เกิดกลุ่มแฟนขนาดใหญ่ที่ทำการสร้างแผนที่หรือดัดแปลงเกม Doom จนถึงปัจจุบันนี้
แต่ในทางกลับกัน เมื่อมีความดัง ก็ต้องมี ‘ดราม่า’ หลายรูปแบบตามมา ดราม่าแรกที่ถือเกิดจากความดังของตัวเกมก็คือ ระบบอินเตอร์และระบบเน็ตเวิร์คภายในหลายมหาวิทยาลัยนั้นมักจะเกิดปัญหาการใช้งานคู่สัญญาณเต็ม หรือ ระบบล่ม เพราะมีผู้ใช้งานระบบดังกล่าวเล่นเกม Doom ดวลกันทั้งในระบบภายในหรือเชื่อมต่อกับภายนอก จนไม่เหลือที่ว่างให้ทำงานทำการกัน
อีกเรื่องที่ Doom โดนดราม่าบ่อยๆ ก็คือ การใช้ความรุนแรงและสัญญะสุ่มเสี่ยงหลายอย่าง อาทิ ในเกมเวอร์ชั่นแรกๆ จะมีเครื่องหมายสวัสดิกะซ่อนอยู่ (ทีมพัฒนาเกมตั้งใจอ้างอิงถึงผลงานเก่าของตัวเองอย่าง Wolfenstein 3D) หรือการใช้สัญลักษณ์ทางศาสนา ทำให้มีบางประเทศที่แบนไม่ให้จำหน่ายเกมนี้ในประเทศ แต่ในส่วนนี้ทางทีมงานก็ได้แก้ไขสัญญะที่สุ่มเสี่ยงมากออกไปจนเกือบหมดในอัพเดทหลังๆ
แต่ดราม่าใหญ่ที่สุดที่ Doom ต้องเผชิญก็คงไม่พ้นเหตุการณ์การสังหารหมู่ที่โรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ (Columbine High School massacre) เนื่องจากผู้ก่อเหตุได้เขียนไว้ในบันทึกของตัวเองว่าชื่นชอบสื่อบันเทิงหลายประเภท และหนึ่งในนั้นก็มีเกม Doom ที่ผู้ก่อเหตุคลั่งไคล้จนตั้งชื่อปืนตามชื่อตัวละครในนิยายของเกม Doom
นอกจากนั้นยังมีความเชื่อว่าก่อนที่จะก่อเหตุกราดยิง ผู้ก่อเหตุได้สร้างแผนที่ของโรงเรียนในเกม Doom จนนำพาไปสู่การดำเนินการทางกฎหมายว่าเกม Doom (และเกมอื่นๆ) โฆษณาตัวเกมจนกลายเป็นสาเหตุของเหตุการณ์น่าสะเทือนใจนี้ แต่เมื่อคดีดำเนินจนถึงจุดสิ้นสุดก็มีคำตัดสินออกมาว่าทางทีมงานผู้พัฒนาเกมไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเกมของพวกเขาจะเป็นชนวนก่อให้เกิดเหตุร้าย ในทางกลับกันก็มีจุดที่ชวนคำนึงว่า ตัวเกม Doom เองก็ได้รับการจัดเรตเกมเป็นเรต M หรือเหมาะกับผู้เล่นอายุมากกว่า 17 ปี ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ร้ายแล้วเช่นกัน
Doom II: พานรกมาลงที่โลก
Doom กลายเป็นเกมที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงแทบจะทันทีนับตั้งแต่ที่เกมวางจำหน่าย และทาง id Software ก็เข้าใจดีว่า เหล็กดีต้องตีตอนร้อน แถมการพัฒนาเกมภาคต่อ พวกเขาไม่ต้องเริ่มใหม่จากศูนย์ สิ่งที่พวกเขาทำคือการเดินเรื่องต่อจากเกมภาคแรก เสริมใส่สิ่งที่พวกเขาทำไม่ทันในภาคแรก และยังมีทีมงานใหม่เข้ามาช่วยเสริมทัพกับไอเดียอีก ทำให้ภาคต่ออย่าง Doom II สามารถวางจำหน่ายได้ในวันที่ 10 ตุลาคม ปี ค.ศ. 1994 หรือราว 10 เดือนหลังจากเกมภาคแรกวางจำหน่ายนั่นเอง
