หลังจากที่ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับและคนเขียนบท จัดนิทรรศการเดี่ยวแสดงผลงานภาพถ่ายประกอบไดอะล็อก i write you a lot ที่ Bangkok Citycity Gallery เมื่อกลางปีที่ผ่านมา มาปีนี้ i write you a lot บินไปจัดแสดงที่เชียงใหม่ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ – 26 มีนาคม / ยังไม่จบ.
The MATTER ชวนนวพลมานั่งอัพเดทชีวิต การงาน การรับมือกับดราม่าบนเฟซบุ๊ก ไปจนวิธีจัดการกับความนอยด์จากการงานที่เชื่อว่าหลายคนกำลังประสบอยู่
The MATTER : จากนิทรรศการ i write you a lot คิดว่าเรามีสิทธิแค่ไหนในการ write เรื่องจากภาพถ่าย
ถ้าสิทธิในการสร้าง story เราว่ามันก็ 100 เปอร์เซ็นต์นะ เพราะเรารู้สึกว่าคนเรามันสร้าง story ในหัวตัวเองอยู่ตลอดเวลา เราอยากเห็นในสิ่งที่เราเห็น เราเลือกเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ พอเราเชื่ออะไรบางอย่างแล้ว ทุกอย่างรอบตัวมันก็จะเป็นไปอย่างที่เราเชื่อ แม้บางทีมันอาจจะไม่ได้ตรงกับความเป็นจริงก็ตาม สมมติเราชอบคนๆ นึง แล้วเขาเอานิ้วมาสะกิดเรา เรายังอาจจะคิดว่าเขาชอบเราเลย นี่แหละคือการที่เราสร้าง story ขึ้นมาโดยที่กูไม่แคร์อะไรทั้งนั้น หรือเห็นภาพอะไรสักอย่างแล้วเรามีคอนเทนต์กับมัน เรามีทัศนคติอยู่กับมัน เวลาเราเห็นอะไรสักอย่าง มันก็คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมา เป็น story ที่เราสร้างขึ้นมาตามความเชื่อของเรา ตามหลักการ ตามประสบการณ์ที่เราเจอมา เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่าปกติคนเรามันก็ทำอย่างนี้กันอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
The MATTER : แล้วอะไรคือเส้นแบ่งระหว่าง ‘สร้าง story’ กับ ‘fake news’
ตัวอย่างเมื่อกี้มันคือการสร้างเรื่องภายในตัวเราเองนะ แต่ว่าเวลาเราจะต้องเอาสิ่งนี้ไปบอกต่อหรือไปเล่า ไปสื่อสารกับคนอื่น นั่นมันก็จะเป็นอีกเรื่องนึงละ อยู่ที่ว่าบทบาทของคุณคืออะไร หมายถึงว่าถ้าเกิดบทบาทของคุณคือนักข่าวหรือสื่อมวลชนที่ควรจะต้องรายงานเป็นกลางมันก็ควรจะต้องรายงานแบบนั้น แต่ถ้าเกิดคุณเป็นคอลัมน์นิสต์ คุณก็อาจจะมีทัศนคติของตัวเองหรือมีคอมเมนต์ของเราเองที่มันอาจจะไม่เหมือนกับข่าวกลางๆ หรือว่าเป็นไปแบบที่เราคิด เพราะฉะนั้นมันขึ้นอยู่กับว่า ตอนนั้นบทบาทเราคืออะไร เราคือบทบาทที่จะต้องพูดความจริง 100% หรือว่ารายงานอะไรให้เป็นกลางที่สุด หรืออยู่ในบทบาทที่เราสามารถแสดงทัศนะอะไรของเราเองได้ เล่าในมุมของเราเองได้
