ในปีนี้มีภาพยนตร์การ์ตูนหลายเรื่อง ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ให้เราได้ชมกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี โดราเอมอน เดอะมูฟวี่ ตอน เกาะมหาสมบัติของโนบิตะ ที่เพิ่งเข้าฉาย ซึ่งเรามีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์ดังกล่าวในรอบสื่อมวลชนมาแล้ว เราก็พบว่าโดราเอมอนฉบับภาพยนตร์ ภาคนี้เป็นตอนที่ท็อปฟอร์มมากที่สุดตอนหนึ่งของภาพยนตร์โดราเอมอนในยุคหลัง มีความลงตัวหลายอย่างตั้งแต่บทที่เข้าใจง่าย ฉากแอคชั่นที่สอดคล้องกับเรื่อง ตัวละครทุกตัวมีความโดดเด่นไล่เลี่ยกัน แม้จะมีความเป็นการ์ตูนสำหรับเด็ก แต่ก็เป็นหนังผจญภัยที่ใครๆ ก็สนุกได้อย่างไม่ยากเย็น ซึ่งกว่าจะได้ฟอร์มดีขนาดนี้ ตัวโดราเอมอนเดอะมูฟวี่ก็มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ มาแล้วสองครั้ง
ครั้งล่าสุดคือปี 2015 ก็ก่อนหน้านี้ไม่นานนัก แต่ครั้งแรกสุดที่ภาพยนตร์โดราเอมอนเกิดอาการขลุกขลักคือ หลังจากที่อาจารย์ ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ เสียชีวิตไปไม่นาน ซึ่งภาพยนตร์โดราเอมอนในตอนนั้นต้องทำการแต่งเรื่องใหม่หมดโดยไม่มีมังงะตอนพิเศษมาอ้างอิงเหมือนครั้งที่อาจารย์ผู้เขียนยังมีชีวิต ซึ่งในช่วงที่มีปัญหานั้นทีมงานสร้างอนิเมชั่นก็ใช้เวลาปรับตัวกันพอสมควรกว่าที่เรื่องราวจะกลับมาลงตัวอีกครั้ง
นี่ขนาดว่าเป็นงานอนิเมชั่นที่นักเขียนอาจไม่ต้องไปแจมมากยังได้รับผลกระทบหนักขนาดนี้เลย แล้วมังงะบางเรื่องที่นักเขียนเสียชีวิตไประหว่างที่ผลงานยังไม่จบดีจะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
เมื่อคนเขียนมังงะเสียชีวิต แล้วงานล่ะ?
เพราะความตายเป็นเรื่องที่ทุกสิ่งมีชีวิตไม่อาจเลี่ยงได้ เรื่องนี้ไล่ตามพวกเราอยู่ทุกคนเป็นอาจิณ และในบางครั้งความตายก็เข้ามาถึงตัวเร็วกว่าที่ใครหลายคนคาดการณ์ไว้ จึงมีนักเขียนมังงะหลายคนที่จากโลกใบนี้ไปก่อนที่พวกเขาจะสามารถจบงานที่สรรค์สร้างเอาไว้
โดยส่วนใหญ่แล้วถ้านักเขียนเสียชีวิตลงระหว่างการเขียนมังงะเรื่องไหนอยู่ มังงะเรื่องนั้นก็จะถูกตัดจบไปโดยปริยาย ด้วยเหตุที่ว่ามังงะญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักเป็นงานที่ตัวนักเขียนหลักเป็นคนคิดแกนเรื่อง อาจมีการปรึกษากับกองบรรณาธิการบ้างเพื่อจัดทรงเรื่องให้เข้าท่าเข้าทาง แต่ก็ไม่ได้มีทีมงานแบบฝั่งนักเขียนการ์ตูนฝรั่ง หรือ ฮ่องกง
ส่วนเรื่องผลประโยชน์จากงาน (จากยอดขายรวมเล่ม หรือค่าลิขสิทธิ์ในการผลิตเป็นสินค้าอื่น) ส่วนใหญ่แล้วทายาทตามกฎหมายมักจะได้รับผลประโยชน์ต่อ และในบางกรณีทายาทคนดังกล่าวจะถูกแต่งตั้งเป็นตัวแทนในการทำธุรกรรมอื่นๆ เกี่ยวกับมังงะนั้นด้วย แต่ก็มีบ้างที่สิทธิ์ในการควบคุมดูแลผลงานจะตกไปอยู่กับทางบริษัทโดยตรง ซึ่งจุดนี้บางทีก็ก่อปัญหาให้กับคนอ่านที่อยู่นอกประเทศด้วย เพราะเมื่อนักเขียนตายแล้วก็ต้องรอให้ขั้นตอนการสับเปลี่ยนผู้ถือสิทธิ์เสร็จสิ้นก่อน จึงจะมีการทำเล่มต่อ (ยังไม่รวมช่วงเวลาเว้นวรรคให้กับญาติผู้ตายตามมารยาท) ซึ่งเคสนี้ก็กลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนอ่านการ์ตูนคิดว่าอาจมีการ ‘ดอง’ เกิดขึ้น
