งาน StreetFoto San Francisco ที่เพิ่งผ่านมาไม่นาน มีช่างภาพไทยหลายคนผ่านเข้ารอบและได้รับรางวัล หนึ่งในนั้นคือ จุฑารัตน์ ภิญโญดุลยเจต ช่างภาพสตรีทหญิง ที่ผ่านเข้ารอบ Finalist 2 หมวดด้วยกัน คือ Best street photograph ที่เข้ารอบ ถึง 2 ใบ และหมวด Best street photography series ที่ต้องส่งรูปหลายๆ ใบเป็นภาพชุด เป็นเหมือนการบอกเล่าเรื่องราวบางอย่างที่น่าสนใจ
The MATTER จึงชวนเธอมาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงมุมมองการถ่ายสตรีท ที่มาของภาพซีรีส์ว่ามีที่มายังไง รวมไปถึงขณะนี้เธอกำลังเรียนถ่ายรูปอยู่ที่นิวยอร์ก จึงถามไปถึงว่าอะไรคือความแตกต่างระหว่างการถ่ายรูปที่ไทยและที่นิวยอร์ก
The MATTER : อะไรเป็นจุดเริ่มต้นให้หันมาถ่ายภาพสตรีท
จุฑารัตน์ : เราชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว ตอนเรียนมหาลัยก็ถ่ายเพื่อน ถ่ายงานคณะ แต่รู้สึกเบื่อก็เลยไม่ได้ถ่ายรูปจริงจัง วันนึงเราไปเห็นรูปในกรุ๊ป Street Photo Thailand แล้วก็เข้าไปดูภาพ Editor’s Pick มันจะเป็นการรวมภาพสตรีทที่ดีสุดในแต่ละเดือนมารวมกันเป็น E-magazine จำได้ว่าตื่นเต้นมาก เพราะเราไม่เคยเห็นภาพที่เจ๋งขนาดนั้นมาก่อนเลย หลังจากนั้นเราเลยดูงานสตรีทมาเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้ถ่ายนะ แค่ตามดูเฉยๆ เพราะรู้สึกว่าฝีมือไม่ถึง
เมื่อปี 2014 กรุ๊ป Street Photo Thailand มีโปรเจกต์ 365 คือการถ่ายรูปสตรีทลงกรุ๊ปทุกวัน วันละ1รูป เราก็นั่งดูสนุกมากเลย มีพี่คนนึงที่เราต้องกดเข้าไปดูภาพเค้าทุกวันคือ พี่ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์ เราชอบภาพพี่เค้ามากจนตามไป workshop กับกลุ่ม SPT ในปีถัดมา หลังจากนั้นก็เนิร์ดถ่ายสตรีทมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้
The MATTER : อยากให้เล่าที่มาของภาพซี่รีส์ชุดที่เข้ารอบในงาน StreetFoto San Francisco ว่ามีแนวคิดยังไง
จุฑารัตน์ : หลังจากที่ถ่ายรูปสตรีทไปสักพักนึง เราพบว่างานสตรีทในประเทศไทยตอนนี้ ส่วนใหญ่เน้นกันที่ภาพเดี่ยวมากกว่าภาพชุด และอาจจะเป็นเพราะเราเรียนหนังมาด้วย ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเองด้วยการเล่าเรื่องจากภาพหลายๆ ภาพต่อๆ กันมากกว่า แต่เราไม่รู้ว่าจะพัฒนาการทำภาพชุดยังไง เพราะในเมืองไทยไม่ค่อยมีใครแนะนำการทำภาพชุด
เราจริงจังถึงขั้นมาเรียนถ่ายรูปต่อที่ ICP (International Center of Photography) ที่นิวยอร์ก ครูที่นี่ก็ช่วยผลักดันให้เราเข้าใจงานตัวเองมากขึ้น ภาพชุดที่เราได้มาก็เป็นภาพที่สะท้อนตัวเราเอง คือการมองในสิ่งที่ไม่มีใครสนใจให้ดูพิเศษขึ้นมา เราเชื่อว่าทุกอย่างมีความพิเศษในตัวมันเอง เพียงแต่ไม่มีใครเห็น และเราก็อยากเป็นคนที่ถ่ายทอดสิ่งพิเศษในคราบความธรรมดานี้ออกมาให้คนอื่นเห็นว่า เฮ้ย รอบตัวเรามันมีอะไรแบบนี้อยู่นะ!
