เดือนนี้ถือเป็นช่วงเวลาแฮปปี้ของคนชอบความรู้คู่การ์ตูน เพราะมีงานสัมนามังงะและการ์ตูนหลายงานเลยทีเดียว
หนึ่งในงานสัมมนา The MATTER แวะเวียนไปก็คืองาน ‘อ่านมังงะในฐานะวัฒนธรรมสมัยนิยมข้ามวัฒนธรรม’ ที่ได้ ผศ. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ อาจารย์ผู้ชำนาญการทั้งในด้านปรัชญาและการ์ตูน ผู้สอนวิชา ‘ปรัชญากับการ์ตูน’ ที่คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มาบอกเล่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมมังงะในญี่ปุ่น จนถึงปัจจุบัน และปิดท้ายด้วยการเสวนากับผู้เข้าร่วมงานว่าคิดเห็นเป็นอย่างไร
วัฒนธรรมมังงะในประเทศญี่ปุ่นยุคต้น
งานเริ่มต้นด้วยการสนทนาเล็กน้อยแล้วสลับเกียร์เหยียบคันเร่งเข้าสู่เนื้อหาหลักของงานทันที ผศ. บุญส่ง เริ่มต้นด้วยการย้อนกลับไปสู่รากเหง้าของวัฒนธรรมการ์ตูนมังงะของญี่ปุ่นที่กล่าวกันว่า มาจากภาพชุด Choju Jinbutsu Giga ภาพเขียนสัตว์ประเภทต่างๆ อย่าง กบ กระต่าย ลิง ซึ่งในตอนนั้นถูกเขียนขึ้นมาเพื่อล้อเลียนและวิพากษ์สังคมสงฆ์ยุคนั้น กระนั้นภาพแนวนี้ก็ยังไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง เพราะการทำซ้ำต้องคัดลอกด้วยมือเท่านั้น
เวลาผ่านเข้าสู่ยุคของ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ไดเมียวผู้ยกทัพญี่ปุ่นบุกไปยังเกาหลี จนได้รับความรู้ และพาช่างแกะบล็อคไม้จากเกาหลีกลับมายังประเทศญี่ปุ่น วิธีการนี้จึงถูกใช้งานมากขึ้นในยุค โทกุงาวะ อิเอยาสึ อันเป็นช่วงปิดประเทศและบ้านเมืองสงบสุข ทำให้ซามูไรที่เคยออกรบมาตลอด มีเวลาพัฒนางานด้านศิลปะมากขึ้น จนเกิดภาพสไตล์ Ukiyoe และ Shunga ขึ้นในยุคนี้
แรกเริ่มเดิมที ภาพก็ยังคงเน้นเป็นภาพเดี่ยว ก่อนมีการจัดทำภาพชุดต่อเนื่องขึ้นและได้รับความนิยมมากกว่ายุคก่อนหน้า ด้วยความที่ใช้เทคนิคการพิมพ์บล็อคไม้ จนสามารถทำผลงานขายซ้ำได้ง่ายกว่ายุคก่อนหน้า แนวงานที่ได้รับความนิยมก็ได้แก่ นิทานสอนใจทางศาสนา ตำนานภูตผีปิศาจ ตำนานหญิงงามกับซามูไร และแนวตลกล้อเลียน
และในยุคนี้เองที่ยอดศิลปินอย่าง Katsushika Hokusai เจ้าของผลงานดัง อาทิ ภาพคลื่นนิ่ง The Great Wave off Kanagawa กับ ภาพปลาหมึกและหญิงสาว The Dream of the Fisherman’s Wife ซึ่งทั้งสองภาพบอกได้ว่าศิลปินญี่ปุ่นมีมุมมองภาพที่ละเอียดอ่อนเฉพาะตัว ในขณะเดียวกันก็มีการพูดถึงเรื่องเพศทั้งในแบบปกติและแบบแฟนตาซีในงานศิลปะของญี่ปุ่น
อีกสิ่งหนึ่งที่ Hokusai มอบไว้ให้กับแดนอาทิตย์อุทัยก็คืองานเขียนแนวท่าทางของผู้คนด้วยท่าทีเหนือจริง และเป็นอารมณ์ต่อเนื่องกัน ซึ่งภาพนี้ถูกเรียกว่า ‘มังงะ’ อันกลายเป็นคำที่ชาวญี่ปุ่นใช้เรียกหนังสือการ์ตูนชาติของตัวเองในภายหลัง