ส่วนที่เรากล่าวถึงไปขั้นต้นนี้เป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับนักเขียนที่ไม่ได้มีจำนวนงานมากนัก หรือยังไม่ใช่นักเขียนดังจนมีงานออกไปหลากหลาย ซึ่งปลายทางของงานกลุ่มนี้สุดท้ายก็จะค่อยๆ เลือนหายไปตามเวลา แต่ถ้าเป็นกรณีของนักเขียนที่ดังมากๆ ก็จะมีการพยายามต่อยอดไปอีกเล็กน้อย ซึ่งก็แตกต่างกันไปแล้วแต่คน แล้วแต่เรื่อง
กรณีของอาจารย์เท็ตสึกะ โอซามุ – เคารพขนบเดิม และเปิดรับแนวคิดใหม่ที่ท้าทาย
อาจารย์เท็ตสึกะ โอซามุ เสียชีวิตไปด้วยอาการมะเร็งกระเพาะอาหาร ด้วยวัยเพียง 60 ปี ซึ่งถือว่าค่อนข้างเร็วหากเทียบกับยุคสมัย และค่อนข้างโชคดีที่อาจารย์เป็นนักเขียนที่ขยัน จึงทำให้ วิหคเพลิง งานที่ค้างคาอยู่ในตอนนั้นต้องจบลงอย่างสิ้นเชิงเพราะไม่มีผู้เขียนต่อ และมังงะเรื่องดังกล่าวก็เป็นงานระดับขึ้นหิ้ง ไม่มีใครกล้าไปยุ่งมากนักด้วยความที่เป็นงานเขียนตลอดชีวิตของอาจารย์เท็ตสึกะเอง ถึงต่อให้มีทิ้งโครงเรื่องไว้ ก็ยากจะหาคนมาสานต่อได้
แล้วก็เป็นโชคดีที่อาจารย์เท็ตสึกะ เปิดบริษัทของตัวเองอย่าง Tezuka Productions เอาไว้ ซึ่งลูกชายของอาจารย์อย่าง เท็ตสึกะ มาโคโตะ เป็นผู้บริหารอยู่ด้วย แม้เจ้าตัวจะไม่ได้อินกับการเขียนมังงะหรือทำอนิเมะ และวนเวียนอยู่กับการตัดต่อกับการกำกับภาพยนตร์มากกว่า แต่เมื่อผู้เป็นพ่อเสียชีวิต เท็ตสึกะ มาโคโตะ ก็เป็นผู้ช่วยบริหารในการปล่อยผลงานรวมเล่มที่จบแล้ว ซึ่งในภายหลัง เขาได้กลายเป็นผู้ร่วมดูแลการออกผลงานที่ดัดแปลงจากมังงะของ อ.เท็ตสึกะ โอซามุ
สำหรับนักอ่านชาวไทยน่าจะมีโอกาสได้เห็นคอมเมนท์ของ เท็ตสึกะ มาโคโตะ ในมังงะเรื่อง PLUTO ตามล่านักฆ่าแอนดรอยด์ กับคอมเมนท์ที่น่าจดจำว่า ตัวเท็ตสึกะ มาโคโตะ ในฐานะลูกชายของเท็ตสึกะ โอซามุ อยากเห็นงานรีเมคไปตามแนวทางนักเขียนที่ท้าทายผลงานต้นฉบับ มากกว่าที่จะเห็นงานที่แค่ตามรอยหนังสือการ์ตูนฉบับเดิมจนกลายเป็นแค่งานภาพใหม่แต่เนื้อเรื่องไม่พัฒนาจากต้นฉบับ
แนวคิดของ เท็ตสึกะ มาโคโตะ ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในงานมังงะเท่านั้น เขายังเป็นผู้ร่วมดูแล Tezuka Osamu Manga Museum ซึ่งในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวนอกจากจะจัดแสดงผลงานของตัวอาจารย์เทะสึกะ โอซามุเองแล้ว ภายในนั้นยังมีนิทรรศการหมุนเวียนที่มีนักเขียนดังในยุคมาแสดงงานของตัวเองที่นี่ ซึ่งหลายครั้งนักเขียนเหล่านั้นก็เขียนภาพประกอบเป็นตัวละครของอาจารย์เท็ตสึกะ โอซามุในแบบตัวเอง และในทางกลับกันนักเขียนเหล่านั้นก็ยินยอมให้มีการเขียนตัวละครของพวกเขาในลายเส้นแบบ เทะส็ตกะ โอซามุ
