แอเรียล พิงค์ เริ่มต้นจากการอัดเพลงเองในบ้านแบบซูเปอร์ DIY ซึ่งนั่นเกิดขึ้นก่อนที่โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คจะบูมจนทำให้นักดนตรีเผยแพร่งานตัวเองได้ง่ายอย่างทุกวันนี้ และนอกจากทางดนตรีอันละมุนแต่อลหม่านเป็นเอกลักษณ์แล้ว เส้นทางที่เขาเลือกเดินก็สุดจะไม่เหมือนใคร และชวนประทับใจอย่างประหลาด
ชื่อจริงของ Ariel Pink คือ Ariel Marcus Rosenberg เขาเกิดที่ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย พร้อมกับความชื่นชอบดนตรีมาตั้งแต่เด็ก โดยเขาเองเคยอ้างว่าเริ่มเขียนเพลงตั้งแต่ช่วงสิบขวบ และในปี 1996 หลังจากจบไฮสคูลเขาก็เข้าเรียนต่อด้านศิลปะที่ California Institute of the Arts ควบคู่ไปกับการทำงานในร้านขายแผ่นเสียงด้วย
ในช่วงเวลานั้นเอง เขาก็ได้พบกับผู้สนับสนุนและไอดอลคนสำคัญ นั่นคือโรเบิร์ต สตีวี่ มัวร์ (R. Stevie Moore) ผู้เป็น ‘the godfather of home recording’ ซึ่งด้วยวิธีการทำงานที่ใกล้เคียงกัน—อัดเองที่บ้าน อยากทำเมื่อไหร่ก็ทำ—ทำให้เขาชื่นชอบผลงานและนับถือในตัวมัวร์เอามากๆ
จนกระทั่งปี 1999 แอเรียลก็ตัดสินใจพุ่งเข้าชน เขาลองติดต่อมัวร์โดยส่งเพลงของตัวเองไปให้ฟัง ซึ่งมัวร์เองก็ชื่นชอบ จนถึงกับเคยบอกว่ามีคนส่งเดโม่ดีๆ และแปลกๆ มาให้เขาฟังมากมาย แต่งานของแอเรียลนั้นเหมือนมาจากอีกโลกที่แท้จริง ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนกันในที่สุด (จนถึงปัจจุบันมัวร์ก็ชอบโผล่ไปปรากฎตัวในคอนเสิร์ตของเขาอยู่เสมอ)
แต่การเป็นมิตรที่ดีกับก็อดฟาเธอร์คงไม่ใช่อย่างเดียวที่ทำให้แอเรียลรุ่งโรจน์ทางดนตรี เพราะหลังจากเรียนที่วิทยาลัยศิลปะได้ไม่นานเขาก็ดรอปเรียน และพุ่งความสนใจไปที่ดนตรีอย่างจริงจังด้วยการสานต่อการทำเพลงแบบ DIY ที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงอยู่ไฮสคูล ในชื่อ Ariel Pink’s Haunted Graffiti จนสามารถออกมาเป็นอัลบั้มจำนวนมากทั้งในรูปแบบเทปและซีดี
เขาทำอย่างนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2003 ก็มีคนแนะนำเขาให้กับวง Animal Collective วงดนตรี experimental pop ผู้โด่งดัง
แอเรียลได้มอบอัลบั้มทำมือแผ่นหนึ่งให้กับวง และหลังจากได้ฟังเพลงก็ปรากฎว่าพวกเขาทั้งตกใจและประทับใจในเวลาเดียวกัน ประจวบเหมาะกับที่ทางวงกำลังเริ่มทำค่ายเพลงของตัวเองชื่อ Paw Tracks อยู่พอดี แอเรียลจึงถูกจับเซ็นต์สัญญาโดยเร็ว ซึ่งถ้านับกันจริงๆ เขามีอัลบั้มทำเองเกินกว่ายี่สิบอัลบั้มก่อนที่จะถูก Animal Collective ค้นพบเสียอีก อัลบั้มที่ออกกับค่ายนี้จึงเป็นการนำเพลงที่มีอยู่แล้วมา reissued ใหม่อีกครั้ง
