ไปทำอะไรมาหน้าหมองจัง?
เรื่องง่ายๆ แค่นี้ไม่รู้ได้ยังไง?
เจอกันทีไรต้องมีเรื่องให้ติได้ทุกทีสินะ แล้วหลังจากนั้นก็ตามมาด้วยคำสั่งสอนหรือชี้แนะ โดยที่ยังไม่ได้ขอคำแนะนำเลยสักนิด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ดูเหมือนไม่ถูกใจคนกลุ่มนี้ไปซะหมด วิธีที่คนอื่นทำไม่มีทางเวิร์กได้เท่ากับวิธีของตัวเอง โดยอาจจะลืมความจริงไปว่า ทุกคนต่างก็มีประสบการณ์และวิธีการแก้ปัญหาที่ต่างไป ถ้าใครกำลังพบกับสถานการณ์นี้เมื่อไหร่ ให้รู้ตัวเลยว่ากำลังเจอคนช่างวิจารณ์เข้าแล้ว
หากคอมเมนต์ด้วยความหวังดี อยากให้อีกฝ่ายปรับปรุงตัวเองก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่บางครั้งคนช่างวิจารณ์มักใช้โอกาสนี้แสดงความเป็นผู้รู้ เทศนาสั่งสอนอีกฝ่ายพร้อมกับน้ำเสียงไม่เป็นมิตร และถ้อยคำที่ทำให้คนฟังรู้สึกเจ็บปวด ทั้งยังอาจเกินเลยไปถึงการตำหนิต่อหน้าคนอื่นๆ ให้อีกฝ่ายรู้สึกอับอายด้วย จนทำให้คนฟังรู้สึกตัวเล็กลง และสงสัยว่าตัวเองทำผิดมากขนาดนั้นจริงไหมนะ
วันนี้ The MATTER เลยชวนไปดูเบื้องหลังเหตุผลที่ทำให้บางคนถึงเลือกจะตำหนิคนอื่น แม้จะทำให้อีกฝ่ายเจ็บปวดกัน และหากใครรู้ตัวว่าเป็นคนช่างวิจารณ์ซะเอง เราจะมีวิธีไหนที่หยุดมันได้บ้าง หรือเราจะมีวิธีรับมืออย่างไรกับคนช่างวิจารณ์เพื่อให้ไม่ต้องเป็นสนามอารมณ์ของอีกฝ่ายอีกต่อไป
ว่าด้วยเรื่องของคำวิจารณ์
ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การตำหนิหรือการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นสิ่งที่เราสามารถพบเจอได้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ซึ่งแบ่งได้เป็นคำวิจารณ์ที่ดีและไม่ดี ขึ้นอยู่กับเจตนาคนพูดและสารที่ส่งมา
คำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ (constructive criticism) จากคนที่เราเชื่อใจ มักเป็นสิ่งที่เราสามารถนำไปแก้ไข หรือปรับปรุงตัวเองได้ เช่น เราอาจถูกแม่ตำหนิในเรื่องที่ไม่ยอมเก็บของให้เรียบร้อย ถูกตัดสินโดยเจ้านายที่มอบหมายงานให้เราไปทำ หรือคำแนะนำจากอาจารย์ต่อแบบฝึกหัดที่เราเพิ่งส่งไป
คำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์เหล่านี้ไม่ใช่แค่บอกเรื่องที่บกพร่องเท่านั้น แต่ยังพูดถึงสิ่งที่เราทำได้ดี แนะนำสิ่งที่ควรปรับปรุง เพื่อให้เราเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ หากเราสามารถจัดการอารมณ์เมื่อได้รับคำวิจารณ์ประเภทนี้ได้ดี ก็จะช่วยทำให้เรามีความมั่นใจเพิ่มขึ้น และเห็นคุณค่าในตัวเองด้วย
ในขณะที่คำวิจารณ์ที่เป็นพิษ (destructive criticism) ส่วนใหญ่มักมีเจตนาทำร้าย หรือทำลายชื่อเสียง แต่บางครั้งก็อาจมาจากคนที่ไม่ได้ตั้งใจทำร้าย เพียงแต่ไม่รู้วิธีที่จะสื่อสารคำวิจารณ์เหล่านี้ออกไปอย่างไรให้คนฟังรู้สึกว่าคำวิจารณ์นี้คุณค่าให้รับฟัง เช่น การวิจารณ์รูปร่างหน้าตา หรือการโจมตีไปที่ความคิดเห็นอีกฝ่ายด้วยถ้อยคำรุนแรง
