แจมมี่—นรันดร์จุฑา ปัญญาสุข คือซาวด์เอนจิเนียร์หญิงฝีมือเฉียบ ซึ่งมีอยู่น้อยนักในประเทศไทย และด้วยอายุเพียง 22 ปี ที่เพิ่งจบจากคณะดุริยางคศิลป์ มหิดลฯ เธอมีประสบการณ์การทำงานที่ไม่ใช่เล่นๆ เพราะแจมมี่เคยมีประสบการณ์ช่วยทำ live sound ให้กับวี—วิโอเลต วอเทียร์, The Paradise Bangkok วงหมอลำอินเตอร์ที่ดังข้ามโลก, Rasmee Isan Soul ที่ทำหมอลำให้เป็นโซลจนโด่งดังเป็นพลุแตก รวมถึงสายอิเล็กทรอนิกส์อย่าง X0809 ของนท พนายางกูร
หากนึกภาพเวลาไปคอนเสิร์ตสักคอนฯ หนึ่ง เราก็จะเห็นนักร้องหรือนักดนตรีก่อน แต่สำหรับซาวด์เอนจิเนียร์ เรามักจะไม่ค่อยรู้สึกถึงพวกเขา หรือบางคนอาจจะไม่รู้จักพวกเขาว่ามีอาชีพนี้อยู่ด้วยซ้ำ เราจึงอยากชวนแจมมี่มาคุยกัน ให้คนเข้าใจมากขึ้น ว่าซาวด์เอนจิเนียร์คืออะไร และการเป็นซาวด์เอนจิเนียร์หญิงนั้นต้องพบเจออะไรบ้าง เมื่อต้องทำงานกับผู้ชายและหลายครั้ง live sound ก็มักจะต้องทำงานในเวลากลางคืน
เมื่ออ่านแล้ว รับรองว่าภายใต้ใบหน้าสวยน่ารักนี้ มีอะไรซ่อนอยู่มากกว่าที่คิด
Life MATTERs: การทำงานของซาวด์เอนจิเนียร์มีขอบเขตยังไงบ้าง
แจมมี่ : มันก็คือการรู้กระบวนการเกิดเสียงจนไปถึงกระบวนการที่เสียงผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ออกมาให้เราได้ยิน ซึ่งกว่าเสียงจะเดินทางจากเครื่องดนตรีหรือไมค์มาออกลำโพงให้เราได้ยินอ่ะ มันผ่านอะไรมาหลายขั้นตอนมาก ในระยะเวลาสั้นๆ มันจะเข้าไปตรงนี้ เปลี่ยนเป็นอย่างนี้ เข้าเครื่องนี้ กรองออกมาเป็นอย่างนี้ เป็นสเต็ปไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายคือที่ลำโพง เราต้องรู้หมดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมันอยู่ตรงสเต็ปไหน จะแก้ไขมันได้ยังไง
Life MATTERs: ซาวด์เอนจิเนียร์ทุกคนทำงานเหมือนกันไหม
แจมมี่ : ไม่เหมือนกันค่ะ เพราะเทคโนโลยีดนตรีมีตั้งแต่ที่อยู่ในห้องอัดเสียง คนทำ post-production คนถือไมค์บูมอัดเสียงเวลาถ่ายงาน ก็รวมว่าเป็นเทคโนโลยีดนตรีหมด ส่วนที่แจมมี่ทำอยู่คือ live sound เป็นซาวด์เอนจิเนียร์ที่ทำงานนอกห้องอัด เพราะเวลาทำงานในสตูดิโอมันต้องมีสมาธิ ต้องฟังเสียงเดิมๆ วนลูปไปเรื่อยๆ ซึ่งเราเองอยู่นิ่งไม่ค่อยได้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง เวลาทำซาวด์แบบ live มันคือมีโอกาสทำรอบเดียว ถ้าพลาดก็จะพลาดไปเลย แต่ถ้าอัดอยู่ในสตูฯ เรายังมีโอกาสฟังอีกรอบแล้วแก้ไข มันก็ท้าทายไปคนละแบบ ทำ live ต้องมีไหวพริบ แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ ซึ่งตอนนี้เราก็ยังคงฝึกอยู่ ถ้านับจากตอนแรกที่มาทำก็ถือว่าเราพัฒนาขึ้นนะ