ช่วงแรกของประวัติศาสตร์มังงะ จบลงด้วยที่ช่วงเวลาปลายศตวรรษที่ 18 หรือ ช่วงกลางของยุคเอโดะ ชาวญี่ปุ่นได้พัฒนาการทำหนังสือภาพ Kibyoshi ที่จับเอานิทานและเรื่องเล่าดั้งเดิมมาเล่าในสไตล์ที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น จนถือว่าเป็นหนังสือการ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่กลุ่มแรก และหนังสือกลุ่มนี้ก็ยังมีภาพล้อเลียนสังคม วิจารณ์การเมือง ส่งผลให้ไดเมียวหรือผู้ที่ถูกวิพากษ์ในยุคนั้นตัดสินใจแบนหนังสือกลุ่มนี้ไป แต่ด้วยความที่การสื่อสารยังไม่สามารถสั่งทีเดียวแบนได้ทั้งประเทศ การแบนหนังสือในยุคนี้จึงมีลักษณะเหมือนแมวไล่จับหนูไปเรื่อยๆ มากกว่า
เข้าสู่ยุคเมจิ – ก้าวแรกสู่การพิมพ์สมัยใหม่
ถึงการ์ตูนญี่ปุ่น หรือ มังงะ มีที่มาตั้งแต่อดีต แต่นักประวัติศาสตร์มังงะไม่ได้นับว่ายุคก่อนหน้านี้เป็น มังงะ แบบที่เรารู้จักกันอยู่ ด้วยเหตุผลที่ว่าผลงานทั้งหมดในช่วงแรกเป็น ‘ยุคก่อนการพิมพ์สมัยใหม่’ ซึ่ง ผศ. บุญส่งก็ไม่รอช้า แนะนำให้ผู้เข้าร่วมงานเข้าใจถึงยุคเมจิ ยุคปฏิรูปของญี่ปุ่นที่รับวัฒนธรรมตะวันตกเข้าสู่ชาติตัวเองแบบเต็มที่
นอกจากการพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์สมัยใหม่จะถูกนำเข้าสู่ญี่ปุ่นในยุคนี้แล้ว การ์ตูนแนวล้อเลียนเสียดสีสังคมที่ได้รับความนิยมมาตลอดนั้นก็บูมจนถึงจุดที่สามารถเปิดนิตยสารล้อเลียนสังคม อย่าง Japan Bunch และ Masaru Shimbun ซึ่งแรกเริ่มนั้นฝรั่งมาเป็นบรรณาธิการให้นิตยสารเอง ก่อนที่ชาวญี่ปุ่นจะรับช่วงทำงานต่อทั้งหมดในภายหลัง
ในช่วงนี้เองที่การเขียนการ์ตูนแบบ Comic Strip ตามแนวทางตะวันตกถูกนำเข้ามา ซึ่งงานก็ได้รับความนิยมจนกระทั่งเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 20 ที่การ์ตูนได้รับความนิยมมากขึ้นจนเกิดการก่อตั้งสำนักพิมพ์การ์ตูนเพียวๆ ขึ้นมา และแนวเรื่องก็เริ่มเปลี่ยนสไตล์มาเป็นแนวไม่เน้นการเมือง ทั้งยังเน้นการขายเนื้อเรื่องมากขึ้น ลายเส้นก็ดึงสไตล์สมจริงแบบตะวันตกมาหลอมรวมกับมุมมองละเอียดอ่อนของญี่ปุ่น (สไตล์ในยุคนั้นถ้าเทียบกับยุคนี้ก็จะใกล้เคียงเรื่อง ‘ลุงเชย 108 ฮา’ ที่ยังเขียนอยู่ในปัจจุบัน)
ศิลปินคนสำคัญในยุคนี้ก็คือ Kitazawa Rakuten อันเป็นนามปากกาของ Kitazawa Yasuji ที่นักประวัติศาสตร์หลายกลุ่มนับว่านักเขียนคนนี้เป็น ‘นักเขียนมังงะยุคใหม่คนแรก’
และผลงานของอาจารย์ท่านนี้ก็ยังเป็นผลงานที่ Tezuka Osamu (ผู้วางรากฐานให้กับวงการการ์ตูนทั้งหมดของญี่ปุ่นในภายหลัง) ชื่นชอบที่สุดด้วย