ไอเดียบรรเจิดอีกอย่างหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนักในปี 2018 ก็คือการยอมให้มีการสร้างเกมที่ดัดแปลงตัวละครคลาสิกให้กลายเป็นสาวน้อยตามเทรนด์ ‘โมเอะ’ ของยุคนี้
การเปิดกว้างของ เท็ตสึกะ มาโคโตะ ที่รับช่วงดูแลผลงานของพ่อนั้น เป็นแนวคิดที่อยากให้ศึกษางานต้นฉบับ แต่ก็ไม่ได้นำขึ้นหิ้ง จนปิดกั้นแนวคิดสมัยใหม่ ซึ่งเราเชื่อว่าการคิดแบบนี้เองที่ทำให้ผลงานของอาจารย์ เท็ตสึกะ โอซามุ กลายเป็นอมตะอย่างแท้จริง เพราะเราจะได้เห็นงานรีเมคผลงานที่มีบรรยากาศใหม่แฝงมาเรื่อยๆ กันอีกหลายสิบปีเป็นแน่
กรณีของอาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ – เตรียมการไว้ดีขนาดไหนก็อาจไม่เพียงพอต่อการปรับตัวจริง
นักเขียนมังงะอีกท่านที่นักอ่านรู้สึกว่าเสียชีวิตเร็วกว่าที่อยากให้เป็นก็คือ อาจารย์ ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ เจ้าของผลงานดังอย่าง โดราเอม่อน
อาจจะเพราะเห็นตัวอย่างจากอาจารย์เท็ตสึกะ โอซามุ ที่เสียชีวิตอย่างกะทันหันแล้ว ฝั่ง ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ จึงค่อนข้างมีการเตรียมตัวมากกว่าสักหน่อย รวมไปถึงว่า นามปากกา ‘ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ เป็นชื่อของนักเขียนสองคน แม้ว่าพวกเขาจะทำงานร่วมกันแบบเต็มตัวจริงๆ แค่เรื่องเดียว แต่เมื่ออายุมากขึ้นนักเขียนทั้งสองก็มีสไตล์ที่ต่างกันชัดเจนขึ้น เมื่อ ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ หรือ อาจารย์ฟุจิโมโตะ ฮิโรชิ พบว่าตัวเองเป็นมะเร็งที่ตับในช่วงปลายยุค 1980s การแบ่งสัดส่วนว่าใครจะถือลิขสิทธิ์ของเรื่องไหน และเรื่องผลประโยชน์อื่นๆ จึงต้องทำให้ชัดเจนมากขึ้น และนั่นทำให้มีการแยกนามปากกา ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ มาเป็น ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ กับ ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ เอ (Fujko Fujio Ⓐ) ก่อนจะเปิดบริษัท Fujiko Productions ที่ทั้งสองคนทำงานในอาคารเดียวกัน และตัวบริษัทพยายามจัดการเรื่องผลประโยชน์ให้ชัดเจน
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาเอาเสียเลย เมื่ออาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ เสียชีวิตจากอาการมะเร็งตับในปี 1996 ปัญหานี้ไม่กระทบเท่าไหร่นักกับงานที่เขียนจบไปแล้ว เพราะก่อนหน้านั้นก็มีการพิมพ์เรื่องเก่าๆ ที่นักเขียนสองคนใช้ชื่อร่วมกันได้อยู่ และในช่วงหลังจากที่อาจารย์ ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ เสียชีวิตไปไม่นานก็ยังสามารถออกผลงานที่ระลึก (หรือที่ในไทยออกมาในฐานะ Big Book) ให้คนอ่านติดตามกันได้อยู่
