เรากำลังอยู่ในช่วงเวลา ที่วงการไอดอลไทยกำลังเติบโตขึ้นมาอย่างน่าสนใจ เพราะไม่เพียงแค่ BNK48 ที่ได้รับความนิยมจนติดตลาดแมสไปเรียบร้อยแล้ว หากยังรวมไปถึงไอดอลอีกหลายๆ วงซึ่งเปิดตัวออกมาใหม่ ซึ่งมีทั้งไอดอลที่ตอกย้ำภาพลักษณ์ที่กระแสหลักนิยม รวมไปถึง วงไอดอลที่ฉีกสไตล์ออกไปสร้างความแปลกใหม่ให้วงการ
ท่ามกลางจำนวนวงไอดอลที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เราเกิดความสงสัยว่า แล้ววงการไอดอลในไทยหลังจากนี้ กำลังเดินไปทางไหนกันนะ? แล้วอะไรคือความเป็นไปได้ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นกับแวดวงนี้ในภาพรวม
เราหยิบความสงสัยใส่ลงในเป้ บุกออกไปหาคำตอบที่งาน IDOL EXPO ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของวงไอดอลในไทยครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา หยิบความสงสัยและคำถาม ไปพูดคุยกับผู้จัดงานที่ติดตามวงการไอดอลไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจน เหล่าผู้บริหารวงไอดอลที่กำลังได้รับสนใจอยู่ในขณะนี้
ไอดอลไทยบนเส้นทางธุรกิจ
ความสำเร็จด้านการตลาดของ BNK48 ในปี 2018 เป็นตัวสะท้อนได้ดีถึงท่าทีของแบรนด์หรือภาคธุรกิจที่พร้อมจะลงทุนในไอดอล ในฐานะเป็นสื่อกลางนอกเหนือไปจากดารา นักแสดง หรือนักร้อง ที่สื่อสารข้อความที่ต้องการไปยังคนหมู่มาก
ในขณะเดียวกัน ทางฝั่งของวงไอดอลเองก็เริ่มหาโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะสม เพื่อที่จะทำให้วงสามารถยืนระยะไปได้ไกลๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งเราแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เงินและทุนเป็นสิ่งที่สำคัญมากกับการทำวงไอดอลในระยะยยาว ควบคู่ไปกับการสนับสนุนจากแฟนคลับ
สุกิจ เจริญมุขยนันท์ และคณิต ศาตะมาน คือส่วนหนึ่งของทีมผู้ก่อตั้ง IDOL MASTER ที่อยู่เบื้องหลังการจัดงาน IDOL EXPO ขึ้นมา เล่าให้เราว่า วงไอดอลหลายวงเริ่มต้นทำขึ้นมาด้วยใจรัก แต่ความท้าทายสำคัญ คือการคิดค้นวิธีการที่จะเข้าถึงคนหมู่มากให้ได้
“วงเหล่านี้ทำด้วยใจรัก หรือวงไทยที่ทำจริงจังเป็นธุรกิจก็มี แต่ปัญหาอย่างนึงคือเขาเข้าถึงคนหมู่มากยังไม่ค่อยได้เท่าไหร่ อีกข้อคือในแง่ของธุรกิจ ผมมองว่าแต่ละวงก็พยายามจะทำธุรกิจด้วย ไม่ใช่แค่ใจรักอย่างเดียวคงอยู่ไม่ได้” สุกิจ อธิบาย
ด้วยการเห็นถึงความยากในการหาแพลตฟอร์มให้ไอดอลได้พบแฟนคลับ รวมถึงการเข้าถึงแบรนด์ต่างๆ ที่สามารถต่อยอดเป็นความสัมพันธ์ด้านธุรกิจในอนาคต นี่จึงเป็นเหตุผลให้ สุกิจและคณิต รวมถึงทีมงานอีกจำนวนหนึ่ง ฟอร์มทีม IDOL MASTER ขึ้นมา
สุกิจ บอกว่า ความตั้งใจของเขาคืออยากสร้าง ‘ระบบนิเวศ’ ในวงการไอดอลขึ้นมาที่ทำให้ ไอดอล แฟนคลับ และภาคธุรกิจ ได้เข้ามาพบเจอกัน
“เราพยายามจะสร้างระบบนิเวศในวงการไอดอล คือให้วงกับวงคุยกัน หรือวงคุยกับภาคธุรกิจ วงคุยกับแฟนคลับ ถ้าระบบนิเวศแบบนี้มันเดินได้ มันก็ไปต่อได้โดยที่ไม่เอาเปรียบใครฝั่งไหนเลย เป็น Win-Win ทุกคนอยู่ได้ แฟนคลับเองก็มีความสุข”