อุตสาหกรรมข้างเคียงหนังสือการ์ตูน ไม่ว่าจะเป็นการทำของเล่น การขายขนม การทำอนิเมชั่น การทำหนังคนแสดงจากหนังสือการ์ตูน ก็เริ่มถือกำเนิดขึ้นในช่วงนี้
ตกต่ำแล้วผงาดขึ้นดุจวิหคเพลิง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือได้ว่าเป็นยุคตกต่ำของมังงะด้วยเหตุผลที่ว่าทหารในยุคนั้นบีบคั้นนักเขียนให้เลือกเส้นทางเพียงสามประการ ประกอบด้วย 1. นักเขียนการ์ตูนต้องเขียนพล็อตตามทหารสั่ง 2. นักเขียนที่ไม่ยอมทำตามส่วนหนึ่งตัดสินใจหนีออกนอกประเทศ และ 3. นักเขียนเลือกที่จะหยุดสร้างผลงาน
และด้วยเส้นทางเพียง 3 ทางนี้เองทำให้การ์ตูนในช่วงนั้นหยุดนิ่งไประยะใหญ่ จนกระทั่งสงครามได้สิ้นสุดลง ทำให้นักเขียนรุ่นเก่าที่ยังอยู่ในประเทศสามารถเขียนงานที่ตัวเองอยากเขียนได้ อาทิ Onward Towards Our Noble Deaths โดย Misuki Shigeru (ผู้เขียนการ์ตูน คิทาโร่) ที่เป็นอัตชีวประวัติของผู้เขียนเองที่เล่าเรื่องตอนเขาโดนเกณฑ์ไปเป็นทหารในหน่วยสละชีพ (คามิคาเซ่) และเรื่องราวในยุคสงครามก็ถูกจำลองในการ์ตูนปัจจุบันอีกหลายเรื่อง อย่างเช่นในเรื่อง 20th Century Boys ที่เขียนให้นักเขียนการ์ตูนถูกจับเข้าคุกในลักษณะเดียวกันกับยุคสงคราม
สงครามจบลงพร้อมกับการเติบโตของคนยุคใหม่และกรอบกำแพงที่หายไป โดยเฉพาะการมาถึงของ Tezuka Osamu ผู้ที่นำเอาวิธีการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์มาปรับใช้กับการแบ่งช่องหนังสือการ์ตูน จนมังงะเปลี่ยนรูปลักษณ์อีกครั้ง กลายเป็นการ์ตูนมังงะที่คนปัจจุบันคุ้นเคยมากขึ้น
ชายผู้นี้เปลี่ยนแปลงแทบทุกสิ่งในวงการมังงะ เพราะตัวเขาเขียนเนื้อหาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสาย โชเน็น (แนวเด็กชาย) อย่างเรื่อง เจ้าหนูปรมานู, โชโจ (แนวตาหวานแบบเด็กหญิง) อย่างเรื่อง Ribbin No Kishi เซย์เน็น (แนววัยรุ่น) อย่างเรื่อง แบล็คแจ็คหมอปีศาจ การ์ตูนสะท้อนสังคมอันโหดร้ายอย่าง Ayako หรือแม้แต่การ์ตูนปรัชญาอย่าง วิหคเพลิง ก็เขียนมาแล้ว เปิดโอกาสให้นักเขียนในยุคปัจจุบันสามารถสร้างเรื่องราวที่หลากหลายมากขึ้น
ไม่ใช่แค่วงการมังงะเท่านั้น Tezuka Osamu ทั้งยังเคยก่อตั้งสตูดิโออนิเมชั่น Mushi Productions ที่สร้างผลงานกับเทคนิคใหม่ๆ ให้กับวงการมากมาย และในขณะเดียวกันก็เคยมีคนกล่าวกันว่า ปัญหาการทำงานหนักของวงการการ์ตูนและแอนิเมชั่นก็มาจากปรมาจารย์การ์ตูนผู้นี้เช่นกัน
วงการมังงะญี่ปุ่นในยุคปัจจุบัน
