“My philosophy is very simple – when you see something that is not right, not fair, not just, say something, do something. Get in trouble, good trouble, necessary trouble.”
ประโยคข้างต้นเป็นหนึ่งในวรรคทองของภาพยนตร์เรื่อง ‘John Lewis: Good Trouble’ หรือในชื่อภาษาไทยว่า ‘จอห์น ลูอิสบุรุษกล้าขวางโลก’ ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตและการต่อสู้ของ จอห์น ลูอิส (John Lewis) นักการเมืองและนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง โดยเฉพาะสิทธิของคนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน
ความน่าสนใจของภาพยนตร์ เรื่อง John Lewis: Good Trouble คือมันไม่ใช่แค่หนังสารคดีชีวประวัติของ ‘ฮีโร่’ ซึ่งเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี ค.ศ.2020 แต่มันยังมอบบทเรียนและแรงบันดาลใจในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเท่าเทียมกันของคนได้อย่างยอดเยี่ยม
จงอารยะขัดขืนเพื่อให้สังคมมีอารยะ
ในภาพยนตร์ John Lewis: Good Trouble พยายามพาเราไปทำความรู้จักกับ ‘จอห์น ลูอิส’ ตั้งแต่วัยเด็กจนโต และชี้ให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขากลายมาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองคนสำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกา ในวัยเด็ก เขาและครอบครัว รวมถึงพี่น้องเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน คือผู้ถูกกดขี่จากคนผิวขาว โดยเฉพาะในรัฐแอละแบมา ซึ่งเป็นรัฐในตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาและขึ้นชื่อลือชาในการไม่ยอมรับคนผิวดำเป็นพลเมืองเทียบเท่าคนผิวขาว
แม้ในยุคที่จอห์น ลูอิสเกิด จะเป็นช่วงหลังจากมีการยกเลิกระบบทาสที่คนผิวขาวกดขี่คนผิวดำ แต่ความแบ่งแยกระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำไม่ได้ลดลง รัฐทางตอนใต้ของอเมริกายังมีการออกกฎหมายหรือนโยบายที่อ้างเรื่อง ‘แบ่งแยกแต่เท่าเทียม (Separate but Equal)’ กล่าวคือ เป็นการออกกฎหมายและนโยบายเพื่อแบ่งแยกกิจกรรมและพื้นที่ของคนขาวและคนดำออกจากกัน เช่น แบ่งแยกทางบนถนน ที่นั่งบนรถประจำทาง หรือแบ่งแยกตู้รถไฟ และหากมีการละเมิดข้อห้ามดังกล่าวก็จะถูกลงโทษด้วยการปรับหรือจับขัง
แน่นอนว่า จอห์น ลูอิสเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ถูกกดขี่จากระบบแบ่งแยกแต่เท่าเทียมด้วยเช่นกัน เมื่อเขาอายุได้ 17 ปี เขาต้องการจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทรอย แต่เขาก็ไม่ได้รับการตอบรับ (ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจาก ‘สีผิว’) จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เขาเขียนจดหมายไปหามาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองคนสำคัญอีกหนึ่งคนในประวัติศาสตร์อเมริกา และเขาได้รับคำแนะนำให้ฟ้องร้องเรื่องนี้ แต่ด้วยความไม่พร้อมที่จะเสี่ยงของครอบครัว ทำให้เขาตัดสินใจศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแนชวิลล์ และที่แห่งนี้ก็ได้ทำให้เขาได้เรียนรู้การเคลื่อนในแนวทาง ‘สันติวิธี’