แต่ถ้าเรื่อง fake news มันก็คงอยู่ในฐานะสื่อมวลชนมั้ง ซึ่งมันก็ไม่ควรไปถึงขนาดนั้น เพราะ fact บางอย่างมันไม่ควรไปบิดเบือนอยู่แล้ว แต่ก็ต้องแยกอีกทีว่าถ้ามันเป็น fact ที่เกิดขึ้นจริงๆ มันก็ไม่ควรจะไปเขียนหรือจินตนาการขึ้นมาเองได้ ถ้าเป็นความเห็นก็อีกเรื่องนึงนะ แต่ความยากของมันคือ มันจะมีเรื่องที่ยังไม่รู้ว่าเป็น fact หรือเปล่า บางทีคนก็ deal กับสิ่งพวกนี้ไม่ถูก เราควรจะเล่ามันออกไปยังไง เราควรจะนำเสนอออกไปแบบไหน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวัง เป็นเรื่องที่ต้องใช้ประสบการณ์หรือ skill ในการจัดการ
The MATTER : ในฐานะคนเขียนบทและผู้กำกับหนังอย่างนวพล คิดว่าอะไรคือความสำคัญของ storytelling
หลักๆ คิดว่า คือการหาวิธีสื่อสารที่มันตรงกับสิ่งที่เราคิดหรือตรงกับสิ่งที่เราเห็นมา แต่ก็แล้วแต่สื่อนะ สมมติว่าถ้าเป็นหนัง จะทำยังไงให้เรื่องที่อยากเล่ามันออกมาได้ตรงกับที่เราคิด แล้วสามารถสื่อสารในเรื่องที่เราอยากสื่อสารได้มากที่สุด บางทีเราเห็นด้วยตาของเรา แล้วเราต้องไปสร้างมันขึ้นมาใหม่ ระหว่างทางมันก็ตกหล่นได้ตลอด เพราะฉะนั้นการที่เรารู้หลักการ storytelling มันคือการหาวิธีที่จะทำยังไงให้เรื่องที่เราอยากเล่า หรือเรื่องที่มันอยู่ในหัวเรา สิ่งที่เราเห็น มันไปอยู่บน screen ได้ตรงกับที่เราอยากสื่อสารมากที่สุด
แต่ถ้าเป็น text มันก็จะมีวิธีการของ text แต่เราว่าหลักการมันอันเดียวกันแหละ คือทำยังไงให้สิ่งรูปธรรมที่เราเห็น หรือสิ่งนามธรรมที่เราคิด แล้วเราอยากจะสื่อสารมันออกไปตรงกับที่เราคิดได้มากที่สุด แต่มันไม่ได้เกี่ยวกับว่าคอนเทนต์นั้นต้องเป็นแบบไหนนะ แล้วแต่ คอนเทนต์ที่ abstract ก็ควรสื่อสารในแบบที่มันเป็นอย่างนั้น คอนเทนต์ที่มันเป็นแบบ narrative มากๆ ก็ควรสื่อสารให้มันเป็นแบบที่ narrative ต้องการ
The MATTER : การที่ต้องติดตามอินเทอร์เน็ตส่งผลยังไงกับความคิดคุณ
เราว่ามันได้ข้อมูลรอบด้านดีครับ มันเป็นยุคที่เราได้ข้อมูลรอบด้านจากทั้ง official หรือ unofficial บางทีก็ดูน่าสนใจหรือมีมุมแตกต่างที่อาจจะดูจริงกว่า แต่สิ่งที่มาพร้อมกันเลยคือการท่วมของข้อมูลนี่แหละ มันมีหลายมุมจริงๆ แต่มันมีประมาณแสนกว่ามุมอะ เราก็ต้องมานั่งดูว่า อันไหนโอเค อันไหนไม่โอเค อันไหนเหมือนจริงอันไหนไม่จริง มันก็ต้องใช้ฟิลเตอร์ของตัวเองในการกรองข้อมูลมากขึ้น ข้อดีคือเราได้เห็นมุมหลากหลายขึ้น แต่ว่าข้อควรระวังคือเราก็ต้องคิดก่อนเชื่อ
The MATTER : มีวิธีรับมือกับ feed back หรือดราม่าของคนบนอินเทอร์เน็ตยังไง
สมมติถ้าเป็นเพจ เราใช้มันคล้ายๆ บล็อกส่วนตัวหรือเสนอในสิ่งที่เราสนใจ ไม่ได้ถึงขั้นทำตัวเป็นเพจข่าวหรืออะไรขนาดนั้น ก็เขียนในสิ่งที่เราคิดอยู่แล้ว แต่บางทีสิ่งที่เราคิดมันอาจจะไม่ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ได้ แล้วก็มีคนคอมเมนต์เข้ามา เราจะรู้สึกว่ามันเป็นการแชร์ข้อมูลกันมากกว่า ก็เหมือนกับเป็นสถานที่แลกเปลี่ยน เพราะเราคิดว่าเราไม่ได้ official อะไรขนาดนั้น เราไม่ได้คิดว่าเราเป็นศูนย์ข่าวหรือเป็นบล็อกที่รายงานเรื่อง industry ของวงการภาพยนตร์ เราถือว่าเราเป็น ‘คนคนหนึ่ง’ ที่รู้อะไรมาก็พยายามจะพูดถึงมันให้มันถูกต้องที่สุด แต่บางทีเราก็อาจจะมีเรื่องที่ไม่รู้ คนก็สามารถเข้ามาแชร์กันได้ “เฮ้ย พี่เต๋ออันนี้มันไม่ถูกนะ” เราก็ขอโทษทีเราเพิ่งรู้ว่ะอันนี้ หรือบางอย่างที่เราเข้าใจผิดก็แก้ไขไป
