มีข่าวบูลลี่เพื่อนสมัยเด็ก ทำร้ายร่างกาย นอกใจ แต่ทำไมดารา ศิลปิน หรือเซเลบริตี้ของไทย ที่ทำผิด ออกมาขอโทษ พักงานไม่นาน ก็ได้กลับมามีแสง ยืนบนเวที ออกทีวี รับงานเป็นปกติ
ผิดกับประเทศเกาหลีใต้ ที่เมื่อดารา หรือไอดอล มีข่าวด้านลบ ทำความผิด และถูกตัดสินคดี กลับต้องแลกมาด้วยชื่อเสียง งานการ การบอยคอตของประชาชน หรือช่องทีวี ไปถึงต้องลาออกจากวงการ หรือยากที่จะกลับมามีผลงานได้อีก
ความผิดอะไรที่คนเกาหลีมองว่ายากที่จะยอมรับได้ อะไรเป็นปัจจัยให้วงการบันเทิงเกาหลีถือเรื่องการแบน หรือ cancel culture นี้เป็นเรื่องที่จริงจัง ที่แค่การขอโทษ หรือรับผิด ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้กลับมามีแสง และมีงานในวงการบันเทิงได้อีก หรือในปัจจุบัน cancel culture ของเกาหลีนั้น เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน
เพราะคนบันเทิง ถูกมองว่าต้องมาพร้อมกับศีลธรรม
เพราะการเป็นคนดังในเกาหลี ไม่ใช่แค่เรื่องของการมีความสามารถแค่ ร้อง เต้น เล่น หรือแสดง แต่คนเกาหลี มักยกย่องคนดัง ดารา ศิลปิน หรือไอดอลที่เป็นบุคคลสาธารณะ ให้มีมาตรฐานทางศีลธรรม โดยพวกเขาไม่ได้ถูกคาดหวังเพียงแค่ให้ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังต้องควรเป็นตัวอย่างแก่สังคมด้วย ผู้ที่ไม่ตรงตามกับมาตรฐานดังกล่าวมักไม่ได้รับความนิยมจากสาธารณชน อาจถูกวัฒนธรรม cancel culture ในชั่วข้ามคืน ไม่ว่าจะเป็นจากข่าวการบูลลี่ในโรงเรียน และบูลลี่เพื่อนร่วมวง นอกใจ เมาแล้วขับ ยาเสพติด และหลีกเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร ซึ่งล้วนมีทั้งเรื่องจริง ข่าวลือ หรือเรื่องที่รุนแรงถึงขั้นต้องถูกดำเนินคดี ขึ้นศาล หรือติดคุกรับโทษ
ซึ่งหลังจากเสื่อมความนิยมไปแล้ว การจะฟื้นคืนความดังอย่างเต็มที่หรือการกลับเข้าสู่วงการบันเทิงอีกครั้งอาจเป็นเรื่องยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนี้สำหรับไอดอล K-POP ที่อาศัยภาพลักษณ์ที่สัมพันธ์กันมากกว่านักแสดง ซึ่งที่เกาหลีนั้น ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อคนดังเหล่านี้ทำผิด ก็จะมีมาตรการต่างๆ ทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ ในการลงโทษ เช่น การถอนตัวออกจากวง ออกจากค่ายที่สังกัดอยู่ หรือผลงานที่กำลังจะแสดง การถูกแบนจากช่องโทรทัศน์ หรือการโดนแฟนคลับ และผู้ชมคว่ำบาตร
เรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องจริงจังขนาดที่นักการเมืองจากพรรค Democratic Party of Korea เคยเสนอร่างแก้ไขกฎหมายในสภานิติบัญญัติ เมื่อปี 2019 เพื่อออกกฎห้ามคนดังที่ทำความผิด ถูกตัดสินจำคุก ทำความผิดอาชญากรรมทางเพศ การขับขี่ยานพาหนะภายใต้ฤทธิ์สุราหรือสารเสพติด (DUI) การพนัน หรือการใช้ยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ไม่ให้ได้ปรากฏตัวในรายการโทรทัศน์ โดยในการแก้ไขร่างกฎหมาย มีการระบุว่า เพราะมีคนดังจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่มีส่วนในการกระทำที่ผิดกฎหมาย“ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการแบนบุคคลเหล่านี้ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้มีอิทธิพลต่อผู้ชม และควรมีข้อจำกัดในการคัดเลือกบุคคลเหล่านี้”
