เสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมานอกจากชาวไทยได้รู้ว่าใครได้เดิน Final Walk ของรายการ The Face Thailand ในวีคหน้า อีกข่าวบันเทิงที่กลายเป็นกระแสในโลกอินเทอร์เน็ตก็คือการที่ชาวไทยได้ทำความรู้จัก MILCS HONMONO ไอดอลญี่ปุ่น ผู้ชนะจากเวที Idol Matsuri ของญี่ปุ่นเมื่อปี 2015 โดยเฉพาะจากเหตุการณ์ที่ ล่าม ผู้แปลคำพูดในรายการ แปลคำพูดของของสี่สาวไอดอลผิดพลาดแม้แต่ในคำที่เบสิคสุดๆ จนเกิดเป็นกระแสพูดคุยกันมากมายในโลกอินเทอร์เน็ต จนกระทั่งทางบริษัทที่รับผิดชอบต้องออกจดหมายแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้น
หลายคนอาจเข้าใจว่าเป็นปัญหาจากการที่ล่ามมีศักยภาพไม่เพียงพอ แต่จริงๆ แล้วนี่อาจจะไม่ใช่ปัญหาที่ล่ามมีศักยภาพไม่เก่งพอ แต่น่าจะเป็นกรณีที่ล่าม ไม่ใช่ล่ามที่ถนัดด้านนี้มากกว่า อ้าว อย่าเพิ่งงงกัน เพราะเท่าที่เราทราบมา งานล่ามนั้นไม่ใช่แค่ “เอาคนพูดภาษาต่างประเทศคนไหนมาทำงานก็ได้” แต่เป็นงานที่ต้องการความสามารถเฉพาะทาง เพื่อไม่ให้เป็นการพูดเองเออเอง เราจึงถือโอกาสไปพูดคุยกับผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับสายงานแปลและล่ามกัน
‘ล่ามออฟฟิศ’ และ ‘ล่ามโรงงาน’ ตำแหน่งที่ (เกือบ) ทุกบริษัทญี่ปุ่นต้องการ
บุญชิต ล่ามและนักแปลอิสระ ที่เคยทำงานเป็นล่ามในบริษัทญี่ปุ่นทั้งในฐานะ ‘ล่ามออฟฟิศ’ และ ‘ล่ามโรงงาน’ บอกเล่ากับเราว่า โดยทั่วไปการเป็นล่ามใช้ทักษะใกล้เคียงกัน คือ ต้องมีสติอยู่เสมอ มีคลังคำภาษาไทยในหัวให้มาก เข้าใจมารยาทของภาษาต้นทางและปลายทาง และการอ่านสถานการณ์รอบตัวกับการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า เพราะล่ามจะเป็นตัวกลางระหว่างคนทำงานทั้งสองภาษา เวลาเกิดเหตุที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดพลาด ล่ามอาจะต้องเป็นคนกลางรับลูกเกลี่ยให้เนียน และช่วยเคลียร์ปัญหาจากฉากหลัง ข้อสำคัญข้อสุดท้ายที่บุญชิตบอกก็คือ “ต้องทำการบ้านอยู่เสมอ”
ส่วนประเภทของงาน ‘ล่ามออฟฟิศ’ กับ ‘ล่ามโรงงาน’ ที่กล่าวถึงไปแล้วนั้น แม้จะมีเนื้องานคล้ายๆ กัน แต่สภาพการทำงานแตกต่างกัน ต่อให้เป็นการทำงานในบริษัทเดียวกันเองก็ตาม อย่างในส่วนของ ‘ล่ามออฟฟิศ’ จะเป็นงานที่ถูกคาดหวังว่ามีกิริยามารยาท และการแต่งตัวเรียบร้อย ด้วยเหตุที่ว่าล่ามกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะถูกเรียกไปใช้งานเป็นล่ามสำหรับระดับผู้จัดการหรือผู้บริหารของบริษัท คำศัพท์อาจจะใช้คำสุภาพในระดับที่ควรผ่านการเรียน Business Japanese มาก็จะยิ่งดี ส่วน ‘ล่ามโรงงาน’ ส่วนใหญ่มักอยู่กับฝั่งผลิตหรือออกไปอยู่หน้าโรงงาน ทำให้ความเคร่งบางประการอาจจะน้อยกว่า แต่ก็ต้องชำนาญคำศัพท์ด้านการผลิตหรือเรื่องเครื่องจักรอุตสารกรรมขึ้นมาทดแทน
