“คนไทยรุ่นใหม่ไม่สนใจหนังสือ” ดูเหมือนจะเป็นคำพูดที่เหมารวมจากหลายๆ คน ต่อคนวัยต่ำกว่า 30 ที่ดูไม่ค่อยใส่ใจสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันก็เหมือนจะตายลงอย่างช้าๆ ซึ่งเห็นได้จากร้านหนังสือที่ปิดตัวไปอย่างต่อเนื่อง รวมถึงหนังสือชื่อดังหลายๆ เจ้าก็ล้มหายตายจากไป นอกจากนี้ยังมีการเหมาเข่งต่อว่า คนรุ่นใหมคงสนใจแค่หนังสืออ่านง่าย ไม่ต้องใช้ความคิดมาก และไม่ได้สนใจการทำหนังสือ
แต่โดยส่วนตัวกลับไม่ค่อยเชื่อในคำพูดที่เขาว่า “คนไทยรุ่นใหม่ไม่สนใจหนังสือ” เพราะเราได้เห็นข้อมูลจากอีกหลายๆ ด้านที่ทำให้เห็นว่า เทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นทำให้คนเราได้อ่านมากขึ้น จนส่งผลให้แต่ละคนมีความชอบที่แตกต่างกันชัดเจนขึ้น และพวกเขา ‘เลือก’ ที่จะอ่านมากขึ้นอีกต่างหาก
ในขณะเดียวกันเมื่อความชอบมีหลายหลากนั่นก็แปลว่าจะมีการทำหนังสือออกมาหลากหลายมากขึ้น เพื่อตอบรับความชอบที่มากมาย และเราก็พบว่ามีหนังสือดีๆ แฝงตัวอยู่ในงานโดจินชิ หรืองานหนังสือการ์ตูนทำมือ ที่หลายคนอาจคิดว่าในงานเช่นนี้คงมีเพียงหนังสือการ์ตูนทำมือเท่านั้น ตัวอย่างเช่นงาน Comic Avenue ที่นักวาด นักเขียนทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่หลายคนบอกว่าเป็นงานโดจินชิที่สเกลใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
แต่ในช่วงหลังๆ เราได้เจอหนังสือทำมือแนวอื่นๆ มาขายอยู่ในงานด้วย ซึ่งทำให้เราคิดว่าบางทีหนังสือดีๆ ที่หลายคนอยากเห็นก็มาเร้นกายแฝงตัวกันอยู่ในงานแบบนี้
ASUKA 2006-2017 Works Collection โดย ASUKA111
ความจริงหนังสือรวมผลงานภาพวาดไม่ใช่เรื่องที่แปลกสำหรับหลายๆ ประเทศ แต่สำหรับนักวาดภาพประกอบในบ้านเราอาจไม่ค่อยมีสำนักพิมพ์ไหนกล้าจัดทำเท่าใดนัก นักวาดในไทยจึงมักจัดทำหนังสือรวมภาพเหล่านี้กันเอง โดยตัวอย่างที่เราหยิบยกมา ณ ที่นี้ คือ หนังสือรวมผลงานของ ASUKA111 นักวาดภาพประกอบชื่อดังที่ได้ออกงานต่างประเทศหลายครั้ง และหลายคนอาจจะคุ้นเคยว่าเขาเขียนภาพให้สมาชิกวง BNK48 อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งภายในเล่มมีทั้งภาพที่เขาเคยโพสต์โชว์ในอินเทอร์เน็ต รวมถึงภาพใหม่ๆ ที่ไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน ราคาค่างวดของเล่มนี้อาจจะสูงอยู่สักหน่อย แต่สำหรับแฟนคลับนักวาด (ไม่ว่าจะท่านนี้หรือท่านอื่นๆ) การได้เก็บงานคนที่ชื่นชอบนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่าอยู่ดี
แหวกม่านตำนานวาย เรื่องโดย Fongnam, Kalorakun ภาพประกอบโดย Kanchong, Judus, Toophorm
หนังสือทำมือเล่มนี้ เป็นการหยิบเอาตำนานเรื่องเล่า และเทพปกรณัมต่างๆ จากหลากประเทศทั่วโลกมาเล่าในสไตล์ Comic Essay ที่นักเขียนสองคนได้นำมารวบรวมสาระเอาไว้มากมาย และเขียนออกมาได้รู้สึกถึงความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกัน อาทิ ความสัมพันธ์ของ เทพบิดรซุสกับแกนีมีดในตำนานกรีก, เรื่องราวของเทพที่เหล่าฮิจรา (Hijra) หรือเพศที่สามของอินเดียนับถือ, ที่มาของสำนวน ‘ตัดแขนเสื้อ’ อันหมายถึงความรักระหว่างเพศเดียวกันในประเทศจีน ฯลฯ โดยภาพประกอบของเล่มได้นักวาดสามแบบสามสไตล์มาช่วยขับเค้นบรรยากาศความรักที่ไม่ธรรมดา นุ่มนวล กรุ่นไอรัก หรือ ไอริษยา ตามท้องเรื่องมากยิ่งขึ้น
