เราอยู่ ณ จุดที่พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาทุกสรรพสิ่ง แต่ขณะเดียวกันวิกฤต Climate Change ได้สร้างผลกระทบตามมาจนเป็นที่ประจักษ์ จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบแบบลูกโซ่ แต่สังคมโลกก็จำเป็นต้องพัฒนาต่อไป
เดินไปข้างหน้าก็จำเป็น แต่ก็ไม่ควรทิ้งภาระไว้ข้างหลังอีกต่อไป
จึงเป็นความท้าทายในการแสวงหาความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy security) อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) กําหนด ซึ่งเป็นกรอบทิศทางสำหรับการพัฒนาของประเทศสมาชิกทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยเอง สถานการณ์พลังงานยังพอมีทางเลือกและความเสี่ยงของความมั่นคงด้านพลังงานอยู่ไม่น้อย ทำให้ทิศทางพลังงานทางเลือกในไทยกำลังเป็นที่สนใจของนักพัฒนาทั้งหลายที่มีความสามารถ จากองค์ความรู้และทรัพยากรที่เรามี ประเทศไทยยังมีศักยภาพ ทั้งพลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และพลังงานนิวเคลียร์ แต่คำถามที่สำคัญคือ เราจะจัดการมันอย่างไรล่ะ?
ปัญหาเรื่องโลกร้อน (Global warming) และวิกฤติเรื่องพลังงาน ทั้งสองเรื่องมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดและมีผลกระทบต่อมนุษยชาติทั่วโลก ไม่เพียงแต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ถ้าเราไม่รีบช่วยกันแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน ปัญหาที่เกิดจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น จะมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เร็วกว่าที่ใครเคยจินตนาการไว้
วิกฤตมักมาเร็วเสมอ
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560 เป็นต้นมา โลกเผชิญกับภาวะ Climate change อีกระดับ บรรยากาศโลกมีความหนาแน่นของคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นประวัติการณ์ถึง 410 ppm (ค่า ppm ย่อมาจาก Part Per Million หมายถึง 1 ในส่วน 1,000,000 นิยมใช้ตวงสสาร เช่น ปริมาณสารพิษในน้ำ)
สถาบัน Scripps Institution of Oceanography เผยให้เห็นกราฟมลภาวะที่ไต่ระดับ “เร็วกว่าที่คิดไว้” ทั้งๆที่ปีที่แล้ว โลกเพิ่งข้ามหมุดหมายที่ 400 ppm ไปหยกๆ เป็นสัญญาณที่เตือนว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่หายนะทางสิ่งแวดล้อมไปเร็วมาเร็ว แม้ความแตกต่างระหว่างตัวเลข 400 กับ 410 จะไม่ได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในธรรมชาติ แต่มันก็นำเสนอข้อมูลทางตัวเลขที่นักวิทยาศาสตร์สามารถคาดคะเนเทรนด์ของสิ่งแวดล้อมในอนาคตได้
ข้อสันนิษฐานใหญ่ๆของปรากฏการณ์คาร์บอนไดออกไซด์ทะลุปรอท น่าจะเกิดจาก “เอลนีโญ” (El Niño) ที่กระตุ้นให้มหาสมุทรคาย CO2 สู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และอีกปัจจัยที่รู้ๆกันอยู่ คือการผลาญพลังงานฟอสซิลโดยกากของเสียจากการเผาไหม้
ตัวเลขนี้กระตุ้นให้ประเทศสมาชิกในข้อตกลงสิ่งแวดล้อมปารีส (Paris Climate Agreement) พยายามควบคุมให้มีการใช้พลังงานฟอสซิลในประเทศเพียง 25% (หรือน้อยกว่านั้น) ภายในปี 2100 นับเป็นความท้าทายมากๆ ที่ทุกประเทศจะให้ความสำคัญกับผลกระทบที่ตามมา
มองวิกฤตของอินเดีย
หลายคนที่เคยไปอินเดีย ดินแดนชมพูทวีป มักอยากจะไปสัมผัสกลิ่นอายแห่งพุทธศาสนาอย่างน้อยก็สักครั้งหนึ่งในชีวิต (หรือไปเพื่อเต้นสไตล์บอลลีวู้ด ก็แล้วแต่สะดวกใจ) แต่จำนวนไม่น้อยที่กลับมาพร้อมความรู้สึกที่เปลี่ยนไป
“อินเดียเปลี่ยนไปเยอะแล้ว ทุกที่เต็มไปด้วยนิคมเกิดใหม่ ท้องถนนเต็มไปด้วยรถราแน่นขนัด หายใจเข้าไปก็เหมือนปอดจะเจอแต่ฝุ่นกับควัน”
