‘กวางผา’ เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าสงวนทั้ง 19 ชนิดของไทย พูดง่ายๆ ก็คือเป็นสัตว์ป่าหายากใกล้สูญพันธุ์
ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน มล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่า ใช้เวลา 3 ปีเพื่อเฝ้าติดตามบันทึกภาพกวางผาบนดอยอินทนนท์และดอยอื่นๆ บริเวณผืนป่าลุ่มน้ำปิง ภาพถ่ายฟิล์มสไลด์นับ 2,000 ในยุคนั้น ถูกคัดเหลือกว่า 200 ภาพ และนำมาแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลเพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือภาพ ‘กวางผา…อาชิ’ อาชิ ในภาษามูเซอที่หมายถึงกวางผา ม้าของเทวดา
The MATTER ชวนคุยกับ มล.ปริญญากร วรวรรณ ถึงสถานะของ ‘กวางผา’ ในปัจจุบัน และการกลับมาทำหนังสือภาพหลังจากทิ้งช่วงไปนาน ทำไมจึงตัดสินใจนำภาพฟิล์มสไลด์ที่ถ่ายเก็บไว้นานกลับมาทำเป็นหนังสือภาพถ่ายในยุคดิจิทัล
The MATTER : สถานะของกวางผาในปัจจุบันเป็นอย่างไร พวกมันกำลังเผชิญกับอะไรอยู่
ปัญหาที่สัตว์ป่าทุกตัวบนโลกใบนี้กำลังเผชิญเหมือนๆ กัน คือ สูญเสียถิ่นอาศัย พื้นที่ป่าถูกแยกแบ่งเป็นส่วนๆ คล้ายเกาะกลางทะเล สัตว์ป่าติดอยู่ในนั้น เส้นการเดินทางเคลื่อนย้ายเพื่อหากินตามฤดูกาลถูกตัดขาด
กวางผา เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจน การผสมแบบเลือดชิดคือสิ่งที่พวกมันเลี่ยงไม่พ้น พวกมันจึงจะมีลักษณะด้อยลงเรื่อยๆ จนกระทั่งสูญพันธุ์ไปในที่สุดหากไม่มีการช่วยเหลือพวกมันอย่างจริงจัง ( ซึ่งเวลานี้มีนักวิชาการหลายคน กำลังดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง) หากการช่วยเหลือไม่ประสบผล หนังสือ ‘อาชิ’ จะคล้ายเป็น หลักฐานชิ้นหนึ่ง ว่าครั้งหนึ่งเคยมีพวกมันอยู่บนโลกใบนี้
The MATTER : ย้อนกลับไปยังการทำงานชุดกวางผา คุณได้เรียนรู้อะไรจากการทำงานบนนั้นเป็นชิ้นแรกๆ ด้วยวิธีการไปฝังตัวนานๆ
สิ่งหนึ่งที่กวางผาสอนให้ผมเห็น คือ ‘ความนิ่ง’ ของมัน ก่อนมาทำกวางผา ผมก็ยังรู้สึกรีบเร่ง อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ ความนิ่ง ของกวางผา สอนให้ผ่อนคลายลง ไม่ร้อนรุ่ม กระวนกระวาย ไปช้าๆ แต่เห็นจุดหมายชัดเจนขึ้น
The MATTER : ภาพในชุดนี้เป็นภาพสไลด์ที่ถ่ายเก็บไว้นาน ทำไมจึงตัดสินใจนำกลับมาทำเป็นหนังสือ ‘กวางผา…อาชิ’
ก่อนหน้านี้ในหนังสือภาพ ‘ชีพจรไพร’ ผมบันทึกความเป็นไปในป่าทุกฤดูกาล มีสัตว์ป่า หลายๆ ชนิด ส่วนในหนังสือภาพ ‘เสือ now or forever’ เป็นการถ่ายทอดการทำงานของนักวิจัย