ปัญหาในระยะสั้นนั้นเกิดขึ้นกับตัวมังงะโดราเอมอน ที่อาจารย์ ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ เขียนไว้ในนิตยสารหลายเล่ม การรวมเล่มผลงานเหล่านั้นจึงมีการใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งมีข้อมูลบางแหล่งระบุว่าอาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ จะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเอามังงะตอนไหนมารวมเล่มก่อน แต่เมื่ออาจารย์เสียชีวิตลงส่งผลให้ฉบับรวมเล่มที่ตอนนั้นออกวางขายถึงเล่มที่ 45 จำเป็นต้องยุติการออกเล่มที่ 46 ไป และทำให้มี โดราเอมอน หลายสิบตอนตกหล่นไปจากฉบับรวมเล่มนี้ (ซึ่งก็เป็นดราม่าในบ้านเรามาก่อน)
อาจด้วยขั้นตอนอะไรหลายๆ อย่าง กว่าที่คนอ่านจะได้มีโอกาสได้อ่านตอนที่ขาดหายไปนี้ ในญี่ปุ่นเองก็ต้องรอถึงปี 2005 ทางสำนักพิมพ์โชกาคุคัง จึงสามารถออกหนังสือชุด Doraemon Plus ที่มีการบรรจุโดราเอม่อนตอนที่ยังไม่เคยตีพิมพ์ในรวมเล่มฉบับ 45 เล่มแรก (ในไทยจัดทำ โดราเอมอน พลัส ออกมา 5 เล่ม ส่วนญี่ปุ่นมีเล่มที่ 6 ออกมาจำหน่ายในปี 2014) ถึงจะมีเล่มเสริมแล้ว โดราเอมอนก็ยังมีจำนวนตอนไม่ครบถ้วนอยู่ดี เพราะมีส่วนหนึ่งที่สงวนไว้สำหรับในส่วน Doraemon Color Sakushin Shu หรือ รวมเล่มโดราเอม่อนที่พิมพ์หน้าสี และเชื่อว่ายังมีอีกหลายตอนที่อาจไม่มีโอกาสได้รวมเล่มอีกด้วย
ส่วนที่เกิดปัญหาขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อ อาจารย์ ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ เสียชีวิตลง ก็คือการติดขัดของโดราเอม่อนตอนพิเศษที่อาจารย์จะเขียนไว้เพื่อให้เป็นพล็อตสำหรับการสร้างภาพยนตร์โดราเอม่อนเดอะมูฟวี่ประจำแต่ละปี ซึ่งจริงๆ ในช่วงที่อาจารย์เริ่มป่วยหนัก ตัวมังงะก็เพิ่งตีพิมพ์เป็นนิยายประกอบภาพในฉบับที่ลงนิตยสาร ก่อนมีการเขียนแก้ในฉบับรวมเล่ม เมื่ออาจารย์เสียชีวิตลงไปเรื่องนี้ก็กระทบกระเทือนไปถึงฝั่งเดอะมูฟวี่ภาคใหม่ๆ ที่ไม่สามารถใช้มังงะเป็นโครงเรื่อง ทำให้ทีมสร้างอนิเมชั่นต้องใช้บริการนักเขียนมืออาชีพจากฝั่งอุตสาหกรรมอนิเมชั่นแทน ทำให้ในช่วงหนึ่งบทของฉบับภาพยนตร์จะมีความ ‘ผิดกลิ่น’ จากสไตล์ที่ อาจารย์ ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ เคยชงเรื่องไว้ ซึ่งกว่าจะเข้าที่เข้าทางก็ใช้เวลาอยู่ระยะหนึ่ง
อีกคนที่ได้รับผลกระทบจากการเสียชีวิตของ ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ ไปด้วยก็คือ อาจารย์ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ เอ ที่ไม่สามารถออกงานรวมเล่มผลงานเก่าๆ ได้ช่วงหนึ่ง จนมีการเคลียร์กันชัดเจนว่างานไหนเป็นของอาจารย์ และต้องระบุบนหน้าปกใหม่ว่าเป็นงานของ ‘ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ เอ’ แทน ซึ่งทำให้มีงานส่วนหนึ่งที่ใช้ตัวละครร่วมกัน ระหว่าง ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ กับ ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ เอ ไม่สามารถออกฉบับรวมเล่มได้อีกระยะใหญ่
กระนั้นด้วยความดังของ โดราเอม่อน ที่ไม่มีตอนจบอย่างแท้จริง จึงมีความพยายามให้นักวาดคนอื่นๆ เขียนเรื่องต่อจากฉบับเดิม (ในลักษณะเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับ การ์ตูนความรู้ที่เอาตัวละครโดราเอมอน มาช่วยสอนวิชาต่างๆ อย่าง คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์) แต่ด้วยสไตล์การเขียนการ์ตูนเฉพาะทางของอาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ ที่ใส่ทั้งความรู้และความบันเทิงเชิงวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วยกัน จึงทำให้การเขียนมังงะต่อจากภาคดั้งเดิมนั้นเป็นไปได้ยาก มังงะที่เกี่ยวข้องกับโดราเอม่อนที่เกิดขึ้นหลังจากที่อาจารย์ฟุจิโกะ เอฟ. ฟุจิโอะ จึงมักจะเลี่ยงบาลีไปเขียนเป็นภาคสปินออฟมากกว่า อย่างเช่นเรื่อง โดราเบส ที่เล่าเรื่องหุ่นยนต์ในซีรีส์ใกล้เคียงกับโดราเอม่อน ที่แข่งเบสบอลในโลกอนาคต กับ แก๊งป่วนก๊วนโดราเอมอน ที่เล่าเรื่องโดราเอมอนตอนยังเรียนอยู่แล้วมีเพื่อนเป็นหุ่นรุ่นใกล้เคียงกัน มังงะเหล่านี้อาจจะมีบรรยากาศโดดออกจากภาคหลักไปพอสมควร
จริงอยู่ว่ามังงะภาคแยกที่ออกมานั้นอาจไม่มีกลิ่นอายเก่าๆ หลงเหลืออยู่เลย แต่พวกเขาก็ตั้งใจบอกเลยว่านี่คือภาคแยก เพราะเมื่อบอกว่านี่คือภาคแยกคนอ่านก็จะยอมรับและสนุกกับมังงะเหล่านี้ต่อไปได้
แต่ถ้าถามว่าโดราเอม่อนจะอยู่กับเราอีกนานหรือไม่ โดยส่วนตัวเชื่อว่าโดราเอม่อนจะอยู่กับเราอีกยาวเช่นกัน เพียงแค่สื่อที่ทำให้ โดราเอม่อน โลดแล่นเยอะๆ จะเป็นอนิเมะมากกว่าฝั่งมังงะนั่นเอง
กรณีของอาจารย์โยชิโตะ อูซูอิ – การตามรอย มีความเสี่ยง
อีกกรณีที่เราจะหยิบยกมาพูดในวันนี้ก็คือ กรณีของอาจารย์โยชิโตะ อูซูอิ ที่เสียชีวิตจากการประสบอุบัติเหตุขณะเดินเขาในจังหวัดกุนมะ ในปี 2009 ทำให้มังงะสร้างชื่อของอาจารย์อย่าง เครยอนชินจัง ต้องจบลงอย่างทันทีทันควัน แถมในช่วงที่เรื่องจบลงนั้นยังมีปมอะไรหลายอย่างในเรื่องที่น่าจะมีเฉลยในตอนต่อมาอีกมาก แล้วเรื่องเหล่านั้นก็ไมได้รับการเฉลยไปตลอดกาล
กรณีนี้เรื่องเกิดขึ้นเร็วมากๆ และการตัดสินใจหลังจากอาจารย์เสียชีวิตก็เร็วมากเช่นกัน กลุ่มลูกน้องของอาจารย์โยชิโตะ อูซูอิ ได้รวมตัวกันเป็น UY Studio ออกมาร่วมกันวาดมังงะชินจังภาคต่อ ที่ใช้ชื่อว่า Shin Crayon Shinchan หรือที่ใช้ชื่อไทยว่า เครยอนชินจัง ภาคใหม่กิ๊ก ซึ่งนักอ่านหลายๆ คนก็รู้สึกว่าเป็นการดีสำหรับพวกเขาที่จะได้อ่านเรื่องราวต่อ
