เหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัว แต่ก็ใกล้กว่าที่คาด และกลายเป็นเรื่องที่ถูกยกมาเป็นประเด็นเมาท์มอยอยู่บ่อยๆ กับเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์’ ที่ถูกยกขึ้นมาพูดกันในสังคมออนไลน์อีกครั้งในช่วงนี้ หลังจากมีดราม่าชิ้นใหม่ที่หลายคนโฟกัสกันมาก เพราะไปเกี่ยวข้องกับเพลงยอดฮิตอย่าง ‘คุกกี้เสี่ยงทาย’ ที่ใครฟังแล้วก็ติดหู
แต่คราวนี้ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ไม่ได้จากเรื่องเพลงเหมือนครั้งที่เราเคยถกกันมาก่อนแล้ว (อ่านบทความดังกล่าวได้ที่นี่) แต่เป็นดราม่าจากการที่ ผู้ชำนาญการด้านความงามบนโลกอินเทอร์เน็ตท่านหนึ่ง ได้แปลงโฉมตัวเองให้เหมือนกับสมาชิกของวง BNK48 ตามสไตล์เพจแปลงโฉมมาดคนดัง ก่อนที่จะมีแฟนคลับของวงมาทักท้วงว่า ทางผู้จัดการวง BNK48 เคยออกปากปรามเรื่องคอสเพลย์ และทางเพจน่าจะสอบถามทางต้นสังกัดวงก่อนจะจัดเต็มทั้งหน้าทั้งชุดแบบนั้น
ทั้งสองกลุ่มก็มีแฟนคลับที่รักและชื่นชอบแต่ละฝั่งพอๆ กัน ด้วยความที่ในอินเทอร์เน็ตนั้นไร้เสียงพูด คำพูดที่จริงๆ ไม่ได้มุ่งร้ายอะไร ก็อาจถูกแต้มเสียงไปเองจนเกิดเป็นประเด็นชวนทะเลาะกันขึ้นมา แถมดราม่าไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงสองกลุ่มนี้ เพราะเรื่องได้ดำเนินต่อไปยังหลายๆ กลุ่มสังคมในโลกออนไลน์ ประจวบเหมาะกับข่าวกรมศุลกากรทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ก็เหมือนมีเชื้อไฟใหม่มาเติม จนทำให้เรื่องเลยเถิดไปมากขึ้น จนถึงจุดที่เราพอจะแยกฝักฝ่ายง่ายๆ เป็นกลุ่มที่สนับสนุนลิขสิทธิ์ให้ทำการดำเนินการอย่างเด็ดขาด กับอีกกลุ่มที่ตั้งธงไว้ไกลถึงระดับที่ว่าโลกนี้ไม่ควรมีระบบลิขสิทธิ์ด้วยซ้ำ
มาถึงขนาดนี้่ได้ในฐานะผู้ตามเผือกที่ดีอย่างเราก็คิดได้ว่า เราควรจะพูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์กันอีกสักครั้งแล้วล่ะครับ
ปวดกบาลเสมอเมื่อเสวนาเรื่อง ‘ลิขสิทธิ์’
อย่าแปลกใจครับ ตัวผู้เขียนเองที่เสวนาและเคยทำงานวนเวียนอยู่กับบริษัทสายงานลิขสิทธิ์ก็ปวดเฮดทุกรอบเวลาต้องเสวนาเรื่องนี้ และเมื่อเราแวะไปยังเว็บไซต์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็พบว่าในส่วนกฎหมายลิขสิทธิ์มีการแยกรายละเอียดของกฏหมายเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ไว้หลายหน้า แบ่งแยกย่อยตามหมวดหมู่ดังนี้ครับ
- พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์
- พระราชบัญญัติสิทธิบัตร
- พระราชบัญญัติสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
- พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
- พระราชบัญญัติสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
- พระราชบัญญัติความลับทางการค้า
- พระราชบัญญัติแบบผังภูมิของวงจรรวม
- พระราชบัญญัติการผลิตผลิตภัณฑ์ซีดี