เช่นเดียวกับคณิตที่เชื่อว่า แพลตฟอร์มตรงกลางระหว่างทั้ง 3 ฝั่งจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับวงการไอดอลในอนาคต
“ไอดอลคือการเข้าถึงได้ มันจึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งภาคธุรกิจสามารถพัฒนาต่อได้ แต่ถ้าเป็นวงขนาดเล็กมันเกิดขึ้นได้ยาก เพราะต้องใช้ต้นทุนสูง ต้องใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ค ซึ่งทุกอย่างต้องทำเป็น มันจำเป็นที่จะต้องมีคนเข้ามาช่วย หรือเข้ามาสร้างแพลตฟอร์มให้
“คีย์เวิร์ดของเราคือ 3 คำ ความฝัน ความพยายาม และแรงบันดาลใจ เราเชื่อว่าเราจะทำตัวเป็นแพลตฟอร์มตรงกลางที่มี 3 ฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้แก่ ไอดอล แฟนคลับ และภาคธุรกิจที่ต้องการสร้างแบรนด์ที่ต้องสร้างความสัมพันธ์และอยากให้ไอดอลเป็นคนสื่อสาร หรือเป็น Influencer” คณิตเล่าให้เราฟังถึงความตั้งใจทำ IDOL MASTER
“สิ่งที่เราคุยกับแบรนด์ คือ แบรนด์สมัยนี้และพฤติกรรมของผู้บริโภค เราพูดถึงเรื่อง Micro segment ที่เราไม่สามารถใช้ Message เดียวคุยกับคนจำนวนมหาศาลได้อีกแล้ว เวลาที่แบรนด์หรือแต่ละโปรดักซ์ออกมาเฉพาะกลุ่ม Message ที่ต้องสร้างก็ต้องออกมาเฉพาะกลุ่ม นี่แหละคือสิ่งที่ไอดอลสามารถช่วยสื่อสารให้ได้”
ด้านสุกิจที่นั่งอยู่ข้างๆ กันอธิบายว่า วันนี้แต่ละวงมีความโดดเด่นในแบบตัวเอง และสิ่งที่น่าจะช่วยวงสามารถไปต่อในทางธุรกิจได้ คือมีการมานั่งคุยถึงทิศทางในอนาคตร่วมกัน
“ถ้าจะไปต่อในทางธุรกิจ มันก็น่าจะมีอีกสักคนนึงมานั่งคุยและช่วยกัน เพราะอย่าลืมว่า ตอนแรกที่เริ่มวงกันมาทุกคนก็เริ่มด้วยใจเหมือนกันหมด แต่คำถามคือแล้วเราจะเข้าถึงแหล่งทุนกับแฟนคลับได้ยังไง”
ทั้งสองคนเห็นตรงกันว่า สิ่งที่จะพาให้วงการไอดอลไทยโดยเฉพาะวงขนาดกลางๆ และขนาดเล็ก สามารถไปต่อได้ในระยะยาว คือการรวมตัวกันเหมือนที่เกิดขึ้นในงาน IDOL EXPO วันนี้
“ภาคธุรกิจเองอาจจะคิดว่าแต่ละวงเป็นคู่แข่งกันรึเปล่า แต่ที่สุดแล้วมันไม่ใช่ เพราะเราต่อสู้ในสิ่งเดียวกัน เข้าอกเข้าใจกัน เห็นใจซึ่งกันและกัน ตอนแรก เราก็คิดว่าจะสามารถจับปูใส่กระด้งได้จริงเหรอ เพราะแต่ละวงก็มีความคิด มีเวลา มีช่วงเวลาที่แตกต่างกัน การจะเอามารวมกันก็เป็นเรื่องไม่ง่าย” คณิตยอมรับ
“ต้องให้เครดิตทุกวงที่มาร่วมกันในงานนี้ด้วยนะครับ คุณจะสังเกตว่าในงานนี้มีการเปิดเพลงใหม่ไม่ต่ำกว่าสองสามวง หรืออย่างวง FEVER ก็จะมีโชว์เป็นครั้งแรกที่นี่ ส่วนอีกวงก็จะมีประกาศพิเศษ” สุกิจ ทิ้งความอยากรู้ไว้ให้ในช่วงท้ายของการพูดคุย ก่อนที่เราจะขอตัวเดินสำรวจภายในงานที่เต็มไปด้วยไอดอล และทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังมากมาย
7th Sense : “เรากำลังสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ”
“มันยังไปได้อีก เพียงแต่ว่าเราต้องมีอะไรมากกว่านี้” ภัฏ สงวนสันติกุล หรือ ‘จ๊อบ’ ผู้บริหารวง 7th Sense เล่าให้เราฟัง