The guy of controversy
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้แอเรียลเป็นที่รู้จัก คือการตอบคำถามแบบตามใจตัวเอง แอเรียล พิงค์ขึ้นชื่อเรื่องการให้สัมภาษณ์ที่งงงวย ตอบคำถามซับซ้อน ฟังไม่ค่อยเข้าใจ บางครั้งที่เหมือนกำลังตอบคำถามจริงจังแล้ว อยู่ดีๆ ก็เปลี่ยนโหมดเป็นผีบ้าซะอย่างนั้น
เคยมีผู้สัมภาษณ์คนหนึ่งเล่าว่านอกจากทำให้คนอื่นงง แล้วเขายังทำให้ตัวเองสับสนด้วยอีกต่างหาก ซึ่งถ้าจะเคลมเอาจากถ้อยคำของเขา การทำอย่างนี้ก็อาจจะเพื่อให้เกิดระยะห่างระหว่างตัวเขาเองกับตัวผลงาน โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์ ไว้ว่า “เพลงได้บอกเล่าทุกอย่างด้วยตัวมันเองแล้ว” (the music speaks for itself) และความบ้าบอของเขาหากถูกกันออกห่างจากตัวเพลงไปเสีย เราพบว่าคนคนนี้คืออัจฉริยะทางดนตรีชัดๆ
แต่เราจะยังขออยู่กับเรื่องของตัวเขาต่ออีกสักหน่อย โดยความหลอนของเขานี่เอง ทำให้แอเรียลผู้เขียนเพลงได้หวานเศร้า ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกเกลียดผู้หญิง (misogyny)
เรื่องเกิดจากที่แอเรียลไปให้สัมภาษณ์ในรายการ Alexi in Bed ว่า “ผมโดนยัยเฟมินิสต์มโนใส่” (I got maced by a feminist) โดยเขาเล่าเหตุการณ์แปลกๆ ที่ไปเที่ยวกับผู้หญิงคนหนึ่งแล้วรู้สึกว่าโดนเธอคุกคาม และมโนว่าคบกันจริงจังทั้งที่ยังไม่ได้ตกลงคบเป็นแฟน จนเกิดการทะเลาะกัน
ในการสัมภาษณ์มีการพูดถึงผู้หญิงคนนั้นอย่างล้อเลียน จิกกัด ในเรื่องเล่า ผู้หญิงคนนั้นตะโกนด่าเขาในที่สาธารณะก่อน เขาเลยด่ากลับ และหลังจากมีปากเสียงกัน เธอก็ทุบกระจกหน้ารถ กรีดรถเขาจนเป็นรอย แถมท้ายรายการแอเรียลก็เดินออกไปก่อนที่การสัมภาษณ์จะจบดี เมื่อรายการออกอากาศไป แน่นอนว่าแอเรียลถูกจวกยับ ชาวเน็ตตราหน้าว่าเป็นพวกเกลียดผู้หญิง และหลังจากโดนป้ายชื่อนี้ห้อยคอ แอเรียลก็โดนเพ่งเล็งและโจมตีอีกหลายครั้งเวลาออกให้สัมภาษณ์
แน่นอนว่าเขาตอบกลับอย่างดุดัน เช่นในการให้สัมภาษณ์กับ pitchfork.com “มันไม่ผิดกฎหมายนี่ที่จะเป็นคนเหี้ย มันไม่ผิดกฎหมายที่จะเป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ มันไม่ผิดกฎหมายเลยที่จะทำอะไรพวกนั้น… เรา ต้องหัดดีลกับเรื่องไร้สาระให้ได้ นี่เราอยู่ในโลกที่คนฆ่ากันนะ มันมีเรื่องใหญ่กว่าอีกที่ต้องจัดการ การนั่งจับผิดเรื่องทัศนคติคนอื่นมันงี่เง่า ผมเองใช้ชีวิตแบบที่ไม่ได้มีปัญหากับตัวเองหรือคนอื่นมากนัก เพราะฉะนั้นหัดมีอารมณ์ขันบ้างและอย่าอินเกินกับอะไรมากไป …บางทีผู้คนก็จับผิดอะไรบางอย่างจากคุณและเหมารวมตัดสินคุณจากสิ่งเหล่านั้น ให้คุณเป็นในสิ่งที่คุณไม่ได้เป็น”
