เมื่อพูดถึงอนิเมะ หรือการ์ตูนอนิเมชั่นจากประเทศญี่ปุ่นแล้ว เป็นเรื่องไม่แปลกนักที่หลายท่านจะนึกถึงภาพที่สวยงาม เรื่องราวที่สนุกสนาน ตัวละครที่มีเสน่ห์ ความหวือหวาของแอคชั่นที่ปรากฏในเรื่อง แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าเป็นส่วนสำคัญของอนิเมะ จนบางครั้งสิ่งนี้อาจจะกลายเป็นตัวเอกที่อยู่หลังม่าน สิ่งที่กล่าวถึงคืองานภาค ‘ดนตรีประกอบ’ หรือเพลงที่เปิดคลอในทุกๆ ฉากของอนิเมะ ที่หลายครั้งเพลงเหล่านั้น ช่วยส่งเสริมอารมณ์ของฉากต่างๆ ให้ทรงพลังมากขึ้น หรือในบางครั้ง บทเพลงนั่นล่ะที่เป็นพระเอกตัวจริงของอนิเมะหลายๆ เรื่อง
แล้วถ้าพูดถึงในแง่การผลิตเพลงประกอบอนิเมะออกมานั้นก็ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ ด้วยเหตุที่ว่าอนิเมะสักเรื่องหนึ่งจะต้องมีเพลงประกอบราวๆ 20 เพลงขึ้นไป ด้วยเหตุนี้ จึงมีนักแต่งเพลง หรือ นักดนตรีส่วนหนึ่งที่ทำงานในด้านแต่งเพลงให้กับอนิเมะแบบจริงๆ จังๆ และนี่ก็เป็นโอกาสที่ดี เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา มีงานคอนเสิร์ต Symphonic Anime ของวง Thailand Symphonic Ochrestra ที่วาทยากรของวงได้เชิญนักแต่งเพลงประกอบอนิเมะ สามคน สามสไตล์ มาเปิดเสวนาให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่สนใจรับฟังกันว่า การทำงานในสายงานดังกล่าวเป็นอย่างไร แต่ละท่านมีที่มาที่ไปเช่นไร และผ่านการทำงานอย่างไรมาบ้าง
นักแต่งเพลงประกอบอนิเมะที่มาร่วมงานเสวนาในครั้งนี้ ได้แก่ Wada Kaoru ผู้ประพันธ์เพลงให้อนิเมะเรื่อง อินุยาฉะ, ดีเกรย์แมน ฯลฯ Takanashi Yasuharu ผู้ประพันธ์เพลงให้อนิเมะเรื่อง แฟรี่เทล, Naruto นินจาคาถาโอ้โหเฮะ, Naruto Shippuden นารุโตะ ตำนานวายุสลาตัน ฯลฯ Iwasaki Taku ผู้ประพันธ์เพลงให้อนิเมะเรื่อง โจโจ้ล่าข้ามศตวรรษภาค 2 Battle Tendency, Tengen Toppa Guren Lagann อภินิหารหุ่นทะลวงสวรรค์ ฯลฯ
แนวทางการทำเพลงของแต่ละท่านเป็นอย่างไร
