ความสัมพันธ์ ความรัก เพื่อน ครอบครัว นี่คือสิ่งที่อัดแน่นอยู่ในซีรีส์เรื่องนี้ซึ่งเกิดจากการเขียนบทและกำกับโดย แคลร์—จิรัศยา วงษ์สุทิน ผู้กำกับและนักเขียนบทรุ่นใหม่ที่ได้มีผลงานรางวัลมากมาย และงานแต่ละชิ้นของเธอก็มีเอกลักษณืผ่านคำพูดและบทหนังที่เรียบง่ายแต่น่าจดจำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น ‘เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน’ (2555) ‘วันนั้นของเดือน’ (2557) หรือ ‘Homestay’ (2561)
‘ONE YEAR 365 วัน บ้านฉันบ้านเธอ’ คือผลงานล่าสุดของเธอ และเป็นซีรีส์ใหม่จากทาง GDH ที่เล่าเรื่องราวของสองครอบครัวที่ต้องมาอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นเวลาหนึ่งปี แม้จะดูเป็นเรื่องราวครอบครัวทั่วไป แต่ซีรีส์เรื่องนี้ได้บอกเล่าความสัมันธ์ที่หลากหลายภายใต้หลังคาเดียวกันที่พวกเขาต้องอาศัยอยู่
หนัง คือสิ่งที่แคลร์ผูกพันมาทั้งชีวิต และกลายเป็นเพื่อนคนสำคัญของเธอ The MATTER ชวนไปทำความรู้จักกับผู้กำกับหนังรุ่นใหม่ที่อยากสร้างเรื่องเล่าให้คอยอยู่เป็นเพื่อนคนดูด้วยเช่นกัน
ทำไมอยากจะเล่าเรื่องของ ‘ครอบครัว’
ตอนแรกเริ่มจากว่าผู้ใหญ่ GDH กับ ผู้ใหญ่ BNK48 เขาอยากทำโปรเจกต์ร่วมกัน โจทย์ก็คือต้องมีน้อง BNK48 มาเล่น ซึ่งตอนนั้นเราก็กังวลเหมือนกันว่า พอเป็นวัยรุ่นมาเล่น ซีรีสส์วัยรุ่นมันมีเยอะแล้ว อย่าฮอร์โมนส์ หรือ Project S เลยพยายามนึกถึงอะไรที่เราอิน เราชอบแทน แล้วก็นึกถึงภาพ พี่น้องหญิงล้วน บ้านหญิงล้วน คือไม่ต้องเป็นเรื่องเพื่อนกัน เป็นเรื่องพี่น้องครอบครัวดีกว่า เพราะเราสนใจเรื่องผู้หญิงในหลากหลายวัยด้วย คำว่าบ้านหญิงล้วนก็เลยเข้ามาในหัวเรา แล้วเราก็ค่อนข้างสนิทกับแม่ด้วยส่วนหนึ่ง
เหมือนเรื่องนี้เน้นไปที่คู่รักของผู้ใหญ่สองคนที่ผ่านการแต่งงานมาแล้ว ซึ่งเป็นตัวละครพี่แหม่มกับพี่ดู๋ ไอเดียนี้มาจากไหน
เราพยายามรีเสิร์ชคู่ที่เขาโตๆ กัน แล้ว หรือพบรักกันตอนโตแล้ว มีลูกแล้ว พบว่าส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้เวลาคบกันนาน เหมือนว่า เขารักกันแล้วก็อยากจะอยู่ด้วยกันเลย แล้วเหมือนตัวละครของมุก เราอยากเห็นแม่ในภาพที่ไม่ได้เป็นแม่ในอุดมคติ เป็นแม่มีความวัยรุ่น ความอยากทำอะไรก็ทำ ตามใจตัวเอง เราอยากเห็นภาพแม่แบบนี้ในซีรีส์ไทยบ้าง เลยรู้สึกว่ามันสนุกดีที่จะให้ฝ่ายหญิงลองขอแต่งงานด้วย
เพราะพ่อแม่อาจไม่ได้เป็นคนตามอุดมคติทุกคนด้วยใช่มั้ย