เราเลยรู้สึกว่าจริงๆ มันเป็นเรื่องท่าทีด้วยแหละ อย่างเพจที่เราทำ เรารู้สึกว่าคนในเพจเราค่อนข้างโอเค อะไรผิดก็บอกดีๆ ก็จะแก้ไขกันได้ มีข้อมูลใหม่ก็มาแชร์กัน บางทีคอมเมนต์สองคอมเมนต์ที่คิดไม่เหมือนกันก็อยู่ในโพสเดียวกันได้ เราก็เลยคิดว่ามันค่อนข้างมันเป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความรู้ข้อมูลกัน ก็รู้สึกสนุกดีในการทำมันขึ้นมาแล้วก็เข้าไปดู เข้าไปเล่นในแต่ละวัน
ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าที่บางทีอัดกันหรือทะเลาะกันมันเป็นเพราะท่าทีการแสดงคอมเมนต์มากกว่า คำพูด หรือ word ที่ใช้ เพราะบางทีสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาคิดมันดีนะ ถึงไม่เห็นด้วยกับเราแต่เป็นสิ่งที่ดี แต่พอมันมาในรูบแบบอัดกระแทกกัน มันเหมือนกับว่าเราโดนรถชนไป แล้วเราไม่มีสติพอที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้วเนื้อแท้ของเขาคืออะไร บางทีเราก็คิดว่า “แล้วทำไมไม่เอาเนื้อแท้มากองให้กูดูตั้งแต่แรกไปเลย” ก็พูดดีๆ บางทีมันไม่ได้รบรากันขนาดนั้น หรือเรื่องบางเรื่องมันไม่ได้ matter ขนาดนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร เป็นแค่เรื่องความคิดเห็นเล็กๆ น้อยๆ บางทีก็แชร์กันได้ ไม่เห็นด้วยกันก็ได้ คิดต่างกันก็ได้ พื้นที่นั้นมันก็ดีของมันอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่ว่าเราต้องรู้จักวิธีจัดการหรือวิธีใช้ หรือสร้างข้อตกลงร่วมกัน นี่เป็นสิ่งที่คนอาจจะขาดมากกว่า เพราะเทคโนโลยีทุกอย่างที่มันเกิดขึ้นมามันดี เพียงแต่ว่าต้องรู้วิธีใช้มัน บางอย่างมันใช้ยากหน่อย บางอย่างมันมีความเลื่อนไหลตลอดเวลา ถ้าใช้ไม่เป็นมันก็จะหลุดมือหรืออาจจะไปโดนคนอื่น
The MATTER : คนที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตกับตัวจริงแตกต่างกันอย่างไรไหม
บางทีก็เหมือนกันแต่บางทีก็ไม่เหมือนกัน แต่เราเข้าใจว่าแต่ละคนใช้พื้นที่บนอินเทอร์เน็ตไม่เหมือนกัน บางคนก็เป็นตัวเอง แต่บางคนก็มี position อื่นหรือมีหน้าที่อย่างอื่น เขาก็จะปฏิบัติตัวไปอีกทางหนึ่งด้วยจุดประสงค์อะไรก็แล้วแต่ บางทีเราอ่านเขาจากในเพจ พอมาเจอตัวจริง เอ๊ะ มันก็ดูไม่ค่อยเหมือนกัน เลยรู้สึกว่าจริงๆ มันก็เหมือนกันบ้างไม่เหมือนกันบ้าง บางครั้งมันเกิดจากการที่เราตีความไปเอง บางที text บนอินเทอร์เน็ตไม่ได้มีน้ำเสียงอะไร แต่เราก็จะอ่านในแบบที่เราอยากให้มันเป็น เราคิดว่าคนหน้าอย่างนี้น่าจะพูดอย่างนี้ เวลาเราอ่านก็จะได้ยินเสียงแบบนั้น ซึ่งบางทีมันไม่จำเป็นไง มันไม่ตรง มันเลยไม่ต้องเป็นไปตามที่เราคิดขนาดนั้น พอไปเจอตัวจริงมันก็อาจจะไม่เหมือนที่เราคิด ไม่ได้เอาเป็นเอาตายมาก สุดท้ายเราว่าต้องเจอตัวจริงแล้วคุยกันมากกว่า
