วันนี้เป็นวันที่สองของการทำงานของหลายๆ คน แต่สำหรับคนทำงานหนังสืออาจจะทำงานต่อเนื่องมาหลายวันกันแล้ว การทำงานหนักเสียบ้างนานๆ ที มันก็ดีอยู่ล่ะ เพราะเป็นการรีดพลังบางอย่างออกมาอย่างที่เวลาปกติทำไม่ได้ แต่ถ้าทำงานหนักทุกวัน ล่วงเวลากันทุกวัน… โดยเฉพาะถ้าทำงานหนักจนถึงตาย มันก็คงไม่ใช่เรื่องตลก
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวชวนให้คิดจากญี่ปุ่น เมื่อพนักงานหญิงคนหนึ่งของบริษัทสายงานโฆษณาและ PR ได้กระทำการอัตวินิบัติกรรม โดยมีสาเหตุหลักมาจากการทำงานหนักเกินไป บวกกับการถูกกดขี่จากการใช้อำนาจ หรือ Power Harassment หรือ PawaHara อย่างที่พนักงานหญิงท่านนั้นเคยบ่นไว้ในทวิตเตอร์ของเธอว่า เธอถูกหัวหน้าแผนกคอมเม้นต์ว่า “ผมก็ยุ่งแล้วตาก็แดง อย่ามาทำงานในสภาพนี้อีกนะ” “สำหรับเธอที่ต้องพยายามขนาดนั้นกับเนื้องานแค่นี้ บ่งบอกถึงความขาดประสิทธิภาพของเธอจริงๆ” ฯลฯ
(แล้วพนักงานไทยที่ทำงานที่โน่นก็พอจะโดนกันบ้างนะจ๊ะ แบบที่คนเขียนเคยฟังมาก็อย่าง พนักงานไทยท่านหนึ่งจะกลับเมืองไทยในช่วงหยุดยาวปีใหม่ก็โดนค่อนขอดว่าทำไมต้องกลับบ้าน ไม่เข้มแข็งเลยที่ต้องแคร์ญาติโยมขนาดนี้ โหยยย)
การที่คนทำงานเจอแรงกดดันจากการงานจนทำให้ต้องจบชีวิตลงแบบนี้ มีชื่อเรียกเฉพาะตัวในประเทศญี่ปุ่นว่า ‘คาโรชิ’ (Karoshi) อันแปลได้ว่า ‘ทำงานหนักจนตาย’ นั่นเอง
ที่มาที่ไปของ ‘คาโรชิ’
จริงอยู่ว่าความตั้งใจทำงานของชาวญี่ปุ่นนั้นเห็นได้จากวิถีการใช้ชีวิตแบบบูชิโด ที่ตรงไปตรงมา ให้คุณค่าของศักดิ์ศรีมากกว่าอื่นใดจนในบางครั้งต้องสละชีวิตเพื่อชดเชยกับการทำงานที่ผิดพลาดไป …อ้าว เฮ้ ถ้าอย่างนี้เราจะเหมารวมโมเมว่า การทำงานทำให้คนตาย มาตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองก็ว่าได้น่ะสิ อันนี้คงออกจะเกินไปหน่อย เพราะบูชิโดจริงๆ เป็นแค่คติของซามูไรเท่านั้น
การตายคาที่ทำงานในบริษัทนั้น เริ่มจากการที่มีพนักงานวัยหนุ่มเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจกำเริบในปี 1970 ก่อนที่ตัวเลขของคนทำงานวัยหนุ่มสาวที่ตายด้วยโรคหรืออาการที่พวกเขาไม่เคยป่วยมาก่อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงราวปี 1982 สื่อใช้คำว่า คาโรชิ นิยามอาการตายของกลุ่มผู้เสียชีวิตที่ทำงานดุเดือดเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ได้ยกตัวอย่างผู้ที่มีอาการคาโรชิไว้ดังนี้