Takanashi: โดยพื้นฐานผมแต่งเพลงด้วยการใช้แนวร็อคเป็นหลัก ก่อนจะตามด้วยการใส่เลเยอร์เพิ่มด้วยการใช้วงออเคสตร้า แล้วตบท้ายด้วยการใช้เครื่องดนตรีท้องถิ่นญี่ปุ่น แล้วก็เน้นด้านจังหวะเป็นหลัก กับเน้นช่วงอินโทรกับริฟของแต่ละเพลงให้ออกมาดูเท่ๆ กับมีทำนองที่ติดหูครับ และเรากำลังจะมีคอนเสิร์ตของเรื่อง ‘แฟรี่เทล’ ในเดือนกันยายนที่ญี่ปุ่นครับ
Iwasaki: ครับ…ของผมแต่งเพลงมาหลายสไตล์มาก แต่โดยหลักแล้วผมแต่งเพลงโดยใช้เสียงดนตรีจากคอมพิวเตอร์ครับ
Wada: เวลาผมไปคอนเสิร์ตของ ทัคจัง …เอ่อ คุณ Iwasaki สิ ผมคิดว่าเพลงของเขาเท่มากเลยนะ เพราะเขาจัดคอนเสิร์ตในคลับเฮาส์น่ะ
Iwasaki: อ่า… ครับ พอดีว่าแฟนอนิเมะส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยชอบไปฟังเพลงเสียงดังๆ เท่าไหร่ แต่ผมอยากจะลองท้าทายให้แฟนอนิเมะลองไปยังสถานที่ซึ่งพวกเขาไม่เคยไปบ้าง เลยไปจัดคอนเสิร์ตในคลับเฮาส์ และทำให้ผมตั้งใจแต่งเพลงแนว Club ลงไปในเพลงประกอบอนิเมะด้วย
Wada: ทัคจังยังเป็นคนที่ริเริ่มเอาเพลงแร็ปมาใส่ในอนิเมะด้วย งานยากเลยนะครับ
Iwasaki: ยากเลยล่ะครับ เพราะปกติเพลงแร็ปจะไม่ค่อยเข้ากับอนิเมะเท่าไหร่นัก ก็เลยไม่ค่อยมีคนทำแบบนั้นเท่าไหร่นัก ผมอยากท้าทาย เลยใส่การแร็ปเข้าไปในเพลงประกอบอนิเมะครับ
Wada: ส่วนคุณ Takanashi ก็เป็นคนแรกๆ ที่นำเอาเพลงแนว Metal มาทำเป็นเพลงประกอบอนิเมะ
Takanashi: ผมเป็นนักดนตรีที่เล่นเป็นวงมาก่อน ก็เลยไม่รู้ว่าตอนนั้นต้องทำเพลงประกอบอนิเมะน่ะครับ จริงๆ แล้วผมมาแต่งเพลงอนิเมะเพราะมีคนขอให้ช่วยแต่งให้ สำหรับตัวผมเอง ผมมองว่าผมเป็นนักดนตรี มากกว่าที่จะเป็นนักแต่งเพลงให้กับอนิเมะครับ
Wada: เอ…คราวนี้ก็เป็นตาผมนะครับ ดนตรีของผมจะค่อนข้างแก่กว่าอีกสองท่านสักหน่อย หลักๆ แล้วผมจะแต่งเพลงในสไตล์วงออเคสตร้า แต่ก็จะมีการแต่งเพลงด้วยการใช่เครื่องดนตรีพื้นเมืองญี่ปุ่น แล้วก็ใช้ทำนองเพลงแนว Celtic เข้าไปด้วย แล้วผมไม่ค่อยถนัดการแต่งเพลงจากคอมพิวเตอร์เท่าไหร่นักครับ
ทุกท่านเริ่มมาแต่งเพลงให้กับอนิเมะกันได้ยังไง?
