ถ้าว่าด้วยเรื่องยิ่งใหญ่ของวงการเพลงเกาหลีปี 2023 แบบนึกเร็วๆ ก็น่าจะเป็นความสำเร็จของวง NewJeans ที่เดินสายคว้ารางวัลแดซัง (รางวัลใหญ่) แทบทุกเวทีปลายปี, Golden อัลบั้มเดี่ยวของจองกุก BTS ที่ได้รับเสียงชื่นชมล้นหลาม แถมเพลงฮิตระเบิดระเบ้อ (ชนิดว่าทุกห้างสรรพสินค้าในบ้านเราก็เปิดเพลงจากอัลบั้มนี้), การเข้ากรมของสมาชิกวง BTS ที่นับเป็นอีกจุดเปลี่ยนของ K-POP, เรื่องสัญญาของสาวๆ วง BLACKPINK กับค่าย YG ที่ลุ้นกันมาราวครึ่งปี รวมไปถึงเรื่องเศร้าอย่างๆ คอนเสิร์ตของวง Red Velvet และ LE SSERAFIM ในบ้านเราที่ยกเลิก (ฮือ…)
แต่อีกสิ่งที่ยังอยู่คงกระพันคู่กับ K-POP คือรายการเซอร์ไวเวิลทั้งหลาย ผู้เขียนพร่ำบอกหลายครั้งแล้วว่าฝั่งเกาหลีควรจะเพลาๆ รายการพวกนี้บ้าง เพราะชักจะเยอะจนเกินไป แต่กลายเป็นว่าปี 2023 กลับมีรายการแนวนี้มาให้ดูมากกว่าเดิมไปอีก และก็เป็นกรรมของเราที่ต้องดูกันไป (ซึ่งโทษใครไม่ได้นอกจากตัวเอง เพราะเขาไม่ได้บังคับให้เราดู!)
บทความนี้เลยขอสรุปถึงรายการเซอร์ไวเวิลแบบพอสังเขป ซึ่งต้องออกตัวก่อนว่าผู้เขียนไม่ได้ดูทุกรายการ เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่ารายการพวกนี้ยิ่งดูยิ่งอิน พออินมากก็เจ็บมาก (เช่น คนที่เชียร์ไม่ได้เดบิวต์) ดังนั้นจึงขอลิมิตความเจ็บปวดด้วยการดูเฉพาะบางรายการ
ขอเริ่มจากรายการจากเครือ MNET ก่อน แม้จะสาปส่งถึงความผีทั้งเรื่องการตัดต่อ กฎกติกา หรือความ(ไม่)โปร่งใสของผลโหวต แต่เข้าทำนอง “รู้ว่าเขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอก” สรุปก็ดูมันทุกรายการที่ MNET ทำ โดยปีนี้มี Boys Planet ที่เป็นภาคต่อของ Girls Planet 999 (2021) (หรือเรียกว่าลูกหลานของตระกูล Produce ก็ได้ เพราะรูปแบบมันแทบจะเหมือนกัน) ซีซั่นนี้ดีขึ้นที่กติกาไม่ค่อยงง แต่การตัดต่อให้ผู้เข้าแข่งขันบางคนดูแย่ยังมีเหมือนเดิม น่ายินดีว่าคนดูยุคนี้เขารู้ทันกันแล้ว เลยด่ารายการมากกว่าด่าผู้แข่งขัน
ผู้ชนะ 9 คนของ Boys Planet ที่กลายเป็นวง ZEROBASEONE ถือว่าเป็นวงที่สมดุลทั้งด้านทักษะการร้อง การเต้น และวิชวล ซิงเกิ้ลแรกอย่าง In Bloom เป็นเพลงน่ารักใสๆ ส่วนเพลงต่อมาอย่าง Crush มีความเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ถึงผลงานของ ZEROBASEONE จะไม่ได้สร้างปรากฏการณ์ในชาร์ตเพลง แต่ยอดขายอัลบั้มของพวกเขาทะลุหลักล้านไปแล้วเรียบร้อย อนาคตของวงนี้จึงน่าจะสวยงาม แต่ก็มีเสียงน้อยใจจากแฟนคลับของวง Kep1er (ผู้ชนะ Girls Planet 999) ที่นับวันจะกลายเป็นวงถูกลืม เพลงไม่ปัง ค่ายโปรโมตไม่ดี ถึงกระนั้นช่วงนี้ Kep1er กำลังโด่งดังในญี่ปุ่น ค่ายอาจจะเน้นทำการตลาดที่นั่นแทน