อย่างไรก็ตาม คำวิจารณ์ประเภทนี้นอกจากจะไม่ช่วยให้คนฟังเป็นคนที่ดีขึ้นแล้ว ยังฝากบาดแผลไว้ในใจด้วย ทำให้คนที่ได้รับคำวิจารณ์รู้สึกไม่มั่นใจและเสียกำลังใจ เพราะไม่รู้ว่าควรแก้ไขอย่างไรให้ดีขึ้น ทั้งยังอาจทำผิดพลาดได้มากขึ้นอีก เนื่องจากไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมาได้เลย
ดังนั้น การแยกแยะคำวิจารณ์แต่ละประเภทให้ได้จึงสำคัญ เพราะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เราไม่เหมารวมว่าคำวิจารณ์ทั้งหมดเป็นเพียงความคิดเห็นแย่ๆ เพียงอย่างเดียว และในทางหนึ่งก็อาจทำให้เราได้เรียนรู้ เพื่อให้กลายเป็นคนที่ดีขึ้นได้
ทำไมบางคนถึงชอบวิจารณ์คนอื่น?
‘คำพูดสามารถทำร้ายคนได้’ คงไม่เกินจริงเท่าไหร่ เมื่อคำวิจารณ์ไม่ได้มีเพียงแค่ด้านเดียว แต่มีทั้งร้ายและดีอย่างที่ว่าไป ในแง่หนึ่ง คำวิจารณ์ การตำหนิ หรือต่อว่า หลายครั้งจึงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำร้ายอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน
มีหลายเหตุผลที่บางคนเลือกจะใช้คำวิจารณ์ หรือการตำหนิเพื่อทำร้ายคนอื่น โดย ComPsych บริการด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา ได้ให้เหตุผลถึงคนที่มักวิจารณ์ผู้อื่นไว้มากมาย เช่น เพราะอยากลงโทษคนอื่นด้วยการตำหนิ เพราะอยากโยนความผิดให้คนอื่น หรือเพราะรู้สึกตัวเองด้อยกว่าคนอื่น จึงนำไปสู่การตำหนิติเตียนผู้อื่น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมั่นคงในใจ และรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปร่างหน้าตา ฐานะทางการเงิน หรือฐานะทางสังคมก็ตาม
นอกจากนี้ บางคนยังอาจใช้คำวิจารณ์สร้างการยอมรับของกลุ่ม เมื่อเราอยู่ในสังคม บางครั้งเราก็มักวิจารณ์ ล้อเลียนคนที่แตกต่างจากคนอื่นๆ เพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกันภายในกลุ่มเดียวกัน หรือบางครั้งก็ใช้เพื่อเป็นวิธีหนึ่งในการสร้างความประทับใจให้คนอื่นๆ ด้วย
งานวิจัยในปี 2007 โดยไบรอัน กิบสัน (Bryan Gibson) นักวิจัยสาขาจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลมิชิแกน ระบุว่า การวิจารณ์เกินเหตุ (hypercriticism) ถูกใช้ในฐานะกลยุทธ์หนึ่งของการสร้างความประทับใจ เมื่อพวกเขาอยากแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนเองฉลาด นอกจากนี้ยังพบว่าคนที่ “อยากดูฉลาด” จะเลือกหัวข้อที่ไม่นิยมเพื่อให้การวิจารณ์นั้นเป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วย