– A ทำงานในบริษัทผลิตขนมใหญ่ ต้องทำงาน 110 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เขาเสียชีวิตด้วยวัย 34 ปี จากอาการโรคหัวใจกำเริบ การตายของเขาได้รับการยืนยันจากกรมแรงงานแล้วว่าเกี่ยวข้องกับการทำงาน
– B พนักงานขับรถประจำ ใช้เวลาในการทำงาน 3,000 ชั่วโมงต่อปี เขาทำงานโดยไม่รับวันหยุดติดกัน 15 วัน ก่อนจะเสียชีวิตจากอาการหลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน
– C นางพยาบาลวัย 22 ปี เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายหลังทำงาน 34 ชั่วโมงต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ครั้งต่อหนึ่งเดือน
ต่อมาในช่วงปลายๆ ของยุค 1980s ‘คาโรชิ’ ก็เผยร่างที่สองออกมา เป็นอาการที่เรียกว่า ‘คาโรจิซัตสึ’ (Karojisatsu) หรือ การฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากการทำงานหนัก ซึ่งพนักงานหญิงที่เสียชีวิตไปก็ถือว่ามีอาการแบบนี้ เนื่องจากเธอถูกกดดันทั้งจากการทำงานต่อเนื่อง และพนักงานร่วมบริษัทก็สร้างความเครียดให้กับเธอ
ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าบริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นนั้น เติบโตมาจากรุ่นผู้ก่อตั้งที่ลงทุนลงแรงลงพลังชีวิตจนสามารถก่อรากฐานให้กับบริษัท เหล่าพนักงานรุ่นใหม่ที่เข้ามาจึงถูกคาดหวังว่าจะต้องทำงานได้ไม่แพ้กับรุ่นเก่าๆ จนหลายครั้งเกิดปัญหาต่อสุขภาพและชีวิต คาโรชิ ส่งผลอย่างมากต่อสังคมของญี่ปุ่น จนกระทั่งต้องมีการออกกฎหมายแรงงานใหม่เพื่อลดปัญหานี้มาแล้วครั้งหนึ่ง และจากเหตุการณ์ล่าสุด ก็มีข่าวว่าทางรัฐของญี่ปุ่นอาจต้องสังคายนา กฎ กติกา มารยาท ของเรื่องนี้กันอีกรอบเลยทีเดียวเชียว
‘คาโรชิ’ เกี่ยวอะไรกับเรื่องบันเทิง?
‘สื่อบันเทิง’ เองก็เป็นการทำงานประเภทหนึ่ง ถึงผลลัพธ์ที่ออกมา อาจเป็นเสียงหัวเราะหรือความปลื้มปริ่มใจ แต่กว่าจะมาถึงขั้นนั้นก็ต้องแลกหยาดเหงื่อแรงกายไปไม่น้อย อย่างกรณีพนักงานหญิงที่พูดถึงไปในช่วงต้นบทความเองก็ทำงานในสายบันเทิงเหมือนกัน เพราะความคิดที่ว่า คนที่ทุ่มเทถึงจะได้รับผลสำเร็จ เป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นยึดมั่นถือมั่นมาก่อน เห็นได้ชัดจากข่าวต่างๆ ของฝั่งญี่ปุ่นจะชื่นชมดาราไอดอลที่บาดเจ็บล้มป่วยแต่ยังขึ้นไปแสดงอันแสดงถึงสปิริตอันแข็งกล้า และดาราเหล่านั้นมักจะได้รับความนิยมมากกว่าคนที่ดูชิลๆ เรื่อยๆ เสียอย่างนั้น