ฟังถึงตรงนี้หลายคนอาจจะพอเข้าใจความคิดเขาเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็เกลียดกว่าเดิมไปเลย แต่ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว ขณะเดียวกันเขาก็มีตัวตนอีกด้านที่ลุ่มลึกพอๆ กับดนตรีของตัวเอง เช่นบทสัมภาษณ์ฉบับนี้ ที่มีทั้งเรื่องวัยเด็ก ความคิดเชิงลึกในเรื่องดนตรี และคุยถึงประเด็นต่างๆ ที่เขาโดนโจมตีโยงไปยันเรื่อง free speech ทีเดียวและก่อนที่จะรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งกับเขา เราจะข้ามเรื่องดนตรีไปไม่ได้เด็ดขาด
The guy of Lo-fi music
ดนตรีของแอเรียลมักถูกจัดอยู่ในแนว hypnagogic pop หรือ chillwave ด้วยความ Lo-fi และบรรยากาศ retro ชวนให้นึกถึงเพลงป๊อปจากเทปหรือคลื่นวิทยุสมัยก่อน (เคยมีคนตั้งข้อสังเกตุว่างานของเจ้าพ่อ chillwave อย่าง Toro y Moi ก็มีกลิ่นอายของแอเรียลเหมือนกัน)
แต่ถึงอย่างนั้น เพลงของเขาไม่ใช่การทำซ้ำเพลงป๊อปแบบเก่า ในทางกลับกันมันคล้ายการรื้อทำลายแล้วสร้างใหม่ด้วยซ้ำไป ความป๊อปจ๋าๆ ถูกบิดให้ประหลาดจนสร้างความกระอักกระอ่วนแก่ผู้ฟัง เราอาจจะรู้สึกคุ้นๆ แต่ไม่สามารถระบุยุคและแนวเพลงที่อ้างอิงถึงได้แน่นอน ทุกอย่างถูกผสมรวมกันไปหมด หากไม่เคยรู้จักมาก่อน เราอาจจะนึกว่างานเขาเป็นของศิลปินสติเฟื่องยุค 70-80 แต่มันกลับพูดถึง Netflix, Uber, iCloud หรือแม้แต่แอพฯ Find My iPhone ขึ้นมาซะอย่างงั้น
Pitchfork เองเคยเรียกเขาว่า ‘jumble-pop auteur’ หรือ เจ้าแห่งเพลงป๊อปโกลาหล ลองนึกภาพว่าเราเอาตลับเทปคาสเซ็ทบูดๆ ของนักร้องยุค 70-80 ไปใส่เครื่องปั่น แล้วเทมันออกมาเป็นสมูทตี้ ซาวด์ของแอเรียลน่าจะเป็นอะไรประมาณนั้น
ในช่วงแรกที่เริ่มทำเพลง สิ่งที่เขาพยายามคือการหวนกลับไปสู่ความทรงจำแรกๆ เกี่ยวกับดนตรีของตัวเอง ความรู้สึกแรกในวัยเด็กที่ได้ยินเสียงเพลงแล้วไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ว่ามันเป็นเสียงร้องหรือเครื่องดนตรีอะไร เป็นผีของเสียงอีกทีหนึ่ง—เขาเรียกอย่างนั้น
แอเรียลอยากสร้างความรู้สึกนั้นออกมาอีกครั้ง จนถึงอัลบั้มล่าสุดที่พัฒนามาไกลมาก แต่เราก็จะยังได้ยินความเฉพาะตัวนี้อยู่ ผลงานของแอเรียลได้สะท้อนภาพตัวตนของเขาเองเป็นอย่างดี และนี่คือร่องรอยการเดินทางและตัวตนของเขาผ่านอัลบั้ม ที่ผมอยากเลือกมาเล่าให้ฟัง
