บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเรื่อง
ไม่ว่าจะเป็นแฟนการ์ตูนญี่ปุ่นหรือไม่ ผู้เขียนชื่อว่าแทบทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อของ เทะสึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) ผู้ได้ฉายาบิดาแห่งวงการมังงะ เทะสึกะนั้นเป็นต้นทางมากมายในด้านสไตล์ของมังงะ ไม่ว่าจะการแบ่งช่องเล่าเรื่องที่ดูมีความลื่นไหลแบบภาพยนตร์, ดวงตาของตัวละครหญิงเป็นประกายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากละครทาคาระซึกะ (ละครเพลงแสดงโดยผู้หญิงล้วน) หรือการที่ตัวละครตัวเดิมไปปรากฏในหลายเรื่อง จนผลงานแต่ละเรื่องมีความเชื่อมโยงกันและถูกเรียกว่า Star System
ผลงานของเทะสึกะถูกแปลไทยแบบถูกลิขสิทธิ์หลายเรื่อง อาทิ Astro Boy (เจ้าหนูปรมาณู), Black Jack (หมอปีศาจ), Phoenix (ฮิโนโทริ วิหคเพลิง) แต่เนื่องจากเขามีผลงานเป็นหลักร้อยเรื่อง จึงมีมังงะมากมายของเทะสึกะที่ยังไม่มีฉบับภาษาไทยวางจำหน่าย (อาจมีแปลอังกฤษหรือแปลไทยแบบไพเรท) เรื่องดังๆ ก็เช่น Buddha ผลงานมหากาพย์ที่ตีความชีวประวัติของเจ้าชายสิทธัตถะต่างจากพุทธประวัติที่เราคุ้นชิน หรือ Message to Adolf เล่าถึงชายชื่ออดอล์ฟสามคน และหนึ่งในนั้นคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ผลงานอีกกลุ่มหนึ่งของเทะสึกะที่ยังไม่มีการแปลไทยคืองานช่วงทศวรรษ 70 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเขา ช่วงนั้นบริษัทผลิตแอนิเมชั่นของเทะสึกะประสบภาวะล้มละลาย ส่วนตัวเขาผู้เป็นที่รู้จักจากมังงะสำหรับเด็กและวัยรุ่นตอนต้นก็เริ่มสูญเสียความนิยม เนื่องจากกระแสของมังงะสำหรับผู้ใหญ่ที่เนื้อหาและลายเส้นจริงจัง (Gekiga) กำลังมาแรง ทว่าเทะสึกะก็ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์งาน เขาเริ่มผลิตมังงะที่ ‘ดาร์ก’ ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะ Ayako (1972-73) เด็กสาวที่ถูกขังไว้ในบ้านเพราะดันไปรู้ความลับน่าขยะแขยงของตระกูล หรือ MW (1976-78) เด็กหนุ่มสองคนที่รอดจากการฆ่าล้างหมู่ คนหนึ่งโตมาเป็นบาทหลวง แต่อีกคนกลับวางแผนทำลายล้างมนุษยชาติ
Barbara (1973-74) เป็นอีกผลงานสำคัญของเทะสึกะยุค 70 ว่าด้วย โยสุเกะ มิคุระ นักเขียนนิยายชื่อดังที่ได้พบกับหญิงสาวแต่งตัวซอมซ่อเมาหยำเปที่สถานีรถไฟชินจูกุ เขาตัดสินใจพาเธอกลับบ้าน ทั้งที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเธอเลยนอกจากว่าเธอชื่อ ‘บาร์บาร่า’ โดย Barbara ฉบับแปลอังกฤษนั้นออกวางจำหน่ายเมื่อปี ค.ศ.2012 จากการระดมทุนผ่าน Kickstarter ของสำนักพิมพ์แคนาดา Digital Manga และปัจจุบันหนังสือก็ขาดตลาดไปแล้ว
ช่วงแรกของ Barbara เน้นไปที่มิคุระ เขาคือนักเขียนผู้ประสบความสำเร็จระดับซูเปอร์สตาร์ แต่ลึกๆ แล้วเขาใฝ่หาถึงบางสิ่งที่ดำมืดวิปริตเพื่อเป็นแรงบันดาลใจต่อทั้งการสร้างงานและใช้ชีวิต ตามที่เจ้าตัวกล่าวไว้ว่า “คนบางคนเก็บซ่อนความโรคจิตของตัวเองไว้ทั้งชีวิต แต่นั่นเป็นเรื่องเกินทนสำหรับศิลปิน” ความหมกมุ่นถึงสิ่งที่แปลกแตกต่างของเขานำไปสู่อาการเห็นภาพหลอนจนเกือบจะได้สมสู่กับหุ่นเสื้อหรือสุนัข (!?) แต่บาร์บาร่าก็โผล่เข้ามาช่วยมิคุระได้ทันเวลาทุกคราวไป
เทะสึกะเขียน Barbara โดยได้แรงบันดาลใจมาจากโอเปร่าฝรั่งเศสเรื่อง The Tales of Hoffmann ว่าด้วยความสัมพันธ์ของกวีหนุ่มกับหญิงสาว 3 คน (หุ่นกล นักร้อง และโสเภณี) ดูเหมือนเทะสึกะจะเอาลักษณะทั้งสามอย่างของตัวละครหญิงมาผสมผสานในตัวบาร์บาร่า แม้ว่าเธอจะเอาแต่กินเหล้าและนอนกับผู้ชายมากหน้าหลายตา บาร์บาร่ากลับท่องกลอนของนักเขียนชื่อดังได้อย่างคล่องแคล่ว หรือถึงจะถูกมิคุระขับไล่ไสส่งหรือทุบตีปางตายแค่ไหน สุดท้ายแล้วบาร์บาร่าก็ยังมีชีวิตต่อไปและกลับมาหามิคุระ ชวนให้ตั้งข้อสงสัยว่าเธออาจไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา (และนึกถึงตัวละคร ‘โทมิเอะ’ ในงานของจุนจิ อิโตะ)
ตอนต้นเรื่องก็หนักหนาพอประมาณแล้ว ช่วงหลังของ Barbara ยิ่งทวีความสุดขีดเข้าไปอีกเมื่อเทะสึกะเขียนเรื่องให้ตัวละครเข้าไปพัวพันกับลัทธิประหลาด มิคุระตกอยู่ท่ามกลางความสับสนมึนงง เขาแยกไม่ออกอีกต่อไประหว่างความจริงกับสิ่งที่คิดไปเอง (แน่นอนว่าคนอ่านก็ตกอยู่ในสถานะเดียวกับมิคุระ) และยังตามมาด้วยพล็อตเกี่ยวกับการเสพสมกับศพหรือการกินเนื้อคน ชนิดที่ว่าหยิบ Barbara มาอ่านในทุกวันนี้ มันก็ยังคงเป็นผลงานที่น่าตกใจ
ผลงานหลายเรื่องของเทะสึกะถูกดัดแปลงเป็นทั้งแอนิเมชั่นหรือไลฟ์แอ็คชั่น แต่ Barbara มีความพิเศษตรงที่มันกลายเป็นภาพยนตร์ภายใต้การกำกับของ มาโกโตะ เทะสึกะ (Macoto Tezka) ผู้เป็นลูกชายของเทะสึกะ หนังออกฉายปี 2019 ในชื่อ Tezuka’s Barbara เนื่องในโอกาสเทะสึกะอายุครบ 90 ปี (หากเขายังมีชีวิตอยู่) แต่หนังเพิ่งจะออกแผ่นแบบมีซับไตเติ้ลภาษาอังกฤษเมื่อมิถุนายน 2021
แม้มาโกโตะจะเปลี่ยนยุคสมัยในเรื่องจากทศวรรษ 70 เป็นปัจจุบัน แต่เขาก็พยายามถ่ายทอดความดาร์กจากมังงะต้นฉบับ ภาพกรุงโตเกียวในหนังเต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก กองขยะ ท่อน้ำทิ้ง ตรอกซอกซอยไม่น่าไว้ใจ อีกสิ่งที่หนังทำได้ดีคือการคัดเลือกนักแสดง ทั้ง โกโร่ อินางากิ (Goro Inagaki / อดีตสมาชิกวง SMAP) ในบทมิคุระ และฟูมิ นิไคโด (Fumi Nikaido) ผู้รับบทบาร์บาร่าที่ถอดแบบมาจากหนังสือเป๊ะ แม้จะมีฉากเลิฟซีนค่อนข้างเปิดเผย นิไคโดก็ไม่หวั่น เพราะเธอเป็นนักแสดงประเภทเล่นได้ทุกบท ไม่ว่าจะนางเอกหนังที่สร้างจากการ์ตูนตาหวานหรือบทตัวร้ายที่ต่ำทรามสุดๆ
อย่างไรก็ดี การดัดแปลง Barbara สู่จอเงินเป็นโจทย์ที่ยากพอสมควร มังงะมีความยาว 400 กว่าหน้าและเต็มไปด้วยเหตุการณ์ยุ่งเหยิงมากมาย แม้มาโกโตะจะเลือกพล็อตสำคัญมาทำเป็นหนังอย่างครอบคลุม แต่สิ่งที่เขาทำได้ไม่สำเร็จเท่าไรคือการถ่ายทอดบรรยากาศเสียสติวิปลาสแบบที่ปรากฏในช่วงท้ายของมังงะ ดูเหมือนเขาจะทำได้ในระดับแค่ว่านี่เป็นหนัง ‘เวียร์ดๆ’ เรื่องหนึ่ง อีกทั้งการถ่ายภาพของตากล้องชื่อดังอย่าง คริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Christopher Doyle) ก็ดูจะไม่ได้นำพาอะไรนัก แต่ที่โดดเด่นกว่าน่าจะเป็นดนตรีแจ๊ซ ที่ช่วยขับเน้นความตึงเครียดได้อย่างดี
แต่ใช่ว่ามาโกโตะจะเป็นผู้กำกับฝีมือไม่ถึง เขาเลือกเน้นไปที่ความสัมพันธ์ของมิคุระกับบาร์บาร่ามากกว่าเรื่องเพี้ยนคลั่งทั้งหลายที่ตัวละครต้องประสบพบเจอ สังเกตได้จากการเปิดหนังด้วยประโยคของ ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) ที่ว่า “ในความรักมักมีความบ้า แต่ในความบ้าก็มักมีเหตุผล” มาโกโตะกำลังตั้งคำถามว่านอกจากจะเป็น Muse หรือเทพธิดาบันดาลใจแก่ศิลปินแล้ว บาร์บาร่ามีความหมายอะไรมากกว่านั้นสำหรับมิคุระหรือเปล่า