สิ่งที่จอห์น ลูอิสและพวกได้เรียนรู้จากการเคลื่อนไหวในแนวทางสันติวิธี คือการทำ ‘อารยะขัดขืน’ ที่เขาเรียกว่า ‘การก่อความวุ่นวายที่ดี’ (Good Trouble) และนั้นได้นำไปสู่การเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ’Sit-In Movement’ ที่คนผิวดำใช้การประท้วงผ่านการเข้าไปยึดพื้นที่ที่เคยถูกแบ่งแยกระหว่างคนต่างสีผิว เช่น การเข้าไปนั่งที่หน้าเคาน์เตอร์ของร้านอาหาร
แม้ว่าการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวจะถูกตอบโต้อย่างรุนแรงโดยคนผิวขาว พวกเขาต้องถูกดำเนินคดีและถูกขัง แต่นั้นก็ทำให้การต่อสู้ของพวกเขามีความชอบธรรมเพิ่มมากขึ้น ได้แนวร่วมเพิ่มมากขึ้น และปอกเปลือยให้เห็นความไม่เป็นธรรมได้ชัดเจนขึ้น มันไม่ใช่แค่การออกไปเคลื่อนไหวเพื่อก่อความวุ่นวาย หรือที่สำนวนไทยเรียกว่า ‘แกว่งเท้าหาเสี้ยน’ แต่มันคือปฏิบัติการเพื่อท้าทายค่านิยมของสังคมและปลุกผู้คนให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณจะยอมนิ่งเฉยและเป็นส่วนหนึ่งของความไม่ถูกต้องหรือไม่
เมื่ออยู่บนสังเวียน นักสู้ย่อมมีบาดแผล
เมื่อจอห์น ลูอิสได้ก้าวเข้าสู่หนทางของนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง โดยเฉพาะสิทธิของคนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน แน่นอนว่า เขามีราคาที่ต้องจ่าย เขาถูกออกหมายจับอย่างน้อย 45 ครั้ง ถูกจับกุม คุมขัง และถูกทำร้ายร่างกายอีกหลายต่อหลายครั้ง และหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ความรุนแรงและทิ้งบาดแผลใหญ่ไว้ให้เขาก็คือ คือ การเดินขบวนประท้วงจากเมืองเซลมาถึงมอนต์กอเมอรี
ในการเดินขบวนครั้งดังกล่าว จอห์น ลูอิสและพ้องเพื่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง มีการใช้กระบอง แก๊สน้ำตา กับผู้ชุมนุมที่เดินขบวนอย่างสงบและปราศจากอาวุธ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ อาทิ ตัวลูอิสถูกตีที่ศีรษะจนหมดสติและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และยังมีผู้ร่วมเดินขบวนประท้วงชื่อ จิมมี แจ็กสัน (Jimmie Lee Jackson) ที่ถูกตำรวจผิวขาวยิงจนเสียชีวิต จากการสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงในครั้งนี้ ทำให้เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเรียกขานว่าเป็นเหตุการณ์ ‘วันอาทิตย์นองเลือด(Bloody Sunday)’
แม้ว่าการต่อสู้ของ จอห์น ลูอิสและพรรคพวกจะทำให้พวกเขาต้องตกที่นั่งลำบากอยู่หลายครั้ง แต่มันก็ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการตรากฎหมายรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิพลเมือง ปี ค.ศ.1964 ที่ห้ามการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนแอฟริกัน-อเมริกัน สตรี รวมทั้งการแบ่งแยกสีผิวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย รวมถึงการออกรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิการเลือกตั้ง ปี ค.ศ.1965 ที่กำหนดห้ามกีดกันประชาชนในการมีสิทธิเลือกตั้งโดยเหตุแห่งเชื้อชาติและสีผิว และให้อำนาจรัฐบาลกลางควบคุมการจดทะเบียนเลือกตั้งเพื่อป้องกันเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นปฏิเสธการเลือกตั้งแก่คนผิวดำ1
“อิสรภาพ…ไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ” แม้คำนี้ จอห์น ลูอิสจะไม่ได้กล่าว แต่มันก็สะท้อนผ่านการต่อสู้เรียกร้องของเขา และไม่ว่าเขาจะต้องเจอศึกหนักมากขนาดไหนจากการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง เพื่อให้คนเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกัน ได้รับการคุ้มครองจากรัฐไม่แตกต่างจากคนผิวขาว เขาก็ยังคงปักหลักสู้ ยังพร้อมขึ้นเวทีปราศรัย และนำการชุมนุมได้นับพันครั้ง
การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยไม่มีวันสิ้นสุด
หนึ่งในฉากสำคัญที่ถูกนำมาใส่ในภาพยนตร์ John Lewis: Good Trouble คือ การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งให้กับผู้สมัครที่สนับสนุนสิทธิพลเมือง เพราะการต่อสู้ทางการเมืองหาใช่อยู่แค่บนท้องถนนแต่รวมไปถึงการช่วงชิงพื้นที่ในสถาบันทางการเมืองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลง และด้วยเหตุนี้เอง จอห์น ลูอิสในฐานะนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองจึงผันตัวเข้าสู่สนามการเมืองด้วยความหวังอย่างแรงกล้าที่จะปกปักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตย
แม้ว่า ความคิดความเชื่อเรื่อง ‘คนเท่ากัน’ จะถูกหว่านเมล็กและงอกงามมาโดยตลอดผ่านการต่อสู้เรียกร้อง แต่ประชาธิปไตยในสหรัฐก็ไม่ได้เดินหน้าเป็นเส้นตรง มีหลายครั้งที่ประชาธิปไตยก็มีภาวะถดถอย โดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมของสหรัฐอเมริกาพยายามยกประเด็นเรื่องการ ‘โกงเลือกตั้ง’ ขึ้นมา โดยมีเจตนาให้รัฐท้องถิ่นมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลาง หรืออีกนัยหนึ่งคือเปิดช่องให้รัฐท้องถิ่นแก้เงื่อนไขในการเข้าถึงสิทธิการเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐบาลกลาง และศาลสูงก็เป็นคนเปิดไฟเขียวเรื่องนี้ ตั้งแต่ปี ค.ศ.2013
ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่วางตัวสนับสนุนกลุ่ม ‘คนขาว(คลั่งชาติ)’ ซึ่งส่งผลต่อบรรยากาศการอยู่ร่วมกันระหว่างคนขาวและกลุ่มเชื้อชาติอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้อพยพ อีกทั้งทรัมป์ยังมีนโยบายในการกีดกั้นผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ อย่างสุดโต่ง นี่ยังไม่นับรวมปัญหาการวางตัวที่เป็นคู่อริกับสื่อมวลชนเมื่อถูกตั้งคำถาม หรือการลดทอนนโยบายส่งเสริมสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
ด้วยสัญญาณการถดถอยของระบอบประชาธิปไตยเช่นนี้ จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ จอห์น ลูอิสออกมาสนับสนุนนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิพลเมือง และหวังให้คนกลุ่มได้กล่าวได้รับเลือกเข้าไปในสภาให้ได้มากที่สุด และในขณะเดียวกัน เขายังเป็นตัวการสำคัญในการผลักดันให้ก่อตั้ง National Museum of African American History and Culture เพื่อช่วยบันทึกความทรงจำและประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง ไม่ให้การต่อสู้ ความเสียสละ และความสูญเสียของคนที่เคยต่อสู้ต้องสูญเปล่า
และเพื่อไม่ให้ชนรุ่นหลังลืมว่า “เราเดินทางมาไกลเกินกว่าจะกลับไปนับหนึ่ง”
Content by Nutchapakorn Nummueng
Proodreab by Pongpiphat Banchanont
อ้างอิง
[1] ฐิติกร สังข์แก้ว, “อ่านความเป็นพลเมืองในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกา: บริบทเชิงนิติประวัติศาสตร์และภาคปฏิบัติการทางการเมือง”, วารสารวิชาการบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร สาขามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ Vol.6 No.1 (มกราคม – เมษายน พ.ศ.2556)