ถ้างานไหนที่คนฟังแฮปปี้ นั่นแหละเราก็จะแฮปปี้ แต่ถ้าคนบ่นหรือไม่สนุกกับไลฟ์ทั้งที่วงดนตรีเขาส่งออกมาเต็มที่มาก นั่นจะเป็นความเฟลของเรา ซึ่งมันย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว ก็ต้องเก็บเอามาเป็นบทเรียนไว้แก้ตัวครั้งหน้า
Life MATTERs: คอนเสิร์ตหรืองาน live แบบไหนที่คนจะรู้สึกถึงการทำงานของซาวด์เอนจิเนียร์
แจมมี่ : ถ้าคนจะรู้สึกถึงการทำงานของเรา คงเป็นคอนเสิร์ตที่ห่วยมั้ง เหมือนเวลาไปดูคอนเสิร์ตที่ดี คนดูได้เสพดนตรีเข้าไปอย่างเต็มที่ ก็จะรู้สึกแบบโห มันดีมากเลยว่ะ วงนี้เยี่ยมมาก แต่ถ้ามีเสียงไมค์หอนหรือเสียงไม่ดีเมื่อไหร่ คนจะถามก่อนเลยว่า เฮ้ย ใครทำซาวด์วะ แต่ตรงนี้มันเป็นธรรมชาติของงานเราอยู่แล้วนะ ถ้างานไหนที่คนฟังแฮปปี้ นั่นแหละเราก็จะแฮปปี้ แต่ถ้าคนบ่นหรือไม่สนุกกับไลฟ์ทั้งที่วงดนตรีเขาส่งออกมาเต็มที่มาก นั่นจะเป็นความเฟลของเรา ซึ่งมันย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้แล้ว ก็ต้องเก็บเอามาเป็นบทเรียนไว้แก้ตัวครั้งหน้า
Life MATTERs: อะไรเป็นตัววัดว่าการทำงานของเราในวันนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
แจมมี่ : เวลาวงเล่นเพลงมันๆ แล้วถ้าสมมติว่าเราทำงานได้ดี มันต้องมีคนโยกอ่ะ แต่สมมุติถ้าเพลงมัน คนเล่นแบบมันมาก แต่คนดูกลับนิ่ง เราก็ต้องมาดูว่า เอ๊ะ มันผิดพลาดตรงไหนนะ ทำไมคนไม่โยกกันล่ะ ทั้งที่นักดนตรีสนุกมาก เราก็อาจจะต้องแก้ไขบางอย่าง mindset ของเราคือเราเป็นตัวสื่อเสียงและอารมณ์ของนักดนตรีออกมา เขาสนุก เราก็ต้องทำให้คนดูสนุกไปกับเขาด้วย
Life MATTERs: สำหรับวงดนตรีแล้ว เทคโนโลยีสำคัญกับพวกเขาแค่ไหน
แจมมี่ : เราว่าสำคัญนะ อย่างดนตรีที่ไม่ใช้เทคโนโลยีก็จะเป็น acoustic ซึ่งก็ไปเล่นที่ใหญ่ๆ ไม่ได้ มันจะสื่อสารกับคนในกลุ่มที่น้อยกว่า ยิ่งถ้าเป็นวงแบบฟูลแบนด์ ถ้าเราไม่ใช้เครื่องดนตรีไฟฟ้า ไม่ใช้ไมค์ แค่ตีกลองมันก็กลบเสียงคนร้องหมดแล้ว ดังนั้นเทคโนโลยีจะช่วยขับเน้นเสียงที่ควรเด่นขึ้นมา จัดบาลานซ์ของเสียงแต่ละชนิดให้ดีขึ้น ถ้าเป็นดนตรีในยุคก่อนก็จะเป็นดนตรีคลาสสิก ใช้เสียงร้อง เครื่องสายต่างๆ เล่นในฮอลล์ มันก็พลังได้ แต่พอถึงยุคที่วงใช้กีต้าร์ไฟฟ้า เบสไฟฟ้า