7th Sense เป็นอีกหนึ่งไอดอลที่เปิดตัวออกมาอย่างเป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว คอนเซ็ปต์หลักๆ คือการเป็น ‘T-POP idol’ หรือที่เขาบอกกับเราว่าเป็นไอดอลสไตล์ไทยๆ ซึ่งมาพร้อมกับแนวเพลงไทยกระแสหลักยุค 80-90
เขาเห็นว่าหลังจากที่ 7th Sense เริ่มกิจกรรมมาและการบริหารในวงเริ่มจะอยู่ตัวในระดับหนึ่งแล้ว สิ่งที่ต้องเพิ่มเติมเข้าไปคือเรื่องสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่จะช่วยให้วงเป็นที่รู้จักในคนหมู่มาก
“เราเริ่มผลิตคอนเทนต์มากขึ้น เพื่อออกสู่สายตาประชาชน อันแรกเลยคือรายการ Go ja Go ที่สร้างสมาชิกในวงให้เป็น Storyteller หรือเป็น Youtuber โดยที่เรามีทีมครีเอทีพที่ช่วยกันคิดเนื้อหา ทำหนึ่งเทปแล้วก็มีแยกทำคอนเทนต์แยกของสมาชิกแต่ละคนได้อีก
“เพลงก็จะยากขึ้น เนื้อเพลงและเมโลดี้จะยากขึ้น เราเซ็น MOU กับรายการบนสถานีโทรทัศน์แล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าสมาชิกในวงกำลังจะไปสู่แมสแล้วจริงๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ท้าทาย”
จ๊อบทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ทีมบริหารของ 7th Sense กำลังคุยกันถึงเรื่องการสร้าง ‘พื้นที่รวม’ ที่จะนำไอดอลไทยที่ไม่ใช่แค่ 7th Sense วงเดียว ได้แสดงร่วมกันเพื่อให้เข้าถึงแฟนคลับได้มากกว่าเดิม
FEVER : คุณภาพดนตรีและโปรดักชั่นคือสิ่งสำคัญ
“จุดขายคือเพลงแหละ ตอนนี้ทุกคนบอกว่าเพลงและเอ็มวีของเรามันแปลก เราจริงจังกับสิ่งเหล่านี้พอสมควร”
ด้วยความ อธิปติ ไพรหิรัญ คือคนที่อยู่แวดวงบันเทิงมานานหลายปีจากการเป็นผู้จัดละคร เมื่อหันมาทำวงไอดอลอย่าง FEVER ขึ้นมา สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุด จึงเป็นเรื่องของโปรดักชั่นและคุณภาพทางดนตรี
“เราอยากทำวงไอดอลสักวง เรื่องหนึ่งเลยคือมันต้องขายเพลง และถ้าเกิดเราจะขายเพลง เราก็ต้องตั้งใจทำเพลงให้มันดีที่สุดสิ มันจะเป็นไอดอลได้ยังไง ถ้าเพลงยังไม่ดี อันนี้เลยเป็นจุดที่ว่าเราให้ความสำคัญกับเพลงมากๆ” อธิปติ บอก
FEVER คือไอดอลน้องใหม่ที่เปิดตัวออกมาเมื่อปลายปีที่แล้ว สิ่งที่ทำให้ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากทั้งจากแฟนคลับไอดอลเดิม รวมถึงแฟนเพลงกลุ่มที่อยู่ในสายอินดี้ คือสไตล์เพลงดนตรีที่ไม่ใช่ไอดอลจ๋า หากแต่เบนไปทางอินดี้ เช่น ซินธ์ป๊อป และซิตี้ป๊อป
“FEVER เป็นไอดอลและเป็นศิลปินอินดี้ด้วย เพราะฉะนั้น เราก็จะมีวิธีการทำวงอีกแบบหนึ่ง ด้วยการโฟกัสของวง เราโฟกัสที่เทศกาลดนตรี เพราะเราอยากดนตรีให้ FEVER เข้าไปอยู่ในเทศกาลดนตรีได้ หรือไปเล่นกับวงอื่นแล้วกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียว
“เราทำในกลุ่มของเราโดยเฉพาะ เราเลือกที่ว่าจะทำอินดี้ แต่ทุกวันนี้โลกโซเชียลมันใหญ่มาก ทำให้คนเสพสิ่งที่เป็น Niche ได้ง่ายขึ้น ตลาดของ Niche เลยกว้างขึ้น”
นอกจากสไตล์เพลงแล้ว FEVER ยังได้ชวนศิลปินต่างๆ เพื่อมาร่วมงานดันด้วย เช่น สินค้าในวันเปิดตัวอย่างกระเป๋า เสื้อ หรือสติกเกอร์
