คัทสึชิกะ โฮคุไซ (Katsushika Hokusai) คือศิลปินสำคัญคนหนึ่งของชาวญี่ปุ่นที่คุณอาจจะไม่คุ้นชื่อ แต่ผลงานของเขาน่าจะเป็นที่คุ้นตาอย่างแน่นอนเพราะเขาคือศิลปินผู้สร้างผลงานที่โดดเด่นระดับโลกอย่างเช่น ภาพคลื่นนิ่ง (The Great Wave off Kanagawa) และ ภาพเสพสพเหนือจินตนาการของ ปลาหมึกและหญิงสาว (The Dream of the Fisherman’s Wife)
นอกจากนั้น โฮคุไซ ยังสร้างผลงานที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือไม่ธรรมดา อย่างที่เคยมีการบันทึกไว้ว่า ตัวของโฮคุไซเคยวาดภาพพระโพธิธรรมขนาดยักษ์บนกระดาษที่มีความใหญ่ถึง 120 ผืนเสื่อตาตามิ หรือราวๆ 198 ตารางเมตร แล้วก็มีบันทึกอีกครั้งหนึ่งที่กล่าวว่า ศิลปินคนดังกล่าวสามารถเขียนภาพนกกระจอกสองตัวลงบนเม็ดข้าวอย่างงดงามได้
ชีวิตและผลงานของ โฮคุไซ มีความหลากหลายทำให้หลายคนทำการศึกษากับตีความการใช้ชีวิตของเขาอยู่บ่อยครั้ง ทาง The MATTER เองก็เคยพูดถึงผลงานของเขามาก่อนแล้วเช่นกัน จากเหตุเหล่านี้กอปรกับการที่ทาง เดอะ เจแปนฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ได้จัดนิทรรศการสัญจรระหว่างประเทศที่ใช้ชื่อว่า ‘มังงะ โฮะคุไซ มังงะ : ต้นกำเนิดการ์ตูนญี่ปุ่น’ ที่ หอนิทรรศการ g23 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (งานจัดถึงวันที่ 22 กันยายน นี้) และมีมุมหนึ่งของนิทรรศการนี้ดึงความสนใจของเราได้ไม่น้อย ก็คือเรื่องราวของลูกสาวของโฮคุไซ คัทสึชิกะ โออิ (Katsushika Oei)
ลูกสาวผู้ตามรอยและอยู่ใต้เงาของบิดา
ตามประวัติศาสตร์จริงแล้ว คัตสึชิกะ โออิ หรือถูกเรียกในชื่อ โอเอะ (O-Ei) , เอะอิ/เอย์ (Ei) หรือ เอย์โจ (Eijo) เป็นลูกสาวคนที่สามจากภรรยาคนที่สองของโฮคุไซ ประวัติส่วนตัวของเธอในส่วนอื่นไม่ชัดเจนนัก ยกเว้นจากที่มีระบุไว้ว่าเธอเคยแต่งงานครั้งหนึ่งกับ ทสึทสึมิ โทเมย์ (Tsutsumi Tomei บ้างก็อ่านว่า Minmamisawa Tomei) ก่อนจะหย่าร้างกันด้วยเหตุผลที่ว่าสามีของเธอเป็นศิลปินด้อยฝีมือทั้งยังยากจน จนเธอตัดสินใจกลับมาอาศัยอยู่กับบิดาของเธอ และกลายเป็นคนที่ร่วมงานกับยอดศิลปินของเกาะญี่ปุ่นไปตลอดชีวิต
แม้จะเป็นอิสตรี แต่ โออิ เป็นลูกไม้ที่หล่นใกล้ต้นมากกว่าลูกคนอื่นๆ ถึงอย่างนั้นความสัมพันธ์ของเธอกับพ่อก็สนิทสนมจนถึงระดับ ‘ฮาร์ดคอร์’ อย่างที่มีบันทึกไว้ว่า เวลาที่พ่อลูกคู่นี้ทำงานด้วยกันนั้น ต่างฝ่ายต่างเรียกอีกฝั่งด้วยคำพูดว่า ‘เฮ้ย เฮ้ย’ และโออิก็เรียกพ่อเธอว่า ‘ตาลุง’ แบบไม่เกรงใจเท่าใดนัก
ความสัมพันธ์ของหญิงสาวกับบิดาอาจจะดูไม่ดี (หรือมองอีกแง่ก็คือสนิทจนไม่ต้องมีความเกรงใจ)
แต่ก็มีบันทึกทีกที่กล่าวไว้ว่าตัวโฮคุไซเคยออกมาบอกว่า “ถ้าเป็นภาพแนวบิจิงะ (หญิงงาม) ฝีมือฉันเทียบกับโออิไม่ได้หรอก” ซึ่งคำพูดนี้ก็ไม่เกินเลยไปนัก ดูได้จากผลงานของโออิที่เขียนหญิงสาวในสไตล์ที่โดดเด่นกว่าภาพเขียนของศิลปินในยุคเดียวกัน อาจจะเป็นผลจากการที่ผู้วาดเป็นผู้หญิงเหมือนกันจึงมองความงามของสตรีเพศด้วยกันแตกต่างจากศิลปินท่านอื่นในยุคที่เป็นผู้ชาย