โห ถ้าไม่มีตู้แอมป์มันจะกลายเป็นป๋องแป๋งเลยนะ จริงๆ ทุกการเล่นดนตรีสดไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตหรือเล่นในรายการต่างๆ จะมีซาวด์เอนฯ หมด เพียงแต่คนจะไม่ค่อยรู้ บางวงดนตรีก็จะมีซาวด์เอนฯ ประจำวง ถ้าวงไหนที่เพิ่งเริ่มใหม่ ยังไม่มีซาวด์เอนฯ ก็จะใช้ซาวด์เอนฯ กลางที่ทางรายการหรือทางร้านจ้างไว้ เพราะนักดนตรีเขาก็ต้องโฟกัสที่งานดนตรี จะมาดูพวกเทคโนโลยีด้วยก็อาจจะไม่ถนัด
Life MATTERs: อาชีพนี้มีผู้หญิงทำเยอะรึเปล่า
แจมมี่ : ถ้าเมืองนอกเท่าที่รู้ก็มีหลายคนอยู่ อย่างเช่นที่ญี่ปุ่นหรืออเมริกา แต่ถ้าเป็นในไทย สำหรับ live sound เรายังไม่ค่อยเห็นเลย คนที่ทำในสตูดิโอก็ไม่ค่อยเยอะ มันเป็นอาชีพที่ผู้หญิงไม่ค่อยทำอ่ะ
มันก็มีทั้งข้อดีข้อเสียในการเป็นผู้หญิง อย่างง่ายๆ เรื่อง physical เราก็จะดูเหมือนบอบบางกว่าผู้ชาย นี่ขนาดเราเป็นคนตัวสูง ดูมีกำลัง แต่เขาก็ยังไม่ค่อยกล้าใช้งานเรา เอาจริงๆ กว่าจะมาเป็น ซาวด์เอนฯ ต้องมาช่วยแบกของก่อน
Life MATTERs: ความเป็นผู้หญิงเป็นปัจจัยที่ทำให้การทำงานของเรายากหรือง่ายขึ้นไหม
แจมมี่ : มันก็มีทั้งข้อดีข้อเสียในการเป็นผู้หญิง อย่างง่ายๆ เรื่อง physical เราก็จะดูเหมือนบอบบางกว่าผู้ชาย นี่ขนาดเราเป็นคนตัวสูง ดูมีกำลัง แต่เขาก็ยังไม่ค่อยกล้าใช้งานเรา เอาจริงๆ กว่าจะมาเป็น ซาวด์เอนฯ ต้องมาช่วยแบกของก่อน เขาก็จะไม่ค่อยกล้าใช้ จะชอบคิดว่า เฮ้ย น้องจะมีแรงเปล่าวะ แต่เหมือนเดี๋ยวนี้เป็นยุคเท่าเทียมแล้ว มันก็ดีขึ้น เราก็เต็มใจไปช่วยอยู่แล้ว แต่ว่าด้วยความเป็นผู้หญิงในสังคมไทย ผู้ชายเขาก็ค่อนข้างให้เกียรติ เวลาเราไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร เราขอความช่วยเหลือ เขาก็จะช่วยอย่างเต็มใจ แต่ว่าบางครั้งก็จะมีบ้างที่เขาจะมองไว้ก่อนว่า คนนี้จะทำได้รึเปล่า มีบ้างแหละที่เรารู้สึกแต่ไม่ได้คิดมากอะไร
Life MATTERs: แจมมี่ รู้จักอาชีพ sound engineer ตั้งแต่ตอนไหน
แจมมี่ : เรารู้จักมาตั้งแต่ ม.ปลาย เพราะว่าเรียนดนตรีมาตั้งแต่ตอนนั้น แล้วก่อนหน้าก็เล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็ก คือแซ็กโซโฟนกับโอโบ (oboe) ที่เป็นเครื่องเป่าในวงออเครสต้า ทีนี้พอเข้ามหาลัยก็เลยเลือกเรียนคณะดุริยางคศิลป์ มหิดล ซึ่งตอนสอบเข้ามันต้องเลือกสายเลยว่าเราจะเจาะลึกไปทางไหน มันก็จะมีเพอร์ฟอร์ม, ธุรกิจดนตรี, เทคโนโลยีดนตรี แล้วก็การสอนดนตรี