The MATTER : แล้วภาพที่เข้ารอบ Finalist ทั้งสองรูป มีที่มาที่ไปยังไง
จุฑารัตน์ : ภาพที่เข้ารอบ Finalist ของ StreetFoto San Francisco ของเรามีสองภาพ ภาพแรกถ่ายที่นิวยอร์ก แถวสะพานบรุกลิน เป็นย่านที่เราชอบไปมากๆ ตอนวันเสาร์อาทิตย์ เพราะมันคือหนึ่งในสถานที่ที่คนนิยมถ่าย pre wedding กันเยอะที่สุด มันตลกมากๆ เวลาเห็นบ่าวสาวยืนรอกันเพื่อรอจุดถ่ายรูปยอดฮิต แล้วก็มีอะไรสนุกๆ เกิดขึ้นเต็มไปหมดเลย
รูปนี้เราใช้กระโปรงของกลุ่มเพื่อนเจ้าสาวมาบังเป็นฉากหน้า แล้วตอนที่เดินถ่ายเห็นเงาตัวเองพาดยาวได้ตำแหน่งพอดีเลยถือโอกาสเซลฟีไปด้วย ซึ่งมันพอดีกับช่องว่างระหว่างชุดกระโปรงขาวเลย ส่วนเด็กคนนั้นกำลังวิ่งตามโดรนที่บินถ่ายคู่บ่าวสาวอยู่
ภาพนี้เป็นภาพที่เรารู้สึกว่ามันเป็นตัวเราที่สุด เพราะมีตัวเองอยู่ในรูป (เฮ้ย! ไม่ใช่) แต่จริงๆ ก็อาจจะเกี่ยวเพราะเราเป็นคนชอบเซลฟี เงาตัวเองมากกว่าหน้าตัวเอง เราเป็นคนชอบแพตเทิร์น ชอบความสมมาตร ชอบสี แล้วก็ชอบสร้างเรื่องราวสนุกๆ ในภาพ ซึ่งรูปนี้มีครบหมดเลย ถือว่าเป็นรูปในดวงใจเราเลย ตอนที่ได้โชว์รูปนี้ที่ซานฟราน เราดีใจมากๆ
ส่วนอีกภาพถ่ายเมื่อปีก่อนตอนยังอยู่ไทย ถ่ายที่หน้าเซ็นทรัลเวิร์ลตอนกำลังจะไปช่วยเพื่อนเปิดบูธขายของ มันเป็นลานให้คนถ่ายรูปเล่น เราเป็นคนชอบถ่ายอะไรสีจัดๆ อยู่แล้ว เจอ scene แบบนี้คือยืนแช่อยู่ตรงนั้นเลย ตอนนั้นจำได้ว่าเที่ยงเป๊ะ แดดร้อนมากๆ ยืนถ่ายอยู่ประมาณเกือบชั่วโมง มีแต่คนบ้าเท่านั้นที่ยอมตากแดดเพื่ออะไรแบบนี้
เราเดินถ่ายอยู่หลายมุมเหมือนกัน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา จนมาได้รูปนี้ที่มันดูสมมาตรกันที่สุด แล้วท่าทางของsubject ก็สนุกและตลกดี ดูไม่มีใครสนใจอะไรใครทั้งนั้น สามกลุ่มสามมุมมาก
เราดีใจ เพราะต่อให้เราอยู่นิวยอร์ก และถ่ายรูปในนิวยอร์กมาตลอดหนึ่งปี แต่รูปที่ได้รับเลือกก็ยังเป็นรูปนี้ที่เราถ่ายที่ไทย มันเป็นรูปที่เราพูดได้ว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน ภาพของคุณก็น่าสนใจได้ สังเกตได้จากที่คนไทยเข้ารอบ StreetFoto San Francisco เยอะที่สุดเลยนะ ถ้าเมืองไทยไม่น่าสนใจแล้วเราจะติดกันเข้าไปเยอะขนาดนี้ได้ยังไง
The MATTER : มีวิธีเลือก subject หรือ scene ในการถ่ายภาพยังไงบ้าง
จุฑารัตน์ : เราเป็นคนชอบมองสีมาก เวลาที่เห็นอะไรที่ตามที่สีจัดมันจะดึงดูดสายตาเราเสมอ จะเป็นฉาก เสื้อผ้า สีผม หรืออะไรก็ได้ที่สีจัดๆ มันเป็นอย่างแรกที่เราสนใจ บางทีต่อให้ subject ดีมาก แต่สีไม่สวยเราก็ไม่ชอบนะ รู้สึกว่ารูปจืดไป อีกอย่างที่ชอบคือเรื่องของรูปทรง พวกกราฟิก สองอย่างนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราหยุดและสนใจที่จะถ่ายเสมอ
แต่สำหรับเราแค่นี้มันไม่พอ เพราะถ้าสนใจแค่เรื่องเส้นและสี มันเป็นอะไรที่คนจะทำตามได้ง่ายมาก สิ่งที่จะทำให้รูปของเราไม่สามารถมีใครทำซ้ำได้ คือการเติมเรื่องราวเข้าไปในภาพด้วย สมมติว่าเราเห็นฉากที่น่าสนใจ เราจะรอและขอพรให้มี subject ที่ใช่เข้ามาในเฟรม หลายครั้งเราจินตนาการเรื่องราวไว้ก่อนว่า ถ้าตรงนั้นมีคนมาทำแบบนี้ก็ดีนะ บางครั้งพระเจ้าก็เข้าข้างส่งคนที่ใช่มาให้เราจริงๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้หรอก
