ตามปกติแล้วในช่วงสัปดาห์นี้ หลายๆ คนน่าจะได้ไปเดินเล่นกันที่งานหนังสือ เพราะเป็นช่วงเวลาที่เหล่าสำนักพิมพ์จะขนหนังสือออกใหม่มาตั้งบู๊ท เพื่อให้นักอ่านได้เลือกซื้อกันอย่างจุใจ หอบกลับบ้านกันไปจนเพลิน แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้งานหนังสือในครั้งนี้ต้องเลื่อนออกไปก่อน
และเมื่อไม่กี่อาทิตย์ก่อนมีการเปิดตัวงานหนังสืองานหนึ่งที่หลายคนอาจจะเคยได้เห็นผ่านๆ ตาอย่าง SUMMER BOOK FEST ที่เป็นการรวมตัวของสำนักพิมพ์เล็กๆ กว่า 60 สำนักพิมพ์ที่มุ่งมั่นอยากให้ทุกคนได้มีบรรยากาศของการเดินงานหนังสือ และพบปะพูดคุยกัน รวมถึงเป็นการหารายได้ให้กับสำนักพิมพ์อีกทางหนึ่ง
แต่ก็เกิดกระแสที่ไม่เห็นด้วยจากสถานการณ์ของ COVID-19 ที่ค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้น ด้วยความกังวลว่าเป็นพื้นที่ที่อาจพาคนไปรวมตัวกันและเกิดการแพร่กระจายของไวรัสมากขึ้น รวมไปถึงจากประกาศของทางรัฐบาลที่ให้หลีกเลี่ยงการจัดงานที่มีการรวมตัวกันเยอะๆ ในที่สุด SUMMER BOOK FEST เองก็ต้องเลื่อนออกไปเช่นกัน
เมื่อไม่มีงานหนังสือ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับวงการหนังสือ และงานหนังสือจำเป็นกับสำนักพิมพ์แค่ไหน หรือจะมีทางออกใดที่จะช่วยให้วงการหนังสือเดินหน้าต่อไปได้ The MATTER ไปคุยกับ จรัญ หอมเทียนทอง อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้จัด SUMMER BOOK FEST รวมถึงป็นเจ้าของสำนักพิมพ์แสงดาว
ไม่มีงานหนังสือ สำนักพิมพ์อยู่ไม่ได้
‘งานหนังสือ’ ที่เราคุ้นเคยกันดีนั้นจัดปีละ 2 ครั้ง ซึ่งเคยมีการตั้งประเด็นว่างานหนังสือแบบนี้กำลังทำลายวงการหนังสือด้วยกันเอง เพราะเป็นการทำให้เกิดวงจรการผลิตหนังสือเพื่อเสิร์ฟในงานหนังสือเท่านั้น แต่ไม่มีการกระจายหนังสือใหม่ๆ ให้ออกตลอดปีเพื่อสร้างความหลากหลายให้นักอ่าน ที่จริงมีงานวิจัยที่ศึกษาพฤติกรรมการอ่านของคนไทย พบว่า คนไทยนั้นรอซื้อหนังสือในช่วงงานหนังสือมากกว่าจะไปซื้อที่ร้านหนังสือ ซึ่งจรัญให้มุมมองกับเราว่า
“งานหนังสือบ้านเราคือร้านหนังสือขนาดใหญ่ มันคืองาน ‘ขายหนังสือ’ เพราะงานหนังสือต่างประเทศเขาไม่ได้มาขายหนังสือ เขามาโชว์หนังสือ เพราะฉะนั้นงานหนังสือของเรามันเลยเหมือนห้องขนาดใหญ่ที่ตั้งเอาไว้ 12 วัน ซึ่งมันก็เป็นความสุขอย่างนึง และต่อให้ย้ายไปจัดที่ไหนก็ตาม มันก็จะมีคนตามไปอยู่ แต่จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่”
มุมมองการจัดงานหนังสือของประเทศไทยจึงเน้นไปที่การ ‘ขาย’ เป็นหลัก ในขณะที่งานหนังสือต่างๆ ในประเทศอื่นนั้นเป็นการโชว์ผลงานและแลกเปลี่ยนซื้อลิขสิทธิ์แก่กัน