House Arrest (original 2002, reissued, released in 2006)
อย่างที่บอกแอเรียลอัดเพลงเองมาโดยตลอดตั้งแต่อยู่ไฮสคูล ด้วยเครื่องอัดเทปแบบแปดแทรคหรือโทรศัพท์มือถือ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเพลงที่สมบูรณ์ตั้งแต่ต้น บางทีเป็นแค่ท่อนนึง เมโลดี้สั้นๆ หรืออะไรก็ตามที่เขานึกออก มันจึงมีความเป็น audio diary ไปในตัวด้วย
สำหรับเขาแล้วการเขียนเพลงกับการอัดเป็นสิ่งเดียวกัน เขาค่อยๆ เริ่มเรียนรู้วิธีเล่นเครื่องดนตรีพร้อมๆ กับการอัดเสียง ในช่วงแรก เขาทำเพลงด้วยการเอาเสียงที่อัดแต่ละส่วนทีละนิดละหน่อยมาประกอบกัน ทุกอย่างเป็นไปแบบ DIY ใช้ไมค์เฮดโฟน เบสและกีต้าร์เก่าๆ ในบางครั้งเพื่อกันเพื่อนบ้านโวยเรื่องเสียงรบกวนเวลาตีกลอง เขาจึงสร้างเสียงกลองเองด้วยการบีทบ็อกซ์
ด้วยความทุนต่ำ หลายๆ เสียงจึงเกิดจากการดัดแปลงหาวิธีสร้างมันให้ได้ด้วยตัวเองคนเดียวที่บ้าน เรียกได้ว่าสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของเขาหลายอย่างเกิดจากข้อจำกัดล้วนๆ และอัลบั้ม House Arrest ที่ถูกทำขึ้นในช่วงนั้น ซาวด์ของมันจึงฟังดูมีความคอลลาจและดิบมาก
ขณะเดียวกันก็มีกลิ่นอายเพลงป๊อปยุคเก่าอย่างเข้มข้น อย่างที่บอกว่าแอเรียลทำเพลงไว้มหาศาล
นี่ไม่ใช่อัลบั้มแรกของเขาแต่ก็เป็นงานช่วงต้นๆ ที่เริ่มลงตัวและแสดงให้เห็นลายเซ็นอันชัดเจนที่ยังปรากฎมาถึงปัจจุบันได้เป็นอย่างดี
The Doldrums (original 2000, reissued, released 2004)
The Doldrums คืออัลบั้มที่ทำให้ชื่อของแอเรียลพิงค์เป็นที่รู้จัก มันถูกทำขึ้นในปี 2000 และนี่เองที่ถูกส่งให้วง Animal Collective ในปี 2003
ทางวงเล่าว่าแผ่นถูกวางทิ้งไฝแห้งไว้บนพื้นรถตู้ที่ใช้ออกทัวร์อยู่เป็นอาทิตย์ ก่อนจะมีคนหยิบมันไปเปิดฟัง หลังจากฟังเสร็จทุกคนก็ช็อคว่า นี่มันอะไรเนี่ย! ที่สำคัญคือยิ่งน่าทึ่งเพราะมันถูกสร้างโดยคนคนเดียว หลายอาทิตย์ต่อมาทางวงจึงติดต่อแอเรียลให้มาเซ็นสัญญากับค่าย Paw Tracks ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นานของพวกเขา แอเรียลจึงถือว่าเป็นศิลปินคนแรกของค่ายถ้าไม่นับวง Animal Collective เอง
หลังจากนั้น The Doldrums ถูกนำมา reissued จัดจำหน่ายใหม่โดยค่าย และตามมาด้วยงานเก่าอื่นๆ อีกหลายชุดในซีรี่ย์ Haunted Graffiti ถ้าเกิดซีดีแผ่นนั้นยังถูกวางทิ้งไว้บนพื้นรถตู้ต่อไป โลกนี้ก็อาจจะไม่ได้รู้จักแอเรียลพิงค์ แต่ถึงอย่างนั้น จากรูปการณ์แล้วเขาก็คงไม่หยุดทำเพลงอยู่ดี
