หนังรวมดาวร้ายและดารามีฝีมือที่ฟอร์มน่าจะสวยเพราะตัวอย่างก่อนหน้านี้ทั้งสองตัวก็ออกมาน่าสนใจและดูมีเสน่ห์ไม่น้อย และน่าจะล้างอายให้กับ Martha … เอ่อ Batman Vs Superman ที่เฟลวูบไม่สมศักดิ์ศรีอยู่บ้าง แต่ปรากฏว่า Suicide Squad กลับโดนคอมเมนต์ในแง่ลบไปไม่น้อยกว่าหนังก่อนหน้า แถมฝั่งตะวันตกก็มีคนเล็งฟ้องร้อง Warner Bros. ว่าโฆษณาหลอกลวงว่ามีตัวละคร Joker เยอะกว่าที่มีในหนังจริงอีก
อีกฟากหนึ่ง การเดินทางสำรวจดวงดาวอันกว้างไกลที่คนใฝ่ฝัน กลับกลายเป็นฝันค้างคืนของหลายคน เมื่อเกม No Man’s Sky ที่ผู้เล่นหลายคนรอคอยความแปลกใหม่ กลับจบลงด้วยความจืดจางเพราะเกมไม่สามารถให้ผู้เล่นได้สำรวจได้อย่างที่คาดหวังเอาไว้
ท่าดีแต่ทีเหลว คงเป็นประโยคที่ถูกต้องที่สุดในการบรรยายสภาพหลังออกขาย แต่เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวเหรอ ไม่เลย ความไฮป์ (Hype) แบบนี้ มีอยู่ทั่วไป เกิดได้บ่อยครั้ง ไม่ว่าเกิดจากการที่แฟนคลับอวยกันเอง หรือเป็นแผนการตลาดของเจ้าของผลงาน จนหลายๆ ทีหลังกระแสพวกนี้จางลงไป คนก็ลืมกันเลยว่าเคยมีสินค้าชิ้นนี้มาก่อน เราขอยกตัวอย่างส่วนเล็กน้อยของสื่อบันเทิงที่คนดูเกือบจะลืมไปแล้วว่า เฮ้ย ตอนนั้นมันมีคนคลั่งกันขนาดนั้นเหรอ ?!
Wild Wild West (หนังฉายปี 1999)
เนื่องจาก Suicide Squad มี Will Smith เป็นดาราเด่นคนหนึ่งของเรื่อง ถึงในปัจจุบันเขาจะเป็นนักแสดงฝีมือดี แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้เขาก็เคยพลาดท่ามาก่อน หนึ่งในความผิดพลาดนั้นคือ การที่เขาตัดสินใจรับเล่นหนังคาวบอยสตีมพังค์อย่าง Wild Wild West
โครงการสร้างหนังเรื่องนี้ดูไม่มีแนวโน้มของความล้มเหลวเลย เพราะหยิบเอาละครทีวีที่เคยฮิตในอเมริกาช่วงปี 1950 มาสร้างใหม่ด้วยเอฟเฟกต์อลังการทันสมัย ผู้กำกับก็ผ่านงาน Men In Black มา เลือก Will Smith ให้เป็นพระเอกก็เป็นการใช้ดาราแอคชั่นที่กำลังมาในช่วงนั้น ทั้งยังเป็นการตีความหนังใหม่ให้เข้ากับยุคและตัวละครที่มาในมาดยียวนแสบสันต์ขึ้น
แต่ผลลัพธ์ของการจัดทีมชุดนี้กลับจบลงด้วยการทำรายได้ทั่วโลกแค่ 222.1 ล้านเหรียญสหรัฐ จากต้นทุนราว 170 ล้านเหรียญ ภายหลัง Will Smith ก็ออกมายอมรับความจริงว่า ที่เขาเลือกเล่นหนังเรื่องนี้แทน The Matrix นับเป็นการตัดสินใจผิดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต และเขายังออกปากขอโทษ Robert Conrad นักแสดงในหนังต้นฉบับ เพราะเขาเข้าใจแล้วว่าหนังฉบับรีเมคมันพังจริงๆ