อินเดียกำลังเติบโตเหมือนเด็กที่กินจุ จากเหล่านักลงทุนหน้าใหม่ที่แลกนามบัตรกันจนหมดโรงพิมพ์ พร้อมนโยบายเปิดดีลการลงทุนจากต่างชาติ เชื้อเชิญให้ประชาคมโลกเปิดตาสู่ ‘อินเดียใหม่’ ที่ไฉไลกว่า คิดต่างกว่า และทำให้ทุกความฝันของใครก็ตามเป็นจริง
อินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในโลก ด้วยประชากรมากกว่า 1.6 พันล้านคน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2040 ความต้องการไฟฟ้ามวลรวมจะเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าตัว หากอินเดียไม่มีการจัดการกากของเสียจากการผลิตและการเติบโตของประเทศ ภายในครึ่งศตวรรษนี้อินเดียจะเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อันดับ 1 ของโลกจากการเก็งของนักวิชาการสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันอินเดียอยู่ในตำแหน่งอันดับ 3 ในการปล่อยมลภาวะ) สาเหตุจากระบบสาธารณูปโภคของอินเดียยังพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก
พลังงาน ‘ระดับชาวบ้าน’ เป็นแหล่งพลังงานขั้นพื้นฐานที่หล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตของประเทศอินเดียมาอย่างยาวนาน อาทิ ‘หลุมขี้ควาย’ ที่ชาวบ้านหมักมูลสัตว์จนเกิดก๊าซมีเทน แพร่หลายถึงขนาด 2 ใน 3 ของชาวชนบทในอินเดียก็ยังใช้หลุมขี้ควายนี้หุงต้มอาหารกันอยู่ ใช้ฟางข้าว ถ่านไม้และเปลือกไม้ เผาเพื่อให้ได้พลังงานความร้อน
ความตั้งใจของอินเดียจากนโยบายของนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที ที่สัญญาให้กับข้อตกลงปารีส คือการผลักดันพลังงานสะอาด จากที่มีใช้อยู่ราว 24 เปอร์เซ็นต์ให้เพิ่มเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2030 ซึ่ง ‘พลังงานน้ำ’ เป็นพลังงานทางเลือกที่อินเดียใช้มากที่สุด แต่ก็ยากที่จะสร้างเพิ่มเติม เพราะมีความยุ่งยากในการสัมปทานพื้นที่ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย รัฐบาลอินเดียจะต้องหันไปใช้พลังงานไฟฟ้าจากลมและเซลล์สุริยะ ให้ผลิตกำลังไฟฟ้าให้ได้ราว 350 กิกะวัตต์อย่างต่ำภายในปี 2030
แม้อินเดียจะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย อินเดียมีทิศทาง Positive ต่อการเริ่มอะไรจริงๆ จังๆ ต่อการลดมลภาวะ แต่ต้องรองรับการเติบโตของประเทศเช่นกัน รัฐบาลอินเดียวางแผนว่า ภายในปี 2030 ประชาชนชาวอินเดียจะต้องเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่ำ 250 กิกะวัตต์ ซึ่งมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานทางเลือกเกือบทั้งหมด
และอีกประเทศที่มองข้ามไม่ได้คือ “จีน” ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ผู้นำจีนกำลังเร่งพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อให้ประเทศจีนเป็น “มหาอำนาจสีเขียว” หรือ Green Superpower ข้อมูลจาก บลูมเบิร์ก นิว เอนเนอร์ยี ไฟแนนซ์ (Bloomberg New Energy Finance) ระบุว่า ปี 2558 จีนทุ่มเงินลงทุนพลังงานทดแทนในประเทศสูงถึง 103,000 ล้านดอลลาร์ มากกว่าสหรัฐฯที่ลงทุนเพียง 44,000 ล้านดอลลาร์ ในแผนงาน 5 ปีจีนจัดสรรงบประมาณให้อุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์สูงถึง 1 ล้านล้านหยวน โดยมีเป้าหมายจะ เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดให้ได้ 5 เท่า หรือเท่ากับโรงไฟฟ้าแสงแดดขนาดใหญ่ 1,000 แห่ง รัฐบาลจีนยังจัดสรรงบอีก 700,000 ล้านหยวน สร้างทุ่งกังหันลมและงบอีก 500,000 ล้านหยวน สร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ งบที่เหลือจะกระจายไปสู่ พลังงานคลื่น(จากทะเล) และ พลังงานความร้อนจากใต้พิภพ นับว่าเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญที่สร้างสีสันมาก ก่อให้เกิดธุรกิจพลังงานสีเขียวอีกเหลือคณานับ
สถานการณ์พลังงานของประเทศไทย