The Willow World เรื่องโดย Fongnam ภาพโดย Mayauki
ถึงจะวางขายในงานการ์ตูน แต่หนังสือเล่มนี้ระบุตัวเองอย่างชัดเจนว่าเป็นหนังสือ Non-Fiction ที่ภายในเล่มตั้งใจบอกเล่าเรื่องราวของ ‘เกอิชา’ อย่างละเอียด นับตั้งแต่เรื่องพื้นเพอย่างประเภทของเกอิชา ไปจนประวัติศาสตร์ความรุ่งเรืองของเกอิชาในแต่ละช่วง รวมถึงวัฏของเหล่าเกอิชานับตั้งแต่ฝึกฝนตน กลายเป็นสาวสะพรั่ง จวบจนเกษียนตัวเอง โดยเนื้อหาในเล่มยังมีข้อความภาษาญี่ปุ่นแทรกอยู่ตลอดทั้ง สะท้อนถึงความตั้งใจและความชื่นชมอาชีพเกอิชาของตัวผู้เขียน ส่วนภาพประกอบก็ทำหน้าที่บอกอธิบายข้อความบางอย่างให้แจ่มชัดยิ่งขึ้น เรียกได้ว่าเป็นหนังสือข้อมูลเกอิชาที่เราเชื่อว่าเนื้อหาไม่แพ้หนังสือหลายเล่มที่วางขายอยู่ตามร้านหนังสือชั้นนำเลยทีเดียว
LOLITHAI โดย CardLaguz
เท่าที่เราติดตามดูงานของ CardLaguz ผู้จัดทำหนังสือเล่มนี้ เธอชื่นชอบการออกแบบเสื้อผ้า ลายผ้า รวมถึงดีไซน์แบบอื่นๆ ซึ่งหนังสือที่เธอจัดทำขึ้นมาจึงเป็นการรวมดีไซน์เสื้อผ้าแนวโกธิคโลลิต้า (Gothic Lolita) เข้ามารวมกับวัฒนธรรมที่คนไทยคุ้นเคย โดยดีไซน์เสื้อผ้าในหนังสือเล่มนี้โดดเด่นด้วยการหยิบยกดีไซน์ของวรรณกรรมไทยมามิกซ์เป็นเครื่องแต่งกายแบบใหม่
Anatomy of Anthropomorphism โดย Saran Kirdsuwan
พื้นปกสีขาวตัดกับตัวอักษรและลายเส้นสีดำ ที่มีสิ่งมีชีวิตลักษณะคล้ายเสือตัวหนึ่งบิดตัวโชว์กล้ามเนื้อในลักษณะละม้ายคล้ายกับคนบิดขี้เกียจ ภายในเล่มเป็นการสอนกายวิภาคในการเขียนตัวละคร ครึ่งคน ครึ่งสัตว์ ที่แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตในจินตนาการ แต่ก็ใช้ข้อมูลจริงจังอย่าง โครงสร้างกล้ามเนื้อของมนุษย์ กระดูกของสัตว์ต่างๆ ลักษณะของอุ้งมืออุ้งเท้า รวมถึงจุดที่หางควรจะมีอยู่หากสัตว์ยื่นได้สองขา ซึ่งว่ากันจริงๆ เราเผลอนึกว่านี่เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์มากกว่าหนังสือที่สอนการวาด สะท้อนว่าผู้จัดทำได้รวบรวมข้อมูลจากสาขาต่างๆ มาอย่างเข้มข้น เพื่อบอกเล่าให้ผู้อ่านชาวไทยเข้าใจได้อย่างไม่ยากเย็น
จากหนังสือการ์ตูนทำมือสู่สินค้าและการหารายได้
สินค้าที่ขายในงานโดจินชิหรืองานหนังสือทำมือ ยังสามารถต่อยอดโอกาสที่จะได้รับการจ้างงานในอนาคตของผู้สร้างผลงานแต่ละคนได้ อย่างนักเขียนบางท่านก็ตั้งใจสร้างผลงานในอินเทอร์เน็ตให้ฮิตติดลมบน ก่อนที่จะเขียนแบบรวมเล่มเพื่อขายตามงานในภายหลัง หรือบางคนก็อาจจะใช้วิธีออกงานขายหนังสือเล่มจริง ควบคู่กับการเปิดรับบริจาคผ่านเว็บอย่าง Patreon หรือบางคนก็ถูกว่าจ้างมากขึ้นจากการได้พบปะผู้คนหลากหลายในงานลักษณะนี้
นอกจากหนังสือเหล่านี้แล้ว สินค้าทำมือในงานโดจินชิก็มีเยอะมากขึ้น ตั้งแต่พวกของกระจุกกระจิกอย่าง เข็มกลัด, พวงกุญแจ, ที่คั่นหนังสือ ไปจนถึงเสื้อยืดลายต่างๆ (หรืออย่างงาน Thaitails Covention ก็มีคนทำชุดเชิงมาสคอตมารวมตัวกันในงาน) หรือต่อให้เป็นหนังสือการ์ตูนที่ขายในงานแบบนี้ ก็เริ่มมีงานบางเรื่องที่ผู้จัดทำตัดสินใจจัดทำเอง
อย่างที่บอกไปล่ะครับว่า คนไทยสมัยใหม่ยังสนใจหนังสืออยู่ มิหนำซ้ำหลายคนยังอยากผลิตกันเองอีกด้วย เพียงแต่รูปแบบการนำเสนอและการจัดจำหน่ายมันได้เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนพอสมควร ซึ่งฝั่งหนังสือทำมือที่ขายตามงานต่างๆ มีโอกาสเติบโตมากขึ้นเช่นกันครับ