Before Today (2010)
หลังจากมีค่ายเพลง แอเรียลก็ต้องเริ่มออกทัวร์แสดงสด ซึ่งในตอนนั้นเขายอมรับเองว่าไม่ใช่สิ่งที่ถนัดเท่าไหร่ งานของแอเรียลเกิดจากการอัดเสียงทีละนิดละหน่อยจำนวนมาก แล้วประกอบกันเป็นจักรวาลตัดปะที่ซับซ้อนเต็มไปด้วยรายละเอียดเฉพาะตัว ซึ่งการนำเอาเพลงเหล่านั้นมาเล่นสดมันก็เป็นอีกเรื่องนึง
ช่วงแสดงสดครั้งแรกๆ นั้น ผลลัพธ์ออกมาไม่ดีนัก จน The New York Times ถึงกับเคยเรียกคอนเสิร์ตนึงในปี 2004 ว่าเป็น “การทดลองวิธีเอาคนดูสองในสามออกจากงาน” แต่แอเรียลก็ยังไม่ละทิ้งความพยายาม เขาค่อยๆ เริ่มรวมวงที่เหมาะสมขึ้นมาใหม่
ตอนนี้เองที่ทิม โคห์ (Tim Koh) เพื่อนเก่าตั้งแต่สมัยเรียนถูกชวนมาร่วมด้วยในฐานะมือเบส ตัวทิมเองที่เคยมีประสบการณ์เล่นในวงดนตรีอื่นๆมาก่อนเคยให้สัมภาษณ์ว่า “แม่งเป็นดนตรีที่ยากที่สุดเท่าที่ผมเคยพยายามเล่นมา” แต่สุดท้ายวงก็เป็นรูปเป็นร่าง Ariel Pink’s Haunted Graffiti กลายเป็นฟูลแบนด์และออกเล่นสดได้อย่างเป็นมืออาชีพ และ 4AD ค่ายเพลงอินดี้สำคัญของอังกฤษก็เข้ามาจับเซ็นสัญญา
ตอนนี้แอเรียลจำเป็นต้องเติบโตขึ้น เขามีวงร่วมกับนักดนตรีอาชีพ มีค่ายเพลงที่สำคัญในวงการสนับสนุน รวมถึงได้เข้าห้องอัดจริงจัง ข้อจำกัดต่างๆ ของเขาถูกเติมเต็ม แต่กลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้ก็เป็นอะไรที่ไม่คุ้นชินเลยสำหรับเขาจนทำให้เกิดปัญหา
ทิมเคยให้สัมภาษณ์ว่าการอัดอัลบั้ม Before Today เป็นเหมือนฝันร้าย ทุกอย่างไม่เข้าที่เข้าทาง เพลง Round and Round หนึ่งในเพลงดังของแอเรียล ถูกซ่อมแล้วซ่อมอีก จนในที่สุดต้องมาอัดเสียงแก้ใหม่ที่บ้านของทิม ถึงแม้ว่าจะหายนะแค่ไหนก็ตามนี่ถือเป็นก้าวสำคัญ และอัลบั้ม Before Today ก็กลายเป็นหนึ่งในมาสเตอร์พีซของพวกเขาเลยทีเดียว
เพลงยังคงมีเอกลักษณ์ความเป็นป๊อปหลอนๆ รวมถึงดีเทลซับซ้อน แต่ดนตรีทุกอย่างแน่นขึ้นด้วยความเป็นฟูลแบนด์ กลิ่นอายซาวด์เก่าๆ ยังมีอยู่ แต่ไม่ Lo-fi แล้ว ทำให้ฟังได้ง่ายขึ้น มันเป็นอัลบั้มรักษาลายเซ็นของแอเรียลไว้ชัดเจน เพียงแต่ขัดเกลาคุณภาพและเติมเต็มรายละเอียดดนตรีเข้าไปจนแน่น
นี่จึงถือเป็นอัลบั้มที่พิสูจน์ความสามารถในการแต่งเพลงรวมถึงเรียบเรียงดนตรีของแอเรียลและวงอย่างจริงจัง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็สวยงามมากทีเดียว
Pom Pom (2014)