ด้วยสิ่งที่ Tezuka Osamu วางรากฐานให้กับมังงะยุคใหม่ บวกกับปัญหาของโลกที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้นทั้งในแง่ธุรกิจและสังคม มุมมองของนักเขียนในยุคปัจจุบันจึงเปลี่ยนไปอีกครั้ง ซึ่ง ผศ. บุญส่งได้สรุปถึงจุดเด่นของการ์ตูนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ดังนี้
- อยู่กับเรื่องหายนะระดับโลกหรือส่งผลวงกว้าง
- หมกมุ่นกับสัตว์ประหลาดหรือสิ่งมีชีวิตแปลกปลอม
- Kawaii Culture
- เทคโนโลยีล้ำหน้าระดับ หุ่นยนต์มีชีวิต หรือ ร่างกายในแบบไซบอร์ก
เนื้อหาของการ์ตูนมังงะในยุคหลังนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับทางเพศมากขึ้น ด้วยความที่มังงะกลายเป็นอุตสาหกรรมไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นสถานที่แสดงออกให้กลุ่มที่มีรสนิยมเฉพาะจนเกิด demand และ supply อย่างชัดเจน ประเภทของการ์ตูนมังงะที่ขายเจาะกลุ่มเพศสภาพประกอบด้วย
- โดจินชิ
- โชเนนไอ (ยาโออิ)
- โชโจไอ (ยูริ)
- โลลิคอน / โชตะคอน
- บิโชโจ
- เก โคมิ (บะระ)
- โมเอะ
- เอโระ
ในจุดนี้ ผศ. บุญส่งมองว่าเป็นจุดที่ comic ของอเมริกาไม่สามารถทำได้ ด้วยเหตุที่ว่ามุมมองของ comic สำหรับอเมริกาจะเหมาะเฉพาะเด็กโตหรือผู้ชายเท่านั้น ไม่ได้เอื้อให้เพศหญิงเข้าถึงนัก และมังงะยังมีอิสระค่อนข้างมาก จากมุมมองของ ผศ. บุญส่งให้เหตุผลว่า เพราะหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นได้รับความสนใจน้อยในการโฆษณา, ประเทศญี่ปุ่นไม่มีข้อห้ามด้านลิขสิทธิ์ และการเขียนการ์ตูนเรื่องเพศเกี่ยวกับเด็กไม่ผิดกฎหมาย งานแนวโดจินชิ หรือ โลลิ ถึงยังถูกผลิตขึ้นมาได้
ต่อมาในยุค 2010 เรื่องลิขสิทธิ์นั้น ต่อให้เขียนโดจินชิ ก็มีโอกาสถูกจับในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ได้ บางบริษัทก็ให้นักเขียนโดจินชิเซ็นสัญญาตกลงเสียก่อนว่า สามารถผลิตโดจินชิออกมาจำนวนหนึ่งในงานขายครั้งหนึ่งๆ และคำว่าโดจินชิ ก็มิได้แปลว่าผลงานเหล่านั้นต้องเขียนถึงผลงานเรื่องอื่น โดจินชิ หลายๆ เรื่องก็เป็น original ของตัวเอง ถ้าระบุให้ถูกต้องจริงๆ คงพอพูดได้ว่าโดจินชิถือเป็นพื้นที่สีเทาที่เจ้าของสิทธิ์มักจะปล่อยให้เป็นพื้นที่พัฒนาฝีมือนักเขียนเสียมากกว่า
ส่วนเรื่องกฎหมายญี่ปุ่นอนุญาตให้เขียนการ์ตูนเรื่องทางเพศเกี่ยวกับเด็กได้นั้น ก็มีการผ่านกฎหมายในเขตพื้นที่โตเกียวไปเมื่อปี 2010 ส่งผลให้ผลงานที่สามารถขายในเขตโตเกียว จะต้อง ‘ไม่มีตัวละครลักษณะเด็ก’ อยู่ในเรื่องจนเกิดการประท้วงจากอุตสากรรมบันเทิงหลากหลาย เพราะการห้ามนั้นหมายถึงว่า ต่อให้ระบุว่าหน้าเด็กแต่อายุ 300 ปี แล้วก็ยังถือว่าเป็นเด็ก ห้ามให้กระทำความรุนแรงใดๆ ในสื่อ รวมถึงเรื่องทางเพศด้วย แต่สุดท้ายกฎหมายตัวนี้ก็ถูกล้มไปในเวลาไม่นานนัก