เนื้อหาของเกมภาคสอง เริ่มทันทีหลังจากเหตุการณ์ในภาคแรกที่ตัวเอกรอดตายกลับมาจากดาวอังคารแต่กลายเป็นว่า กองทัพจากนรกได้เริ่มบุกยึดครองโลกเสียแล้ว และจุดแรกที่ปีศาจเหล่านั้นเดินทางมาถึงก็เป็นบ้านเกิดของทหารอวกาศผู้ลึกลับคนนี้พอดิบพอดี เมื่อมาท้าทายกันถึงถิ่นการแจกกระสุนปิดประตูนรกจึงเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง
ตัวเกมยังมีพล็อตบางๆ ให้พอรู้เรื่องเช่นเดิม และเกมยังเล่นเหมือนภาคแรก ที่เพิ่มเติมมาก็คือ ฉากที่กว้างขึ้น และความซับซ้อนของฉากเพิ่มขึ้น ความยากของศัตรูที่เพิ่มขึ้น และปริมาณที่มาเยอะกว่าเดิม ทำให้ผู้เล่นจะต้องตั้งสติดีๆ ในการบริหารอาวุธและพลังชีวิตเพื่อเอาตัวรอดไปจากสถานที่หนึ่งๆ ได้
Doom II ยังมีภาคเสริมออกมาจำหน่ายถึงสองตัว และยังโดนนำไปวางจำหน่ายบนเครื่องเกมหลายเครื่อง แม้ว่าจะไม่ได้ถูกสร้างเยอะเท่าภาคแรก แต่เกม Doom II ก็ได้ครองใจคนเล่นเกมในระดับที่ว่า ถ้าเป็นคนชอบเล่นเกมในยุคนั้นก็ต้องเคยได้ยินชื่อ Doom อย่างแน่อน และทำให้เกมอื่นอีกหลายเกมที่ตามรอย Doom ถูกเรียกกันว่า Doom Clone กันในช่วงหนึ่ง
พักเบรกจากห้วงนรก เพื่อพัฒนาร่างใหม่
และเมื่อมีเกมแนวเดียวกันจำนวนมาก ทาง id Software ก็รู้ตัวดีว่าพวกเขาต้องทำอะไรนำหน้าคู่แข่ง ส่งผลให้ทีมพัฒนาเกมหลักไปสร้างเกม Quake ที่เป็นเกมแนวยิงบุคคลที่หนึ่งในโลกสามมิติแบบเต็มตัว จึงมีการส่ง Doom ให้ทีมงานอื่นๆ ช่วยพัฒนาหรือพอร์ตไปลงเครื่องเกมอื่นๆ
และในการพัฒนาจากทีมอื่นๆ หลายคนก็เพิ่มเติมอะไรไปไม่มากก็น้อย อย่างเช่นตัวเกม Final Doom ที่วางจำหน่ายในปี ค.ศ.1996 ก็เป็นการนำเอา MOD ที่กลุ่มคนที่ชื่นชอบเกม Doom สร้างขึ้นแล้วมาร่วมกันเป็นเกมเดียว โดยเพิ่มความยากให้กับเกมมากขึ้น อีกเวอร์ชั่นที่เป็นการพัฒนาจากทีมงานอื่นก็คือ Doom 64 ที่อาศัยพลังของเครื่องเกม Nintendo 64 ที่ทรงพลังกว่าเครื่องเกมอื่นๆ ในยุค ตัวเกมจึงมีภาพที่สวยงามขึ้น แผนที่ซับซ้อนขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดสัตว์ประหลาดให้ดูน่ากลัว
กระนั้น Doom ภาคยิบย่อยที่ไม่ใช่ตัวเกมที่ทีม Id Software พัฒนา มักจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าภาคต้น ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะเนื้อหายากจะเข้าถึง และอีกส่วนมาจากการที่เกมอื่นในตลาด รวมถึงตัวเกม Quake ของ id Software เองพัฒนาล้ำหนัาไปกว่า Doom หลายช่วงตัวแล้ว