จากสถิติของงานหนังสือปี พ.ศ.2562 หลังจากย้ายไปที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี พบว่า จำนวนคนไปงานหนังสือยังคงไม่ได้ลดลงมากแต่อย่างใด ทำให้เห็นว่างานหนังสือยังคงเป็นที่สนใจของคนจำนวนไม่น้อย ซึ่งแปลว่า งานหนังสือยังคงเป็นหนึ่งในอีเวนต์สำคัญทั้งของสำนักพิมพ์และผู้อ่าน เป็นงานที่วงการหนังสือจะได้เม็ดเงินในการหมุนเวียนเเป็นหลัก
“มันจำเป็นมากสำหรับคนทำหนังสือ มันเป็นฤดูหาเงิน ที่มีปีละสองครั้ง เพื่อให้ได้เงินมาหมุนเวียน ไม่ว่าจะสำนักพิมพ์เล็กหรือใหญ่ ซึ่งงานหนังสือมันไม่ได้มีแค่งานใหญ่สองงาน แต่มันมีงานตามภูมิภาค ตามมหาลัยอีก” จรัญบอกกับเรา
ซึ่งดูเหมือนว่า ไม่ว่ายังไง งานหนังสือก็จะยังเป็นงานสำคัญของคนทำหนังสือ ด้วยความเป็นงานที่มีการรวมตัวของนักอ่านจำนวนมากที่เก็บเงินมาเพื่อใช้จ่ายในงานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งพอทางสมาคมฯ ย้ายมาขายออนไลน์ ก็มีความกังวลว่ารายได้อาจไม่เท่าเดิม เพราะการเดินงานหนังสือ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการได้เดินสัมผัส ได้จับต้องกับรูปเล่ม ได้ลองไล่เรียงไปทีละหน้า ลองเปิดอ่านเพื่อดูว่าเราสนใจแค่ไหน ซึ่ง จรัญก็เน้นย้ำกับเราว่า “ออนไลน์เป็นทางเลือก ไม่ใช่ทางรอดของวงการหนังสือ”
“คือคนทำหนังสือรุ่นใหม่ก็หวังว่างานหนังสือจะเป็นช่องทางของเขา งานหนังสือเวลาจัด สำนักพิมพ์ใหญ่ก็ได้เงินก้อนนึง สำนักพิมพ์เล็กๆ ก็ได้เงินอีกก้อนนึง เงินของคนเล็กกับคนใหญ่มีความสำคัญพอๆ กัน แต่มันสำคัญ แล้วพองานหนังสือเลื่อน ไปจัดบนออนไลน์ มันก็ได้ไม่เท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาทุกสำนักพิมพ์ก็มีเว็บไซต์ของตัวเองอยู่แล้ว ไม่ได้ช่วยมากมายนอกจากช่วยให้รู้สึกว่ามันยังอยู่ คืองานหนังสือมันคือการได้มาเจอหน้ากัน หนังสือต้องได้ลองจับรูปเล่ม ดูหน้าตา มันคือเสน่ห์ของหนังสือ แล้วงานหนังสือมันต้องจัดบู๊ทเพื่อแสดงหน้าตาของหนังสือ”
ปัญหางานหหนังสือที่ถูกเลื่อนไป จึงกลายเป็นความหนักใจของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ค่อนข้างวิกฤต ด้วยยอดขายที่อาจหายไป และการไม่มีมาตรการได้มารองรับผลกระทบเหล่านี้ ซึ่งเราก็ควรหันไปดูมาตรการจากทางรัฐว่ามีวิสัยทัศน์แค่ไหนบ้าง
รัฐบาลคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้วงการหนังสือรอด
“คนทำหนังสือบ้านเรามันเก่ง มันอยู่กันเองได้ ไม่รู้รัฐบาลไหนจะมาช่วย คุณมกุฏ อรฤดี ก็พยายามพูด ก็ยังไม่มีใครช่วย ไม่มีใครฟัง ประเทศเราไม่เคยเห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้” คุณจรัญเปรยกับเรา