ใช่ เขาอาจจะไม่ใช่พ่อแม่แสนดี ตามที่เราโตมาจะชินกับค่านิยมแบบนั้น ที่แม่จะต้องทำเพื่อลูกทุกอย่าง เรารู้สึกว่า แม่ก็คนเหมือนกัน เขามีสิทธิที่จะรู้สึกอะไร ทำอะไร เหมือนคนคนนึง เท่ากับเด็กคนนึงเหมือนกัน เรารู้สึกว่า เราอยากฉายภาพนี้ให้คนดูบ้าง
แล้วทำไมต้องเลือกระยะเวลา 1 ปี
แรกๆ ยังไม่มีเรื่องหนึ่งปีหรอก ตอนแรกเป็นแค่เรื่องบ้านหญิงล้วนก่อน ต่อมามีเรื่องพล็อตที่คิดไว้นานแล้ว เป็นเรื่องของพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มารักกัน แล้วก็อยากอยู่ด้วยกัน เพียงแต่เขามีลูกติด แล้วพอมีลูกติดและต้องมาอยู่บ้านเดียวกัน เหมือนแบบวัยรุ่นอยู่ด้วยกัน รักกัน ก็เลยเกิดปมว่า ถ้าพ่อแม่เราแต่งงานกัน เราเหมือนเป็นพี่น้องกันแล้ว เราจะรักกันได้ไหม แต่ทีนี้พอเอาสองไอเดียมารวมกันแล้ว พี่ปิงก็เสนอไอเดียขึ้นมาว่า ความเป็นซีรีส์เราต้องมีเป้าหมายให้มัน เราก็เลยรู้สึกว่าการใส่เวลาหนึ่งปีเข้ามา ก็เหมาะกับพล็อตสองอันนี้พอดี
เวลาหนึ่งปีจะเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน
ก็เป็นระยะเวลาที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป เป็นช่วงที่เหมือนเลยโปรโมชั่นไปแล้วนิดนึงคือจะมีช่วงปรับตัวที่ทุกคนพยายามทำดีต่อกัน พยายามเข้าหากัน แล้วมันจะเลยช่วงนั้นไปนิดนึง ที่ทุกคนเผยความเป็นตัวเองออกมา ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่เพอร์เฟกต์ที่เหมาะกับการมาดูว่าสองบ้านจะปรับตัว จะอยู่ร่วมกันได้จริงๆ ไหม
แล้วหนึ่งปีของแคลร์เปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน
ของชีวิตเราเหรอ? ปีที่แล้วยังเขียนบทอยู่เลย หนึ่งปีนี่เปลี่ยนแปลงเยอะมาก เพราะว่าเมื่อก่อนเราเขียนบทอย่างเดียว พอเรียนจบเราก็ไม่ค่อยได้ทำหนังสั้น ก็มาได้เขียนบท Homestay กลายเป็นว่าเราอยู่ในพาร์ทที่อยู่กับเนื้อเรื่อง คิดและจินตนาการถึงเรื่องอย่างเดียว แต่พอก้าวมาเป็นผู้กำกับแล้ว มันเหมือนเราเพิ่งได้รู้ว่าจริงๆ มันมีอะไรมากกว่าที่คิด เหมือนตอนเราเป็นคนเขียนบทเราจะรู้สึกว่ามันต้องทำได้สิ เหมือนภาพในหัวเราจะชัด แล้วเราจะอยากได้สิ่งที่อยู่ในหัว
แต่ว่าพอมาเป็นผู้กำกับจริงๆ เรารู้มากขึ้นว่ามันจะมีเงื่อนไข มีอะไรมากมายที่มันยากเหมือนกันที่จะทำตามที่เราเขียนบทได้ เหมือนเราโตขึ้น เข้าใจวงการ เข้าใจธุรกิจ เข้าใจเกี่ยวกับการทำหนัง ทำซีรีส์มากขึ้น ก็เหมือนโตขึ้น มีความรู้มากขึ้น…มั้ง
ที่ผ่านมาเหมือนทำหนังเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ทำไมถึงเลือกเล่าเรื่องนี้