ไม่ใช่แค่ฝั่งดาราเท่านั้น ฝั่งการ์ตูนทั้งอนิเมชั่นหรือหนังสือการ์ตูนเองก็มีความเชื่อแบบนี้ แถมยังเป็นผลมาจากปรมาจารย์ของการ์ตูนญี่ปุ่นอย่าง เท็ตสึกะ โอซามุ ที่อาจารย์ทุ่มเทกับการเขียนงาน พักผ่อนน้อยเป็นประจำ จนกลายเป็นกิจวัตรที่นักเขียนรุ่นใหม่หลายคนนับถือและพยายามทำตาม หรือแม้แต่ฝั่งอนิเมชั่นซึ่ง อ.เท็ตสึกะ โอซามุ ก็ทุ่มเทกับงานเหล่านี้เช่นกัน จนการกิน-นอน ณ ที่ทำงานก็เป็นเรื่องปกติของคนทำอนิเมชั่นที่นั่นไป
จริงอยู่ว่าผลงานเหล่านี้เมื่อออกมาสู่หน้าสื่อแล้วมักจะได้รับความชื่นชม และสร้างชื่อเสียงให้คนสร้างผลงาน แต่กว่าจะถึงจุดนั้นหลายคนก็เสียเวลาและพลังชีวิตไปไม่น้อย หรือบางคนอาจจะต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ตัวอย่างเช่น ฟูคุอิ เอย์อิจิโร่ นักเขียนการ์ตูนในรุ่นเดียวกับ เท็ตสึกะ โอซามุ ก็เสียชีวิตไปจากการโหมงานหนัก (บางว่ากันว่าอาการมะเร็งในกระเพาะของ อ.โอซามุ เองก็เกิดจากอาการคาโรชิเช่นกัน) หรืออย่าง เอย์อิจิโร่ โอดะ ผู้เขียน One Piece ก็ถูกเซ็ตให้เขียนงานแล้วมีช่วงพักผ่อนมากขึ้น ด้วยความกลัวว่าแกจะล้มป่วยจนไม่ได้เขียนถึงตอนจบนั่นเอง
นอกจากนั้น คาโรชิ ยังบ่งบอกถึงความโหดร้ายของงานบางประเภทที่มีรายได้น้อย จนคนทำงานต้องยอมอดหลับอดนอนโดยคาดหวังว่าจะได้ค่าโอทีเพิ่มเติม แต่ก็อาจแห้วรับประทานไปในที่สุด
เปลี่ยน ต้านคาโรชิ
กระนั้นก็ใช่ว่าบริษัทหรือการทำงานในญี่ปุ่นจะเหี้ยมโหดทารุณกันทุกหน่วยงาน อย่างในตอนนี้หน่วยงานรัฐก็พยายามออกกฎหมายให้คุมเวลาการทำงานมากขึ้นในทุกช่วงวัย กลุ่มแรงงานในสายอาชีพต่างๆ ก็พยายามนำเสนอวิธีการทำงานให้ผลออกมาไม่ตกหล่นจากการทุ่มเทเวลามากแต่ยังได้ผลงานที่ดีอยู่ (ใครที่คาดหวังว่าจะได้อู้งานมากขึ้นก็เสียใจด้วยนะ)
หรือที่ผู้เขียนเคยได้รับฟังมาบ้าง ก็มีบริษัทญี่ปุ่นบีบให้ลูกจ้างของตัวเองที่ไม่ยอมหยุดงานเพราะมุ่งมั่นกับการทำงานหนักๆ ให้ช่วยไปอยู่บ้านกับครอบครัวเสียบ้างด้วยซ้ำ บางทีก็ยังมีการจ่ายเงินหนุน (ก็ค่าโอทีจากช่วงก่อนหน้านั่นล่ะ แต่อาจจะเพิ่มยอดให้นิดนึง) เพื่อเป็นการบังคับให้พนักงานไปพักกันบ้างนะแกร เราขอร้อง ไม่งั้นเราอาจจะโดนฟ้องได้เพราะใช้งานแกจนเกินขอบเขตกฎหมายอะ
อีกอย่างที่ควรจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่องทัศนคติในการทำงานที่คนต่างยุค ต่างการเติบโต ต่างแนวคิด ควรหาจุดตรงกลางกัน เพราะการไปชี้หน้าบอกว่าคนที่ไม่ทำงานหนักนั้นเป็นคนที่ชั่วช้าสามานย์ หรือบูชาคนที่ไม่ยอมกลับบ้านเลยว่าเป็นทวยเทพของบริษัทต่างๆ ไม่ใช่เกณฑ์ที่วัดได้ว่าผลงานของพวกเขาเหล่านั้นจะออกมาประสบความสำเร็จ
อ้างอิงข้อมูลจาก
International Labour Orgainzation