นอกจากข้อกฎหมายแล้ว ปัจจุบัน ช่องสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งเองก็มีลิสต์รายชื่อคนดังที่ถูกแบน ไม่ให้ปรากฏตัวอยู่ อย่างเช่นช่อง KBS หรือ the Korean Broadcasting System ก็มี มาตรฐานการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณากำกับดูแลการออกอากาศ และมีการประกาศลิสต์รายชื่อคนดังที่ถูกแบนออกมาเป็นประจำ โดยพิจารณาตามระดับความรุนแรงของแต่ละกรณี หรืออย่างกรณีของ จองจุนยอง ซึ่งเคยเป็น สมาชิกประจำรายการ 2 Days 1 Night ที่ไม่เพียงถูกแบนจากช่อง แต่แต่ละตอนของรายการที่ถูกถ่ายไปแล้ว ที่มีช่วงที่จุนยองปรากฏตัว ยังถูกตัดออก หรือเบลออีกด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น แฟนคลับของศิลปินวงต่างๆ เอง ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการแบน หรือเรียกร้องให้มีการปลด หรือพักงานศิลปิน หลังจากมีข่าวลือ หรือทำความผิดด้วย เพราะมองว่าไม่เป็นแบบอย่าง และมีคนที่เดือดร้อนจากการกระทำของพวกเขา ดังนั้นจึงเป็นเหมือนเรื่องยากที่จะสนับสนุน ดารา หรือไอดอลเหล่านั้น ให้มีแสง ขณะที่เหยื่อได้รับความเจ็บปวด
อย่างเช่น กรณีของ การัม อดีตสมาชิกวง LE SSERAFIM ซึ่งมีข่าวเรื่องการบูลลี่เพื่อนร่วมชั้น และมีภาพหลักฐานต่างๆ ปล่อยออกมา แฟนๆ ของวงบางส่วนก็เริ่มมีการเรียกร้องให้เธอออกจากวง โดยมีวิดีโอการแสดงของวงที่กลายเป็นกระแสไวรัล เพราะแฟนๆ หยุดส่งเสียงเชียร์โดยเฉพาะเมื่อเป็นท่อนของการัม ทั้งยังมีแฮชแท็ก #Garam_Leave และ #GaramBully ก็ติดเทรนด์บนทวิตเตอร์ของเกาหลีเช่นกัน โดยแฟนๆ เรียกร้องให้เธอออกจากวง เพราะภาพลักษณ์กระทบต่อสมาชิกวงคนอื่นๆ ไปด้วย ก่อนที่เธอจะพักงาน และยกเลิกสัญญาในภายหลัง แม้ว่าการัมจะพยายามพิสูจน์ตัวตน แต่เหมือนว่าในประเด็นของเธอนั้น แม้เธอจะบอกว่าเข้าไปช่วยเพื่อน จากคนที่ถูกบูลลี่ก่อน แต่ชาวเน็ตได้มองไปแล้วว่า เธอเองก็มีส่วนในการใช้ความรุนแรงเช่นกัน
หรือกรณีของ ลูคัส สมาชิกวง NCT ที่ถูกข่าวลือจนต้องออกมาโพสต์ข้อความขอโทษ ก็มีแฟนๆ บางส่วนที่เรียกร้องให้เขาออกจากวง ผ่านการติดเทรนด์แฮชแท็ก #Lucas_Out จนทางค่ายต้นสังกัดให้พักงาน ตั้งแต่ตอนที่เกิดข่าวลือนั้น จนถึงปัจจุบัน (พฤษภาคม 2023)
แต่แม้เกาหลีใต้ ดูจะเป็นสังคมที่เคร่งครัดกับภาพลักษณ์ศิลปิน และมี cancel culture ที่รุนแรง แต่ระยะหลังๆ เอง ก็มีศิลปินบางกลุ่ม ที่แม้จะทำความผิด แต่ก็ออกมาขอโทษ และสามารถกลับมายืนบนเวที หรือปรากฏตัวในจอได้อีกครั้ง อย่างเช่นกรณีของ ฮยอนจิน วง Stray Kids ที่เคยมีข่าวการบูลลี่เพื่อน ภายหลังค่ายได้แถลงว่าเป็นการทะเลาะกันของ 2 ฝ่าย และได้ทำการขอโทษต่อสาธารณชน ขอโทษโจทย์ พักงาน และกลับมาร่วมวงอีกครั้ง หรือสมาชิกวง Big Bang เอง ที่มีข่าวการใช้กัญชาของ T.O.P และ G-Dragon ด้วย