Haze (วีดีโอเกม ออกจำหน่ายในปี 2008)
No Man’s Sky เป็นเกมที่ออกจำหน่ายบนเครื่องเกม Playstation 4 และ คอมพิวเตอร์ ตามที่บอกไปด้านบนว่า เกมนั้นโดนคาดหวังไว้สูง แต่กลับแป้กเพราะความลุ่มลึกของเกมนั้นน้อยลงกว่าที่ทีมผู้สร้างประกาศไว้ในตอนแรก จนทำให้ความนิยมดูลดฮวบไปแทบจะทันที หลังจากเกมออกวางจำหน่าย
ก่อนหน้านั้นเองบนเครื่อง Playstation 3 ก็มีเกมลักษณะใกล้เคียงกัน ในฐานะเกมที่มีคนมากมายอำนวยอวยชัยว่า นี่แหละคือเกมยิงบุคคลที่ 1 แห่งยุค เป็นเกมที่ผู้พัฒนาเชื่อว่าความมันส์ของเกมจะสามารถสยบความดังของเกม Halo เกมยิงสุดดังบนเครื่อง Xbox แต่ชะตากรรมของเกมที่ชื่อว่า ‘Haze’ นั้น บอกได้เลยว่าอ่วมอรทัยมากกว่า No Man’s Sky เสียอีก
แรกเริ่มเดิมที เกม Haze โปรโมตด้วยการเป็นเกมยิงบุคคลที่สามที่จะลงจำหน่ายให้กับเรื่อง Playstation 3 / Xbox 360 และ บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่มาพร้อมระบบการเล่นพร้อมกัน 4 คน กับเนื้อเรื่องเข้มข้นของเหล่าทหารยุคอนาคตที่ใช้ยาโด๊ปจนกลายเป็นกองทัพที่เกือบจะไร้เทียมทาน จนกระทั่งตัวเอกที่ผู้เล่นจะได้รับบทนั้นถูกช่วยเหลือจากอาการติดยาดังกล่าว แล้วต้องย้ายฝั่งเพื่อต่อสู้กับเพื่อนๆ ที่เคยรบมาด้วยกัน เพื่อปลดปล่อยโลกจากกองกำลังทหารติดยากลุ่มนี้
ถึงจะฟังดูอลังการน่าติดตามแต่พอมีการอัพเดทรายละเอียด ก็พบว่าเกมถูกตัดทอนให้เหลือเป็นแค่การเล่นแบบบุคคลที่หนึ่งเท่านั้น แผนการที่จะลง Xbox 360 และ บนเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็ถูกลดลงไป ระบบการเล่นก็ใส่ระบบ ‘แกล้งตาย’ เพื่อให้ทหารศัตรูสนใจเราน้อยลง ถ้าพลาด อาจทำให้ศัตรูพาพวกมาเพิ่มเพื่ออัดผู้เล่นอย่างเราให้หงายเงิบได้
ก็ถือว่ายังมีอะไรน่าสนใจใช่ไหม… ผู้เล่นหลายคนก็คิดเช่นนั้น จนกระทั่งเกมถูกส่งถึงมือคนเล่นในปี 2008 ความจริงถูกเปิดเผยว่า เกมสนุกไม่เท่าโฆษณาที่ทั้งทางผู้จัดจำหน่ายและแฟนบอยของเครื่อง Playstation 3 คาดหวังไว้เลย ภาพของเกมก็ดูเก่ากว่าเกมในปีเดียวกันอย่าง Metal Gear Solid 4 ระบบการเล่นก็งั้นๆ ระบบแกล้งตายที่หมายจะเป็นไม้เด็ดในการวางแผนการเล่น ก็กลายคำสั่งเติมเลือดอัตโนมัติที่ทำให้เกมง่ายดายจนไม่น่าให้อภัย เนื้อเรื่องของเกมที่คาดว่าจะลุ่มลึก สุดท้ายก็ลดเหลือการพยายามต่อสู้กับเหล่าทหารใช้ยา ไม่ได้มีพล็อตเรื่องอะไรใหม่สดแม้แต่น้อย