เรื่องที่บุญชิตมองว่าเป็นจุดที่ควรระวังสำหรับล่ามในบริษัทก็คือ การบริหารจัดการคนที่คุยผ่านล่ามให้เข้าใจว่าสิ่งที่ล่ามสามารถทำได้ คือการทำหน้าที่แปลภาษาไม่ใช่ล็อบบี้ยิสต์ของฝั่งใด ที่ช่วยเหลือได้คือการเป็นสื่อกลางสำหรับการสื่อสารเท่านั้น
ต้องเข้าใจทั้งบันเทิงไทยและเทศตามสไตล์ ‘ล่ามสายบันเทิง’
อีกคนที่เราได้สนทนาด้วยคือ ปณิตา อดีตพนักงานเกี่ยวข้องกับสื่อบันเทิงแห่งหนึ่ง ก่อนออกมาศึกษาต่อนั้นเธอได้มีโอกาสไปเป็นล่ามออกสื่อในการโปรโมทงานอยู่บ้าง นอกจากเรื่องพื้นฐานที่เธอให้ความเห็นไม่แตกต่างกับบุญชิต เธอยังเสริมเรื่องที่ ‘ล่ามสายบันเทิง’ ควรจะทำการบ้านให้หนักก็คือ ข้อมูลเบื้องต้นของ ชื่อกลุ่ม ชื่อวง ชื่อคน ชื่อภาพยนตร์ หรือ ชื่อตัวละคร ที่จะต้องเป็นล่ามให้ ด้วยเหตุที่ว่าเวลาออกสื่อนำเสนอตัวไปแล้วหากสื่อสารผิดพลาด ก็จะทำให้ทั้งแขกต่างชาติที่มา และคนดูเสียโอกาสในการทำความรู้จักซึ่งกันและกันไป
กรณีรายการสดปณิตาให้ความเห็นว่าล่ามควรทราบลำดับรายการอย่างชัดเจนว่า ในรายการจะมีช่วงอะไรบ้าง มีเฉพาะการคุยไหม มีการเล่นเกมไหม พิธีกรเป็นสไตล์ไหน และถ้าสามารถประสานงานได้ก่อนมารายการ ล่ามก็ควรบอกว่าเรื่องไหนที่ล่ามสามารถพูดได้ หรือ ส่วนไหนที่แขกรับเชิญสามารถตอบได้ นอกจากนี้ในหลายๆ กรณี อาจเป็นแขกรับเชิญเองตั้งเงื่อนไขว่าสิ่งไหนที่เขาอนุญาตให้ทำ ซึ่งส่วนนี้ล่ามเองก็ควรจะรับทราบ พร้อมบอกกล่าวคนที่มาสัมภาษณ์ก่อนเช่นกัน
แล้วคนว่าจ้างอยากได้ล่ามแบบไหน?
ด้านมุมมองของผู้ว่าจ้างล่ามหลายๆ คน ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ล่ามสายงานบันเทิงที่ออกสื่อได้ควรมีบุคลิกภาพ การแต่งตัว และไหวพริบที่ดี ซึ่งดูได้จากการพูดคุยสัมภาษณ์งาน หากสนใจด้านบันเทิงตรงสายก็จะยิ่งได้เปรียบ แล้วถ้าจ้างล่ามสำหรับสัมภาษณ์ดารา ก็ควรเป็นผู้มีประสบการณ์ หรือเคยทำงานล่ามแนวอีเวนต์สดบนเวทีมาก่อน และต่อให้ไม่สนใจเรื่องวงการบันเทิง ก่อนออกไปทำงานก็ต้องทำการบ้านมาให้ดี ซึ่งตรงนี้สำคัญกว่าประกาศนียบัตรการสอบวัดระดับความสามารถด้านภาษาญี่ปุ่นเสียอีก
นอกจาก ล่ามออฟฟิศ ล่ามโรงงาน ล่ามสื่อบันเทิง ก็ยังมีประเภทของล่ามแบบอื่นๆ อีกหลายหลาก อาทิ ‘ล่ามควบพิธีกร’ ‘ล่ามตู้’ ซึ่งล่ามแต่ละประเภทก็เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ต่างกันไป และแต่ละแบบก็มีความยากที่ไม่เหมือนกัน
แน่นอนว่าไม่มีใครอยากให้เกิดความผิดพลาด และเพื่อให้เกิดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด ล่ามที่รับงานก็ควรทำการบ้านให้หนักเนอะ