Takanashi: คำถามยากนะครับนี่ ของผมเริ่มมาทำเพลงให้งาน Pride Fighting Championships (รายการแข่งขันแนว MMA รายการหนึ่งในญี่ปุ่น) แล้วก็มีคนมาถามว่า ‘ใครแต่งเพลงให้นะ โคตรเท่เลย’ แล้วผมก็ได้รับการติดต่อให้มาทำเพลงประกอบอนิเมะครับ พอถึงตอนที่ทำเพลงให้กับเรื่อง Naruto นินจาคาถ้าโอ้โฮเฮะ ผมก็ทำเพลงร่วมกับวง Musashi ซึ่งเป็นวงของผมเอง แต่พอเนื้อเรื่องเข้าภาค Naruto Shippuden นารุโตะ ตำนานวายุสลาตัน ผมก็ทำเพลงคนเดียวครับ แล้วก็ เพราะตอนนั้นผมยังไม่ค่อยรู้เรื่องการทำเพลงอนิเมะเท่าไหร่นัก ก็เลยได้ทำสิ่งที่ไม่มีใครทำมาก่อน เช่น การทำเพลงประกอบให้เป็นแนวร็อคหนักๆ แทนที่จะทำแนวแจ๊สๆ อย่างที่ตลาดนิยมกันช่วงนั้น
Iwasaki: ของผมเริ่มทำเพลงอนิเมะเรื่องแรกก็คือ ซามูไรพเนจร ครับ ตอนแรกก็ไม่ได้อยากทำนะครับ แต่ตอนนั้นมันไม่มีรายได้ ก็เลยต้องรับทำครับ หลังจากเริ่มทำเพลงไปก็มีคนเสนองานให้ทำต่อ แล้วนับจากนั้นผมก็ทำอาชีพนักแต่งเพลงอนิเมะมา 20 ปีแล้วครับ
Wada: ของผมเริ่มจากตอนช่วงอายุ 20 ผมเดินทางไปทั้งฝั่งยุโรป และอเมริกา ในยุคนั้นยังมีการขายอนิเมะประเภท OVA (Original Video Animation) ขายลงม้วนวิดีโอ VHS อยู่ ในช่วงนั้นผมกำลังศึกษาดนตรีตะวันออกอยู่ในมหาวิทยาลัย แล้วก็พบว่าถ้าทำงานเพลงอย่างเดียว ก็จะทำรายได้ไม่ดีเท่าไหร่นัก แล้วก็เป็นช่วงที่ผมเรียนอยู่นี่เองที่ทำให้ผมคิดว่า ‘เรามาทำอะไร’ และ ‘เรามาจากไหน’ ทำให้ผมเข้าใจว่าการทำเพลงแบบอุตสาหกรรม เป็นคำตอบหนึ่งที่ผมพบ แล้วนับตั้งแต่ปีค.ศ. 1991 ผมก็เริ่มแต่งเพลงให้กับอนิเมะ แล้วก็ทำงานมาจนถึงตอนนี้ครับ
พูดถึงเรื่องการศึกษาแล้ว แบบนี้อีกสองท่านศึกษาเรื่องการแต่งเพลงมายังไงบ้าง
Iwasaki: ผมเรียนดนตรีคลาสสิกที่ มหาวิทยาลัยศิลปะโตเกียว (Tokyo University of the Arts) เนื่องจากผมเรียนดนตรีคลาสสิกซึ่งเป็นดนตรีที่ไม่สามารถเล่นโน้ตแบบซ้ำซาก และต้องมีปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ ต่างจากการทำเพลงแบบอุตสาหกรรมอย่าง เพลงร็อค หรือ แนว Club ที่จะมีพื้นฐานในการเล่นทำนองซ้ำไปมา ดังนั้นการผสมดนตรีทั้งสองสไตล์ที่ต่างกันให้มีความลงตัวกันนั้นจึงสำคัญอย่างมากครับ