ความแย่ที่มารวมตัวกันนี้ทำให้เกมที่เคยโดนสรรเสริญว่าจะเป็นราชาเกมยิงยุคใหม่กลายเป็นธุลีดินปลิวไปตามลมทันที จนมีคนแซวว่าที่ประกาศลงเฉพาะ Playstation 3 อาจเพราะเจ้าอื่นรู้หมดแล้วว่า เกมมันกากเกิน ส่วนทีมพัฒนาอย่าง Free Radical Design ก็ถูกซื้อด้วยทีมพัฒนาอื่นก่อนที่จะล้มละลายในปี 2014 แล้วกลับคืนชีพมาใหม่ในชื่อทีม Dambuster Studios และได้รับโอกาสทำเกมใหม่ที่ชื่อว่า Homefront: The Revolution แต่ความนิยมของเกมนี้ก็ไม่ต่างกับเกมก่อนหน้าเท่าใดนัก แถมคำติของสื่อหลายเจ้าก็คุยประเด็นเดิมกับที่ทำให้ Haze เจ๊งสนิท… ซึ่งอาจจะเป็นการยืนยันว่าความผิดพลาดครั้งก่อนไม่ใช่เรื่องบังเอิญ
Brain Powerd (อนิเมชั่นฉายปี 1998)
Tomino Yoshiyuki บิดาแห่งกันดั้ม ก็เป็นอีกคนที่ตัดสินใจสร้างอนิเมชั่นที่มีความซับซ้อนของวิทยาศาสตร์และความเชื่อของผู้คน เล่าเรื่องราวโลกในอนาคตที่ถูกสิ่งมีชีวิตขนาดยักษ์ ‘ออร์ฟาน’ เคลื่อนตัวจากอวกาศมาอาศัยอยู่ใต้มหาสมุทรแปซิฟิกจนทำให้มีกลุ่มชาวโลกที่เรียกตัวเองว่า ‘รีเคลมเมอร์’ พยายามทำการกำจัดมันไป แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มีเด็กหนุ่มสาวที่ได้หุ่นยนต์มีชีวิต ‘เบรน พาวเวิร์ด’ ที่ต่อสู้กับกลุ่มรีเคลมเมอร์ เพราะพวกเขาเชื่อว่าการพยายามหาทางทำความเข้าใจกับออร์ฟาน อาจเป็นคำตอบที่ช่วยเหลือมนุษยชาติได้
พล็อตอลังการ น่าสนใจ แถมยังได้คนออกแบบตัวละคร ออกแบบเครื่องจักรในเรื่อง และนักแต่งเพลง ที่ดังที่สุด มีฝีมือดีที่สุดในช่วงนั้นมารวมพลังกัน จนเกือบจะบอกได้ว่านี่คือดรีมทีมของผู้สร้างอนิเมชั่นญี่ปุ่นในช่วงปลายปี 90 ทั้งยังมีการจัดแผนการตลาดให้มี หนังสือการ์ตูน ไลท์โนเวล CD เพลงประกอบ รวมถึงพลาสติกโมเดล มั่นใจ ผลงานที่ออกมาต้องได้รับความสนใจทั้งเนื้อเรื่องและของขายที่พร้อมจะเฮโลออกมาให้เหล่าโอตาคุทั้งหลายจับจ่ายกันอย่างแน่นอน
ทว่า ในความเป็นจริงอันโหดร้าย การกำกับของผู้กำกับ Tomino ทำให้อนิเมชั่นเรื่องนี้ดูเข้าใจได้ยากเย็น เมื่อเรื่องเข้าใจยาก ตัวละครกับหุ่นที่มีเสน่ห์ก็ไม่ช่วยอะไรนัก ผสานกับดนตรีประกอบที่ Yokko Kanno นักแต่งเพลงมือทอง ยังออกปากว่าผู้กำกับชื่อดังแทบไม่ลงรายละเอียดว่าอยากได้เพลงแนวไหนจากเธอ เขาเพียงแสดงออกว่าอยากให้ดนตรีในเรื่องเข้าถึงคนทุกผู้ทุกวัย ซึ่งจุดนี้ทำให้คนที่เคยรับชมเอ่ยปากว่า ตัวเพลง ตัวภาพ และตัวเนื้อเรื่อง ดูไม่กลมกลืนกันจนทิศทางของเรื่องดูแผ่กระจายออกไปหลายทิศแบบที่สิ่งมีชีวิตต่างดาวทำ