เพราะว่าเราเริ่มดูหนังตั้งแต่ม.ต้น เวลาเรามีคำถามอะไรเกี่ยวกับชีวิต เรื่องความสัมพันธ์ ความรัก แล้วเราได้ดูหนังที่มันพูดเรื่องนั้น มันทำให้เราผ่านไปได้ บางทีมันเหมือนเรามีเพื่อน เรารู้สึกว่ามันดีมากที่เราได้เจอ ได้ดูหนังตั้งแต่เด็กๆ
เราไม่รู้ว่าตอนเด็กๆ ถ้าเราไม่ได้ดูหนัง เราอาจจะซัฟเฟอร์กว่านี้ โลกแคบกว่านี้ เรารู้สึกว่า พอเรามีหนังที่มันพูดถึงชีวิตเรา มันดีมาก มันช่วยให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้ เราก็เลยรู้สึกว่า เราอยากทำอย่างนั้นกับคนอื่นๆ เราอยากให้คนอื่นดูหนังเราแล้วรู้สึกว่าเขามีเพื่อน
ยกตัวอย่างได้มั้ย
มีเยอะอะ ทุกเรื่องที่ดูจริงๆ
เรื่องแบบไหนที่อยากเล่ามากที่สุด
มากที่สุดเหรอ? จริงๆ ก็เป็นเรื่องตัวเอง เหมือนหนังที่ผ่านมา อย่าง ‘กลับบ้าน’ เราก็จะนึกถึงพ่อ ‘เด็กสาวสองคนในสนามแบดมินตัน’ เราจะนึกถึงเพื่อน ‘วันนั้นของเดือน’ เราพูดถึงแฟนเก่า ‘ONE YEAR’ สำหรับเราคือแม่เรา
แล้วมันมีจุดหนึ่งตอนเราทำเรื่องนี้เสร็จ เรารู้สึกอยากทำหนังยาว แต่เราคิดไม่ออกสักทีว่าจะทำเรื่องอะไร แค่คิดออกว่าอยากทำเรื่องตัวเอง แต่เราไม่รู้เหมือนกันว่าความเป็นตัวเองมันคืออะไร แต่เราอยากทำมัน
แล้วจากหนังสั้นที่ทำครั้งแรก จนถึงซีรีส์เรื่องล่าสุด ค้นพบความแตกต่างอะไรบ้างในการทำงาน
จริงๆ สำหรับตัวเรา เรายังคงคิดคล้ายๆ เดิม เราทำหนังตามเซนส์ตัวเองอยู่เหมือนเดิม ไม่ได้คิดแตกต่างกันเท่าไหร่ แต่ว่ามันอาจจะเป็นเรื่องทีม ที่แต่ก่อนทำหนังคนเดียว อยากทำไรก็ทำ แต่พอมาทำซีรีส์ก็ต้องมีทีมงาน แล้วยิ่งเป็นเรื่องขนาดยาว ก็ต้องมองภาพรวมมากขึ้น มองการเล่าเรื่องเป็นโครงเรื่องมากขึ้น บางทีหนังสั้นมันไม่จำเป็นต้องมีโครงเรื่อง มันเหมือนเราอยากจะเล่าซีนนี้ เราอยากจะเล่า แอคชั่น โมเมนต์นี้ เราก็เล่าได้เลย
แต่พอเป็นซีรีส์มันมีเรื่องแบบ โครงเรื่อง การเล่าเรื่อง แล้วเป็น commercial ด้วย ทำให้เราค่อนข้างคิดถึงคนดูมากขึ้น ตอนที่ทำหนังสั้นเราไม่ได้คิดถึงคนดูเลย จะนึกถึงแต่ตัวเองว่าเราอยากเล่าอะไร ไม่ได้สนใจว่าคนดูจะรู้สึกหรือไม่รู้สึก ขอแค่ตัวเรารู้สึก เราก็ให้ผ่านเลย แต่ว่าพอมาทำซีรีส์ในฐานะที่ก็เป็น commercial แล้วเรารู้สึกว่าเราพยายามคิดถึงคนดูมากขึ้น เราอยากให้คนดูเข้าใจแล้วก็รู้สึกอย่างที่เรารู้สึกจริงๆ
เรื่องไหนที่ทำมาที่คิดว่ายากที่สุด