เช่นเดียวกับงานวิจัยโดยเทเรซา อามาบิเล (Teresa Amabile) ผู้อำนวยการจาก Harvard Business School บอกว่า เราจะรู้สึกว่าคนคนนั้นฉลาด เมื่อได้ยินความคิดเห็นเชิงลบมากกว่าเชิงบวก ซึ่งเทเรซาทำการสำรวจผ่านการให้กลุ่มนักเรียน 55 คน แบ่งออกเป็นชายและหญิงอย่างละครึ่ง อ่านบทวิจารณ์หนังสือสองเรื่องของนักวิจารณ์คนเดียวกันจากหนังสือพิมพ์ The New York Times แต่ปรับรูปแบบภาษาให้แตกต่างกันออกไป ด้วยรูปแบบที่เขียนในเชิงบวกและเชิงลบ จากนั้นจึงให้นักเรียนประเมินความฉลาดของนักวิจารณ์
ผลการทดลองพบว่า นักเรียนคิดว่านักวิจารณ์ที่ให้ความเห็นเชิงลบดูฉลาดกว่า นั่นจึงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ข้อความแสดงความคิดเห็นยอดนิยมและได้รับความสนใจอยู่เสมอ มักเป็นความคิดเห็นเชิงลบ เพราะเรามักเชื่อถือคำวิจารณ์เหล่านี้ว่าเป็นเรื่องจริง ซ้ำยังฉลาดกว่าความเห็นอื่นๆ
แม้ว่าการวิจารณ์และการตัดสินคนอื่นจะเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์เพื่อให้อยู่รอดในสังคม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประโยชน์เสมอไป ซึ่งเจมส์ คิลเลียน (James Killian) นักบำบัดและผู้ก่อตั้ง Arcadian Counseling บริษัทบำบัด ให้คำปรึกษา และฝึกอบรมเกี่ยวกับความวิตกกังวล บอกว่าหลายครั้งการใช้คำพูดวิจารณ์คนอื่นอยู่ตลอด ถือเป็นสัญญาณของการนับถือตนเองต่ำและขาดความมั่นใจ เมื่อรู้สึกว่าคนอื่นจะไม่ชอบตัวเอง พวกเขาเลยอาจใช้คำวิจารณ์เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น
วิธีรับมือกับคนที่ชอบตำหนิคนอื่น
แม้คำวิจารณ์จะช่วยให้ใครหลายคนพัฒนาตัวเองได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายวิธีที่เราสามารถชี้แนะโดยไม่ทำร้ายคนอื่น โดยเคลย์ ดรินโก (Clay Drinko) นักการศึกษาและผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการแสดงละครแบบด้นสด จิตสำนึก และความรู้ความเข้าใจ ได้เสนอแบบฝึกหัดที่ทำให้เราเป็นคนตัดสินคนอื่นน้อยลง ซึ่งปรับมาจากการเล่นละครด้นสด ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ลองวิธีอื่นนอกจากการวิจารณ์ – วิธีหนึ่งที่ทำให้เราลดการวิจารณ์ลงได้คือ การเล่นเกม ‘ทางเลือกใหม่’ เพื่อเป็นการเตือนใจว่าทางเลือกแรกของเราไม่จำเป็นต้องเป็นทางเลือกเดียว ถ้าเห็นว่าเรากำลังวิจารณ์คนอื่น ก็บอกกับตัวเองให้เลือกทางเลือกใหม่ และลองทำในสิ่งที่เกี่ยวกับการวิจารณ์น้อยลง เช่น การพูดถึงเรื่องความพยายามของคนอื่น หรือการเปลี่ยนแปลงที่มองเห็น
- เตือนใจด้วยคาถา ‘รู้ได้อย่างไร’ – เมื่อเริ่มรู้สึกว่าเรากำลังจะวิจารณ์คนอื่น ให้ลองเตือนใจตัวเองด้วยคำถามว่า ‘แล้วเรารู้ได้อย่างไร’ อาจช่วยทำให้เราตระหนักได้ว่า สิ่งที่คิดมักเป็นอคติส่วนตัว โดยที่ยังไม่ได้รู้จักอีกฝ่ายดีพอ นอกจากนี้ คำพูดดังกล่าวยังกระตุ้นให้เราอยากหาคำตอบ และเหตุผลเบื้องหลังของอีกฝ่ายมากขึ้นด้วย