ถ้า debate อะไรกันหรือคุยอะไรที่มันซีเรียส เราก็ยังรู้สึกว่าไปคุยต่อหน้ากันมันจริงกว่านิดนึง เพราะพื้นที่ในอินเทอร์เน็ตมันมีสิทธิ์ผิดพลาดสูง ทั้งอคติของเรา ความคิด หรือความเชื่อของเรา ก็อย่างที่ว่า text มันไม่มีน้ำเสียง เวลาอ่านอะไรก็จะรู้สึกว่ามันไม่เป็นไปอย่างที่เราคิด “เค้าด่ากูปะวะ” แต่จริงๆ เขาอาจจะพิมพ์เฉยๆ
The MATTER : นวพลดูเหมือนเป็น ‘พระบิดา’ แห่งการทำหนังแนวนี้ แล้วต้องทำสไตล์อื่นเพื่อหนีไหม ถ้าใช่ เหนื่อยไหมที่ต้องหนีอะไรแบบนี้
จริงๆ ก็ไม่เคยทำเลย เราว่าเราก็ทำอย่างที่เราอยากทำมาโดยตลอด แต่ถ้าวันนึงเราจะเปลี่ยน ก็จะเปลี่ยนเพราะว่าเราเปลี่ยนความสนใจเอง ไม่ใช่เป็นเพราะต้องหนีความเป็นตัวเอง แค่คิดงานให้ออกทุกวันนี้ก็เหนื่อยแล้ว ไม่มีปัญญาไปนั่งคิดว่าเราต้องหนีตัวเองอะไรขนาดนั้นหรอก ก็ทำอย่างที่เราอยากทำไป ทุกวันนี้ทำเพจเราก็โพสในสิ่งที่ชอบ บางทีเราโพสรูปตึกในยุโรป ตึกหินๆ พวกนั้น เราก็ไม่รู้หรอกว่าใครชอบหรือไม่ชอบแต่กูชอบอะ ใครชอบก็มาคุยกันละกัน ใครไม่ชอบก็ไปดูอย่างอื่น เพราะเรารู้สึกว่าถ้าอยากให้คนอื่นยอมรับ ก็อยากให้เค้ายอมรับในสิ่งที่เราเป็นจริงๆ แบบนั้นมากกว่า มันเหนื่อยในการไม่เป็นในสิ่งที่ตัวเองเป็นนะ แล้วเราก็คิดว่าการที่เราเป็นตัวเองมันมี way ที่จะไปสื่อสารกับคนอื่นได้ เราก็รู้สึกว่าเราไป way นั้นดีกว่า
แต่ว่าใครที่ติดตามหรือชอบ เราคิดว่าเราเป็น plat form นึงให้เขาเข้ามาเดินเล่นได้ วันนึงเขาจะไม่ดูหนังเราแล้วก็ไม่เป็นไร แต่เราอยากให้เค้าเขารู้สึกว่าเข้ามาดูเพจหรือดูงานเราแล้วไปต่อยอดสิ่งอื่น อย่างนั้นโอเคมากๆ ดูงานเราเพื่อจะชอบงานอีกคนก็ได้นะ ดูงานที่เราพูดถึงผู้กำกับอีกคน เลยไปตามดูต่อแล้วชอบงานผู้กำกับอีกคนมากกว่างานเราก็ได้ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราคือ leader ผู้กำหนดทิศทาง เราว่ามันคือโลกแห่งการเรียนรู้กันและกัน ก็แชร์กันอะ วันนึงไม่ชอบก็ไม่ต้องตาม ถ้ายังชอบอยู่ก็ตามไป แค่นั้นเอง เหมือนเราก็เป็นแค่ space หรือชมรมนึงที่ใครจะเข้าจะออกก็ลองมาแชร์ๆ กันมากกว่า
The MATTER : ที่ว่าโพสรูปตึกยุโรปหินๆ ความชื่นชอบเรื่องนี้มาจากไหน ตึกเป็นแพทเทิร์นที่ชอบส่งผลอะไรต่องานบ้าง