เพราะไม่มีงานหนังสือ ทำให้สำนักพิมพ์เริ่มเห็นความไม่มั่นคงในธุรกิจของตัวเอง ปัญหานี้มาจากโครงสร้างตั้งแต่วิสัยทัศน์ของผู้นำ ไปถึงนโยบายของรัฐบาล และมุมมองต่อธุรกิจหนังสือของคนส่วนใหญ่ ที่ไม่มีการใครออกมาส่งเสริมวงการหนังสืออย่างจริงจัง
“หนังสือเป็นธุรกิจเดียวที่ไม่ให้เงินกู้ เพราะถือว่าสต็อกของคุณไม่มีราคา พวก SME ทุกอย่างเขาไม่เคยให้กับหนังสือ คุณไปถามได้เลย บ้านเราเขาจะเข้าใจระหว่างหนังสือกับโรงพิมพ์ ระหว่าง publishing กับ printing ว่า เอ้ย คุณทำโรงพิมพ์เหรอ ซึ่งมันไม่ใช่ เราทำหนังสือ แล้วสต็อกหนังสือนี่ ธนาคารถือว่าไม่มีราคานะ แต่ถ้าสต็อกเสื้อผ้าถือว่ามีราคา เพราะหนังสือเวลาขายไม่ออก ขายเท่าทุนก็ไม่มีใครซื้อ”
หลายๆ คนอาจจะเคยได้เห็นการขายหนังสือเก่าแบบเลลังขายราคาถูก ซึ่งนี่คือส่วนหนึ่งของแนวคิดที่ว่าหนังสือเป็นของที่ไม่มีราคา เก็บไปก็ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า แต่ทว่าแท้จริงแล้ว หนังสือนั้นคือ soft power คือพลังทางวัฒนธรรมที่สำคัญ เป็นสิ่งที่ตีมูลค่าไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ก็ทำให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ อย่างที่เกาหลีพยายามใช้ soft power ผ่านหนัง หนังสือ หรือวงการบันเทิง
“หนังสือคือวัฒนธรรม ไม่ใช่สินค้าพาณิชย์ ซึ่งเราก็ไปพูดกับกระทรวงทุกปี แล้วเขาก็อึดอัดใจเพราะตอบรัฐมนตรีไม่ได้ว่าให้เงินสนับสนุนไปแล้วอุตสาหกรรมนี้ไม่โต ปีนึงนำเงินเข้าแค่ประมาณห้าพันเหรียญสหรัฐฯ เพราะลิขสิทธิ์เล่มนึงประมา 6-7 ร้อยเหรียญสหรัฐฯ อุตสาหกรรมอื่นทำเงินเป็นหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ว่าคนต่างชาติก็ซื้อของ ปราบดา หรือเดือนวาด พิมวนา ต่างประเทศเขาสนใจนะ แต่เราไม่ เพราะกระทรวงวัฒนธรรมเองก็ไปมองแต่พวกโขน ละคร รามเกียรติ์”
“หรือสภาอุตสาหกรรมเองไม่ได้มองหนังสือเป็นอุตสาหกรรม สภาอุตสหากรรมไม่ให้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้มันเป็นที่ระบบความคิด โครงสร้างของประเทศ ผมเคยถามสภาอุตสาหกรรมว่าทำไมคุณไม่ให้สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรม เขาบอกเหตุผลว่าสำนักพิมพ์ไม่มีเครื่องจักร ผมก็เลยถามเขาต่อว่า แล้วทำไมการท่องเที่ยวถึงเป็นอุตสาหกรรมล่ะ ผมรอคำตอบนี้มาสี่ปี เขาก็ยังไม่ได้ให้คำตอบ”
“ถ้าถามเราว่าเป็นอุตสาหกรรมแล้วได้อะไรขึ้นมา ก็เพราะสภาอุตสาหกรรมบ้านเรามันใหญ่ไง เวลาไปต่างประเทศ บอกว่ามาจากสภาอุตสากรรม คุณก็จะได้สิทธิพิเศษเยอะมาก ค่าเช่าบู๊ทต่างๆ แต่ของเราไม่มี สำนักพิมพ์ไทยเวลาไปต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น แฟรงเฟิร์ต หรือ ปักกิ่ง บุ๊ก แฟร์ เราไปเองทั้งนั้น รัฐบาลช่วยน้อยมาก”