“ต๊อด (อารักษ์ อ่อนวิลัย หรือ Sahred Toy) ที่มาทำสติกเกอร์ให้ บอกกับเราว่า ถ้าเรามาทางอินดี้แล้ว ทำไมเราไม่ไป Collab กับศิลปินอินดี้ล่ะ ซึ่งในวงการก็ยังมีศิลปินอินดี้ที่ทำ Artwork ดีๆ อยู่มากมายที่เราอยากร่วมงานด้วย ซึ่งเราก็คุยกันไว้อยู่บ้างเหมือนกัน”
แต่ถึงอย่างนั้น อธิปติ ยังมองว่า FEVER ยังจำเป็นต้องสร้างฐานแฟนคลับจากทั้งสองฝั่ง คือฝั่งแฟนคลับไอดอลเดิม และแฟนคลับจากกลุ่มอินดี้ควบคู่กันไป “ด้วยกระแสความนิยมที่เข้ามาสู่ FEVER มันค่อนข้างเร็วและเหนือความคาดหมาย ซึ่งเราพยายามจะทำให้มันอยู่ในมาตรฐานของเราต่อไป” อธิปติ กล่าว
CM Cafe : ตั้งเป้าเจาะฐานแฟนคลับระดับแมส
นราธิป ปานแร่ ผู้เคยเป็นโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงให้กับศิลปินค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ เป็นอีกหนึ่งคนในวงการดนตรี ที่ร่วมกระโดดเข้ามาในวงการไอดอลไทย เขากำลังอยู่ในช่วงปลุกปั้นสร้างวง CM Cafe ขึ้นมา และกำลังสร้างฐานแฟนคลับให้เข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ
เขามองเห็นว่า ปัจจัยที่จะทำให้ไอดอลสามารถอยู่ต่อไปในวงการได้อย่างมั่นคง อาจไม่ใช่แค่ยอดดาว์นโหลดเพลงเหมือนเดิมอีกแล้ว หากแต่เป็นเรื่องของสินค้าที่ระลึก และกิจกรรมต่างๆ ที่แฟนคลับจะได้มีส่วนร่วมกับไอดอล
“การทำไอดอลมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากๆ” นราธิป ยืนยัน
“ผมอยู่ในวงการเพลงมานาน รู้ว่าต้องระวังเรื่องการใช้เงินขนาดไหน วงการเพลงมันไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนเมื่อก่อน โดยเฉพาะเพลงที่ไม่ใช่รายได้หลัก สินค้าอาจจะเป็นรายได้หลักมากกว่า รวมถึงงานที่สมาชิกได้รับมาเองโดยตรงจากสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ”
สำหรับนราธิปแล้ว สิ่งสำคัญคือการทำไอดอลให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในตลาดแมสให้ได้ เพื่อให้ฐานแฟนคลับของวงการมีมากขึ้น
“ผมอธิบายกับสมาชิกในวงว่า วงเราค่อยเป็นค่อยไป แล้วอีกอย่างคือวงการไอดอลมันเพิ่งเติบโต มันยังไม่เท่ากับวงการอื่น เช่น แร็ปหรือฮิปฮอป
“ตอนนี้เรากำลังทำเพลงแบบแมส เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้หญิงฟังได้ อย่าง CM Cafe จะมีวงย่อยข้างในที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายออกไปได้ เช่น ดึงกลุ่มคนฟังเพลงแบบฮิปฮอป หรือ อาร์แอนด์บี”
สิ่งที่นราธิปอยากเห็นต่อไปในวงการไอดอลไทย คือการขยายกลุ่มของผู้ติดตามที่กว้างมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเขาเชื่อว่าหลายวงสามารถทำได้
“จะเป็นสิ่งที่ดี ถ้ากลุ่มเป้าหมายกว้างออกไปมากกว่านี้ ตอนนี้กลุ่มเป้าหมายมีจำกัด แต่วงมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วงานมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว กำลังซื้อก็อาจจะไม่พอ”
IDOL EXPO จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-10 กุมภาพันธ์ 2562 ที่หน้างาน Mobile Expo บริเวณด้านหน้าฮอลล์ 98 BITEC บางนา