ส่วนเหล่าผู้ตกรอบ Boys Planet ก็ฟอร์มวงใหม่กันมากมาย ที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมี 2 วงด้วยกัน วงแรกคือ EVNNE ที่ประกอบด้วย 7 สมาชิกตัวตึงด้านความสามารถจากรายการ เพลงเปิดตัวอย่าง Trouble มีบีตหนักหน่วง แต่แนวเพลงอาจจะไม่แมสเท่าไร ส่วนอีกวงคือ ONE PACT ที่เพิ่งเดบิวต์ไปเมื่อปลายพฤศจิกายนที่ผ่านมากับเพลง Must Be Nice ที่ตัวเพลงน่าสนใจ ไม่ค่อยซ้ำรอยกับเพลง K-POP ทั่วไป
ปีนี้ MNET มีรายการฝั่งผู้หญิงด้วย นั่นคือ Queendom Puzzle ที่ให้ศิลปินที่เดบิวต์แล้วมาแข่งขันตั้งวงเฉพาะกิจ 7 คน จนในที่สุดได้เป็นวงชื่อ EL7Z UP ซึ่งในฐานะที่ติดตามรายการมาตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้เขียนต้องบอกตามตรงว่าเสียดาย เพราะเพลงเปิดตัวอย่าง Cheeky ดูจะใช้สามารถของศิลปินไม่คุ้มเอาเสียเลย จนคิดในใจว่า “โอ้โห แข่งกันแทบตายเพื่อทำเพลงแบบนี้น่ะเหรอ” จนได้แต่หวังว่าซิงเกิ้ลต่อไปจะใช้ศักยภาพของเมมเบอร์คุ้มค่ากว่านี้
ที่น่าเศร้าคือหลังจากจบรายการไปแล้ว ดูเหมือนค่ายเพลงที่อุตส่าห์ส่งศิลปินมาแข่งใน Queendom Puzzle ดูจะไม่สามารถต่อยอดกระแสวงได้ อาจจะมีวง H1-KEY ที่เป็นที่รู้จักมากขึ้น (แต่ที่จริงวงนี้เขาเริ่มดังมาตั้งแต่ต้นปีจากเพลง Rose Blossom) ส่วนวงอื่นๆ ไม่ว่าจะ LIGHTSUM หรือ Rocket Punch แม้จะออกเพลงใหม่มา กระแสก็เงียบๆ เหมือนเดิม (และถ้าพูดตรงๆ คุณภาพเพลงก็ไม่ค่อยน่าพอใจนัก) แต่เหวอสุดคือ Cherry Bullet ที่ค่ายไม่ผลักดันอะไรวงต่อเลย เหมือนกับว่าปล่อยจอยวงนี้แล้วเรียบร้อย
อีกรายการหนึ่งที่ไม่ใช่ K-POP โดยตรง แต่ก็มีเอี่ยวกับ MNET นั่นคือรายการญี่ปุ่น PRODUCE 101 JAPAN THE GIRLS ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อกลางธันวาคม ซีซั่นนี้ได้รับคำชมว่าเทคนิคการถ่ายทำดีขึ้น ไม่ตัดต่อผี ไม่ดราม่าเกินจำเป็น (จะมีเทรนเนอร์บางคนเล่นใหญ่บ้าง ถือเป็นสีสันรายการ) ผลสุดท้ายออกมาเป็น 11 สาววง ME:I ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นวงที่น่าจับตามาก เนื่องจากวงมีสมาชิกทั้งสายร้อง สายเต้น สายแร็ป แบบครบครัน จะติดแค่ว่าค่ายเพลงญี่ปุ่นไม่ค่อยทำการตลาดนอกประเทศเท่าไร เพราะแค่ขายคนญี่ปุ่น ทั้งยอดอัลบั้ม ยอดบัตรคอนเสิร์ต ก็ขายได้แบบฉ่ำๆ แล้ว แต่ช่วงหลังวงญี่ปุ่นอย่าง NiziU, JO1, INI หรือ &TEAM ก็เริ่มเดินสายในเกาหลีมากขึ้น รวมถึงประเทศเอเชียอื่นๆ ด้วย (แม้ว่าคอนเสิร์ตของ JO1 ในไทย คนดู 80% จะเป็นคนญี่ปุ่น)
