“ในคืนที่ฝนโปรยเราอยู่ด้วยกันตรงนี้ ฉันเหงาเธอรู้ไหม ฉันหนาวจนแทบขาดใจ ไม่มีอ้อมกอดจากเธอที่รู้ใจ รอคอยเธอกลับมาหา” ฤดูที่ฉันเหงา – Flure
พอ ‘ฤดูที่ฉันเหงา’ จาก Flure เปิดขึ้นมาเคล้าเสียงฝนกำลังตกทีไร ก็เริ่มรู้สึกถึงความเหงาเข้ามาจับหัวใจทุกที
หากลองนึกถึงบรรยากาศตอนฝนตก ขณะที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆหนาครึ้ม น้ำฝนตกกระทบสิ่งของ ลมเย็นพัดผ่าน ความรู้สึกเหงาปนเศร้าเริ่มก่อตัวขึ้นในจิตใจ ยิ่งเปิดเพลงเกี่ยวกับฝนเคล้าไปด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เราดำดิ่งไปกับบรรยากาศฝนตกและเนื้อหาของเพลง จนทำให้เราแทบไม่อยากลุกขึ้นจากเตียงไปทำอย่างอื่น
แล้วเคยสงสัยมั้ยว่าทำไมเพลย์ลิสต์เกี่ยวกับหน้าฝน มักจะมีแต่เพลงช้าหรือเพลงเศร้า แต่พอเป็นช่วงหน้าร้อน กลับเต็มไปด้วยเพลงสดใส ฟังสบาย จังหวะสนุก ชวนให้เราโยกตัวตามแบบไม่ทันได้รู้ตัว
ฤดูกาลกับเสียงเพลง
เวลาแดดออกสดใส อากาศสบายๆ เราก็อยากออกไปใช้ชีวิตข้างนอก (แต่ถ้าในประเทศไทย อาจต้องเป็นวันที่แดดไม่ร้อนมากนะ เราถึงจะได้ออกไปใช้ใช้ชีวิตนอกบ้านกัน) พอมาช่วงฤดูฝน ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้ม ฝนเริ่มเทลงมา บรรยากาศแสนอุดอู้ ชวนให้เรารู้สึกไม่อยากไปไหน นอกจากอยู่ในบ้าน
จะเห็นว่าสภาพอากาศและฤดูกาลมีผลต่อความรู้สึก อารมณ์ กระทั่งการใช้ชีวิตของเราพอสมควร แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด สภาพอากาศยังส่งผลถึงเรื่องของเสียงเพลงได้ด้วยเช่นกัน เพราะหากสังเกตดูเราจะพบว่า หลายครั้งเพลงซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับฤดูกาลหรือถูกปล่อยออกมาในช่วงฤดูกาลนั้นๆ จะมอบความรู้สึกเวลาฟังเพลง ที่สอดคล้องไปกับบรรยากาศและสภาพอากาศในช่วงเวลาดังกล่าว ราวกับว่าฤดูกาลและเสียงเพลงมีอะไรบางอย่างเชื่อมโยงกันอยู่
เรารู้สึกเช่นนั้น เพราะฤดูกาลและสภาพอากาศส่งผลต่อการฟังเพลงของเราอยู่ไม่น้อยจริงๆ โดยงานวิจัยของ เทอร์รี เพ็ตติจอห์น (Terry Pettijohn) อาจารย์และนักจิตวิทยาจาก Coastal Carolina University ที่สำรวจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลและความชอบทางดนตรี ผ่านการศึกษาจากนักศึกษาของมหาวิทยาลัยจาก 2 ภูมิภาค ซึ่งมีลักษณะทางภูมิอากาศแตกต่างกัน เพื่อศึกษาว่าฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงส่งผลต่อความชอบทางดนตรีอย่างไร
จากงานศึกษาดังกล่าวพบว่า ความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ทำให้รสนิยมการฟังเพลงของเราเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยเช่นเดียวกัน โดยในช่วงอากาศร้อนหรือท้องฟ้าสดใส อย่างในฤดูร้อน เรามักจะชอบฟังดนตรีที่มีพลัง อย่าง อิเล็กทรอนิกส์ แดนซ์ ฮิปฮอป และแรป
ไม่เพียงเท่านั้นเนื้อหาเพลงในช่วงเวลาดังกล่าวก็มักจะมีเนื้อหาสนุกสนาน ฟังเพลิน ไม่ค่อยมีความหมายซับซ้อนเท่าไหร่นัก เนื่องจากอากาศร้อนและแสงแดดมีส่วนสำคัญต่อการกระตุ้นความรู้สึกด้านบวก ตัวอย่างเช่น เพลงจากอัลบั้ม Brat ของ ชาร์ลลี เอ็กซีเอ็กซ์ (Charli XCX) ซึ่งถูกปล่อยออกมาในช่วงหน้าร้อนของประเทศฝั่งซีกโลกตะวันตก ก็ไม่ได้มีเนื้อหาหรือความหมายลึกซึ้ง แต่เป็นเพลงที่เน้นจังหวะเพลงและทำนอง อันเต็มไปด้วยความสนุกสนานแทน
หากเป็นในช่วงอากาศเย็น อย่างในฤดูหนาว ซึ่งอาจเปรียบได้กับช่วงฤดูฝนหรือช่วงปลายฝนต้นหนาวในไทย ผู้คนมีแนวโน้มจะฟังเพลงแนวดนตรีช้าๆ อย่าง บลูส์ แจ๊ส และโฟล์ค มากกว่าดนตรีทำนองสนุกสนานอย่างช่วงฤดูร้อน
สาเหตุเรามักจะฟังเพลงลักษณะดังกล่าวในช่วงฤดูหนาว เนื่องจาก อารมณ์เศร้าซึมจะมาได้ดีในช่วงอากาศเริ่มเย็นลง ทำให้ดนตรีในช่วงนั้นเต็มไปด้วยเพลงช้า ซึ่งสามารถอัดแน่นความหมายลึกซึ้งและซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังได้ค่อยๆ แกะเนื้อหาเพลงได้ดีกว่าเพลงที่มีจังหวะเร็ว
ในทางเดียวกัน เพลงช้าไม่จำเป็นต้องมีแต่เนื้อหาชวนเศร้าหรือทำให้รู้สึกเหงาปล่าวเปลี่ยวเท่านั้น เพราะก็มีเพลงรักจำนวนไม่น้อยถูกปล่อยออกมาในช่วงเวลานี้ โดยอาศัยความช้าของทำนองและจังหวะเพลงในการพูดถึงเรื่องราวความรักหวานซึ้งได้เช่นกัน อย่าง เพลง In my blood – ชอว์น เมนเดส (Shawn Mendes) หรือ How long will I love you – เอลลี โกลดิง (Ellie Goulding) ซึ่งเป็นพลงแนวบัลลาดโรแมนติก เป็นต้น
ไม่ว่าจะฟังเมื่อไหร่ เราก็อินได้ไม่จำกัดช่วงเวลา
แม้ว่าฤดูกาลจะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดรสนิยมในการฟังเพลงของเราอยู่ไม่น้อย ทว่านั่นไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถฟังแค่เพลงช้าเฉพาะช่วงอากาศเย็น หรือสนุกไปกับเพลงเร็วแค่ตอนแสงแดดสว่างสดใสเท่านั้นโดยเพ็ตติจอห์นเสนอเพิ่มเติมว่า อาจไม่จำเป็นเสมอไปหากเราจะอินกับเพลงตามช่วงเวลาหรือฤดูกาล หากเรามีความทรงจำหรือประสบการณ์ตรงกันข้าม ก็สามารถอินกับเพลงบางเพลงในช่วงเวลาอื่น ต่างกับคนอื่นๆ ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ หลายเพลงก็มีแนวเพลง เนื้อหา และดนตรี เกี่ยวข้องกับช่วงฤดูกาลต่างๆ ก็สามารถทำให้เราอินกับเพลงเมื่อไหร่ก็ได้ แม้จะไม่ได้ฟังตรงกับช่วงฤดูกาลดัง แต่หลายเพลงกลับมอบให้ความรู้สึกเหมือนกับเรายังคงอยู่ในฤดูกาลนั้นๆ
ตัวอย่างเช่น Summer ของคาลวิน แฮร์ริส (Calvin Harris) ซึ่งมีเนื้อหาเพลงพูดถึงความรักอันร้อนแรงในช่วงฤดูร้อน พร้อมกับทำนองและดนตรีแนว อิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ เหมาะกับการเปิดในปาร์ตี้ช่วงฤดูร้อน ให้คนโยกย้ายโชว์สเต็ปกัน โดยไม่ว่าเราจะเปิดเพลงนี้เมื่อไหร่ ก็สามารถยกบรรยากาศความสนุกสนานให้กับเรา ราวกับว่ากำลังได้เต้นอยู่ในปาร์ตี้จริงๆ
หากเป็นตัวอย่างในไทย คงจะต้องพูดถึงเพลง ฤดูที่ฉันเหงา–Flure โดยเพลงมีเนื้อหาพูดถึงความเหงาและการคิดถึงใครบางคนในค่ำคืนฝนตก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แม้จะไม่ได้ฟังเพลงนี้ท่ามกลางสายฝน แต่เราก็สามารถอินและรู้สึกร่วมกับเพลงไปได้ ราวกับว่าเรากำลังรออ้อมกอดจากใครสักคนในวันฝนตกอยู่จริงๆ
ฉะนั้นแล้ว เราอาจไม่จำเป็นจะต้องอินหรือมีอารมณ์ร่วมกับเพลง เฉพาะแค่ในฤดูกาลเท่านั้น เมื่อบางทีการมีเพียงแค่ชื่อเพลง แนวดนตรี หรือประสบการณ์ร่วม ซึ่งเกี่ยวโยงกับฤดูกาลต่างๆ ก็สามารถสัมผัสถึงบรรยากาศในฤดูกาลต่างๆ ได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้ฟังเพลงดังกล่าวตามช่วงเวลาและฤดูกาลที่เพลงนำเสนอก็ตาม ทั้งนี้อาจต้องยอมรับว่า ยิ่งเราฟังตรงตามช่วงฤดูกาลด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้เราอินกับเพลงได้มากขึ้น
แบบนี้จึงไม่แปลกหากเราจะหยิบเพลงอย่าง ฤดูที่ฉันเหงา ขึ้นมาฟัง แล้วจะรู้สึกเศร้าปนเหงา เพราะน้ำตาและน้ำฝนมักมาควบคู่กัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ระวังเรื่องการอินกับเพลงมากเกินไป เพราะในอีกด้านหนึ่งมันอาจไปกระตุ้นความเศร้าในจิตใจสำหรับใครที่มีความผิดปกติทางอารมณ์หรือภาวะซึมเศร้าได้เหมือนกัน
อ้างอิงจาก