Naruto จบไปแล้ว / Bleach อาจจะย้ายเล่มที่ตีพิมพ์ / One Piece เขียนแบบ 3 สัปดาห์หยุดหนึ่งครั้ง / ก้าวแรกสู่สังเวียน ลงรายสัปดาห์ด้วยจำนวนหน้าครึ่งหนึ่งของปกติบ่อยขึ้น / ผ่าพิภพไททัน เข้าสู่องก์สุดท้าย / โคนัน เกริ่นว่าเข้าช่วงจบแล้ว (เหรอ ?) / Hunter x Hunter หยุดเขียนเหมือนเคย (ฮือ)
นี่เป็นการบอกเหตุสำคัญอะไรหรือเปล่า ? ทางญี่ปุ่นไม่ได้ประกาศอะไรออกมาชัดเจน แต่จากการสังเกตของ The MATTER เราพบว่า นี่เป็นสัญญาณว่า การเขียนการ์ตูนขนาดยาวกำลังมีความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เวลาเปลี่ยนไป นักเขียนหน้าเก่าถอนตัวกันไปบ้าง เสียชีวิตกันไปบ้าง ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องใหม่บ้าง
ถึงอย่างนั้นทำไมนักเขียนรุ่นใหม่ที่สามารถเขียนการ์ตูนจนได้รับความนิยมสูง จนมีฉบับรวมเล่มเกิน 30 เล่มกลับลดน้อยถอยลง เราไม่เชื่อว่าเหตุผลจะมาจากการที่คนอ่านเลิกอ่านหนังสือการ์ตูนแล้วแน่ๆ เพราะทีมงาน The MATTER ที่เข้าวัย 3X ไปบ้างแล้วก็ยังซื้อ และอ่านการ์ตูนอยู่เป็นประจำ และยอดขายของทางญี่ปุ่นก็ยังถือว่ามากพอสมควร แม้จะลดลงจากสมัยยุค ’90s ตอนปลาย 2000 ตอนต้นก็ตามที
เหตุเหล่านี้น่าจะเป็นผลของการที่การ์ตูนหลังปี 2000 มีจำนวนเล่มที่น้อยลง
การทำสื่อผสม (Media Mix) มีความสำคัญมากขึ้น
ถ้าติดตามวงการการ์ตูนญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง การทำสื่อผสมนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ อย่างเช่น นารูโตะ นินจาคาถาโอ้โฮเฮะ ถูกเขียนขึ้นในรูปแบบหนังสือการ์ตูน พอโด่งดังถึงจุดหนึ่งก็ถูกนำไปสร้างเป็นการ์ตูนอนิเมชั่น / ภาพยนตร์อนิเมชั่น / ละครวิทยุ (Drama CD) แม้กระทั่งถูกทำเป็นนิยาย หรือภาพยนตร์คนแสดง
ในอดีตการสร้างสื่อผสมเกิดขึ้นโดยอาศัยความดังของตัวหนังสือการ์ตูนต้นฉบับ หลายครั้งเนื้อเรื่องของสื่อผสมจึงจำเป็นที่จะต้องยืดให้ยาวกว่าเนื้อหาปกติ หรือไม่ก็ใส่เป็นเนื้อหาที่ไม่มีในต้นฉบับเดิมไปเลย ยกตัวอย่างเช่น ดราก้อนบอล ฉบับอนิเมชั่น ที่กว่าจะบินไปเจอศัตรูอาจจะใช้เวลาหลายตอน แวะข้างทางก่อนบ้าง พอเจอศัตรูแล้วต้องตะโกนยาวๆ ไปสักครึ่งตอนบ้าง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อยืดเรื่องไม่ให้กระชั้นต้นฉบับที่ตอนนั้นที่ยังวาดไม่จบนั่นเอง
นานวันเข้า เหล่าผู้สร้างสื่อก็เห็นพ้องว่าการยืดเรื่องจนรายละเอียดเพี้ยนไปทำให้การ์ตูนบางเรื่องขายได้ยากขึ้น การดัดแปลงผลงานที่กระชับเข้าใจง่ายจึงเป็นเรื่องที่ดีกว่ามาก ในยุคนี้การ์ตูนบางเรื่องจึงถูกสร้างเป็นสื่อผสมหลังจากที่เรื่องต้นฉบับจบไปแล้ว หรือไม่เช่นนั้นคนเขียนการ์ตูนกับกองบรรณาธิการก็จะคิดคำนวณการ์ตูนที่จะตีพิมพ์เผื่อไว้สำหรับการดัดแปลงเป็นสื่อผสมตั้งแต่เริ่มไปเลย