Takanashi: ของผมเป็นแนวศึกษาด้วยตัวเองครับ แต่พอผมต้องเริ่มทำเพลงประกอบอนิเมะ ผมก็เลยเริ่มเรียนรู้การทำเพลงแบบออเคสตร้า สไตล์การทำเพลงของผมจะคิดถึงเสียงดนตรีในหัว แล้วก็ลองเล่นจนกว่าจะมีความรู้สึก “ผ่าง” ออกมาแล้วค่อยผลิตเพลงเต็มออกมา ระหว่างทางก็อาจจะเปลี่ยนแนวการแต่งก็ได้ ผมเน้นการแต่งเพลงที่เร็ว ส่วนสไตล์การทำงานของผมนั้นออกจะเป็น “อย่าถามผมว่าทำงานยังไง” (หัวเราะ)
ปกติแล้วขั้นตอนการทำงานของวงการอนิเมะต้องทำเพลงกันเยอะขนาดไหน
Wada: ปกติแล้วเวลาทำเพลงประกอบอนิเมะสำหรับฉายโทรทัศน์จะต้องทำเพลงไว้ประมาณ 40-50 เพลง แต่ถ้าเป็นเพลงสำหรับภาพยนตร์อนิเมะจะต้องใช้เพลงราว 60 เพลง ถ้าเทียบกับการทำภาพยนตร์ทั่วไปแล้ว ภาพยนตร์อนิเมะจะต้องการเพลงประกอบเยอะกว่ามาก ดังนั้นการทำงานให้เร็วจึงเป็นกุญแจสำคัญครับ ก็อยากให้ทัคจังเล่าความรู้สึกในการทำเพลงเยอะๆ แบบนี้สักหน่อยครับ
Iwasaki: ทรมานมาก และต้องทำให้เสร็จครับ (หัวเราะ) ในสมัยนี้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ในการช่วยแต่งเพลงแล้ว ผมจะทำเพลง แล้วเปิดฟังเพลงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกว่าจะได้จุดที่ใช่ครับ
Wada: ของผมจะทำงานแบบเรื่อยๆ ไม่ยอมหลับไม่ยอมนอน ซึ่งงานแต่งเพลงนี่กินแรงมากเลยล่ะ
Takanashi: ผมนี่ทำงานให้สนุกเหมือนกับทำงานอดิเรก เพราะผมชอบดนตรีใช่ไหมล่ะครับ ดังนั้นผมจะทำเพลงแบบ เอาสิต้องทำได้ แล้วก็ทำงานได้เรื่อยๆ ครับ
ในการทำงานของทุกท่าน มีงานไหนที่คิดว่าสนุก และงานจากเรื่องไหนที่คิดว่าเป็นงานยากบ้าง
Takanashi: งานที่ผมคิดว่าสนุกก็คือ แฟรี่เทล ครับ ผมคิดทำนองเพลงออกตั้งแต่อ่านฉบับมังงะแล้ว อีกเรื่องที่สนุกก็จะเป็น Naruto นะครับ ส่วนเรื่องที่ยาก ก็จะเป็นเรื่อง Show By Rock เพราะเป็นแนว Boy Love เลยไม่ค่อยถนัดแต่งเท่าไหร่ครับ
Iwasaki: ที่ผมชอบก็จะเป็นการแต่งเพลงให้เรื่อง Read Or Die ซึ่งออกฉายเมื่อ 20 ปีก่อนได้ อีกเรื่องก็จะเป็น Gatchaman Crowds ส่วนเรื่องที่ผมคิดว่า พอแล้วไม่เอาแล้ว ก็จะเป็นเรื่อง Gurren Lagann ครับ ทำไมน่ะเหรอครับ เพราะปกติผมไม่ค่อยชอบแนวเพลงการ์ตูนแนวหุ่นยนต์ที่ต้องปล่อยพลังเท่าไหร่นัก เลยทำให้ผมต้องพยายามมากครับ
Wada: แต่เพลง (จากเรื่อง Gurren Lagann) ฮิตมากเลยนี่
Iwasaki: นั่นสินะครับ ถ้าเทียบมันก็เหมือนกับการเดทกับสาวที่แต่งงานแล้ว อาจจะมีคนคิดว่าผมโชคดี ทั้งที่จริงๆ มันวุ่นวายมาก แต่สุดท้ายพอเพลงทำรายได้ออกมาดี ผมก็โอเคขึ้นกับเพลงจากเรื่องนี้ครับ