และทาง id Software ก็เข้าใจเรื่องนี้ดี พวกเขาจึงเริ่มคิดที่จะสร้างเกมภาคต่อด้วยทีมงานหลักและจะต้องมีไอเดียกับเทคโนโลยีสดใหม่ด้วย
Doom 3: นรกบนดาวอังคารฉบับใหม่
จากจุดเริ่มต้นในช่วงแรกของการพัฒนา Doom ภาคใหม่ ทาง จอห์นได้วางแผนคร่าวๆ ในการรีเมคเกมภาคแรกบนเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้น แต่ไอเดียดังกล่าวก็ถูกปรามเอาไว้ จนกระทั่งเกม Return To Wolfenstien ได้รับความนิยม ทีมพัฒนาเกมจึงได้รับไฟเขียวให้ออกแบบเกมใหม่ และครั้งนี้ แนวคิดการพัฒนาเกมจะเน้นการเล่าเรื่องราวมากขึ้นน (สวนทางกับแนวคิดของตัวเกมในภาคแรกโดยสิ้นเชิง) เพื่อให้เห็นภาพว่าเหตุการณ์นรกแตกนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร
เมื่อคอนเซ็ปต์การสร้างชัดเจน เทคโนโลยีใหม่ของ id Software จึงพัฒนาโดยเน้นการเล่นแสงเงา ภาพอนิเมชั่นตัวละครที่ชัดเจน และสามารถใส่บทที่ซับซ้อนเพื่อให้เกิดฉากชวนตื่นตะลึง และสื่อมวลชนที่มีโอกาสได้รับชมตัวอย่างเกม Doom 3 ก็ชื่นชมในทิศทางการพัฒนาเกม
แล้วเกม Doom 3 ก็วางจำหน่ายในวันที่ 3 สิงหาคม ปี ค.ศ. 2004 เนื้อเรื่องของเกม เป็นการรีบู๊ตย่อมๆ แม้ว่าตัวเอกยังเป็นทหารไร้ชื่อที่เพิ่งเข้าประจำการที่ฐานของ UAC บนดาวอังคาร แต่ในจังหวะนั้น การทดลองเปิดประตูนรกของ UAC ก็ทำให้ปีศาจปรากฏตัวออกมาและทำการยึดครองฐานแห่งนี้ไปในที่สุด แม้ว่าตัวเอกจะไม่ได้เป็นผู้รอดตายคนเดียวแต่เขาต้องเดินทางไปยับยั้งการกระทำของหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ผู้ทำหน้าที่เปิดประตูนรกที่คอยส่งเสียงตามสายมากวนประสาทเราเป็นระยะ
แต่ความเห็นต่อตัวเกมนั้นแตกแยกเป็นสองทาง เสียงที่ชื่นชมก็คือการที่เกมมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย เนื้อเรื่องที่สยองขวัญแบบจริงจัง บรรยากาศที่ชวนสะดุ้งทุกหัวมุมของอาคาร กระนั้นในแง่การเล่นเกมออกจะแปลกหูแปลกตาจากเกมต้นฉบับจนเกินไป ด้วยเหตุที่ว่าเกมเน้นการเล่นกับแสงไฟ ตัวเกมเวอร์ชั่นแรกเลยบังคบให้ผู้เล่นต้องใช้ไฟฉายส่องทางเดิน และเนื่องจากเกมต้องการโฟกัสการเล่าเรื่องเลยมีหลายจังหวะหนืดหน่วงเกินไปนิดหน่อย
อย่างไรก็ตามเกมทำยอดขายได้ดีไม่น้อย และมีภาคเสริมและเวอร์ชั่นอัพเกรดออกวางขายในภายหลัง แต่ตัวภาคเสริมที่สนุกไม่หยอก ก็ถูกมองว่าได้รับอิทธิพลจากเกมคู่แข่งในตลาดอย่าง Half-Life 2 มากเกินไปสักหน่อย ส่วนตัวเกมเวอร์ชั่นอัพเกรดนั้น มีการปรับเปลี่ยนให้ผู้เล่นมีไฟฉายใช้งานได้ตลอดทั้งเกม แต่ก็ยังโดนวิพากษ์ว่าเป็นการริบจุดเด่นของเกมไปเสียอีก
