การทำข่าวย่อมมาคู่กับความเร็ว และเมื่อรีบก็อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้เสมอ ทั้งอ่านผิด พิมพ์ผิด ไปจนถึงลงรูปผิด
อย่างที่รายการ ‘ข่าว 3 มิติ’ โป๊ะแตกเอารูปของ วิล สมิธ ตอนรับบทเป็น มูฮัมหมัด อาลี ในหนังเรื่อง Ali มาใช้แทนภาพตัวจริง (ซึ่งทางรายการได้ออกมาบอกสาเหตุและขออภัยแล้ว) แต่เดี๋ยวก่อน เรื่องพลาดๆ ของสื่อแบบนี้ก็ไม่ได้มีแค่บ้านเราที่เดียวหรอกค่ะ คุณกิตติคะ
ไม่ต้องรีบนะคนดี
สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ก็เคยพลาดจากการนำภาพของดารารุ่นใหญ่ เมอรีล สตรีพ ที่เคยรับบทเป็นมาร์กาเรต แทตเชอร์ ในหนังเรื่อง The Iron Lady มาใช้แทนภาพนายกรัฐมนตรีหญิงเหล็กแห่งสหราชอาณาจักรตัวจริงเช่นกัน (โถ)
สถานีข่าวของไต้หวันก็เคยลงภาพควีนอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นแทนรูป มาร์กาเรต แทตเชอร์ (เหวอ ผิดมากไปค่ะคุณขา) หรือแม้กระทั่ง BBC ก็รีบพิมพ์ข่าวสาเหตุการอสัญกรรมของนางแทตเชอร์ผิด จาก stroke เป็น strike จ้า ซึ่งถ้าเป็นการเสียชีวิตแบบหลังจริง ก็อาจจะพอเข้าใจได้ว่าทำไมรัฐบาลต่างๆ จึงกลัวม็อบมาเดินขบวนกันนัก
โซเชียลมีเดียทำให้พลาดได้ง่ายขึ้น
Facebook Twitter หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ นั้น ทำให้การกระจายข่าวเป็นไปอย่างรวดเร็วและอิสระมากขึ้น ยิ่งทำให้การทำข่าวที่เร็วอยู่แล้ว เร็วยิ่งขึ้นไปอีก และพลาดง่ายขึ้นมากเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น นักวิจารณ์ของช่องกีฬา ESPN ที่ทวิตรายงานข่าวเรื่องการคัดเลือกตัวเข้าทีมของนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล แต่ดั๊น เกิดพลาดแปะลิงค์ของเว็บ Pornhub ลงไปด้วย (อาห์)
ถึงแม้เจ้าตัวจะลบทวิตที่พลาดไปอย่างรวดเร็ว แต่นั่นก็ยังไม่ไวเท่า #นักแคปในตำนาน ที่แคปแล้วแปะภาพนั้นลงโซเชียลทันที และที่พีคไปกว่านั้นคือ Pornhub มาตอบว่ะ ชวนย้ายมาลองทำงานด้วยกันสักวันไปอีก
อีกกรณีที่ซุปเปอร์เวรี่โป๊ะ ก็คงเป็นครั้งที่นักข่าว BBC ทวิตลั่นไปว่าควีนอลิซาเบธที่ 2 ทรงประชวรและเสด็จประทับโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจรักษา ก่อนที่จะมีทวิตลั่นอีกอันว่า พระราชินีทรงสวรรคตแล้ว แต่ความจริงคือควีนเสด็จโรงพยาบาลจริงแต่เป็นการนัดหมอตามปกติเท่านั้นจ้า โดยนักข่าวคนนี้ก็ได้ออกมาชี้แจงว่าลืมมือถือไว้ที่บ้านแถมยังลืมล็อกหน้าจอด้วย (แมวพิมพ์ที่แท้จริง) ก่อนที่สำนักข่าว BBC ต้นสังกัดของเธอจะออกแถลงการณ์ขออภัยในความผิดพลาดนี้ในเวลาต่อมา