เราพูดถึงการ์ตูนของ Disney หลายครั้ง หรือแม้กระทั่ง Disneyland เราก็ได้เสวนากันไปบ้างแล้ว ซึ่งจากการที่เราได้เห็นตัวอย่างของภาพยนตร์ Ralph Breaks The Internet ภาพยนตร์ภาค 2 ที่มีตัวละครจากโลกของตู้เกมที่ต้องเดินทางไปยังฝั่งโลกของอินเทอร์เน็ต เราเลยขอวนเวียนกับ Disney กันอีกสักรอบ
ถ้าได้รับชมตัวอย่างกันแล้วน่าจะเดาได้ว่าเรากำลังจะพูดถึงฉากที่ตัวละครเวเนโลปี้ (หรือ Vanellope) ตะลุยโลกอินเทอร์เน็ตไปถึงเว็บไซต์ Oh My Disney แล้วหลงทางเข้าไปในห้องของ เจ้าหญิงดิสนีย์ ที่มีเจ้าหญิงกำลังพักผอนอยู่ ว๊อบแว๊บเวโนโลปี้ก็ได้สมอ้างว่าเป็นเจ้าหญิงคนหนึ่งเหมือนกัน เจ้าหญิงคนอื่นๆ จึงถามว่าเธอเป็นเจ้าหญิงที่มีปัญหาชีวิตแง่มุมไหนบ้าง ก่อนที่เจ้าหญิงทุกคนจะสรุปว่าตัวละครเอกของ Wreck It Ralph ภาคที่ 2 เป็นเจ้าหญิงก็ตรงที่ มีผู้ชายตัวใหญ่คอยมาช่วยเธอนั่นล่ะ
มุกแซวเจ้าหญิงนี้เป็นที่ฮือฮานับตั้งแต่ตัวอย่างหนังออกให้รับชมกันในโลกออนไลน์ ถึงระดับที่ว่าตัวละครเจ้าหญิงได้ขึ้นโปสเตอร์หนัง โดยฝั่งไทยก็พยายามรวมตัวผู้ให้เสียงพากย์คนเดิมกลับมารับบทบาทเดิมอีกครั้ง และเรื่องของเจ้าหญิงดิสนีย์นี้ก็ถูกระบุว่าเป็นปมที่น่าสนใจของตัวภาพยนตร์ด้วย เราขอจับเอาประเด็น ‘เจ้าหญิงดิสนีย์’ (Disney Princess) มาคุยกันต่อ เพราะเรื่องราวของกลุ่มเจ้าหญิงขวัญใจคนดูนั้นก็น่าสนใจไม่เบาเลยทีเดียว
จุดกำเนิด ‘เจ้าหญิงดิสนีย์’
หากตั้งคำถามว่าเจ้าหญิงเริ่มมาโดดเด่นในภาพยนตร์อนิเมชั่นของทางดิสนีย์ตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็แทบจะบอกได้เลยว่ามันเริ่มโดดเด่นตั้งแต่ที่ดิสนีย์เริ่มทำอนิเมชั่นฉายในโรงภาพยนตร์แล้ว เพราะตัวอนิเมชั่นจอใหญ่เรื่องแรกของทางดิสนีย์ก็คือ สโนว์ไวท์กับคนแคระทั้งเจ็ด (Snow White And The Seven Dwarfs) ที่ออกมาส่งความสุขให้ผู้ชมครั้งแรกในปี 1937
จากนั้นก็มีภาพยนตร์ที่มีเจ้าหญิงเป็นตัวละครหลักตามมาอีกหลายเรื่อง เช่น ซินเดอเรลล่า (Cinderella) ในปี 1950, เจ้าหญิงนิทรา (Sleeping Beauty) ในปี 1959, เงือกน้อยผจญภัย (Little Mermaid) ในปี 1989 ฯลฯ เรียกได้ว่าเป็นงานดังๆ นับตั้งแต่สมัยก่อนเลยนั่นล่ะ แต่กว่าที่ทาง ดิสนีย์จะเรียกกลุ่มเจ้าหญิงว่า เจ้าหญิงดิสนีย์ หรือ Disney Princess ก็ปาเข้าไปในช่วงราวๆ ปี 2000
ไอเดียนี้มาจาก แอนดี้ มูนีย์ (Andy Mooney) ที่ในตอนนั้นมีตำแหน่งเป็นประธานบริษัท Disney Consumer Products ที่ดูแลการจำหน่ายสินค้าจากผลงานของทางดิสนีย์ ในช่วงปี 2003-2011 เขาได้ไปเห็นเด็กหญิงมากมายแต่งตัวเป็นเจ้าหญิงในการเข้ามารับชม Disney on Ice ทำให้เขาคิดขึ้นได้ว่าดิสนีย์ก็สามารถปั้นแบรนด์เจ้าหญิงของตัวเองได้ แล้วไอเดียก็เบิกบานพัฒนากลายเป็นสินค้าในไลน์ ‘เจ้าหญิงดิสนีย์’ ตามมาในที่สุด