แล้ว Doom ภาคหลักก็หายหน้าหายตาไปจากตลาดเกมกันอีกระยะหนึ่ง
Doom ภาคต่อที่ติดอยู่ในหล่ม
หลังจาก Doom 3 จบการทำตลาดแล้ว ไม่ใช่ว่าทาง id Software ไม่มีไอเดียในการทำภาคใหม่ แต่มาจากการที่ช่วงนั้นทีมพัฒนาเกมเจ้านี้ก็โยกไปพัฒนาเกมอื่นๆ และยังมีเหตุอื่นๆ อย่างการที่ ZeniMax Media เข้ามาซื้อ id Software ในปี ค.ศ.2009 กับการถอนตัวของ จอห์น ซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ของ Doom ทั้งสามภาค และผู้ร่วมก่อตั้ง id Software ได้ลาออกไปเพื่อโฟกัสกับการทำงานในเทคโนโลยี Virtual Reality ในปี ค.ศ. 2013
แม้จะมีการเปิดเผยว่าการพัฒนาา Doom ภาคใหม่ หรือที่ใช้ชื่อเรียกภายในว่า ‘Doom 4’ ยังคงเดินหน้าอยู่ โดยโฟกัสเนื้อเรื่องเป็นการต่อสู้ของผู้คนหลังจากกองทัพจากนรกยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่บนโลกไปแล้ว และมีตัวละครหลากหลายออกมาบอกเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ จนกระทั่งทีมพัฒนาภายใน id Software เริ่มเห็นว่าแนวทางการพัฒนาเกมแบบนี้ออกจะไม่เวิร์ค รรวมถึงไม่สอดคล้องกับ ‘ตัวตนดั้งเดิม’ ของ Doom
id Software ที่รู้ว่าข้อผิดพลาดก่อนหน้าเป็นอย่างไร พวกเขาจึงยอมทุบ ‘Doom 4’ เวอร์ชั่นแรกทิ้งไป แล้วมาเริ่มต้นใหม่กับเกมที่โฟกัสการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเกิดกว่ามนุษย์ การกราดยิงศัตรูอย่างลื่นไหล และความมันส์จากการพิชิตชัยเหนือปิศาจที่บุกเข้ามาอย่างโหมกระหน่ำ พร้อมด้วยเสียงของดนตรีเมทัลที่เกรี้ยวกราด ส่วนพลอทเรื่องนั้นก็ไม่ต้องซีเรียสมาก แต่ถ้าใครยังอยากอ่านเนื้อเรื่องแบบจริงจัง ก็ยังมีอะไรให้เสพอยู่เช่นกัน และคราวนี้ id Software ไม่ต้องพึ่งพาสื่อบันเทิงอื่นๆ แล้ว เพราะรากฐานที่พวกเขาสร้างมานั่นล่ะ คือตัวตนที่แท้ของความเป็น Doom
Doom ฉบับปี 2016 : คืนชีพถล่มนรก
หลังจากได้คอนเซ็ปต์เกมที่ชัดเจนแล้ว id Software ก็ได้ลองเอาโฉมแรกของ Doom ภาคใหม่ ไปเปิดตัวแบบปิดภายในงาน Quakecon ประจำปี ค.ศ. 2014 และได้รับกระแสตอบรับจากแฟนเกมแนวยิงบุคคลที่หนึ่ง หรือถ้าพูดให้ถูกก็คือแฟนของเกม Doom ต่างโห่ร้องด้วยความสะใจกับการกลับมาของเกมที่พวกเขาคุ้นเคย