เรื่องความชอบแพทเทิร์น ไม่รู้เหมือนกันว่ามาจากไหน เพราะเราชอบความเป็นระเบียบหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ว่าเราไปโรมาเนียมาเมื่อ 7-8 ปีก่อน เห็นตึกที่นั่นแล้วเราชอบมาก หินๆ หนาๆ เป็นแพทเทิร์น ไม่รู้ทำไมมันดึงดูดมากเลย ตั้งแต่นั้นมาเราก็เป็นแฟนคลับตึกสไตล์นี้ตลอด Brutalist โซเวียตสไตล์ ติดตามมันมาเรื่อยๆ ถามว่ามันมีผลอะไรไหม เวลาหาโลเคชั่นทำหนัง เราก็อยากได้สไตล์คล้ายๆ อย่างนั้น ซึ่งจริงๆ ถ้าหาดีๆ ในกรุงเทพยังมีอีกจำนวนหนึ่งเลยที่มันยังไม่ถูกค้นพบ
The MATTER : คิดว่าการเรียกนวพลว่าเป็นผู้กำกับฮิปสเตอร์มันคลาดเคลื่อนตรงไหนอย่างไร
จริงๆ มันเป็นเรื่องที่เราเลิกคิดไปแล้ว เพราะเราไม่ได้สถาปนาตัวเองขึ้นมา มันเป็นธรรมดา มีอย่างนี้ทุกยุคแหละ เด็กแนวมั่ง ฮิปสเตอร์มั่ง แต่สำหรับเราไม่ได้คิดอะไรไปมากกว่าการคิดว่ามันคือพื้นที่การเรียนรู้ ใครจะนิยามอะไรเราไม่รู้ วันนึงที่เราเป็นเด็กอายุ 18-19 เราได้เรียนรู้อะไรตั้งเยอะจากการฟังเพลงอินดี้ หรือยุคนี้อาจจะเรียกเพลงฮิปสเตอร์อะไรก็ตาม เราก็คัดเลือกเฉพาะสิ่งที่เราชอบ อันไหนฟังไม่รู้เรื่องก็ผ่านไป อันไหนฟังแล้วชอบมากๆ ก็ติดตามต่อ มันนำไปสู่สิ่งใหม่ๆ ก็วัยรุ่นอะ มีอะไรที่อยากลองก็ลอง เรารู้สึกว่าเขาควรได้ลอง ถ้าวันนึงเขาชอบก็ดี ให้เขาชอบใน way ของเขาไป ถ้าวันนึงเขาไม่ชอบเดี๋ยวก็เลิกเอง ยกเว้นคนที่ฝืน คนที่ต้องชอบตามกระแสไปเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องของเขาอีก
ใครจะทำอะไรก็ได้ เราไม่ได้สนใจอยู่แล้ว แต่ถ้าคุณทำแล้วอึดอัดก็หยุดทำเถอะ ถ้ารู้สึกว่าไม่เป็นตัวเองแต่ยังโอเคก็ไม่ได้มีใครว่าอะไร มันเป็น way ของคุณ ถ้าคุณโอเคก็โอเค มันเป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ เราก็ไม่รู้ว่าเค้าจะพยายามนิยามคำ หรือพยายามสเตอริโอไทป์ หรือจัดกลุ่มทำไม เพราะสุดท้ายมันไม่ได้นำไปสู่อะไร โอเค คนนี้คือฮิปสเตอร์ แล้วยังไงต่อวะ ก็เขาชอบฟังอันนั้น ก็ให้เขาชอบไปสิ เดี๋ยววันนึงเขาเลิกชอบ เขาก็ไปชอบอย่างอื่นเอง เราว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่โตมโหฬาร ถ้าถามว่าเรารู้สึกยังไง เราไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราสร้างขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่คนอื่นเรียกเรา แล้วเราก็ไม่ได้ทำตัวเปลี่ยนไป เราก็เป็นของเราแบบนี้
The MATTER : ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า เราจะได้เห็นงานนวพลในแบบไหน
ช่วงนี้เป็นช่วงที่พยายามลองทำอะไรที่ไม่เคยทำเหมือนกัน แต่หนังที่เราคุ้นเคยก็ยังทำ บางครั้งมีไอเดียว่าเราทำหนังผีบ้างก็น่าจะดีเหมือนกันนะ หรือทำหนัง thriller มันจะเป็นยังไงนะ ไม่รู้ว่าจะได้ทำหรือเปล่า แต่ถ้ามีโอกาสได้ลองก็อยากลองเหมือนกัน จะได้ลองทำอะไรใหม่ๆ บ้าง เพราะ 4-5 ปี มานี้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำมาตลอดมั้ง ทำงานออกมาจนมาถึงจุดๆ นึงมันก็หมดเหมือนกันนะ เลยรู้สึกว่าสิ่งที่จะเติมเราได้ก็คงเป็นอะไรที่เราไม่เคยทำ
