ตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เส้นทางวงการดนตรีของ ปอย—ตะวัน ชวลิตธํารง นักร้องและนักแต่งเพลงวง Portrait ถูกขับเคลื่อนด้วยเรื่องราวของความเศร้า
จากเพลง ‘ขอดาว’ เมื่อ 15 ปีที่แล้ว สู่ ‘วันที่หัวใจเคลื่อนไหว’ ‘โลกที่ไม่มีเธอ’ และ ‘ต้องทำอย่างไร’ แม้เวลาเปลี่ยนไปแค่ไหน เขาก็ยังคงเป็นศิลปินที่ยึดมั่นในเส้นทาง (เศร้าๆ) นี้ของตัวเองมาเสมอ หลายเพลงของเขาสามารถเอาชนะกาลเวลา และติดอยู่ในห้วงความเศร้าของผู้คนได้จนถึงวันนี้
เรามีนัดพูดคุยกับเขา ในวันที่เขากำลังเตรียมตัวขึ้นคอนเสิร์ตใหญ่ที่มีชื่อว่า เรื่องเศร้าไม่รู้จบ
เห็นว่าคอนเสิร์ตนี้ใช้คำว่าเรื่องเศร้าไม่รู้จบ อธิบายให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าหมายถึงอะไร
มันเหมือนกับคอนเสิร์ตนี้เป็นการเล่าเส้นทางว่าที่ผ่านมาเป็นยังไง เมื่อมองเส้นทางทั้งหมดมันถูกปูด้วยความเศร้าหมดเลย ก้าวเดินของผมทุกก้าว มันถูกผลักดันด้วยความเศร้าตั้งแต่ต้นถึงตอนนี้ และจะเป็นต่อไปเรื่อยๆ มันเลยจะเป็นความเศร้าที่ไม่รู้จบ
เคยเก็บสถิติไหมว่า 15 ปีมานี้ ทำเพลงเศร้าเยอะแค่ไหน
เอาจำนวนเพลงที่แต่งทั้งหมดและหักด้วยเพลงที่ไม่เศร้าน่าจะง่ายกว่า (หัวเราะ) ถ้านับรวมแล้วน่าจะเป็นประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์ มีเพลงไม่เศร้าไม่น่าเกิน 2-3 เพลง
แพทเทิร์นของเพลงเศร้ามันเปลี่ยนไปไหม
มันอาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามวุฒิภาวะมากกว่า แต่คอนเทนต์ข้างในมันเหมือนเดิม มันคือความเชื่อของเราถึงปริศนาของความรักที่ไม่มีทางเอาชนะได้ เพียงแต่ว่าวิธีกาเล่าเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราอาจจะเล่าเรื่องแบบฟูมฟาย โกรธเกรี้ยว แต่พออายุมากขึ้น เราเริ่มรู้ว่าต้องอยู่กับมันอย่างเข้าใจมากขึ้น มันทำให้เราสุขุมมากขึ้น เราเลิกที่จะเอาชนะมันแล้ว
หมายความว่า ฟูมฟายน้อยลง มันดิ่งมากขึ้น
เรียกว่าตีอกชกหัวน้อยลง ออกอาการน้อยลง แต่ความเจ็บมันก็ยังเบอร์เดิมแหละ พอเราโตขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าถ้าฟูมฟายไปคงไม่มีประโยชน์ เราเร่ิมเห็นอะไรบางอย่างที่เกินจำเป็น มันไม่ได้กับชีวิตในระยะยาวจริงๆ แต่ไม่ได้แปลว่าเราสามารถกำจัดมันออกไปได้หรือหนีมันพ้นแล้ว เราแค่หาจุดที่อยู่กับความเศร้าได้โอเคมากกว่าแต่ก่อน
