Aloha Hawaii ถ้าใครหลายคนได้ติดตามการ์ตูนญี่ปุ่นน่าจะได้เห็นกันบ่อยๆ อย่างในโดราเอมอน หรือ โคนัน ตัวละครมักหนีไปเที่ยวทะเลกันแถวฮาวายอยู่บ่อยๆ จน The MATTER ตั้งคำถามกันเล่นๆ ขึ้นมาว่า “เฮ้ย แก มันอยู่ใกล้บ้านแกแบบคนกรุงเทพฯไปพัทยาเหรอ แล้วจริงๆ ทะเลบ้านแกก็มีเยอะนะทำไมถึงต้องไปไกลขนาดนั้นเนี่ย”
ทะเลงดงาม อากาศดี พื้นที่ให้ทำกิจกรรมมากเหลือ สะดวกสบายทันสมัยไม่น้อย แถมยังเป็นรัฐหนึ่งของอเมริกา ก็พอบอกได้ว่าที่นี่น่าจะเป็นเกาะสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวหลายชาติ แค่นี้ก็น่าจะชัดเจนแล้วเนอะว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงพึงใจ เพราะเป็นมหามิตรกับอเมริการด้วย ปลอดภัยด้วย ระยะทางการเดินทางก็ไม่ไกลจนเกินไป ดังนั้นคราวนี้ลากันไปเท่านี้ครับ
สวัสดี
.
.
.
อ้าว เฮ้ย! ยังสิ มันต้องมีเหตุผลมากกว่านั้นสิ
ก่อนอื่นใดเราต้องย้อนกลับไปยังปี 1806 เมื่อครั้งที่เรือชื่อ Inawaka-maru ที่ออกเดินทางมาจากกรุงเอโดะ ประสบปัญหาจนลอยละล่องบนท้องทะเลอยู่เจ็ดสิบวัน พร้อมลูกเรือ 18 คน จนกระทั่งมีเรืออีกลำหนี่งชื่อ Tabour มาช่วยเหลือลูกเรือทั้งหมดที่เหลือและพาเดินทางไปขึ้นฝั่งที่เกาะโอวาฮูของฮาวาย จนกลายเป็นคนญี่ปุ่นกลุ่มแรกที่ได้ทำความรู้จักระหว่างชาติทั้งสอง จนกลายมาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภายหลัง
จากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นกับฮาวายก็ค่อยๆ คืบหน้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงปี 1881 กษัตริย์ David Kalakaua ของฮาวายเสด็จประพาสประเทศญี่ปุ่นเพื่อกระชับความสัมพันธ์กับพระจักรพรรดิมุสึฮิโตะ (หรือจักรพรรดิเมจิ) ให้แนบชิดยิ่งขึ้น ด้วยความที่เป็นประเทศหมู่เกาะเหมือนกัน ปกครองด้วยกษัตริย์เช่นกัน (ณ ตอนนั้น) และมีปัญหาจากการเติบโตของชาติตะวันออกเช่นกัน ทั้งสองชาติจึงร่วมมือกันได้อย่างง่ายดาย
ในช่วงปีนั้น ไข้ทรพิษก็ระบาดหนักจนเกิดปัญหาขาดแคลนบุคลากรในการทำงานในฮาวาย จึงมีการตกลงว่าจ้างงานคนกลุ่มนี้ให้คนญี่ปุ่น อพยพและไปทำงานที่ฮาวาย สุดท้ายชาวญี่ปุ่น 153 คนแรกก็ออกเดินทางไปยังฮาวาย พวกเขาไปถึงที่นั่นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1885 และทำงานในไร่อ้อยและไร่สัปปะรด จากนั้นก็มีประชาชนญี่ปุ่นเดินทางไปทำงานในฮาวายอีกหลายระลอก