The MATTER : อะไรคือความแตกต่างของการการถ่ายรูปสตรีทที่ไทย กับนิวยอร์ก
จุฑารัตน์ : นิวยอร์กมี subject ที่น่าสนใจเยอะมาก คนประหลาด กิจกรรมประหลาดเยอะมาก แต่คนที่นี่ก็โหดมากเช่นกัน หลายครั้งที่เราอยากถ่ายแต่ไม่กล้าจริงๆ เพราะกลัวมีปัญหาถึงขั้นแจ้งตำรวจ แต่ยังไม่เคยโดนนะเพราะไม่กล้าไง บางทีเราก็มีเซนส์แหละว่าคนไหนถ่ายได้หรือถ่ายไม่ได้ และเราก็ไม่ใช่คนที่มุทะลุขนาดที่จะไม่แคร์ใครขนาดนั้น หลายครั้งที่เราคิดว่าเราไม่ใช่ช่างภาพที่ดีพอ เพราะเราเคารพคนอื่นอยู่สูงเหมือนกัน
ในเมืองไทยเราไม่เคยมีปัญหากับใคร เราว่าคนไทยใจดีและมีนิสัยไม่ค่อยกล้า คือต่อให้เราไปถ่ายเค้าใกล้ๆ อย่างมากก็จะได้ยินเสียงพูดงึมงำว่ามันถ่ายอะไรของมันเนี่ย แต่ไม่เคยมีใครมาว่าเราตรงๆ เคยมีคนมาขอดูรูปที่เราถ่าย เราก็เอาให้ดู กลายเป็นเค้าบอกว่า เฮ้ย! แปลกดี เราคิดว่ามันอยู่ที่เจตนาด้วย เราไม่เคยมีเจตนาอยากทำให้คนในรูปของเราเสียหาย หรือต่อให้มันเป็นพฤติกรรมที่สองแง่สามง่าม เราจะถ่ายแบบไม่ให้เห็นหน้าเค้า รูปของเรามันก็เลยจะไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่เมื่อเทียบกับของคนอื่น
พอเรามานิวยอร์กนี่เรารู้เลยว่า เมืองไทยประหลาดมากนะ นิวยอร์กมันเป็นความประหลาดแบบตั้งใจ คนตั้งใจแต่งตัวแรงๆ ทำตัวเพี้ยนๆ แต่เมืองไทยเป็นความประหลาดแบบไม่ตั้งใจ เช่น แผ่นซีดีไล่แมลงวัน จ่าเฉย ม้าลายไหว้ศาล เศษแก้วกันขโมยตามกำแพงบ้าน เราพบว่าความประหลาดแบบไม่ตั้งใจนี้มันมีเสน่ห์มาก แต่เป็นการค้นพบหลังจากที่เรามาอยู่นิวยอร์กนะ ตอนอยู่เมืองไทยเราก็ไม่เคยรู้หรอกว่าของใกล้ตัวเรามันพิเศษยังไง เราตั้งใจว่าเรากลับไทยแล้วจะถ่ายรูปของพวกนี้บันทึกเอาไว้ มันจะไม่ใช่รูปที่คนกดพันไลก์ แต่มันคือรูปที่บันทึกความเป็นไปของสังคมจริงๆ และเราว่านี่คือหนึ่งในแก่นของการถ่ายรูปสตรีท
The MATTER : อะไรคือข้อดีข้อเสียของการเป็นช่างภาพสตรีทหญิง ลำบากกว่าเดิมหรือง่ายขึ้นกว่าช่างภาพผู้ชายยังไง
จุฑารัตน์ : ข้อดี คือเราคิดว่าเราเข้าหา subject ได้ง่ายกว่า เราคิดว่าการเป็นผู้หญิงมันดูมีความเป็นมิตรมากกว่า แต่ในขณะเดียวกัน การเป็นผู้หญิงทำให้เราไม่กล้าเสี่ยงที่จะเดินไปถ่ายในที่เปลี่ยวๆ คนเดียว หรือพอตกดึกปุ๊บเราจะกลับบ้านเลยเพราะกลัว ในบางสถานที่เราจะไม่กล้าไปคนเดียวเลยถ้าไม่มีเพื่อนผู้ชายไปถ่ายด้วย ก็มีทั้งความลำบากและสบายนะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์แหละ
ถ้าไม่ได้พูดถึงเรื่องกระบวนการถ่าย เราพบว่าช่างภาพหญิงจะพูดเรื่องอุปกรณ์น้อยกว่าช่างภาพผู้ชายมาก เราไม่ได้พูดถึงช่างภาพสตรีทแล้วนะ เพราะช่างภาพสตรีทผู้หญิงมีอยู่ 5% (เดามั่ว) เราพูดถึงความเป็นช่างภาพ โดยทั่วไป ช่างภาพผู้หญิงมักจะคุยกันเรื่องความคิดในการถ่ายรูปมากกว่าอุปกรณ์ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราชอบมาก เพราะเราไม่รู้เรื่องอุปกรณ์เลย