นักวิจารณ์วัฒนธรรมป๊อป จองด็อกฮยอน พูดถึงประเด็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกันในแต่ละเคสของเหล่าคนดังว่า มาจาก
แฟนด้อมที่หลากหลาย ทำให้ความคาดหวังในด้านศีลธรรมมีหลากหลายด้วยเช่นกัน และความคาดหวังอาจแตกต่างกันไปภายในแฟนด้อมหนึ่งๆ เพราะกลุ่มด้วยนั้นๆ ประกอบไปด้วยแฟนๆ ที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ “ทุกวันนี้ ความสำเร็จของนักร้องเคป๊อปขึ้นอยู่กับการสนับสนุนจากแฟนคลับมากกว่าการยอมรับจากสาธารณชนทั่วไป” ทั้งเขายังบอกว่า แฟนต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวเกาหลี มักจะสนเรื่องทางศีลธรรมน้อยกว่าแฟนเกาหลี และยังสามารถสนับสนุนคนดังเหล่านั้นได้ แม้จะมีข่าว
นอกจากนี้ ในอดีต ไอดอลต่างๆ ที่มีแฟนเพลงในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ต้องพึ่งพาสื่อทั่วไป เช่น โทรทัศน์ ในการโปรโมตตัวเองเป็นหลัก และช่องทีวีเหล่านี้ ก็มักมีการห้ามคนดังที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื้อฉาว หรือปัญหาทางกฎหมายต่างๆ ในการปรากฏตัว แต่ทุกวันนี้ศิลปินเคป๊อปได้พัฒนาวิธีมากมายในการสื่อสารกับแฟนๆ ทั่วโลก ผ่านโซเชียลมีเดียและรายการยูทูบของตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาสื่อทั่วไปมากนัก ดังนั้นแม้จะไม่ได้รับโฆษณาหรือการอนุญาตให้ปรากฏตัวในรายการทีวี แต่พวกเขาก็อาจจะสามารถมีช่องทางในการทำงานได้
แต่ถึงอย่างนั้น นักวิจารณ์ท่านนี้ก็มองว่า แม้พวกเขาจะยังทำงาน แอ็กทีฟ โปรโมตกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าในสายตาประชาชนทั่วไปจะมองว่าเป็นเรื่องปกติ โดยเขายกตัวอย่างเช่น ฮยอนจิน แม้จะมีการขอโทษ และกลับมาทำงานในวงปกติแล้วนั้น แต่ชื่อของไอดอลรายนี้ ก็มักจะปรากฏในบทความเกี่ยวกับการรังแก บูลลี่ในโรงเรียน และสิ่งที่เขาเคยทำ ก็ยังคงติดในภาพจำของคนกลุ่มที่ไม่ใช่แฟนคลับด้วย หรืออย่างไอรีน วง Red velvet ที่มีข่าววีน และใช้อารมณ์ ด่าทอสไตล์ลิสต์ ที่แม้จะมีการขอโทษเป็นการส่วนตัว และพักงาน แต่ก็มีการวิเคราะห์ว่า ความนิยมของเธอก็ลดลง และภาพลักษณ์สาวหัวร้อนนั้น ก็ยังคงมีการพูดถึง แม้เธอจะกลับมาทำงานร่วมกับวงอีกครั้ง
จองยังกล่าวอีกว่า “เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีต มันยากที่จะบอกได้อย่างแน่นอนว่าพฤติกรรมความผิดใดที่จะนำไปสู่การถูกแบน บางคนบอกว่าคนดังเป็นที่ถกเถียงเหล่านั้นไม่ควรกลับมา และความคาดหวังทางศีลธรรมก็ไม่ควรหย่อนยานไปมากกว่านี้ แต่เราไม่สามารถเรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันแบนศิลปินบางคนได้ มันขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่จะตัดสินใจว่าอะไรที่ ‘ผิดศีลธรรมเกินไป’ ในสายตาของพวกเขา หรือพวกเขาควรคาดหวังศีลธรรมจากศิลปินหรือไม่”