The MATTER : หนังผีของคุณจะเป็นแบบไหน
มันอาจจะไม่เหมือนหนังผีปกตินะ อาจจะต้องใช้ thinking อีกแบบนึงในการทำ อาจจะยังเป็นในแบบของเรา ซึ่งไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ดี หรือมันอาจจะไม่น่ากลัวเลยก็ได้ แต่ว่าก็มีลองๆ ทำอะไรแบบนี้กับงานโฆษณาบ้าง มันสั้นๆ ได้ลองดูว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่ก็ต้องทำให้ลูกค้าโอเคนะ ไม่ใช่ไปหลอกเงินเขามาทำอะไรก็ไม่รู้ เลยพยายามมองหางานที่เราอยากทำแล้วเขาก็โอเคด้วย ก็จะเป็นงานที่หลากหลายขึ้น
The MATTER : ทำงานเยอะแบบนี้ ในกระบวนการการทำงานหนึ่งโปรเจกต์ตั้งแต่ต้นจนจบ สัดส่วนของความทุกข์และความสุขอยู่ที่เท่าไหร่ ในกระบวนการไหนที่นอยด์สุด
มีความซาดิสม์ เป็นทุกข์แต่เป็นสุขนึกออกมั้ย เช่น กำลังจะต้องทำโปรเจกต์ยากๆ ที่อยากทำ พอเริ่มต้นคิดก็จะเครียด นอนไม่หลับ ทำไมยากแบบนี้วะ คิดถูกหรือป่าวที่มาทำ แต่ก็จะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ รู้สึกดีที่ได้ท้าทายตัวเอง ได้ลองคิดอะไรที่มันยาก ถ้าถามว่าสุดท้ายแฮปปี้มั้ยก็แฮปปี้ แต่มันเป็นแฮปปี้ที่เกิดจากการไปกระโดดเหว ทั้งเสียวและกลัวตกกระแทกน้ำตายด้วยนะ แต่ตอนกระโดดลงไปก็สนุกดี ดีกว่าการทำอะไรเดิมๆ ที่มันคล่องมืออยู่แล้ว ไอ้การนอยด์ทุกวันนี้ตอนก่อนออกกองก็ยังนอยด์แต่เราก็มีวิธีจัดการมัน
The MATTER : วิธีการจัดการความนอยด์ที่ว่าคืออะไร
คิดว่าสุดท้ายมันต้องมีทางออก เราต้องคิดว่าปัญหามันเกิดขึ้นเป็นปกติ บางทีเรานอยด์เพราะกลัวว่ามันจะเกิดปัญหา แต่ถ้าเราคิดว่าเดี๋ยวปัญหามันเกิดแน่ๆ ก็จะนอยด์น้อยลง เพราะเรารู้ว่ามันจะเกิดแน่ๆ แต่สิ่งที่ตามมาคือเดี๋ยวเราต้องรอด อาจจะเป็นทางออกทีดีหรือไม่ดีแต่อย่างน้อยมันต้องมีทางออก มึงไม่ตายที่กองถ่ายหรอก มึงจะใช้ความรู้เก่าของมึงที่มีมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะกองถ่ายหนังมันต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราได้แต่สั่งสมประสบการณ์ความรู้ เพื่อที่ว่าเวลามีปัญหาเกิดขึ้นเราจะแก้มันได้ นี่คือวิธีการลดความนอยด์ เราอยากให้มันเพอร์เฟกต์แต่ปัญหามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เราจึงทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แทน มันก็จะลดความนอยด์ได้
“ต่อให้งานที่แล้วมันดี มันก็บอกไม่ได้ว่างานนี้จะดีหรือไม่ดี เราไม่มีทางรู้ได้เลย ต่อให้เป็นคนที่มีประสบการณ์ก็ไม่รู้หรอก ว่างานนี้แม่งเวิร์กหรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็ไมต้องไปนอยด์ เอาเป็นว่าระหว่างทำโอเคมั้ย งานที่ออกมาได้แบบที่คิดหรือเปล่า ส่วนที่เหลือมันเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมมากๆ”