ตัวอย่างของการ์ตูนที่คำนวณพล็อตเผื่อสื่อผสม ก็อย่างเช่น Assassination Classroomที่แม้ว่ากระแสตัวต้นฉบับอาจจะมาแรงกะทันหัน แต่เมื่อถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์คนแสดง สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การ์ตูนกับภาพยนตร์คนแสดง จบลงในสัปดาห์เดียวกันพอดี ซึ่งถ้าไม่มีการคำนึงถึงการทำสื่อผสมมาก่อน เหตุแบบนี้คงไม่อาจเกิดขึ้นได้
หยิบพล็อตมาจากวัตถุดิบอื่นบ้าง
ก็ไม่ใช่ว่านักเขียนการ์ตูนทุกคนจะเขียนพล็อตเรื่องด้วยตัวเองนะ อย่างที่เราเคยพูดถึง อ.โคบายาชิ จิน ก็รับหน้าที่แต่งเรื่องให้กับการ์ตูนดังหลายเรื่อง หรือ การ์ตูนยุคเก่าอย่าง หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ ก็มี อ.บุรอนซอน เป็นคนแต่งเรื่อง คู่กับ อ.อีกคนหนึ่ง
แต่ที่เราคิดว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การ์ตูนรวมเล่มสมัยนี้มีจำนวนเล่มน้อยลง เป็นกรณีที่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ มี ไลท์โนเวล หรือ นิยาย ในก็ใช้วิธีเอาสินค้าเหล่านี้มาให้นักวาดการ์ตูนมาวาดเสียเลย นอกจากที่จะได้พลอทน่าสนใจ หนังสือการ์ตูนเหล่านี้ก็จะขยายฐานคนติดตามนิยายได้ด้วย ทำให้แฟนๆ รู้จักนิยายมากขึ้น ยอดขายนิยายดีขึ้น รวย รวย รวย!
กรณีนี้นี่เองที่ทำให้จำนวนเล่มของการ์ตูนหลายเรื่องออกมาจำนวนไม่มากนัก ด้วยความที่เนื้อเรื่องของนิยาย / ไลท์โนเวล หลายเรื่องถูกแต่งไปไกลมาก หรือ อาจจบก่อนที่จะนำมาทำการ์ตูน ทำให้คิดได้ว่า การ์ตูนควรจะเขียนจบภายในกี่เล่ม หรือบางเรื่องก็ตั้งใจเขียนออกมาไม่เกิน 5 เล่ม เพื่อให้เป็นการโปรโมทฉบับนิยาย และอาจจะทำไปเพื่อให้เข้าวงโคจรการขายสื่อผสมที่เราพูดถึงก่อนหน้า ตัวอย่างหนังสือการ์ตูนแบบนี้ก็เช่น โกธ คดีตัดข้อมือ / อาชญากรรมกับคำลวง เป็นอาทิ
คำนึงถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าต่างชาติ
“เพลงหรือภาพยนตร์ญี่ปุ่น ไม่สามารถเอาชนะตลาดโลกได้ เพราะมีกำแพงทางภาษา แต่ชาวญี่ปุ่นสามารถใช้การ์ตูนเพื่อพิชิตโลกได้” เราอาจได้ยินคำพูดลักษณะนี้อยู่บ่อยๆ (ล่าสุดคือใน I Am A Hero) ซึ่งก็ค่อนข้างเป็นความจริงอยู่ระดับหนึ่ง เห็นได้โดยง่ายจากผลงานการ์ตูนของนักเขียนทั่วโลกได้รับสไตล์ มังงะ จากญี่ปุ่นไปไม่มากก็น้อย จนทำให้ มังงะ หรือ หนังสือการ์ตูน กลายเป็นสินค้าส่งออกประเภทหนึ่งของญี่ปุ่นไปในที่สุด