สำหรับท่านที่ไม่เคยชม ลองดูเพลงเปิดของเรื่องตามลิงค์ด้านบนดูนะครับ จะพอเห็นภาพว่า การกำกับของภาพและเสียงที่ชวนสับสนนั้นเป็นอย่างไร แต่เราขอเตือนว่าคลิปไม่ปลอดภัยในการเปิดกลางที่ทำงาน
ส่วนสินค้าข้างเคียงที่คิดว่าน่าจะขายได้นั้น ก็ไม่สามารถทำยอดได้นัก ส่งผลให้การ์ตูนถูกเขียนจบแค่ 4 เล่ม ไลท์โนเวล 3 เล่มจอด พลาสติกโมเดลออกมาเพียงตัวเดียว ฟิกเกอร์ของตัวละครสาวๆ ก็พอมีบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นของหายาก (ในตอนนี้ราคาสูงปรี๊ด) โชคยังดีเล็กน้อยที่ Brain Powerd ยังถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในแบบที่เข้าใจง่ายขึ้นผ่านเกมหลายๆ เกมที่นำตัวละครในเรื่องไปใช้ในช่วงปี 2003 – 2006 แต่นี่ก็บ่งบอกได้ว่า ดรีมทีม ไม่จำเป็นต้องสร้างฝันดีเสมอไป
The Divergent Series: Allegiant (หนังฉายปี 2016)
วนกลับเข้ามาที่หนังอีกครั้ง คราวนี้เราขอพูดถึงหนังค่อนข้างใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเทรนด์การนำเอานิยายสำหรับ Young Adult มาทำ เพื่อเกาะกลุ่มคนดูรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีหนังในดวงใจ ตัวอย่างของหนังที่เกิดขึ้นมาจากเหตุนี้ก็อย่าง Twilight หรือ Maze Runner ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง
The Divergent Series: Allegiant ก็เป็นหนังภาคต่อจากนิยายอย่างที่เราพูดถึงไป เดิมทีมีแผนจะแบ่งออกเป็น Part 1 กับ Part 2 เพื่อขยายเรื่องราวที่ว่ากันว่าลงรายละเอียดเยอะมากในนิยาย หลังจากที่หนังสองภาคแรกเล่าเรื่องของการผจญภัยของ ทริซ ที่พยายามต่อสู้กับเผ่าต่างๆ เธอก็ค้นพบความลับของการจัดเผ่าที่เกิดขึ้นเมื่อสองร้อยปีก่อน ในตอนนี้เธอก็พร้อมที่จะต่อสู้อีกครั้งเพื่อเปิดเผยความจริง
เราคิดว่าฉากการต่อสู้ของนางเอกสาวต้องยิ่งใหญ่ขึ้น หวาดเสียวขึ้น จนคนที่ติดตามหนังสือและหนังชุดนี้น่าจะพึงพอใจกัน แต่เปล่าเลย หนังเรื่องนี้ประสบปัญหาขาดทุนหนักมาก รายได้ทั่วโลกอยู่ที่ 179 ล้านเหรียญสหรัฐ จากต้นทุน 110 ล้านเหรียญ เมื่อหักลบกลบหนี้อื่นๆ พูดได้เลยว่า หนังเรื่องนี้ตกอยู่ในภาวะไม่ดีนัก