จะเห็นได้ว่าวงการหนังสือของไทยต่างขับเคลื่อนด้วยแรงใจของคนทำหนังสืออย่างแท้จริง ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่หากยังขาดการผลักดันจากรัฐ แรงและกำลังในการทำต่อก็มีจะแต่ถดถอยลงเรื่อยๆ
ซึ่งนอกจากเรื่องวิสัยทัศน์และการมองคุณค่าของหนังสือของรัฐที่ผิดเพี้ยนแล้ว การวางระบบดูแลวงการหนังสือเองก็ยังมีความคลาดเคลื่อนไม่น้อย
“พอเป็นเรื่องการอ่าน กระทรวงศึกษาเองก็ไม่ยอมปล่อย จะเอาไว้เอง ลำพังกระทรวงศึกษาธิการ คุณทำให้คนอ่านออก เขียนได้ ยังยากเลย แล้วคุณจะมาให้คนอ่านหนังสือซึ่งมันคือการอ่านตลอดชีวิตไง มันก็เลยเป็นโครงสร้างที่ผิดกันไปหมด” จรัญให้ความเห็นไว้เพิ่มเติม
ไม่เพียงแต่โครงสร้างการดูแลจากกระทรวงเท่านั้น แต่จากงานที่รัฐบาลไม่ว่าจะยุคสมัยไหนไม่เคยมีงบประมาณสำหรับหนังสือที่มากพอ ก็ส่งผลกระทบต่อภาครัฐส่วนอื่นๆ อย่างเช่น ห้องสมุด ที่หากลองพูดถึงเพียงแค่ในกทม. ก็มีจำนวนหนังสือที่ไม่เพียงพอและส่วนใหญ่เป็นหนังสือที่ได้รับบริจาค ต่างจากห้องสมุดต่างประเทศ ที่จรัญให้มุมมองที่น่าสนใจว่า
“อย่างหอสมุดแห่งชาติ ก็ได้งบซื้อหนังซื้อปีละไม่กี่ล้านบาท ทั้งๆ ที่เป็น หอสมุด ‘แห่งชาติ’ นะ ซึ่งเขามีสาขาอยู่กว่า 40 แห่ง เอาแต่หวังว่าจะให้สำนักพิมพ์ส่งหนังสือให้ มันก็ส่งไปได้แค่สามเล่ม มันจะพอที่ไหน แปลกมาก ไม่มีงบซื้อหนังสือ”
“ต่างประเทศอะ พวกผู้ซื้อรายใหญ่ของหนังสือคือ ‘ห้องสมุด’ แต่บ้านเรานะ ต้องขอบริจาค เป็น ‘ผู้ขอรายใหญ่’ แม้กระทั่งหอสมุดเมืองกรุงเทพฯ ที่ลงทุนหลายสิบล้าน ผมก็ไม่แน่ใจว่าตอนทำห้องสมุด หัวใจหลักมันควรเป็นหนังสือใช่มั้ย แต่กลายเป็นอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งถ้าอย่างห้องสมุดในเมลเบิร์น หอสมุดกลางมีหนังสือภาษาไทยด้วย เอาไว้ให้คนไทยอ่าน หรือแม้กระทั่งเมืองหนังสือของเกาหลี เมืองพาจู เขามีหนังสือเด็กที่แปลเป็นไทย เพื่อให้คนงานแม่บ้านคนไทยอ่าน เพราะฉะนั้นหนังสือมันเป็นวัฒนธรรมที่ต้องสนับสนุน”
นี่จึงเป็นมุมมองที่สำคัญว่า วงการหนังสือในทุกวันนี้ต่างเติบโตด้วยตัวของคนทำหนังสือที่มีใจรัก แต่ในเมื่อหนังสือคือธุรกิจอย่างหนึ่ง และเป็นธุรกิจที่สำคัญต่อการเผยแพร่วัฒนธรรมของเราเอง เช่นนั้นแล้วทำไมรัฐจึงไม่คิดจะสนับสนุนหรือช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ผลงานของนักเขียนไทยนั้นล้วนได้รับการติดต่อซื้อลิขสิทธิ์ เป็นที่รู้จักในต่างประเทศพอๆ กับวงการอื่นๆ แต่ดูเหมือนว่ารัฐไม่เคยเหลียวแลและต่อยอดให้วงการนี้เติบโต ทั้งๆ ที่มีต้นทุนชั้นดีจากพลังของนักเขียน สำนักพิมพ์ และนักอ่านมากมาย
หนังสือคือเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคน แต่ไฉนรัฐไม่เคยมองเห็นสิ่งเหล่านี้เลย?