ต่อมาในปี 2014 ก็ได้มีการออกกฎหมายใหม่ที่ระบุชัดเจนเรื่องห้ามครอบครอง จัดทำภาพล่วงละเมิดทางเพศเด็กที่ชัดเจนขึ้น และมีการจับกุมผู้กระทำความผิด ที่จัดทำภาพการ์ตูนซึ่งอ้างอิงมาจากเด็กจริงๆ และเพิ่งถูกตัดสินคดีไปช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา)
‘มังงะ’ ให้อะไรในฐานะวัฒนธรรมสมัยนิยม
หลังจากที่เราเรียนรู้ประวัติโดยคร่าวของโลกมังงะแล้ว การสัมมนาก็เข้าสู่ช่วงเสวนาแลกเปลี่ยน ซึ่ง ผศ. บุญส่งมองว่าเหตุที่มังงะ สามารถข้ามวัฒนธรรมไปสู่ประเทศอื่นๆ ได้โดยง่ายและทุกเวลา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากเหตุจำเป็น (อาทิในยุคเมจิที่ต้องรับวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามา) หรือแม้แต่การรับมาแบบเต็มใจ (อาทิวัฒนธรรมบล็อคไม้ที่เอามาจากเกาหลีใต้)
นอกจากนั้นด้วยจุดเด่นที่สามารถเล่าเรื่องฉีกแบบจนสามารถเข้าถึงพื้นที่ต้องห้ามของนุษย์ได้ง่ายขึ้น แต่ก็ยังคงไปด้วยความเรียบง่าย ทั้งยังสามารถแทรกความน่ารักหลุดวัยโดยไม่รู้สึกประหลาด (freak) ทำให้ผู้อ่านสามารถอ่านเรื่องราวที่หลากหลาย และในบางครั้งก็สามารถหาทางออกจากสถานการณ์ยุ่งยากในโลกแห่งความจริง
ผศ. บุญส่ง ยังได้ยกคำพูดของ Sharon Kinella ว่า “คำพ้องความหมายร่วมที่สุดคำหนึ่งที่นำมาใช้บรรยายมังงะก็คือ ‘อากาศ’ บางสิ่งที่แทรกซึมเข้าไปได้ในทุกรอยแยกของสภาพแวดล้อมร่วมสมัย”
ส่วนผู้ร่วมเสวนาก็เห็นค่อนข้างตรงกันว่าพวกเขาสามารถอ่านการ์ตูนได้แทบทุกแนว เพียงแต่ว่าอาจมีจุดเริ่มต้นหรือจุดยึดอยู่ในกลุ่มการ์ตูนแบบแรกๆ ที่พวกเขาคุ้นเคย แต่ก็เปิดใจรับงานแนวอื่นมากขึ้น คนที่อ่านการ์ตูนโชเน็นก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กผู้ชาย คนที่อ่านการ์ตูน Yaoi ก็ไม่จำเป็นต้องเป็น LGBTQ หลายคนเลือกรับสื่อด้วยแก่นเรื่องมากกว่าประเภทของเรื่อง อีกประเด็นหนึ่งที่ผู้เข้าร่วมสัมมนาเสนอในงานครั้งนี้ก็คือมุมมองที่ว่า การ์ตูนสมัยนี้ก็รับเอาอิทธิพลจากวรรณกรรมหรือภาพยนตร์อื่นก่อนกลั่นออกมาเป็นมังงะ
ด้วยเหตุนี้งานสัมมนาครั้งนี้จึงมาถึงบทสรุปที่ว่า มังงะ เป็นการผสมผสานวัฒนธรรมอยู่แล้ว จึงไม่แปลกนักที่เวลามังงะไปเยือนยังถิ่นใด ก็จะถูกปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และเนื้อหาไปตามวัฒนธรรมในประเทศต่างๆ ทั้งยังทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปมาซึ่งกันและกัน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คือเสน่ห์ที่ทำให้คนทั้งโลกยังติดตามมังงะต่อไป แม้ว่ามังงะเรื่องที่เคยอ่าน เคยชอบจะจบลง หรือยุคสมัยจะเปลี่ยนไปเท่าไหร่ก็ตาม
อ้างอิงข้อมูลจาก