นักวิจารณ์คาดไว้ว่า การที่หนังเรื่องนี้ทำรายได้ต่ำมาก (โปรดลากเสียงเพื่อสร้างอรรถรส) เป็นเพราะความพยายามหั่นหนังออกเป็น 2 ภาคโดยไม่จำเป็น ทำให้ความยืดย้วยของหนังเพิ่มขึ้น อีกประการหนึ่งคือ หนังจากกลุ่มนิยาย Young Adult ก็วนเวียนอยู่กับแนวหนังโลกอนาคตที่หมดหวัง แค่ปรับปัจจัยบางอย่าง คนดูจะเอือมก็อย่าได้แปลกใจเลย
ชะตากรรมของหนังชุดนี้ยังไม่ชัดเจนนัก เพราะทาง Lionsgate บริษัทผู้จัดจำหน่ายหนังเรื่องนี้ได้แจ้งปรับแผนลดทุนให้ทำหนังภาคจบเป็นหนังฉายทางทีวีแทน ซึ่งนักแสดงหลักหลายคนอาจจะไม่ยอมกลับมารับบทเดิมเนื่องจากค่าตัวจะลดฮวบฮาบตามตามสภาพนั่นเอง
Final Fantasy XIII (เกมวางจำหน่ายช่วงปี 2009 – 2016)
อีกเกมที่อยากพูดถึงในหัวข้อนี้ เป็นเกมภาษาที่สร้างประวัติศาสตร์มายาวนาน ต่อให้คนไม่เล่นเกมก็ ต้องเคยได้ยินชื่อเกม Final Fantasy จินตนิมิตบทสุดท้าย กันมาบ้าง เกมภาคที่สิบสามนี้ แรกเริ่มเดิมทีเปิดตัวในงาน Electronic Entertainment Expo (E3) ในปี 2006 ในฐานะเกมไตรภาค แบ่งออกเป็น ภาค XIII, ภาค Versus XIII และ ภาค Agito XIII แม้ว่าเกมอาจจะแยกเรื่องราวกัน แต่จะมีโลกที่คาบเกี่ยวกัน
ทว่าเวลาการพัฒนาก็ผ่านไปยาวนานจนทำให้เกมทั้งสามมีความแตกต่างกันมากขึ้น ภาค Versus XIII ได้ถูกพัฒนาไปเป็นภาค XV (ที่เพิ่งโดนเลื่อนวางจำหน่ายหมาดๆ) จนภาค Agito XIII ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นภาค Type-0 แทน
ส่วนเกม Final Fantasy XIII ได้รับความสนใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวเอกใหม่ที่เป็นสาวแกร่งซึ่งถือว่าพลิกมุมการนำเสนอของเกม Final Fantasy ที่บทบาทเด่นถ้าไม่แชร์กันอย่างเท่าเทียม ก็จะมีตัวเอกชายรับเครดิตนั้นไปมากกว่าชัดเจน ระบบการต่อสู้ที่ดูหวือหวาเพราะมีมนต์เรียกอสูรมาในลักษณะขับขี่ยานยนต์ กับเรื่องราวการดิ้นรนของมนุษย์ที่ถูกเทพบังคับชะตาชีวิตให้ต่อสู้ตามคำสั่ง
ความคลั่งไคล้ของเกมนี้ออกมาอยากต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการปล่อยข่าวที่ทำให้รู้สึกว่าตัวเกมน่าลิ้มลองอย่างนักหนา เพราะภาค XIII นี้ถือว่าเป็นเกมเด่นของเครื่อง Playstation 3 ผลก็คือตัวเกมนั้นได้รับการตอบรับอย่างดีเยี่ยม ทำยอดขายทะลุหนึ่งล้านแผ่นได้ในช่วงเวลาไม่นานัก น่าจะสงสัยกันแล้วว่า ขายดีแบบนี้แล้วมันจะใกล้เคียงคำว่า ท่าดีทีเหลว ตรงไหน?