พอเห็นแล้วก็ปวดเวียนเศียรเกล้าอีกรอบ ถ้าจะสโคปให้เห็นภาพง่ายขึ้นหน่อยก็คือ กฎหมายเหล่านี้เป็นกฏหมายที่ออกมาคุ้มครองสิทธิ์จากการสร้างผลงาน ถ้าอิงตามพระราชบัญญัติ วรรณกรรม (สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์), นาฏกรรม (งานเต้นทั้งหลาย), ศิลปกรรม (งานศิลป์ทั้งหลาย), ดนตรีกรรม (เพลงทั้งหลายแหล่), โสตทัศนวัสดุ (รายการทีวี หรือ คลิปวิดีโอทั้งมวล), ภาพยนตร์, สิ่งบันทึกเสียง, งานแพร่เสียงแพร่ภาพ รวมถึงงานแสดงของนักแสดงต่างๆ ก็ถูกกฎหมายตัวนี้คุ้มครองสิทธิ์เอาไว้ด้วยครับ
ด้วยความที่มันเยอะขนาดนี้เนี่ย ทำให้ที่ผู้ศึกษากฎหมายอยู่เป็นประจำ รวมไปถึงทนายหลายท่านก็บ่นเหมือนกันว่า กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นกฎหมายที่วุ่นวายและยุ่งยากเสียเหลือเกิน เพราะมันมีส่วนแยกย่อยอยู่มาก (อย่างน้อยก็ตามหมวดย่อยที่ที่เราพูดถึงเมื่อกี้) แถมความเร็วของเทคโนโลยีก็ทำให้คำนิยามในตัวกฎหมายบางอย่างต้องตีความกันใหม่อีก
แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องหลีกเลี่ยงแล้วทำหน้าเบลอใส่เรื่องเหล่านี้ ในทางตรงกันข้ามครับ เราควรจะทำความเข้าใจมันบ้างอาจจะเป็นการดีกว่าเสียอีก เพราะวันใดวันหนึ่งคุณอาจจะมีโอกาสได้ไปใช้งานอย่างกะทันหันได้
“ลิขสิทธิ์คุ้มหัวทุกอย่าง” ?
“ลิขสิทธิ์คุ้มหัวทุกอย่าง” คำพูดนี้เป็นสิ่งที่ชาวเน็ตพูดขึ้นมาหลังจากที่ดราม่าคอสเพลย์ BNK48 เริ่มกระจายตัวไปยังวงกว้าง ซึ่งในความเป็นจริงคำพูดนี้ก็ดูจะเกินเลยไปหน่อย เพราะทุกอย่างบนโลกมีขอบเขตของตัวเองอยู่ อย่างเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ในตัวพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 (โดยที่ยังไม่ได้ข้ามไปดูกฎกระทรวงหรือพระราชบัญญัติตัวข้างเคียงอื่นๆ ด้วย) ก็มีระบุขอบเขตไว้ชัดเจนตั้งแต่หัวข้อต้นๆ อย่าง มาตราที่ 6 ในพระราชบัญญัติที่ระบุว่า “การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์” ซึ่งหมายความว่า คุณยังแจกจ่ายความรู้ร่วม (Common Knowledge) ได้โดยสบายใจ คุณยังใช้แคลคูลัสไปคำนวณวงโคจรจรวดได้เสมอถ้าคุณอยากทำ
ตัวการคุ้มครองลิขสิทธิ์เองก็ไม่ได้อยู่ยงคงกระพันเป็นอมตะไปตลอดกาล อย่างในบ้านเราก็มีการระบุไว้ว่า ลิขสิทธิ์จะหมดอายุหลังจากผู้สร้างผลงานเสียชีวิตไปแล้ว 50 ปี หรือถ้ากรณีที่เป็นงานนิติบุคคลก็จะนับ 50 ปีตามวันสร้างหรือวันที่โฆษณา (ตามรายละเอียดพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนที่ 4 อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มาตรา 19 – 26) เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าว ผลงานเหล่านั้นก็จะตกเป็น สาธารณสมบัติ (Public Domain) และก็เคยมีกรณีที่เจ้าของสิทธิ์ยังมีชีวิตอยู่แต่ทำการยื่นความประสงค์ให้ผลงานของตนเป็นของสาธาณชนก่อนหมดเวลาที่กำหนดในกฏหมายมาแล้ว