จากนั้น id Software ก็ใช้เวลาอีกระยะในการพัฒนาเกมให้ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้และตัวเกมก็วางจำหน่ายในวันที่ 16 พฤษภาคม ปี ค.ศ.2016 ตัวเกมมีเนื้อเรื่องเป็นกึ่งภาคต่อกึ่งรีบู๊ต ที่ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นทหารไร้ชื่อ แต่ปีศาจและคนรอบตัวจะเรียกเขาว่า Doom Slayer คุณฟื้นขึ้นมาจากการโดนเหล่าปิศาจผนึกไว้ และพบว่าตัวของคุณอยู่ในศูนย์วิจัยของทาง UAC ที่ตั้งอยู่บนดาวอังคาร และเหล่าปีศาจได้ออกมาเพ่นพ่านบนดาวสีแดงดวงนี้ไปแล้ว เมื่อคุณออกสำรวจพื้นที่ก็พบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่มีนักวิทยาศาสตร์พยายามแก้ไขปัญหาขาดแคลนพลังงานด้วยการดึงเอาห้วงพลังจากนรกมาใช้ เลยได้การเปิดประตูนรกแถมท้ายมาเสียอย่างนั้น ด้วยความโกรธเกรี้ยว Doom Slayer จึงหาทางผนึกปีศาจไม่ให้มายุ่งในระบบสุริยะจักรวาลเท่าที่กำลังของเขาสามารถทำได้
การกลับมาของเกมแบบดั้งเดิมได้รับผลตอบรับที่ดี ด้วยภาพที่สวยงาม กับความดุเดือดของศัตรูที่ทำให้ผู้เล่นโดนปลิดชีวิตในเกมได้โดยง่ายหากเล่นแบบไม่คิด ซึ่งเป็นสไตล์การเล่นที่หายไปจากเกมอื่นๆ ในตลาด ณ ช่วงนั้น เพิ่มเติมด้วยลูกเล่นเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ผู้เล่นต้องทำการเดินสำรวจแผนที่โดยละเอียดเพื่อพัฒนาคลังอาวุธของตัวเองให้มากขึ้น และความโดดเด่นใหม่ก็คือระบบ ‘Glory Kill’ ที่ทำให้ผู้เล่นสามารถพิชิตศัตรูด้วยท่าพิเศษและจะได้พลังเพิ่มมา ทำให้การเล่นเกรี้ยวกราดขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ข้อเสียเพียงข้อเดียวคงเป็นการที่ระบบการเล่นหลายคนไม่สามารถซื้อใจผู้เล่นปัจจุบันได้เท่าไหร่นัก จนเกิดภาวะ ‘เซิร์ฟเวอร์ร้าง’ ในช่วงเวลาไม่นานนัก
อย่างไรก็ตาม Doom ฉบับปี ค.ศ. 2016 ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูง คนรุ่นเก่าพึงพอใจกับเกมที่กลับมาเหมือนเดิม ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ได้เข้าใจว่าอะไรที่ทำให้ Doom เคยเป็นตำนานมาก่อน
สู่ความเป็นนิรันดร์ใน Doom : Eternal
Doom ภาคที่ 4 ที่ออกวางจำหน่ายในปี ค.ศ. 2016 จบลงด้วยความค้างคาใจพอสมควร id Software ก็ไม่รอช้าเริ่มพัฒนาตามวิสัยของพวกเขาด้วยการนำเอาเทคโนโลยีใหม่มาผสมกับการปรับเปลี่ยนวิธีเล่นเล็กน้อย แต่ยังคงยึดแนวคิดแบบเกมภาค 2016 ที่ต้องออกมารวดเร็วกระชากใจเช่นเดิม โดยเกมภาคต่อใช้ชื่อว่า Doom : Eternal ซึ่งเป็นการตีความ Doom II ใหม่ เนื่องจากเรื่องราวเกิดขึ้นจากการที่กองทัพนรกได้บุกไปยึดครองในหลายพื้นที่ของโลกไปเรียบร้อย
ความเปลี่ยนแปลงในการเล่นก็คือการเพิ่มอาวุธใหม่เป็นปืนติดหัวไหล่ที่ยิงได้ทั้งระเบิดปกติ, ระเบิดแช่แข็ง และใช้เป็นปืนพ่นไฟ แล้วก็มีดาบติดแขนเพื่อให้การ Glory Kill หลากหลายยิ่งขึ้น ตัวศัตรูในเกมก็จะมีความทนทานต่ออาวุธที่แตกต่างกัน บีบให้ผู้เล่นต้องปรับตัวใช้งานอาวุธทุกชิ้น ส่วนการเดินทางในแผนที่เพิ่มลูกเล่นด้วยการปืนป่ายพื้นที่ต่างๆ และสามารถเคลื่อนไหวด้วยความเร็วจนกลายเป็นการ ‘ร่อน’ ระยะสั้นๆ ได้
ส่วนการเล่นเกมหลายคน id Software ลองปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบ ‘Battle Mode’ โดยให้ผู้เล่น 2 คน รับบทเป็นปีศาจเพื่อเข้าต่อสู้กับผู้เล่นอีกคนที่รับบทเป็น Doom Slayer ผู้เล่นฝั่งปีศาจจะต้องกำจัด Doom Slayer ให้ได้โดยที่พวกเขาสามารถเรียกปีศาจยิบย่อยมาช่วยขวางทาง ส่วนฝั่ง Doom Slayer จะต้องกำจัดผู้เล่นที่เสียชีวิตทั้งสองตัว ก่อนที่ใครตนใดตนหนึ่งจะตายไป
Doom Eternal เปิดให้เล่นแบบเป็นทางการในวันที่ 20 มีนาคม ปี ค.ศ. 2020 และได้รับคำวิจารณ์จากทั้งสื่อและผู้เล่นทั่วไปอย่างล้นหลาม รวมถึงมีข่าวว่าตัวเกมสามารถทำการเปิดตัวด้วยยอดขายได้มากกว่า Doom ฉบับปี 2016 ราว 2 เท่า
REDDITORS of animal crossing I bid you good day as I come from the doom community. Please know that we fully support your game as it launches at the same time as our game. Let us support each other and wish the best for both games. I wish you a hellishly good day from r/AnimalCrossing
และเนื่องจากเกมวางจำหน่ายในวันเดียวกันกับเกม Animal Crossing: New Horizons จึงมีแฟนเกมเขียนภาพแฟนอาร์ตให้ตัวละคร Doom Slayer ออกมาคู่กับตัวละคร Isabelle / Shizue ตั้งแต่ก่อนที่เกมจะวางจำหน่ายอยู่บ่อยครั้ง และบ่งบอกว่าคอเกมสมัยนี้เล่นเกมได้ทุกแนว ขึ้นอยู่กับว่า วันไหนจะอยากเล่นอะไรก่อนเสียมากกว่า
จากความสำเร็จของเกมสองภาคหลัง ทำให้เราคาดได้ว่า Doom น่าจะอยู่กับผู้เล่นเกมกันอีกระยะ และน่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ให้เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่งต่อไปกันอีกหลายต่อหลายครั้ง และเรื่องราวของกมนี้จะเป็นนิรันดร์ในประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมเกมอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Youtube Channel: Noclip – Doom Documentary 1, 2, 3
Youtube Channel: Did You Know Gaming – Doom
Youtube Channel: Nick930 – History Of Doom
Youtube Channel: TGN – The Complete History & Lore of Doom