365 อยู่แล้ว (หัวเราะ) มันยากทุกส่วนเลยอะ ต้องเขียนบทที่ยาว 10 ตอน ตอนละ 45 นาที ต้องทำงานกับคนที่เก่งกว่าเราหมดเลย ต้องทำงานกับนักแสดงอย่างพี่ดู๋ พี่แหม่ม ที่อยู่ในวงการมา 20 ปี เราต้องพิสูจน์ตัวเองมากๆ เลยอะ กับงานนี้ มันเลยมีความกดดดันมากกว่าทุกงานที่ผ่านมา แต่ว่าอีกแง่นึงก็ค่อนข้างดีใจที่ได้ทำ เหมือนเราออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเองได้
จุดตั้งต้นการคิดบทมาจากไหน
มาจากเวลาที่เราไม่คิดมั้ง พอตั้งใจคิดมันจะไม่ค่อยได้ แต่เวลาที่สมมติอย่างอาบน้ำก็จะมาตลอด แบบ อุ๊ย อยากเล่าเรื่องนี้จัง แต่เวลานั่งคิดมันก็คิดไม่ได้ อย่างทุกวันนี้อยากทำหนังยาวมาก แต่คิดไม่ออกว่าจะทำอะไร หรือบางทีเราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ แล้วไปเจออะไรบางอย่าง ไปเจอโมเมนต์บางอย่าง มันก็จะรู้สึกใช่ขึ้นมา บางทีเจอปุ๊บมันก็คิดอัตโนมัติเหมือนกันนะ เหมือนคิดต่อได้เลย ว่าต้องเป็นแบบนี้ แบบนั้น
คนดูเข้าไปมีส่วนต่อบทหรือสิ่งที่เราเขียนแค่ไหน
เหมือนเราเขียนบทในหลายๆ ฐานะ ตอนทำหนังสั้นเราเขียนในฐานะคนทำอย่างเดียว แต่พอทำซีรีส์ เราเขียนในฐานะ ‘คนทำ’ และนั่งอ่านมันในฐานะ ‘คนดู’ ด้วย บางทีคนทำจะมีความคิดทแบบคนทำ เหมือนคิดเป็น machanic แบบคนเขียนบท แต่คนดูจะดูแบบใช้หัวใจ ใช้ความรู้สึกเลย ทำให้มีกระบวนการที่เราทำตัวเป็นคนดูอยู่ด้วย คือลองไม่คิดมาก ลองไม่คิดว่าอันนี้ใช้เทคนิคอะไร
หลังจากเข้ามาอยู่ในวงการซีรีส์ มองเห็นวงการนี้เป็นยังไงบ้าง
เรารู้สึกว่าธรรมชาติคนดูละครทีวี เขาไม่ได้จดจ่อกับละครอย่างเดียว เพราะเมื่อเขาใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน เขาก็ซักผ้า กินข้าว เปิดทีวีทิ้งไว้แล้วฟังแค่เสียง มันคือธรรมชาติของคนดูละครทีวีไทยปกติ ที่เรารู้สึกว่าแง่หนึ่งก็เป็นความจำกัดของการทำคอนเทนต์ที่เราต้องคิดว่าจะทำยังไงให้คนที่กินข้าวไปด้วย ดูละครไปด้วย เขาเข้าใจและรู้สึกในสิ่งที่เราทำทั้งหมดให้ได้
แต่ในอีกแง่หนึ่งมันก็กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่เราต้องศึกษา ซึ่งถามว่าเราอยากจะเปลี่ยนให้เขามาตั้งใจดูมากขึ้นไหม ใจหนึ่งเราก็อยากเปลี่ยนนะ เราอยากให้เขาใส่ใจในคอนเทนต์เรามากขึ้น แต่อีกใจหนึ่ง เรารู้สึกว่าเขาก็คือคนดูกลุ่มหนึ่งที่เราต้องศึกษา มันก็เลยเหมือนมีแพลตฟอร์มหลายๆ แบบสำหรับคนหลายๆ กลุ่ม เหมือนคนทำซีรีส์ต้องศึกษากลุ่มคนดูของตัวเองไปด้วย
แล้วซีรีส์ 365 วันฯ สามารถไปเป็นละครทีวีได้ไหม
