ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ หรืองานมหกรรมหนังสือระดับชาติ มักจะมีหนังสือใหม่ๆ ที่ออกวางจำหน่ายในงาน บางเล่มก็ชัดเจนว่าเป็นหนังสือขายดี ที่ต้องการจะเปิดขายในอีเวนต์ใหญ่ๆ บางเล่มก็จะเป็นเล่มต่อเนื่อง ที่วางขายในงานเพราะหวังให้คนซื้อเป็นชุด แล้วก็มีบางเล่มที่ตั้งใจมาเปิดตัวในงานใหญ่แบบนี้ เพราะเป็นหนังสือที่ ‘อยากให้คนได้อ่าน’
มังงะเรื่อง เหล่าพ่อแม่ผู้วิงวอน “ให้ลูกของฉันหายไป” ดูจะเป็นหนังสือในแบบหลัง และหลังจากเปิดอ่านมังงะเรื่องนี้ไปไม่นานนักก็จะพบว่า นี่ไม่ใช่แค่มังงะที่เล่าเรื่องสมมติของครอบครัวที่มีลูกเป็นโรคทางจิตเวชเท่านั้น
มังงะเป็นการดัดแปลงมาจากเคสจริงของคุณ โอชิคาวะ ทาเคชิ ที่ขึ้นเครดิตในฐานะผู้แต่งเรื่องของฉบับมังงะ ในการรับมือกับผู้เป็นโรคป่วยจิตเภท และนั่นทำให้มังงะเรื่องนี้มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่เฉพาะในฐานะสื่อบันเทิง แต่เป็นภาพสะท้อนอีกมุมหนึ่งของสังคมญี่ปุ่นที่หลายคนอาจจะไม่เคยนึกถึง
หยุดพักแล้วมาคุยเรื่องโรคทางจิตเวชกันก่อน
แม้ว่าจะมีเนื้อเรื่องเข้มข้นรออยู่ แต่ในการเปิดเรื่องของ เหล่าพ่อแม่ผู้วิงวอน “ให้ลูกของฉันหายไป” นั้น กลับเกริ่นนำด้วยการเล่าเรื่องของโรคทางจิตเวชกันก่อน เพราะตอนนี้ในหลายๆ ประเทศอาจจะตื่นตัวกันเรื่องโรคซึมเศร้า จนทำให้หลายคนเข้าใจแล้วว่า การไปรักษาตัวจากโรคนี้เป็นอะไรที่คนคุ้นเคยกันมากขึ้น แต่อาจจะไม่ทราบกันว่ายังมีโรคทางจิตเวชโรคอื่นๆ อาทิ โรคแพนิก หรือโรคตื่นตระหนก ที่จะทำให้ร่างกายของผู้มีอาการเกิดภาวะตื่นเต้นหายใจเร็ว จนเกิดอาการจุกคล้ายจะเป็นลม แถมหลายคนยังเข้าใจว่านี่เป็นอาการของโรคหัวใจ
โรคจิตเภท (schizophrenia) ที่ทางองค์การอนามัยโลกได้สรุปความเอาไว้ว่า โรคดังกล่าว “เป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติในด้านบุคลิกภาพ ความคิด และการรับรู้การแสดงอารมณ์ไม่เหมาะสม แต่สภาพความรู้สึกตัวและความสามารถทางสติปัญญายังคงปกติ แม้ว่าจะมีการสูญเสียของการรับรู้ไปบ้างเมื่อเจ็บป่วยเป็นระยะเวลานาน โดยที่ไม่มีสาเหตุมาจากโรคทางกาย โรคของสมอง พิษของยา หรือสารเสพติด” และมีผู้ป่วยจำนวนมากในอัตรา 2.5-5 คน ต่อประชากร 1,000 คน
ส่วนโรคไบโพลาร์ (bipolar) หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ผู้ป่วยจะมีลักษณะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่าง ช่วงซึมเศร้าและช่วงอารมณ์ดีเกินปกติ (mania) ที่ทำให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ยากลำบากขึ้น และโรคสมองเสื่อมที่ปกติแล้วมักจะเกิดกับคนอายุมาก แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในคนอายุน้อย โดยอาจจะเป็นผลพวงจากการที่เสพติดสุรา ยาเสพติด
หนังสือการ์ตูนจากญี่ปุ่นเรื่องนี้ก็ยังบอกเล่าไปถึงอาการอื่นๆ ที่อาจจะเป็นการสุ่มเสี่ยงให้ทำเกิดโรคทางจิตเวช อย่างเช่น ภาวะฮิคิโคโมริ หรือการขังตัวเองอยู่ในห้อง อาการเสพติดสื่อต่างๆ อย่างเกมหรืออินเทอร์เน็ต ไปจนถึงภาวะการเป็นสตอล์กเกอร์
ปัญหาโรคทางจิตเวชเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ยังมีหลายคนที่มองว่าโรคทางจิตเวชเป็นเรื่องไม่สำคัญ โดยเฉพาะครอบครัวของผู้ป่วย ซึ่งเป็นคนที่ควรจะยอมรับว่าโรคดังกล่าวมีอยู่จริง แต่กลับเป็นคนที่ปฏิเสธว่าโรคเหล่านี้ไม่มีอยู่เสียด้วยซ้ำ และความชินชาในบางประการของครอบครัวนี่เองที่เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่มังงะเรื่องนี้อยากนำเสนอ
เหล่าพ่อแม่ผู้วิงวอนด้วยคำว่า “ช่วยฆ่าลูกของฉันที”
อย่างที่เกริ่นเอาไว้ในช่วงต้นว่า มังงะเรื่องนี้เล่าการติดตามการทำงานของ โอชิคาวะ ทาเคชิ กับผู้ช่วย ของบริษัทสำนักงานสุขภาพจิตโทคิวะ จำกัด ที่ไปรับเคสจากลูกค้าที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหาจากคนใกล้ชิดซึ่งมีอาการทางจิต ทั้งนี้เขาไม่ใช่จิตแพทย์แต่อย่างไร เพราะงานของเขานั่นคือ ‘บริการส่งตัวผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต’ ที่เน้นการ ‘เกลี้ยกล่อม’ มากกว่าเน้นการคุมบังคับตัว อันมาจากความเชื่อส่วนตัวของเจ้าของบริษัทที่เห็นว่า หากการรักษาที่เกิดจากการยินยอมพร้อมใจของผู้ป่วยย่อมมีแนวโน้มที่ดีกว่าการฉุดกระชากไปนั่นเอง
คนอ่านจะได้เห็นว่าการทำงานของโอชิคาวะกับผู้ช่วยนั้น มักจะเริ่มต้นด้วยการสังเกตการณ์เป้าหมายก่อนว่ามีความผิดปกติจริงตามที่ผู้ว่าจ้างระบุหรือไม่ และในขณะเดียวกันเขาก็ต้องศึกษาคนรอบตัวของเป้าหมายเช่นกัน และทำให้หลายครั้งที่ทั้งตัวโอชิคาวะ กับผู้อ่าน ได้เข้าใจว่า ผู้ว่าจ้างเองก็มีความลับที่อมพะนำไว้กับตัว และมักจะเป็นกุญแจสำคัญในการทำให้งานเกลี้ยกล่อมสำเร็จด้วยดี
เมื่อพิเคราะห์จากท้องเรื่องว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทที่ตัวเอกดำเนินการ มักจะเป็นคนใกล้ตัวของเป้าหมาย เช่น พ่อแม่ หรือพี่น้อง ที่มุุมหนึ่งอาจมองว่าการขอความช่วยเหลือจากมืออาชีพนั้น ทำไปเพราะความเป็นห่วง แต่แท้จริงผู้ว่าจ้างหลายคนกลับมีความคิดหนึ่งซุกซ่อนเอาไว้ในใจ ก็คือ พวกเขาอยากจะกำจัดปัญหาออกจากตัวระดับที่กล้าวานขอให้บุคคลที่สามไปทำการ ‘ฆ่า’ คนเหล่านั้นเสียด้วยซ้ำ