ความโดดเด่นในงานของโออิยังมีเรื่องการใช้แสงเงาและเล่นสีสันในภาพ จนแทบจะบอกว่าได้ว่าเธอมีความชำนาญทั้งสองด้านนี้เกินหน้าศิลปินหลายคนในยุค หลักฐานที่มีให้นักประวัติศาสตร์ศิลป์ได้เห็นก็คือจดหมายของเธอที่เขียนส่งให้ลูกศิษย์ที่อยู่ทางไกลเกี่ยวกับการเตรียมสีสำหรับวาดภาพ กับบันทึกของ เคไซ เอเซ็น (Keisai Eisen) ลูกศิษย์คนหนึ่งของโฮคุไซ ที่กล่าวว่า ตัวโออินั้น “นอกจากที่จะมีความสามารถในการวาดแล้ว เธอยังเป็นช่างลงสีที่ชำนาญยิ่ง”
น่าเสียดายที่ความเก่งกาจที่เพื่อนร่วมวงการยังชื่นชมของโออินั้นตกอยู่ภายใต้เงาดำที่มาจากชื่อเสียงของพ่ออยู่ไม่น้อย ส่วนหนึ่งมาจากการที่งานของเธอตีพิมพ์ภายใต้ชื่อของพ่อเธออยู่มาก และผลงานที่มีชื่อของเธออยู่บนตัวงานก็มีจำนวนไม่มากเท่าผู้เป็นพ่อ แถมการจดประวัติศาสตร์ในยุคนั้นก็มีอยู่น้อยนิด และอาจจะเป็นยุคสมัยที่ยังไม่อำนวยให้ผู้หญิงโดดเด่นมากนัก ทำให้ชื่อของเธอถูกมองข้ามไปได้โดยง่าย
Miss Hokusai : หนังที่ทำให้ชาวโลกได้รู้จัก โออิ มากกว่าที่เคย
อย่างที่บอกไปในข้างต้นแล้วว่าตัวของโออิถูกชื่อเสียงของโฮคุไซบดบังเอาไว้ จนหลายท่านที่ไม่ได้ติดตามประวัติศาสตร์ศิลป์ของญี่ปุ่นอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเธอเอาเสียเลย ยอมรับตามตรงว่าผู้เขียนเองก็ไม่รู้จักเธอมาก่อนเช่นกัน จนกระทั่งได้เห็นชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ปรากฎอยู่ใน อนิเมชั่น 27 เรื่องที่ถูกยื่นเข้ามาเพื่อชิงออสการ์สาขาอนิเมชั่นในปี 2017 และนั่นทำให้เราพยายามหาภาพยนตร์เรื่องนี้มารับชมในเวลาต่อมา
หนังเรื่อง Miss Hokusai นั้นเป็นการนำเอาหนังสือการ์ตูนเรื่อง Sarusuberi ที่เป็นผลงานการ์ตูนของ สุกิอุระ ฮินาโกะ (Sugiura Hinako) ที่ตีความเรื่องราวของ คัทสึชิกะ โออิ ใหม่ตามแนวทางการศึกษาของเธอ เนื่องจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของตัวโออินั้นมีอยู่น้อยนิด ประวัติส่วนตัวหลายๆ อย่างนั้นนักประวัติศาสตร์ก็ยังไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ การ์ตูนเรื่องนี้จึงเลือกที่จะเล่าเรื่อง โออิ ที่สร้างผลงานตั้งแต่ช่วงเป็นสาววัยรุ่นยาวไปจนถึงช่วงกลางคน ละเว้นรายละเอียดบางอย่างที่ไม่ค่อยชัดเจนทิ้งไป ก่อนจะเสริมด้วยจินตนาการของผู้แต่งเกี่ยวกับการวางตัวของแต่ละตัวละคร
อีกสิ่งที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้โดดเด่นก็คือการเลือกที่จะไม่ทำตามขนบของการ์ตูนประวัติศาตร์โดยทั่วไปที่จะเล่าเรื่องไล่เรียงตามวัยของตัวละคร ก่อนจะชื่นชมว่าพวกเขาได้ทักษะมาอย่างไร มังงะเรื่องนี้เลือกที่จะโฟกัสเนื้อหาในแต่ละตอนด้วยการเล่า ‘เบื้องหลัง’ ของการสร้างภาพแต่ละภาพทั้งของตัว โฮคุไซ และ โออิ จึงทำให้เนื้อหาทั้งหมดไม่ได้ต่อติดกัน แถมลายเส้นก็พยายามทำให้ดูเหมือนภาพอุกิโยะ กลายเป็นว่ามังงะเรื่องนี้ใกล้เคียงหนังสือเรียนศิลปะที่มีเนื้อเรื่องสนุกสนานมากกว่า