การอยู่กับความเศร้าอย่างโอเคมันคือยังไง
เป็นทุกข์กับมันและเปิดช่องให้มันทำร้ายเราได้น้อยลง ก็ยังถูกทำร้าย ยังไม่เข้าใจอยู่ เพราะไม่มีเข้าใจมันได้ 100 เปอร์เซ็นต์หรอก แต่เราอยู่กับมันได้มากขึ้น ไม่ใช่เพราะเราเก่งขึ้นนะ แต่เพราะว่าเราทำผิดซ้ำไปซ้ำมาจนได้เรียนรู้ว่าต้องทำยังไงถึงจะไม่ซ้ำรอยเดิม จนหลีกเลี่ยงมันได้ง่ายขึ้น
พอวุฒิภาวะเปลี่ยนไป วิธีเล่าเพลงเศร้าเปลี่ยนไปรึเปล่า
เปลี่ยนไปนะ แต่ไม่ได้เปลี่ยนไปในแบบกราฟที่ดีขึ้นๆ แต่มันจะเปลี่ยนไปตามมุมมองของชีวิต ว่าช่วงชีวิตระหว่างตอนนั้นเรามองชีวิตว่ายังไง อย่างเมื่อเขียนเพลงแรกๆ เราก็จะมองแบบคนที่ไม่เข้าใจ คล้ายกับคนที่กำลังเจ็บแผล พร่ำบ่น ทุรนทุรายกับความรัก
พอวุฒิภาวะเปลี่ยนไปเราจะเริ่มพยายามจะเอาชนะมัน แต่สุดท้ายเราก็กลับมาบอกกับตัวเองอีกว่า จริงๆ ยังเจ็บปวดอยู่แหละ ไม่ได้เอาชนะมันได้หรอก มันขึ้นๆ ลงๆ ไปเรื่อยๆ บางทีเราพยายามเข้าใจมัน บางทีก็ไม่เข้าใจมันเลย
เหมือนคุณเชื่อว่ามันคือปริศนาแบบหนึ่งที่ไม่มีทางชนะมันได้เลย
ผมเชื่ออย่างนั้นนะ เชื่อว่าความรักมันคือสิ่งที่ธรรมชาติออกแบบเอาไว้แล้วให้เป็นปริศนาคู่กับมนุษยชาติไปตลอด ไม่มีใครที่คิดสมการออกมา แล้วหยิบสมการนี้ไปแก้ไขในทุกเรื่องได้ มันเป็นไปไม่ได้
ผมเคยแต่งเพลงชื่อว่า ‘ลวงตา’ เป็นเพลงที่สรุปรวบยอดคอนเซ็ปต์ของอัลบั้มชุดที่สองทั้งอัลบั้ม มันเป็นช่วงที่ผมอยากจะเอาชนะความรักให้ได้ ผมพยายามตั้งสมการ เขียนสูตรให้มันว่าจะควบคุมมันได้ยังไง แต่สุดท้ายแล้วที่เราคิดไปทั้งหมดมันผิดหมดเลย เราไม่มีทางควบคุมมันได้เลย เราคิดไปเองทั้งนั้นแหละว่าเราเอาชนะมันแล้ว
ถ้าเอาชนะไม่ได้ต้องทำยังไงต่อ
เราทำอะไรไม่ได้หรอก เราก็ให้มันเป็นอย่างนี้ต่อไปและภาวนาว่าสักวันเราจะโชคดีเท่านั้นเอง
แล้วคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันที่โชคร้าย มันทำให้มุมมองต่อการอกหักเปลี่ยนไปไหม
เปลี่ยนครับ ตอนที่เราอกหักแรกๆ จะรู้สึกเจ็บ เราจะเริ่มถามตัวเองว่ามันเกิดจากอะไร เราคิดไปเองว่าพอเรารู้สาเหตุ เราก็จะแก้ไขมันได้ แล้วเราก็จะไม่เจ็บแบบนั้นอีก ผมก็เลยไปค้นคว้าหาสาเหตุว่าความเศร้ามันเกิดขึ้นจากอะไร เราทำผิดตอนไหน เราไปเลี้ยวผิดที่แยกไหน เราถึงต้องมาจบลงที่ตรงนี้ สุดท้ายก็ไม่ได้ผลอะไร เพราะเราต้องวนเวียนอยู่กับมัน ทั้งที่พยายามเต็มที่แล้ว