ตอนแรกเราไม่มั่นใจ เรารู้สึกว่าไม่น่าได้ เพราะเรื่องนี้จะเล่าเรื่องด้วยภาพ ไม่ได้พูดตลอดเวลา แต่ว่าพี่ปิงซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์ดูเรื่องแล้วเขารู้สึกว่ามันก็เหมาะกับคนดูทีวีเหมือนกัน เป็นเรื่องที่ไม่ได้ซับซ้อนมาก เป็นเรื่องครอบครัว เป็นเรื่องที่ทุกคนรีเลตได้ เหมาะกับการให้ครอบครัวมานั่งดูละครพร้อมกัน
ก็เลยมองว่าจริงๆ ก็อาจจะเหมาะนะ แต่ว่าจะมีความเป็นหนังมากกว่าละครปกตินิดนึง ซึ่งจริงๆ เรารู้สึกว่าเราก็อยากลองฉายทีวีเหมือนกัน อยากรู้ว่าคนดูจะรู้สึกยังไง เขาจะชอบไหม เขาจะรู้สึกเหมือนกันรึเปล่า น่าสนใจดี
เป็นคนรุ่นใหม่ในวงการ มีอุปสรรคอะไรบ้างมั้ย
มีบ้างแหละ การทำงาน แต่เราเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์นะ หมายถึงว่า พอเราเป็นคนรุ่นใหม่ในวงการ ก็ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ อย่างเราไปทำงาน มันก็มีกลุ่มคนที่ไม่ไว้ใจเรา เหมือนเป็นหน้าที่เราที่ต้องทำให้เขาเชื่อเราให้ได้ เพราะเราเป็นผู้กำกับ ก็เลยมีความลำบากนิดหน่อยที่เราจะต้องโน้มน้าวคนเหล่านี้ แต่ก็รู้สึกว่าเป็นความท้าทายของคนรุ่นใหม่มั้ง ที่หากจะทำงานกับคนที่เก่งกว่า คุณก็ต้องพัฒนาตัวเอง
ชอบการเป็นคนเขียนบทหรือผู้กำกับมากกว่ากัน
ชอบแบบไหนมากกว่าเหรอ เรารู้สึกว่าเราอยากเป็นทั้งคู่พร้อมๆ กัน เราชอบทั้งสองอย่าง ตอนเขียนบทก็แฮปปี้ เราคิดอะไรก็ได้ที่อยากให้เกิดขึ้น แล้วพอกำกับด้วยมันก็ฟินที่ได้ทำออกมา แบบที่เราเห็นหรือจับต้องได้ อย่างเวลาเขียนบทอย่างเดียว พอไปดูหนังที่เราไม่ได้กำกับ เราก็จะคิดว่า เป็นแบบนี้เหรอ มันควรเป็นแบบนี้นะ ก็จะมีโมเมนต์นี้บ้างที่เซ็ง
แต่กลับกัน เราก็กำกับบทจากคนอื่นไม่น่าได้แน่ๆ ยังคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ในตอนนี้ เพราะเราไม่อยากเป็นคนที่จะนำสิ่งที่เราไม่ได้รู้จักดีพอออกไป เราไม่ใช่คนที่ถูกที่สุดที่จะทำสิ่งนั้น คนที่เขียนมาน่าจะทำได้ดีกว่าเรามั้ง หรือถ้าเราต้องทำจริงๆ เราคงต้องศึกษาหรือรีไรต์ให้มันเป็นเรื่องที่เราอินจริงๆ
มีครั้งหนึ่งเคยบอกว่ากลัวการเจอคนใหม่ๆ แล้วจัดการกับเรื่องนี้ยังไง
ต้องไม่คิด (หัวเราะ) เวลาเราต้องเจอคนใหม่ๆ ต้องทำงานกับทีมใหม่ๆ เราจะเครียดมาก แต่ความเครียดทำให้เราพยายามทำการบ้านมา เมื่อเขาถามอะไรเรา เราต้องตอบได้
กับอีกส่วนหนึ่งเรา เราก็พยายามทำตัวเป็นผู้รับฟังมากขึ้น เหมือนพยายามอยากได้ input จากคนใหม่ๆ เราก็จะวางโพสิชั่นตัวเองเป็นนักเรียน ก็เลยไปด้วยกันได้ดี แต่ความกลัวมีอยู่ตลอด จนถึงวันนี้ถามว่าต่อให้ทำเสร็จแล้วก็ยังเป็นอยู่ คือเราเป็น introvert อย่างแรง