หันกลับมาดูพลังงานที่ใช้กันในประเทศไทยหลักๆ อาจแบ่งเป็น น้ำมันเชื้อเพลิงและไฟฟ้า โดยน้ำมันเชื้อเพลิงใช้มากที่สุดในภาคขนส่ง ส่วนพลังงานไฟฟ้า ใช้กันในทุกภาคส่วนทั้งอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และครัวเรือน
ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เรานำเข้าน้ำมันดิบเกือบ 100% แล้วเอามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป เช่น เบนซินและดีเซล มูลค่านำเข้าน้ำมันดิบนั้นคิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP โดยเราควบคุมราคาไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของตลาดโลก บ้านเราพยายามลดการนำเข้า โดยนำเอทานอลที่ผลิตจากชีวมวลในประเทศอย่างกากน้ำตาล หรือมันสำปะหลังมาผสมกับน้ำมันเบนซินในสัดส่วนต่างๆ จนกลายเป็น “แก๊สโซฮอล์”
ในส่วนของพลังงานไฟฟ้า ส่วนใหญ่ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ 65-70% (มาจากอ่าวไทยและนำเข้าจากเมียนมาร์) ส่วนที่เหลืออีก 30-35% นั้นผลิตจากถ่านหิน พลังน้ำจากเขื่อน และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ อาทิ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ชีวภาพ ขยะ พลังน้ำขนาดเล็ก รวมทั้งการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน (ลาวและมาเลเซีย)
ตัวเลขการใช้ก๊าซธรรมชาติที่สูงถึงเกือบ 70% แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะมีต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าจากความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ อย่างเช่น การที่ราคาก๊าซพุ่งขึ้นสูง การปิดซ่อมบำรุงแหล่งผลิตและระบบส่งก๊าซ อุบัติภัยที่อาจก่อให้เกิดการชำรุดเสียหายต่อท่อส่งก๊าซ และแม้แต่แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติในประเทศอย่างที่อ่าวไทยเองก็กำลังหมดไป ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงพยายามลดสัดส่วนของการใช้ก๊าซธรรมชาติลง หันไปใช้แหล่งผลิตอื่นเพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น อย่างเช่น ถ่านหิน นิวเคลียร์ และพลังงานหมุนเวียนต่างๆ
จะเห็นได้ว่าในมิติความมั่นคงของพลังงานเรายังต้องพึ่งพาตัวแปรอื่นๆที่ผันผวนไปมา เอาแน่เอานอนไม่ได้ การแสวงหาความมั่นคงทางด้านพลังงานจึงเป็นภารกิจสำคัญยิ่งยวด เพราะจากสถิติพบว่า กลุ่มประเทศที่มีความมั่นคงด้านพลังงานสูงมักมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสามารถต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศได้ดีกว่า ทำให้หลายๆประเทศในช่วง 10ปีที่ผ่านมา ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ดึงศักยภาพของทรัพยากรในประเทศมาใช้โดยพึ่งพาการนำเข้าให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะพลังงานเองมีนัยยะสำคัญในเชิงรัฐศาสตร์เช่นกัน
ความเสี่ยงของความมั่นคงที่ต้องเลือก
ดุจสัจธรรมที่แท้จริงว่า แหล่งพลังงานทุกชนิดล้วนมีความเสี่ยง แต่เป็นคนละด้านกัน ปัญหาพลังงานไม่มี “กระสุนวิเศษ” ที่แก้ได้ทุกอย่างตามใจนึก แหล่งพลังงานแต่ละประเภทล้วนมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน รัฐบาลและภาคเอกชนจึงต้องมีการวางแผนเรื่องการผลิตไฟฟ้าให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ โดยทั่วไปต้องคำนึงถึง ความมั่นคง (Security) ที่ต้องวางแผนการผลิตไฟฟ้าให้มีใช้อย่างต่อเนื่อง เพียงพอต่อความต้องการ ไฟต้อง ไม่ดับๆ ติดๆ จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม หรือทำให้วิถีชีวิตของผู้คนสะดุด
ก๊าซธรรมชาติมีความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของราคาและการพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้าน ถ่านหินมีข้อดีในด้านราคาถูกแต่ต้องมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดในเรื่องของมลภาวะและอาจถูกบีบให้ใช้อย่างจำกัดเพื่อลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมักไม่มีความต่อเนื่องและไม่คงที่ เนื่องจากลมไม่ได้พัดตลอดเวลาและความแรงไม่สม่ำเสมอ แสงอาทิตย์ไม่มีในตอนกลางคืนและมีความเข้มน้อยตอนเช้าและตอนเย็นหรือในวันที่มีสภาพเมฆมาก
พลังงานชีวมวลก็แปรผันตามวัตถุดิบในภาคเกษตรซึ่งอยู่กับฤดูกาล ไฟฟ้าจากพลังน้ำนอกจากจะแปรผันตามฤดูกาลแล้วยังขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่ต้องนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่นเพื่อชลประทานและผลิตน้ำประปา หรือพลังงานนิวเคลียร์ที่สังคมยังตั้งคำถามว่ามีความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด ทั้งๆ ที่มีข้อดีเด่นชัดในด้านที่ไม่ก่อเกิดคาร์บอนไดออกไซด์และไม่เป็นสาเหตุของก๊าซเรือนกระจก
เราจึงต้องลดความเสี่ยงจากที่จะใช้แหล่งพลังงานรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพียงอย่างเดียว ด้วยการกระจายแหล่งผลิตให้มีความหลากหลาย หากเกิดปัญหาแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ก็ยังมีแหล่งอื่นช่วยแบ่งรับภาระไปได้
การเข้าถึงได้ของสังคมทุกภาคส่วน (Social Accessibility) บริหารจัดการให้พลังงานไฟฟ้ามีราคาไม่สูงเกินจนคนทั่วไปในภาคครัวเรือนไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือแพงเกินไปจนภาคอุตสาหกรรมมีต้นทุนการผลิตสูงจนส่งผลราคาสินค้าสูง ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นลดลง รวมถึงจะต้องมีการกระจายการส่งไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพไปสู่ผู้ใช้ได้อย่างทั่วถึงเพื่อผู้ใช้ทุกภาคส่วนมีโอกาสเท่าเทียมกัน
ความยั่งยืน (Sustainability) การผลิตพลังงานจำเป็นอย่างยิ่งยวดในศตวรรษนี้ ต้องให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพน้อยที่สุด ดังนั้น โรงไฟฟ้าต้องมีระบบควบคุม ป้องกัน และกำจัดมลพิษ ทางน้ำ อากาศ เสียง กลิ่น และรังสี ซึ่งการสร้างระบบป้องกันเหล่านี้ให้ดีนั้น ต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลให้ ต้นทุนของไฟฟ้าสูงตามไปด้วย
โดยสรุปแล้ว อาจกล่าวได้ว่าทิศทางการพัฒนาพลังงานของไทย มีความสอดคล้องกับสถานการณ์พลังงานโลกที่มุ่งเน้นในเรื่องของการลดความเสี่ยงของการกระจุกตัวไปที่พลังงานใดพลังงานหนึ่งในการผลิต จากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 ซึ่งผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ยั่งยืน รวมถึงมีเป้าที่เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้เป็น 15 %-20 % จาก 8% ณ ปีพ.ศ. 2557 โดยมีการวางแผนที่คำนึงถึงความมั่นคงของระบบไฟฟ้าต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม และความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
ประเทศไทยโดดเด่นด้านเศรษฐกิจชีวภาพจากทรัพยากรที่เรามี มันจำเป็นต้องมีนวัตกรรมที่รุดหน้าในการแปรสภาพวัสดุชีวมวลให้เป็นพลังงานหรือวัตถุดิบทดแทนและใช้ประโยชน์ต่างๆ ปัจจุบันเอกชนรายใหญ่ของไทยหันมาทำเกษตรกรรมชีวภาพมากขึ้น ปลูกพืชเพื่อที่จะเป็นเจ้าของวัตถุดิบเองและนำมาแยกส่วนเพื่อผลิตพลังงานชีวมวลหรือใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมของตนเองหรือขายต่อไป ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเอกชนเหล่านี้ล้วนวิ่งเข้าหาภาครัฐและภาควิชาการเพราะยังต้องการงานวิจัยมาสนับสนุนอีกมาก บริบทการคิดทำงานวิจัยจึงเปลี่ยนไปและมองถึงความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์มากขึ้น