ถ้าเป็นเมื่อก่อน สำนักพิมพ์ญี่ปุ่นก็คงไม่ได้โฟกัสความต้องการของลูกค้าต่างชาตินัก ใครมีปัญญาและเงินตราก็จะได้สิทธิ์การ์ตูนกันไป การ์ตูนยาวเท่าไหร่ก็มาซื้อสิทธิ์ไปแปล
แต่พอมายุคนี้ ที่การ์ตูนแบบผิดกฏหมายหาอ่านได้ง่ายขึ้นตามอินเทอร์เน็ต ยอดขายการ์ตูนในต่างชาติลดลง การจะเดินไปติดต่อซื้อการ์ตูนที่มีฉบับรวมเล่มเกิน 50 เล่ม มาขายก็คงจะเกินตัวไปหน่อย อย่างเรื่อง Golgo 13 หรือ Cooking Papa ที่จำนวนฉบับรวมเล่มแต่ละเรื่องทะลุหลัก 130 เล่มไปแล้ว คงแทบจะไม่มีประเทศไหนที่ไม่เคยตีพิมพ์เรื่องนี้นำไปจัดทำ เพราะเสี่ยงต่อการที่หนังสือจะค้างสต็อคโดยที่ยังไม่ทันได้พิมพ์
ดังนั้น ในยุคนี้ทางสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นจึงปรับตัวด้วยการ แนะนำให้บริษัทต่างประเทศซื้อเรื่องที่มีกระแสแต่ไม่ยาวมากนัก ไม่ก็ให้ความสนับสนุนด้านของแถมกับทางผู้ซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมากขึ้น จากเดิมที่อาจจะไม่เคยยินยอมของแถมใดๆ มาก่อนเลย คนอ่านที่เป็นปลายทางก็จะได้รับผลพลอยได้เหล่านี้ไปเต็มๆ
ลดจำนวนเล่ม เพื่อตัวผู้เขียนการ์ตูนเอง
เราขอยกคำพูดของคุณ Torishima Kazuhiko ประธานบริษัท สำนักพิมพ์ Hakusensha และอดีตบรรณาธิการของนิตยสาร Shonen Jump รายสัปดาห์ ที่เคยกล่าวไว้ว่า “ดราก้อนบอล ควรจะจบไปตั้งแต่จบภาคฟรีซเซอร์แล้ว” นั่นหมายความว่า ในมุมมองของอดีตบรรณาธิการยังคิดว่า การ์ตูนดังไม่จำเป็นต้องยืดต่อเพื่อการขายของเล่นหรือสื่อผสมก็ได้
แน่นอนว่าในโลกทุนนิยมการจะจบการ์ตูนดังสักเรื่อง อย่างโคนัน หรือ One Piece ต้องเป็นเรื่องใหญ่มหาศาล (นึกภาพว่ามีข่าวว่าทั้งสองเรื่องจบพรุ่งนี้ดูสิ) ทำให้การ์ตูนขนาดยาวบางเรื่องยังดำเนินเรื่องต่อแม้พวกเขาจะสามารถขมวดปมให้จบได้ใน 2-3 เล่มก็ตามที
แต่สำหรับนักเขียนที่เริ่มต้นหลังปี 2000 สำนักพิมพ์เปิดโอกาสให้นักเขียนจบเรื่องได้ตามสมควรมากขึ้น หรือบางสำนักพิมพ์ก็ปล่อยให้นักเขียนยืดเรื่องให้ยาวตามสะดวกเช่นกัน (ภายใต้เงื่อนไขว่าการ์ตูนเรื่องนั้นยังขายได้นะ ไม่ใช่เอะอะปล่อยเขียนกันทุกเรื่อง)
ก็นะ การปล่อยให้คนทำงานตามสบายใจ โดยมีการชี้แนะตามสมควร หลายครั้งจะได้ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์ออกมาได้ง่ายกว่างานที่ถูกบังคับให้เขียนเรื่องที่ไม่ใช่สไตล์ของผู้เขียนคนนั้น หรืออีกอย่างหนึ่งก็คือ กองบรรณาธิการบางคนอาจจะอายุห่างจากกลุ่มลูกค้าที่ติดตามและเมื่อคนเขียนการ์ตูนมีอายุใกล้กับลูกค้ามากกว่า คนเขียนบางคนอาจจะเข้าใจความต้องการของลูกค้ามากกว่ากองบรรณาธิการเสียด้วยซ้ำ