ถึงยอดขายจะทะยานฟ้าขนาดนี้แต่เมื่อคอเกมได้เล่นเกมภาคนี้จริงๆ ในช่วงปี 2009 ก็บ่นมีเสียงบ่นหลายเรื่อง เช่น เรื่องราวที่เล่าได้มึนตึ้บมาก อันเป็นผลพวงจากการตลาดที่จะขายสินค้าข้างเคียง เช่นเกมภาคอื่นกับนิยาย ที่ขยายเรื่องราวในเกมมากขึ้น ฉากการเล่นที่โดนแซวจากหลายๆ ปาก แผนที่ในเกมเป็นทางตรงแหน่วไม่มีความซับซ้อน ผสมกับเนื้อเรื่องที่ตรงแหน่วแบบไม่มีอะไรให้แวะข้างทางอย่างที่ภาคอื่นพอจะมีบ้าง เป็นอาทิ
เพราะอย่างนี้เอง Square Enix ผู้พัฒนาเกมชื่อดัง ต้องหาทางทำให้เนื้อหาของเกมกระจ่างขึ้น และออกภาคต่อเป็นเกมภาค XIII-2 และ Lighting Returns XIII-3 ที่พยายามตอบโจทย์คนเล่นให้มากขึ้น ซึ่งยอดขายก็ยังดีสมเป็นซีรีส์ดัง แต่เกมทั้งสามภาคก็ถูกแขวะกัดจุดด่างพร้อยที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดๆ มานับแต่บัดนั้น
Guilty Crown (อนิเมชั่นออกฉายในญี่ปุ่นปี 2011)
อนิเมชั่นอีกหนึ่งเรื่องที่หยิบมาพูดถึงกัน มีปัญหาในลักษณะใกล้เคียงกับ Brain Powerd ตรงที่เป็นการรวมตัวกันของทีมงานชื่อดังในยุค 2010 ทั้งผู้กำกับที่เคยทำผลงานอนิเมชั่นน่าจดจำอย่างเรื่อง Death Note / ผู้เขียนบทของอนิเมชั่นเรื่อง Code Geass ที่เกิดกระแสความคลั่งไคล้อย่างมากเมื่อ 10 ปีก่อน (ใช่ครับ… เรื่องนี้ 10 ปีแล้ว) / ตัวละครก็ได้นักวาดที่โดดเด่นมาออกแบบให้
เรื่องราวของ Guilty Crown เกิดขึ้นในโลกที่ไวรัส Apocalypse ระบาดในประเทศญี่ปุ่นจนทำให้เสถียรภาพของประเทศญี่ปุ่นพังลงอย่างถาวร จนกระทั่ง สหประชาชาติและชาติอิ่นๆ ก่อตั้งหน่วยงาน GHQ ขึ้นมาเพื่อดูแลจัดการบริหารประเทศและควบคุมการระบาดของไวรัสดังกล่าว สิบปีให้หลัง กลุ่มโจรก่อการร้ายที่เรียกตัวเองว่า ‘นักจัดงานศพ’ ได้ออกเคลื่อนไหวเพื่อปลดปล่อยประเทศญี่ปุ่นให้เป็นอิสระอีกครั้ง โดยมี โอมะ ชู ที่ได้รับพลังแห่งราชัน กับ อิโนริ สาวน้อยที่มีความลับในตัวมากมาย
ในช่วงแรกของ Guilty Crown นั้นได้รับความนิยมจากผู้ชมเป็นอย่างมาก ทั้งด้านเนื้อหาที่มีปริศนามากมาย ฉากแอคชั่นที่หวือหวาเร้าใจเข้ากับเสียงดนตรีมีสไตล์ ทุกอย่างได้รับความนิยมเป็นอย่างดี จนกระทั่งช่วงหลังของเรื่องที่พลิกพันไปอย่างมากมาย ซึ่งถ้ามองในแง่ดีก็เป็นการกล้าเดินเรื่องอย่างดุเดือด แต่ส่วนใหญ่ จะเห็นว่าเป็นการพยายามดริฟท์เรื่องให้จบแบบ Happy End เสียมากกว่า
ด้วยเหตุนี้หลังจากที่ตัวอนิเมชั่นเรื่องนี้ฉายจบลง ความนิยมของมันก็ลดลงมาเรื่อยๆ แม้ว่าจะมีสินค้าผลิตออกมาอยู่ไม่น้อย แต่ในปัจจุบันนี้ Guilty Crown ก็กลายเป็นคำนามที่ใช้เทียบอนิเมชั่นที่เดินเรื่องขึ้นอย่างหงส์เหิน แต่ร่วงหล่นในตอนท้ายราวกับดาวตกนั่นเอง