Fast Forward มาจนถึงยุคที่อเมริกาเข้ามายึดครองฮาวาย ชาวญี่ปุ่นอพยพที่อาศัยอยู่บนเกาะฮาวายก็ยังอาศัยอยู่แม้ว่าชาติมาตุภูมิจะไม่โอเคก็ตาม กระนั้นพ่อแม่ของเด็กญี่ปุ่นในยุคนั้นก็เลือกที่จะให้ลูกๆ ถือสองสัญชาติไปเสียเลย จนในปัจจุบันนี้ ประชากรราว 1 ใน 5 ของ ฮาวาย ก็เป็นคนเชื้อสายญี่ปุ่น ส่วนภาษาญี่ปุ่นก็กลายเป็นภาษาที่ถูกใช้เป็นอันดับสองของคนบนหมู่เกาะฮาวายในปัจจุบัน (อันดับหนึ่งคือภาษาฟิลิปปินส์)
จากประวัติแบบนี้ก็ไม่แปลกหรอกที่ชาวญี่ปุ่นจะรู้สึกคุ้นเคยกับฮาวาย เพราะคนฮาวายก็สามารถพูดจาสื่อสารภาษาเดียวกันได้ ซึ่งง่ายสำหรับชาวญี่ปุ่นที่ไม่สันทัดภาษาอื่นใดนอกจากภาษาบ้านเกิด ด้านอาหารการกิน ก็มีทั้งอาหารญี่ปุ่นแบบง่ายๆ อย่าง อุด้ง ราเม็ง เปิดอยู่ทั่วไป ร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Lawson ก็ไปเปิดตัวที่ฮาวาย โอเด้งก็มี ข้าวปั้นก็มา แม้แต่ร้านเบอร์เกอร์แฟรนไชส์อย่างแมคโดนัลด์ ก็มีเมนู Saimin หรือราเม็งลูกผสมสไตล์ญี่ปุ่นกับบะหมี่ของจีน จนกลายเป็นอาหารเฉพาะถิ่นฮาวายที่คนญี่ปุ่นก็คุ้นเคยไปแล้ว
ด้านสื่อบันเทิง นอกจากฮาวายจะปรากฏเป็นสถานที่พักร้อน หรือเป็นสถานที่ทัศนศึกษานอกสถานที่ของตัวละครในการ์ตูน ฮาวายยังเป็นสถานที่ที่นักร้อง นักแสดง ไปถ่ายแบบในชุดว่ายน้ำ อยู่บ่อยๆ (อีกที่ก็จะเป็นเกาะกวม หลังๆ ก็เริ่มมาถ่ายที่บ้านเราบ้าง) รวมไปถึงเป็นสถานที่ถ่ายทำละครกับภาพยนตร์อีกหลายเรื่องด้วย
ถ้าอ้างอิงจากสถิติของ Japan Tourism Marketing เมื่อปี 2015 ที่ผ่านมา ชาวญี่ปุ่นกว่า 16 ล้านคน เดินทางไปเที่ยวหมู่เกาะฮาวายกว่า 1 ล้าน 5 แสน คน เลยทีเดียว กระนั้นตัวเลขตัวนี้ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่ลดลงกว่าช่วงที่พีคสุดๆ ที่มียอดนักท่องเที่ยวสูงสุดถึง 2 ล้าน 2 แสน คน จนต้องมีการกระตุ้นการท่องเที่ยวด้วยการนำเอาอุลตร้าแมนมาช่วยดึงดูด
นอกจากประวัติศาสตร์กับความคุ้นเคย ไปจนข้าวปลาอาหารและสถานที่ที่อำนวยความสะดวกสบายแก่ชาวอาทิตย์อุทัยแล้ว ยังมีสิ่งเกี่ยวข้องอื่นๆ อย่างการตั้งหอดูดาวซูบารุ อันเป็นสินทรัพย์ขององค์กรหอดูดาวแห่งชาติญี่ปุ่น บนภูเขามัวนาเคีย (Mauna Kea) หรือ อย่างงานวิ่ง Honolulu Marathon ก็มีคนญี่ปุ่นเข้าแข่งกว่า 10,000 คนต่อปี
พลังคลื่นเต่าเองก็มีชื่อญี่ปุ่นว่า Kamekameha อันมาจากชื่อของกษัตริย์องค์แรกของเกาะฮาวายด้วยนะ
ครบครันและรู้สึกเป็นกันเองแบบนี้ ทำไมคนญี่ปุ่นจะไม่ชอบไป คนไทยยังอยากไปเลย ใช้งบ 20.9 ล้านก็ต้องไป กินดื่มและร่วมประชุมเพื่ออนาคตของบ้านเมืองสืบไปเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Consulate General of Japan in Honolulu
National Astronomical Observatory of Japan