พอเป็นอินโทรเวิร์ตแล้วทำงานยากขึ้นไหม
เหนื่อยหน่อยมั้ง มันเป็นธรรมชาติของเรา เพราะเราจะเหนื่อยใจ เหนื่อยกาย พลังเราจะหด แต่ว่าเราก็โอเค เราอดทนได้
แต่ทำในวงการหนังที่ดูจะต้องพบเจอคนใหม่ๆ ตลอด ทำไมเลือกมาทำตรงนี้
เพราะทำอย่างอื่นไม่เป็นแล้ว จริงๆ นะ เหมือนไม่เคยคิดว่าจะไปทำอย่างอื่นได้มั้ง เคยคิดอยากขายไอติม เพราะชอบกิน แต่เราก็ไม่ชอบทำธุรกิจ ก็เลยไม่คิดจะทำอย่างอื่น เรารักสื่อนี้ เพราะเราเติบโตมาเป็นคนแบบนี้ เราชอบตัวเองที่เป็นแบบนี้ก็เพราะหนังเลย
เคยท้อกับการทำงานไหม
ช่วงปีแรกๆ ที่เรียนจบมั้ง ตอนเขียน Homestay เราเขียนอยู่สามปี เรารู้สึกว่ามันไม่ดีสักที ในขณะเดียวกันเพื่อนรุ่นเรา ที่เขาอยู่ในสายงานอื่น อย่างสายงานโฆษณา เขาไปได้เร็วมาก เขาเติบโตทางสายงานเขาได้เร็ว แต่เรากลับอยู่กับสิ่งๆ เดียวตั้งสามปี เหมือนเรียนมหาลัยใหม่เลย มันเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างเสียศูนย์ ไม่มั่นใจในตัวเอง เหมือนทำไมไม่ได้สักที กำลังทำอะไรอยู่
แต่พอมองย้อนกลับไปจริงๆ ก็สอนอะไรเราเยอะมาก ก็เลยรู้สึกว่าจริงๆ ไม่ต้องรีบขนาดนั้น คือแรกๆ จะรู้สึกว่าเราต้องโตไว พอเรียนจบมา คิดตลอดว่าเราอยากประสบความสำเร็จแล้ว เห็นเพื่อนๆ ที่โตไวแล้วแบบ เมื่อไหร่จะถึงจุดที่เราประสบความสำเร็จสักที
แต่ ณ จุดนี้ก็ไม่คิดขนาดนั้นแล้ว ไม่รู้จะรีบทำไม ยังไม่ได้จะตายเร็วๆ นี้ เรารู้สึกว่ามันไปได้เรื่อยๆ เราจะไม่คิดว่า อายุเท่านี้ต้องมีอะไร อายุเท่านั้นฉันต้องมีอะไร สำหรับเรามันไม่แมทเทอร์แล้ว เราจะใช้ชีวิตแบบที่เราอยากจะใช้ แล้วก็ไม่รีบ
ถ้างั้นตอนนี้สิ่งที่แมทเทอร์สำหรับพี่แคลร์คืออะไร
ปัจจุบันอะ เรื่องของวันนี้ แค่นั้น ใช้ชีวิตในวันนี้ให้ดี
ไม่ได้มองเรื่องความสำเร็จแล้ว หรือมองว่าความสำเร็จต้องมีแค่ไหน
นั่นน่ะดิ เราไม่รู้ว่าการประสบความสำเร็จของเรามันคืออะไร เหมือนเคยคิดว่าต้องรวย แต่ก็อยากรวยอยู่ เป็นเป้าหมาย อยากให้แม่สบาย หรือสิ่งนี้คือประสบความสำเร็จนะ?
แต่เราก็ไม่รู้ว่าประสบความสำเร็จแบบนั้นแล้วจะแฮปปี้ที่สุดไหม ก็เลยคิดว่าอาจจะไม่ต้องรีบ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปก็ได้ ไม่อยากจะประสบความสำเร็จแล้ว แล้ววันนี้ไม่มีความสุข อยากมีความสุขในทุกๆ วันแล้วก็ค่อยๆ ไปถึงจุดนั้นให้ดีก็ได้มั้ง ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจุดนั้นคืออะไร
อาจจะเป็น…รวยแหละๆ รวย!