Wada: ทางผมชอบงานเพลงที่ทำประกอบอนิเมะแนวผีญี่ปุ่นครับ ที่ผมสามารถเอาดนตรีร่วมสมัยมาใส่รวมกันกับท่วงทำนองของดนตรีพื้นบ้านของญี่ปุ่นที่ผมชอบ การเอาดนตรีสองแนวนี้มารวมกันเลยเป็นเรื่องที่ผมทำได้โดยธรรมชาติครับ ส่วนงานที่จะทำให้ลำบากหน่อยก็จะเป็นอนิเมะแนวตลกโปกฮา ที่ผมพยายามจะเลี่ยงหน่อย แต่ถ้ามีงานเข้ามาผมก็พร้อมจะทำครับ
คิดว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเป็นนักแต่งเพลงมืออาชีพ
Takanashi: นักแต่งเพลงจำเป็นที่จะต้องรับการสนับสนุนจากคนจำนวนมาก ดังนั้นจึงอยากให้ระลึกถึงผู้คนที่คอยสนับสนุนอยู่เสมอครับ และดนตรีจะไม่มีค่าถ้าปราศจากผู้ฟัง ดังนั้นผมอยากจะให้รู้สึกระลึกถึงสิ่งที่คนส่วนมากอาจจะมองข้ามไปครับ
Iwasaki: “ต้องเข้าใจว่าลูกค้าคือใคร” ครับ สำหรับผมแล้ว คนที่จ่ายค่าจ้างให้กับผมคือคนที่เป็นลูกค้าตัวจริง การมอบทักษะที่คุณมีให้กับผู้ว่าจ้างที่จ่ายเงินให้กับคุณนั่นล่ะคือการทำงาน ดังนั้นผมจึงอยากให้ทุกคนมองให้ออกว่าใครเป็นผู้จ้างงานตัวจริง และพวกเขาต้องการอะไร เราต้องมองเรื่องนี้ให้ขาดและผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในการทำงาน
Wada: สำหรับการเป็นนักแต่งเพลงมืออาชีพนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องธุรกิจ แต่ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องรู้จักสนุกด้วย สำหรับผมแล้ว ผมมีโลกสองใบ ผมชอบแต่งเพลงร่วมสมัย แต่ว่ามันไม่ทำงานนัก เพื่อที่จะได้ทำงานในส่วนที่ชอบ ผมจึงแต่งเพลงประกอบให้กับอนิเมะในการทำมาหากิน พอดีว่ามีงานอนิเมชั่นอยู่หลายแนวในประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นสำหรับนักแต่งเพลงแบบพวกเราเลยมีโอกาสได้ทำงานหลายๆ แบบ ซึ่งพวกเรานักแต่งเพลงรู้สึกขอบคุณมากสำหรับวงการอนิเมะ
แต่เรื่องนี้ (การเติบโตของวงการเพลงประกอบอนิเมะ) ก็เพิ่งผ่านมา 20 ปีเท่านั้น และตอนนี้อนิเมะของญี่ปุ่นก็กลายเป็นผลงานที่ได้รับชมจากนานาชาติไปแล้ว ดังนั้นพวกเราจึงอยากให้นักแต่งเพลงชาวไทย ได้ทำเพลงที่มีความเป็นนานาชาติมากขึ้น แต่จะทำออกมาอย่างไรนั้น เป็นหน้าที่ของคุณที่จะสร้างมันออกมา ผมจะรู้สึกยินดีมากที่การเสวนาในวันนี้จะช่วยคุณได้ในทางใดทางหนึ่งครับ
ถ้าเกิดไม่มีแรงบันดาลใจในการทำงานขึ้นมา แต่ละคนจะทำอย่างไรบ้าง?