แต่นอกจากกรณีความผิดที่ผิดกฎหมายแล้วนั้น ไอดอล หรือคนดังเองก็ยังมีกรณีที่ออกมาพูด หรือแสดงออกไม่เหมาะสม เช่น เหยียดเพศ หรือชาติ พูดคำหยาบ หรือพูดถึงข้อขัดแย้งทางการเมือง หรือประวัติศาสตร์อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ คนดังเองก็มักจะเป็นประเด็นข้อถกเถียงที่ร้อนแรงในโซเชียลมีเดียขึ้นมา จนสุดท้ายไอดอล หรือคนดังเหล่านั้น ต้องออกมาพูดถึงกระแส และสิ่งที่เกิดขึ้น ออกจดหมาย หรือวิดีโอขอโทษ และสัญญาว่าจะเรียนรู้ หรือปรับปรุงในสิ่งที่พลาดไป จนกระแสที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งนั้น ทำให้ค่ายบันเทิงบางแห่ง ต้องมีห้องเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรม หรือเรียกว่า Culture Appropriate รวมไปถึงการควบคุมคอนเทนต์จากไอดอล และคนดังให้เหมาะสมด้วย
แม้บางความผิด แฟนๆ จะยอมให้อภัยเมื่อสำนักผิด แต่บางความผิดเอง ก็ถูกมองว่า ไม่ควรได้รับการยกเว้น โดยในปี 2021 ได้มีการทำโพลสำรวจถึงคนดังที่ชาวเกาหลีโหวตว่าไม่ควรให้กลับเข้าสู่วงการบันเทิง โดยผลสำรวจพบว่า คนดังเหล่านั้น มีความผิดเช่น เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ หรือการเลี่ยงรับใช้ชาติ เช่น ซึงรี อดีตสมาชิกวง Big Bang ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นอื้อฉาวของคลับ ‘Burning Sun’ ที่คนดังจำนวนหนึ่ง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาเรื่องอาชญากรรมทางเพศ เช่น การข่มขืนและถ่ายวิดีโอเซ็กซ์ที่ไม่ยินยอมในคลับนั้น ซึ่งซึงรีเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการของคลับ
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีการมองว่า วัฒนธรรม Cancel ที่เคร่งมากเกินไปของเกาหลีนั้น อาจส่งผลเสียของวงการ โดยเมื่อพูดถึงเรื่องนี้ มักมีการยกเคสของ คิมซอนโฮ นักแสดงที่ตกเป็นข่าวว่า ทำแฟนสาวท้อง นอกใจ และบอกให้แฟนสาวไปทำแท้ง ซึ่งเมื่อข่าวออกมานั้น คิมซอนโฮถูกยกเลิกโฆษณา ถูกเบลอหน้าจากรายการ ถูกถอดออกจากบทบาทในละครยอดฮิต แต่เมื่อมีการพิสูจน์นั้น พบว่าสิ่งที่แฟนสาวออกมาให้ข่าวนั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่คิมซอนโฮนั้น ได้ถูกสังคมตัดสิน และลงโทษไปก่อนแล้ว
จีนี่ชาง นักบำบัดชาวเกาหลี-อเมริกัน ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้ว่า เพราะเกาหลีมีแนวคิดนิยมความสมบูรณ์แบบ และผลของวัฒนธรรม Cancel ในบางครั้งได้สร้างบาดแผล และทำให้คนที่ถูก Cancelกลายเป็นเหยื่อได้เช่นกัน เช่นกรณีของคิม ซอนโฮ ซึ่งในประเด็นนี้ เธอได้เสนอถึงแนวคิดการมองถึงความเป็นคนของเหล่าคนดัง ที่ในบางกรณีพวกเขาก็ทำผิดพลาดได้ และบางคนก็สมควรที่จะได้รับโอกาสเป็นครั้งที่ 2 ด้วย
อ้างอิงจาก
https://koreajoongangdaily.joins.com