แถมยังมีข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์อีกหลายประการอย่าง การศึกษาโดยไม่เอาผลกำไร, ใช้เองเงียบๆ คนเดียวไม่แชร์ต่อ, การใช้เพื่อวิจารณ์, การก๊อปปี้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี หรือการศึกษาที่ไม่ทำผลกำไร, การออกข้อสอบ, การดัดแปลงผลงานเพื่อให้คนพิการเข้าถึงได้ หรือเสนอข่าวเพื่อให้รู้ว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงาน ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ (ตามรายละเอียดพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ส่วนที่ 6 ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ มาตรา 32 และ มาตรา 35) แล้วก็มีครอบคลุมว่าถ้าบังเอิญถ่ายรูปติด, วาดรูปเหมือนแล้วติดเป็นฉากหลัง, เป็นสถาปัตยกรรมหรือศิลปกรรมที่ตั้งเปิดเผยประจำอยู่ในที่สาธารณะ ก็ไม่ผิดลิขสิทธิ์นะ (มาตรา 36 – 40)
ย้อนกลับไปอ่านที่ มาตรา 7 ของ พรบ. ก็มีระบุไว้ครับว่า ข่าวประจำวัน หรือข้อเท็จจริงต่างๆ, รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย, ระเบียบข้อบังคับของหน่วยงานรัฐ, คำพิพากษาศาล, คำสั่งราชการ ที่เป็นภาษาไทยหรือแปลจากภาษาอื่น เรื่องเหล่านี้ไม่นับเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ครับ
ตัวกฎหมายลิขสิทธิ์ของเราก็ถูกเขียนขึ้นตามมาตรฐานนานาชาติ เพราะไทยเราประเทศภาคีสมาชิกที่ร่วมเซ็นอนุสัญญากรุงเบิร์นว่าด้วยการคุ้มครองงานวรรณกรรมและศิลปกรรม ที่ประเทศสมาชิกจะต้องให้ความคุ้มครองผลงานลิขสิทธิ์แก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในประเทศสมาชิกอื่น เช่นเดียวกับผลงานลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ในบ้านเราจะคุ้มครองงานลิขสิทธิ์เฉพาะผลงานที่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย (มาตรา 32) เพราะฉะนั้นสื่อบางอย่างที่ผิดกฎหมายอื่นในไทยตั้งแต่เริ่มอย่าง หนังโป๊ ในไทยจะไม่คุ้มครองลิขสิทธิ์ให้
ก็นั่นล่ะครับ กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้คุ้มหัวทุกสิ่ง และไม่ได้ยืนยงตราบชั่วฟ้าดินสลาย เราก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติตราบเท่าที่เราไม่นำเอาผลงานลิขสิทธิ์ของคนอื่นไปใช้เพื่อประโยชน์ที่ได้กำไรชัดเจน หรือจะบอกว่าเป็นกฎที่สร้าง ‘พื้นที่’ และ ‘โอกาส’ ให้เจ้าของผลงานได้มีอะไรคุ้มครองผลงานที่ตัวเองสร้างขึ้นมาบ้าง
ใครควรจะตัดสินเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์
ในดราม่าที่เกิดขึ้นนั้น กลุ่มที่สนับสนุนลิขสิทธิ์ให้ทำการดำเนินการอย่างเด็ดขาดบอกว่าทางค่ายต้นสังกัดของ BNK48 มีสิทธิ์ตัดสินเด็ดขาด ส่วนอีกฝ่ายนั้นก็บอกว่าเรื่องนี้มันต้องให้ฝั่งญี่ปุ่นมาตัดสินสิว่าใครจะผิด เอากันตรงๆ ผู้ที่จะตัดสินได้ชัดเจนว่าใครผิดหรือใครถูกนั้นก็มีแค่ศาล ตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่่ต้องมีการฟ้องร้องคดีอย่างเป็นทางการนั่นเอง แต่เราอาจจะรู้สึกว่าไม่ค่อยได้เห็นคำตัดสินของศาลแบบฟันฉับเท่าไหร่นัก หรือถ้าจะเห็นก็เป็นขั้นตอนการเผาทำลายสินค้าไปแล้ว ซึ่งก็ไม่แปลกนัก เพราะคดีลิขสิทธิ์กินเวลากันยาวนาน ทั้งยังเป็นคดีที่สามารถยอมความกันได้ ขั้นตอนบางอย่างเลยอาจจะจบที่การเจรจาให้คู่ความไกล่เกลี่ยกันเพื่อให้เรื่องจบเร็วขึ้น
เราลองสมมติกันเล่นๆ ครับว่าเรื่องราวมันจะยืดยาวแค่ไหน อย่างกรณีของดราม่าชุด BNK48 นั้น คงต้องเริ่มกันตั้งแต่การยื่นว่าจะฟ้องในแง่ไหน เพราะอย่างแรกเลย การใส่เสื้อผ้าที่มีทรงและสีใกล้เคียงกันเฉยๆ ย่อมไม่ใช่ความผิดครับ (ไม่งั้นเราคงเห็นการฟ้องร้องกันในงานบุญที่ทุกคนนุ่งขาวห่มขาวกันรัวๆ แล้ว) ถ้ามองความเป็นไปได้ก็คงต้องไปดูกันต่อในแง่การละเมิดเครื่องหมายการค้า หรือสิทธิบัตรการออกแบบ ซึ่งก็ต้องลงไปดูกันอีกครับว่าทางต้นสังกัดของ BNK48 ในบ้านเรามีการจดทะเบียนสิ่งเหล่านี้ไหม ถ้ามีการจดไว้แล้วก็ถือว่าจะดำเนินเรื่องต่อได้ ซึ่งถ้าเอาให้ครบถ้วนก็ต้องมีการส่งหนังสือเตือนไปยังผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ก่อน แต่ถ้ายังไม่ได้มีความคืบหน้าก็ถึงจะดำเนินเรื่องเข้าขั้นต่อไปอีก
ด้วยความยาวจนดูไม่คุ้มเวลาของทุกๆ ฝ่ายก็ทำให้การเจรจาเกิดขึ้นได้เสมอๆ ระหว่างดำเนินคดีครับ แต่คนที่จะบอกว่าควรไกล่เกลี่ยแบบไหน แฟนคลับคงไม่สามารถรับหน้าที่เป็นกาวใจระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ และต้องยกหน้าที่ตัดสินต่างๆ ให้กับศาลไป
คนคอสเพลย์ตัวจริงเขาว่าไงกับเรื่องนี้?
ด้วยความที่ว่าตัว ผู้ชำนาญการทางด้านความงาม, กลุ่มแฟนคลับ BNK48 หรือแม้แต่คนที่มาตามดราม่าทีหลังก็ใช้คำว่า ‘คอสเพลย์’ ในการกระทำครั้งนี้ แต่เรายังไม่ค่อยได้ยินเสียงจากคนคอสเพลย์สักเท่าไหร่ สื่อหลายๆ เจ้าก็พูดถึงเหล่า ‘โอตะ’ เสียมากกว่า เราเลยวกไปคุยกับคนที่เกี่ยวข้องกับคนที่เกี่ยวข้องกับคอสเพลย์มานานอย่าง คุณคม กุญชร ณ อยุธยา เจ้าของเว็บไซต์ propsops.com ได้ให้ความเห็นเรื่องนี้ไว้ดังนี้ครับ
“ก่อนจะไปคุยเรื่องลิขสิทธิ์ สิ่งสำคัญที่คนคอสเพลย์ส่วนใหญ่ควรรู้ตัวคือ ต้นแบบมีเจ้าของ มีคนออกแบบ มีคนดีไซน์ เพราะงั้นเนี่ย โดยพื้นฐานคนคอสเพลย์ก็จะไม่มีปัญหาใดๆ เท่าไหร่ เพราะคนคอสเพลย์รักในตัวละครนั้น ส่วนมากการแสดงออกต่อตัวละครจึงไม่ได้ทำลายภาพลักษณ์ตัวละครเพราะคนคอสเพลย์รักสิ่งนั้น แบบกรณี Low Cost Cosplay เรามองว่าเจตนาเป็นการล้อเลียนหรือ parody ไม่ได้ทำให้เสียหายแต่แซวเล่น ซึ่งเรามองว่าเจตนามันยังโอเค แค่เป็นการหยอกว่าฉันคอสเพลย์เป็นตัวนี้ ตัวละครนี้เหมือนกับอุปกรณ์ข้างตัวฉันเลย
แต่พอมาถามเรื่องลิขสิทธิ์เนี่ย ยิ่งเหมือนเท่าไหร่ก็ยิ่งเข้าข่ายว่าผิดลิขสิทธิ์เพราะว่าจะถูกตัดสินหรือไม่ มันอยู่ในขั้นตอนว่าเจ้าของลิขสิทธิ์จะทำอย่างไร แต่ในบางกรณีแบบใน Low Cost Cosplay เขาหยิบเอาเอกลักษณ์นิดๆ หน่อยๆ ของเรื่องนั้นมาใช้ เขาไม่ได้ตั้งใจให้เหมือนแต่ต้นอยู่แล้ว เป็นการดัดแปลง”
เมื่อเราถามต่อไปในแง่ที่ว่าแล้วกลุ่มคอสเพลย์ที่ได้รายได้ทีหลังล่ะ คุณคมได้แสดงความเห็นต่อไว้ว่า “ส่วนนี้เจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่าคอสเพลย์อันนั้นมีการดัดแปลงแก้ไขสาระสำคัญของเอกลักษณ์ของต้นแบบนั้นมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามันเกี่ยวโยงกันโดยตรงก็เป็นการหยิบอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งมาเฉยๆ แต่ถ้ามีการอ้างอิงถึงในระดับหนึ่งจนทำให้คนเข้าใจในสาระว่ากำลังพูดถึงสิ่งนี้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นแต่ละเคสจึงกลายเป็นว่าต้องค่อยๆ พิสูจน์ไปตามขบวนการยุติธรรม”
คุณคมยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์ไว้ดังนี้ “ตัวกฎหมายลิขสิทธิ์เนี่ย จริงๆ แล้วลึกๆ มันคือกฎหมายที่พยายามหาทางสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ทั้งเจ้าของลิขสิทธิ์และคนใช้งาน บางคนอาจจะมองว่าเป็นตัวกฎหมายที่ให้สิทธิ์เจ้าของแบบขั้นสุดเลย จริงๆ ไม่ใช่ ตัวกฎหมายยังระบุเลยว่าลิขสิทธิ์ได้เพียงกี่ปีๆ เพราะการผูกขาดอะไรมากเกินไปก็จะใช้ประโยชน์อะไรในอนาคตได้ แต่อย่างน้อยที่สุดในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายเจ้าของผลงานควรได้รับผลประโยชน์นะ เพราะเขาเป็นคนคิดค้นเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา”
ละเมิดลิขสิทธิ์จะพาให้เกิดข้อเสียได้แค่ไหนเชียว?
“ไม่มีใครเคยเจ๊งเพราะละเมิดลิขสิทธิ์” คำพูดนี้ผู้เขียนเคยได้ยินกับหูแล้วก็ต้องตกใจ คือในขณะเดียวกันเราก็เคยได้เห็นสื่อโฆษณาหลายตัวที่พยายามบอกว่า ‘คนใช้ของเถื่อนน่ะเป็นเหมือนมารร้าย’ ซึ่งทั้งสองการนำเสนอมันก็แสดงภาพที่สุดโต่งไปหน่อย แต่มีตัวอย่างอันหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับฟังมาจากมิตรสหายที่ทำงานเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ โดยเขาเอาข่าวบันเทิงมาบอกเล่าให้ฟังและคิดว่าจะไม่ใช่ภาพเกินจริงสักเท่าไหร่ว่า
“น่าจะเคยดู The Mask Singer หน้ากากนักร้อง ใช่ไหม และเราก็ได้เห็นดารานักแสดงเซเลบคนดังมากมายทำการร้องเพลงฮิตในงานนี้ แอบแปลกใจหน่อยๆ ป่ะที่มันมีเพลงไทยใหม่มาร้องกันน้อยไปนิด นั่นก็เพราะว่าวงการเพลงไทยมันเงียบเหงามาก แต่จากการที่ยังมีคนมีความสามารถมาโชว์สกิลกัน 3 ซีซั่นติดแบบนี้คงไม่ใช่บุคลากรในวงการเพลงไทยไร้ความสามารถแน่ๆ ก็เลยย้อนนึกกลับว่า ตอนที่ตลาดเพลงไทยค่อยๆ กร่อยลงไป จนเหลือแต่สายประกวดเรียลลิตี้คล้ายช่วงปี 2003-2004 มากขึ้น ก็ราวๆ ช่วงที่พี่เสก (วงโลโซ) ร้องเพลง ‘พันธ์ทิพย์’ ประชดสักปี 2000-2001 นั่นแแหละ แปลว่าพวก Vampire กะ Euro มันก็ต้องมาก่อนหน้านั้น 2-3 ปี ใช่มะ ก่อนหน้านั้นดนตรีไทยยังอยู่ยุคอัลเทอร์เนทีฟ ยังเคยมีแผนจะขายนักร้องไทยออกนอกด้วยซ้ำ”
วันก่อน เฮียฮ้อ (สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานบริหารของ RS Promotion) ก็เพิ่งให้สัมภาษณ์ว่า ตอนนี้ธุรกิจหลักบริษัทเป็นการขายเครื่องสำอางแล้ว ไอ้การละเมิดลิขสิทธิ์นี่ล่ะเป็นก้าวแรกที่ทำลายวงการเพลงไทยมาจนถึงจุดนี้
แม้ว่าจะเห็นด้วยได้ไม่หมด (ซึ่งอาจจะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้วงการเพลงเหงาหงอย) แต่มันก็แอบเห็นภาพนะว่า ตอนนี้ค่ายเพลงไทยไม่กล้าออกแผ่นเพลงกันทันที เพราะผู้บริโภคเคยชิบกับการเสพแบบใหม่ไปแล้ว กว่าจะได้ออกกันทีจึงต้องใช้ทั้งเวลา ใชั้ทั้งดวง และนั่นเกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่คนหนึ่งคนคิดว่าแค่เราละเมิดลิขสิทธิ์คนเดียวก็ไม่น่าจะทำให้ใครเจ๊งได้
จุดด่างพร้อยจากเรื่องลิขสิทธิ์
แม้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์จะถูกดีไซน์ออกมาเพื่อรักษาสิทธิ์ให้ผู้ผลิตสินค้า แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเรื่องร้ายๆ เลย กรณีหนึ่งที่เราจะได้ยินบ่อยๆ ก็คือการบุกจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งก็มีทั้งกรณีที่ศาลฏีกาเคยตัดสินไว้ว่าสามารถจับคดีละเมิดลิขสิทธิ์ในฐานความผิดซึ่งหน้าได้ ก่อนจะมีความเห็นจากทนายและมีคดีอื่นมาค้านว่าคดีจับละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องมีหมายจับเพื่อจับกุมในที่รโหฐาน มีตัวแทนลิขสิทธิ์ยืนยันชัดว่าจะมาจับกุมการละเมิดสินค้าได้ ไม่ใช่มาจับมั่วๆ ซึ่งปัญหานี้ก็วนเวียนให้เราเห็นมาหลักสิบกว่าปีแล้ว
อีกอันที่ไม่ใช่เรื่องในบ้านเรา อย่างกฎหมาย Mickey Mouse หรือ Sonny Bono Copyright Term Extension Act 1998 ที่เป็นกฎหมายขยายการคุ้มครองสิทธิ์ตัวละครดังของทาง Disney ที่ความจริงลิขสิทธิ์ควรจะสิ้นสุดลงในปี 2003 ให้ขยายเวลาไปหมดในปี 2023 แทน หลังจากที่เคยมีการมีการล็อบบี้มาก่อนหลายครั้ง ซึ่งฟังแล้วดูไม่ค่อยดีนัก แต่ในช่วงนั้นก็มีนักวิเคราะห์ออกมาบอกว่าการที่ต้องยอมทำเรื่องไม่สมควรเช่นนี้เพราะธุรกิจของสหรัฐอเมริกาอาจจะฝืดหนักทันทีถ้าหนูชื่อดังกลายเป็นของสาธารณชน
ตัวอย่างนี้เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆ ของเรื่องที่ดูไม่ดีเลยสำหรับเรื่องลิขสิทธิ์ครับ ซึ่งส่วนตัวผู้เขียนมองว่า ถ้าคุณได้ศึกษาเรื่องลิขสิทธิ์คุณจะรู้เท่าทันเรื่องเหล่านี้และสุดท้ายคุณจะสามารถเคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรมทั้งฝั่งผู้ผลิตกับผู้บริโภค
ส่วนเรื่องทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น เคยมีหลายท่านอธิบายกันแล้วว่าการทำลายใช้งบน้อยและง่ายกว่าการไปแก้ไขให้สินค้ากลายเป็นของไม่เถื่อน และในขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีคนเนียนไปหยิบของละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้ไปขายต่อ
เรื่องสุดท้ายที่เราอยากพูดถึงเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์สักเล็กน้อยก็คือ กฎหมายตัวนี้เหมือนจะไม่สำคัญแต่มันเป็นกฎหมายสำคัญที่ทำให้ผู้สร้างสรรค์ผลงานในประเทศใดๆ ก็ตาม กล้าสร้างสินค้า หรือทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมาเพื่อพัฒนาวงการต่อ แต่ถ้าผู้ผลิตโดนละเมิดลิขสิทธิ์มาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าใครหรืองานใดก็ไม่กล้าที่จะพัฒนางานใหม่ๆ ออกมา
เพราะงั้นถึงมันจะเป็นกฎหมายชวนปวดเศียรเวียนเกล้า แต่สุดท้ายก็เป็นการศึกษาเพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเองและเป็นการเรียนรู้ถึงการรักษาสิทธิ์ของคนรอบๆ ตัวอย่างเหมาะสม