แต่เมื่อมังงะเรื่องใหม่เริ่มตีพิมพ์จริงก็มีกระแสจากนักอ่านทั้งด้านบวกและด้านลบ ส่วนหนึ่งค่อนข้างชอบเพราะเรื่องราวกลับมาเป็นแนวกวนๆ ป่วนๆ เหมือนกับมังงะภาคเก่าช่วงต้นๆ แต่นักอ่านอีกส่วนกลับรู้สึกว่าภาคใหม่ไม่โอเคเท่าไหร่นัก ด้วยความที่มีการ ‘รีบูท’ ปมเรื่องทิ้งไปเกือบทั้งหมด ตัวละครที่เคยตายหรือเคยมีอีเวนท์แตกหักบางอย่างก็โดนดึงตัวกลับมาอีกครั้ง หรือบอกได้ว่าเส้นเรื่องไม่มีการพัฒนาการไปเสียอย่างนั้น
เมื่อเรื่องเข้าสู่ภาวะว่าจะเป็นภาคต่อก็ไม่เชิง เป็นภาคแยกก็ไม่น่าใช่ (ภาคแยกที่ชัดเจนของ เครยอนชินจัง น่าจะเป็นมังงะ หน้ากากแอคชั่น ที่เรื่องราวไปอีกทิศ หรือภาคพ่อของชินจังที่เน้นการกินอาหารไปเลยมากกว่า) แต่ผลที่ชัดเจนก็คือ ตัวมังงะภาคใหม่ดูไม่ได้รับความนิยมหรือความสนใจเท่ากับภาคเก่า ยอดขายก็ดูไม่ได้ขึ้นอันดับสูงแบบที่ภาคเดิมทำได้
แน่นอนว่าคงมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ทำให้มังงะ เครยอนชินจังภาคใหม่กิ๊ก ไม่ได้รับความนิยมเท่าเก่า แต่เรามองว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หลายคนเลิกสนใจไปก็คือการพยายามทำตามรอยเก่ามากเกินไป จนทำให้บางคนสนุกกับการติดตามฉบับอนิเมชั่นที่ใช้มุกประจำ สลับกับการใส่อะไรใหม่ๆ ฉีกแนวออกมาสร้างกระแสได้เป็นระยะๆ
เมื่อความตายของนักเขียนมังงะ มีผลกระทบต่องานอย่างมาก และจริงๆ แล้วก็มีนักเขียนอีกหลายท่านที่เสียชีวิตไปจากการทำงานเขียนมังงะที่หลายคนเชื่อว่าเป็นงาน ‘ผลาญพลังชีวิต’ มากที่สุดประเภทหนึ่ง ในช่วงหลังนี้เราเลยได้เห็นว่าทางสำนักพิมพ์ต่างๆ พยายามถนอมชีวิตนักเขียนมังงะมากขึ้น อย่างเช่นการเขียนงานสมัยนี้จะมีการเขียนโครงเรื่องที่เคลียร์มากขึ้น เพื่อให้งานสามารถออกมาต่อเนื่องได้โดยไม่หักหาญสุขภาพมากนัก แล้วนักเขียนดังๆ ที่สร้างงานขายดีก็จะมีได้รับสิทธิ์พิเศษมากกว่าสมัยก่อน อย่างที่เราเห็นได้จาก อ.เออิจิโร่ โอดะ ที่ตอนนี้ใช้วิธีเขียน One Piece สามสัปดาห์ หยุดหนึ่งสัปดาห์, อ. โทงาชิ โยชิฮิโระ ที่แม้จะหยุดงานบ่อยมาก แต่เมื่อ Hunter X Hunter ยังมียอดขายดีทุกครั้งที่ออกรวมเล่มใหม่ กอง บ.ก. ก็ยอมให้เขาเขียนแบบไม่ทำลายสุขภาพหลังของตัวเองมากนัก หรือบางท่านก็อาจปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานไป อย่าง อ.มิอุระ เค็นทาโร่ ผู้วาด Berserk ก็ลดทอนรายละเอียดบางอย่างในการเขียนแล้วก็ยอมให้ผู้ช่วยจัดการงานมากกว่าตอนหนุ่ม
และด้วยวัฒนธรรมของนักเขียนมังงะญี่ปุ่นที่ไม่ค่อยออกสื่อมากนัก แถมยังเป็นนักเขียนอายุเยอะ อาจทำให้คนอ่านคิดว่า พวกเขาหายหน้าหายตาจากสื่อ และอาจเสียชีวิตแล้ว อย่างอาจารย์มิอุจิ สุซุเอะ ที่เขียนหน้ากากแก้ว หรืออาจารย์โอโซคาว่า จิเอโกะ ผู้เขียน คำสาปฟาโรห์ ที่ยังมีชีวิตอยู่แต่อาจเขียนช้าลงกว่าเมื่อก่อน
สิ่งที่นักอ่านแบบเราทำได้ก็คงเป็นการขอพรให้นักเขียนเหล่านี้ยังมีสุขภาพที่แข็งแรงพอมากจะปิดจ็อบที่พวกเขาเปิดไว้ และทำคนอ่านแบบเราติดงอมแงมมาจากถึงทุกวันนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก