Moderndog กำลังจะมีคอนเสิร์ตใหญ่ในรอบ 2 ทศวรรษ แต่ก่อนจะไปฟังบทเพลงของพวกเขาในคอนเสิร์ตครั้งนี้ เราอยากชวนมาโหมโรง ให้พวกเขาเปิดปากบอกเล่าความทุกข์ ความสุข และ ‘ดาวนำทาง’ ของตัวเองในรอบ 22 ปีที่ผ่านมาอีกสักที แม้จะมีนิตยสารหลายหัวสัมภาษณ์พวกเขาจนช้ำยิ่งกว่าช้ำไปแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไร เพลงที่เพราะเปิดฟังกี่รอบมันก็จะยังเพราะอยู่ดี จริงไหม…
ในยุคสมัยที่นิตยสารบนแผงหนังสือจำนวนลงอย่างน่าใจหาย ภายใต้การแข่งขันอย่างเข้มข้นของสนธยากาลแห่งสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิตยสารแจกฟรีที่ต้องแข่งขันกันในเรื่องความแตกต่างเอาเป็นเอาตาย คงไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นนิตยสารหลายหัวพร้อมใจกันหยิบวงดนตรีสักวงมาขึ้นปกพร้อมกันได้มากมายขนาดนี้
เท่าที่เห็นตอนนี้ มีนิตยสารไม่ต่ำกว่าสามหัวที่นำวงดนตรีระดับตำนานอย่าง Moderndog มาขึ้นปกพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ยังไม่นับบทสัมภาษณ์ที่แอบซ่อนอยู่ในเล่ม หรือในแพลตฟอร์มใหม่ๆ อย่างสื่อออนไลน์ที่ก็พับลิกออกมาแล้วมากมายจนนับไม่ถ้วน
แน่นอนว่า คอนเสิร์ตใหญ่ของ Moderndog ซึ่งจะจัดขึ้น ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้เป็นสาเหตุหนึ่ง แต่นอกเหนือจากเรื่องนี้แล้ว การที่นิตยสารหัวต่างๆ พร้อมใจกันรุมสัมภาษณ์กลุ่มศิลปินผู้โลดแล่นอยู่ในวงการดนตรีไทยมามากว่า 22 ปี ซึ่งถูกสัมภาษณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนหากใช้ศัพท์แสงทางนิตยสารมากล่าวอ้างก็คงต้องบอกว่า ‘โคตรช้ำ’ นั้น คงพิสูจน์ได้ว่าพวกเขาคือ ‘ของจริง’
แต่นั่นเองที่เป็นสาเหตุให้เราค่อนข้างกังวล เป็นความกังวลในแง่ที่ว่า เราจะหยิบยกแง่มุมที่แตกต่างจากนิตยสารอื่นๆ มานำเสนอให้แก่คนอ่านได้หรือเปล่า ยังไม่นับรวมว่า ผู้ทำบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เคยทำสัมภาษณ์ขนาดยาวของวงดนตรีวงนี้มาแล้วเมื่อ 2 ปีก่อน ครั้งซิงเกิลแรกของอัลบั้ม ป๊อด/โป้ง/เมธี อย่าง โอน้อยออก ถูกปล่อยออกมา ซึ่งจะขอแอบกระซิบกันตรงนี้เลยว่า ระยะเวลา 2 ปีบวกกับความสามารถอันจำกัดจำเขี่ย สำหรับการทิ้งช่วงเว้นช่องห่างของการสัมภาษณ์นั้น อาจไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนานเพียงพอ
แต่แล้วเมื่อได้นั่งลงพูดคุยกันจริงๆ จังๆ โดนสร้างความประทับใจตั้งแต่ที่คำถามแรกยังไม่ถูกเอ่ยออกไปด้วยความจำเป็นเลิศของพวกเขา ซึ่งยังจำหน้าค่าตาของเราได้ บวกกับเสียงหัวเราะแสนเอร็ดอร่อยขณะบทสัมภาษณ์ดำเนินไปก็กลับทำให้เราคลายความกังวลใจไปได้มาก
ป๊อด—ธนชัย อุชชิน โป้ง—ปวิณ สุวรรณชีพ และ เมธี น้อยจินดา ยังมีพลังล้นเหลืออย่างที่เราจำได้ ทัศนคติของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย—อาจฟังดูไม่ค่อยดูน่าสนใจ และมีแนวโน้มว่า คำถาม-คำตอบของเราอาจจะช้ำและซ้ำกับบทสัมภาษณ์ที่ออกมามากมายในช่วงนี้แบบนั้นใช่ไหม?
แต่กระนั้น เมื่อบทสนทนาดำเนินไป เราก็กลับค้นพบว่า บางที ชีวิตก็อาจไม่ต่างอะไรจากเพลงเพราะๆ สักเพลง แม้เนื้อร้องจะเหมือนเดิม ทำนองดนตรีไม่แตกต่าง แต่หากมันน่าหลงใหลและกินเข้าไปในใจ ไม่ว่าอย่างไร มันก็จะยังเป็นเพลงที่เพราะและทำให้เราอยากเปิดฟังซ้ำๆ ได้เสมอ
ไม่ใช่การเล่นโวหาร หรือชักแม่น้ำเพื่อมาแก้ตัวใดๆ
แต่บทเพลงแห่งชีวิตที่มีชื่อว่า Moderndog นั้นไพเราะเสนาะหูอย่างยิ่ง และหากใช้สำนวนของมือกีตาร์อย่างเมธี ซึ่งตอบคำถามไว้ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้มากำจัดความ ก็คงต้องบอกว่า มันทำให้หัวใจของเรา ‘เต้นตึกตัก’ ได้เสมอจริงๆ
Moderndog พูดเสมอว่า ไม่อยากเป็นวงที่เหมือน ‘ตู้เพลง’ คือต้องเล่นเพลงเดิมซ้ำๆ ทุกวันนี้ยังต้องเล่นเพลง ก่อน บุษบา หรืออะไรทำนองนั้นอยู่ไหม
ป๊อด : ยังต้องเล่นอยู่ครับ แต่มันก็มีสิ่งอื่นๆ เข้ามาเสริม เช่น ตอนนี้ ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ เพลงก่อนจะไม่เหมือนเดิมแล้ว เราจะเล่นให้เป็นเพลงก่อนในแบบที่เราไม่เบื่อ เรื่องแปลกก็คือ เราต้องทำเมดเล่ย์เพื่อไปออกรายการทีวีตอนเช้าที่กำหนดเวลาให้แค่ 8 นาที ก็คือตู้เพลงอย่างที่ว่านั่นแหละ มี ก่อน บุษบา ตาสว่าง จับมารวมกันใน 8 นาที ซึ่งในการซ้อม เราเริ่มต้นที่เพลงก่อน ปรากฏว่า พี่โป้งเขาเล่นเพลินมาก ไหลไปซะงั้น
โป้ง : เพลินๆ …พูดตรงๆ นะ ปกติเพลงก่อนจะเป็นเพลงที่ผมค่อนข้างจะเบื่อมาก เพราะเพลงมันเพราะอยู่แล้ว แถมยังถูกนำมาเล่นเยอะที่สุดในบรรดาเพลงของพวกเรา เราเลยทำอะไรกับมันมากไม่ได้ แต่พอได้มาเล่นด้วยวิธีใหม่ๆ มันเลยทำให้เรารู้สึกอยากจะเล่นมากขึ้น รู้สึกเป็นอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยได้เล่นมาก่อน
นอกเหนือจากเพลงที่จะถูกนำมาเรียบเรียงใหม่ ในคอนเสิร์ตครั้งนี้เราจะได้เจออะไรบ้าง
เมธี : คอนเสิร์ตครั้งนี้มันก็คงคล้ายกับอัลบั้มใหม่อัลบั้มนี้ คือการกลับไปสู่ตัวตนของความเป็น Moderndog นั่นคือเราสามคน ดังนั้นจะไม่มีแขกรับเชิญอะไรมากมาย 22 ปีทั้งทีก็อยากนำเสนอหลายๆ ด้านที่อาจจะไม่ค่อยได้เห็นกัน เช่น นอกจากด้านมันๆ เรายังมีด้านดำดิ่ง ด้านพลบค่ำก็มี แต่ก่อนหน้านี้เวลาไปเล่นตามอีเวนต์ หรืองานต่างๆ ด้วยบรรยากาศเครื่องเสียง แสงสี มันอาจไม่เอื้อให้เราแสดงด้านเหล่านั้นออกมาเท่าไหร่ นี่เลยเป็นโอกาสที่เราจะได้สร้างทุกอย่างขึ้นมาเพื่อรองรับบทเพลงที่มีแง่มุมหลากหลาย ซึ่งเราอยากให้คนเห็น
ในยุคที่เรามีเทคโนโลยี virtual reality ที่แค่สวมแว่นตาก็เหมือนได้ไปยังสถานที่นั้นๆ โดยไม่ต้องลงแรงเดินทาง ทำไมเราต้องเสียเวลาไปดูคอนเสิร์ตอีก
ป๊อด : ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นเรื่องของประสบการณ์น่ะ มันไม่ใช่แค่ว่าเราได้ดูคอนเสิร์ต แต่มันเป็นเรื่อง… เช่น เฮ้ย เดี๋ยวมึงเจอกูที่เสานี้นะเว้ย หรือตรงซุ้มเบียร์นี้นะ มันมีความทรงจำ มันมีชีวิตชีวาอยู่ในนั้น อย่างที่เราเพิ่งไปดูคอนเสิร์ต Two Door Cinema Club เราก็ออกไปเต้นด้านหลัง เฮ้ย มันมันดีวะ ขณะที่เมธีกับโป้งไปอยู่ตรงสุ้มวีไอพีชั้นสอง มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิตตรงนี้ เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นสเน่ห์ที่ยังสำคัญ
22 ปีผ่านไป ทำไม Moderndog ถึงยังไม่ล้มหายตายจากไปไหน
ป๊อด : เพราะเรายังจูนกันติดเสมอ หมายถึงว่า เรายังมองการสร้างงานไปในทิศทางเดียวกัน ยังมีส่วนที่สนุกร่วมกัน ไม่รู้สึกเหนื่อยเวลาร่วมกันคิดงาน เมื่อมีไอเดียอะไรขึ้นมาเรายังโต้ตอบกันได้อยู่ เรายังแลกเปลี่ยนกันได้
โป้ง : อย่างเวลามีใครเริ่มไอเดียอะไรขึ้นมามันมักจะถูกขยายความต่อไปได้ จากอะไรเล็กๆ บางทีมันก็กลายเป็นใหญ่โตด้วยความเห็นพ้องต้องกัน ส่งเสริมกันและกัน ไม่ละลายหายไปกับอากาศ
สมดุลของการเล่นดนตรีในช่วงวัยที่เพิ่มขึ้นอยู่ตรงไหน
เมธี : งานเพลงมันเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของคนทำนะ อย่างเพลงที่ออกมาหลังๆ จะเห็นว่า เราไม่ได้กระโดดเอาเป็นเอาตายอีกแล้ว มันก็เป็นไปตามอายุ แต่ก็อย่างว่า เรายังต้องเล่นเพลงเก่าๆ ที่ต้องกระโดดอยู่บ้าง
สิ่งที่พวกคุณ ‘ทบทวน’ บ่อยๆ ในช่วงนี้คืออะไร
ป๊อด : เรายังเลือกทำในสิ่งที่เราชอบ เพลงที่ทุกเพลงในอัลบั้มนี้เราชอบทุกเพลง รวมถึงสิ่งที่เราทำร่วมกันไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต การมาถ่ายรูปลงนิตยสาร เราก็ยังเลือกที่จะทำในสิ่งที่เราชอบ พื้นฐานง่ายๆ ของเราคือ เราจะทำในสิ่งที่เราชอบ ทบทวนในสิ่งที่ตัวเองชอบ
โป้ง : ถ้าจะถามว่าทบทวนอะไรบ่อยที่สุดก็คือ นี่กูชอบสิ่งที่กูกำลังทำอยู่หรือเปล่า บางทีเวลาทำอะไรบางอย่างที่รู้สึกฝืน หรือมันไม่ใช่มันก็อาจต้องทบทวน
เคยมีบ้างไหมที่หลุดเข้าในสภาวะที่ไม่ชอบ
ป๊อด : ก็คงต้องมีบ้าง แต่เมื่อหลุดเข้าอยู่ในพื้นที่ที่เราไม่ชอบ เราก็ต้องปรับสมดุลกันไป ไม่ใช่ว่าจะต้องถูกต้อง ถูกใจตลอดเวลา แต่ที่สำคัญคือเราต้องคอยทบทวนมันอยู่เสมอ
ไม่นับในแง่ของวงดนตรีที่ประสบความสำเร็จมากๆ อยู่แล้ว ถ้าเป็นในแง่ของ ‘มนุษย์คนหนึ่ง’ คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยัง
เมธี : ความสำเร็จมันคงต้องรวมถึงแต่ละอัลบั้มที่เราเคยทำด้วย เพราะเวลาเราทำอัลบั้มออกมาทุกครั้ง เราก็พอใจกับมัน ซึ่งนั่นถือว่าประสบความสำเร็จ แต่ผมยังมีชีวิตด้านอื่น เช่น เวลาไปทำงานศิลปะ (งานจิตรกรรม) แล้วมองเห็นว่าอายุเรามันมากขึ้น ในขณะที่ดนตรีเราเริ่มตั้งแต่เด็ก มันก็เลยเหมือนกับว่าตรงส่วนที่เป็นงานศิลปะ เรายังไม่ประสบความสำเร็จกับมันจริงๆ จังๆ แต่ก็ยังรู้สึกนะว่าแต่ละรูปที่วาดเสร็จ หรือบางรูปที่วาดไม่เสร็จ เวลาเป็นชั่วโมงที่เราใช้ไปกับมันแล้วเรามีความสุข อีกแง่หนึ่งมันก็ถือเป็นความสำเร็จได้เหมือนกัน
โป้ง : คือระยะเวลาแต่ละช่วงที่เราทำวงมาเนี่ยจะมีบททดสอบตลอดเวลา เป็นบททดสอบที่คอยท้าทายและคอยทำให้ต้องตรวจสอบตัวเองว่า เฮ้ย สิ่งที่เราทำอยู่เป็นสิ่งที่ถูกต้องสำหรับเราหรือเปล่า ซึ่งแต่ละช่วงมันก็จะเปลี่ยนโจทย์กันไปเรื่อยๆ มันก็ต้องปรับสภาพตัวเองให้ตอบโจทย์ แล้วโจทย์นั้นๆ ก็ไม่ใช่เข้ามาเพื่อทดสอบเราคนเดียว แต่มันคือโจทย์ของส่วนรวม ซึ่งเมื่อผ่านตรงนั้นมาได้มันก็จะรู้สึกว่าเราทำข้อสอบได้ค่อนข้างจะโอเค
ความทะเยอทะยานในฐานะวงดนตรี ณ ตอนนี้คืออะไร
ป๊อด : ผมคิดว่ามันเป็นขณะมากกว่า คือไม่ใช่ธงที่ปักไว้ไกลๆ แต่มันเป็น ณ ขณะนี้ เราจะมองว่า ณ ขณะนี้เราพอใจกับมันหรือเปล่า ชั่วโมงนี้หรือในช่วงเวลาที่เราหายใจอยู่ตอนนี้ ดังนั้นเราก็จะอยู่กับสิ่งที่ต้องทำ ณ ตอนนี้
คล้ายธรรมะแบบที่พี่ป๊อดสนใจ?
ป๊อด : ใช่ ผมคิดว่าเราผ่านมาเยอะเนอะ คือสมัยอายุยี่สิบ อยากจะประกวด อยากจะชนะ อยากจะทำอัลบั้มแรก ทำอัลบั้มที่สอง เหมือนกับเราก้าวไปสู่สิ่งที่มันไกลออกไปอยู่ตลอดเวลา จนมาถึงตอนนี้เราจะรู้สึกว่ามันไม่ต้องคอยวิ่งไล่กวดหรือไปหาหลักไมล์อื่นที่อยู่ข้างหน้าตลอด เอาแค่นี้ หลักตรงนี้ เรารู้สึกว่าเราทำให้มันเอ็นจอย มันก็คงจะลื่นไหลไปได้
ทุกวันนี้สิ่งไหนที่ทำให้เป็นทุกข์ได้บ้าง
เมธี : สิ่งที่ทำให้เราทุกข์ได้ทุกวันนี้คือสิ่งที่เรามีมันเยอะเกินไปน่ะครับ…
ป๊อด & โป้ง : (หัวเราะ / แซว)
เมธี : คือช่วงนี้ผมจะอินกับแผ่นเสียง พอว่างปุ๊บก็จะเริ่มเสิร์ชอินเทอร์เน็ตว่ามีใครโพสต์ขายอะไรบ้างไหมจนเป็นนิสัย พอเริ่มมีเงินเหลือก็จะซื้อแผ่น ซื้อๆๆๆ จนแผ่นเริ่มมากองเต็มห้องนอน แล้วกลายเป็นว่ามันทำให้เราแพ้ฝุ่น พอแพ้ฝุ่นก็ต้องเริ่มจัดบ้าน จัดบ้านก็เป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง คือผมไปอ่านหนังสือชื่อ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว ของ คนโด มาริเอะ เขาให้เราเลือกของที่จะทิ้งด้วยวิธีการว่า ของที่เราถืออยู่เนี่ยทำให้ใจเราเต้นตึกตักไหม ถ้าเต้นตึกตักก็เก็บไว้ อันไหนไม่รู้สึกอะไรก็ให้ทิ้งไป แล้วผมเอาแผ่นเสียงมาถือ ในร้อยแผ่นจะมีไม่ตึกตักอยู่แค่แผ่นเดียวได้มั้ง (หัวเราะ)
ป๊อด : ก็ต้องกินฝุ่นต่อ
เมธี : มันเป็นความทุกข์ปนสุขนะว่าเราจะทิ้งอันไหนดี หรือแม้กระทั่งถ้าน้ำรั่วโดนแผ่นล่ะ หรือถ้าแผ่นโดนแดดจนแผ่นงอ เราจะรับได้ไหม หรืออย่างช่วงบ้าๆ กีต้าร์จะมีช่วงหนึ่งที่พอซื้อมาเยอะๆ ก็จะเริ่มเหนื่อย เพราะมันจะมีเรื่องการของการดูแลรักษา
โป้ง : ผมเพิ่งผ่านช่วงแบบที่เมธีพูดมานะ แต่ว่าผมจะไม่เอาอะไรมาถืออีกแล้ว คือทิ้งหมดเลย เพราะมันเป็นช่วงของการปล่อยวางแล้ว เก็บมาเจ็บปีแปดปีไม่เคยได้แตะไม่เคยได้สนใจเลย…
เมธี : โป้งนี่รูปถ่ายที่คุณไตรภพ (ไตรภพ ลิมปพัทธ์) ให้จากรายการทไวไลท์โชว์ก็จะทิ้งแล้วนะ (หัวเราะ)
โป้ง : (หัวเราะ) ตอนนี้จะทิ้งหมดทุกอย่างที่รู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นต่อชีวิต เพราะมันไม่ได้มีประโยชน์อะไรที่จะเก็บไว้น่ะ
ขอถามพี่ป๊อดในฐานะคนที่สนใจธรรมะว่า องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดความสุขคืออะไร
ป๊อด : ผมคิดว่า มันขึ้นอยู่กับเราว่า จะเอาอะไรมานิยามคำที่เรียกว่าความสุขน่ะ เพราะบางคนอาจมองว่าสิ่งนั้นเป็นความสุข แต่อีกคนอาจมองว่าแค่นี้ก็สุขแล้ว เช่น สมมติเราขึ้นรถคันเดียวกัน แล้วคนหนึ่งรู้สึกว่าแอร์มันไม่เย็น ในขณะอีกคนไม่รู้สึกใส่ใจกับตรงนั้นเลย เพราะฉะนั้นองค์ประกอบของความสุขคืออะไร มันก็คือใจของคนคนนั้นไง ว่าเขาจะปรับที่ไหน มันอาจไม่ใช่การไปปรับที่แอร์ เพราะอีกคนมันไม่ได้รู้สึกว่าร้อนนี่ หรือน้ำแก้วเดียวอาจทำให้คนคนหนึ่งมีความสุขได้ ในขณะที่อีกคนต้องเรียกร้องอะไรที่มากกว่า แต่ผมไม่ได้บอกว่าใครผิดใครถูกนะ แค่กำลังชี้ให้เห็นว่าดีกรีของความสุขของแต่ละคนมันขึ้นอยู่กับใจของเขา อย่างเมธีต้องมีแว่นกี่อันถึงจะมีความสุข (หัวเราะ)
พวกคุณพูดเสมอว่าการแต่งเพลงหรือเล่นดนตรีคือการทำความรู้จักตัวเอง ตอนนี้ 22 ปีผ่านพ้นไปแล้ว ยังต้องทำความรู้จักตัวเองอยู่อีกไหม
ป๊อด : ยังต้องทำความรู้จักตัวเองอยู่ เช่น เมื่อก่อนอาจค้นคว้าเข้าไปในความทุกข์ของตัวเอง แต่พอมาถึงวันนี้จะค้นหาเพิ่มเข้าไปอีกว่า เอ๊ะ เราทุกข์พอหรือยังว่ะ เราระบายความฟูมฟายข้างในของเราออกไปเพียงพอแล้วหรือยัง ผ่านมาถึงอายุ 45 ปีแล้ว ไอ้เรื่องเดิมๆ ที่เคยเจอยังไม่ผ่านไปอีกเหรอ หรือเราควรพอได้แล้ว ไปเขียนเพลงอื่นๆ ที่ให้มุมมองอื่นๆ บ้าง
สิ่งที่ต้องค้นหา หรือให้ค่ามันเป็นพิเศษอะไร
ป๊อด : จริงๆ ช่วงแบบนี้ในแง่ของธรรมชาติเรื่องสุขภาพร่างกายมันเป็นช่วงขาลงนะ เส้นผมเริ่มร่วงมากขึ้น หรือเมื่อก่อนกินน้ำอัดลมไม่เคยต้องแคร์เลย แต่ตอนนี้เปิดออกมา ก็กินได้นิดหนึ่ง แล้วต้องแบ่งให้ผู้ช่วยกินที่เหลือ (หัวเราะ) อะไรหลายๆ อย่างที่เคยทำได้ มันทำไม่ได้เหมือนเดิม ดังนั้น ถ้าเรายังอยากรักษาสมดุลของตัวเอง มันก็ต้องเริ่มทิ้งไปบ้างอย่างที่พูดกันไปเมื่อกี้ อย่างเมื่อก่อนเวลาจะตื่น ก็จะขึ้นอยู่กับว่าเราอยากนอนยาวแค่ไหน แต่ตอนนี้ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เจ็ดโมงเราจะตื่นแล้ว
เหมือนคนแก่ๆ ที่ชอบตื่นเช้าๆ
โป้ง : (หัวเราะ) ผมตื่นตีห้า ตื่นเองไม่มีนาฬิกาปลุก
ป๊อด : เนี่ย อย่างโป้งตื่นตีห้า แล้วงานคอนเสิร์ตมันเสร็จตีสอง ก็จะเท่ากับว่ามีเวลานอนแค่สามชั่วโมง
ถ้ายึดตามเพลง วันนี้เมื่อปีก่อน วันที่สำคัญที่สุดในชีวิตของพวกคุณคือวันไหน
ป๊อด : บอกไม่ได้หรอกครับ คือเสน่ห์ของเพลงนี้เราคิดว่า ทุกคนมันต้องมีวันแบบนี้เป็นของตัวเองน่ะ เป็นวันที่เราจำมันได้แม่น จำวันเดือน ปี ของมันได้ โดยไม่ใช่เป็นวันเกิดของตัวเองด้วยนะ
แล้วถ้ามีคนบอกว่าเขาไม่มี ‘วันนี้เมื่อปีก่อน’ ล่ะ
ป๊อด : ดีมากเลยนะ ตามสูตรของคุณคนโดเลย (หัวเราะ) เพราะมันไม่ต้องพะวงกับอดีต ไม่ต้องมานั่งจดจำแล้ว นั่นแสดงว่า ‘วันนี้เมื่อปีก่อน’ ของคุณได้หลุดไปแล้ว เพราะไอ้การที่คุณยังจำได้อยู่แสดงว่าคุณยังติดอยู่กับมัน อย่างเรานะ เอาเร็วๆ ตอนนี้เลย วันที่พ่อเสีย 4 กรกฎาคม วัน Independence Day พอดี หรือวันที่เข้าห้องไอซียู 13 มิถุนายน อะไรแบบนี้ส่วนใหญ่แล้วมันจะเป็นวันที่กระทบกับเรา (หันไปหาพี่เมธี) เมธีมีไหม
เมธี : จำเป็นสถานที่ว่ะ ตรงนี้เมื่อปีก่อน ตรงนี้เมื่อปีกลาย (หัวเราะ)
ป๊อด : (หัวเราะ) งั้นเดี๋ยวขอเป็นชื่อเพลงชุดหน้านะ
พอพูดถึงอดีต ดูเหมือนไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน มนุษย์ก็มัก ‘โหยหาอดีต’ อยู่เสมอ อย่างตอนนี้ก็จะเป็นการกลับมาของยุค 90s คิดอย่างไรกับประเด็นเหล่านี้ในฐานะที่เป็นไอคอนหนึ่งของยุคนั้น
โป้ง : เราว่ามันเป็นวงเวียนอยู่แล้วน่ะ อย่างตอนที่เราอยู่ในช่วงยุค 60s ตอนนั้นกระแส 60s มันก็มา ตอนนี้ก็เหมือนกันเลย คนโหยหาอดีตเป็นเรื่องปกติ และไม่เห็นจะต้องไปกีดกันนะว่า ไหนของจริง อย่างไหนของปลอม
เมธี : อีกแง่หนึ่งของการโหยหาอดีตเนี่ย เราว่ามันมีราคาแพง อย่างผมไปเดินเล่นในตึกเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก ที่ขายพวกตัวการ์ตูน จริงๆ เราจะไปหาเกมมาเล่น แต่ปรากฏว่าเจอแต่โมเดล แล้วพอเดินดูไปสักพัก เราจะรู้สึกว่าเราไม่รู้จักตัวการ์ตูนใหม่ๆ น่ะ รู้สึกเหมือนเราไร้ราก คือไม่รู้จักอะไรเลย เขาเล่น One Piece อะไรกันวะ ซึ่งพอไปเจอ Galaxy Express 999 เราจะดีใจ เพราะเรายังพอจะลิงก์ได้ เราก็เลยขอซื้อไปตั้งที่บ้าน ซึ่งมันก็แพง คือจริงๆ เขาได้มาตอนแถมกับขนม แต่พอมันผ่านเวลามันก็กลายเป็นแรร์ไอเท็ม เราก็ต้องจ่ายค่าโหยหาอดีตไป
โป้ง : ใจเต้นตึกตักไง (หัวเราะ)
แล้วอย่างเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่อาจเกิดไม่ทันเพลง ก่อน บุษบา หรืออื่นๆ พวกคุณมีวิธีการเชื่อมต่อ หรือทำให้พวกเขาใจเต้นตึกตักอย่างไร
ป๊อด : เราอยากให้เขามองเราเป็นนิยายสักเรื่องหนึ่งที่มีหลายภาค ชุดแรกมันคือยี่สิบต้นเนอะ เพลง ชีวิต (อยู่ในอัลบั้ม เสริมสุขภาพ มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า ‘ก็บางครั้งเรายังสับสนอยู่ ไม่รู้ว่าจะไปไหน’) แต่งตอนอายุ 21 จนกระทั่งมาเป็นชุดที่สอง 27 ไล่มาเรื่อย 20+ 30+ 40+ มันก็เหมือนกับการได้ดูหนังเป็นภาคๆ เพื่อได้เห็นว่า วิธีคิดของคนกลุ่มนี้ กับสิ่งที่เขาได้เจอะเจอ แล้วแปรออกมาเป็นผลงานมันสะท้อนอะไรกับเราได้บ้าง เช่น คนที่ตอนนี้อยู่มัธยม อาจจะข้ามไปฟังเพลงในยุคที่เราอยู่ในช่วง midlife Crisis อย่างชุดทิงนองนอย ลองฟังดูว่า ชายอายุปลายสามสิบเขารู้สึกแบบไหน เช่น เขาฟูมฟายกับเรื่องอะไร ยังโหยหาความรักอยู่หรือเปล่า ซึ่งมันก็ค่อนข้างตรงไปตรงมานะสำหรับเรา
เชื่อว่า ดนตรียังสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไหม
โป้ง : ได้แน่นอน อย่างน้อยมันก็ช่วยจรรโลง เป็นการบำบัดจิตใจอย่างหนึ่ง คือถ้าจิตใจเริ่มดีขึ้น มันก็น่าจะทำให้มองอย่างอื่นดีขึ้นตามมา
ป๊อด : หรืออย่างน้อยอาจไม่ใช่ตัวเพลงล้วนๆ แต่เพลงอาจกลายไปเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคม เช่น ไปอยู่ในหนังสักเรื่อง ใส่สกอร์บางอย่างเข้าไปเพื่อทำให้เกิดอารมณ์ อย่างน้อยมันก็ซึมแทรกอยู่ในสิ่งต่างๆ
เปรียบ Moderndog เป็นหนังสักชุด มองภาคจบหรือฉากจบของมันไว้อย่างไร
ป๊อด : จริงๆ เราสร้างเกินมาแล้วล่ะ เพราะฉะนั้นมันเป็นเรื่องที่สบายๆ ทุกคนไม่ต้องเคร่งเครียด เอาที่ทุกคนชอบ เอาแค่สิ่งนี้เป็นตัวตั้ง
เมธี : ฉากจบมันก็คงเป็นว่า เมื่อเราไม่สนุกกับการเล่นดนตรีอีกต่อไปแล้ว เราก็อาจจะต้องจริงใจกับความรู้สึก และไปทำอย่างอื่นที่เราสนุกกับมัน
โป้ง : แต่จะว่าไปมันก็
ผ่านช่วงที่มีความรู้สึกว่าเป็นฉากจบมาหลายทีแล้วเหมือนกันนะ แต่มันเหมือนมีคนคิดภาคต่อมาให้เสมอ
ถ้ายึดตามชื่อของเพลงใหม่ที่เพิ่งปล่อยออกมา ตลอด 22 ปีที่ผ่านมาอะไรคือ ‘ดาวนำทาง’ ของ Moderndog
ป๊อด : ขอตอบแบบซึ้งหน่อยแล้วกัน ผมคิดว่าคนฟังนี่แหละ เพราะหลายๆ ครั้ง ผู้ฟังก็เป็นเหมือนสิ่งที่ปลุกเร้าให้เราตั้งใจทำงาน
เมธี : ถ้าให้ผมตอบจะดูเห็นแก่ตัวเองเลยนะ (หัวเราะ) คือผมมองว่า ตัวเราก็เป็นแฟนเพลงของวงเราเองด้วย เราตื่นเต้นที่จะได้ฟังเนื้อเพลง ฟังดนตรีใหม่ๆ ของมัน ดาวนำทางของผมเลยกลายเป็นการมองหาว่าชุดใหม่ของเรา หรือชีวิตของเรามันจะนำเราไปทางไหน เช่น เราอยากให้เพลงชุดใหม่เป็นยังไง เราก็ทำชีวิตไปทางแนวๆ นั้น อย่างอยากทำอิเล็กทรอนิก เราก็ไปเที่ยวเทค (หัวเราะ)
โป้ง : ผมว่ามันคือคนสามคน เพราะว่าถ้าอยู่คนเดียวมันก็อาจไม่ได้มีเส้นทางที่เป็นแบบนี้ เป็นเพราะว่าคนสามคนอยู่ด้วยกัน มันเลยทำให้เส้นทางชัดเจนขึ้น
บทสัมภาษณ์โดย ฆนาธร ขาวสนิท จากคอลัมน์ Face-giraffe magazine Issue 46 PET
ติดตามความเคลื่อนไหวของ Moderndog ได้ที่
fb : moderndogband