Iwasaki: ถ้าผมไม่มีแรงบันดาลใจจะแต่งเพลงต่อ ผมจะแต่งเพลงขึ้นมาสั้นๆ ก่อน แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อวันหลัง เพราะเมื่อผมกลับมาดูเพลงที่แต่งค้างไว้อีกครั้ง เพลงที่แต่งไว้สั้นๆ อาจจะส่งพลังในการทำเพลงต่อๆ ไปได้ครับ
Takanashi: ไม่ทำอะไร แล้วออกไปเที่ยวเลยครับ (หัวเราะ)
Wada: เอ่อ…ครับ (หัวเราะ) สำหรับผมแล้ว อยากจะบอกให้คนหนุ่มสาวเปิดรับให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเปิดการฟังเพลงแนวอื่น เสพศิลปะแนวอื่น เพราะแรงบันดาลใจมีอยู่ทุกๆ ที่ ตอนนี้คุณอาจจะคิดว่าตัวคุณไม่มีแรงบันดาลใจเลย แต่ถ้าคุณเปิดรับข้อมูลเรื่อยๆ สักวันหนึ่งคุณจะเติบโตและจะมีงานที่ดีออกมาจากตัวคุณ
แต่ละคนนำเอาดนตรีท้องถิ่นมาผสมกับดนตรีร่วมสมัยอย่างลงตัวได้อย่างไร
Takanashi: อา…เวลาเราเล่นเครื่องดนตรี มันจะมีบรรยากาศของเพลงเกิดขึ้นมาครับ ที่เหลือก็ต้องระวังด้าน Scale ของเครื่องดนตรี แต่เราสามารถผสมเพื่อสร้าง Pattern ใหม่ๆ ของเพลงได้ ซึ่งเมื่อเราทำได้ก็จะรู้สึกเหมือนได้รับชัยชนะครับ
Wada: กรณีของผมเคยทำเพลงคอนแชร์โตชามิเซ็น ซึ่งทำได้ยากมาก ที่ผมเคยทำจะเป็นการเอาส่วนดีของเครื่องดนตรีญี่ปุ่นกับเครื่องดนตรีสากลมารวมกันครับ เพื่อหาส่วนที่ยอดเยี่ยมของเครื่องดนตรีท้องถิ่นนั้น ผมเชื่อว่ามีแต่คนท้องถิ่นเท่านั้นที่ทำได้ อย่างกรณีของเพลงไทยก็จะมีแต่คนไทยเท่านั้นที่เข้าใจ สำหรับผม ผมจะคิดอย่างลึกซึ้งว่าจะผสมผสานเสียงของทั้งสองชาติให้ลงตัวอย่างไรครับ
Iwasaki: ผมไม่เคยเอาเครื่องดนตรีญี่ปุ่นมาใช้ทำเพลงมาก่อน ดังนั้นผมขอเทียบกับการทำสลัดมันฝรั่งแทนนะครับ ถ้าเกิดคุณไม่มีมันฝรั่งจะทำอย่างไร ผมอาจจะไปหยิบเอาฟักทองมาใช้แทน มันอาจจะไม่ได้เนื้อสัมผัสที่เหมือนกัน แต่ก็มีอะไรที่คล้ายกันอยู่ หรือถ้ากรณีที่เราไม่มีแตงกวา เราก็อาจจะหยิบเอาซูกินีมาใช้แทน สำหรับผมแล้วในการแต่งเพลงนั้น ผมจะหาเครื่องดนตรีที่มีความใกล้เคียง ในด้านเนื้อเสียง หรือในด้านจังหวะมาใช้ทดแทนกันครับ
มีโอกาสที่นักดนตรีจะหาเงินได้โดยไม่ต้องเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมเพลงไหม เช่นการทำงานเพลง Serious Music (ดนตรีตามแบบแผนอย่างจริงจังไม่ได้ทำเพื่อความรื่นเริง) อย่างเดียว?
ทั้งสามท่าน: ไม่มีทางครับ
Wada: ต่อให้เป็นนักดนตรีที่อเมริกาก็ไม่มีทางหากินได้ด้วยการทำงานเพลง Serious Music อย่างเดียวครับ สำหรับนักแต่งเพลงแล้ว มีสามทางที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้ อย่างแรกคือทำเพลงโฆษณา อย่างที่สองคือทำเพลงให้คนอื่น อย่างที่สามก็คือทำงานของตัวเอง หรือเป็นโปรดิวเซอร์ครับ เพื่อที่จะหาคนฟังที่ชอบงานของเรา เราก็ต้องทำงานที่จับใจคนฟังให้ได้ก่อนครับ