ในฉบับอนิเมชั่นนั้นปรับเส้นสายให้ทันสมัยและดูเข้าใจง่ายมากขึ้น แต่ตัวเนื้อหาก็ยังใกล้เคียงกับต้นฉบับมังงะ จุดที่ปรับเปลี่ยนไปเล็กน้อยก็คือในฉบับหนังพยายามเรียบเรียงเส้นเรื่องให้เข้าใจง่ายมากขึ้น ภาพที่เราเห็นในเรื่องจึงกลายเป็นโออิผู้คร่ำเคร่งกับการสร้างผลงาน จนไม่สนใจในการดูแลบ้านช่องตามความนิยมของสาวญี่ปุ่นในยุคนั้น อีกด้านที่ตัวหนังกล้าทำให้เห็นชัดขึ้นก็คือ ความสัมพันธ์ของโออิกับครอบครัวทั้งฝั่งพ่อกับฝั่งแม่ที่แยกกันอยู่ไปแล้ว และน้องสาวที่ตาบอดที่ในเรื่องส่งผลต่อการสร้างงานของโออิเอง ถึงจะเสริมแต่งเรื่องราวไปมาก เนื้อหาของทั้งตัวมังงะและอนิเมชั่นก็ยังเก็บเหตุการณ์สำคัญๆ ของตัวโฮคุไซมาให้ชมกันหลายฉากทีเดียว และถึงตัวเดินเรื่องจะเป็นสาวแกร่งเกินยุคตัวหนังก็ยังไม่ได้สร้างเรื่องให้เป็นหนังแนวสิทธิสตรีแต่อย่างใด
บอกได้เลยว่า การ์ตูนเรื่องนี้ไม่ใช่ของที่คนหมู่มากจะนิยม ไม่ว่าจะด้วยจังหวะหน่วงๆ ของเนื้อเรื่อง รวมถึงแนวคิดของตัวละครที่ดูแล้วชวนคิดอยู่สักหน่อยว่าจะมีคนแบบนี้อยู่ด้วยหรือ กระนั้นในความเนือยจนชวนเหนื่อยนี้ก็มีประกายอัดงดงามของการสร้างผลงานศิลป์แต่ละชิ้นอยู่ และถ้าคุณชื่นชอบงานศิลปะญี่ปุ่น โดยเฉพาะงานของโฮคุไซและตัวโออิละก็ คุณจะสนุกสนานกับการบอกเล่าเบื้องหลังทั้งในแบบจริงจังและแบบเหนือจริงของหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน
งานของ โออิ พาเราไปที่ใด ?
หนัง Miss Hokusai จบลงด้วยการสรุปเรื่องชีวิตของตัวโฮคุไซ ก่อนจะมีคำอธิบายตามมาต่อว่า โออิในประวัติศาสตร์จริงเป็นอย่างไรต่อ ที่ตัวหนังไม่ได้บอกเล่าไว้เลยก็คือภาพของโออินั้น ถูกกระจายไปหลายต่อหลายแห่ง บ้างก็ยังอยู่รอดในบ้านเกิดมาจนถึงยุคปัจจุบัน แล้วก็มีบางชิ้นที่หลุดรอดไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศบ้างเช่นกัน ซึ่งก็เป็นความโชคดีของผู้ชมในรุ่นหลังที่เรายังโชคดีเห็นเทคนิคการวาดภาพและลงสีแบบไม่เหมือนใครของเธอ
ส่วนประวัติที่คลุมเครือของเธอก็ทำให้นักประวัติศาสตร์ศิลป์หลายต่อหลายท่านพยายามหาหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับตัวของเธอ นอกจากผู้ชำนาญการด้านประวัติศาสตร์ ก็ยังมีนักแต่งนิยายอย่าง Katherine Govier นำเรื่องของ โออิ มาแต่งเป็นนิยายชื่อ The Ghost Brush ด้วย
การที่เราจับจ้องมายังชีวิตของ โออิ ที่เป็นเพียงมุมเล็กๆ มุมหนึ่ง ในงานนิทรรศการ ‘มังงะ โฮะคุไซ มังงะ : ต้นกำเนิดการ์ตูนญี่ปุ่น’ ไม่ใช่เพียงเพราะเธอเป็นลูกสาวของศิลปินนามอุโฆษเท่านั้น เรายังมองว่าเธอเองก็เหมือนกับศิลปินยอดฝีมือท่านอื่นๆ บนโลกนี้ ที่อาจจะเรียนรู้อะไรจากบางสิ่ง ได้รับอิทธิพลจากบางคน ก่อนที่จะแสดงความเป็นตัวเองสู่ผลงาน และสามารถส่งความรู้สึกที่ต่อให้ใครก็ตามที่ได้เสพงานของเธอ แล้วได้อะไรไปพัฒนาตนเองต่อไป
ผู้เขียนก็หวังว่าผู้อ่าน The MATTER ทุกท่านจะเข้ามาอ่านเว็บของเราแล้วได้เอาอะไรไปใช้งานต่อเช่นกันนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Spoon-Tamago – Oei Katsushika: an artist lost in her father’s shadow