ก็เลยกลับมามองตัวเอง ที่ผ่านมาเราเพอร์ฟอร์มมาตลอด แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ เราเริ่มรู้สึกว่าเราชอบฟังมากกว่า ชอบฟังคนอื่นเล่น อยากได้ยินเสียงดีๆ ก็เลยมาลงที่เทคโนโลยีดนตรีที่น่าจะเข้าทางเราที่สุด ก็ไปติวเดี๋ยวแล้ว แล้วสอบเปลี่ยนแขนงเลย ซึ่งก็รู้สึกว่าเราเลือกถูกทางแล้ว เพราะถ้าไปเรียนเพอร์ฟอร์มก็คงค่อนข้างขัดใจตัวเอง เป็นโชคดีที่พ่อแม่สนับสนุนมาตลอด แล้วเขาก็แล้วแต่เราในการเลือกจะเรียนอะไร
Life MATTERs: พอเรียนจบก็เริ่มทำงาน live sound เลยรึเปล่า
แจมมี่ : เราเริ่มฝึกงานกับพี่ธีร์ที่เป็นซาวด์เอนจิเนียร์ของวง The Paradise Bangkok และพี่วี—วิโอเลต วอเทียร์ รวมถึงวง Rasmee เราเลยได้ทำงานร่วมกับวงเหล่านี้โดยจะเป็นผู้ช่วยทำในฝั่งให้นักดนตรีฟังและช่วยดูเรื่องอุปกรณ์ แต่จะมีพี่วี และวง Asia7 ที่เราเคยได้มีโอกาสทำแทนในบางครั้ง หรือไม่ก็จะเป็นเทคนิคเชียนให้วง DCNXTR, Xo8o9 ซึ่งคนที่มีพระคุณที่สุดท่านหนึ่งจะเป็นซาวด์หลัก ส่วนที่เราทำเต็มตัวก็คือทำให้วงที่มาเล่นที่ร้าน Play Yard แล้วก็จะมีช่วงปลายปีก่อนที่มีเรื่อง เราห่างหายไปก็เลยไปสมัครงานออฟฟิศ เราทำที่บริษัทกึ่งสตาร์ทอัพแห่งหนึ่ง ได้ลองทำหลายๆ อย่าง ทั้งมาร์เก็ตติ้ง และเป็นคนประสานงาน ซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับดนตรีเลย ตอนนี้ก็เลยควบสองงาน เก้าโมงเช้าก็เข้างานออฟฟิศ วันที่มีงานซาวด์ก็ทำลากยาวจนดึก ก็เหนื่อยดี (หัวเราะ)
Life MATTERs: การทำสองงานในเวลาเดียวกันถือว่าเป็นเรื่องดีไหม
แจมมี่ : มันดีตรงที่ได้เปิดโลก คือเราเรียนดนตรีมาเกือบทั้งชีวิต พอไปทำงานออฟฟิศก็ต้องไปเจอเรื่องเอกสาร เรื่องธุรกิจ ก็ได้ลองฝึกวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง ก็ต้องจัดการตัวเองให้ดี เพราะการทำเสียงกับงานนี้มันคนละศาสตร์กันเลย มันต้องใช้สมองทั้งคู่ แต่จริงๆ แล้วการทำทั้งสองอย่างที่ต่างกันมากก็ไม่ค่อยดีหรอกค่ะ อนาคตก็อยากจะมุ่งทำซาวด์แบบจริงจัง ให้เป็นอาชีพหลักของเรา
Life MATTERs: การทำงานให้วงดนตรีแต่ละวงต้องใช้ทักษะต่างกันไหม