- ลองตั้งคำถาม – หลายครั้งที่การวิจารณ์เป็นเพียงแค่การตั้งสมมติฐาน “เพราะขี้เกียจน่ะสิถึงไม่ยอมทำแบบนี้” “เพราะไม่ฉลาดหรือเปล่าเลยนึกไม่ออก” ดังนั้น เพื่อหยุดความคิดไม่ดีเหล่านี้ เราลองเปลี่ยนเป็นการถาม และพยายามอยากรู้เหตุผลของอีกฝ่ายให้มากที่สุด ว่าทำไมคนนั้นจึงไม่ทำตามแบบที่คุณคิดล่ะ บางทีเราอาจจะพบคำตอบที่ทำให้เข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้นก็ได้
- ไม่พูดหากนึกเรื่องดีๆ ไม่ออก – ถ้าลองวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล อาจจะลองกลับไปวิธีที่เรียบง่ายมากที่สุดคือ การเลือกจะเก็บคำวิจารณ์ที่ทำร้ายจิตใจของคนอื่นไว้กับตัวเอง จนกระทั่งสามารถเรียบเรียงการพูดได้แล้วค่อยพูดออกมาอย่างจริงใจ
และหากคุณคือคนที่ได้รับคำแนะนำแบบไม่เต็มใจ Hospitality Insights เว็บไซต์ข้อมูลเชิงลึกในแวดวงบริการ ธุรกิจ และการศึกษา ก็ได้แนะนำวิธีรับมือไว้ ดังนี้
- อย่าโทษตัวเองหรือรีบหาข้อแก้ตัว – เมื่อถูกวิจารณ์ ใครหลายคนมักจะรีบหาข้อแก้ตัวสำหรับความคิดเห็นนั้น ซึ่งมักถูกเรียกว่า Dunning-Kruger effect หรือทฤษฎีที่เราคิดว่าตัวเองเก่ง ทั้งที่จริงไม่รู้อะไรเลย ถ้าเกิดรู้สึกอยากโต้แย้งจากความคิดเห็นแย่ๆ เมื่อไหร่ ให้ลองบอกตัวเองให้หยุดคิดก่อน และพยายามแยกระหว่างเนื้อหากับน้ำเสียงที่พูดออกจากกัน เพราะบางครั้งเราอาจจะเจอคำวิจารณ์ที่ดีภายใต้วิธีการพูดอาจจะไม่ดีก็ได้ จากนั้นกล่าวขอบคุณ แต่หากเป็นคนที่ไม่ได้เป็นคนหวังดีกับเรา ก็อย่าลืมบอกให้เขารู้ด้วยว่า เราไม่ต้องการคำตำหนิแบบนี้อีกในอนาคต
- อย่าเก็บเอามาคิด – บางคนที่อ่อนไหวต่อคำวิจารณ์ อาจจะรู้สึกวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือรู้สึกละอายได้ เมื่อเจอคำวิจารณ์โดยไม่ทันตั้งตัว ลองปล่อยมันไปก่อน พักหายใจ ทำสิ่งที่ตัวเองสบายใจ บางทีสาเหตุอาจไม่ได้มาจากการกระทำของเราก็ได้ เพราะบางครั้งก็เป็นการที่เขาตำหนิชีวิตของตัวเองผ่านการกระทำของเรามากกว่า
- มองหามุมมองใหม่จากคนอื่นๆ – จากมุมมองของคนนอกอาจช่วยทำให้เรามองเห็นมุมอื่นๆ ที่ต่างออกไป โดยเฉพาะการพูดคุยกับคนใกล้ชิดที่รู้จักตัวตนของเราดีที่สุด ซึ่งจะช่วยสะท้อนและให้คำแนะนำที่เราสามารถนำไปปรับปรุงได้ ทั้งยังช่วยซัปพอร์ตใจของเรา และไม่ทำให้เราจมอยู่กับคำพูดแย่ๆ เพียงลำพัง
แม้หลายครั้งการตำหนิจะมาพร้อมกับเจตนาดี แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีอีกหลายวิธีในการแสดงความคิดเห็น ที่เราทำได้โดยไม่จำเป็นต้องทำใครรู้สึกแย่ในสายตาคนอื่น บางทีความเข้าอกเข้าใจพร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไข อาจทำให้เราเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ต้องการได้เหมือนกัน
อ้างอิงจาก