งานกวางผาเป็นงานชิ้นแรกที่ผมใช้เวลานานหลายปีในการทำ และยังไม่เคยเอามาทำเป็นหนังสือภาพ ที่ผ่านมาก็ใช้ประกอบในงานสารคดี ภาพหลายภาพที่จะมีในหนังสือ ‘อาชิ’ หลายคนคงเคยเห็นแล้ว ในความเป็น slide ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้ว่า ช่วงที่ผมทำกวางผานั่นคือยุค analog ถึงวันนี้ มาถึงยุค digital แล้ว ถ้าเราสามารถ ‘ชุบชีวิต’ มันขึ้นมา มันหมายถึงเราได้ผสมผสานระหว่างความเก่ากับความใหม่
ในส่วนของ digital นั้น มี พลพิชญ์ คมสัน และ ชุตินันท์ โมรา มาช่วย ทำให้โปรเจ็กต์นี้เกิดขึ้นจริงได้
The MATTER : อะไรคือความแตกต่างของการทำงานที่ต้องใช้ฟิล์มสไลด์กับการทำงานแบบดิจิทัลในปัจจุบัน
การทำงานด้วยกล้องฟิล์ม ว่าตามจริงมีข้อจำกัดมากกว่าดิจิทัล เช่น ในสภาพแสงน้อยๆ หรือในช่วงฤดูฝน ซึ่งหากเป็นกล้องดิจิทัลจะทำงานได้ง่ายกว่า แต่การทำงานกับกล้องฟิล์มก็ทำให้ ได้พัฒนาทักษะมากกว่า
The MATTER : ในงานเขียนหลายๆ ชิ้น บ่อยครั้งคุณเขียนถึง ‘จะปุ๊’ ชาวมูเซอผู้ช่วยเมื่อครั้งทำงานถ่ายภาพกวางผาบนดอยม่อนจอง
จะปุ๊ เป็น ‘คู่หู’ ในการทำงานในป่าคนแรกของผม เป็นการอยู่ร่วมกันโดยที่เขา ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมชื่อจริงๆ ว่าอะไร ไม่มีเปลือกหรืออะไรเลย เขาสอนผมหลายอย่าง เช่น บอกว่า “ไม่มีใครจากไปไหนหรอกถ้าเรายังคิดถึงเขาอยู่” เวลาบรรพบุรุษพวกเขาตาย เขาก็บอกว่า “คนตายแค่ไปอยู่อีกที่ ถึงเวลาปีใหม่เราก็เชิญกลับมากินอะไรๆ ได้” หรือเวลาเดินขึ้นดอย เขาก็จะบอกว่า “อย่ามองข้างบน เดี๋ยวจะท้อ ค่อยๆ เดินไปเดี๋ยวก็ถึง” ใน ‘อาชิ’ ส่วนที่เป็นเล่ม pocket book หน้าหนึ่ง ผมจะเขียนว่า “ในความระลึกถึงจะปุ๊ เพื่อนผู้อยู่ในใจเสมอ”
The MATTER : เหตุผลที่ต้องมีหนังสือภาพชุด ‘กวางผา…อาชิ’ ไว้ในครอบครอง
หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เป็นเพียงหนังสือภาพสัตว์ป่า แต่สำหรับคนที่ชอบเรื่องการออกแบบ ก็จะได้เห็นความตั้งใจ การผสมผสานความคิดของความเป็น analog และความเป็น digital ผมเชื่อว่าคนเราไม่ควรแบ่งแยกกันที่ ‘รุ่น’ หรือ ‘อายุ’ การนับถือยอมรับกันและกันคือสิ่งที่ดี และนี่คือสิ่งที่จะได้เห็นในหนังสือเล่มนี้
Cover Photo by Yingboon Chongsomchai
กวางผา…อาชิ ประกอบด้วยโฟโต้บุ๊ก 2 ภาษา ไทย-อังกฤษ 1 เล่ม 256 หน้า พิมพ์ 4 สีทั้งเล่ม และหนังสือเล่มเล็กรวมเรื่องราวการตามหากวางผา สอบถามรายละเอียดและสั่งจองหนังสือได้ที่ www.facebook.com/Booktopia