แจมมี่ : ใช่ อย่างวงที่ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านกับเครื่องอิเล็กทรอนิกส์จ๋าก็จะไม่เหมือนกัน หรือแต่ละแนวดนตรีก็ไม่เหมือนกันนะ อย่างร็อค หรือเร้กเก้ก็จะคนสไตล์ คือวิธีการมันคล้ายๆ กันแหละแต่โทนเสียงหรือมู้ดจะต่าง ถ้าเป็นวงที่ใช้เครื่องที่เข้ากับวงเขา เราไม่ต้องทำอะไรมากเลย แค่ปล่อยให้มันออกมาตามธรรมชาติ มันก็ได้สิ่งที่เขาต้องการแล้ว แต่สมมติถ้าต้องใช้กลองที่ไม่ใช่ของตัวเอง เป็นกลองที่สำเนียงมันไม่ค่อยได้เท่าไหร่ เราก็อาจต้องช่วยเหลือเขา ปรับเสียงให้เข้ากับวงเขา จะช่วยเหลือด้านนั้นอะไรแบบนี้มากกว่า
Life MATTERs: ส่วนตัวแจมมี่ชอบฟังดนตรีแนวไหนมากที่สุด
แจมมี่ : จริงๆ ไม่ได้มีตายตัวมาก alternative ก็ได้ หรือไม่ก็แนว funk แนวอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่หนักมาก เราเป็นคนไม่ค่อยชอบฟังอะไรๆ หนักอย่างพวก metal จะฟังอะไรสบายๆ มากกว่า แต่ท้ายที่สุดเวลาทำงาน เราไม่สามารถเลือกวงที่เราจะทำได้ ไม่ใช่ว่า ฉันอยากได้วงแบบนี้เท่านั้น แล้วมานั่งเลือก ไม่งั้น skill ของเราก็ไม่พัฒนา
Life MATTERs : มองภาพการประสบความสำเร็จในฐานะซาวด์เอนจิเนียร์ไว้ว่ายังไงบ้าง
แจมมี่ : ความฝันคืออยากทำวงที่คนเล่นดีๆ เราได้ไปกับเขาทุกงาน อยากไป on tour มีงานเสมอ เราโตไปกับเขา และอีกส่วนคืออยากให้เขาเลือกทำงานกับเราเพราะเห็นฝีมือเรา เห็นว่า เฮ้ย แจมมี่มันทำงานดีว่ะ คือมองข้ามเรื่องเพศไป หรือบางคนชอบมาแซวเรา ก็ไม่รู้ว่าชมจริงหรือชมเพราะหน้าตาเรา อยากให้ดูกันที่ฝีมือ
เวลาทำงานกลางคืน มันก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีคนมองบ้าง แต่เราไม่โฟกัส ณ จุดนั้น เราก็ทำดนตรี โฟกัสกับวง เวลาคนมอง เราก็ทำตัวเองตัวเล็กๆ ซ่อนๆ ไม่ต้องสนใจฉัน กินข้าวและเอนจอยกับดนตรีไปนะ
Life MATTERs : ตอนนี้อายุ 22 รู้สึกว่ายังมีเวลาอีกเยอะไหม
แจมมี่ : ไม่ขนาดนั้น ตอนนี้คนเริ่มทำกันเร็ว เรารู้สึกด้วยซ้ำว่าน่าจะเริ่มเร็วกว่านี้หน่อย แต่พอทำ live sound งานหลักก็จะเป็นงานกลางคืน แต่โชคดีที่พ่อแม่ให้โอกาส ไว้ใจ และเวลาเรามีอะไรจะไปไหนกี่โมงก็จะบอกพ่อแม่ตลอด แต่เขาก็จะกลัวเรื่องสุขภาพกับความปลอดภัย ตอนนี้พ่อแม่ก็ยังไปรับตอนเลิกงานอยู่เลย ซึ่งตอนแรกก็มีโมเมนต์ที่รู้สึกว่าเราโตแล้วนะ ให้พ่อแม่มารับ คนอื่นจะมองว่าเบบี๋รึเปล่า แต่พอคิดๆ ดู เออ ก็ดีแล้วที่เขาเป็นห่วงแล้วมันก็เป็นสิ่งที่เขาสบาย มันก็โอเคนี่ ไม่มีอะไรไม่ดีเลย แต่เวลาทำงานกลางคืน มันก็ปฏิเสธไม่ได้ที่จะมีคนมองบ้าง แต่เราไม่โฟกัส ณ จุดนั้น เราก็ทำดนตรี โฟกัสกับวง เวลาคนมอง เราก็ทำตัวเองตัวเล็กๆ ซ่อนๆ ไม่ต้องสนใจฉัน กินข้าวและเอนจอยกับดนตรีไปนะ
Photo by Tanapol Keawdang