ตัวสินค้าในกลุ่มนี้มีทั้งส่วนที่ดิสนีย์ผลิตเองและขายสิทธิ์ให้กับบริษัทอื่นๆ จัดทำ อย่างในไทยก็จะมีหลายบริษัทที่ซื้อสิทธิ์ในการทำสินค้าเหล่านี้ และแน่นอนว่าไอเดียบรรเจิดของ แอนดี้ มูนีย์ ก็ประสบความสำเร็จอย่างดี จนยอดขายของสินค้าในชุดนี้ทะยานขึ้นสูงกว่าหลักพันล้านดอลลาร์หลังจากเปิดตัวไปไม่กี่ปี
เจ้าหญิงดิสนีย์ ชุดแรก ประกอบไปด้วย สโนว์ไวท์, ซินเดอเรลล่า, ออโรร่า (เจ้าหญิงนิทรา), แอเรียล, เบลล์ (จาก Beauty and the Beast), จัสมิน (จาก Aladdin), โพคาฮอนทัส, มู่หลาน และ ทิงเกอร์เบลล์ แต่ตัวละครจาก Peter Pan อยู่ในสถานะเจ้าหญิงดิสนีย์ได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะโดนปลดออก
เจ้าหญิงดิสนีย์กลายเป็นกลุ่มเกิร์ลกรุ๊ป 8 คนอยู่หลายปี จนกระทั่งในวันที่ 14 มีนาคม ปี 2010 ก็มีการ ‘สวมมงกุฏ’ ให้เจ้าหญิงเทียนา เป็นสมาชิกคนที่ 9 แบบถาวร ก่อนที่ ราพันเซล เจ้าหญิงผมยาวสลวยจะได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการใน วันที่ 2 ตุลาคม ปี 2011 และถือว่าเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์คนแรกที่มาจากภาพยนตร์อนิเมชั่นคอมพิวเตอร์แบบเต็มตัว แล้วการแต่งตั้งแบบทางการก็เว้นวรรคไปถึงสองปี ก่อนที่ เมริดา จากเรื่อง Brave จะถูกแต่งตั้งเป็นเจ้าหญิงคนที่ 11 ในวันที่ 11 พฤษภาคม ปี 2013 ซึ่งเป็นตัวละครจากฝั่ง Pixar คนแรกที่ได้รับตำแหน่งเจ้าหญิงนี้
ส่วน ทิงเกอร์เบลล์นั้น แม้ว่าจะได้รับตำแหน่งอยู่ชั่วคราว แต่ภายหลังเธอก็ได้เป็นลีดเดอร์ของ Disney Fairies ที่ได้รับความนิยมพอสมควร ซึ่งนี่ก็ดูเหมาะสมกับตัวละครทิงเกอร์เบลล์ที่เป็นแฟรี่ด้วย
เส้นแบ่งแสนเบลอว่าเหตุใดตัวละครจึงถูกเรียกเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์
อย่างที่เรากล่าวไปในช่วงก่อนหน้าว่าเจ้าหญิงดิสนีย์ ตอนนี้มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเพียงแค่ 11 คนเท่านั้น แต่ถ้าย้อนกลับไปดูในภาพยนตร์ Ralph Breaks The Internet เราจะพบว่าในห้องพักของเจ้าหญิงนั้น นอกจาก เวเนโลปี้ แล้วยังมีเจ้าหญิงอยู่ทั้งหมด 14 คน ซึ่งนอกจาก 11 คนที่กล่าวถึงไปแล้ว ยังมี โมอาน่า กับ สองพี่น้อง อันนา และ เอลซ่า จากเรื่อง Frozen มาปรากฎตัวอยู่ด้วย หรือว่าจริงๆ แล้วเจ้าหญิงสามพระองค์หลังนี้ได้กลายเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์อย่างเป็นทางการไปแล้ว?