และนั่นเองคือที่มาของชื่อมังงะเรื่องนี้ในภาษาญี่ปุ่น Kodomo Wo Koroshite Kudasai ที่แปลได้ว่า เหล่าพ่อแม่ผู้วิงวอนด้วยคำว่า “ช่วยฆ่าลูกของฉันที” ซึ่งเราคาดว่าฉบับภาษาไทยตั้งใจจะลดความรุนแรงของชื่อไม่ให้ดูเป็นการยุยงส่งเสริมความรุนแรงไป
จุดเริ่มต้นของความบิดเบี้ยวที่มาจากภายในบ้านและครอบครัว
ถ้าหากถามว่าเหตุการณ์ใดที่เป็นเชื้อไฟที่นำพาไปสู่อาการโรคทางจิตเวชได้นั้น ก็มีเหตุผลหลายอย่าง แต่มีประเด็นหนึ่งที่มังงะเรื่องนี้พยายามนำเสนอก็คือ การใช้ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) นั่นเอง หากจะยกสถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติประเทศญี่ปุ่นก็พบว่า เมื่อปี ค.ศ.2018 ที่ผ่านมามีคดีในลักษณะดังกล่าวแจ้งเข้ามายังตำรวจมากถึง 9,088 คดี ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 นับตั้งแต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติประเทศญี่ปุ่นเริ่มเก็บข้อมูลในปี ค.ศ.2003
แต่ข้อมูลของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติประเทศญี่ปุ่น ก็ยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง โดยมีการระบุว่า การรณรงค์กับการเคลื่อนไหวทางสังคม ก็ทำให้คดีความรุนแรงในครอบครัวถูกระงับเอาไว้ก่อนเรื่องจะบานปลายได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังมีมุมชวนคิดเมื่อคดีความรุนแรงในครอบครัวในญี่ปุ่นนั้น มีอยู่ราว 20% ที่เหยื่อเป็นผู้ชายที่ถูกผู้หญิงทำร้าย
ถึงอย่างนั้น ในปริบทของวัฒนธรรมภูมิภาคเอเชียที่ชายมักจะเป็นใหญ่ รวมถึงการพยายามไม่ก้าวก่ายเรื่องของครอบครัวอื่นๆ ผสมกับแนวคิดการแข่งขันที่ค่อนข้างดุเดือดของประเทศญี่ปุ่น ก็ทำให้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในบ้านยังถูกซุกเอาไว้โดยที่ไม่มีใครรู้ ซึ่งภายในมังงะได้นำเสนอว่า ตัวเลขของคดีฆาตกรรมที่ก่อโดยผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในช่วงยุค ค.ศ.2010 อาจจะมียอดลดลงกว่า 10 ปีก่อนจริง แต่คดีฆาตกรรมที่มีผู้ก่อเหตุเป็นคนในครอบครัวกลับสูงขึ้นมาก
ถ้าอ้างอิงจากคดีที่ถูกนำมาเล่าในมังงะเรื่องนี้ จะเห็นคำตอบหนึ่งว่า สาเหตุที่ผู้ก่อคดีฆาตกรรมมีอายุมากขึ้น ก็มาจากการที่เด็กและเยาวชนคนนั้นเคยอยู่ในครอบครัวอันแสนกดดันในอดีต ก่อนได้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ และพวกเขาเหล่านั้นก็มีโอกาสสุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการป่วยทางจิตเวช ถึงขั้นพร้อมก่อความรุนแรง
ซึ่งตัวมังงะได้สรุปเอาไว้ว่า การที่ลูกซึ่งมีอาการจิตเวชเริ่มกระทำความรุนแรงกับครอบครัวนั้น ก็เกิดจากการที่ “พ่อแม่พวกนั้นกลับลืมไปว่าสภาพของตัวพวกเขาเองที่เป็นอยู่ในตอนนี้ก็ใช้เวลาสั่งสมมานานหลายปี การยึดติดกับเปลือกนอก เลี้ยงดูเด็กโดยไม่เห็นเขาเป็นมนุษย์ ไม่ให้ความอบอุ่นแก่เขา สุดท้ายก็สะท้อนออกมาเป็นพฤติกรรมที่มีปัญหา นั่นคือเสียงตะโกนในใจของพวกเด็กๆ ที่ต้องการจะเอาคืนพ่อแม่ตัวเอง” (คำพูดของตัวเอกในเรื่อง)
ฉุกคิด ก่อนมองกลับไปยังสังคมจริง
ถึงมังงะเรื่อง เหล่าพ่อแม่ผู้วิงวอน “ให้ลูกของฉันหายไป” จะบอกเล่าเรื่องจริงที่ชวนให้คนอ่านฉุกคิด แต่ก็ใช่ว่ามังงะจะไร้ข้อด้อยแต่ ประการแรก เราที่เป็นคนอ่านต้องพึงระลึกเอาไว้ว่า มังงะเรื่องนี้ถือเป็นอัตชีวิตประวัติ ที่ยังมีการตีความเรื่องราวต่างๆ จากมุมผู้แต่งอยู่ไม่มากก็น้อย อย่างที่เห็นชัดก็คงเป็นเรื่องอคติที่ตัวเอกมีต่อหน่วยงานหลายๆ หน่วยงานในประเทศญี่ปุ่น อีกส่วนคือลายเส้นที่มีความสมจริง จนอาจจะแข็งเกร็งเกินไปสำหรับนักอ่านบางคน
ถึงอย่างนั้น แต่ละคดีที่ผู้เล่าเรื่องตั้งใจพาคนอ่านไปดูมักจะมีประเด็นสังคมที่หลายคนมองข้ามไปเสมอ ไม่ใช่แค่เรื่องอาการของผู้ป่วยทางโรคจิตเวช แต่ยังพาดไปพูดถึงภาวะ ‘เฉยชา’ ในเรื่องต่างๆ อาทิ ความเฉยชายต่อการโดนทำร้าย ความเฉยชาของครอบครัวกับการทิ้งใครสักคนในบ้านเพื่อดูแลคนป่วย ซึ่งมีโอกาสทำให้เกิดคนป่วยคนที่สองเพิ่มขึ้นได้ง่ายๆ และความเฉยชาที่พร้อมจะโยนปัญหาของตัวเองให้คนอื่นมาดูแลแทน
อีกจุดหนึ่งที่ต้องยอมรับเกี่ยวกับการมังงะเรื่องนี้ก็คือ คดีต่างๆ อาจจะมีการปรับเปลี่ยนชื่อผู้ป่วยและปรับเงื่อนเวลาให้การเล่าเรื่องราบรื่นขึ้น ทว่าฉากจบของคดีส่วนใหญ่มักจะลงเอยด้วยความจริงที่ชวนขื่นขม ส่วนในคดีที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ก็จะพบว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ได้มีแค่ความรู้ความเข้าใจจากครอบครัว แต่พวกเขายังต้องการความเข้าใจจากคนหมู่มากที่เห็นพวกเขาเป็นคนป่วย ไม่ใช่ขยะสังคมแบบที่พ่อแม่ของคนป่วยบางคนอยากจะกำจัดทิ้ง
และมังงะเรื่องนี้ก็เป็นการบอกกล่าวกับโลกอีกครั้งหนึ่งว่า มังงะหรืออนิเมะไม่จำเป็นต้องบอกเล่าเฉพาะความบันเทิงเริงใจเพียงอย่างเดียว หลายครั้งสื่อเหล่านี้ก็ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวยากๆ ให้เข้าถึงคนหมู่มากได้อย่างง่ายดายขึ้น โดยไม่ได้ตัดรสขมปร่าออกไปเลยแม้แต่น้อย
อ้างอิงข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
วารสารกองพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข