ทฤษฎีทางภาษาศาสตร์อันนึงที่ถูกนำมาใช้กับการวิเคราะห์ภาพยนตร์บ่อยๆ คือ ทฤษฎี Binary of opposition หรือทฤษฎี ‘คู่ตรงข้าม’ ของสำนักโครงสร้างนิยม (Structuralism) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความหมายของ เฟอร์ดินาน เดอ โซซูร์ (Ferdinand de Saussure) และ ฌาคส์ แดริดา (Jacques Derrida)
โดนแก่นแกนของทฤษฎีนั้นพัฒนามาจากหลายนักคิด แต่เดิมจะถูกใช้กับการวิเคราะห์ความหมายของคำที่มีลักษณะ ‘ตรงข้าม’ เช่น ขาวดำ ชายหญิง บวกลบ ต่อมานักคิดสังคมศาสตร์สายวิพากษ์ก็ขยายนัยของทฤษฎี โดยนำไปใช้ ‘รื้อถอน’ ความหมายของคู่ตรงข้ามซึ่งมีหลายระดับ เช่น คำว่า หญิง และ ชาย โดยเนื้อแท้แล้วมันมีความหมายโดยนัยหลายระดับที่ทำให้ ‘ความเชื่อของสังคม’ มีแนวโน้มตามความหมายที่ซุกซ่อนในภาษาด้วย หรือพูดง่ายๆ ภาษา กับ ความเป็นไปของสังคม มันเชื่อมโยงส่งผลกระทบซึ่งกันและกัน
นอกจากนี้ ยังมีนักคิดสายวิพากษ์ที่เชื่อว่า คู่ตรงข้าม นั้นมักจะมีการ ‘ครอบงำ’ โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสมอ เช่น คำว่า ชาย มักจะครอบงำความหมายของ หญิง ในสังคมชายเป็นใหญ่ โดยตีความให้คุณค่าของ หญิง ที่ต้องเป็นไปตามความชอบของผู้ชาย เช่น ต้องผิวขาว ผอมจึงเป็นผู้หญิงสมบูรณ์แบบ เป็นต้น
ที่สำคัญและเข้าใจผิดกันมาก คือคำว่า ‘คู่ตรงข้าม’ ตามทฤษฎีนี้มิได้หมายถึง ‘ความขัดแย้ง’ เสมอไป แม้ในการวิเคราะห์ภาพยนตร์และวรรณกรรมมักจะนำ ตัวละคร ‘ฮีโร่และผู้ร้าย’ มาตีความเทียบเคียงกันเสมอ แต่….
คำว่า คู่ตรงข้าม จริงๆ แล้วมีปฏิกริยาต่อกันในหลายระดับ เช่น อาจจะหมายถึงความแตกต่างกัน แต่อยู่ร่วมกันเสมอ เช่น ชายและหญิง อาจจะหมายถึงความต่างกันสุดขั้วแต่ด้วยปฏิกิริยาในบริบทบางประการมันคือพลังอันรุนแรงที่คาดไม่ถึง อาจจะหมายถึง ความแตกต่างกันที่ต้องผ่าน ‘การเปลี่ยนผลัด’ เพื่อประสานกันจนเป็นเอกภาพด้วยการปรับปรนอัตลักษณ์แต่ละฝ่ายลงเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไป เช่น คนเอเชียและคนอเมริกันที่อยู่ร่วมกันในสหรัฐอเมริกา
ซึ่งตรงนี้แหละที่เกี่ยวข้องกับหนังเรื่อง Minari และสัมพันธ์กับ ‘ศิลปะการทำหนัง’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการเล่าเรื่องที่โดดเด่นในการสร้างคาแร็กเตอร์ตัวละคร และวางสถานการณ์ในหนังด้วยการใช้เทคนิกคู่ตรงข้าม โดยทั้งหมดสามารถไปถึงเป้าหมายสำคัญของหนัง หรือธีมหลักคือ ‘การดิ้นรนต่อสู้เพื่อแสวงหาความหลุดพ้น การแสวงหาชีวิตใหม่อย่างไม่ย่อท้อ’ ได้อย่างงดงาม
โดยทั่วไป มีผู้ใช้แนวคิด Binary of opposition มาวิเคราะห์ภาพยนตร์เพื่อรื้อถอนอุดมการณ์ที่ฝังอยู่ในภาพยนตร์ รวมทั้งใช้เพื่อวิเคราะห์การเล่าเรื่อง (narrative) เพื่อค้นหา ‘ความหมาย’ ที่ซุกซ่อนอยู่ในภาพยนตร์แต่ละเรื่อง
ใน Minari เราจะเห็นการปะทะต่อสู้ แลกเปลี่ยน สูญเสีย และกลับมาประสานกันระหว่าง ‘คู่ตรงข้าม’ ตลอดทั้งเรื่อง ได้แก่
ชาย/ หญิง
หยิน/ หยาง
ตะวันออก /ตะวันตก
วัยชรา /วัยเยาว์
อ่อนแอ/แข็งแรง
เมือง/ ชนบท
คนพลัดถิ่น/ คนท้องถิ่น
น้ำ/ไฟ
เวลาเขียนบท การจะสร้างตัวละคร กับสร้างสถานการณ์ในบท ไม่ได้หมายความว่าคนเขียนบทจะตั้งใจใช้ทฤษฎีนี้นำแน่นอน แต่บทความนี้จะลองใช้แนวคิด binary of opposition เพื่อสกัดเอาอัตลักษณ์แต่ละฝ่ายออกมา และวิเคราะห์วิธีการเล่าเรื่องที่แสดงถึง การต่อสู้ปะทะกันของอัตลักษณ์แต่ละขั้วจนสามารถประสานเกิดเป็นเอกภาพและทำให้สิ่งใหม่งอกเงยต่อไปได้
ในหนัง เราจะเห็นหลายฉากที่จาค๊อบ (Steven Yeun) ฝ่ายสามีมุมานะต้องการสร้างเนื้อสร้างตัว และเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง แม้ว่าลูกจะป่วยก็ไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างฟาร์มใหญ่ของเขา ซึ่งเขาต้องปะทะต่อสู้กับโมนิกา (Han Ye-ri) ฝ่ายภรรยาที่พยายามประคับประคองชีวิตครอบครัวและดูแลทั้งสามี ลูก และแม่ของตัวเอง สะท้อนวิถีชายเป็นใหญ่ในสังคมเกาหลีซึ่งชัดเจนมาก ด้วยวิธีคิดของผู้ชายที่ยึดถือเอาความยิ่งใหญ่และสำเร็จของชีวิตคือความสำคัญอันดับหนึ่งของชีวิต ถือเป็นการสร้างความขัดแย้ง (conflict) อย่างหนึ่งของวิธีการเล่าของหนังเรื่องนี้
การแช่ภาพหน้าไพ่ หยิน หยาง อันเป็นไพ่ใบแรกของสำรับที่ยายนำมาจากเกาหลี พร้อมกับการปรากฎตัวของยาย (Yuh-Jung Youn) ที่บินมาจากเกาหลี คุณยายมีคาแร็กเตอร์แปลกประหลาด ผู้เป็นทั้งชายทั้งหญิงในตัวเอง ทั้งสบถคำหยาบและพูดหวานปลอบประโลม เป็นทั้งคนแก่และเด็กอยู่ในตัวคนเดียวเสร็จสรรพ เธอสร้างเสน่ห์ให้กับหนังอย่างมาก เวลาสร้างตัวละครต้องสร้างให้ได้แบบนี้เลย สร้างแล้วคนดูรัก มีเสน่ห์ แปลกใหม่ และที่สำคัญมันคือ “ความหมาย” ที่สำคัญของหนังในการจะนำพาคนดูไปสู่ธีมหลัก
อันที่จริง คู่ตรงข้ามอีกประเภทคือ คนพลัดถิ่นกับคนท้องถิ่น ถือว่าเป็นคอนเซ็ปต์หลักของหนังที่เดินคู่ไปกับเรื่องเพศหญิงชาย ในช่วงราวทศวรรษ 1980 ที่ชาวเกาหลีอพยพข้ามมาที่ทวีปอเมริกาเพื่อหลบหนีภัยการเมือง การแสวงหาชีวิตใหม่มิใช่เรื่องง่าย การพลัดถิ่นในรัฐอาร์คันซอของครอบครัวชาว Yi มิใช่การแสดงอัตลักษณ์ตะวันออกประการใด ตรงข้าม หนังสลับเอาอัตลักษณ์อเมริกันมาไว้ในตัวจาค๊อบ และเอาอัตลักษณ์บางประการของฝั่งตะวันออก เช่น การเชื่อสิ่งเร้นลับ ไปไว้ในตัวพอลชาวอเมริกัน
การปะทะกันอย่างสุดขั้วระหว่างความเป็นตะวันตก ตะวันออก โดยนำเสนออัตลักษณ์แบบสลับขั้วโดยให้ชาวอเมริกันเชื่ออย่างงมงายในสิ่งเร้นลับ ในขณะที่ชาวเกาหลีเชื่อในความรู้ที่พิสูจน์ได้และใช้การทำงานหนักแบบคนอเมริกันเข้าสู้และเชื่อในสมองของตัวเอง การสลับอัตลักษณ์ของตัวละครที่เป็นคู่ตรงข้ามนี่เอง คือเสน่ห์ร้ายกาจของหนัง นำพาให้หนังลุ่มลึก ดูสนุก น่าแปลกใจและไม่น่าเบื่อทั้งที่หนังไม่มีพระเอกนางเอก ไม่มีความดราม่า ไม่อาศัยการสร้างอารมณ์พีคใดๆ
การแบกไม้กางเขนของพอล มิใช่การใส่มาให้เล่นกันขำๆ แน่ เพราะถูกใส่มาถึงสองครั้ง และเป็นการวางเฟรมที่ตั้งใจให้เจอกับชาวเกาหลีผู้แสวงหาชีวิตใหม่ที่กำลังขับรถผ่านหน้าไป และอีกซีน ที่วางเฟรมให้รถของครอบครัวคนเกาหลีและอเมริกันที่พากันไปสังสรรค์ในโบสถ์ เร่งแซงหน้าชนชั้นแรงงานชาวอเมริกันที่เดินแบกไม้กางเขนอันหนักอึ้งและพากันหัวเราะ การแบกไม้กางเขนอันเป็นสัญลักษณ์ของการแบกภาระอันหนักอึ้งเพื่อแสวงหาชีวิตใหม่ที่หลุดพ้นไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า เป็นเทคนิคการใช้อุปมา (metaphor) การแบกไม้กางเขนของพระเยซู คือการแบกภาระของทุกสิ่งอย่างตามความเชื่อของชาวคริสต์
แต่ท้ายสุด ด้วยความร่วมมือของพอลผู้มีคาแร็กเตอร์แปลกประหลาด กรรมกรอเมริกันผู้งมงายในผีสางและสิ่งเร้นลับและแบกไม้กางเขนทุกวันอาทิตย์ (ซึ่งหลายครั้งคนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นอัตลักษณ์ของตะวันออก) ก็ทำให้ปัญหาต่าง ๆ คลี่คลายเมื่อมาร่วมมือกับจาค๊อบ ชาวเกาหลีผู้เชื่อมั่นในตัวเองแบบคนอเมริกัน และยอมรับวิธีการของพอลในท้ายสุด
อีกคู่ตรงข้ามหนึ่งคือ การปะทะกันระหว่างวัยชราและวัยเยาว์ อันเป็นจุดพีคของหนังและเป็นเสน่ห์ของหนังซึ่งดำเนินไปพร้อมๆ กับการปะทะกันของความเชื่อแบบตะวันออก-ตะวันตก จนสามารถสร้างภาวะ ‘ผลัดใบ’ ที่เป็นเอกภาพระหว่างหลานที่เติบโตแบบอเมริกันกับยาย (ที่เรามักจะคาดว่า) เป็นคนแก่เชยๆ จากเอเชีย จนทำให้ชีวิตแบบใหม่ที่แข็งแกร่งกว่าดำเนินต่อไปได้
ฉากที่เดวิดผู้อ่อนแอวิ่งสุดชีวิตเพื่อขอร้องให้ยายหยุดในซีนเกือบสุดท้าย ซึ่งเป็นการวิ่งอย่างจริงจังครั้งแรกของเด็กที่อยากวิ่งเล่นมาตลอดชีวิตแต่ถูกห้าม เพราะถูกกรอกหูมาตลอดว่าเป็นโรคหัวใจห้ามวิ่ง แต่ท้ายสุดเขาออกวิ่งเพราะความรักที่มีต่อยาย ทั้งที่ปะทะต่อสู้กับยายเกือบตลอดทั้งเรื่อง ทำให้คนดูเข้าใจได้ทันทีว่า เดวิดไม่ใช่เด็กที่อ่อนแออีกต่อไปแล้ว และเขาเข้มแข็งได้เพราะคู่ตรงข้ามของเขาคือ ยายชราผู้มาจากโลกตะวันออก ที่มาปะทะกับความเป็นอเมริกันของเขา (แม้เขาจะเชื้อชาติเกาหลี)
การประสานกันของคู่ตรงข้ามทั้งที่ปะทะขัดแย้งกันเกือบตลอดเรื่อง ทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้ ทั้งที่วิกฤตเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน ต่างฝ่ายต่างค้นหาการปรับปรนอัตลักษณ์ ปะทะกันแต่ไม่ต่อสู้เพื่อขัดแย้งแตกหัก หนังกลับนำเสนอการลุกขึ้นแสวงหาหนทางใหม่ๆ ที่ต้องผ่านวิกฤต ดิ้นรน ผลัดใบ และงอกเงย ดังเช่นต้นมินาริที่มิอาจแข็งแกร่งได้ในปีแรก
เมล็ดพันธ์มินาริซึ่งยายนำมาจากเกาหลี เป็นเมล็ดพันธ์ที่ขึ้นง่ายในที่มีน้ำ แต่มันจะเติบโตขยายดอกออกผลก็ต่อเมื่อมันผ่านการตายครั้งแรกก่อน เมื่อสภาพแวดล้อมพร้อม มินาริจะเกิดใหม่ แข็งแกร่งกว่าเดิมเมื่อกลับมาเกิดใหม่ในครั้งที่สอง การต่อสู้จนกลับมาเกิดใหม่ได้ในครั้งที่สองนั่นแหละ ทำให้มินาริแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วและยังเป็นผักพร้อมปรุงได้หลายเมนูสำหรับคนเกาหลีและคนแถบเอเชียตะวันออก
การใส่ icon ที่มีลักษณะอุปมาอุปไมย (metaphor) แบบนี้เข้ามาในบทหนัง ทำให้บทหนังมีความหมายและนำพาคนดูไปสู่แก่นได้ดีและลึกขึ้น
ไม่ต้องสงสัยเลย หนังที่เต็มไปด้วยคู่ตรงข้าม จะกำกับโดยผู้ที่เติบโตในสังคมกึ่งตะวันออกและตะวันตก ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี Lee Isaac Chung ผู้คว้ารางวัลมากมายจากเวทีภาพยนตร์ของฝั่งตะวันตก หากวิเคราะห์ด้วยมุมมอง binary opposition แล้ว เนื้อหาหนัง เรียบง่ายแต่ลุ่มลึก เต็มไปด้วยเรื่องราวในชีวิตประจำวันง่ายๆ จนกระแทกใจคนฝั่งสังคมตะวันตกที่พยายามจะเข้าใจคนฝั่งเอเชีย และหนังก็ไม่ได้มีท่าทีเหยียดหยามหรือโทษใคร
ที่เด่นคือ นักแสดงหญิงทรงพลังในบทแม่บ้านผู้แบกภาระหนักอึ้ง และต้องการให้สามีเข้าใจและแคร์ความรู้สึกของ ‘คู่ตรงข้าม’ อย่างเธอด้วย แสดงโดย Han Ye-ri และคุณยายที่เปี่ยมด้วยอัตลักษณ์หยินหยางในตัวเองและฮาได้เสมอ แสดงโดย Yuh-Jung Youn
การสร้างตัวละครที่สลับขั้วทางอัตลักษณ์ รวมทั้งผสมผสานบุคลิกแปลกๆ ไม่ใช่อย่างที่คนดูหรือสังคม ตีตรา คาดไว้ แต่สร้างคาแร็กเตอร์ที่เปี่ยมไปด้วยความหมาย บวกกับการใส่สถานการณ์ในชีวิตประจำวันเรียบๆ แต่เหมือนจริงจนสะเทือนใจในหลายฉาก ใครเคยอยู่ต่างประเทศนานๆ เจอฉากแม่เอาพริกป่นกับปลาแห้งมาฝาก ไม่น้ำตารื้นก็ใจแข็งมาก
เป็นบทหนังที่ไม่มีดราม่าน้ำตาท่วมใดๆ แต่แฝงไปด้วยปรัชญาตะวันออกที่ทั้ง “ปะทะและประสาน” กับวิถีตะวันตก สิ่งที่พวกเราเคยรับรู้ เคยเห็น แท้จริงแล้วมันไม่จำเป็นต้องปะทะเพื่อแตกหักกันอย่างที่เราคิด.