นี่คืออัลบั้มคัมแบ็กครั้งสำคัญ และเป็นงานทดลองสุดตัวของเขา โดยในปี 2012-2014 ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทั้งในฐานะศิลปินที่ออกจากคอมฟอร์ตโซน และกำลังเริ่มเดินไปสู่ทิศทางใหม่ แต่นั่นก็อาจจะทำให้เสียตัวตนบางอย่าง รวมถึงในฐานะคนดังที่สื่อจับตามอง หลังจากที่โดนมือกลองของวงฟ้องไปก่อนหน้านั้น ก็ต่อด้วยดราม่าเรื่องเกลียดผู้หญิงในรายการ Alexis in bed อย่างที่เล่าไปตอนต้น
และในช่วงปลายปี 2014 เขาก็กลับมาพร้อมกับอัลบั้มใหม่คือ Pom Pom ซึ่งถูกทำในชื่อ Ariel Pink แทนที่จะเป็น Ariel Pink’s Haunted Graffiti โดยแอเรียลอธิบายว่า Haunted Graffiti ไม่ใช่วง แต่มันเป็นโซโล่โปรเจคมาตั้งแต่แรกแล้ว และคราวนี้เพื่อแก้ปัญหาอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับวงจึงเลือกใช้ชื่อ Ariel Pink เฉยๆ แต่เขาจะให้ทุกคนในวงมีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าเดิม
เขาให้สัมภาษณ์ว่าอัลบั้มนี้ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ อย่างแรกคือมือกลองคนใหม่ Don Bolles ผู้เคยเป็นหนึ่งในสมาชิก The Germs วงฮาร์ดคอร์พังค์ในตำนานของ L.A. และยังได้ Kim Fowley นักแต่งเพลงสุดคัลต์ตั้งแต่ยุค 60 มาร่วมเขียนในบางเพลงด้วย (คิมเขียนเพลงบนเตียงในโรงพยาบาลที่เขาพักอยู่และเสียชีวิตหลังจากอัลบั้มนี้ปล่อยได้สองเดือน)
ทุกเพลงในอัลบั้มเต็มไปด้วยดีเทลยิบย่อย วิ่งข้ามไปมาระหว่างแนวดนตรีมากมายกว่าที่เคยทำเสียอีก มีการเอาเสียงแบบจิงเกิ้ลวิทยุมาผสม เรียกได้ว่าเป็นอัลบั้มที่มีความทดลองสูง และทุกอย่างออกมาในอารมณ์ฉูดฉาดพลุ่งพล่าน เนื้อเพลงรวมเอาความไร้สาระเข้ากับอารมณ์อ่อนไหวได้อย่างกลมกล่อมมีชีวิตชีวา คงเหมือนชื่อของมัน—Pom Pom พู่สายรุ้งหลากสีในมือเชียร์ลีดเดอร์ผู้เต้นอย่างคึกคัก
Dedicated to Bobby Jameson (2017)
Bobby Jameson คือนักร้อง-นักแต่งเพลงที่ในช่วงต้นยุค 1960 ได้รับการโปรโมทอย่างยิ่งใหญ่ในฐานะดาวเด่นคนต่อไป แต่เขาก็ไม่ดังซักที ทั้งๆ ที่ได้ร่วมงานกับเหล่าศิลปินมีชื่อ ทั้งเคยเล่นเปิดให้วง The Beach Boys ร่วมทำเพลงกับ Mick Jagger และ Keith Richards แห่งวง The Rolling Stones
แถมบ๊อบบี้ยังถูกทำร้ายต่างๆ นาๆ จากอุตสาหกรรมดนตรี เขาใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ป่วยทางจิต ติดยาเสพติด ในที่สุดเขาก็ออกจากวงการและถูกลืม จนกระทั่งปี 2003 เขาค้นพบว่าอัลบั้ม Songs of Protest and Anti-Protest ของเขาได้ถูกทำออกมาเป็นซีดีโดยที่ค่าลิขสิทธ์ทั้งหมดของผลงานตลอดมาก็ไม่เคยถึงมือ ในปี 2007 บ๊อบบี้จึงเริ่มทำบล็อกและช่องยูทูบ ของตัวเองเพื่อออกมาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดและพยายามหาว่าอะไรที่ผิดพลาดไปจนทำให้ชีวิตพัง
บ๊อบบี้เสียชีวิตในปี 2015 ด้วยวัย 70 ปี แอเรียลเองรู้จักบ๊อบบี้จากบล็อกและตัดสินใจตั้งชื่ออัลบั้มนี้อุทิศแด่บ๊อบบี้เจมสัน
“ชีวิตของเขาสะท้อนภาพกับผมอย่างรุนแรง” แอเรียลบอกว่าเขารู้สึกเหมือนกับบ๊อบบี้เจมสันจนถึงอายุ 26 เขาทำงานของตัวเองและก็อยากให้มีคนมาสนใจ จนกระทั่งตอนที่อายุ 26 เริ่มมีคนมาสนใจเข้าจริงๆ เมื่อถึงจุดนั้นแรงกระตุ้นในการทำงานเลยต้องเปลี่ยนรูปแบบไป จากที่เคยเป็นความหมกมุ่น ดนตรีได้กลายเป็น ‘อาชีพหลัก’ ที่ข้องเกี่ยวกับปัจจัยอื่นอีกมากมายที่เพิ่มเข้ามาตลอดเส้นทาง
ช่วงหลังๆแอเรียลเคยให้สัมภาษณ์ว่า “งานของผมเดี๋ยวนี้คือการที่ถูกจี้ให้กลับมาจากการเกษียณตัวเอง เหมือนแบบ ‘เอ้ย กูจะไม่ทำอะไรแบบนี้อีกแล้วล่ะ’ แต่พอเงินหมดปุ๊บ ในที่สุดผมก็ต้องรวบรวมแก๊งกลับมาทำอัลบั้มอีกครั้งอยู่ดี”
ฟังดูไร้จิตวิญญาณอยู่บ้าง แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่แอเรียลได้เรียนรู้ และแน่นอนว่าเขายังสนุกกับงานอยู่ โดยเฉพาะเวลาทำ side project (แอเรียลแจมกับศิลปินหลากหลายมากตั้งแต่นักร้องสาวอินดี้อย่าง Weyes Blood ไปจนถึงชี Miley Cyrus) แต่ขณะเดียวกันเขาก็ต้องทรีตสิ่งเหล่านี้เป็นความรับผิดชอบในแบบการงานอาชีพด้วยเพื่อความอยู่รอด
ใน Dedicated to Bobby Jameson แอเรียลกลับไปทำงานแบบเล็กๆ อีกครั้ง ใช้ทีมจำนวนน้อยและอัดเสียงในบ้านตัวเอง ผลลัพธ์จึงออกมามีกลิ่นอายแบบงานในยุคแรก แต่จะพบว่าคุณภาพซาวด์ก็ดีไม่ lo-fi หนักเท่าสมัยก่อนแล้ว อย่างที่เขาเคยบอกว่า “ผมเป็นที่รู้จักจากซาวด์ lo-fi แต่ผมไม่เคยนิยามตัวเองว่าเป็น lo-fi หรืออะไรผมมองสิ่งที่สร้างเป็นอะไรที่ประสาทกว่านั้น”
Dedicated to Bobby Jameson ที่เต็มไปด้วยเพลงอารมณ์อ่อนไหวจึงเป็นการย้อนกลับไปสู่รากของแอเรียล พิงค์พร้อมกับแสดงให้เห็นว่าเขาได้พัฒนามาไกลแค่ไหน
นั่นคือบางส่วนเกี่ยวกับเขา ซึ่งทั้งตัวตนและดนตรีเต็มไปด้วยความอลหม่าน กระทั่งการหาข้อมูลมาเขียนเรื่องนี้ก็เติมไปด้วยเนื้อหาหลากหลายทางอารมณ์ และการเสพงานของแอเรียล พิงค์เองก็เป็นเหมือนการข้ามมิติไปมาในจักรวาลที่เขาสร้างขึ้น และเชื่อว่าแฟนเพลงทั่วโลกก็รักมันมากทีเดียว
Text by Theerapat Wongpaisarnkit
ที่มา