เมื่อลองค้นหาข้อมูลแบบเป็นทางการในเว็บไซต์ princess.disney.com ก็พบว่า ณ ตอนนี้หน้าเว็บไซต์ก็ยังระบุว่ามีเจ้าหญิงแบบทางการแค่เพียง 11 คนเท่านั้น พอเจอแบบนี้แล้วเราก็สงสัยต่อไปว่า ถ้างั้นการเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์อย่างเป็นทางการมีกฎอะไรกำหนดบ้าง?
อันที่จริงทางดิสนีย์ไม่เคยอธิบายกฎกติกามารยาทในการคัดตัวเป็น ‘เจ้าหญิงดิสนีย์’ ออกมาอย่างชัดเจน แต่ให้แฟนการ์ตูนทำการตั้งข้อสังเกตกันเองว่า เงื่อนไขขั้นต้นที่ตัวละครจะได้เป็นเจ้าหญิงดิสนีย์แบบเป็นทางการประกอบไปด้วย
– เป็นมนุษย์ หรือ มีร่างเป็นมนุษย์ในท้องเรื่อง อย่างที่เห็นได้จาก แอเรียล ที่แปลงร่างจากเงือกน้อยกลายเป็นมนุษย์ตามท้องเรื่อง
– เป็นตัวละครที่อยู่ในภาพยนตร์อนิเมชั่นภาคหลักของทาง Disney หรือ Pixar
– เป็นตัวละครที่เป็นราชวงศ์โดยกำเนิด หรือทำการอภิเษกสมรสกับคนในราชวงศ์ ไม่เช่นนั้นต้องกระทำการอันกล้าหาญ
ซึ่งข้อสังเกตุนี้จะสอดคล้องกับการที่ตัวละคร เจ้าหญิง 11 ตัวได้อย่างดี และเจ้าหญิงอีก 3 คนที่เพิ่มเข้ามาก็อยู่ในเครือข่ายนี้ด้วย แต่ถ้านับกันแค่นี้เราควรจะมีตัวละครที่ได้รับการตบแต่งเป็น ‘เจ้าหญิงดิสนีย์’ อีกหลายตัว อย่างเช่น เจ้าหญิงไอลอนวี่ จากภาพยนตร์ The Black Cauldron ส่วนบางคนก็บอกกล่าวว่า จะเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ได้ต้องร้องเพลงเก่งด้วย ซึ่งตรงนี้ก็อาจไม่จริงเท่าใดนัก เพราะอย่างน้อยก็ เมริดา หนึ่งคนล่ะที่ไม่ได้ร้องเพลงอะไรในหนังของตัวเองแต่ถูกบรรจุเป็นเจ้าหญิงแบบทางการ
สุดท้ายแล้วอีกจุดหนึ่งที่แฟนการ์ตูนดิสนีย์อนุมานว่าน่าจะเป็นเงื่อนไขในการเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์แบบเป็นทางการ ก็คือ…เป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นที่มีรายได้ดี
ส่วนนี้จะตอบคำถามได้ครอบคลุมเลยว่า ทำไมเจ้าหญิงในการ์ตูนดิสนีย์ที่ออกฉายในช่วงก่อนปี 2010 คนอื่นๆ ถึงไม่ติดเข้ามาในลิสต์สมาชิกแบบเป็นทางการได้ อย่างเช่นที่ Youtube ช่อง The Film Theorists เคยรวบรวมตัวเลขรายได้โดยคร่าวว่า ภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ได้รับชื่อว่าเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์อย่างเป็นทางการนั้น ทำรายได้ทั่วโลกขั้นต่ำอยู่ที่ 250 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ และทำรายได้ในอเมริกาขั้นต่ำ 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทางช่องดังกล่าวเชื่อว่า ยอดรายได้นี้ทำให้หนังอย่าง Hercules ที่มีรายได้ในบ้านเกิดอยู่ที่ราว 99 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ไปไม่ถึงฝันในการส่งนางเอกเข้าชิงตำแหน่งเจ้าหญิงดิสนีย์
แล้วเหตุใดจึงไม่แต่งตั้ง โมอาน่า, อันนา กับ เอลซ่า ที่หนังทำรายได้เกินเป้าให้เป็นเจ้าหญิงดิสนีย์แบบเป็นทางการสักทีล่ะ (Moana ทำรายได้รวมทั่วโลกประมาณ หกร้อยสี่สิบล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ, Frozen ทำรายได้รวมทั่วโลกประมาณ หนึ่งพันสองแสนล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ)
ส่วนนี้เราคาดว่า ฝั่งโมอาน่าอาจพยายามหลบประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้นช่วงก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุที่หนังของโมเอน่าหยิบจับเอาวัฒนธรรมของชาวพอลินีเซีย (Polynesian) มาบอกเล่าในแบบดิสนีย์ๆ ซึ่งเป็นความตั้งใจของทางดิสนีย์ที่ต้องการนำเสนอความหลากหลายทางชาติพันธุ์ให้มากยิ่งขึ้น ปัญหาก็คือการดีไซน์ตัวละครของในเรื่อง โดยเฉพาะตัวละคร มาวอิ ถูกติงจากบางประเทศว่าเป็นการ Fat Shaming ชายชาวพอลินิเซีย แต่ก็มีคนค้านไม่น้อยว่า นั่นเป็นแค่ดีไซน์ตัวละครให้ดูน่ารักน่าชังเท่านั้น
ดราม่าจริงจังมาเกิดขึ้นอีกครั้ง จากชุดเสื้อผ้าสำหรับเด็กของหนังเรื่องนี้ ที่ทำเป็นบอดี้สูทเมื่อสวมใส่ไปแล้วจะมีผิวสีน้ำตาลและรอยสักเหมือนกับตัวละคร มาวอิ คราวนี้ดราม่าบานปลาย เพราะการทำชุดแบบนี้ถูกชาวพอลินิเซียออกความเห็นอย่างดุเดือดว่า เป็นการกระทำเหยียดเชื้อชาติ เพราะผิวสีกับรอยสักเป็นวัฒนธรรมของผู้คน ไม่ใช่เสื้อผ้าที่สวมใสเล่นๆ ถ้าเกิดมีการประกาศขายของเพิ่มเติมด้วยการแต่งตั้งให้ โมอาน่า เป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ ก็อาจจะเกิดดราม่าใหญ่โตกว่าที่ควรเลยเลี่ยงที่จะไม่ประกาศไปก่อน
ฝั่งราชินีและเจ้าหญิงจาก Frozen ที่มีข่าวว่าทางดิสนีย์จะทำการ ‘สวมมงกุฏ’ ให้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ช่วงปี 2014 แต่ ณ วันที่เขียนบทความนี้ในปี 2018 ก็ยังไม่มีการประกาศออกมาแบบชัดเจน บางทีอาจเป็นฝั่งของทางดิสนีย์เองที่รอเวลาบางอย่าง หรือรอให้ภาพยนตร์ Frozen 2 ใกล้เข้าฉายก่อนจึงค่อยประกาศเพื่อเรียกเรตติ้งก็เป็นได้
ถ้าอย่างนั้น แล้วทำไม โมอาน่า, อันนา และ เอลซ่า มาปรากฎตัวในภาพยนตร์ Ralph Breaks The Internet ได้นั้น เราคาดว่าเพราะตัวท้องเรื่องของภาพยนตร์นั้นพยายามจำลองภาพของสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ออกมามากกว่า เพราะในสวนสนุกของจริงนั้น ทั้ง โมอาน่า, อันนา และ เอลซ่า มีเหล่า แคสต์เมมเบอร์ (Cast Members – ในกรณีนี้หมายถึงพนักงานของสวนสนุกของดิสนีย์แลนด์) มาสวมบทบาทและคอยต้อนรับแขกทุกคนที่มาเยือนสวนสนุกมาพักหนึ่งแล้วนั่นเอง
‘เจ้าหญิงดิสนีย์’ กับผลกระทบต่อสังคม
ด้วยความที่จุดเริ่มต้นของ เจ้าหญิงดิสนีย์ เป็นการรวมเอาตัวละครเจ้าหญิงที่ถูกสร้างมาตั้งแต่ช่วงปี 1930-2000 มารวมกัน ลักษณะตัวละครโดยส่วนใหญ่จึงเป็นตัวละครที่คนรุ่นก่อนหน้านี้ ‘วาดภาพเจ้าหญิงในฝัน’ ที่ส่วนใหญ่จะสุภาพ อ่อนโยน และสุดท้ายต้องรอให้ผู้ชายมาช่วยเหลือ แต่ส่วนนี้ยังมีตัวละครแบบ มู่หลาน มาถ่วงดุลย์ไว้เบาๆ
ถ้าหันมาดูฝั่งวิชาการ ในสมัยนี้เราจะได้เห็นภาคการศึกษามาเสวนากันเรื่องเจ้าหญิงดิสนีย์แบบจริงจัง อาทิ งานศึกษาของ Sarah M. Coyne ก็คือการที่ตัวละครในกลุ่ม ‘เจ้าหญิงดิสนีย์’ ส่วนใหญ่นั้นมีผลกับความคิดเรื่องร่างกายของเด็กหญิง เพราะเจ้าหญิงแทบทุกคนทรวดทรงองค์เอวผอมบางแต่ก็มีหน้าอกหน้าใจชัดเจน ซึ่งเป็นรูปร่างในอุดมคติที่เกินจริงไปหน่อย จึงมีโอกาสที่เด็กผู้หญิงจะยึดติดกับเรือนร่างแบบดังกล่าวแล้วกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการไม่ชอบร่างกายของตัวเองเป็นการต่อไป
หรืองานศึกษา Carmen Fought กับ Karen Eisenhauer ที่วิเคราะห์อนิเมชั่นเจ้าหญิงดิสนีย์ในมุมภาษาศาสตร์ ได้พบว่าภาพยนตร์อนิเมชั่นในช่วงปี 1990-2000 นั้นมีการพูดจาของตัวละครเพศหญิงอยู่ไม่มากนัก แม้ว่าบางเรื่องนั้นเราจะพอบอกได้ว่ามันเกิดจากความจำเป็นตามท้องเรื่อง แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหญิงดิสนีย์ในยุคนั้นมีการนำเสนอเพื่อเอาใจให้ผู้ชมเพศชายอย่างชัดเจน ก่อนที่จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิด
แต่ก็ไม่ใช่ว่าดิสนีย์เองจะนิ่งเฉยกับความเห็นของผู้ชมปกติหรืองานวิจัย เพราะทางดิสนีย์เอง ก็พยายามปรับปรุงการ์ตูนของตัวเองให้เหมาะสมเข้ายุคเข้าสมัยมากขึ้น ในช่วงหลังอนิเมชั่นของทางดิสนีย์ (และ Pixar) อยากจะจับประเด็นกลุ่มสังคมอื่นนอกจากฝั่งยุโรปบ้าง และภาพยนตร์อนิเมชั่นในยุคหลังปี 2000 ของดิสนีย์ก็พยายามนำเสนอให้ตัวละครหญิงแต่งตัวหรูหราน้อยลง มีทักษะพึ่งพาตัวเองได้มากยิ่งขึ้น บางครั้งก็นำเสนอเรื่องราวที่สวนทางกับภาพยนตร์สมัยคลาสสิก อย่างในเรื่อง Frozen ที่จับเอาไอเดียว่าความรักที่แท้จริงไม่จำเป็นต้องจบแค่เรื่องของชายหญิง หรือในฝั่ง โมอาน่า กับ เมริดา ในเรื่อง Brave ก็เล่าเรื่องการผจญภัยของเจ้าหญิงโดยไม่มีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ มาเกี่ยวข้องเลย ส่วนด้านรูปลักษณ์นั้น แม้ว่าจะยังมีเจ้าหญิงหุ่นดีให้เห็นอยู่บ้าง แต่เราก็เริ่มเห็นตัวละครที่มีรูปลักษณ์หลากหลายมากขึ้น พยายามขยับหุ่นให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น
ไม่ใช่เพียงการปรับปรุงภาพยนตร์อนิเมชั่นที่มีตัวละครหญิงรับบทเด่นให้ดูเสมอภาคในหลายมิติมากขึ้น ในช่วงหลังๆ แบรนด์ Disney Princess ยังเริ่มเปิดแคมเปญกิจกรรมทางสังคม ที่ช่วยผลักดันให้ผู้หญิงมีบทบาทโดดเด่นในสังคมมากยิ่งขึ้น อย่างเช่นการเปิดโครงการ Dream Big Princess โครงการที่ทางดิสนีย์จัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้หญิงได้แสดงฝีมือในสาขาต่างๆ อย่างเช่นในปี 2018 ได้สนับสนุนให้คนทำหนังผู้หญิงจาก 13 ประเทศ เป็นภาพยนตร์ขนาดสั้นที่เล่าเรื่องผู้หญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจ แม้เรื่องนี้จะดูเหมือนการทำ Corporate Social Responsibility (CSR – ความรับผิดชอบทางสังคมเชิงบรรษัท) แต่สำหรับวงการภาพยนตร์ที่เพศชายเป็นใหญ่จนเกิดดราม่าระดับ #MeToo กิจกรรมของทาง Disney Princess ก็ถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงได้อย่างงดงาม
อีกสิ่งหนึ่งที่อาจไม่เกี่ยวกับตัวแบรนด์ ‘เจ้าหญิงดิสนีย์’ โดยตรง แต่เป็นเรื่องที่มาจากดิสนีย์สาขาอื่นๆ ที่เริ่มทำการหยอดเนื้อหาเกี่ยวกับ เจ้าหญิงที่เปิดกว้างรับกลุ่มคน LGBTQ อย่างเช่น ภาพยนตร์อนิเมชั่นทางทีวีเรื่อง Star vs. the Forces of Evil การ์ตูนสำหรับเด็กที่ฉายทางช่อง Disney Channel ได้มีการใส่ทั้งฉากตัวละครผู้ชายจูบกัน และมีการเดินเรื่องให้ตัวละครหลักอย่าง Marco Diaz ไปประกวดแต่งตัวเป็นเจ้าหญิง ก่อนที่ตัวละครอื่นๆ ในเรื่องบอกว่า จะเด็กชายหรือเด็กหญิงก็แต่งเป็นเจ้าหญิงได้ทั้งนั้น
ถ้าเอาเป็นเชิงดราม่าเบาๆ ก็มีเรื่องที่เกิดขึ้นใน Disneyland Paris ที่แคสต์เมมเบอร์คนหนึ่งได้ตอบเชิงปฏิเสธกับเด็กชาย Noah McLean-Glass ว่าเขาไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรม Princess for a Day ที่เป็นบริการแต่งหน้าแต่งตัวเด็กวัยต่ำกว่า 12 ขวบ ให้เป็นเจ้าหญิงดิสนีย์ได้ แต่เมื่อ Hayley McLean-Glass ผู้เป็นแม่ส่งจดหมายแสดงความผิดหวังที่เด็กผู้ชายเข้าร่วมกิจกรรมนี้ไม่ได้ และคำตอบที่ทาง Disneyland Paris ว่ากิจกรรมดังกล่าวนั้นเปิดให้บริการเด็กทุกคนที่อายุต่ำกว่า 12 ขวบทุกคน และสุดท้ายเด็กชายก็ได้แต่งตัวเป็นเจ้าหญิงเอลซ่าที่เขาชอบได้อย่างสมใจ
จากเหตุการณ์ข้างต้นทำให้เราคิดว่า ไม่แน่ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็นเจ้าหญิงดิสนีย์ขยับไปพูดเรื่องเพศที่หลากหลายมากกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ และนั่นคงจะเป็นกลายเป็นกระแสไปทั่วโลกแน่นนอนถ้าเราได้เห็น เจ้าหญิงดิสนีย์ ออกมาพูดคุยว่าพวกเธอนั้นสนับสนุนความรักที่หลากหลาย
เพราะเจ้าหญิงกลุ่มนี้นั้นไม่ได้เป็นแค่ขวัญใจของเด็กตัวเล็กๆ เท่านั้น พวกเธอคือกลุ่มหญิงสาวที่เข้าไปอยู่ในใจหลายๆ คนมาตั้งแต่แปดสิบปีก่อน และไม่ว่าพวกเธอจะเป็นเจ้าหญิงดิสนีย์แบบเป็นทางการหรือไม่ เราก็เชื่อว่าพวกเธอจะอยู่ในใจของคนดูต่อไปอีกนานเลยล่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Youtube Channel: The Film Theorist