พอได้มองมันเปลี่ยนไป เริ่มเปลี่ยนมุมมองว่า อาการอกหักก็เหมือนคนเมานะ เวลาคนเราเมาพยายามจะเดินตรงเท่าไหร่ มันก็ไม่มีทางเดินตรงหรอก หรือคนที่เป็นโรคซึมเศร้า ที่เราก็ไม่สามารถฉุดให้เข้าหายเศร้าได้ในทันทีทันใด แล้วก็ไม่ใช่ความผิดของเขาด้วย เพราะมันคือเรื่องของสารเคมีในสมอง
คนอกหักเหมือนคนขาดยาหรือลงแดง เขาเคยได้รับความรัก เคยได้รับความสุข แต่มาวันนี้ไม่ได้แล้ว ผมได้เรียนรู็ว่าเราต้องสร่างก่อน คืออย่าไปคาดหวังว่าเราจะดีขึ้นในเร็ววัน เช่นเดียวกับคนที่ป่วยซึ่งต้องรอให้มันหายก่อน
ถ้าไม่หายสักทีล่ะ
ต้องประคอง อย่าไปทำอะไรให้มันแย่ลง นอนเยอะๆ พักผ่อนเยอะๆ ออกไปเที่ยวข้างนอก ประคองตัวเองไปจนกว่ามันจะดีขึ้น คนอกหักก็เหมือนกัน
เพลงช่วงหลังๆ มานี้เลยเป็นเพลงที่พูดถึงเรื่องการประคองตัวเองค่อนข้างเยอะ
ใช่ จะพยายามพูดถึงการประคองมากกว่า ว่าเราจะทำยังไงถึงจะอยู่กับความเศร้าได้ดีที่สุด
หนึ่งในวิธีที่หลายๆ คนเลือกที่จะอยู่กับความเศร้า คือฟังเพลงเศร้าให้มากๆ คุณคิดว่าเพลงเศร้าๆ หรือเพลงอกหัก มันสำคัญต่อคนที่กำลังเศร้ายังไงบ้าง
มันเป็นตัวช่วยนะ เพลงเศร้าเป็นเครื่องมือที่จะมาพาให้เราหลุดจากอาการลงแดงเพราะอกหักได้เร็วขึ้น สำหรับผมแล้ว เพลงเศร้ามันทำหน้าที่เป็นตัวระบาย
ผมว่าหลายๆ คนร้องไห้ยาก เราจะถูกหล่อหลอมมาว่าคนร้องไห้เป็นคนอ่อนแอ ถ้าโตเป็นผู้ใหญ่ต้องไม่ร้องไห้ ถ้าอยากชนะก็ต้องสู้ แต่บางครั้งคนเราต้องร้องไห้ ต้องระบายสิ่งที่อัดอั้นออกมาบ้าง
ถ้าสังเกตดีๆ ตอนร้องไห้เรารู้สึกแย่นะ รู้สึกท้อแท้ คิดว่าเราล้มเหลวมาก แต่พอร้องเสร็จแล้วเราจะรู้สึกดี เพราะว่าได้ระบายอะไรบางอย่างออกไปจนทำให้รู้สึกโล่ง แปลว่าก่อนที่เราจะร้องไห้ เรามีสิ่งที่หนักๆ อยู่ในใจใช่ไหม แล้วเราไม่ยอมระบายมันออกมา การร้องไห้มันเลยเหมือนกับกุญแจที่ไปไขสิ่งนั้นออกมา ซึ่งเพลงเศร้าเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราร้องไห้ และการร้องไห้คือสิ่งที่ทำให้เราดีขึ้น
ไม่คิดหรอว่ายิ่งเศร้า เราก็ยิ่งจมดิ่งไป จนไม่อาจมีอะไรดีขึ้น
ผมคิดว่ามีคนที่เป็นแบบนั้นจริงๆ มีคนที่เลิกฟังแล้ว ยิ่งฟังยิ่งนอยด์ ผมเคยขีดเส้นให้กับตัวเองเหมือนกันว่า เราไม่ควรทำเพลงเศร้าที่เศร้ามากเกินไป เพราะถ้ามันลึกเกินไปมันอาจจะเป็นดาบสองคมก็ได้
อะไรคือเส้นที่คุณจะไม่ข้ามไป
เราขีดเส้นไว้ว่าจะต้องไม่พูดเรื่องการฆ่าตัวตาย ไม่พูดเรื่องความสิ้นหวังของชีวิตมากเกินไป ไม่พูดว่าโลกนี้มันไม่มีความหวังอะไรหลงเหลืออยู่แล้ว เราจะไม่ชี้นำให้คนรู้สึกว่าไม่มีทางออก เพราะสิ่งนี้มันเป็นตัวกระตุ้นให้คนมีความเสี่ยงจะคิดสั้นได้ ผมจะพยายามหลีกเลี่ยงพวกนี้ โดยไปค้นคว้าว่ามีอะไรที่เราไม่ควรไปแตะบ้าง
มันจะเพลงนึงที่ผมแต่งไว้ชื่อ ‘เรื่องโกหก’ ที่บอกว่าความรักมันก็คือเรื่องโกหก พอแต่งเพลงนี้ไปเรื่อยๆ ก็เริ่มคิดว่าเนื้อหามันมืดเกินไป ผมเลยเขียนแก้ลงไปว่า สุดท้ายเราต้องใช้ชีวิตนี้ต่อไปนะ
ว่ากันว่ายิ่งเราฟังเพลงเศร้า ความรู้สึกเราก็จะยิ่งดิ่งลงไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายมันก็จะดีดตัวกลับขึ้นมาเอง คุณเชื่ออย่างนั้นรึเปล่า
จริงนะ มันเป็นหลัก Rock Bottom คือพอเราดิ่งไปถึงจุดที่ต่ำที่สุดแล้ว มันไม่มีอะไรที่ต่ำกว่านั้นแล้ว สุดท้ายเราก็จะขึ้นมาเอง เอาจริงๆ แล้วผมเชื่อว่ามนุษย์เรามีกลไกที่ป้องกันตัวเองนะ ถ้าเราอยู่ในสเตจที่เพลงเศร้ามันจะทำร้ายเรา มากกว่าที่จะมีคุณค่า คนๆ นั้นจะไม่ฟังเพลงเศร้าไปโดยอัตโนมัติ ผมเชื่อว่าอย่างนั้นนะ เขาก็จะปฏิเสธเพลงเศร้าไปเลยในช่วงที่เขาไม่พร้อม
แต่คนที่อยากจะระบายหรือหาเพื่อน ถึงตอนนั้นแหละเพลงเศร้าก็จะมีประโยชน์กับเขา
วัตถุดิบการแต่งเพลงมาจากไหนบ้าง
คนชอบคิดว่ามันจะมาจากเรื่องราวของตัวเอง เคยมีคนถามผมว่า ชีวิตมีปัญหามากขนาดนั้นเลยเหรอ (หัวเราะ) จริงๆ แล้วการแต่งเพลงเศร้ามันเป็นสกิลที่เรียนรู้ได้จากเรื่องราวต่างๆ คล้ายกับนักเขียน คนเขียนบทภาพยนตร์ หรือนักแสดงที่สามารถเข้าใจกับตัวละครที่รับบทได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเจอประสบการณ์แบบนั้นตรงๆ มาก่อนก็ได้
แรงบันดาลใจมันอยู่รอบตัวเราอยู่แล้ว ตัวเราเองในฐานะนักแต่งเพลงต้องคว้ามันมาให้ได้ แม้แต่สเตตัสเฟซบุ๊กอันเดียว ถ้าเราเห็นแล้วเรารู้สึกกับมันจริงๆ เราก็สามารถหยิบมาทำเป็นเรื่องราวได้ แล้วค่อยนำมาแปลงเป็นเพลงทีหลัง
มีวันที่กลัวว่าไอเดียมันจะหมดไหม
เคยคิดอยู่ตลอด เคยเข้าใจมาตลอดว่าวันนึงเราจะตันไหม มันก็มีวันที่เราตันจริงๆ แต่มันไม่ได้ตันเพราะหมดเรื่องจะพูด แต่เราตันเพราะว่าการแต่งเพลงมันเป็น Creative process ที่ต้องเล่นกับจิตใจตัวเราเองจริงๆ ซึ่งมันก็จะมีวันที่เราไม่เข้าใจตัวเอง แล้วพอวันนึงวิธีคิดกับตัวตนเราขัดแย้งกันมากๆ มันก็จะกลายเป็นปมที่เราคลายมันไม่ออก
รู้สึกอย่างไรกับการได้รับฉายาว่าเจ้าพ่อเพลงเศร้า
อย่างแรกเลยคือผมไม่ได้ตั้งใจ มันเป็นตัวเราจริงๆ นะ ผมชอบฟังเพลงเศร้าตั้งแต่วัยรุ่นเลย
เมื่อไหร่ที่คุณมั่นใจว่าการทำเพลงเศร้านี่แหละ คือทางของเราจริงๆ
ตอนที่ทำอัลบั้มชุดแรก เรื่องเล่าที่อยู่ในเพลงต่างๆ มันผสมกันไป มีทั้งเพลงสนุก เพลงสำหรับเต้นเลยก็มี แต่เพลงที่มันรอดพ้นจากกาลเวลามาได้มันคือเพลงเศร้า
เพราะว่าอะไร
ผมสรุปได้อย่างเดียวคือ ผมอาจจะไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องสนุกๆ ได้ดีเท่ากับเรื่องเศร้า เวลาร้องเพลงเศร้าแล้วคนน่าจะเชื่อเรามากกว่าตอนร้องเพลงสนุก ซึ่งมันก็ตรงกับความรู้สึกตัวเองด้วย เพราะผมก็ฟังแต่เพลงเศร้า ร้องแต่เพลงเศร้า ดังนั้นผมจะหนีตัวเองไปร้องเพลงสนุกทำไม พอจบอัลบั้มแรกผมเลยบอกตัวเองว่า สิบเพลงหน้าในอัลบั้มสองก็ทำแต่เพลงเศร้าให้หมดเลย
สำหรับคนที่แต่งเพลงเศร้าแล้ว คิดว่าความเศร้าแบบไหนที่มีดีกรีรุนแรงที่สุด
มันคือการสูญเสียโดยที่ยังไม่ถึงเวลาสูญเสีย เสียไปแบบยังไม่คาดคิดและเราก็ไม่สามารถทำใจกับสิ่งนั้นได้ มันเจ็บปวดที่สุดแล้วล่ะ ผมใกล้เคียงกับประสบการณ์นี้มากที่สุด คือตอนที่พ่อเสีย ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่รับไม่ได้เหมือนกัน ตอนนั้นผมไม่มีวิธีรับมืออะไรเลย ไม่ทำอะไรเลย เอาให้ผ่านวันๆ นึงไปให้ได้ก่อน แล้วพอแข็งแรงค่อยเก็บชิ้นส่วนตัวเองขึ้นมาประกอบใหม่ คือมันรุนแรงและก็ลึกเกินกว่าที่เราจะไปรับมือ หนีก็ไม่พ้น หันไม่สู้ก็ไม่ได้
คิดว่าอะไรคือฟังก์ชั่นของเพลงเศร้าต่อคนฟัง
แต่ก่อนผมจะกลัวว่า เพลงเศร้าของผมจะไปทำร้ายให้คนยิ่งเศร้าไปอีก แต่หลังๆ ผมอยากทำเพลงให้คนฟังรู้สึกว่า นี่คือเพลงของฉันเลย นั่นคือแปลว่า เขาไม่รู้สึกเดียวดายอีกต่อไป อย่างน้อยเขาก็จะรู้สึกว่าไม่ได้ผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นไปเพียงลำพัง อย่างน้อยมีนักแต่งเพลงคนนี้ที่เข้าใจว่าเขากำลังเผชิญอะไรอยู่
เพลงของผมเหมือนเป็นเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างๆ เขา ไม่ใช่คนที่ไปฉุดให้เขาลุกขึ้นมาให้ได้ แต่เป็นคนที่นั่งร้องไห้อยู่เป็นเพื่อนข้างๆ ให้เขาหายดี ผมอยากให้เขารู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว อย่างน้อยก็ยังมีคนเข้าใจว่าเขากำลังเจออะไร
เวลาเราเจอคนสิ้นหวังหรืออกหักอยู่ เราชอบพูดบอกเขาว่า “ไม่เป็นไรหรอก” “สู้ๆ นะ” “เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็ดีขึ้น” ซึ่งคำพูดพวกนี้มันไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลย คำพูดพวกนี้นอกจากไม่ทำให้ดีขึ้นแล้ว ยังน่าจะทำให้เขาแย่ลงด้วย
แต่บางทีเราเองก็หยิบเอาคำพูดพวกนั้นมาบอกกับตัวเอง
เพราะทุกคนถูกสอนมาว่าต้องแข็งแรง การพ่ายแพ้ไม่ใช่เรื่องดี อย่าแพ้นาน แต่บางครั้งชีวิตมันต้องล้มบ้าง คือถ้าลุกไม่ไหวก็ยังไม่ต้องลุก อยากร้องไห้ก็ร้องไปเลย คนเราต้องแพ้บ้าง ไม่มีใครชนะทุกวัน
จนถึงตอนนี้ชีวิตคุณประกอบด้วยความเศร้าเจือปนมากแค่ไหน
ก็คงครึ่งๆ แหละ ผมรู้สึกว่ามันเกี่ยวกับว่าเราเลือกจะจำอะไรมากกว่า คนเราจำความเศร้าได้ดีกว่าความสุข มันอาจจะเป็นความอยู่รอดของมนุษย์ ที่เราต้องสงสารตัวเอง และต้องมีคนมาช่วยถึงจะอยู่รอดได้ เราก็เลยจดจำเรื่องที่เราฟูมฟาย ส่วนใหญ่เรื่องที่มันฝังลงไปลึกๆ ในใจเรามันเป็นเรื่องเศร้าทั้งนั้นเลย
แล้วอยู่สิ่งที่ฝังลึกลงไปยังไง อยู่กับมันดีขึ้นไหม
อยู่กับมันดีขึ้นนะ ตื่นมาทุกวันนี้ก็ยังเห็นแผลเดิมอยู่ มันไม่ได้จากเราไปไหน ชอบมีคนมาถามผมว่า ต้องทำยังไงให้ลืมเรื่องเศร้าได้ ซึ่งนักร้องเพลงเศร้าทุกคนจะถูกถามทั้งนั้นแหละ คำตอบของผมคือ มันไม่มีใครลืมใครได้ขนาดนั้นหรอกครับ เพียงแต่ว่าสายตาที่เรามองเรื่องราวเหล่านั้นต่างหากที่เปลี่ยนไป
เปรียบเทียบเหมือนกันตอนที่เรากลัวความืดตอนเด็กๆ แต่โตขึ้นแล้วก็หายกลัว มันไม่ใช่เพราะเรากลัวน้อยลง แต่สายตาของเราที่กลัวความืดต่างหากที่เปลี่ยนไป
เราอาจจะเคยฟูมฟายกับใครสักคนมากๆ แต่ทำไมเราถึงเจ็บน้อยลงเมื่อเวลามันผ่านไป นึกถึงแล้วก็ไม่ได้เจ็บเท่าเดิมเหมือนตอนแรกๆ แล้ว นั่นก็เพราะว่าคนเราเปลี่ยนไปทุกวัน สายตา มุมมองของเราเปลี่ยนไปทุกวัน เรื่องเดิมๆ ที่เคยทำให้เราเจ็บ เมื่อเราเปลี่ยนไปแล้ว เราอาจจะไม่เจ็บเหมือนเดิมก็ได้ เราแค่ต้องรอให้เวลามันทำหน้าที่ และช่วยให้เราเปลี่ยนไปมากพอ เวลามองย้อนกลับไปหาสิ่งเหล่านั้น เราก็จะไม่เจ็บเท่าเดิมอีกแล้ว
ช่วงแรกๆ เวลาคนเราเจ็บปวด บางคนก็เลือกสู้ บางคนเลือกที่จะหนี อยากรู้ว่าคุณเลือกทางไหน
ผมเป็นสายหนีนะ ผมเคยถูกผู้หญิงคนนึงทิ้งไป แล้วเราก็รับความจริงไม่ได้เลย ผมเปลี่ยนทุกอย่างหมดเลย เปลี่ยนตู้เสื้อผ้า เปลี่ยนรถ ถนนที่เคยขับรถไปกับเขาผมก็ไม่ผ่านเลย
แต่สุดท้ายก็มารับรู้ว่า ไม่ว่าจะทำแค่ไหน ยังไงก็หนีไม่พ้นหรอก