The MATTER : กับบางคนถ้างานชิ้นนี้ดี จะไม่อยากทำชิ้นต่อไป เพราะกลัวไม่ดีเท่า นวพลเคยเป็นแบบนี้มั้ย
เราเข้าใจลูปมันอยู่แล้วว่าทุกครั้งที่เริ่มงานใหม่มันจะใหม่หมด เราคิดว่าผู้กำกับทุกคนจะต้องมีหนัง best กับ worst แม้ผู้กำกับที่เข้าชิงออสการ์ก็ตาม เขาต้องมีหนังที่โคตรดี กับ อันนี้ไม่ค่อยเวิร์ก ถ้ารุ่นนั้นยังเป็นแบบนี้แปลว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติของทุกคนแล้วล่ะ มันจะมีงานที่ดีมาก งานที่พอไหว ก็แล้วแต่ช่วง เพราะช่วงที่เราทำงานมันจะมีปัจจัยอะไรหลายๆ อย่างเช่น ยุ่งมากให้เวลากับมันน้อย หรือหนังเรื่องนั้นเป็นการกระโดดออกจากสไตล์ตัวเอง ได้ลองสิ่งใหม่ อาจจะได้ลองแต่ยังไม่เวิร์ก แบบเก่าน่ะดีแล้ว มันก็เลยมีงานที่ดีบ้างไม่ดีบ้างปนๆ กันไป เราว่าเป็นธรรมชาติมากเลยที่จะเกิดสิ่งนี้ คนชอบไม่ชอบเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
หลังๆ เราเลยคิดว่า 1.เราได้งานที่เราต้องการหรือเปล่า 2.ระหว่างทำเราแฮปปี้หรือเปล่า เพราะเอาจริงงานที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่ง สิ่งที่กินเวลาไปมากที่สุดคือระหว่างทำ อย่างหนังทำมาตั้งปีนึง แต่ฉายแค่ 3 สัปดาห์ แล้วก็ไปทำเป็นดีวีดีละ มันสั้นมาก เวลาเราทำหนังยาวเลยเลือกโปรเจกต์ที่คิดว่าจะ enjoy กับมันในปีนั้นๆ ได้ ระหว่างทำต้องสนุก และได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง ไม่ใช่ทำเหมือนเดิมที่ทำได้แล้ว อย่างนั้นสำหรับเรามันเสียเวลา ผ่านไปอีกปีโดยไม่ได้ความรู้อะไรเลย เราว่ามันควรได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ด้วย สมมติเรื่องนักแสดง เราเคยกำกับแต่นักแสดงหน้าใหม่ ไม่เคยกำกับมืออาชีพ นี่ก็เป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้ด้วย
แต่ทั้งหลายทั้งปวงเราไม่รู้ว่างานออกมาจะดีหรือเปล่า ต่อให้งานที่แล้วมันดี มันก็บอกไม่ได้ว่างานนี้จะดีหรือไม่ดี เราไม่มีทางรู้ได้เลย ต่อให้เป็นคนที่มีประสบการณ์ก็ไม่รู้หรอก ว่างานนี้แม่งเวิร์กหรือเปล่า เพราะฉะนั้นก็ไมต้องไปนอยด์ เอาเป็นว่าระหว่างทำโอเคมั้ย งานที่ออกมาได้แบบที่คิดหรือเปล่า ส่วนที่เหลือมันเป็นเรื่องที่อยู่เหนือการควบคุมมากๆ ถ้าคิดก็จะปวดหัวและเกร็งตอนทำด้วย เพราะกลัวมันจะไม่ออกมาเป็นอย่างที่คิด ต่อให้เป็นคนที่ประสบการณ์ก็ไม่รู้หรอก ว่างานนี้แม่งเวิร์กหรือเปล่า ทำไปเถอะ แต่อย่างน้อยมันต้องได้มาตรฐาน อย่าชุ่ย มันจะเป็นแบบ “ไม่ค่อยดีว่ะ” แต่ก็ไม่ได้ตกมาตรฐานงานเก่าหรอก แค่งานนี้ไม่ค่อยดีเท่านั้นเอง
The MATTER : ในยุคที่ใครดูหนังที่ไหนก็ได้ คุณยังเชื่อในพลังของภาพยนตร์ที่ต้องดูในโรงไหม
ไม่ได้เชื่อในพลังภาพยนตร์ขนาดนั้น เราคิดว่าหนังบางเรื่องควรดูในโรง แต่หนังบางเรื่องดูที่บ้านก็ได้ ส่วนตัวเราดูทั้งสองแบบ ถ้าเรื่องไหนที่ต้องดูในโรงมันจะรู้เอง เพราะมันจะมีคุณสมบัติที่มันต้องการดูจอใหญ่
The MATTER : ยกตัวอย่างหนังที่มีคุณสมบัติที่ว่า
อย่าง La La Land เราก็ไปซ้ำ IMAX ก่อนดู La La Land เราดู Dunkirk ของโนแลนด์ ก็รู้สึกว่าเออจอใหญ่มันดีกว่าจริงๆ แต่บางเรื่องที่มันไม่ได้ value ในเรื่องของโปรดักชั่นภาพ ก็อาจจะดูที่บ้านได้ ลื่นไหลไปตามจังหวะและโอกาสมากกว่า เพราะเรารู้สึกว่าหนังดีดูจอไหนก็ได้ ร้องไห้เท่ากัน ร้องไห้หน้าคอมก็เคยมาแล้วเลยรู้สึกว่ามันไม่เกี่ยวละ แต่โอเคหนังบางเรื่องเขาดีไซน์มาเพื่อดูจอใหญ่ ก็แล้วแต่เรื่องไป ไม่ได้ถึงขั้นว่าทุกเรื่องต้องดูในโรง ไม่ควรดูจอคอม เอาที่สะดวก สมมติหนังบางเรื่องมันอาจจะไม่เข้าโรง แล้วเราจะไม่ดูมันเลยหรอวะ ถ้าหามาได้ก็ดูแผ่นดูอะไรไป เป็นแบบนั้นมากกว่า
The MATTER : ถ้าเป็นตัวละครในหนังคิดว่าตัวเองจะเป็นตัวละครแบบไหน
คนชอบบอกว่าเราเหมือน ยุ่น ในฟรีแลนซ์ ก็อาจจะอย่างนั้นมั้ง เรื่องมากหน่อย บ่นๆ จุกจิก คล้ายๆ กับหนังที่ทำมานั่นแหละครับ เพราะจริงๆ ยุ่นก็ไม่ได้ต่างจากแมรี่ บางทีก็แชร์ตัวละครกัน
The MATTER : พูดกับตัวเองบ่อยไหม ทำไมในหนังถึงมักมีวอยซ์โอเวอร์
แล้วแต่เรื่องมั้ง เราเป็นคนสนใจเรื่องไดอะล็อกมากกว่า ชอบฟังคนอื่นคุย พวกไดอะล็อกหรือบทสนทนา มันก็เลยจะอยู่ในหนังเยอะ เอาจริงๆ เราว่าทุกคนที่เป็น creative จะมี voice over เป็นของตัวเอง เพราะมันคือคนที่คิดตลอดเวลา หรือเจออะไรแล้วมีคอมเมนต์ในหัวตลอด อาจจะด้วยนิสัยส่วนตัวหรือคิดไปเผื่องานก็ตาม ผมว่ามันน่าจะเป็นธรรมชาติของทุกคนนะ แล้วแต่คอนเทนต์ด้วย บางเรื่องถ้า voice over มันดีกว่าก็ใช้ เช่น เราจะให้มันตลกด้วยวิธีคิดของคาแรกเตอร์ ก็ใช้ voice over แต่ถ้าเรื่องไหนมันไม่จำเป็นก็ไม่ต้อง
The MATTER : คำถามสุดท้าย ปีนี้คุณชงมั้ย
วีคที่แล้วรู้สึกเรื่องซวยๆ เยอะจัง เลยไปกดดู อ่อ มันเป็นชงเฉียดๆ หรือที่เรียกว่าร่วมชงอะไรไม่รู้ แต่ไม่ได้ใส่ใจมาก เรารู้สึกว่าทุกปีมันก็ต้องมีเรื่องซวย ซวยมาก ซวยน้อย พอเป็นปีชงก็ไปลากทุกเรื่องซวยในปีนั้นมาเป็นปีชง เลยรู้สึกว่าเรื่องซวยมันเยอะ ทุกปีมันต้องมีเรื่องห่วยๆ แหละ แม่ไปแก้ชงมาให้เราไม่ได้ไปเอง
ทุกปีที่มีเรื่องห่วยเราได้เรียนรู้จากมันเยอะนะ เหมือนเราเรียนรู้จากปัญหา ในแง่ของการเขียนบทจะเป็นปีที่อุดมไปด้วยทรัพยากรในการทำสคริปต์ปีหน้า ถ้าเป็นปีชงก็คงเป็นปีที่ดีสำหรับเรามั้ง ได้ input เพียบเลย
คนเรามีเรื่องดี ไม่ดี ทุกวัน เพียงแต่จะนับไม่นับเท่านั้นเอง มีปัญญาก็แก้ไป อาจเป็นเพราะเราอยู่กับกองถ่ายหนังมาด้วยมั้ง มันไม่มีกองไหนสักกองที่แบบ ดีจังเลย ปัญหามันมีทุกกอง เราเลยมองเรื่องแย่ๆ เป็นเรื่องธรรมชาติในชีวิต เราก็แก้ไขไป ได้บ้างไม่ได้บ้าง สุดท้ายมันก็ต้องมีทางออกสักทาง เรียนรู้กับมันไป เลยไม่ได้คิดว่ามันอะไรมากมาย