ส่วนต่อจากนี้ เป็นเหล่ารายการเซอร์ไวเวิลที่ผู้เขียนไม่ได้ดูแบบเต็มๆ เริ่มจาก Fantasy Boys ของช่อง MBC ซึ่งดูไปได้ไม่กี่ตอนก็เลิก เพราะรูปแบบไม่ค่อยสนุกเท่าไร และยังช้ำใจจากซีซั่นก่อนหน้าอย่าง My Teenage Girl ที่วงชนะอย่าง CLASS:y สุดท้าย ด้วยการบริหารจัดการอันย่ำแย่ของค่าย M25 ในเครือ PocketDol Studio ก็ทำให้กระแสของวงเงียงเหงาไป ได้แต่หวังว่าวง Fantasy Boys (เขาใช้ชื่อวงเดบิวต์เหมือนชื่อรายการ) จะไม่ประสบชะตากรรมน่าเศร้าแบบวงรุ่นพี่
R U Next? เป็นอีกรายการที่ผู้เขียนยอมแพ้ดูไม่จบ เพราะบรรยากาศเนือยๆ และซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษที่มาบ้างไม่มาบ้างจนทำเอาหัวร้อน ส่วนวงเตรียมเดบิวต์อย่างหกสาว I’LL-IT (อ่านยังไง? ช่วยด้วย) เท่าที่เห็นคือวิชวลแรง ออร่าพุ่ง น้องๆ สวยแบบตะโกน และน่าสนใจว่านี่เป็นศิลปินค่าย Belift Lab ในเครือ HYBE (เท่ากับว่าจะเป็นลูกพี่ลูกน้องกับวง NewJeans และ LE SSERAFIM) เรื่องคุณภาพจึงไม่น่าห่วงนัก แค่ว่าอย่าทำคอนเซ็ปต์หลุดโลกก็พอ (ขอเถอะ พวกเทรนด์มัลติเวิร์ส เส้นเรื่องจักรวาล เพลงซ้อนเพลง สมาชิกไอเอ ฯลฯ)
เทรนด์น่าสนใจของเซอร์ไวเวิลปี 2023 คือรายการแบบอินเตอร์ ฝั่งหนึ่งคือรายการ A2K ที่เป็นความร่วมมือของ JYP Entertainment กับ Republic Records เป็นการคัดเลือกผู้เข้าแข่งขันหญิงจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา จนสุดท้ายเป็นวงชื่อ VCHA ส่วนฝั่ง HYBE กับ Geffen Records ก็ร่วมกันทำรายการ Dream Academy ที่เน้นความโกลบอลมากกว่าด้วยสัญชาติของผู้เข้าแข่งขันที่หลากหลาย จนสุดท้ายกลายเป็นวงเกิร์ลกรุ๊ป Katseye ที่มีทั้งเมเบอร์ชาวเกาหลี, อเมริกัน, ฟิลิปปินส์ และสวิส-กาน่า
ซึ่งทั้งสองวงวางโพสิชั่นตัวเองเป็น global girl group ที่ใช้ระบบและวิธีการแบบ K-POP มันทำให้นิยามของ K-POP ยิ่งขยายอาณาเขตไปมากกว่าเดิม เช่นเราอาจตั้งคำถามได้ว่า เอ๊ะ เพลงของสองวงนี้ถือเป็นเพลงป๊อปหรือเพลง K-POP กันแน่นะ ก็ต้องรอติดตามการเดบิวต์ของพวกเธอในปี 2024
และที่เพิ่งจบไปหมาดๆ คือรายการญี่ปุ่น Nizi Project Season 2 ของ JYP ที่ซีซั่นนี้ได้วงเดบิวต์เป็นวงผู้ชายชื่อ NEXZ ซึ่งเพลง pre-release ชื่อ Miracle มีทั้งเวอร์ชันญี่ปุ่นและเกาหลีพร้อมสรรพ ชัดเจนว่าบุกทั้งสองตลาดแน่นอน ส่วนรายการ Universe Ticket ของช่อง SBS ที่สร้างวงเกิร์ลกรุ๊ป 8 คน ก็น่าจะออนแอร์ตอนสุดท้ายต้นปี 2024
แน่นอนว่าปี 2024 เรายังมีรายการเซอร์ไวเวิลให้ดูกันอีกมากมาย อาทิ I-LAND ซีซั่น 2 (คราวนี้เป็นวงผู้หญิง) หรือทาง MNET ก็ยังไม่หยุดผุดรายการ Build Up: Vocal Boy Group Survival เอาศิลปินชายสายโวคอลมาฟอร์มวงเฉพาะกิจ ซึ่งก็ต้องมาดูกันต่อไปว่ารายการไหน วงไหน หรือใครที่ถือว่า ‘รอด’ จริง เพราะการรอดหรือเป็นผู้ชนะจากรายการเซอร์ไวเวิลในยุคนี้อาจไม่ได้เป็นหลักประกันเลยว่าจะประสบความสำเร็จในวงการ K-POP